เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่- ห้วยขาแข้ง * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง | |
พิกัด | 15°24′45.1″N 98°56′38.2″E / 15.412528°N 98.943944°E |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางธรรมชาติ |
เกณฑ์พิจารณา | (vii), (ix), (x) |
อ้างอิง | 591 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2534 (คณะกรรมการสมัยที่ 15) |
พื้นที่ | 622,200 เฮกตาร์ |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง คือแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสองเขต ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี ตาก และกาญจนบุรี ทางตะวันตกของประเทศใกล้กับชายแดนประเทศพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 622,200 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน เป็นพื้นที่ป่าที่สามารถเข้าถึงได้น้อยที่สุดและเป็นบริเวณที่รบกวนน้อยที่สุดของประเทศ โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ร้อยละ 77 (โดยเฉพาะช้างและเสือ) นกขนาดใหญ่ร้อยละ 50 และสัตว์มีกระดูกสันหลังบกร้อยละ 33 ที่พบในภูมิภาคสามารถพบได้ในแหล่งมรดกโลกแห่งนี้
สถานที่ที่ประกอบเป็นแหล่งมรดกโลก
[แก้]- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 3,647 ตารางกิโลเมตร
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2,780 ตารางกิโลเมตร
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
[แก้]เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้
- (vii) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
- (ix) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
- (x) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกพร้อมกันกับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries" (ภาษาอังกฤษ). UNESCO World Heritage Centre. สืบค้นเมื่อ 30 January 2017.