มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Kasetsart University | |
ตราพระพิรุณทรงนาค สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
---|---|
ชื่อย่อ | มก.[1] / KU |
คติพจน์ | ศาสตร์แห่งแผ่นดิน (ทางการ) ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน (ไม่เป็นทางการ) |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 |
ผู้สถาปนา | หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 5,867,054,400 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | กฤษณพงศ์ กีรติกร |
อธิการบดี | จงรัก วัชรินทร์รัตน์ |
อาจารย์ | 3,758 คน (พ.ศ. 2566) |
บุคลากรทั้งหมด | 6,279 คน (พ.ศ. 2563) |
ผู้ศึกษา | 68,099 คน (พ.ศ. 2564)[3] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | วิทยาเขต 5
|
เพลง | เพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ |
ต้นไม้ | นนทรี |
สี | สีเขียวใบไม้[4] |
เครือข่าย | ASAIHL |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (อังกฤษ: Kasetsart University; อักษรย่อ: มก. – KU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร[5] ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น โรงเรียนช่างไหม ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2447[6][7] ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นรวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่และโรงเรียนกรมคลองเป็น โรงเรียนเกษตราธิการ และถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรีอนฯ ใน พ.ศ. 2456 ต่อมาได้รับการก่อตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2460 ในนาม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ และสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2486 ระยะแรก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ และงานบริการ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558[8] ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
การประเมินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยจัดการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร[9] อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการใน พ.ศ. 2552 อีกด้วย[10]
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มี 3 วิทยาเขตได้แก่ วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร[11] ทั้งยังมีสำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี (โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) อีกหนึ่งแห่งด้วย[12] เปิดการสอน 29 คณะ 3 วิทยาลัย 3 โครงการจัดตั้งคณะ และสถาบันสมทบ 1 แห่ง มีหลักสูตร 583 หลักสูตร เป็นหลักสูตรนานาชาติ 42 หลักสูตร[13] นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งเพื่อดำเนินการวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ
ประวัติ
[แก้]ส่วนนี้อาจอยู่นอกประเด็นของบทความ |
ใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ[14] ทรงได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า (Dr. Kametaro Toyoma) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว[15][16] ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น รวมทั้งสอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนช่างไหม"[17] ขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447[18] ณ ท้องที่ตำบลทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวกับการเกษตรแห่งแรก จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไหมเป็น "โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก" ใน พ.ศ. 2449 เนื่องจากมีวิชาการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เข้ามาประกอบ
ต่อมา โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ณ วังประทุมวัน[19] โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ใน พ.ศ. 2452
ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[20] ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ จึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ใน พ.ศ. 2456 โดยใช้วังวินด์เซอร์เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ[21]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพระยาเทพศาสตร์สถิตย์และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ โดยทั้ง 2 ท่านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนด้านการเกษตรโดยสังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมาอีกครั้ง ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม" ตั้งอยู่ที่ตำบลหอวัง ใน พ.ศ. 2460 ภายหลังจึงได้มีการย้ายการเรียนการสอนไปที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ใน พ.ศ. 2461[22] ต่อมาใน พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อธิบดีกรมตรวจกสิกรรมในกระทรวงเกษตราธิการและเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ร่วมกันขยายการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยการเกษตรดำเนินควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในสาขาเกษตรศาสตร์ โดยภาคกลางอยู่ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ภาคอีสานตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ตั้งอยู่ที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อย่างไรก็ตาม โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ปิดตัวลงตามข้อบังคับของการปรับเปลี่ยนระบบราชการใน พ.ศ. 2478 จึงได้มีการยุบรวมโรงเรียนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ และหลวงอิงคศรีกสิการ สามบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[23][24] จึงเสนอให้รักษาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมไว้ที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม" ต่อมาจึงได้มีการยกฐานะของโรงเรียนก่อตั้งเป็น "วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรมเกษตรและประมง และมีพระช่วงเกษตรศิลปการเป็นผู้อำนวยการคนแรก
พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้มีดำริให้พระยาฤทธิอัคเนย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ดังนั้น จึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งอยู่ที่อำเภอบางเขนใน พ.ศ. 2482 โดยมีนายอินทรี จันทรสถิตย์ ดำเนินการจัดซื้อที่ดินย่านบางเขนและมีหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย และเปิดสอนหลักสูตร 3 ปี ในระดับ อนุปริญญา โดยมี 3 แผนก คือแผนกเกษตรศาสตร์ แผนกวนศาสตร์ และแผนกสหกรณ์ โดยแผนกเกษตรศาสตร์และแผนกสหกรณ์เรียนที่บางเขน ยกเว้นนักศึกษาแผนกสหกรณ์ ชั้นปีที่ 3 จะเรียนที่กรมสหกรณ์ ท่าเตียน เพื่อสะดวกในการอบรมวิชาภาคปฏิบัติ ส่วนแผนกวนศาสตร์เปิดสอนที่โรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์เพื่อเป็นการเตรียมนิสิตให้วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อำเภอบางเขนต่อไป[25]
ใน พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ[26] และให้แต่งตั้งข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก โดยมีการเปิดสอนใน 4 คณะ[27] ได้แก่ คณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ เป็นคณะแรกตั้ง
ในปี พ.ศ. 2509 หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนคับแคบ ไม่สามารถจะได้ จึงได้ดำริที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่มีดินดีเหมาะต่อการเกษตรและมีโครงการชลประทานผ่านเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ ก่อนราคาที่ดินจะมีราคาแพง[28] ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 รัฐบาลในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน[28] โดยทางมหาวิทยาลัยได้ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมและก่อสร้างอาคารเรียน ที่พัก และอาคารสำนักงานซึ่งสามารถเสร็จสิ้นเมื่อกลาง พ.ศ. 2521[28] และเริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522[29]
ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวคิดที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยจึงได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตกระบี่ และวิทยาเขตลพบุรี[28] ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชาในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2542[30] และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนครใน พ.ศ. 2543[31] ส่วนวิทยาเขตสุพรรณบุรี ปัจจุบันยังอยู่ในสถานะภาพของการเป็นโครงการจัดตั้ง[12] ส่วนวิทยาเขตกระบี่และวิทยาเขตลพบุรีนั้นเนื่องจากมีปัญหาในด้านงบประมาณในการดำเนินงานจึงทำให้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติยกเลิกการจัดตั้งทั้ง 2 วิทยาเขต[32][33]
จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการขยายการศึกษาเพิ่มขึ้นโดยการเปิดคณะและสาขาวิชาเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีที่เปิดทำการสอนแล้วทั้งหมด 29 คณะ 2 วิทยาลัยและสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง มีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 583 หลักสูตร และเป็นหลักสูตรนานาชาติ 42 หลักสูตร[34]
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558[35] ด้วยเหตุผลเพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีความเป็นอิสระและเป็นเลิศทางวิชาการอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
สัญลักษณ์
[แก้]ชื่อและความหมาย
[แก้]มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้คำว่า "เกษตรศาสตร์" เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า "Kasetsart"
"เกษตรศาสตร์" มาจากคำว่า เกษตร (เขต หรือ แผ่นดิน) และ ศาสตร์ (ความรู้ หรือ การศึกษา) ซึ่งรวมกันมีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับเขตและแผ่นดิน หรือ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Agriculture แปลว่า การเพาะปลูกแบบรูปธรรม มีรากคำมาจากภาษาละตินคือคำว่า agrīcultūra: agrī หมายความถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม และคำว่า cultūra หมายความถึง วัฒนธรรม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือ การเพาะปลูก
คำว่า "เกษตร" อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น มีที่มาจากกระทรวงเกษตราธิการต้องการจัดตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการเกษตรอันเนื่องด้วยวิชาการผลิตและการค้าเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่าง ๆ ของกระทรวงเป็นการเฉพาะ[36]
