ข้ามไปเนื้อหา

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง20 หมู่ 8 ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80150
หน่วยงาน
รูปแบบทุนรัฐบาล
ประเภทโรงพยาบาลชุมชน
เครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
บริการสุขภาพ
จำนวนเตียง90 เตียง[1]
ประวัติ
เปิดให้บริการ1 มีนาคม พ.ศ. 2522; 45 ปีก่อน (2522-03-01)
ลิงก์
เว็บไซต์www.chawanghosp.org

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง เป็นโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 20 หมู่ที่ 8 ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 68 ไร่ 1 ตารางวา ก่อสร้างด้วยเงินมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช[2] ที่รัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2520 ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีศาสตราจาย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เพื่อสร้างโรงพยาบาลในการให้บริการแก่ประชาชน ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม และเพื่อเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีอภิเษกสมรส 3 มกราคม พ.ศ. 2520[3] และทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

ประวัติ

[แก้]

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2520 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดสุธนก่อสร้างและการค้า เป็นผู้รับเหมาดำเนินการในการก่อสร้าง ในวงเงินงบประมาณ 8,680,000.- บาท (แปดล้านหกแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลาย พ.ศ. 2521 เริ่มเปิดบริการแก่ประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 จนกระทั่งถึง วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2522 ก็ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง อย่างเป็นทางการ

ก่อนที่โรงพยาบาลจะเปิดทำการในสถานที่ใหม่ที่ ตำบลไสหร้า (ที่ตั้งของโรงพยาบาลในปัจจุบัน) เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์ อำเภอฉวาง ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอฉวาง ในปัจจุบัน ในครั้งนั้นมีนายแพทย์จรูญ เค้าไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ ได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลไสหร้า และนายแพทย์จรูญ เค้าไพบูลย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการคนแรก ใน พ.ศ. 2522 จากการให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ปริมาณของผู้รับบริการได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้รับการยกฐานะจากโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ขึ้นเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง จนถึง พ.ศ. 2541 จึงได้ยกฐานะขึ้นอีกครั้ง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ถึงปัจจุบัน

ทำเนียบผู้บริหาร

[แก้]

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวาง มีผู้อำนวยการ 9 ท่าน[4]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 นพ.จรูญ เค้าไพบูลย์ 1 มีนาคม 2522 10 มกราคม 2523
2 นพ.วิพุธ พูลเจริญ 1 มีนาคม 2523 6 เมษายน 2524
3 นพ.เจริญ วงศ์วรเชษฐ์ 7 เมษายน 2524 1 เมษายน 2525
4 นพ.สมพงษ์ สูงสว่าง 2 เมษายน 2525 26 พฤษภาคม 2529
5 นพ.โกวิทย์ วระพงษ์สิทธิกุล 27 พฤษภาคม 2529 11 ธันวาคม 2541 แพทย์ชนบทดีเด่น พ.ศ. 2541, ถึงแก่อนิจกรรมจากเหตุเครื่องบินของการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 261 ประสบอุบัติเหตุตกบริเวณใกล้สนามบินสุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541
6 นพ.พิทยา ศรแผลง 14 ธันวาคม 2541 31 สิงหาคม 2544
7 นพ.กรีฑา ต่อสุวรรณ 1 กันยายน 2544 31 มีนาคม 2548
8 นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท 1 เมษายน 2548
9 นพ.วินัย ตันติธนพร ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ระบบรายงานทรัพยากรสาธารณสุข". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-29. สืบค้นเมื่อ 2010-02-09.
  2. http://www.cp-hosp.or.th/display/index.php เก็บถาวร 2009-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
  3. "ประวัติความเป็นมาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-24. สืบค้นเมื่อ 2009-09-18.
  4. ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาล http://www.chawanghosp.org/board/forum.php?mod=viewthread&tid=1[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]