ข้ามไปเนื้อหา

กรมวิทยาศาสตร์บริการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
Department of Science Service
เครื่องหมายราชการของกรม
ภาพรวมกรม
ก่อตั้งพ.ศ. 2434; 133 ปีที่แล้ว (2434)
กรมก่อนหน้า
  • หน่วยวิเคราะห์แร่
  • สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่
  • ศาลาแยกธาตุ
  • กรมวิทยาศาสตร์
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่75/7 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บุคลากร492 คน (พ.ศ. 2566)
งบประมาณต่อปี407,153,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารกรม
  • นายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ, อธิบดี
  • พจมาน ท่าจีน, รองอธิบดี
  • ว่าง, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกรมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกรม

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (อังกฤษ: The Department of Science Service, DSS) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจ เกี่ยวกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์ โดยกำกับดูแล ส่งเสริม วิจัยพัฒนา ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน[2] กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นสมาชิกของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC)

ประวัติ

[แก้]

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก่อตั้งใน พ.ศ. 2434 โดยเป็น สถานปฏิบัติการวิเคราะห์แร่[3] ในสังกัด กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา ต่อมาได้โอนย้ายไปสังกัด กรมกษาปณ์สิทธิการ โดยมีหน้าที่หลักคือควบคุมดูแลเนื้อโลหะที่ใช้ในการทำ เหรียญกษาปณ์[4]

ต่อมาในปี 2468 ได้ยกกองแยกธาตุ (ชื่อในขณะนั้น) ขึ้นเป็น ศาลาแยกธาตุ (The Government Laboratory) มีสถานะเป็นกรมหนึ่ง ขึ้นกับ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของไทย ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศนั้น จำเป็นที่จะต้องนำวิชาสมัยใหม่เช่นวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "ศาลาแยกธาตุ" สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำทรัพยากรในประเทศไทยมาผลิตเป็นสินค้าสำหรับส่งออก รวมทั้งเพื่อสนองความต้องการใช้สินค้าภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้า อันเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญมั่งคั่งอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ศาลาแยกธาตุยังมีหน้าที่ให้บริการแก่หน่วยงานอื่น ๆ ในการตรวจสอบ วิเคราะห์สารประกอบทางเคมีและแร่ธาตุ ด้วยเครื่องมือและวิธีทางการวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ต่อกิจการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างผลงานของศาลาแยกธาตุ ที่ได้ดำเนินการโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่

  • การทดลองคั้นน้ำมันจากเมล็ดพืชต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
  • การวิเคราะห์พืชสมุนไพรที่อาจใช้ทำยาได้
  • การวิเคราะห์ตรวจสอบดิน สารอาหารในดิน และสิ่งที่จะใช้ในการทำปุ๋ยเคมี
  • การศึกษาเพื่อตรวจสอบหาวัตถุดิบที่จะใช้ในการฟอกหนัง และการทำกระดาษ
  • การวิเคราะห์น้ำให้แก่กรมรถไฟหลวง เพื่อตรวจสอบน้ำที่เหมาะแก่การใช้กับหม้อน้ำรถไฟ โดยไม่ทำให้เกิดคราบและตะกรัน
  • การแยกธาตุเงินตราของกรมกษาปณ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงส่วนผสมเนื้อเงินใหม่ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ
  • การตรวจสอบส่วนผสมของยาต่างประเทศ และยาที่โอสถศาลาของรัฐบาลปรุงเอง ว่ามีคุณสมบัติตามตำรับยาหรือไม่
  • การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของน้ำประปา

ศาลาแยกธาตุ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากพระราชญาณทัศนะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ว่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ยังเป็นรากฐานของกิจการกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปัจจุบัน

ปี 2475 หลังจากการเปลื่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้เปลื่ยนชื่อ จากศาลาแยกธาตุ เป็น กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ โดยมีตั้ว ลพานุกรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก[4]

โดยกรมได้ริเริ่มงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้จัดตั้งกองเภสัชกรรม เพื่อวิจัยสมุนไพรที่สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่ออบรมบุคลากรให้มีความรู้ในเชิงเคมีและสามารถเข้ารับราชการในกรมหรือหน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ ได้ รวมไปถึงการจัดทำวารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า Siam Science Bulletin เพื่อเผยแพร่งานวิจัยในประเทศและแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการกับต่างประเทศ

ต่อมาเมื่องานของกรมได้ขยายมากขึ้น ทำให้ต้องมีการแยกออกจากรม เช่น องค์การเภสัชกรรม ในปี 2482, สถาบันวิจัยแห่งชาติ ในปี 2499, สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ในปี 2505, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในปี 2506, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในปี 2522[5] เป็นต้น

และเมื่อมีการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ การพลังงาน ในปี 2522 กรมก็เป็นส่วนราชการหนึ่งของกระทรวง จนกระทั่งในปี 2535 จึงได้เปลื่ยนชื่อเป็น กรมวิทยาศาสตร์บริการ จวบจนปัจจุบัน และในปี 2541 งานด้านมาตรวิทยาแห่งชาติที่ริเริ่มและดำเนินการอยู่ในกองฟิสิกส์และวิศวกรรม ได้จัดตั้งเป็นสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

ต่อมาภายหลังมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[6] กำหนดให้กรมสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และเมื่อพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2562 ลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลทำให้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมก็เข้ามาเป็นส่วนราชการหนึ่งของกระทรวง และกำหนดให้ต้องดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนภายใน 3 ปี[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๘, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ , เล่ม 136, ตอนที่ 57 ก, วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562, หน้า 79
  3. อยู่มาเงียบๆ "กรมวิทย์บริการ" สืบตำนาน "ศาลาแยกธาตุ" 118 ปีแล้ว
  4. 4.0 4.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-01. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-01. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.
  6. "ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอน 99ก วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2019-05-01.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]