ในระหว่าง พ.ศ. 2518 ได้มีความพยายามในการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดข้อวิพากษ์จำนวนมากต่อกรณีดังกล่าว และมีการแถลงข่าวเพื่อโต้ข้อพิพาทระหว่างฝ่ายที่อยากให้เปลี่ยนชื่อและไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นิสิตหยุดเรียนครึ่งวันเพื่อจัดทำประชามติในเรื่องนี้ ภายหลังจึงมีการเห็นสมควรให้มีการใช้ชื่อ เกษตรศาสตร์ เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการระลึกและย้ำเตือนถึงศาสตร์อันเป็นรากฐานวัฒนธรรม ความรู้ และวิทยาการของแผ่นดินไทย[37][38]
จนกระทั่ง พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสถึงความหมายของคำว่าเกษตรศาสตร์ตามชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ว่า[39]
คำว่าเกษตรศาสตร์ อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนี้นั้น ฟังดูมีความหมายจำกัดอยู่เพียงการทำนา แต่ความจริง เกษตรศาสตร์ ตามความหมายในปัจจุบัน กินความกว้างขวางมาก คือรวมเอาวิชาหรือศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์เข้าไว้เกือบทั้งหมด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงสอนวิชาการสาขาต่าง ๆ มากมายหลายสาขา ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ ทั้งฝ่ายศิลปศาสตร์ เรียกได้ว่าครบถ้วนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในความหมายสากลอย่างสมบูรณ์
คำ "เกษตรศาสตร์" ที่เป็นวิสามานยนามอันเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อ่านว่า "กะ-เสด-สาด"[ต้องการอ้างอิง] แต่ในกรณีที่หมายถึงวิชาว่าด้วยการเกษตร คำนี้อ่านว่า "กะ-เสด-ตฺระ-สาด"
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
[แก้]ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 247) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 98 ง[40] โดยตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
- ภาคภาษาไทย ตรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นรูปวงกลม มีรูปพระพิรุณทรงนาคอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย และมีข้อความ "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖" ล้อมรอบเป็นชั้นนอกสุด สีตราประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ สีเขียวใบไม้
- ภาคภาษาอังกฤษ มีองค์ประกอบเหมือนกับภาคภาษาไทย แต่เปลี่ยนจากอักษรภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ข้อความ "KASETSART UNIVERSITY 1943"
อาคารประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อาคารจั่วสามมุข ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2500 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย
อาคารจั่วสามมุขเป็นอาคารออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมคณะราษฎร มีเอกลักษณ์เป็นหน้าจั่วที่แบ่งมุขออกเป็น 3 ยอดและกรอบหน้าต่างจำนวน 6 ช่อง อันสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร [41] [42] ภายหลังจึงกลายเป็นต้นแบบของอัตลักษณ์ทางปรัชญาเกษตรศาสตร์ มี 3 ลักษณะทางจิตวิญญาณเกษตรศาสตร์ประกอบกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้[43]
จั่วสามมุข เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหน้าจั่วนี้มีลักษณะของความโดดเด่นตรงที่มีความกว้างของส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอดที่เท่าเทียมกัน หมายความถึงการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนแห่งสยามประเทศ ภายในจำลักลาย บัว 3 ดอก เป็นดอกบัวที่ขึ้นพ้นเหนือน้ำ อันมีเต่าและปลาเป็นตัวแทนของสัตว์ร้ายต่าง ๆ แหวกว่ายอยู่ หมายถึงบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาทั้ง 3 ระดับคือบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ นานัปการตามหลักที่ปรากฏในพุทธโอวาท และมีการประกอบสัญลักษณ์ พระอุณาโลม อันมีลักษณะพ้องกับเลข ๙ เป็นเครื่องหมายอันเป็นนิมิตหมายที่ดี หมายถึง ความรู้และความสว่างแก่โลก
ทั้งนี้สัญลักษณ์จั่วสามมุขยังปรากฏเป็นศิลปกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น อาคารหอประชุมใหญ่ อาคารสารนิเทศ 50 ปี อาคารวชิรานุสรณ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๔ รอบพระชันษาจุฬาภรณ์ (ศูนย์เรียนรวม 4) อาคารคณะบริหารธุรกิจ อาคารประจำวิทยาเขตต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบริเวณขอบรั้วโดยรอบมหาวิทยาลัยก็ถอดแบบให้มีลักษณะเป็น "จั่วสามมุข" ด้วยเช่นกัน[44]
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร แต่งคำร้องถวาย[45]
สีประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]สีประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ สีเขียวใบไม้[40] ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552[40]
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
[แก้]ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย ดังนั้นที่ประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 จึงได้เลือกให้ต้นนนทรีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[46][47] และศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดีในขณะนั้นได้นำข้อสรุปของที่ประชุมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร [48]
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506[49] และมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า
ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น[47]
การบริหารงาน
[แก้]นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[แก้]มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนายกสภามหาวิทยาลัยดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[50]
ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ลำดับ | รูป | รายพระนามและรายนาม (ยศและคำนำหน้าขณะดำรงตำแหน่ง) |
วาระ | |||
เริ่ม | สิ้นสุด | ระยะเวลา (วัน) | ||||
พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน | 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 | 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 | 1225 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 1 กันยายน พ.ศ. 2488 | 17 กันยายน พ.ศ. 2488 | 16 | |||
พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ | 17 กันยายนพ.ศ. 2488 | 24 มกราคม พ.ศ. 2489 | 129 | |||
พระยาอัชราชทรงสิริ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 | 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 | 44 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 | 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 | 150 | |||
นายจรูญ สืบแสง | 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489 | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 | 279 | |||
พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 161 | |||
พันตรี ควง อภัยวงศ์ | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 10 | |||
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 | 7 เมษายน พ.ศ. 2491 | 137 | |||
พระยาพนานุจร | 15 เมษายน พ.ศ. 2491 | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 | 228 | |||
พระช่วงเกษตรศิลปการ | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 | 1093 | |||
พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 | 6 | |||
จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2494 | 24 มีนาคม พ.ศ. 2495 | 107 | |||
พลเรือโท หลวงสุนาวินวิวัฒน์ | 28 มีนาคม พ.ศ. 2495 | 11 ธันวาคม พ.ศ. 2496 | 623 | |||
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ | 12 ธันวาคม พ.ศ. 2496 | 16 กันยายน พ.ศ. 2500 | 1374 | |||
นายวิบูลย์ ธรรมบุตร | 23 กันยายน พ.ศ. 2500 | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 | 392 | |||
นายสวัสดิ์ มหาผล | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 | 26 สิงหาคม พ.ศ. 2502 | 197 | |||
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 | 1770 | |||
จอมพล ถนอม กิตติขจร | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2515 | 3186 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2515 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2517 | 729 | |||
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2517 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2529 | 4382 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2529 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | 730 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ ประยูร จินดาประดิษฐ์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2535 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2535 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2539 | 1460 | |||
นายอำพล เสนาณรงค์ | 30 สิงหาคม พ.ศ. 2539 | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2549 | 3651 | |||
อาจารย์ ปราโมทย์ ไม้กลัด | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 | 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 | 737 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 | 6 มีนาคม พ.ศ. 2556 | 1580 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ เรืองพานิช | 7 มีนาคม พ.ศ. 2556 | 8 มีนาคม พ.ศ. 2558 | 731 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ | 8 เมษายน พ.ศ. 2558 | 11 เมษายน พ.ศ. 2560 | 734 | |||
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร | 11 เมษายน พ.ศ. 2560 | ปัจจุบัน | 2827 |
อธิการบดี
[แก้]นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอธิการบดีมาแล้ว 15 คน ดังรายพระนามและรายนามต่อไปนี้[51]
ทำเนียบอธิการบดี และผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ลำดับ | รูป | รายพระนามและรายนาม (ยศและคำนำหน้าขณะดำรงตำแหน่ง) |
วาระ | |||
เริ่ม | สิ้นสุด | ระยะเวลา (วัน) | ||||
พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน | 28 กันยายน พ.ศ. 2486 | 27 กันยายน พ.ศ. 2488 | 730 | |||
นายทวี บุณยเกตุ | 28 กันยายน พ.ศ. 2488 | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 | 219 | |||
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ | 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 | 14 เมษายน พ.ศ. 2501 | 4361 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 15 เมษายน พ.ศ. 2501 | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2508 | 2665 | |||
