พระบรมวงศานุวงศ์
หน้าตา
พระบรมวงศานุวงศ์ หมายถึง พระประยูรญาติใหญ่น้อยทั้งหมดทุกราชสกุลของพระมหากษัตริย์ โดยประกอบด้วย 2 คำ คือ
- พระบรมวงศ์ (บรมวงศ์ แปลว่า วงศ์ประเสริฐ หมายถึง วงศ์ใหญ่) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "พระญาติที่สนิทของพระมหากษัตริย์" อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศเป็น เจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ชั้นลูกหลวง ตัวอย่างพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หรือที่ใกล้ชิดกษัตริย์ เช่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระโสทรกนิษฐภคินี เป็นต้น
- พระอนุวงศ์ (อนุวงศ์ แปลว่า วงศ์น้อย) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "พระญาติห่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" อันได้แก่ เจ้านายที่มีพระยศตั้งแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ลงมาถึงหม่อมเจ้า ซึ่งหม่อมเจ้าถือเป็นพระอิสริยยศชั้นสุดท้ายในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ เช่นหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล, หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เป็นต้น
ส่วนหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงถือเป็นสามัญชน ไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ และมิได้จัดอยู่ในพระอนุวงศ์ แต่ถูกจัดอยู่ในราชสกุล หรือผู้สืบเชื้อสายในราชสกุล สำหรับผู้สืบเชื้อสายลงมาจากหม่อมหลวงจะมีคำนำหน้านามตามปกติเช่นสามัญคือ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และมีสร้อย ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุลอันเป็นราชสกุล สำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากฝ่ายบิดาเท่านั้น
สำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากฝ่ายมารดา สามารถขอร่วมใช้นามสกุลอันเป็นราชสกุลได้ แต่ไม่ต้องเติมคำว่า ณ อยุธยา ดังนั้นจึงพึงระวังในการใช้ เพราะพระราชวงศ์จะสืบราชตระกูลทางฝ่ายชายเท่านั้น มิสามารถใช้ ณ อยุธยากับลูกที่เกิดมารดาสืบสายราชสกุล แต่บิดาไม่ได้สืบราชสกุลได้