ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
คณะพยาบาลศาสตร์
สถาบันพระบรมราชชนก
Boromarajonani College of Nursing, Bangkok
ชื่อย่อวพก. , BCN BANGKOK , BCNB
คติพจน์ปัญญานำ คุณธรรมเด่น เน้นวิชาการ เชี่ยวปฏิบัติ สมรรถนะสากล บุคคลสัมพันธ์
สังกัดการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
ที่อยู่
2/1 แขวง ทุ่งพญาไท เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
สี████ สีฟ้าขาว
เว็บไซต์http://www.bcn.ac.th

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่เก่าแก่เป็นอันดับ3ของประเทศ เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางอีกหลายสาขา

ประวัติวิทยาลัย

[แก้]

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ เดิมชื่อโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ตั้งขึ้นโดยความริเริ่มของพันโท หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 24 คน เข้าศึกษาที่โรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2489 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้ย้ายจากโรงพยาบาลกลางมาที่โรงพยาบาลหญิง(โรงพยาบาลราชวิถี)โดยมีคุณแม่มณี สหัสสานนท์ เป็นอาจารย์ ผู้ปกครอง และอาจารย์เพี้ยน พูนสุวรรณ เป็นอาจารย์สอนพยาบาลท่านแรก

ปีพุทธศักราช 2491 กรมการแพทย์ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณจึงรับโอนโรงพยาบาลหญิงจากเทศบาลนครกรุงเทพมาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 ถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

ปีพุทธศักราช 2493 ได้จัดซื้อที่ดินพร้อมอาคารเรียนจาก โรงเรียนสัตวแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก เพื่อใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนพยาบาล พร้อมจัดสร้างหอพักสำหรับนักเรียนพยาบาลในบริเวณด้านหลังของโรงพยาบาลหญิง

ปีพุทธศักราช 2516 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยได้โอนวิทยาลัยพยาบาล มาสังกัดกองงานวิทยาลัยพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ" ในขณะนั้น

ปีพุทธศักราช 2536 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้รวมกองงานวิทยาลัยพยาบาล และกองฝึกอบรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เป็น หน่วยงานใหม่ ใช้ชื่อว่า สถาบันพัฒนากำลังคน-ด้านสาธารณสุข ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า สถาบันพระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2537 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี​ พระราชทาน ชื่อวิทยาลัยพยาบาลในสังกัด สถาบันพระบรมราชชนก ว่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี และต่อท้าย ชื่อจังหวัดที่เป็นที่ตั้ง และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้อักษรพระนามาภิไธยย่อ "สว" เป็นเครื่องหมาย ประจำวิทยาลัย วิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พุทธศักราช 2540 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ ได้เป็นสถาบันสมทบ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑๕ เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๕๔ ง. วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐) ดังนั้นบัณฑิตที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ จึงรับปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปีการศึกษา 2562

พุทธศักราช 2562 ต่อมาราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนที่ 43 ก หน้า 50 ได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562[1] โดยให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้บัณฑิตจะได้รับปริญญาจาก สถาบันพระบรมราชชนก โดยตรง

หลักสูตร

[แก้]
หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
หลักสูตรประกาศนียบัตร/ฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรประกาศนียบัตร

หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (1ปี)

หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง

  • สาขาศาสตร์และศิลป์การสอนทางการพยาบาล
  • สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น)
  • สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.)

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (พย.ม.)

  • สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ


อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-11. สืบค้นเมื่อ 2020-07-13.