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู | 2 สิงหาคม พ.ศ. 2508 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510 | 820 | |||
อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 19 | |||
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | 30 เมษายน พ.ศ. 2512 | 526 | |||
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 | 2039 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 | 918 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก | 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 | ||||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
13 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 | 16 กันยายน พ.ศ. 2520 | 126 | |||
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก | 17 กันยายน พ.ศ. 2520 | 16 กันยายน พ.ศ. 2522 | 729 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
17 กันยายน พ.ศ. 2522 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 | 895 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ | 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 | ||||
ศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา ชุติมา (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
1 มีนาคม พ.ศ. 2525 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2525 | 98 | |||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก ปรีชานนท์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2529 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2529 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2535 | 2191 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2535 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2539 | 1460 | |||
ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2545 | 2190 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ | 8 มิถุนายน พ.ศ. 2545 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 | 1460 | |||
รองศาสตราจารย์ วัฒนา สวรรยาธิปัติ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
8 มิถุนายน พ.ศ. 2549 | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 | 161 | |||
รองศาสตราจารย์ นสพ. ดร. ธานีรัตน์ สานติวัตร (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 | 90 | |||
รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ | 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 | 2921 | |||
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนามัย ดำเนตร (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558 | 180 | |||
รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ขวัญยืน (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | 183 | |||
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ (รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 | 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 | 1604 | |||
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 | 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | 1461 | |||
- | ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
(รักษาราชการแทนอธิการบดี) |
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 | 125 | ||
16 | ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
หน่วยงาน
[แก้]ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีพื้นที่จัดการเรียนการสอนใน 5 พื้นที่ ได้แก่ บางเขน กรุงเทพมหานคร วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
ส่วนทางด้านโครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ได้มีมติสภามหาวิทยาลัยให้ตั้งเป็น สถานีวิจัยในสังกัดสถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มีการจัดการเรียนการสอนเป็นการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ภายในจังหวัดลพบุรี และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตกระบี่ ให้ตั้งเป็นศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ เพื่อให้บริการในลักษณะการต่อยอดด้านวิชาการต่าง ๆ [52]
บางเขน
[แก้]บางเขน หรือ เกษตรกลาง เป็นวิทยาเขตแรกและวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เดิมคือสถานีเกษตรกลางซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงเกษตราธิการใน พ.ศ. 2481 ก่อนจะมีการจะย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากแม่โจ้มาบางเขน และสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2486 ปัจจุบัน เกษตรกลาง บางเขน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 18 คณะ 3 วิทยาลัย และ 2 โครงการจัดตั้งคณะภายใต้โครงการอุทยานการแพทย์ โดยมีคณะสหวิทยาการจัดการและเทคโนโลยี เป็นคณะล่าสุดของมหาวิทยาลัยและวิทยาเขต (โดยมีความรับผิดชอบในการจัดการเรียน-การสอน ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) สำหรับวิทยาเขตบางเขนมีรายละเอียดหน่วยงานระดับคณะเปิดทำการเรียนการสอนประกอบด้วย ดังนี้
คณะกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์[แก้]
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]
หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก[แก้]หลักสูตรนานาชาติ[แก้]โครงการจัดตั้งคณะ (ภายใต้โครงการอุทยานการแพทย์)[แก้]
|
วิทยาเขตกำแพงแสน ตั้งอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จัดตั้งขึ้นเป็นวิทยาเขตลำดับที่ 2 ตามดำริของหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนที่ 5 หลังจากที่ได้พิจารณาว่าพื้นที่เกษตรกลาง บางเขน คับแคบและไม่สามารถรองรับการขยายงานด้านการศึกษาทางเกษตรให้กว้างขวางเพื่อรับกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติได้ โดยวิทยาเขตกำแพงแสนได้เริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 6 คณะ คือ
|
และ 3 คณะ และ 1 วิทยาลัยที่เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัย อันมีที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตบางเขน ที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย
- คณะประมง (โดยนำหลักสูตรมาเปิดในวิทยาเขตกำแพงแสน เริ่มปีการศึกษา 2554)
- คณะสิ่งแวดล้อม
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ (นิสิตศึกษาที่เกษตรกลาง บางเขน ปี 1-3 และวิทยาเขตกำแพงแสน ปี 4-5 ส่วนปี 6 จะเลือกเรียนตามโรงพยาบาลสัตว์)
- บัณฑิตวิทยาลัย
วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จัดตั้งเป็นวิทยาเขตลำดับที่ 3 เริ่มก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2538 แรกเริ่มได้ใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสกลนคร (ภูพานกาญจนาภิเษก)" ต่อมาจึงได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร" โดยการจัดตั้งวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมข้อมูลและให้บริการวิชาการต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนและช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการศิลปาชีพ[54] ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 4 คณะ และ 1 โครงการจัดตั้งคณะ มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
|
วิทยาเขตศรีราชา ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับพื้นที่บริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์เชิงเขาน้ำซับจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็นสถานีวิจัยศรีราชาเพื่อใช้พื้นที่วิจัยและฝึกงานของนิสิตคณะเกษตรใน พ.ศ. 2498 โดยสถาบันวิจัยศรีราชาได้ปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยชุมชนศรีราชาใน พ.ศ. 2535 และวิทยาเขตศรีราชาใน พ.ศ. 2542 เนื่องจากความต้องการในการขยายโอกาสทางการศึกษาและรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก โดยได้รับนิสิตเข้าศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2539[56] ประกอบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ 989 ไร่ ในอำเภอบ่อทองเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์นวัตกรรมการเกษตรบ่อทองเพื่อเติมให้วิทยาเขตศรีราชาด้วย ปัจจุบัน วิทยาเขตศรีราชามีหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน 5 คณะ ประกอบด้วย
|
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี
[แก้]โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อการขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภูมิภาคตะวันตกของประเทศ โดยเริ่มดำเนินการโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ซึ่งทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดหาที่สาธารณประโยชน์ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรีและอำเภอบางปลาม้าเพื่อรองรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขต ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดตั้งคณะอย่างเป็นทางการในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบหมายให้คณะในบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสนรับผิดชอบ ในยุคเริมแรกได้มีการเปิดสอนในบางหลักสูตรแล้วในระยะเริ่มต้น ได้แก่
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์กีฬา อยู่ในความดูแลของคณะศึกษาศาสตร์ โดยใช้พื้นที่ของวิทยาลัยพละศึกษาสุพรรณบุรี (ชื่อในขณะนั้น) เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน ภายหลังได้ย้ายไปเรียน ณ วิทยาเขตกำแพงแสน และยกขึ้นเป็นคณะวิทยาศาสตร์กีฬา
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว (4 ปี) (ภาคพิเศษ) ภายหลังได้โอนไปอยู่ในความดูแลของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้ย้ายไปวิทยาเขตกำแพงแสน และได้รับการจัดตั้งเป็นคณะอุตสาหกรรมบริการ
- หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง) (ภาคพิเศษ) อยู่ในความดูแลคณะศึกษาศาสตร์ (ปัจจุบันได้ปิดหลักสูตรแล้ว)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (ภาคพิเศษ) (ปัจจุบันได้ปิดหลักสูตรแล้ว)
- หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ (ภาคพิเศษ) อยู่ในความดูแลของคณะสังคมศาสตร์ (ปัจจุบันได้ปิดหลักสูตรแล้ว)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ เป็นหลักสูตรที่ได้กลับมาเปิดการเรียนสอน ณ จังหวัดสุพรรณบุรีอีกครั้งหลังได้ย้ายหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยวไปสังกัดคณะ ศวท.
