ข้ามไปเนื้อหา

โรงพยาบาลเลิดสิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลเลิดสิน
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งเลขที่ 190 ถนนสีลม แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร, ไทย
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลรัฐบาล
สังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
บริการสุขภาพ
จำนวนเตียง609[1]
ประวัติ
เปิดให้บริการ28 มิถุนายน พ.ศ. 2492
ลิงก์
เว็บไซต์lerdsin.go.th/index.php/th/

โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขนาด 609 เตียง[2] ตั้งอยู่เลขที่ 190 ถนนสีลม แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ดินประมาณ 6 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก และสถาบันร่วมผลิตแพทย์ให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประวัติ

[แก้]

ผู้ตั้งโรงพยาบาลเลิดสิน คือ โธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน และเป็นมิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์ที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้บ้านหลวง ริมถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุง อันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเลิดสินในปัจจุบัน เปิดเป็น Nursing Home เมื่อ พ.ศ. 2432 บ้างเรียกว่า "คลินิกหมอเฮส์" บ้างเรียก “โรงพยาบาลหมอเฮส์" ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ได้โอนกิจการเป็นของรัฐ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า โรงพยาบาลบางรัก[3] ตามที่ตั้งคืออำเภอบางรัก โดยในระยะแรกดำเนินกิจการภายใต้คอมมิตตีประกอบด้วยชาวต่างประเทศหลายชาติ ตั้งขึ้นด้วยกองทุนเรี่ยไรชาวต่างชาติ เมื่อแรกตั้งเป็นตึกแถวชั้นเดียว ความยาวไม่เกิน 10 คูหา

ใน 2 ปีแรก คงรักษาชาวต่างประเทศเป็นหลัก โดยรักษาโรคทั่วไปและน่าจะมีการผ่าตัดอุบัติเหตุด้วย รวมถึงรักษากามโรค อาจสันนิษฐานได้ว่าโรงพยาบาลบางรักเป็นโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกในกรุงเทพที่เปิดรักษาโรคสำหรับบุรุษและกามโรคอื่น ๆ[4] หากเปรียบเทียบคนไข้นอกและคนไข้ในที่มารักษาที่โรงพยาบาลบางรัก พ.ศ. 2433 มีจำนวน 346 คน เทียบกับโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 1,017 คน ถือว่ามีผู้มารักษาโรงพยาบาลบางรักไม่มากนัก อาจเพราะที่นี่อยู่ห่างไกลจากพระนครชั้นใน และเก็บค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางพระนครและไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล[5]

ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 มีการประจัญบานทางเรือที่ปากน้ำ โรงพยาบาลบางรักมีชื่อเสียงในบทบาทสำคัญในการรับรักษาทหารและราษฎรที่บาดเจ็บจากกระสุนปืนเรือฝรั่งเศส[6] ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ Bangkok Times พ.ศ. 2445 เคยลงข่าวว่า หมอเฮส์เป็นผู้นำเครื่องฉายแสงเรินต์เกน (Roentgen ray apparatus) เข้ามาเป็นเครื่องแรกในสยาม[7]

พ.ศ. 2485 ได้มีการก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาลบางรักจึงถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นกรมใหม่ที่จัดตั้งขึ้นพร้อมกับกระทรวงสาธารณสุขในยุคของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม โรงพยาบาลบางรักในช่วงนั้นเป็นทั้งโรงพยาบาลเฉพาะและโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป จึงมี 2 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่ คือทั้งกองควบคุมกามโรคและสังกัดกรมการแพทย์ และด้วยเหตุที่กองควบคุมกามโรค โรงพยาบาลบางรักและโรงพยาบาลเลิดสินซึ่งเปิดใหม่ภายหลังตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่คนละกรม อาจก่อให้เกิดความสับสน ดังนั้น พ.ศ. 2492 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำสั่งย้ายกองควบคุมกามโรค ให้สำนักงานอยู่ที่วังเทวะเวสม์ แต่โรงพยาบาลบางรักในส่วนของการบำบัดกามโรคยังคงปฏิบัติงานอยู่ที่ถนนสีลมเดิม จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 โรงพยาบาลบางรักของกรมอนามัยได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนสาทร ที่ดินของโรงพยาบาลบางรักเดิมจึงตกเป็นของโรงพยาบาลเลิดสินซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่

กรมการแพทย์ได้รับโอนโรงพยาบาลเลิดสินจากกรมอนามัย เมื่อ พ.ศ. 2491 และได้เปิดรับผู้ป่วยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2492 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดโรงพยาบาลเลิดสินอย่างเป็นทางการ[8]

บริการ

[แก้]
ด้านหน้าโรงพยาบาลเลิดสิน บนถนนสีลม

โรงพยาบาลเลิดสินมีจำนวนทั้งหมด 500 เตียง ให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนให้บริการรักษาโรคทั่วไป เชี่ยวชาญการรักษา และการผ่าตัดในกลุ่มโรคกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ[9]

  • ศัลยกรรมกระดูก
  • เวชศาสตร์ครอบครัว
  • สูติกรรม
  • นรีเวชกรรม
  • อายุรกรรม
  • เวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • กิจกรรมบำบัด
  • ทันตกรรม
  • จักษุ
  • โสต ศอ นาสิก
  • ผ่าตัดเล็ก
  • ผู้ป่วยใน
  • เคมีบำบัด
  • ไตเทียม

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=11469[ลิงก์เสีย]
  2. "ประวัติโรงพยาบาลเลิดสิน". โรงพยาบาลเลิดสิน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-22. สืบค้นเมื่อ 2021-08-22.
  3. "สถาปนาครบรอบ 72 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์". แนวหน้า.
  4. สถาปณาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 32.
  5. สถาปณาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 34.
  6. สถาปณาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 18.
  7. สถาปณาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 56.
  8. สถาปณาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 84.
  9. "Health Review : โรงพยาบาลเลิดสิน". goodlifeupdate.com.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]