โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลราชวิถี | |
---|---|
Rajavithi Hospital | |
![]() | |
![]() | |
ประเภท | รัฐบาล |
ที่ตั้ง | 2 ถนนพญาไท และ ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
ข้อมูลทั่วไป | |
ก่อตั้ง | 16 เมษายน พ.ศ. 2494 |
สังกัด | กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข |
ความร่วมมือ | วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต |
ผู้อำนวยการ | นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ |
จำนวนเตียง | 1,055 |
เว็บไซต์ | โรงพยาบาลราชวิถี |
โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล นับเป็นโรงพยาบาลศูนย์วิชาการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก และสถาบันร่วมผลิตแพทย์ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

โรงพยาบาลราชวิถี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2494 โดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลหญิง" ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อให้เป็น โรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็กเป็นแห่งแรกของประเทศไทย อำนวยการโดยนายแพทย์ประพนธ์ เสรีรัตน์ ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้อำนวยการ และอีกเดือนต่อมา นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล และได้รับความไว้วางใจในการเข้าการรักษาจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อการผ่าตัดแฝดสยาม วันดี ศรีวัน แยกออกจากกันสำเร็จ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลอย่างมาก
โรงพยาบาลได้เปลี่ยนจากโรงพยาบาลหญิง มาเป็น โรงพยาบาลที่รักษาโรคทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะเพศและอายุ เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานนามใหม่ว่า "โรงพยาบาลราชวิถี" ในปี พ.ศ. 2525 ก่อสร้างอาคารพิเคราะห์โรคและบำบัดผู้ป่วยเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 12 ชั้น ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามอาคารว่า "ตึกสิรินธร"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้จัดตั้งศูนย์โรคหัวใจขึ้น ซึ่งสร้างชื่อเสียงเมื่อสามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกันที่เรียกว่า Domino Heart Transplantation ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย และต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นสถาบันโรคหัวใจ กรมการแพทย์ เพื่อรองรับนโยบายสาธารณสุข
พ.ศ. 2532 จัดตั้งศูนย์โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้เปิดตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ก่อสร้างอาคารบำบัดน้ำเสีย และวางโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถขนาดใหญ่ 12 ชั้น ที่มีหอประชุมใหญ่และลานจอดรถ
ในปัจจุบัน ยังรับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียนการสอน ของนักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตในภาคคลินิก ชั้นปีที่ 4-6 โดยการเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อร่วมกันผลิตแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชน [1]
จากข้อมูลปี 2559 โรงพยาบาลราชวิถี มีแพทย์ 250 คน ดูแลผู้ป่วยปีละประมาณ 1 ล้านคน เฉพาะผู้ป่วยนอก หรือ OPD วันละมากกว่า 3,500 คน โดยเฉลี่ยแล้วแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วยใน 161 คน และผู้ป่วยนอก 3,996 คน
ในปี 2561 สร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 1 ล้านเป็น 1.5 ล้านคน หรือวันละประมาณ 6,000 คน มีเตียงรองรับผู้ป่วยในได้ 400 เตียง ผู้ป่วยวิกฤติได้รับการดูแลที่ดีขึ้นเนื่องจากมีเตียง ICU เพิ่มอีก 64 เตียง ห้องผ่าตัดเพิ่ม 11 ห้อง[2]
ด้านความสำเร็จทางการแพทย์ที่สร้างชื่อเสียง แพทย์ประสบความสำเร็จในการใช้รากฟันฝังกระจกตาเทียมรักษาอาการตาบอดของนางดอกรัก เพชรประเสริฐ ซึ่งตาบอดทั้ง 2 ข้าง จากโรคสตีเวน จอห์นสัน ซินโดรม ถือเป็นรายแรกของโลกที่ใช้การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากบุคคลอื่น คือ รากฟันซึ่งเป็นของบุตรชาย[3] ในปี 2562 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรง ด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังออกทั้งระดับ และพัฒนาวิธีการรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังค่อมและยึดติด ด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็ก ถือเป็นการผ่าตัดสำเร็จครั้งแรกในกรณีแบบนี้ในเอเชีย[4]
ทำเนียบผู้บริหาร
[แก้]โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้อำนวยการแล้วทั้งสิ้น 17 ท่าน ดังมีรายนามตามวาระดังนี้
- นพ.ประพนธ์ เสรีรัตน์ พ.ศ. 2494
- นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว พ.ศ. 2494-2502
- นพ.นิพนธ์ สุวัฑฒนา พ.ศ. 2502-2510
- นพ.กมล สินธวานนท์ พ.ศ. 2510-2514
- นพ.สมมาตร มาลยมาน พ.ศ. 2514-2520
- นพ.สาโรจน์ อรรถวิภัชน์ พ.ศ. 2520-2530
- นพ.บุญธันว์ สมบูรณ์ พ.ศ. 2530-2535
- นพ.ชาติ พิชญางกูร พ.ศ. 2535-2537
- นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม พ.ศ. 2537-2540
- นพ.สุนทร อันตรเสน พ.ศ. 2540-2543
- นพ.สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ พ.ศ. 2543-2547
- นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข พ.ศ. 2548-2551
- พญ.วารุณี จินารัตน์ พ.ศ. 2551-2556
- นพ.อุดม เชาวรินทร์ พ.ศ. 2556-2558
- นพ.มานัส โพธาภรณ์ พ.ศ. 2558-2562
- นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา พ.ศ. 2562-2564
- นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติโรงพยาบาลราชวิถี จากอดีต-ปัจจุบัน เก็บถาวร 2009-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน rajavithi.go.th
- ↑ ศูนย์การแพทย์...ราชวิถี เทคโนโลยี..ต่อชีวิตคนจน
- ↑ "รพ.ราชวิถีกระหึ่มโลกใช้รากฟันรักษาตาบอดสำเร็จ". ไทยรัฐออนไลน์. 3 ธันวาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ราชวิถีผ่าตัดกระดูกสันหลังโก่ง ด้วยเทคนิคแผลเล็กแห่งแรกของเอเชีย". ข่าวสด. 13 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)