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ เป็นหลักสูตรใหม่ที่ร่างหลักสูตรโดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี (ก่อนที่จะได้รับการจัดตั้งเป็นคณะสหวิทยาการจัดการและเทคโนโลยี)
ปี 2566 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศจัดตั้งคณะสหวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีขึ้นเป็นส่วนงานสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เพื่อมารับผิดชอบการเรียน การสอน ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตฯ ยังไม่เป็นส่วนงานในระดับวิทยาเขต อันเนื่องจาก การจะเป็น "วิทยาเขต" จะต้องประกอบด้วย คณะวิชา 2 คณะขึ้นไปมาสังกัด) ประกอบกับมหาวิทยาลัยฯ ได้โอนบุคคลากรโครงการจัดตั้ง ฯ มาสังกัดคณะดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวขึ้น และได้ปรับสถานะสำนักงานโครงการจัดตั้งฯ เป็น “สำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี” โดยเน้นการดำเนินงานภายใต้การบูรณาการทรัพยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนกลางบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสนเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้สำนักงานเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี ยังทำหน้าที่ในการดูแลประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และโรงพยาบาลสมทบอื่น ๆ ในเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สถาบันสมทบ
[แก้]- ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับสถาบันการศึกษาไว้ในการสมทบปริญญาขั้นสูง จำนวน 1 สถาบัน รายละเอียด ดังนี้
สถาบันการศึกษาสมทบปริญญาขั้นสูงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | ||
---|---|---|
สถาบัน | สังกัด | ที่ตั้ง |
วิทยาลัยการชลประทาน | กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี |
- สถาบันการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยรับไว้ในการสมทบปริญญา ได้แก่
สถาบันการศึกษาที่เคยสมทบปริญญาขั้นสูงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | |||
---|---|---|---|
สถาบัน | สังกัด | ที่ตั้ง | เหตุที่ยุติการสมทบปริญญา |
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ [57] | สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข | กรุงเทพมหานคร | หน่วยงานต้นสังกัด (สถาบันพระบรมราชชนก) สามารถออกปริญญาเองได้ |
โรงเรียนสัตวแพทย์ | กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | กรุงเทพมหานคร | โอนมาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปัจจุบันคือ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) |
การวิจัย
[แก้]มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทางด้านการวิจัยมากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[58] โดยมหาวิทยาลัยได้วางนโยบาย มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยอย่างสมบูรณ์[59] โดยปรับปรุงกลไกเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยในภาพรวมให้เข้มแข็ง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยของนักศึกษา ไปต่อยอดเทคโนโลยีที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง[60][61] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนวิจัยภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[62] โดยมีการคัดเลือกผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแบ่งตามประเภทของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เงินอุดหนุนวิจัยทั่วไป ได้แก่ โครงการวิจัย 3 สาขา คือ โครงการวิจัยสาขาเกษตร โครงการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และพฤติกรรม และกลุ่มที่ 2 คือ เงินอุดหนุนวิจัยเฉพาะกิจ
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็น มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดตั้งสถาบันวิทยาการขั้นสูงขึ้น 4 ศูนย์[63] คือ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงเพื่อเกษตรและอาหาร ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเคมีอาหารและการเกษตร และศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อันเป็นการวางโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อรองรับการสร้างผลงานวิจัย สร้างบุคลากรนักวิจัย และผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ [64] และเป็นการระดมสมองและบูรณาการความรู้จากบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศทางวิชาการและแสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยไปสู่เวทีระดับนานาชาติ[65][66] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารการประสานงานด้านวิจัย และพัฒนาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[67] ทำหน้าที่ประสานและบริหารงานวิจัย รวมถึงบริการวิชาการและงานวิจัยให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย อันนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่สมบูรณ์แบบ[68]
อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย
[แก้]การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย
[แก้]ใน พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[69] โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย [70]
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าในการประเมินครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการประเมินในระดับดีมากในสาขาวิชาการจัดการศัตรูพืช (Pest Management) จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร[9]
อันดับมหาวิทยาลัย
[แก้]นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
QS WU Rankings by Subject | |
---|---|
อันดับสาขาวิชา | |
สาขาวิชา | อันดับ |
Agriculture & Forestry (2024) | 62 |
Environmental Sciences (2024) | 301-350 |
Modern Languages (2024) | 301-340 |
Engineering - Chemical (2024) | 351-400 |
Biological Sciences (2024) | 401-450 |
Life Sciences & Medicine (2024) | 401-450 |
Electrical and Electronic Engineering (2024) | 451-500 |
Engineering - Mechanical, Aeronautical & Manufacturing (2024) | 501-530 |
Economics & Econometrics (2024) | 501-550 |
Engineering & Technology (2024) | 501-550 |
Natural Sciences (2024) | 501-550 |
Chemistry (2024) | 501-550 |
Business & Management Studies (2024) | 551-600 |
THE WU Rankings by Subject | |
อันดับสาขาวิชา | |
สาขาวิชา | อันดับ |
Agriculture & Forestry (2020) | 51-100 |
Education (2024) | 601+ |
Life Sciences (2024) | 801-1000 |
Clinical and health (2024) | 801-1000 |
Business & Economics (2024) | 801+ |
Social Sciences (2024) | 801+ |
Computer Science (2024) | 1001+ |
Engineering (2024) | 1001+ |
Physical Science (2024) | 1001+ |
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS World University Rankings มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับไว้ที่ 751-760 ของโลกและอันดับที่ 150 ของเอเชียในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2024[71] ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย ส่วนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS World University Rankings by Subject หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยได้รับการจัดอันดับไว้ทั้งหมด 4 กลุ่มสาขาวิชากับอีก 12 สาขาวิชา โดยในปี ค.ศ. 2024 มี 10 สาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ได้แก่ สาขาวิชา Agriculture & Forestry สาขาวิชา Biological Sciences สาขาวิชา Chemistry สาขาวิชา Engineering - Chemical สาขา Electrical and Electronic Engineering สาขาวิชา Engineering - Mechanical, Aeronautical & Manufacturing สาขาวิชา Environmental Sciences สาขาวิชา Business & Management Studies สาขา Economics & Econometrics และสาขา Modern Languages และมี 3 กลุ่มสาขาวิชาที่ติดอันดับโลก ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชา Life Sciences & Medicine กลุ่มสาขาวิชา Engineering & Technology และกลุ่มสาขาวิชา Natural Sciences โดยสาขาวิชา Agriculture & Forestry มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลกและติดอันดับที่ 29 ของโลกในปี ค.ศ. 2017[72] ในส่วนของสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยติดอันดับโลก ได้แก่
- ปี ค.ศ. 2023 สาขาวิชา Linguistics อันดับที่ 201-250 ของโลก
- ปี ค.ศ. 2022 สาขาวิชา Computer Science & Information System อันดับที่ 651-670 ของโลก
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้รับการจัดอันดับในด้าน Graduate Employability ไว้อันดับที่ 301-500 ของโลกในปี ค.ศ. 2022
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ The Times Higher Education World University Rankings ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ที่ 1001+ ของโลกและอับดับที่ 251-300 ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ประจำปี ค.ศ. 2020[73] นอกจากนี้ สาขาวิชา Computer Science สาขาวิชา Life Sciences สาขาวิชา Business & Economics สาขาวิชา Social Sciences สาขาวิชา Engineering & Technology และสาขาวิชา Physical Sciences ยังได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชาในปี ค.ศ. 2020[74] โดยสาขาวิชา Computer Science มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[75]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Best Global Universities Ranking ที่จัดทำโดย U.S. News & World Report ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอันดับที่ 1187 ของโลก อันดับที่ 341 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2022[76] โดยสาขาวิชา Agricultural Sciences ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 174 ของโลก เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย[77] สาขาวิชา Plant & Animal Science เป็นอันดับที่ 228 ของโลกเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย[78] สาขาวิชา Chemistry ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 879 ของโลก เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย[79] และสาขา Food Science and Technology เป็นอันดับที่ 166 ของโลกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย[80]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Round University Ranking (RUR) ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอันดับที่ 624 ของโลกและเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทยในภาพรวมประจำปี ค.ศ. 2020 โดยได้รับการจัดอันดับที่ 708 ของโลกในด้านการสอน (Teaching) อันดับที่ 529 ของโลกในด้านการวิจัย (Research) อันดับที่ 510 ของโลกในด้านความเป็นนานาชาติ (International Diversity) อันดับที่ 615 ของโลกในด้านความยั่งยืนทางการคลัง (Financial Sustainability) อันดับที่ 393 ของโลกในด้านชื่อเสียง (Reputation) และเป็นอันดับที่ 530 ของโลกในด้านวิชาการ (Academic)[81]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Center for World University Rankings (CWUR) ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นอับดับที่ 1243 ของโลกและเป็นอับดับที่ 6 ของประเทศไทยประจำปี ค.ศ. 2020-21 โดยได้รับการจัดอันดับที่ 1505 ในด้าน Alumni Employment และอันดับที่ 1180 ในด้าน Research Performance[82]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชาของ Academic Ranking of World Universities หรือ Shanghai Ranking ประจำปี ค.ศ. 2020 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกอยู่ 4 สาขาวิชา ได้แก่ อันดับที่ 101-150 ของโลกในสาขาวิชา Veterinary Sciences เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[83] อันดับที่ 201-300 ของโลกในสาขาวิชา Food Science & Technology เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[84] อันดับที่ 401-500 ของโลกในสาขาวิชา Agricultural Sciences เป็นอันดับที่ 2-3 ของประเทศไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[85] และอันดับที่ 401-500 ของโลกในสาขาวิชา Chemical Engineering เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[86]
การจัดอันดับสถาบันวิจัยโลกของ SCImago Institutions Rankings ซึ่งจัดอันดับสถาบันวิจัยโดยอาศัยดัชนีข้อมูลบทความวารสารวิชาการและจำนวนการอ้างอิงจากฐานข้อมูล โดยรวบรวมสถาบันวิจัยและแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ คือ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา (University) กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (Government) กลุ่มหน่วยงานสาธารณสุข (Health) กลุ่มหน่วยงานภาคเอกชน (Company) และกลุ่มองค์การไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) ในปี ค.ศ. 2022 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 628 ของโลกและเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยในภาพรวมจากทุกกลุ่ม รองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการจัดอันดับที่ 382 ของโลก อันดับที่ 5 ของประเทศไทยในด้านการวิจัย (Research) อันดับที่ 404 ของโลก อันดับที่ 15 ของประเทศไทยในด้านนวัตกรรม (Innovation) และอันดับที่ 225 ของโลก อันดับที่ 4 ของไทยในด้านสังคม (Societal) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกอยู่ 17 สาขาวิชา อาทิ อันดับที่ 385 ของโลก อันดับที่ 3 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Agricultural and Biological Sciences อันดับที่ 599 อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Economics, Econometrics and Finance อันดับที่ 488 อันดับที่ 13 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Environmental Science อันดับที่ 709 ของโลก อันดับที่ 5 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Medicine อันดับที่ 605 ของโลก อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Pharmacology, Toxiology and Pharmaceutics อันดับที่ 655 ของโลก อันดับที่ 10 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Physics and Astronomy อันดับที่ 678 ของโลก อันดับที่ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Social Sciences และอันดับที่ 87 ของโลก อันดับที่ 2 ของประเทศไทยในสาขาวิชา Veterinary[87]
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของ UI Green Metric World University Ranking ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวจากจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ส่งข้อมูลเข้าร่วมการจัดอันดับรวมทั้งหมด 956 แห่งในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งมีผลการประเมินจาก 6 ด้าน ได้แก่ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค (Setting & Infrastructure) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Energy & Climate Change) การจัดการขยะ (Waste) การใช้น้ำ (Water) การจัดการระบบขนส่ง (Transportation) และการศึกษาวิจัย (Education & Research) โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับการจัดอันดับ และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย[88] โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 1 ตัวชี้วัด ได้แก่ การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ[89]
พื้นที่
[แก้]วิทยาเขต
[แก้]ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดการเรียนการสอนใน 5 พื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, วิทยาเขตศรีราชา จังหวัดชลบุรี, วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และเขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี (โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี) โดยมีแหล่งที่ตั้งและจำนวนพื้นที่ของแต่ละวิทยาเขต ดังนี้[90]
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 846 ไร่
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เลขที่ 1 หมู่ 6 ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พื้นที่ 7,951.75 ไร่
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เลขที่ 199 หมู่ 6 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 199 ไร่ และพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมการเกษตรบ่อทอง จำนวน 989 ไร่
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เลขที่ 59 หมู่ 1 ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พื้นที่ 4,000 ไร่
- โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี (เขตบริหารการเรียนรู้พื้นที่สุพรรณบุรี) เลขที่ 98 หมู่ 11 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่ 761 ไร่
ศูนย์สถานีวิจัย
[แก้]นอกเหนือจากพื้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีพื้นที่ในศูนย์สถานีวิจัยที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ใช้สำหรับเพื่อจัดการศึกษาค้นคว้าวิจัยและฝึกปฏิบัติงานของนิสิตคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะเกษตร กำแพงแสน โดยศูนย์สถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถแบ่งตามคณะที่รับผิดชอบได้ ดังนี้[91]
คณะเกษตร
- สถานีวิจัยปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
- สถานีวิจัยทับกวาง ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
- สถานีวิจัยลพบุรี (โคกเจริญ) ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี
- สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร (เพนียด) ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- สถานีวิจัยเขาหินซ้อน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
- สถานีวิจัยดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
คณะประมง
- สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- สถานีวิจัยประมงศรีราชา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
- สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
- สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
คณะวนศาสตร์
- สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์ดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์ห้วยทาก ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง
- สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
- สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- สถานีวิจัยวนศาสตร์พังงา ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
- สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
คณะเกษตร กำแพงแสน
- ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- สถานีวิจัยกาญจนบุรี ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
- สถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โรงพยาบาลสัตว์
[แก้]โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนิสิตตามหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นหน่วยงานให้บริการทางสัตวแพทย์ หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ และฟาร์มสัตว์เพื่อการเรียนการสอน ปัจจุบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์มีโรงพยาบาลสัตว์ 5 แห่ง ดังนี้[92]
- โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนองโพ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
- โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์
[แก้]มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) [93] ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้วางเครือข่ายโครงสร้างและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกหน่วยงานและทุกวิทยาเขตให้มีความพร้อมรองรับการเป็น e-University
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การวางโครงสร้างเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตต่าง ๆ โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนใน พ.ศ. 2546 รวม 34.5 ล้านบาท[93] และมหาวิทยาลัยได้เตรียมงบประมาณรองรับการวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไว้แล้วรวมกว่า 192 ล้านบาท[93] ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยได้วางระบบเครือข่ายสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) และเริ่มใช้ระบบสำนักงานอัตโนมัติในหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ดำเนินการบริหารการประชุมโดยเริ่มระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในการประชุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณการใช้เอกสาร ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการวางระบบโครงสร้างเครือข่ายไร้สาย (Wireless Networking System) ในคณะ สำนัก สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Wireless Campus ซึ่งได้ดำเนินการแล้วหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี และ สำนักหอสมุด
โดยมีโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วย[94] โครงการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) โครงการระบบสำนักงานอัตโนมัติ (e-Office) โครงการระบบการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) โครงการข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (e-News) โครงการไวร์เลสแคมปัส (Wireless Campus) โครงการบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โครงการจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย (e-Publication) โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานบริหารของมหาวิทยาลัย (e-MIS) โครงการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมด้านไอที (e-Personal) โครงการปรับปรุงและขยายเครือข่ายของมหาวิทยาลัย (e-Campus)
และมีแผนที่จะดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้ ดำเนินการโครงการ e-MIS ให้ครอบคลุมระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย พัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อก้าวสู่การใช้ e-Learning ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการก้าวสู่การเป็น e-University ที่สมบูรณ์แบบต่อไปดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลอัจฉริยะทางการเกษตร (Intelligent Agriculture System - e-Ag) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การให้บริการข้อมูลทางการเกษตรโดยระบบอัจฉริยะ (Intelligent Systems) และการสื่อสารโดยผ่านทางสถานีวิทยุของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการถามตอบข้อมูลผ่านทาง Agriculture Call Center ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ
[แก้]ระดับปริญญาตรี
[แก้]มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[95]
- สอบคัดเลือกโดยรับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ เทียบเท่าผ่านระบบแอดมิชชั่น โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสอบคัดเลือกหรือรับเข้าโดยตรง ตามโครงการต่าง ๆ ดังนี้
- สอบคัดเลือกเข้าศึกษาตามโครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สำหรับนักเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในท้องถิ่น (โควตาพิเศษ) โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนดให้นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สังกัดโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัด นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และในเขตการศึกษาต่าง ๆ คือ
- เขตการศึกษา 1 ได้แก่จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร
- เขตการศึกษา 5 ได้แก่จังหวัด กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี
- เขตการศึกษา 6 ได้แก่จังหวัด ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี
- เขตการศึกษา 12 ได้แก่จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
โดยจะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือตามที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์กำหนด ซึ่งจะแจ้งให้โรงเรียนที่อยู่ในโครงการทราบโดยตรง
- สอบคัดเลือกเข้าศึกษาตามโครงการผู้ที่มีความสามารถทางกีฬาดีเด่น ประกาศรับสมัครในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
- สอบคัดเลือกตามโครงการวิศวกรรมศาสตร์ภาคพิเศษและอุตสาหกรรมเกษตรภาคพิเศษ ประกาศรับในช่วงเดือนมีนาคม และวิทยาลัยชุมชนศรีราชาประกาศรับช่วงเดือนเมษายน
- รับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และโครงการเร่งรัดผลิตครูทางคณิตศาสตร์
- รับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาในโครงการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และจากผู้มีความสามารถทางการวิจัยดีเด่น เข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์
- รับจากข้าราชการตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องซึ่งหน่วยงาน ต้นสังกัดระดับกรม เป็นผู้เสนอชื่อขอเข้าศึกษา
- รับจากผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย
- รับจากผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากต่างจังหวัด เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ ซึ่งคณะวนศาสตร์จะแจ้งให้โรงเรียนทราบโดยตรง
- คณะแพทยศาสตร์ รับนักเรียนและผู้สนใจเข้าศึกษาต่อใน "โครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ (TCAS2)" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในท้องถิ่นในเขตสุขภาพที่ 5 (สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกาญจนบุรี) และเขตสุขภาพที่ 8 (สกลนคร บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี หนองคาย เลย และหนองบัวลำภู) [96]
ระดับปริญญาโท
[แก้]การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ผู้สมัครต้องสำเร็จปริญญาตรี หรือกำลังศึกษาอยู่ในภาคการศึกษาสุดท้าย และมีผลการศึกษาหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ดังนี้
- ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.00 หรือแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ
- ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.00 หรือแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และได้คะแนนเฉลี่ยในวิชาเอกที่จะสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาโท (ไม่น้อยกว่า 5 รายวิชา) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.00 หรือแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 หรือ
- ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.00 หรือแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชา (เงื่อนไขการทำงาน 3 ปี นับจากวันที่ทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี สำหรับผู้สมัครในภาคต้น และวันที่ 1 พฤศจิกายน ของทุกปี สำหรับผู้สมัครในภาคปลาย)
ระดับปริญญาเอก
[แก้]การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือกำลังศึกษาอยู่ในภาคการศึกษาสุดท้ายในสาขาวิชาที่จะเข้าศึกษาหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และเคยผ่านงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์มาแล้ว แต่ถ้าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทที่ไม่ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ จะต้องมีผลงานวิจัย หรือมีประสบการณ์วิจัยในสายงานที่จะเข้าศึกษาและเป็นที่ยอมรับของสาขานั้น
- นอกจากนี้การรับเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จะรับสมัครโดยโครงการต่าง ๆ ที่แต่ละคณะได้เปิดโครงการ ก็จะมีการรับสมัครโดยหน่วยงานของโครงการโดยตรง
ชีวิตในมหาวิทยาลัย
[แก้]ระยะเวลาในการเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในระดับปริญญาตรีนั้นโดยหลักสูตรปกติจะเป็นหลักสูตร 4 ปี[97] ยกเว้นบางสาขาวิชาที่ต้องมีการเรียนการสอนที่มากกว่า 4 ปี[98]ส่วนปริญญาโทและเอก[99]นั้นเป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด
สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรีนั้นนอกจากจะต้องเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดแล้วระเบียบการศึกษาและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ให้ครบหน่วยชั่วโมงกิจกรรม โดยกิจกรรมแต่ละประเภทจะเป็นการพัฒนานิสิตในด้านจริยธรรมและคุณธรรม วิชาการและทักษะวิชาชีพ สุขภาพ โดยเป็นการพัฒนาตนเองและเป็นการทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย[97]
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บัญญัติข้อบังคับสำหรับการดำเนินกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและกิจกรรมมีประสิทธิภาพ สภามหาวิทยาลัยจึงมีประกาศสภามหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อบังคับว่าด้วยธรรมนูญนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2549 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยจะกระทำได้โดยองค์กรกิจกรรมนิสิต ดังต่อไปนี้[97]
- องค์การนิสิต มีหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมนิสิตในภาครวมทั้ง 4 วิทยาเขต โดยมี คณะกรรมการองค์การนิสิต เป็นคณะบุคคลที่กำกับดูแล ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารและประธานสภาผู้แทนนิสิต จากทั้ง 4 วิทยาเขตรวมกัน โดยจะเลือกตัวแทนขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการองค์การนิสิต เป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอธิการบดี
- สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต (สภ.ก.) มีหน้าที่ออกข้อบังคับหรือกฎระเบียบในการดำเนินกิจกรรมนิสิต และตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมขององค์การบริหาร เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามนโยบายและธรรมนูญนิสิต โดยสภาผู้แทนนิสิตจะมีอยู่ทั้ง 4 วิทยาเขต
- องค์การบริหาร องค์การนิสิต (อบ.ก.) มีหน้าที่บริหารงานเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตและเป็นตัวแทนนิสิตทั้งปวงของแต่ละวิทยาเขต สามารถดำเนินการหรือเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับหน่วยงานนิสิต-นักศึกษา สถาบันการศึกษา หรือองค์กรอื่นทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของนิสิตเป็นที่ตั้ง ซึ่งองค์การบริหารฯ จะตั้งอยู่ในทั้ง 4 วิทยาเขต ทั้งนี้ องค์การบริหารฯ มี คณะกรรมการบริหารองค์การบริหาร ทำหน้าที่บริหารงานให้เป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญนิสิตฯ ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากนิสิตทั้งปวงของแต่ละวิทยาเขต
- สโมสรนิสิต ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมให้กับนิสิตของแต่ละคณะ ในแต่ละวิทยาเขต
- ชุมนุมนิสิต เป็นองค์กรกิจกรรมนิสิตที่ย่อยจากสโมสรนิสิต ที่ทำหน้าที่บริหารกิจกรรมเฉพาะด้าน เช่น ชุมนุมนิสิตภาควิชากีฏวิทยา สโมสรนิสิตคณะเกษตร กำแพงแสน ชุมนุมนิสิตสานฝันคนรักม้า สโมสรนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชุมนุมนิสิตวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชุมนุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ เป็นต้น
- ชมรมนิสิต เป็นหน่วยงานนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของชมรมต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งชมรมนิสิตได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านบำเพ็ญประโยชน์ ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านกีฬา มีตัวอย่างชมรมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่น ชมรมดนตรีสากลฯ ชมรมขับร้องประสานเสียงฯ ชมรมวงดนตรีรวมดาวกระจุย ชมรมอคูสติก ชมรมเคยู แดนซ์ คลับ ชมรมเชียร์และแปรอักษร ชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด ชมรมส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ ชมรมพุทธศาสน์ ชมรมดาราศาสตร์ ชมรมผู้ประกอบการนิสิต ชมรมพัฒนาชนบท ชมรมรักษ์ช้างไทย ชมรมเห็ด ชมรมเทคโนโลยี ชมรมกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น
กิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นสามารถที่จะแบ่งได้ออกเป็นหลายลักษณะดังต่อไปนี้ กิจกรรมวิชาการ คือกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่นิสิต อาทิ กิจกรรมก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ เป็นกิจกรรมแรกที่นิสิตชั้นปีที่ 1 จะต้องเข้าร่วมเป็นงานที่อธิบายประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย วิทยาเขตต่าง ๆ [100]
งานเกษตรแห่งชาติ เป็นงานวิชาการด้านการเกษตรที่จัดร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจัดในส่วนกลางที่วิทยาเขตบางเขน สลับกับในส่วนของภูมิภาคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยจัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2495 โดยใช้ชื่องานว่า "งานประจำปีเกษตรกลางบางเขน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงานอีกด้วย [101] นอกจากนี้ยังมี งานเกษตรแฟร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดแสดงงานวิชาการประจำปีซึ่งมีทุกวิทยาเขต โดยจะมีการจัดในสัปดาห์ในวันก่อตั้งของแต่ละวิทยาเขต สำหรับวิทยาเขตบางเขนจะมีการจัดงานปีเว้นปีโดยสลับกับงานเกษตรแห่งชาติ สำหรับวิทยาเขตกำแพงแสนจะใช้ชื่อเรียกว่า "งานเกษตรกำแพงแสน"
กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม อาทิ กิจกรรมคอนเสิร์ตประสานเสียงสามสถาบัน จุฬาฯ เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (CKT) เป็นการแสดงคอนเสิร์ตร่วมของ 3 สถาบันที่ได้รับพระราชทานเพลงจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[102] กิจกรรมลอยกระทง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดยองค์การบริหารองค์การนิสิตกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและรักษาประเพณีอันดีงามของไทย พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวที การประกวดนางนพมาศ และงานธิดาเกษตร งานประกวดบุคคลที่มีความงามที่มีความรู้ด้านการเกษตร[103]
นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร ซึ่งก็คือการออกค่ายอาสา ซึ่งการออกค่ายอาสาสมัครของนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลายองค์กรนิสิต เช่น ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ชมรมโรตาแรคท์ ชมรมค่ายอาสาพัฒนา ชมรมค่ายอาสาพัฒนานนทรีทักษิณ ชมรมคนสร้างป่า ชมรมธารความรู้นนทรี ชมรมมหาลัย-ชาวบ้าน เป็นต้น
กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย
[แก้]การจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
[แก้]การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรวม 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 49 โดยใช้พื้นที่ของวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นสถานที่จัดการแข่งขันหลัก โดยมีรายละเอียดที่จัดการแข่งขัน ดังนี้
เจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย | |||
---|---|---|---|
ลำดับ | เจ้าภาพการจัดการแข่งขัน | ช่วงเวลา | สถานที่จัดการแข่งขันหลัก |
1 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 | 8 - 15 มกราคม พ.ศ. 2536 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน |
2 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 26 | 29 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
3 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 42 | 15 - 24 มกราคม พ.ศ. 2558 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
4 | กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 | 27 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 | ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นเจ้าภาพร่วม การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5, ครั้งที่ 6, ครั้งที่ 7, ครั้งที่ 9
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[แก้]มีหลักฐานจากสูจิบัตรวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 โดยสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในคราวนั้นคือ ห้องโถงชั้นบนตึกสัตวบาล ซึ่งเป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2495 (อาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน) [104][105]
ต่อมาพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษา ได้ใช้อาคารห้องสมุดกลางในขณะนั้นในระหว่าง พ.ศ. 2496 ถึง 2499[106] และหลังจากหอประชุมใหญ่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2500 จึงได้ใช้อาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนในเวลาต่อมา
ใน พ.ศ. 2520 ได้มีการย้ายสถานที่ในการพระราชทานปริญญาบัตรจากหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเป็น อาคารใหม่ สวนอัมพร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2519 - 2520 โดยอาคารใหม่ สวนอัมพร นี้ เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2528[107]
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำ พ.ศ. 2529 ได้กลับมาจัดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกครั้ง แต่เปลี่ยนสถานที่จากหอประชุมเป็นอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งมีขนาดกว้างขวางกว่าและจุผู้เข้าร่วมพิธีได้มากกว่า โดยในวาระนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประกอบพิธีเปิดอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งตั้งชื่อตามพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และใช้เป็นสถานพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จวบจนถึงปัจจุบัน[108]
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2542 - 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2541 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [109]
และใน พ.ศ. 2544 ถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากทุกวิทยาเขต โดยมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี[110] ใน พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนเวลาการเปิดการสอนภาคต้นจากเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนสิงหาคมจึงได้เลื่อนกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นช่วงเดือนตุลาคม
วันสำคัญ
[แก้]วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[111][112] ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยถือเอาการมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดพิธีรำลึกและวางพวงมาลาคารวะสามบูรพาจารย์ผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยและพิธีรดน้ำบูรพาจารย์อาวุโส เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบทุกปี ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
วันรำลึกถึงรัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน [113] เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ซึ่งปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร เหตุการณ์ในวันนั้นจึงนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเกษตรของไทยและของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดไป
วันหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร[114] เป็นวันรำลึกซึ่งหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการข้าวระหว่างชาติ ทรงได้รับรางวัลแมกไซไซด้านบริการสาธารณะ และที่สำคัญทรงได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดพิธีรำลึกในวันที่ 22 มิถุนายน ของทุกปี ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันสระสุวรรณชาดพระราชทาน เป็นวันครบรอบสระสุวรรณชาดซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัดให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกและระบบประสาท โดยเป็นเงินพระราชทานจากรายได้การจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า สระสุวรรณชาด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในครั้งนี้ด้วย
วันสืบ นาคะเสถียร เป็นวันรำลึกถึงคุณงามความดีของสืบ นาคะเสถียร นิสิตเก่าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย ผู้ซึ่งพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และได้กระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับคณะวนศาสตร์และสโมสรนิสิตคณะวนศาสตร์ได้จัดพิธีประกาศสดุดีรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร พิธีวางพวงมาลา และจัดกิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ ให้นิสิตเห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี[115]
วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานต้นนนทรีเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยตามคำกราบบังคมทูลของทางมหาวิทยาลัย[116] และหลังจากทรงปลูกต้นนนทรีแล้ว ได้ทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก โดยล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งมี อาจารย์ นิสิต และนิสิตเก่าแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมอยู่ด้วย ได้แก่ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ว่าที่ร้อยตรี อวบ เหมะรัชตะ เป็นต้น เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" และ "ทรงดนตรี" อีก 9 ครั้งในปีต่อ ๆ มา
บุคคลสำคัญ
[แก้]-
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี -
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ -
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร -
หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ -
พระช่วงเกษตรศิลปการ -
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์
- ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทรงเป็นองค์ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์[117][118][119][120]
- ศาสตราจารย์พิเศษ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ. 2518-2522
- ศาสตราจารย์พิเศษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ทรงได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ พ.ศ. 2510 และทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่"
- หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อดีตอธิบดีกรมเกษตรและกรมประมง บูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศาสตราจารย์ ดร.หลวงสมานวนกิจ อดีตคณบดีคณะเกษตรและอดีตอธิบดีกรมป่าไม้
- พระช่วงเกษตรศิลปการ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ บูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศาสตราจารย์ โชติ สุวัตถิ อดีตคณบดีคณะประมง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านสัตว์น้ำและพรรณพืชของประเทศไทย
- หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยการชลประทาน และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้บุกเบิกการก่อสร้างชลประทานสมัยใหม่
- ศาสตราจารย์ ดร.ทวี ญาณสุคนธ์ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ผู้วางรากฐานการศึกษาจุลชีววิทยาทางการเกษตรในประเทศไทย
- ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ใกล้รุ่ง ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้วางรากฐานทางสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและการจัดการฟาร์ม
- ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล[121]
- ศาสตราจารย์ สง่า สรรพศรี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ศาสตราจารย์ สุจินต์ จินายน นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
- ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวไทย
- สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย[122][123][124]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๔, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ จำนวนนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2563. [1]. ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๒๔๗) (ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ประกาศเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๓ ก.ค. ๒๕๕๒ เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๙๘ ง หน้า ๓๔ สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 กรกฎาคม 2566
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2019-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความเป็นมาก่อนการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2 กุมภาพันธ์ วันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 เก็บถาวร 2015-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา, วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม 2558
- ↑ 9.0 9.1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (30) เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 14 เมษายน 2557
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑ ใน ๙ มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เก็บถาวร 2013-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-22
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต เก็บถาวร 2013-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-22
- ↑ 12.0 12.1 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี รายละเอียดโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่ 2013-02-22
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อมูลหลักสูตร เก็บถาวร 2013-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-22
- ↑ Japan International Research Center for Agricultural Sciences"A Scientist and a Link of the Chain uniting Thailand and Japan" เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตารางเอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หม่อนไหมสายใยแผ่นดิน เก็บถาวร 2008-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประวัติหน่วยงาน สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทย เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนเกษตราธิการ-เปิดยุคการศึกษาเกษตรตามแบบอย่างตะวันตก เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษา ๘ สาขาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การพัฒนาอาชีวเกษตรกรรม เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2008-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ คลังเอกสารสาธารณะ วิญญาณสามบูรพาจารย์เกษตร โดย ศ.ระพี สาคริก เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประวัติการศึกษาเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2007-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ราชกิจจานุเบกศา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ราชกิจจานุเบกศา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติมหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติมหาวิทยาลัยทศวรรษที่สี่ พ.ศ. 2516-2525 เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาประวัติวิทยาเขตศรีราชา เก็บถาวร 2013-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติมหาวิทยาลัยทศวรรษที่หก พ.ศ. 2536-2545 เก็บถาวร 2014-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่2013-02-24
- ↑ ราชกิจจานุเบกศา กระทู้ถามเรื่องวิทยาเขตลพบุรี เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอกสารประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ "KU | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รอบรั้วชาวนนทรี". www.ku.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา, วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม 2558
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "ความเป็นมาก่อนจัดตั้งมหาวิทยาลัย" เก็บถาวร 2007-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝากไว้ให้ลูกหลานชาวเกษตร ศาสตราจารย์ ดร. อรรถ นาครทรรพ เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในระหว่าง พ.ศ. 2518 ได้มีการวิ่งเต้นขอให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ... เก็บถาวร 2018-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2008-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ 40.0 40.1 40.2 ราชกิจจานุเบกศา กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพรบ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2013-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ บันทึกผลงาน ของ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๙ / กรมศิลปากร
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เอกสารประกอบพิธีเปิดอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2009-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ โครงการอัครศิลปิน เพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ รศ. ม.ล. จารุพันธ์ ทองแถม, นนทรี-สีเขียว ไม้ยืนต้นสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ↑ 47.0 47.1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอกสารประชาสัมพันธ์วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีโปรด เก็บถาวร 2012-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2013-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-22
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : ต้นนนทรี เก็บถาวร 2010-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-2
- ↑ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเนียบนายกสภา เก็บถาวร 2020-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-12-18
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเนียบอธิการบดี เก็บถาวร 2013-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ เก็บถาวร 2005-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2567 https://eoffice.ku.ac.th/kuoffice/gen02/B30QyE.pdf
- ↑ "ประวัติความเป็นมา". สืบค้นเมื่อ 2020-12-22.
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาการการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ลงวันที่ 29 มีนาคม 2567 https://eoffice.ku.ac.th/kuoffice/gen05/7stTrp.pdf
- ↑ "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา". www.src.ku.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-24. สืบค้นเมื่อ 2020-12-22.
- ↑ สำนักงาน กพ., การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรวิชาชีพของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ. ตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร 104/ ว.26 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หน้าที่ 70 สืบค้นวันที่ 23 มกราคม 2567
- ↑ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2013-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-23
- ↑ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นโยบายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สนับสนุนงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2009-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามระหว่าง มก.กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยรายงานฉบับสมบูรณ์ พ.ศ. 2548 เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรฯ กับความก้าวหน้าการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เก็บถาวร 2010-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบบงานวิจัยและงานสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2010-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KASETSART JOURNAL เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิทรรศการงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2010-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2007-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แนะนำสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2008-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ สถาบันจัดอันดับแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มติชนออนไลน์ 50 อันดับมหาวิทยาลัยไทย เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ "Kasetsart University". Top Universities (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-07-01.
- ↑ "Kasetsart University Rankings". Top Universities (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ "Kasetsart University". Times Higher Education (THE) (ภาษาอังกฤษ). 2020-12-01. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ "By subject". Times Higher Education (THE) (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ "World University Rankings 2021 by subject: computer science". Times Higher Education (THE) (ภาษาอังกฤษ). 2020-10-26. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ U.S. News & World Report [2] เรียกดูวันที่ 2022-04-21
- ↑ U.S. News & World Report [3] เรียกดูวันที่ 2022-04-21
- ↑ U.S. News & World Report [4] เรียกดูวันที่ 2022-04-21
- ↑ U.S. News & World Report [5] เรียกดูวันที่ 2022-04-21
- ↑ U.S. News & World Report [6] เรียกดูวันที่ 2022-04-21
- ↑ "Kasetsart University". roundranking.com. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "Kasetsart University Ranking 2020-21 - Center for World University Rankings (CWUR)". cwur.org. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2020 - Veterinary Sciences | Shanghai Ranking - 2020". www.shanghairanking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-01. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2020 - Food Science & Technology | Shanghai Ranking - 2020". www.shanghairanking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-31. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2020 - Agricultural Sciences | Shanghai Ranking - 2020". www.shanghairanking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2020 - Chemical Engineering | Shanghai Ranking - 2020". www.shanghairanking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-01. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ "Research and Innovation Rankings - Thailand 2021". www.scimagoir.com. สืบค้นเมื่อ 2022-04-21.
- ↑ "UI Green Metric - Overall Rankings 2021". www.greenmetric.ui.ac.id (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-04-21.
- ↑ "UI Green Metric - Ranking by Country 2021 - Thailand". www.greenmetric.ui.ac.id (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-27. สืบค้นเมื่อ 2022-04-21.
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ตั้งวิทยาเขต เก็บถาวร 2008-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-2
- ↑ "ศูนย์สถานีวิจัย". www.ku.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "โรงพยาบาลสัตว์". vet.ku.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ 93.0 93.1 93.2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ เก็บถาวร 2008-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานการบริหารงานที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันโครงการ e-University เก็บถาวร 2008-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ สำนักทะเบียนและประมวลผลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักทะเบียนและประมวลผลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2008-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. [https://admission.ku.ac.th/media/announcements/2023/10/27/67-TCAS2-Medicine_Quota.pdf ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง การรับสมัครและการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โครงการส่งเสริมโอกาสศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2567 (TCAS รอบที่ 2 โควตา) ประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566], กรุงเทพมหานคร, สืบค้น 25 มกราคม 2567
- ↑ 97.0 97.1 97.2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระเบียบการศึกษาและข้อบังคับการศึกษาปริญาตรีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระเบียบการศึกษาและข้อบังคับบางประการ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2013-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โครงการก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ ปีการศึกษา 2555เรียกดูวันที่ 2013-02-24
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวงานเกษตรแห่งชาติ 2548 เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมชมรม/CKT5 เรียกดูวันที่2013-02-24
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เอกสารการสมัครการประกวดธิดาเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีประสาทปริญญาและอนุปริญญา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พ.ศ. 2493เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีประสาทปริญญาและอนุปริญญา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2499 เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2009-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๔ เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ วันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบ 63 ปีเรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติโดยสังเขป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2008-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ วันรำลึกถึงรัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ บิดาการเกษตร เรียกดูวันที่ 2013-02-21
- ↑ "ขอเชิญร่วมงาน "สืบสาน วันสืบ นาคะเสถียร" ปี 2563". www.ku.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ เดลินิวส์ ระลึก "วันนนทรี" ทรงปลูกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบค้น 2013-2-21
- ↑ Chulabhorn Research Institute. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์กับสิ่งแวดล้อมโลก (HRH Princess Chulahorn Mahidol and World Environment) - พระประวัติด้านการศึกษาในประเทศ. เรียกดูวันที่ 2020-09-03
- ↑ Chulabhorn Research Institute. 1986: Einstein Gold Medal of UNESCO เก็บถาวร 2020-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดูวันที่ 2020-09-03
- ↑ กฤษณา ชุติมา. (2531). ที่ระลึกในพิธีเปิดอาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 สิงหาคม 2531. ทูลกระหม่อมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (น. 198 หน้า). กรุงเทพฯ: สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.
- ↑ กฤษณา ชุติมา. (2536). สี่ปีในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. วารสารไทย, 13(51), 13-17.
- ↑ rapee.org. ศาสตราจารย์ระพี สาคริก - ชีวิตเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา เก็บถาวร 2020-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูวันที่ 2020-09-03
- ↑ "20 เรื่องราวของ 'สืบ นาคะเสถียร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-28. สืบค้นเมื่อ 2020-09-03.
- ↑ ชีวประวัติ สืบ นาคะเสถียร
- ↑ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. ลำดับชีวิต ประวัติ สืบ นาคะเสถียร. เรียกดูวันที่ 2020-09-03
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°50′52″N 100°34′15″E / 13.847747°N 100.57084°E
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2013-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2012-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รายการหมายเลขโทรศัพท์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2005-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข่าวการรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2006-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศูนย์ข่าวชุมชน มก. KU city เก็บถาวร 2006-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน