ข้ามไปเนื้อหา

สามก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วรรณกรรมสามก๊ก)
สามก๊ก
หน้าหนึ่งของฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2134
ผู้ประพันธ์ล่อกวนตง (หลัว กว้านจง)
ชื่อเรื่องต้นฉบับ三國演義[a]
ผู้แปล
ประเทศจีน
ภาษาจีน
หัวเรื่องจีนยุคราชวงศ์
ประเภทจีนอิงประวัติศาสตร์
ฉากท้องเรื่องจีน ค.ศ. 169–280
วันที่พิมพ์ศตวรรษที่ 14
พิมพ์ในภาษาไทย
ราว พ.ศ. 2345
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
สามก๊ก
ชื่อเรื่องสามก๊ก เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม三國演義
อักษรจีนตัวย่อ三国演义
ความหมายตามตัวอักษรนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก

สามก๊ก (จีนตัวย่อ: 三国演义; จีนตัวเต็ม: 三國演義; พินอิน: Sānguó yǎnyì; อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms) เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก เป็นมรดกทางปัญญาของปราชญ์ชาวตะวันออกที่สุดยอด มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 10 ภาษา[1]และมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่งขึ้นประมาณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคสมัยราชวงศ์หมิง บทประพันธ์โดยล่อกวนตง (จีน: 羅貫中; พินอิน: Luó Guànzhōng) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2345 ในรูปแบบสมุดไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ในปี พ.ศ. 2408 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งภายใต้ชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ในปี พ.ศ. 2471 ปัจจุบันสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้งโดยหลายสำนักพิมพ์ถือเป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มที่ 2 โดยแปลจากไซ่ฮั่นและเก่าแก่ที่สุดในไทย[2]

สามก๊กมีเนื้อหาหลากหลายรสชาติ เต็มไปด้วยเล่ห์กลเพทุบาย กลศึกในการรบ การชิงรักหักเหลี่ยม ความเคียดแค้นชิงชัง ความซื่อสัตย์และการให้อภัย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวในทางที่ดีและร้ายปะปนกัน[3] ภาพโดยรวมของสามก๊กกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก ในปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 โดยจุดเริ่มต้นของสามก๊กเริ่มจากยุคโจรโพกผ้าเหลืองในปี พ.ศ. 726 ที่ออกอาละวาด จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามคือเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ได้ร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องและร่วมปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง รวมทั้งการแย่งและช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นของก๊กต่าง ๆ อันประกอบด้วยวุยก๊กหรือก๊กเว่ย (魏) จ๊กก๊กหรือก๊กสู่ (蜀) และง่อก๊กหรือก๊กหวู (吳) จนถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยน รวมระยะเวลาประมาณ 60 ปี นอกจากนี้ สามก๊กยังเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋งและความฝันในหอแดง ซึ่งนักอ่านหนังสือจำนวนมากยกย่องสามก๊กเป็นบทเรียนตำราพิชัยสงครามภาคปฏิบัติ การบริหารและเศรษฐกิจ

ประวัติการประพันธ์

[แก้]
คำสาบานในสวนท้อ

สามก๊ก เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ ที่เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเนื้อหาโดยรวมเป็นการเล่าแบบบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น

ซึ่งจีนในขณะนั้นบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์วุ่นวายระส่ำระสาย เกิดการแตกแผ่นดินออกเป็นก๊กต่าง ๆ รวมสามก๊กด้วยกัน รวมทั้งมีการทำสงครามอันยาวนานนับ 100 ปี และสุดท้ายจีนที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าก็กลับมารวมเป็นจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์จิ้นขึ้นปกครองประเทศจีนต่อ ภายหลังได้มีการชำระประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตในยุคนั้น โดยนักปราชญ์ชาวจีนชื่อตันซิ่ว(เฉินโซ่ว/Chen Sou)[4]

บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ในยุคสามก๊กฉบับแรก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือ จดหมายเหตุสามก๊ก หรือสามก๊กจี่ หรือซานกั๋วจื้อ (จีน: 三國志) ซึ่งเป็นผลงานการเขียนในลักษณะพงศาวดารโดยตันซิ่วหรือเฉินโซ่ว บัณฑิตแห่งราชวงศ์จิ้น อดีตข้าราชการอาลักษณ์คนหนึ่งของจ๊กก๊กที่ถูกกวาดต้อนมายังวุยก๊กหลังจากพ่ายแพ้ศึกสงคราม โดยเขียนขึ้นตามบัญชาของพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 1873 - พ.ศ. 1943 หลัว กวั้นจงในขณะที่เขากำลังทำงานเป็นกุนซือให้ก๊กต่อต้านราชวงค์หยวนกลุ่มหนึ่ง(ต่อมาถูกจูหยวนจางโจมตี) เขาได้นำซานกั๋วจื้อมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดนำมาจากซันกั๋วจื้อบ้างและแต่งเพิ่มเติมเองบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับซานกั๋วจื้อนั้น พบว่ามาจากซานกั๋วจื้อร้อยละ 70 และแต่งเองร้อยละ 30 โดยประมาณ

สามก๊กในรูปแบบต่าง ๆ

[แก้]
  • เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสามก๊ก เคยมีผู้นำมาเล่าเป็นนิทานเล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน และนำมาปรับปรุงเสริมแต่งเพื่อเล่นเป็นงิ้วในเมืองจีน จนกระทั่งหลัว กวั้นจง นักปราชญ์จีนในสมัยยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 2186 ได้นำสามก๊กมาเรียบเรียงใหม่อีกครั้งในรูปแบบของหนังสือ ต่อมาภายหลังเม่าจงกังและกิมเสี่ยถ่าง (จิ้นเสิ้งทั่น) ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนของสามก๊กและนำไปตีพิมพ์ในจีน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ "สามก๊ก" ได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่ได้รับการกล่าวขานและแพร่หลายในจีน รวมทั้งอีกหลาย ๆ ประเทศและได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบภาษาต่าง ๆ หลายภาษา[5]

ซานกั๋วจื้อ

[แก้]

ซานกั๋วจื้อ (จีน: 三國志) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุของตันซิ่ว ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจีนในสมัยของยุคสามก๊กชุดแรก ซึ่งถือว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุด มีความยาว 65 เล่ม ประกอบไปด้วย วุยจี่ (จดหมายเหตุก๊กวุย) จำนวน 30 เล่มสมุด จ๊กจี่ (จดหมายเหตุก๊กจ๊ก) จำนวน 15 เล่มสมุด และง่อจี่ (จดหมายเหตุก๊กง่อ) จำนวน 20 เล่มสมุด มีตัวอักษรรวมทั้งหมดประมาณ 360,000 ตัว ซึ่งในตอนแรกนั้นตันซิ่วไม่ได้ตั้งชื่อบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กว่า "ซานกั๋วจื้อ" ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ต้าซ่งผู้หนึ่งเป็นผู้ตั้งให้ แต่เนื่องจากตันซิ่วรับราชการเป็นขุนนางของราชวงศ์จิ้นหรือวุยก๊ก ซึ่งทำให้การเขียนจดหมายเหตุสามก๊กนั้นเป็นการเขียนที่ยึดเอาราชวงศ์จิ้นเป็นหลัก ตันซิ่วยกให้วุยก๊กของโจโฉเป็นก๊กที่ปกครองแผ่นดินอย่างถูกต้อง ส่วนจ๊กก๊กของเล่าปี่และง่อก๊กของซุนกวน กลายเป็นเพียงรัฐที่มีการปกครองเพียงบางส่วนของประเทศจีนเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ทำให้มุมมองของตันซิ่วที่มีต่อจ๊กก๊กและง่อก๊กแตกต่างจากสามก๊กของหลัว กวั้นจง ซึ่งนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กมาดัดแปลงเพิ่มเติมจนกลายเป็นสามก๊กในปัจจุบัน

ตันซิ่วกล่าวยกย่องจักรพรรดิของวุยก๊กทุกพระองค์ด้วยราชทินนามเช่น เรียกพระเจ้าโจโฉว่า "วุยบู๊เต๊" เรียกพระเจ้าโจผีว่า "วุยบุ๋นเต้" และเรียกพระเจ้าโจยอยว่า "วุยเหม็งเต้" และสำหรับพระเจ้าโจฮอง พระเจ้าโจมอและพระเจ้าโจฮวน ตันซิ่วยกย่องให้เป็นสามจักพรรดิพระองค์น้อย นอกจากนี้ตันซิ่วยังให้คำที่แปลว่าจักรพรรดิของแต่ละก๊กที่แตกต่างกัน โดยคำว่าจักรพรรดิของวุยก๊กใช้คำว่า "จี้" แปลว่าพระราชประวัติ แต่สำหรับจ๊กก๊กและง่อก๊ก ตันซิ่วเลือกใช้เพียงคำว่า "จ้วน" ที่แปลว่าชีวประวัติบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับจักรพรรดิของจ๊กก๊กคือพระเจ้าเล่าปี่ ตันซิ่วยังคงให้เกียรติอยู่บ้างในฐานที่เคยอาศัยในจ๊กก๊ก จึงเรียกพระเจ้าเล่าปี่ว่า "เฉียนจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์แรก และเรียกพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า "โฮ่วจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์หลัง แต่สำหรับง่อก๊กนั้นตันซิ่วเลือกใช้คำสามัญธรรมดาด้วยการเรียกชื่อโดยตรงคือซุนเกี๋ยน ซุนกวนและซุนเหลียงเป็นต้น[6]

นอกจากนี้ตันซิ่วยังเปลี่ยนชื่อเรียกขานของจ๊กก๊กจาก "ฮั่น" เป็น "จ๊ก" ด้วยเหตุผลที่ว่าหากตันซิ่วเลือกใช้คำว่า "ฮั่น" ก็จะเท่ากับเป็นการให้เล่าปี่สืบทอดราชสมบัติและราชอาณาจักรต่อจากราชวงศ์ฮั่นอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายวุยก๊ก ตันซิ่วจึงเลือกที่จะลดฐานะของเล่าปี่จากเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเป็นเพียงเจ้าผู้ครองมณฑลเสฉวนหรือจ๊กก๊กเท่านั้น ซึ่งการเลือกใช้คำเรียกเล่าปี่ของตันซิ่วนี้ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่พอใจและตำหนิตันซิ่วที่มีความลำเอียงและเลือกเข้าข้างวุยก๊กและราชวงศ์จิ้น รวมทั้งมีอคติที่ไม่ดีต่อจูกัดเหลียงที่สืบมาจากความเคียดแค้นในเรื่องส่วนตัว แต่ถึงอย่างนั้นนักประวัติศาสตร์จีนก็ให้การยกย่องตันซิ่วที่มีความสามารถในการเขียนประวัติศาสตร์ ที่สามารถเก็บบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด

ซานกั๋วจือผิงฮว่า

[แก้]
การแสดงงิ้วในฉบับซันกั๋วจือผิงฮว่า

ซานกั๋วจือผิงฮว่า (จีน: 三國之評話) เป็นการนำจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเขียนขึ้นใหม่ในรูปของนิทานและบทแสดงของงิ้วโดยนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงประเพณีโบราณของจีนที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญู ข้าราชการ เสนาธิการและเหล่าขันทีภายในราชสำนักจะต้องจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื้อหาบางส่วนของจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วที่กล่าวถึงโจโฉที่ใช้อำนาจในการข่มพระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดมานั้น รวมทั้งการที่โจผีบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชสมบัติให้แก่ตน ตามหลักการของลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็นบาปเท่ากับกลายเป็นโจรปล้นราชสมบัติ ซันกั๋วจือผิงฮว่าจึงกลายเป็นสามก๊กฉบับชาวบ้านที่เล่าสืบทอดกันมาและมีความแตกต่างจากจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว[7]

ซันกั๋วจือผิงฮว่า เป็นการนำเอาหลักการความเชื่อในด้านศาสนาและลัทธิเต๋าของจีนมาผสมผสานไว้ในเนื้อเรื่อง ผูกโยงร่วมกับนิทานพื้นบ้านของจีนเรื่องไซ่ฮั่น โดยสมมุติเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในซันกั๋วจือผิงฮว่าใหม่ทั้งหมด ซึ่งตัวละครในแต่ละตัวจะพบผลกรรมที่ตนเองได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ในยุคไซ่ฮั่นเช่น มีการแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเติมว่าฮั่นสินได้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นโจโฉ เล่าปังหรือพระเจ้าฮั่นโกโจ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นพระองค์แรก กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ เนื่องจากในชาติที่แล้ว เล่าปังได้เนรคุณฮั่นสินที่มีบุญคุณต่อตนเองภายหลังจากได้ช่วยให้ครอบครองแผ่นดินได้สำเร็จ เมื่อกลับมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้จึงถูกฮั่นสินที่กลับมาเกิดเป็นโจโฉกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่สุมาต๋ง ก็ได้หวนกลับมาเกิดใหม่เป็นสุมาอี้ ผู้วางรากฐานจีนแผ่นดินใหญ่และการรวบรวมก๊กต่าง ๆ ทั้งสามก๊กให้เป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จ

ซันกั๋วจือผิงฮว่า ถูกนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงในรูปแบบของนิทานพื้นบ้านและการแสดงงิ้วของคนจีน จึงพบว่ามีเนื้อหาบางและข้อมูลบางส่วนมีความผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของจีนเช่น การให้เตียวหุยกลายเป็นสุดยอดขุนศึกที่มีความเก่งกาจ สามารถเอาชนะลิโป้ได้อย่างง่ายดายจนต้องหลบหนีเอาตัวรอด หรือแม้แต่เอาชนะจูล่งได้ที่กู่เฉิง บีบคออ้วนซงบุตรชายของอ้วนสุดจนตายคามือ เป็นต้น

เผยซงจือ

[แก้]

สามก๊ก ฉบับเผยซงจือ (จีน: 裴松之) เป็นการนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ และอธิบายเพิ่มเติมในบางส่วนโดยเผย์ซงจือ นักปราชญ์ที่เกิดและเติบโตในเมืองวิ่นเฉิงหรือมณฑลซานซีในปัจจุบัน เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เผย์ซงจือได้รับราชการเป็นอาลักษณ์ให้แก่ราชวงศ์ซ่งทางตอนใต้ของจีน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ชำระจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วในสมัยราชวงศ์จิ้น โดยที่เผย์ซงจือชำระจดหมายเหตุสามก๊กเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 972 และมีการกล่าวเพิ่มเติมรวมทั้งให้คำอธิบายในบางส่วนเกี่ยวกับภูมิประเทศและรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างถึงในต้นฉบับเดิม

นอกจากนี้ เผยซงจือยังแก้ไขในเรื่องของระยะเวลาที่มีความขัดแย้งในตัวเองของจดหมายเหตุสามก๊กและเพิ่มเติมความคิดเห็นบางส่วนของตนลงไป โดยที่ไม่ตัดทอนรายละเอียดและเรื่องราวต่าง ๆ ของจดหมายเหตุสามก๊กออกแต่อย่างใด จึงนับได้ว่าการชำระจดหมายเหตุสามก๊กของเผย์ซงจือทำให้ซันกั๋วจือเป็นที่กล่าวขานครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง[8]

ซานกั๋วจือทงสูเหยี่ยนอี้

[แก้]

ซานกั๋วจือทงสูเหยี่ยนนอี้ (จีน: 三國之通俗演義) เป็นสามก๊กฉบับนิยายที่ประพันธ์โดยล่อกวนตง นักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์หมิง ผู้เป็นศิษย์เอกของซือไน่อัน หลัว กวั้นจงเป็นผู้นำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ โดยแต่งเสริมเพิ่มเติมในบางส่วนจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเอง รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจีนให้กลายเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นการต่อสู้กันเองระหว่างฝ่ายคุณธรรมและฝ่ายอธรรมตามแบบฉบับของงิ้ว ที่จะต้องมีการกำหนดตัวเอกและตัวร้ายอย่างชัดเจนในเนื้อเรื่อง

สามก๊กของล่อกวนตงได้มีการกำหนดให้เล่าปี่เป็นฝ่ายคุณธรรม มีจิตใจโอบอ้อมเมตตาอารีและมีคุณธรรมสูงส่งที่พยายามปราบปรามโจโฉที่เป็นฝ่ายอธรรม ช่วงชิงราชสมบัติและล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นถึงสามก๊กของล่อกวนตงที่มีใจเอนเอียงไปทางเล่าปี่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีเหตุผลยืนยันความถูกต้องตามประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่[9]

ซานกั๋วเหยี่ยนอี้

[แก้]

ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ (จีน: 三國演義) เป็นสามก๊กที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่โดยเหมาหลุนและเหมาจ้งกัง สองพ่อลูกในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งได้ทำการปรับปรุงสามก๊กในแบบฉบับของล่อกวนตงใหม่อีกครั้ง และมอบหมายให้กิมเสียถ่าง (จิ้นเซิ่งทั่น) เป็นผู้เขียนคำนำเรื่อง โดยที่สามก๊กฉบับที่เหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยกันปรับปรุงแก้ไข โดยยึดแนวทางการเขียนของล่อกวนตงเป็นต้นแบบคือแบ่งเป็นสองฝ่ายและแย่งชิงอำนาจวาสนากันในสมัยราชวงศ์ฮั่น ให้ฝ่ายเล่าปี่เป็นฝ่ายที่เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นที่ถูกต้องของแผ่นดินจีน โจโฉเป็นฝ่ายกบฏที่ทะเยอทะยานในอำนาจของตนเอง[10]

เหมาจ้งกังได้ปรับแก้ไขสำนวนการใช้ภาษาของล่อกวนตงในบางจุด ซึ่งเป็นภาษาพูดและเป็นการใช้สำนวนภาษาแบบยุคราชวงศ์หยวนหรือหงวน ให้กลายเป็นการใช้สำนวนภาษาในแบบภาษาเขียนของราชวงศ์ชิงหรือแมนจู นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับเปลี่ยนลักษณะและบุคลิกของตัวละครในสามก๊กใหม่ทั้งหมดตามแนวความคิดของตนเอง รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนชื่อและตำแหน่งขุนนาง สถานที่ของสามก๊กต้นฉบับของล่อกวนตงผิดไปตามชื่อจริงในยุคนั้น ๆ ซึ่งสามก๊กของล่อกวนตงนั้นได้เขียนชื่อตัวละคร ตำแหน่งและสถานที่ค่อนข้างชัดเจนและถูกต้องตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่การปรับปรุงแก้ไขของเหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยทำให้การดำเนินเรื่องไม่เยิ่นเย้อ เดินเรื่องกระชับ และเป็นการขัดเกลาภาษาทำให้อ่านสนุกน่าติดตาม

อาณาจักรสามก๊ก

[แก้]
ภาพแผนที่สามก๊กได้แก่วุยก๊ก จ๊กก๊กและง่อก๊ก

ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751

วุยหรือเฉาเว่ย (จีน: 曹魏) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผี จึงได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่[11]

  1. พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
  2. พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
  3. พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
  4. พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
  5. พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808

วุยก๊กมีอายุได้แค่เพียง 45 ปีก็ถูกยึดอำนาจโดยครอบครัวขุนนางตระกูลสุมา ต่อมาก็ถูกโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 蜀汉) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก มาจากแรงขับเคลื่อนรากฐานของเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่[12]

  1. พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
  2. พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806

จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก นำทัพโดยสุมาเจียว เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาไร้ความสามารถวัน ๆ เอาแต่เสพสุขของพระเจ้าเล่าเสี้ยน

ง่อหรืออาณาจักรหวูตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวนแล้วได้สถาปนาซุนเกี๋ยนและซุนเซ็กเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซุนอีกสองพระองค์ ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่[13]

  1. พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
  2. พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
  3. พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
  4. พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823

ง่อก๊กมีอายุยาวนานสุดถึง 58 ปีเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น

เนื้อเรื่องย่อสามก๊ก

[แก้]
ภาพวาดเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สามพี่น้องร่วมคำสาบานในสวนท้อ

ภายหลังพระเจ้าฮั่นโกโจสถาปนาราชวงศ์ฮั่นจนมีอายุกว่าสี่ร้อยปี ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ฮ่องเต้ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันที เหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า "ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษีอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ"[14] เกิดกบฏชาวนานำโดยเตียวก๊ก หัวหน้ากลุ่มโจรโพกผ้าเหลืองออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายแตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าภายใต้ขุนศึกต่าง ๆ

ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสต่างพระชนนีสองพระองค์ พระเจ้าหองจูเปียนได้สืบทอดราชสมบัติโดยมีโฮเฮาพระชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจากสิบขันที โฮจิ๋นผู้เป็นพระเชษฐาของโฮเฮาจึงวางอุบายให้ตั๋งโต๊ะมาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลังตั๋งโต๊ะยกทัพมาถึงวังหลวงและฉวยโอกาสยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนาพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นแทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้

ตั๋งโต๊ะถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารชีวิตผู้คัดค้านจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น โจโฉพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จต้องหลบหนีออกจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจากสิบแปดหัวเมืองมากำจัดตั๋งโต๊ะ แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว อ้องอุ้นจึงวางแผนยกเตียวเสี้ยนบุตรสาวบุญธรรมให้แก่ตั๋งโต๊ะและลิโป้บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้นและฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากตั๋งโต๊ะตาย ลิฉุยและกุยกีได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกี จากนั้นโจโฉย้ายนครหลวงไปที่เมืองฮูโต๋

โจโฉเข้าปราบปรามกบฏและควบคุมราชสำนัก ทำศึกรบชนะลิโป้ จึงควบคุมหัวเมืองในภาคกลางไว้ได้ ในศึกกับลิโป้ก็ได้เล่าปี่มาเข้าสวามิภักดิ์ ระหว่างนั้นพระเจ้าเหี้ยนเต้มีความระแวงว่าโจโฉจะคิดทะเยอทะยาน ขณะนั้น เล่าปี่ซึ่งอ้างตนเป็นผู้สืบสายราชวงศ์ฮั่น มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระเจ้าอา พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องการปราบโจโฉ จึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ให้เหล่าขุนนางที่จงรักภักดีให้ช่วยกำจัดโจโฉแต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกสังหาร แต่เล่าปี่ได้อ้างว่าจะนำทหารไปปราบอ้วนสุดแล้วแยกตัวออกมา จากนั้นก็ลุกฮือต่อต้านโจโฉ แต่ก็พ่ายแพ้ จึงต้องหนีลงไปเกงจิ๋วแล้วไปขอพึ่งพิงเล่าเปียว เตรียมทำศึกกับโจโฉต่อ

ระหว่างนั้น โจโฉทำศึกรวบรวมแผ่นดินภาคเหนือและภาคกลาง รบชนะกองกำลังต่าง ๆ สามารถปราบอ้วนเสี้ยวซึ่งครองภาคเหนือลงได้ จึงเข้าควบคุมจงหยวน หรือบริเวณภาคกลางและภาคเหนือในลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีนได้แทบทั้งหมด

โจโฉต้องการบุกปราบภาคใต้ แต่ฝ่ายเล่าปี่ ก็มีขุนพลทหารเอกที่เก่งกล้าอย่าง กวนอู เตียวหุย จูล่ง แล้วยังได้เชิญจูกัดเหลียง หรือ ขงเบ้ง มาเป็นที่ปรึกษา ระหว่างนั้นขงเบ้งได้เสนอแผนการแบ่งแผ่นดินเป็นสามขึ้นมา แล้วแนะนำให้เล่าปี่จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวน เจ้าเมืองกังตั๋ง พันธมิตรระหว่าง เล่า-ซุน จึงเกิดขึ้น แล้วซุนกวนก็ได้มอบหมายให้จิวยี่ เป็นแม่ทัพใหญ่ ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันทำศึกกับโจโฉในยุทธการที่ผาแดง แล้วก็ได้รับชัยชนะ ทำให้แผ่นดินจีนเริ่มก่อสภาพเป็นสามขั้วใหญ่ขึ้น

โจโฉ ได้ตั้งหลักที่ภาคกลางและภาคเหนือ บีบบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้แต่งตั้งตนขึ้นเป็นวุยก๋งและเป็นวุยอ๋องตามลำดับ เล่าปี่เข้ายึดครองเกงจิ๋ว แล้วทำศึกเข้ายึดเมืองเสฉวนมาครอง และตั้งตัวอยู่ในภาคตะวันตก ซุนกวนตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในกังตั๋งทางภาคตะวันออก ควบคุมกองทัพเรือที่เข้มแข็ง แต่ก็ไม่สามารถขยายดินแดนได้มากนัก หลังจากเริ่มก่อรูปเป็นสามก๊ก ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้อย่างเด็ดขาด

ต่อมา โจโฉได้สิ้นชีพลง โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าเหวินตี้ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิบ้าง ปกครองเมืองกังตั๋ง

ภายหลัง พระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่ และพระเจ้าซุนกวนสวรรคตไปหมดสิ้น ผู้เชื้อสายต่อมาเริ่มอ่อนแอลง จึงเป็นโอกาสให้ สุมาอี้ ที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของวุยก๊ก ซึ่งเข้ามาทำงานรับใช้สกุลโจตั้งแต่สมัยโจโฉ ได้เริ่มสร้างอำนาจบารมีมากขึ้น สุมาอี้ยังสามารถทำศึกชนะขงเบ้งได้ จึงยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา สุมาอี้ได้กระทำการชิงอำนาจโจซอง และได้สังหารเชื้อพระวงศ์ของวุย วางรากฐานให้ลูกหลาน

หลังจากสุมาอี้สิ้นแล้ว บุตรชายคือ สุมาเจียว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊กต่อมา ก็สามารถส่งทหารรบชนะจ๊กก๊ก ควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของวุยก๊กมาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ

นับแต่นั้น แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้อีกครั้ง ก่อนที่จะแตกแยกเป็นยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ในเวลาต่อมา[15]

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

[แก้]
พ.ศ. 727
พ.ศ. 730
  • ซุนเกี๋ยนปราบโจรคูเสง และได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองเตียงสา
พ.ศ. 732
พ.ศ. 733
  • ตั๋งโต๊ะส่งคนมาปลงพระชนม์อดีตฮ่องเต้หองจูเปียนและพระนางโฮเฮาผู้เป็นพระมารดา
  • โจโฉวางแผนกำจัดตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จ จึงหลบหนีออกจากเมืองลกเอี๋ยง
  • โจโฉแอบอ้างราชโองการฮ่องเต้ ก่อตั้งกองกำลังจาก 18 หัวเมือง เพื่อล้มล้างตั๋งโต๊ะ
  • อ้วนเสี้ยวได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกองกำลังพันธมิตร โจโฉเป็นเลขาธิการกองทัพ
  • ฮัวหยง ทหารเอกของตั๋งโต๊ะอาสาปราบกองทัพ 18 หัวเมือง สามารถสังหารขุนศึกได้หลายนาย แต่ก็พลาดท่าถูกกวนอูสังหาร
  • เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ร่วมกันรบกับลิโป้ สร้างชื่อเสียงโด่งดัง
  • ตั๋งโต๊ะเผาเมืองลกเอี๋ยง ย้ายเมืองหลวงไปเตียงฮัน
พ.ศ. 734
  • ซุนเกี๋ยนพบตราหยกแผ่นดินในซากเมืองลกเอี๋ยง
  • กองกำลัง 18 หัวเมืองแตกสามัคคี แยกย้ายกันกลับเมืองของตน และบางส่วนวางแผนชิงเมืองของคนอื่นด้วย
พ.ศ. 735
  • อ้วนเสี้ยวเข้ายึดแคว้นกิจิ๋ว
  • อ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านแตกหักกัน กรณีผลประโยชน์เมืองกิจิ๋ว กองซุนจ้านเปิดศึกกับอ้วนเสี้ยวที่แม่น้ำพวนโห้
  • จูล่งช่วยชีวิตกองซุนจ้าน เล่าปี่เข้าร่วมกับกองซุนจ้าน
  • ตั๋งโต๊ะอ้างราชโองการเพื่อให้อ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านสงบศึก
  • ซุนเกี๋ยนถูกทหารของเล่าเปียวสังหารที่ซอกเขาฮีสัน ซุนเซ็กบุตรชายคนโตรับตำแหน่งแทนซุนเกี๋ยน
  • อ้องอุ้นวางแผนใช้นางเตียวเสียนในการยุยงให้ลิโป้แตกคอกับตั๋งโต๊ะ
  • ลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะ
  • ลิฉุย กุยกี ยึดเมืองเตียงฮัน ประหารอ้องอุ้น
  • ลิโป้หนีออกจากเมืองเตียงฮัน
  • โจรโพกผ้าเหลืองก่อการกำเริบขึ้นใหม่
  • โจโฉออกปราบโจรโพกผ้าเหลืองในภาคตะวันออก และได้เป็นเจ้าแคว้นกุนจิ๋ว
พ.ศ. 736
พ.ศ. 737
  • ลิโป้ร่วมมือกับเตียวเมา ตลบหลังโจโฉ ยึดแคว้นกุนจิ๋ว
  • โจโฉยกทัพกลับเพื่อไปตีเอากุนจิ๋วคืนจากลิโป้ได้
  • โตเกี๋ยมเสียชีวิต เล่าปี่ได้เป็นเจ้าเมืองชีจิ๋วแทน จากคำร้องขอของโตเกี๋ยมก่อนตาย
พ.ศ. 738
  • ลิโป้รบแพ้โจโฉ เสียเมืองกุนจิ๋ว หนีไปพึ่งเล่าปี่ที่เมืองชีจิ๋ว
พ.ศ. 739
  • เอียวปิววางแผนหวังให้ลิฉุยและกุยกีแตกคอกันเอง
  • พระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จหนีภัยไปเมืองลกเอี๋ยง
  • โจโฉนำทัพปราบลิฉุยและกุยกี ลิฉุยและกุยกีพ่ายแพ้หลบหนี
  • โจโฉทูลเชิญพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ย้ายเมืองหลวงไปที่ฮูโต๋
  • โจโฉได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาอุปราช
  • ลิโป้ยึดเมืองชีจิ๋ว แต่ก็ให้เล่าปี่พำนักที่เมืองเสียวพ่าย
  • ซุนเซ็กใช้ตราหยกแผ่นดินแลกทหารกับอ้วนสุด แล้วนำทัพไปรวบรวมแคว้นกังตั๋งให้เป็นปึกแผ่น
  • ลิโป้ตีเมืองเสียวพ่าย เล่าปี่หนีไปพึ่งโจโฉ
  • โจโฉตีเมืองอ้วนเซีย เตียวสิ้วเจ้าเมืองยอมสวามิภักดิ์
  • เตียวสิ้วก่อกบฏโจมตีโจโฉขณะที่ยังอยู่ในเมืองอ้วนเซีย โจงั่ง โจอั๋นบิ๋น และเตียนอุย เสียชีวิตในที่รบ ส่วนโจโฉนำทัพหนีกลับฮูโต๋
  • เตียวสิ้วแต่งเตียวต๊กเป็นผู้คุมเมืองเตงเชีย
พ.ศ. 740
  • อ้วนสุดตั้งตนป็นฮ่องเต้
  • ซุนเซ็กประกาศตัดขาดจากอ้วนสุด
พ.ศ. 742
  • ลิฉุย กุยกีถูกตวนอุย งอสิบสังหาร
  • โจโฉ เล่าปี่ ลิโป้ ซุนเซ็กร่วมกันโจมตีอ้วนสุด อ้วนสุดพ่ายแพ้หลบหนี
  • โจโฉยกทัพตีเตียวสิ้ว แต่ได้ข่าวว่าอ้วนเสี้ยวบุกฮูโต๋ จึงยกทัพกลับมารักษาฮูโต๋
  • โจโฉยึดชีจิ๋ว ประหารลิโป้ แล้วได้เตียวเลี้ยวเป็นทหารเอก
  • ตังสินรวบรวมกำลังคนคิดกำจัดโจโฉ
  • อ้วนเสี้ยวมีชัยเหนือกองซุนจ้าน ยึดเมืองปักเป๋ง กองซุนจ้านฆ่าตัวตาย
  • เล่าปี่ไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองชีจิ๋ว
  • เล่าปี่ยกทัพพิชิตอ้วนสุด
  • อ้วนสุดเสียชีวิต
พ.ศ. 743
  • แผนลอบสังหารของตังสินถูกเปิดโปง ตังสินและพรรคพวกถูกประหาร
  • โจโฉยึดเมืองชีจิ๋ว เล่าปี่หนีไปพึ่งอ้วนเสี้ยว เตียวหุยหนีไปเมืองเก๋าเซีย
  • โจโฉจับตัวกวนอูได้ กวนอูไปอาศัยกับโจโฉ
  • กวนอูสังหารงันเหลีบง บุนทิว แม่ทัพของอ้วนเสี้ยวที่แป๊ะแบ๊
  • กวนอูได้ข่าวเล่าปี่จึงลาโจโฉจากไป
  • กวนอูฝ่า 5 ด่าน สังหาร 6 ขุนพล
  • เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยได้พบกันอีกครั้ง
  • เล่าปี่ได้จูล่ง กวนเป๋ง จิวฉองมาร่วมกองทัพ
  • ซุนเซ็กเสียชีวิต ซุนกวนน้องชายขึ้นครองตำแหน่ง
  • โจโฉมีชัยต่ออ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อ
พ.ศ. 744
  • เล่าปี่วางแผนลอบโจมตีเมืองฮูโต๋ร่วมกับเล่าเพ๊ก แต่พ่ายแพ้
  • เล่าปี่หนีไปพึ่งเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋ว
  • เล่าปี่เสนอให้เล่าเปียวลอบโจมตีโจโฉ แต่ถูกปฏิเสธ
พ.ศ. 745
  • อ้วนเสี้ยวเสียชีวิต อ้วนซงบุตรชายคนเล็กได้รับมอบอำนาจ
พ.ศ. 747
  • โจโฉยึดได้แคว้นกิจิ๋ว
พ.ศ. 750
  • อ้วนซงถูกสังหาร
  • โจโฉได้ครอบครองภาคเหนือทั้งหมด
  • เล่าปี่ช่วยเล่าเปียวปราบเตียวบู ตันสูน ได้ม้าเต๊กเลาไว้ในครอบครอง
  • เล่าปี่ไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองซินเอี๋ย
พ.ศ. 751
  • เล่าปี่ได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษา
  • ซุนกวนโจมตีกังแฮ สังหารหองจอ เจ้าเมืองกังแฮ
  • ขงเบ้งวางอุบายเผาทัพโจโฉที่นำโดยแฮหัวตุ้นที่ทุ่งพกบ๋อง
  • เล่าเปียวเสียชีวิต เล่าจ๋องบุตรชายคนเล็ก ขึ้นเป็นเจ้าแคว้นเกงจิ๋ว
  • เล่าจ๋องยกแคว้นเกงจิ๋วให้โจโฉ
  • เล่าปี่ถูกโจโฉตีแตกที่ทุ่งเตียงปัน
  • จูล่งฝ่าทัพโจโฉช่วยชีวิตอาเต๊า (เล่าเสี้ยน) บุตรชายของเล่าปี่
  • เตียวหุยขับไล่ทหารโจโฉที่สะพานเตียงปันเกี้ยว
  • เล่าปี่หนีเข้าเมืองกังแฮ
  • เล่าปี่และซุนกวนร่วมเป็นพันธมิตรต้านโจโฉ
  • จิวยี่และขงเบ้งวางอุบายเผาทัพเรือโจโฉ
  • จิวยี่เผาทัพเรือของโจโฉที่ตำบลเซ็กเพ็ก โจโฉหนีกลับฮูโต๋
พ.ศ. 752
พ.ศ. 753
  • จิวยี่กระอักเลือดเสียชีวิต โลซกรับตำแหน่งแม่ทัพแทน
  • เล่าปี่ได้บังทองเป็นที่ปรึกษา
พ.ศ. 754
  • โจโฉประหารม้าเท้งเจ้าเมืองเสเหลียง
  • ม้าเฉียว บุตรชายม้าเท้ง ยกทัพโจมตีโจโฉแก้แค้นให้บิดา
  • โจโฉตัดหนวดหนีตายจากม้าเฉียว
  • โจโฉพิชิตกองทัพม้าเฉียว ยึดได้เมืองเสเหลียง ม้าเฉียวแตกทัพหลบหนี
พ.ศ. 755
  • โจโฉได้ขึ้นเป็นวุยก๋ง
  • โจโฉปะทะซุนกวนที่ปากน้ำญี่สู
  • เล่าปี่เปิดศึกชิงแคว้นเสฉวนกับเล่าเจี้ยง
พ.ศ. 756
  • บังทองเสียชีวิตที่เนินหงส์ร่วง
  • เตียวหุยรบชนะเงียมหงัน เจ้าเมืองปากุ๋น แล้วได้เงียมหงันมาร่วมกองทัพ
  • ม้าเฉียวเข้าด้วยกับเล่าปี่
  • เล่าเจี้ยงยอมจำนนต่อเล่าปี่ เล่าปี่ได้ครองแคว้นเสฉวน ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเอ๊กจิ๋ว
พ.ศ. 757
  • โจโฉประหารมเหสีฮกเฮาและพระญาติ
พ.ศ. 758
  • โจโฉยึดได้เมืองฮันต๋ง
  • ซุนกวนรบกับเตียวเลี้ยว แม่ทัพใหญ่ของโจโฉที่หับป๋า
พ.ศ. 759
  • โจโฉขึ้นเป็นวุยอ๋อง
พ.ศ. 760
  • โลซกเสียชีวิต ลิบองรับตำแหน่งแม่ทัพแห่งกังตั๋งแทน
  • โจโฉแต่งตั้งโจผีเป็นรัชทายาท
พ.ศ. 762
  • เล่าปี่เปิดศึกชิงเมืองฮันต๋ง
  • ฮองตงสังหารแฮหัวเอี๋ยน แม่ทัพของโจโฉ
  • เล่าปี่ยึดได้ฮันต๋งและตั้งตนเป็นฮันต๋งอ๋อง
  • เล่าปี่ตั้งกวนอู เตียวหุย จูล่ง ฮองตง และม้าเฉียวเป็นขุนพลห้าทหารเสือ
  • กวนอูตีเมืองอ้วนเซีย
  • ลิบองยึดเมืองเกงจิ๋วของกวนอู
  • กวนอูและกวนเป๋ง ถูกซุนกวนจับได้ และถูกประหาร
พ.ศ. 763
  • ลิบองเสียชีวิต
  • โจโฉถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองลกเอี๋ยง โจผีขึ้นเป็นวุยอ๋อง
  • โจผีปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ ก่อตั้งราชวงศ์วุย
พ.ศ. 764
  • เล่าปี่สถาปนาตนเป็นฮ่องเต้แห่งจ๊กก๊ก
  • พระเจ้าเล่าปี่จัดทัพเตรียมโจมตีซุนกวน แก้แค้นให้กวนอู
  • เตียวหุยถูกฮอมเกียงและเตียวตัดผู้เป็นลูกน้องลอบสังหาร
  • ซุนกวนขึ้นเป็นง่ออ๋อง
พ.ศ. 765
  • พระเจ้าเล่าปี่โจมตีง่อก๊กของซุนกวน แต่พ่ายแพ้ต่อกลอุบายของลกซุน ถูกเผาทัพที่อิเหลง
  • พระเจ้าเล่าปี่เสด็จหนีไปเมืองเป๊กเต้
พ.ศ. 766
  • พระเจ้าเล่าปี่สวรรคตที่เมืองเป๊กเต้ เล่าเสี้ยนได้ขึ้นเสวยราชย์
  • จ๊กก๊กและง่อก๊กกลับมาทำสัญญา คืนความเป็นพันธมิตรต่อกัน
พ.ศ. 767
  • พระเจ้าโจผีโจมตีง่อก๊กแต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ. 768
  • ขงเบ้งยกทัพปราบชนเผ่าม่าน จับเบ้งเฮ็กหัวหน้าชาวม่านได้ 7 ครั้ง และปล่อยทั้ง 7 ครั้ง
  • เบ้งเฮ็กสวามิภักดิ์ต่อขงเบ้ง
พ.ศ. 769
  • พระเจ้าโจผีสวรรคต โจยอยขึ้นครองราชย์
พ.ศ. 770
  • ขงเบ้งยกทัพตีวุยก๊กครั้งแรก
  • สุมาอี้ เสนาธิการวุยก๊ก ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยอุบายของขงเบ้งและม้าเจ๊ก
  • เกียงอุยแห่งวุยก๊กสวามิภักดิ์ต่อขงเบ้ง
พ.ศ. 771
  • สุมาอี้กลับเข้ารับราชการ
  • ม้าเจ๊กถูกสุมาอี้เสียค่ายที่ตำบลเกเต๋ง ถูกสุมาอี้ตีแตกพ่าย
  • ขงเบ้งประหารม้าเจ๊ก
  • ลกซุนเอาชนะโจฮิวที่ตำบลเซ็กเต๋ง
  • จูล่งเสียชีวิตด้วยโรคชรา
  • ขงเบ้งยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 2 แต่พ่ายแพ้ ต้องถอยกลับจ๊กก๊ก
พ.ศ. 772
  • ขงเบ้งยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 3 ยึดได้เมืองปูเต๋าและอิมเป๋ง แต่เสบียงหมด ต้องถอยทัพกลับ
  • ซุนกวนสถาปนาตนเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก
พ.ศ. 774
  • ขงเบ้งยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 4 แต่เสบียงหมด ต้องถอยทัพกลับ
  • เตียวคับขุนพลวุยก๊กเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีของขงเบ้ง
พ.ศ. 777
  • ขงเบ้งยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 5 แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ขงเบ้งก็ถึงแก่อนิจกรรม ณ ทุ่งราบอู่จ้าง ทัพจ๊กก๊กต้องถอนทัพกลับ
  • อุยเอี๋ยนก่อกบฏต่อจ๊กก๊ก แต่ถูกม้าต้ายสังหาร
พ.ศ. 778
  • สุมาอี้ขึ้นเป็นมหาอุปราช
พ.ศ. 780
พ.ศ. 783
  • พระเจ้าโจยอยสวรรคต โจฮองขึ้นครองราชย์
  • โจซองบั่นทอนอำนาจของสุมาอี้
พ.ศ. 788
  • ลกซุนเสียชีวิต
พ.ศ. 792
  • สุมาอี้ยึดอำนาจคืนจากโจซอง
  • สุมาอี้ประหารโจซองและพรรคพวก
  • แฮหัวป๋าสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 1
พ.ศ. 794
  • สุมาอี้ถึงแก่อนิจกรรม สุมาสูบุตรชายขึ้นสืบทอดตำแหน่ง
พ.ศ. 795
  • พระเจ้าซุนกวนสวรรคต ซุนเหลียงขึ้นครองราชย์
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 2
พ.ศ. 797
  • สุมาสูปลดพระเจ้าโจฮอง ตั้งโจมอขึ้นครองราชย์
พ.ศ. 798
  • สุมาสูถึงแก่อนิจกรรม สุมาเจียวน้องชายขึ้นสืบทอดตำแหน่ง
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 3
พ.ศ. 799
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 4
พ.ศ. 801
  • ซุนหลิมถอดพระเจ้าซุนเหลียง ตั้งซุนฮิว
  • ซุนหลิมถูกพระเจ้าซุนฮิววางแผนสังหาร
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 5
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 6
พ.ศ. 803
  • พระเจ้าโจมอถูกปลงพระชนม์ สุมาเจียวตั้งโจฮวนขึ้นครองราชย์
พ.ศ. 804
  • เกียงอุยยกทัพตีวุยก๊กครั้งที่ 7
พ.ศ. 806
  • เตงงายยกทัพตีจ๊กก๊ก พระเจ้าเล่าเสี้ยนยอมจำนนต่อวุยก๊ก
พ.ศ. 807
  • เกียงอุยคิดกอบกู้จ๊กก๊ก แต่ไม่สำเร็จ จึงปลิดชีวิตตนเอง
  • สุมาเจียวได้ขึ้นเป็นจิ้นอ๋อง
พ.ศ. 808
  • สุมาเจียวถึงแก่อนิจกรรม สุมาเอี๋ยนบุตรชายขึ้นสืบทอดตำแหน่ง
  • สุมาเอี๋ยนปลดพระเจ้าโจฮวน สถาปนาตนเป็นฮ่องเต้ ก่อตั้งราชวงศ์จิ้น
  • พระเจ้าซุนฮิวสวรรคต ซุนโฮขึ้นครองราชย์
พ.ศ. 823
  • กองทัพจิ้นโจมตีง่อก๊ก
  • พระเจ้าซุนโฮสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์จิ้น
  • พระเจ้าสุมาเอี๋ยนรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

กลศึกสามก๊ก

[แก้]

ในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก มีการทำศึกสงครามมากมายหลายต่อหลายครั้ง การต่อสู้ทางด้านสติปัญญาและกุศโลบายในการแสดงแสนยานุภาพแก่ศัตรู การปกครองไพร่พลรวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งการนำกำลังไพร่พลทหารในการบุกโจมตีและยึดครองสถานที่ หรือทางการพิชิตชัยชนะทางการทูตในการเจรจาต่อรองผูกสัมพันธ์ไมตรีกับแคว้นอื่น การทหาร การเมือง การเศรษฐกิจ การบริหารปกครองบ้านเมือง การใช้คนอย่างถูกต้อง การโจมตีทางด้านจิตใจรวมทั้งการนำเอาทรัพยากรทุกอย่างที่มี เพื่อนำมาใช้ในการทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน[16]

แต่มีบ่อยครั้งที่กำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลน้อยกว่ากลับเอาชนะกำลังทหารที่มีกำลังไพร่พลมากกว่าได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ในด้านยุทธศาสตร์และการชำนาญภูมิศาสตร์สถานที่ในการทำศึกสงคราม[16] ในสามก๊กมีการใช้กลศึกจำนวนมากมายในการหลอกล่อศัตรูเพื่อชัยชนะ การต่อสู้ทางสติปัญญา สุดยอดแห่งกุศโลบายในการแสดงศักยภาพของกองทัพ แม่ทัพที่นำทัพในสนามรบนอกจากจะมีฝีมือในการที่สูงส่งแล้ว จะต้องรู้หลักตำราพิชัยสงคราม เสนาธิการที่ปรึกษาทัพจะต้องรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน รู้แจ้งในกลศึกต่าง ๆ ของศัตรู รู้ถึงจิตใจของทหารใต้บังคับบัญชา และรู้จักฉกฉวยจังหวะสำคัญในการโจมตีจึงจะสามารถเอาชนะศัตรูได้ จูกัดเหลียง จิวยี่ สุมาอี้ ลกซุน ตั๋งโต๊ะ โจโฉ กุยแกและบุคคลอื่นอีกมากมาย ล้วนแต่ชำนาญกลศึกในการทำศึกสงคราม ซึ่งกลศึกสำคัญและเป็นมาตรฐานของการทำสงครามสามก๊ก

สงครามสามก๊ก

[แก้]

ศิลปะการใช้คน

[แก้]

ตลอดทั้งเรื่องสามก๊ก เราจะสังเกตเห็นตัวละครทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เล่าปี่ จูกัดเหลียง หรือ โจโฉ ต่างต้องการคนเก่งคนดีมาเข้าร่วมกับฝ่ายนั้น ๆ ซึ่งตัวละครหลักอย่างที่กล่าวมาขั้นต้นจะมีกลวิธีแตกต่างกันไป เช่น ครั้นอุยเอี๋ยนเคยคิดจะทรยศเล่าปี่ จูกัดเหลียงรู้ทันแผนการจึงจะสั่งประหารอุยเอี๋ยนเพราะไม่ต้องการคนที่ไม่มีสัตย์มารับใช้ แค่เล่าปี่รู้ว่าอุยเอี๋ยนแม้จะไม่มีความซื่อสัตย์แต่มีความสามารถ เล่าปี่จึงค้านให้จูกัดเหลียงประหารอุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนสำนึกในบุญคุณและไม่เคยทรยศเล่าปี่หรือจูกัดเหลียงอีกเลย ตลอดทั้งชั่วอายุที่เล่าปี่และจูกัดเหลียงมีชีวิต แต่อย่างไรก็ตามอุยเอี๋ยนคิดกบฏหลังจากที่จูกัดเหลียงเสียชีวิต แต่เราก็นับได้ว่าสัตย์ของอุยเอี๋ยนดังกล่าวนั้นจริง และการซื้อใจคนของเล่าปี่นั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง

ในขณะเดียวกัน ครั้นซีชียังอยู่กับเล่าปี่ ซีชีนั้นมีใจรักรับราชการกับเล่าปี่และช่วยเล่าปี่ต่อสู้กับโจโฉ จนโจโฉพ่ายแก่เล่าปี่หลายครั้ง โจโฉจึงคิดจะแผนร้ายหวังให้ซีชีห่างจากเล่าปี่ก็เป็นพอ ไม่ได้คิดจะหากุนซือที่รู้ทันการณ์หรือความสามารถมารับมือกับซีชีเลย โจโฉจึงวางแกล้งแต่งหนังสือถึงซีชีว่าจะจับมารดาซีชีมาเผาทั้งเป็น เมื่อสารถึงมือซีชี ซีชีหลงอุบายแล้วจึงลาเล่าปี่ พร้อมยืนกรานว่าจะภักดีกับเล่าปี่ไม่คิดจะเสนออุบายใด ๆ แก่โจโฉ ซีชีก็ได้เข้ากับโจโฉ แต่ก็เสียมารดาของตนเพราะแค้นใจผูกคอตายที่ลูกหลงกลของโจโฉ อย่างไรก็แม้จะละทิ้งนายอย่างเล่าปี่ไปคุณความดีทีของซีชีก็มีอยู่บ้าง นั่นคือเฉลยว่า มังกรหลับ และ หงส์ดรุณ คือบุคคลใดในปริศนาของสุมาเต๊กโช พร้อมแนะนำศิษย์ร่วมสำนักอย่างขงเบ้งและบังทองแก่เล่าปี่ ไม่ว่าซีชีจะตามโจโฉไปรบที่ใด ซีชีจะปิดปากเงียบ ต่อมาในศึกยุทธการผาแดง ซีชีก็ติดตามโจโฉไปรบ ขงเบ้งและจิวยี่ก็วางแผนจะแตกทัพนาวีของโจโฉ แผนแตกทัพเรือนี้ประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือลมตะวันออกเฉียงใต้ และ นาวีทัพที่เชื่อมติดกัน จูกัดเหลียงจึงส่งบังทองให้ไปแนะโจโฉผูกทัพนาวีทั้งหมดเข้าด้วยกัน โจโฉหลงเชื่อบังทอง ด้วยความเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับจูกัดเหลียงและบังทอง ซีชีรู้ทันแผนการทั้งหมดแต่กลับไม่ห้ามโจโฉ ซ้ำยังปล่อยข่าวลือว่าม้าเท่งแห่งแค้วนเหลียงตะวันตกจะเข้าตีฮูโต๋ว โจโฉห่วงหน้าพวงหลัง ซีชีจึงลาโจโฉกลับไปพิทักษ์ฮูโต๋ว แล้วปล่อยให้ทัพนาวีของโจโฉแตกพินาศ เช่นนี้แล้วแม้โจโฉจะได้ที่ปรึกษาที่เก่งกาจมีความรู้เหมือนจูกัดเหลียงและบังทองแต่ด้วยวิธีการของโจโฉ แม้ซีชีจะยอมเข้าร่วมแต่ก็ไม่สามารถทำให้ซีชีจะเต็มใจช่วยเหลือโจโฉได้

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ตัวละครหลัก

[แก้]
โจโฉ
โจโฉ (จีน: 曹操 เฉาเชา) มีชื่อรองเม่งเต๊กหรือเมิ่งเต๋อ เรียกชื่อเต็มว่า "โจเม่งเต๊กโฉ" เป็นลูกบุญธรรมของขันทีในวังหลวง แต่เดิมอยู่ในตระกูลแฮหัวและคาดว่าน่าจะเกิดจากความแตกแยกในตระกูล ทำให้แยกออกมาเป็นตระกูลโจ รูปร่างสูงใหญ่(บางตำราบอกว่าสูง 160 ซม.) คิ้วเล็ก หนวดยาว สติปัญญาเฉลียวฉลาด ชำนาญด้านอักษรศาสตร์และตำราพิชัยสงคราม ในวัยเด็กมีนิสัยเกเร ชอบเอาชนะผู้อื่นและตั้งตนเป็นหัวหน้าเสมอ มีหมอดูเคยทำนายโชคชะตะของโจโฉว่า "โจโฉจะสามารถครอบครองโลกได้ แต่โลกก็จะลุกเป็นไฟเพราะความฉลาดปราดเปรื่องของตนเอง" โจโฉอาศัยสถานการณ์ความวุ่นวายในแผ่นดินทำให้ผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่ได้โดยการเข้าไปโอบอุ้มพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้ตนเองได้ครองตำแหน่งสมุหนายกอันเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร กุมอำนาจเหนือจักรพรรดิ และยังแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนภาคกลางและเหนือของจีนไว้ได้จนหมด โจโฉมีความสามารถในการบัญชาการศึกมาก สามารถปราบปรามขุนศึกก๊กต่าง ๆ ตั้งแต่ ลิโป้ เตียวซิ่ว อ้วนสุด อ้วนเสี้ยว เล่าเปียว ม้าเท้ง เตียวลู่ ทำให้กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แม้ว่าต่อมาจะพ่ายแพ้ให้แก่เล่าปี่และซุนกวนในศึกที่ผาแดง แต่ก็ยังสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งวุยอ๋อง และวางรากฐานให้ลูกหลานของตนเข้าแย่งชิงบัลลังก์ของราชวงศ์ฮั่นในภายหลัง โจโฉเสียชีวิตเมื่ออายุ 60 ปี โจผีบุตรชายถวายพระนามย้อนหลังให้เป็น พระเจ้าเว่ยหวู่ตี้ (Wei Wudi)
เล่าปี่
เล่าปี่ (จีน: 劉備 หลิวเป้ย) มีชื่อรองเสวียนเต๋อแปลว่าผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐ เรียกชื่อเต็มว่า "ห้วนจงกุ๋นยี่เซงเตงเฮาเล่าปี่" รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว ใจคอกว้างขวาง นิสัยสุภาพเรียบร้อย เยือกเย็นและมีความกตัญญูสูง พูดน้อยยิ้มยาก ไม่แสดงความรู้สึกออกทางสีหน้า เชี่ยวชาญในการใช้กระบี่คู่ เป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก มีฐานะยากจนต้องยังชีพด้วยการทอเสื่อขาย ภายหลังได้พบกับกวนอูและเตียวหุยและสาบานตนเป็นพี่น้องกันร่วมออกปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เล่าปี่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดชีวิตจนได้จูกัดเหลียงมาเป็นที่ปรึกษา สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ที่เสฉวนครอบครองอาณาจักรจ๊กก๊ก แต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิทรงพระนามจักรพรรดิเจาเลี่ยแห่งราชวงศ์ฮั่น เมื่อกวนอูและเตียวหุยถูกฆ่าตาย จึงยกทัพไปแก้แค้นซุนกวนแต่ถูกตีย่อยยับกลับมาและประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 766 ที่มณฑลเสฉวน รวมพระชนมายุ 63 ชันษา
กวนอู
กวนอู (จีน: 關羽 กวนอวี่) เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง มีชื่อรองหวินฉาง รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี หนวดเครางามถึงอก มีง้าวยาว 11 ศอกหนัก 82 ชั่งเป็นอาวุธคู่กาย เรียกว่าง้าวมังกรเขียว กำเนิดในครอบครัวนักปราชญ์ ชอบอ่านตำราประวัติศาสตร์ยุคชุนชิว เก่งกาจวิทยายุทธ และซื่อสัตย์เป็นเลิศ ภายหลังได้พลั้งมือฆ่าปลัดอำเภอและน้าชายตายจนต้องหลบหนีและพบกับเล่าปี่และเตียวหุยจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ครองเมืองเกงจิ๋วร่วมกับกวนเป๋งบุตรบุญธรรมและจิวฉอง เมื่อเล่าปี่ประกาศตนขึ้นเป็นฮั่นตงอ๋อง กวนอูก็นำกองทัพจากเกงจิ๋วรุกขึ้นเหนือโจมตีวุยก๊ก และปะทะกับทัพโจหยินในการศึกที่ปราสาทฟ่าน กวนอูได้สร้างวีรกรรมไขน้ำท่วมถล่มกองทัพเจ็ดทัพของอิกิ๋มและสังหารบังเต๊ก สร้างความหวาดหวั่นให้แก่กองทัพของโจโฉอย่างมาก ชื่อเสียงระบือไปทั่วแผ่นดิน แต่ภายหลังถูกแผนกลยุทธของลกซุนและลิบอง เข้าตลบหลังจนเสียเมืองเกงจิ๋ว กวนอูคับแค้นใจที่เสียทีลกซุนและลิบองจึงนำทัพไปตีเกงจิ๋วเพื่อแย่งคืน แต่ต้องหลุมพลางและถูกจับได้พร้อมกวนเป๋งที่เขาเจาสันและถูกประหารในปี พ.ศ. 762 รวมอายุได้ 59 ปี
เตียวหุย
เตียวหุย (จีน: 張飛 จางเฟย) เป็นชาวเมืองตุ้นกวน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าดำ ศีรษะโต นัยน์ตาพอง เสียงดังเหมือนฟ้าผ่า มีฝีมือในการรบสูงแต่มีจุดอ่อนที่นิสัยใจร้อน วู่วาม เสียการงานเพราะสุราบ่อยครั้ง มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ต่อพี่น้อง ชำนาญการใช้ทวนที่มีลักษณะคล้ายกริช เดิมเป็นคนฆ่าหมูขาย ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และกวนอูจนสาบานตนเป็นพี่น้องกัน ร่วมทำศึกกับเล่าปี่มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ อายุน้อยกว่าเล่าปี่ 6 ปี น้อยกว่ากวนอู 5 ปี สร้างวีรกรรมในการศึกมากมาย เมื่อครั้งทัพโจโฉไล่ตามตีเล่าปี่ที่เนินเตียงปัน เตียวหุยแต่ผู้เดียวยืนเฝ้ารักษาสะพานข้ามแม่น้ำ ทำให้ทัพของโจโฉไม่กล้าเข้าโจมตี ภายหลังยังใช้ปัญญาวางอุบายเล่นงานเตียวคับแม่ทัพคนสำคัญของโจโฉจนพ่ายแพ้ในศึกที่ฮั่นจง ภายหลังเมื่อกวนอูถูกฆ่าตาย เตียวหุยโกรธแค้นมาก ทวงสัญญาที่สาบานไว้ในสวนท้อและรบเร้าให้เล่าปี่ยกทัพไปตีซุนกวน แต่จูกัดเหลียงห้ามปรามไว้ ต่อมาได้สั่งลงโทษทหารสองคนคือฮอมเกียงและเตียวตัดโทษฐานเตรียมการไม่ทันและคาดโทษหนักถึงตาย เตียวหุยเสพสุราและเมาหลับในค่าย ทหารทั้งสองย้อนกลับมาฆ่าและตัดหัวก่อนไปสวามิภักดิ์ต่อง่อก๊ก รวมอายุได้ 54 ปี
จูกัดเหลียง
จูกัดเหลียง (จีน: 諸葛亮 จูเก๋อเลี่ยง) มีชื่อรองคือขงเบ้ง (孔明) เกิดในปี พ.ศ. 724 ปีเดียวกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นชาวตำบลหยางตู เมืองหลางเยีย มณฑลซานตง สูง 6 ศอก ใบหน้าขาวเหมือนหยก มักถือพัดขนนกคู่กายตลอดเวลา ได้รับการยกย่องถึงการเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ฉายาฮกหลงหรือมังกรหลับ รักความถูกต้องยุติธรรม ชอบสันโดษ สติปัญญาเฉียบแหลม ชำนาญตำราพิชัยสงคราม รอบรู้สภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศ เล่าปี่ได้เชิญให้ไปช่วยทำราชการถึงสามครั้ง และเป็นผู้เสนอแผนหลงจงเตวัย แบ่งแยกแผ่นดินจีนออกเป็นสามก๊กเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน รับใช้ราชวงศ์ฮั่นถึงสองรุ่น จูกัดเหลียงได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชแห่งอาณาจักรจก หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ จูกัดเหลียงได้ดูแลอาณาจักรจกเป็นอย่างดี พร้อมยังกรีธาทัพขึ้นเหนือตีอาณาจักรวุ่ย 5 ครั้ง แต่เสียดายนักที่ความฝันของเขาก็ไปได้แค่ครึ่งทางในการกรีธาทัพครั้งที่6 จูกัดเหลียงเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 54 ปี ภายหลังจากตรากตรำการศึกสงครามมาตลอดชีวิต ขงเบ้งมีผลงานทางพิชัยสงครามที่สำคัญคือตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง 24 บท ซึ่งเกียงอุยรับสืบทอดต่อ
เตียวหยุน
เตียวหยุน (จีน: 趙雲) มีชื่อรองคือจูล่ง (子龍) เป็นชาวตำบลเจวินติ้ง เมืองฉางชาน มณฑลเหอเป่ย รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้าขาว บุคลิกนิสัยกล้าหาญ ซื่อสัตย์ภักดี มักสวมเกราะเงินและชำนาญการใช้ทวนเป็นอาวุธ แต่เดิมจูล่งเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่ทนกับนิสัยไม่มีสัจจะของอ้วนเสี้ยวไม่ได้จึงไปอยู่กับกองซุนจ้าน ภายหลังได้พบกับเล่าปี่และซาบซึ้งในคุณธรรมและความมีน้ำใจ เมื่อกองซุนจ้านตายจึงไปทำราชการด้วย จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่และเป็นกำลังสำคัญในการทำศึกสงครามเกือบทุกครั้ง วีรกรรมสำคัญของจูล่งคือเมื่อเล่าปี่พ่ายแพ้โจโฉที่ฉางปั่น ครอบครัวเล่าปี่เกิดพลัดหลงในขณะหลบหนีไปทางใต้ จูล่งได้บุกตะลุยตีฝ่ากองทัพของโจโฉเพื่อค้นหาครอบครัวของเล่าปี่ และช่วยชีวิตอาเต๊าด้วยการนำมาใส่ไว้ในเกราะเสื้อที่บริเวณหน้าอก อาศัยกำลังตัวคนเดียวตีฝ่าตะลุยกองทัพ5แสนของโจโฉและนำอาเต๊ามาคืนให้แก่เล่าปี่ได้สำเร็จ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วแผ่นดินจนถึงปัจจุบัน เล่าปี่ยกย่องในความกล้าหาญและสัตย์ซื่อมาก ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือ จูล่งเป็นขุนศึกนักรบตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา ออกรบโดยไม่เคยพ่ายแพ้ ก่อนพระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ ได้สั่งเสียให้จูล่งช่วยดูแลเล่าเสี้ยนและครอบครัวของตนต่อไป จากนั้นจึงคอยช่วยเหลือขงเบ้งปราบภาคใต้และภาคเหนือ เป็นนักรบชื่อดังไม่กี่คนในสามก๊กที่ได้นอนตายอย่างสงบที่บ้าน เมื่อรู้ว่าจูล่งตายแล้ว ขงเบ้งถึงกับร้องไห้หนักว่าเหมือนดั่งแขนซ้ายของตนเองขาด จูล่งเสียชีวิตในปีศักราชเจี้ยนซิ่ง ปีที่ 18 รวมอายุได้ 72 ปี
โจผี
โจผี (จีน: 曹丕 เฉาพี) พระนามรอง จื่อหวน เป็นพระโอรสองค์รองในพระเจ้าโจโฉ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรวุ่ย พระเจ้าโจผีทรงพระอัฉริยะภาพวิชาศิลปะวิทยาและวิชาการสงคราม พระองค์ทรงต่อสู้เคียงคู่พระบิดาแต่ยุคแรกเริ่ม หลังจากโจโฉเสียชีวิต พระเจ้าโจผีได้กลายเป็นผู้นำของทัพของโจโฉ เข้ายึดอำนาจของพระเจ้าเหี้ยนเต้พร้อมบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละบัลลังก์ และปราบดาภิเษกตนเป็นปฐมกษัติรย์แห่งอาณาจักรวุ่ยในที่สุด
สุมาอี้
สุมาอี้ (จีน: 司馬懿 ซือหม่าอี้) มีชื่อรองว่า ชงต๊ะ มีลักษณะ แววตาแหลมเล็กคล้ายตาเหยี่ยว สุมาอี้เป็นคนเฉลียวฉลาด ชำนาญตำราพิชัยสงคราม ใจคอหนักแน่นแต่ก็เด็ดขาดในการตัดสินใจ สุมาอี้รับราชการมาตั้งแต่สมัยโจโฉ และกลายเป็นอาจารย์ของโจผี ไต่เต้าเรื่อยมาจนกลายเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยโจยอย และเป็นไจเซี่ยง ผู้สำเร็จราชการในสมัยโจฮอง สุมาอี้จึงเป็นขุนนางสำคัญของอาณาจักรวุยถึง 4 สมัย ทั้งนี้สุมาอี้เป็นคู่ปรับคนสำคัญของจูกัดเหลียงและสู้รบปรบมือกับจูกัดเหลียงได้ผลผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ถึง 5 ครั้ง และเผด็จศึกจูกัดเหลียงอย่างเด็ดขาดได้ในศึกครั้งที่ 6 แล้วจูกัดเหลียงเสียชีวิต ต่อมาสุมาอี้ทำรัฐประหาร โค่นอำนาจของผู้สำเร็จราชการโจซอง และวางรากฐานให้ลูกหลานโค่นล้มสกุลโจในภายหลัง ต่อมาเมื่อสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์จิ้น ได้ถวายพระนามย้อนหลังให้สุมาอี้เป็นพระเจ้าจิ้นซวนตี้ (Jin Xuandi)
ซุนกวน
ซุนกวน (จีน: 孫權 ซุนเฉวียน) มีชื่อรองจ้งโหมว เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นกังตั๋ง บุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยน น้องชายซุนเซ็ก ซุนกวนครองเมืองกังตั๋งต่อจากซุนเซ็กด้วยอายุเพียง 18 ปี ไม่ชำนาญการศึกสงคราม แต่มีฝีมือในการปกครองคนสูง มีขุนนางและทหารฝีมือดีไว้ในครอบครองเช่น จิวยี่ โลซก ลกซุน ลิบอง เตียวเจียวและขุนนางเหล่าทหารฝีมือดีอีกเป็นจำนวนมาก ซุนกวนร่วมมือกับเล่าปี่ทำสงครามกับโจโฉในศึกผาแดง แต่ภายหลังไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ เมื่อโจผีขึ้นครองราชสมบัติต่อจากโจโฉได้แต่งตั้งซุนกวนเป็นเงาอ๋อง แต่มาถูกตัดความสัมพันธ์ในสมัยพระเจ้าโจยอย ซุนกวนแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิในปี พ.ศ. 771 ทรงพระนามพระเจ้าตงอู๋ ครองราชสมบัตินานถึง 24 ปี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 795 รวมพระชนมายุ 71 ชันษา
จิวยี่
จิวยี่ (จีน: 周瑜 โจวยวี๋) ชื่อรองกงจิ๋น แม่ทัพเรือที่เก่งที่สุดในยุคสามก๊ก มีบุคลิกหน้าตาหล่อเหลา สติปัญญาหลักแหลม ภักดีต่อตระกูลซุนถึงสามรุ่น จิวยี่เป็นพี่น้องร่วมสาบานและที่ปรึกษาของซุนเซ็กพระเชษฐาของพระเจ้าซุนกวน ครั้นก่อนซุนเซ็กจะเสียชีวิตก็ได้สั่งเสียจิวยี่ให้ดูแลอาณาจักรง่อก๊กและซุนกวน ต่อมาในสมรภูมิผาแดงจิวยี่ได้จับมือร่วมรบกับจูกัดเหลียง เอาชนะทัพหลวงของโจโฉได้สำเร็จ กล่าวกันนักว่าจิวยี่ริษยาจูกัดเหลียง เมื่อจิวยี่ก่อนเสียชีวิตได้รำพันออกมาว่า "เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย" แต่ข้อเท็จจริงจิวยี่และจูกัดเหลียงมิได้มีอคติแก่กันเลย
ลกซุน
ลกซุน (จีน: 陸遜 ลู่ซวิ่น) ชื่อรองป้อเอี๋ยน แม่ทัพหนุ่มอัจฉริยะแห่งอาณาจักรง่อ มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถเอาชนะขุนศึกที่มีประสบการณ์อย่างกวนอูและพระเจ้าเล่าปี่ ทำให้ทั้งกวนอูเสียชีวิตและเล่าปี่เสียชีวิตและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาตามลำดับ ซุนกวนไว้วางใจและยกย่องมาก ลกซุนทำหน้าที่ดูแลกิจการกองทัพทั้งหมดหลังจากซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ แต่ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะขัดแย้งกับพระเจ้าซุนกวนในเรื่องของการแต่งตั้งอุปราช ตรอมใจจนเสียชีวิตในที่สุด ลกซุนได้รับการยอมรับว่ามีสติปัญญาและความสามารถเทียบเท่ากับขงเบ้งและสุมาอี้
ตั๋งโต๊ะ
ตั๋งโต๊ะ (จีน: 董卓 ต่งจั๋ว) ชื่อรองจ้งหยิ่ง อุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ หลังจากการปราบปราม10ขันที ตั๋งโต๊ะก็ก้าวสู่การเป็นทรราชผู้ยิ่งใหญ่จนแผ่นดินเดือดเป็นไฟในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดเขาก็ถูกสังหารโดยลิโป้เนื่องด้วยอุบายของเตียวเสี้ยนและอ้องอุ้น และทำให้โจโฉได้รับความชอบธรรมเป็นอุปราชแห่งราชวงศ์ฮั่นในเวลาต่อมา
ลิโป้
ลิโป้ (จีน: 吕布 ลวี่ปู้) ชื่อรองเฟย์เสียง เป็นสุดยอดขุนพลของตั๋งโต๊ะและเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดิน ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบที่เก่งที่สุดในยุคสามก๊ก แต่มีนิสัยละโมบ เนรคุณต่อคนอื่น ลิโป้ออกรบโดยถูกเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยรุมที่ด่านเฮาโลก๋วน ก็ยังเอาตัวรอดได้ แม้ว่าลิโป้จะเป็นที่เกรงขามไปทั่วแผ่นดินแต่ลิโป้เป็นคนอกตัญญูฆ่าผู้มีพระคุณมากมายรวมทั้งตั๋งโต๊ะด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดยอดขุนพลลิโป้ผู้นี้ต้องพ่ายแพ้ให้แก่โจโฉและเล่าปี่ คราวที่ต้องประหารลิโป้ ลิโป้ได้ขอชีวิตแก่เล่าปี่ แต่เล่าปี่ก็ยืนยันให้โจโฉประหารเพราะความอกตัญญูของลิโป้เอง
เตียวเสี้ยน
เตียวเสี้ยน (จีน: 貂蝉 เตียวฉาน) บุตรสาวบุญธรรมของอ้องอุ้น เตียวเสี้ยนเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่ออ้องอุ้นและแผ่นดิน อ้องอุ้นจึงให้อุบายนางไปยุยั่วให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะแตกกันจนนางได้เป็นภรรยาของตั๋งโต๊ะและลิโป้ ต่อมาแผนการของอ้องอุ้นสำเร็จและตั๋งโต๊ะเสียชีวิตจากการถูกลิโป้สังหาร ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านางหายสาบสูญไปไหน กล่าวกันว่านางน่าจะเสียชีวิตพร้อมกับอ้องอุ้นเมื่อครั้งที่ข้ารับใช้ของตั๋งโต๊ะบุกเข้าลกเอี้ยง แต่บางบันทึกก็กล่าวไว้ว่า นางเป็นเพียงตัวละครที่หลัวกวั้นจงสร้างขึ้นมาไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

การแปลเป็นภาษาต่าง ๆ

[แก้]

การแปลสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ นั้น ในหนังสือ "ตำนานสามก๊ก" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงรวบรวมประวัติการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ จนถึง พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นปีที่ทรงพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ดังนี้[17]

ภาษา ปีพุทธศักราช
ภาษาญี่ปุ่น ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2235
ภาษาไทย แปลเมื่อ พ.ศ. 2345 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2408
ภาษาสเปน ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2373
ภาษาฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2388
ภาษาเกาหลี ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2402
ภาษาญวน ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2452
ภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469 ก่อนหน้านี้มีการแปลสามก๊กเป็นภาษาอังกฤษในบางตอนแล้ว แต่ฉบับที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2469 เป็นการแปลตลอดทั้งเรื่อง ผลงานของบริวิต เทเลอร์
ภาษาเขมร ไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน และยังไม่มีการตีพิมพ์สามก๊กฉบับภาษาเขมรในขณะที่ทรงนิพนธ์ เชื่อได้ว่าการแปลสามก๊กเป็นภาษาเขมรนั้น ได้ต้นฉบับจากสามก๊กภาคภาษาไทย[18]
ภาษามลายู พิมพ์เมื่อใดไม่มีข้อมูล (พิมพ์ที่สิงคโปร์)
ภาษาละติน ไม่ทราบปีที่แปลอย่างชัดเจน แต่มีต้นฉบับอยู่ที่รอยัลอาเซียติคโซไซเอตี (Royal Asiatic Society) โดยมีบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบิชอปอยู่ในประเทศจีนเป็นผู้แปล

นอกจากนี้ยังทรงเชื่อว่ายังมีสามก๊กที่แปลในภาษาอื่นที่ยังสืบความไม่ได้ เช่นภาษามองโกล เป็นต้น[18]

ในประเทศไทย สามก๊กได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วในปี พ.ศ. 2345 โดยซินแสผู้รู้ภาษาจีนได้แปลออกมาให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งก่อนทำการตีพิมพ์ ดังนั้นเมื่อนำสามก๊กของหลัว กวั้นจงซึ่งเป็นต้นฉบับ นำมาเปรียบเทียบเคียงกับภาษาไทยที่แปลโดย สังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นการแปลออกมาในรูปแบบของตำราพิชัยสงคราม หรือสามก๊ก ฉบับวณิพกของยาขอบ หรือฉบับสามก๊ก ฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์ จะเห็นว่าเนื้อและความหมายของบทประพันธ์ในหลายตอนมีคลาดเคลื่อนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการคลาดเคลื่อนของความหมายในสามก๊กนั้นเกิดจากผู้แปลโดยตรง[19] อย่างไรก็ดี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วรรณคดีสโมสร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ได้ตัดสินให้ "สามก๊ก" เป็นวรรณคดีประเภทเรียงความยอดเยี่ยมประเภทนิทาน เสมอกับเรื่องราชาธิราช เนื่องจากมีการใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและทอดแทรกแฝงแง่คิดต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยถือว่าสามก๊กนั้น เป็นตำราสำหรับใช้ในการศึกษากลยุทธ์ในการทำสงครามและประวัติศาสตร์ของจีนได้เป็นอย่างดี[20]

ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

[แก้]

สามก๊กฉบับหลัว กวั้นจงได้มีการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2345 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดแปลพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น และแปลพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช เพื่อให้คนไทยได้ใช้ศึกษาเป็นตำราพิชัยสงคราม โดยมอบหมายให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลสามก๊ก มีความยาวทั้งสิ้น 95 เล่มสมุดไทย ซึ่งได้รับการสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ได้แปลสามก๊กจากต้นฉบับทั้งหมด เนื่องจากการใช้สำนวน ภาษา และรูปแบบการแปลในตอนท้ายเรื่องเป็นคนละสำนวนกับตอนต้นเรื่อง สามก๊กฉบับนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือแบบฝรั่งครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเล มีจำนวน 4 เล่มจบ เมื่อปี พ.ศ. 2408 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[21] ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีกล่าวถึงในบทละครนอกเรื่องคาวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า

"เมื่อนั้น      ไวยทัตหุนหันมาทันตรึก
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก      ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน      เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก      ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ย้ายกลับไปทูลพระเจ้าป้า      ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด      จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา
              บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องคาวี[22]

เนื้อหาในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่มีการกล่าวถึงตำราพิชัยสงครามและสามก๊ก นับเป็นหลักฐานการยืนยันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความคุ้นเคยของชาวไทยที่มีต่อสามก๊ก และได้มีการค้นพบจดหมายเหตุในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งโปรดปรานบทร้อยแก้วของสามก๊กที่เป็นการแปลฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีพระราชดำริรับสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อสำหรับนำไปใช้ในการบริหารราชการบ้านเมืองสืบต่อไป[23]

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาชำระสอบทานต้นฉบับ แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือพระราชทานในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ต่อมาโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรได้ขอประทานอนุญาตจัดพิมพ์จำหน่าย ในชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" ในปี พ.ศ. 2471 ซึ่งสามก๊กที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหลังจากนั้น พิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภามาโดยตลอด จนกระทั่งมีการตรวจสอบและชำระสอบทานต้นฉบับอีกครั้งด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์ดอกหญ้ากับหอสมุดแห่งชาติ[24]

แปลโดย นายวรรณไว พัธโนทัย เป็นสามก๊กฉบับแรกที่พยายามแปลจากต้นฉบับสามก๊กภาษาจีนของ หลอก้วนจง ทำให้เป็นสามก๊กฉบับแปลไทยฉบับแรกที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับฉบับภาษาจีนและภาษาอังกฤษของ บริเวตต์ เทย์เลอร์ สามก๊กฉบับวรรณไว พัธโนทัย ยังเป็นฉบับที่ถือว่าแปลตามลักษณะของนิยายตะวันตกคือแปลคำต่อคำ โดยไม่ได้ดัดแปลงสำนวนภาษาแต่อย่างใด จึงค่อนข้างอ่านง่าย สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีรสทางวรรณกรรมเทียบเท่ากับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งใช้สำนวนเป็นภาษาชาววังโบราณ ส่วนฉบับนี้ภาษาที่ใช้ก็เป็นสำนวนปกติทั่วไป[25] อีกจุดหนึ่งที่สามก๊กฉบับนี้ยังคงไว้จากต้นฉบับคือ บทร้อยกรองต่าง ๆ และเนื้อหาของฎีกาหรือข้อความบรรยายบางจุดที่ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตัดออก ในฉบับนี้ก็ยังมีอยู่ครบ แต่กระนั้นก็ยังมีบางจุดที่แปลผิดพลาดอยู่บ้าง[26]

ฉบับวณิพก (ยาขอบ)

[แก้]
สามก๊ก ฉบับวณิพก โดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา

สามก๊กฉบับวณิพก ผลงานการประพันธ์ของยาขอบ เป็นการเล่าเรื่องสามก๊กใหม่ในแบบฉบับของตนเอง และเน้นตัวละครเป็นตัวไป เช่น เล่าปี่ผู้พนมมือแด่ชนทุกชั้น, โจโฉผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ, จิวยี่ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า, ตั๋งโต๊ะผู้ถูกแช่งทั้งสิบทิศ, ลิโป้อัศวินหัวสิงห์, จูกัดเหลียงผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน, เตียวหุยคนชั่วช้าที่น่ารัก, กวนอูเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, จูล่งวีรบุรุษแห่งเสียงสาน, ยี่เอ๋งผู้เปลือยกายตีกลอง เป็นต้น อีกทั้งยังได้เพิ่มสำนวนและการวิเคราะห์ส่วนตัวเข้าไปด้วย โดยอาศัยสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิต เทเลอร์มาประกอบร่วมกับสามก๊กฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ในปี พ.ศ. 2529 จำนวน 2 เล่ม และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 - 2540 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในรูปแบบของหนังสือชุดจำนวน 8 เล่ม และตีพิมพ์เป็นเครื่องระลึกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของยาขอบโดยสำนักพิมพ์แสงดาว ในปี พ.ศ. 2551 จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งสองเล่ม

ฉบับตำราพิชัยสงคราม (สังข์ พัธโนทัย)

[แก้]

สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย สังข์ พัธโนทัย ลักษณะการแปลเป็นการรวบรวมเอาตัวละครเด่น ๆ ของเรื่อง มาสรุปเป็นตัว ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่จุดเสื่อมราชวงศ์ฮั่น ตั๋งโต๊ะยึดอำนาจ ฯลฯ ไปจนถึงอวสานยุคสามก๊กและมีการอ้างอิงตัวละครทั้งหมดในท้ายเล่ม มีการเทียบเสียงจีนกลาง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบรายชื่อตัวละครและสถานที่สำคัญในเนื้อเรื่อง นอกจากนี้สามก๊ก ฉบับตำราพิชัยสงคราม ยังเได้รับยอมรับว่า เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผู้คิดเริ่มอ่านสามก๊ก ควรอ่านก่อนสามก๊กฉบับอื่น ๆ เพราะอ่านง่ายและสรุปเรื่องได้ดี[ต้องการอ้างอิง] ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประดู่ลาย

ฉบับคนขายชาติ

[แก้]

เรียบเรียงโดย เรืองวิทยาคม มีทั้งสิ้น 655 ตอน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ในเครือผู้จัดการ เหตุในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมด้วยปัญหาทางการเมืองควบคู่กัน จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเรียบเรียงสามก๊กฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งในเนื้อหาเจตนาผู้เขียนมิได้กระทบกระเทียบเสียดสีผู้ใดในบ้านเมือง[27][28]

ความนิยม

[แก้]

นิยายสามก๊กของหลัว กวั้นจง ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างยิ่งในยุคของราชวงศ์หมิง ที่ครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หยวน โดยมีการนำไปเล่นเป็นงิ้ว อันเป็นการแสดงที่เข้าถึงผู้คนทั่วทุกหัวระแหง และมีการแต่งตั้งให้กวนอูเป็น "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์" ที่เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมากแทนที่งักฮุยหรือเยี่ยเฟย กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็นถึง "จงอี้เหรินหย่งเสินต้าตี้" ซึ่งมีความหมายคือ มหาเทพบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ

ศาลเจ้าสามก๊ก

[แก้]

ศาลเจ้าสามก๊ก ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วัดอู่โหวซื่อ ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน สร้างขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันตก ด้านหลังของวัดเป็นที่ตั้งสุสานของพระเจ้าเล่าปี่และจูกัดเหลียง ซึ่งเป็นตัวละครที่มีชีวิตอยู่จริงในสามก๊ก ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีน เรื่องราวต่าง ๆ ในสามก๊กเริ่มต้นในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของพระเจ้าเหี้ยนเต้ เนื่องจากในขณะนั้นเล่าปี่ปกครองและแต่งตั้งเสฉวนเป็นราชธานี โดยมีจูกัดเหลียงเป็นที่ปรึกษา ราษฏรใช้ชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข แต่เมื่อเล่าปี่สวรรคตแล้ว ประชาชนต่างให้การยอมรับและนับถือจูกัดเหลียงมากกว่า จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นที่เคารพบูชา แต่ไม่นานทางรัฐบาลจีนเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีคำสั่งให้สร้างศาลเล่าปี่ขึ้น รวมทั้งให้มีรูปปั้นขุนนาง 14 ท่านภายในศาลเจ้า

ศาลเจ้าจูกัดเหลียงภายในศาลเจ้าสามก๊ก

ศาลเจ้าสามก๊ก ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 766 หรือเมื่อประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สามก๊กในสมัย พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 สร้างขึ้นโดยพระบัญชาของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรเฉิงปลายราชวงศ์จิ๋น ในอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตร สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในศาลเจ้าสามก๊ก เป็นผลงานการก่อสร้างที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นในปีที่ 11 ของจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง และได้รับการยกย่องเป็นโบราณสถานแห่งชาติของจีนในปี พ.ศ. 2504 ต่อมาได้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2527

ภายในศาลมีการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งมีการแยกศาลต่าง ๆ ออกเป็นเฉพาะบุคคลคือศาลเล่าปี่ จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กและราชวงศ์ฮั่น ศาลเจ้ากวนอูที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของ 5 ทหารเสือฝ่ายบู๊ กวนอูเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์และกตัญญู จนได้รับการยกย่องจากชาวจีนให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และโชคลาภ ศาลเจ้าจูกัดเหลียงที่มีความโด่งดังในด้านของสติปัญญาและความฉลาดเฉลียว ภายในศาลมีรูปปั้นจูกัดเหลียงขนาดใหญ่มีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี ชาวจีนเรียกกันว่า "ทาสอุ้มทรัพย์" ตามความเชื่อต่อ ๆ กันของชาวจีน ถ้าผู้ใดได้ลูบที่รูปปั้นจูกัดเหลียงแล้วจะมีโชคลาภ จูกัดเหลียงได้ชื่อว่าเป็นกุนซือหรือที่ปรึกษาคนสำคัญของเล่าปี่ที่มีความเฉลียวฉลาด วางแผนการรบและกลศึกต่าง ๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ชาวจีนส่วนใหญ่จะนับถือจูกัดเหลียงมากกว่าศาลเจ้าเล่าปี่และศาลเจ้ากวนอู จนมีการเรียกศาลเจ้าสามก๊กเป็นศาลเจ้าจูกัดเหลียงแทน นอกจากศาลเจ้าเล่าปี่ กวนอูและจูกัดเหลียงแล้ว ภายในบริเวณศาลยังมีรูปปั้นประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญในสมัยราชวงศ์สู่ เรื่องราวต่าง ๆ จากตำนานอันยิ่งใหญ่ของสามก๊กของบุคคลอื่น ๆ อีกเช่น โจโฉ เตียวหุย และอีก 14 เสนาธิการทหารเอก

แต่เดิมสุสานของพระเจ้าเล่าปี่และจูกัดเหลียงไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ได้มีการย้ายศาลจูกัดเหลียงจากเมืองเซ่าเฉิงมาอยู่ในบริเวณใกล้กันในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ในราวปี พ.ศ. 963 - พ.ศ. 1132 จนถึงยุคราชวงศ์หมิงจึงรวมสุสานและศาลเล่าปี่กับจูกัดเหลียงเข้าด้วยกัน และได้พัฒนาศาลเจ้าดังกล่าวโดยสร้างรูปปั้นขนาดใหญ่ของเล่าปี่ จูกัดเหลียง กวนอู และเตียวหุย เป็นประธานอยู่ในห้องโถงกลาง ด้านข้างมีรูปปั้นตัวละครและขุนศึกต่าง ๆ ในยุคสามก๊กประดับเรียงรายตลอดทางระเบียงเป็นที่สำหรับให้ประชาชนมาเคารพสักการะ ในเวลาต่อมาวัดอู่โหวซื่อก็กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อศาลจูกัดเหลียงหรือศาลเจ้าสามก๊ก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองเฉิงตูในปัจจุบัน[29]

อุทยานสามก๊ก

[แก้]
อุทยานสามก๊ก จังหวัดชลบุรี

อุทยานสามก๊ก ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในอาณาเขตพื้นที่กว่า 36 ไร่ มีการจัดวางรูปแบบตามหลักฮวงจุ้ยของจีน พื้นที่ทั้งหมดของอุทยานสามก๊กประกอบไปด้วยต้นไม้และสถาปัตยกรรมแบบจีนเป็นจำนวนมาก มีหยินและหยางตามแบบฉบับปรัชญาแห่งความสมดุลของจีน สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ออกแบบโดย อาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย และอาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ สถาปนิกแห่งกรมศิลปากร เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัว[30]

พื้นที่ตั้งของอุทยานสามก๊กเป็นพื้นที่ลาดต่ำไปทางทิศใต้ มีภูเขาขนาดย่อมทอดตัวอยู่ทางทิศเหนือ มีลักษณะการยกระดับขึ้นไปเป็นระยะ ๆ จนเชื่อมต่อกับบันไดทางขึ้น บริเวณโดยรอบวางผังแบบรูปทรงเรขาคณิต ตามหลักการวางผังบริเวณที่เป็นมงคลมาแต่โบราณทั้งของไทยและจีน มีซุ้มประตูทางเข้าวางเป็นตัวกั้นแบ่งพื้นที่ส่วนอนุสรณ์สถานที่อยู่ทางทิศเหนือกับส่วนบริการทางทิศใต้ วางแนวแกนตะวันออก-ตะวันตกเพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารศาลเจ้าแม่กวนอิมกับอาคารอเนกประสงค์ โดยมีระเบียงโค้งแบบจันทร์เสี้ยวเป็นตัวเชื่อมต่อและโอบล้อมอาคารทั้ง 3 หลังเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีนที่เรียกว่าเก๋ง จำนวน 3 อาคาร

อาคารกลางหรืออาคารประธานมีความสูงที่สุด มีทั้งหมด 4 ชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งสื่อถึงท้องทะเลและท้องฟ้า มีการประดับรูปประติมากรรมเพื่อความเป็นมงคลตามหลักความเชื่อดั้งเดิมของจีนเช่น คนชราขี่สัตว์รูปร่างคล้ายไก่หรือเซียนเหญิน, มังกรสี่ขาท่านั่ง รูปร่างคล้ายสัตว์จตุบาท เรียกอีกอย่างว่า "จตุบาทพันธุ์มังกร" เป็น 1 ในบุตรชายทั้ง 9 ของพญามังกร , หงส์ สัตว์จตุบาทรูปลักษณะหงส์ ซึ่งแต่เดิมนั้นหงส์จัดเป็นส่วนประดับหลักของอุทยานสามก๊ก แต่เนื่องจากจักรพรรดิเทียบเท่าได้กับมังกร หงส์ซึ่งหมายถึงฝ่ายหญิงหรือฮองเฮา

ชั้นที่ 2 เป็นภาพวาดประวัติศาสตร์สีน้ำมัน เป็นการบันทึกเรื่องราวและชีวประวัติทั้งหมดของจูกัดเหลียง มีทั้งหมด 8 ตอนด้วยกัน และชั้นที่ 3 เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวของจูกัดเหลียงในช่วงที่ 2 เป็นภาพเขียนฝาผนังยาว 100 เมตร ทั้งหมด 8 ตอน โดยฝีมือของจิตรกรชาวจีน ใช้ระยะเวลาในการเขียนภาพฝาผนังเป็นเวลานานถึง 5 ปี ชั้นที่ 4 เป็นหอแก้วสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ค้นพบที่ถ้ำแห่งหนึ่งในลำพูน โดย ดร.วรภัทร ภู่เจริญ เป็นผู้มอบให้แก่อุทยานสามก๊กเพื่อเป็นที่สักการบูชา หันหน้าออกทางทะเลตามหลักฮวงจุ้ย พร้อมรูปปั้นพระสังกัจจายน์และพระถังซำจั๋ง

ภายในอุทยานสามก๊ก มีระเบียงจิตรกรรมบนกระเบื้องกังไสจีน เป็นการจัดแสดงฉากจากพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก จำนวน 56 ตอน ความยาว 240 เมตร เป็นการคัดย่อวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กเฉพาะในส่วนตอนที่สำคัญตั้งแต่ตอนต้นเรื่องคือเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สามวีรบุรุษร่วมสาบานในสวนท้อ กระทั่งถึงตอนสุดท้ายที่สุมาเอี๋ยนได้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ถือได้ว่านอกจากอุทยานสามก๊กจะได้ย่อตำนานพงศาวดารจีนที่มีความยาวเป็นอย่างมากไว้ภายในอุทยานแล้ว ยังได้นำเสนอเรื่องราวของสามก๊กผ่านระเบียงจิตรกรรม นอกจากนั้นยังมีตัวละครเอกในรูปแบบของรูปปั้นกังไสกระเบื้องประดับภายในอุทยานอีกด้วย ซึ่งอุทยานสามก๊กจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้นำเอาศิลปะความเป็นจีน นำเสนอผ่านทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีนร่วมสมัยอีกด้วย

สามก๊กในปัจจุบัน

[แก้]

สามก๊กเป็นวรรณกรรมจีนที่เป็นอมตะ ได้รับการกล่าวขานถึงการเป็นสุดยอดวรรณกรรมจีนที่ให้แง่คิดในเรื่องต่าง ๆ แม้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายยุคสมัย แต่ชื่อของตัวละคร สถานที่หรือลักษณะท่าทางต่าง ๆ ยังเป็นที่จดจำและกล่าวขานต่อ ๆ กันมาทุกยุคสมัย ในปัจจุบันสามก๊กกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยมาโดยตลอดและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสามก๊กออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก เช่นหนังสือ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ รวมทั้งเกมวางแผน ซึ่งได้หยิบยกเรื่องราวและตอนสำคัญบางส่วนของสามก๊กนำมาทำเป็นเกมจำนวนมาก ซึ่งกล่าวได้ว่าสามก๊กนั้นเป็นสิ่งที่สืบทอดต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบัน

หนังสือ

[แก้]

สามก๊ก เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผู้นำไปตีความในแง่มุมต่าง ๆ เกิดเป็นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับสามก๊กอีกมากมาย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนหนังสือชุด "สามก๊ก ฉบับนายทุน" ขึ้นเป็นทำนองล้อเลียนฉบับวณิพกของยาขอบ โดยตีความเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊กไปในทางตรงกันข้าม ด้วยสมมุติฐานว่าผู้เขียนเรื่องสามก๊กตั้งใจจะยกย่องฝ่ายเล่าปี่เป็นสำคัญ หากผู้เขียนเป็นฝ่ายโจโฉเรื่องก็อาจบิดผันไปอีกทางหนึ่ง งานเขียนที่สืบเนื่องจากสามก๊กของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้แก่ โจโฉนายกตลอดกาลและ เบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น ซึ่งในหนังสือเล่มหลังนี้นำเสนอแนวคิดว่าแท้จริงแล้วเบ้งเฮ็กอาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนไทยที่อพยพหนีลงมาจากสงครามก็ได้

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับสามก๊กอีกมากมายเช่น สามก๊กฉบับคนเดินดินของเล่าชวนหัว สามก๊กฉบับคนขายชาติของเรืองวิทยาคม เจาะลึกสามก๊กฉบับวิจารณ์ของวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ CEO ในสามก๊กของเปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป เป็นต้น

ละครโทรทัศน์

[แก้]
สามก๊กในแบบฉบับละครโทรทัศน์

ละครโทรทัศน์ชุด สามก๊ก เป็นละครที่ผลิตขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเป็นการเชิดชูวรรณกรรมอมตะของจีน โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ด้วยความร่วมมือกับทางประเทศญี่ปุ่น ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 84 ตอน ความยาวตอนละ 44 นาที สามก๊กในแบบฉบับละครโทรทัศน์ได้รับการนำเข้ามาออกอากาศครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อกลางปี พ.ศ. 2537 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. โดยบริษัทมีเดียส์ ออฟ มีเดีย จำกัด เวลาประมาณ 22.00 น. และออกอากาศซ้ำอีกครั้งทางช่องเอ็มวีทีวีวาไรตี้แชนแนล เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551

ปัจจุบันได้นำสามก๊กฉบับละครโทรทัศน์มาออกอากาศอีกครั้งทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ เวลา 22.30 น. - 23.23 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 และได้มีการปรับช่วงเวลาในการการออกอากาศเป็นเวลา 22.00 น. - 22.53 น. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน ลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายวีดิทัศน์ของละครโทรทัศน์ชุดนี้ในประเทศไทย เป็นของบริษัทมูฟวี่โฮมวิดีโอ จำกัด ในรูปแบบวีซีดีและดีวีดี

สามก๊ก ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้ง โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และออกฉายทางโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่องเจียงซู ช่องอันฮุย ช่องฉงชิ่ง และช่องเทียนจิน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 โดยละครชุดสามก๊ก ชุดใหม่นี้มีทั้งหมด 95 ตอน กำกับโดย เกาซีซี

ภาพยนตร์

[แก้]

วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จำนวน 3 เรื่องคือสามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกร (อังกฤษ: Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon; จีน: 三國之見龍卸甲) สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ (อังกฤษ: Red Cliff, The Battle of Red Cliff; จีน: 赤壁) และ สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู (อังกฤษ: The Lost Bladesman; จีน: 關雲長)

สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกรนำแสดงโดย หลิวเต๋อหัว, แม็กกี้ คิว, หงจินเป่า, แวนเนส วู, แอนดี้ อัง, ตี้หลุง กำกับการแสดงโดย แดเนียล ลี ความยาว 102 นาที ออกฉายเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551 ในประเทศไทยฉายวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 สามก๊ก ขุนศึกเลือดมังกรได้รับเสียงวิจารณ์ไปทางลบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เป็นการเจาะเฉพาะตัวละครเอกของเรื่องคือจูล่งเพียงคนเดียว โดยเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติของจูล่งตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา รวมทั้งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นไปตามวรรณกรรมอีกด้วย และมีตัวละครหลายตัวที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะเช่น โจอิง หรือ หลอผิงอัน เป็นต้น และอีกหลายส่วนในเรื่องก็ไม่เป็นไปตามวรรณกรรมเช่นชุดเกราะของจูล่งที่ในวรรณกรรมระบุว่าสวมเกราะสีเงิน แต่ในภาพยนตร์กลับสวมเกราะที่มีลักษณะคล้ายเกราะของซามูไรมากกว่า จึงทำให้ในเว็บไซต์ IMDb ให้เครดิตภาพยนตร์เรื่องนี้เพียง 5.7 ดาว จาก 10 ดาวเท่านั้น

สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ขนาดยาวที่ร่วมทุนสร้างระหว่างจีนและฮ่องกง ออกฉายพร้อมกันทั่วทวีปเอเชียในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน สร้างจากวรรณกรรมชิ้นเอกของจีนเรื่อง สามก๊ก ในตอน โจโฉ แตกทัพเรือหรือศึกผาแดง อำนวยการสร้างและกำกับโดย จอห์น วู ด้วยทุนสร้างกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์เอเชีย โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ ด้วยกันเฉพาะในเอเชีย ส่วนประเทศอื่น ๆ จะฉายในตอนเดียวจบในระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง นำแสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ย, ทาเคชิ คาเนชิโร่, หลินจื้อหลิง, จางเฟิงอี้, ฉางเฉิน, เจ้า เวย, ฮูจุนและชิโด นากามูระ

สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู เป็นภาพยนตร์ฮ่องกงอิงประวัติศาสตร์ ดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก ในตอนที่กวนอูพาภรรยาของเล่าปี่ฝ่าด่าน 5 ด่านและสังหารขุนพลของโจโฉ 6 นาย นำแสดงโดยดอนนี่ เยน กำกับโดยอลัน มัก และเฟลิกซ์ ชอง ออกฉายเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 และฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การ์ตูนและเกม

[แก้]
สามก๊กในแบบฉบับเกมคอมพิวเตอร์

วรรณกรรมสามก๊ก ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของการ์ตูนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเช่น การ์ตูนเรื่องสามก๊ก (ญี่ปุ่น: 横山光輝 三国志โรมาจิYokoyama Mitsuteru Sangokushi) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องยาว ที่แปลมาจากวรรณกรรรมอมตะของจีนเรื่องสามก๊ก วาดภาพโดยมิตสึเทรุ โยโกยามะ ต่อมาได้ถูกสร้างเป็นอนิเมะ ในปี พ.ศ. 2534 ออกอากาศทางสถานีทีวีโตเกียวและสร้างเป็นเกมสำหรับเครื่องนินเทนโดดีเอส ในปี พ.ศ. 2550

เนื้อเรื่องในการ์ตูนสามก๊กฉบับการ์ตูนญี่ปุ่นแปลมาจากหนังสือสามก๊กฉบับภาษาญี่ปุ่นของเออิจิ โยชิคาวะ ซึ่งมีความแตกต่างจากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบเล็กน้อย สามก๊กเป็นนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยแผนการรบและกลอุบาย จนมีคำกล่าวว่า อ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้ ในประเทศไทย สำนักพิมพ์จัมโบ้เป็นผู้จัดพิมพ์การ์ตูนสามก๊กเป็นเล่มใหญ่ โดยแบ่งเป็น 15 เล่มจบ

หงสาจอมราชันย์ เป็นการ์ตูนฮ่องกง เรื่องโดยเฉินเหมา นักเขียนการ์ตูนชาวฮ่องกง ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เรื่องราวหยิบยกเอาเหตุการณ์ในสามก๊ก จากทั้งวรรณกรรมและพงศาวดารมาเป็นโครงเรื่อง ซึ่งบางส่วนมีการตีความลักษณะของตัวละครขึ้นมาใหม่จากความคิดของเฉินเหมาเอง โดยมีสุมาอี้และเหลี่ยวหยวนหว่อหรือจูล่งเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก ปัจจุบันนอกจากฮ่องกงกับไต้หวันแล้ว หงสาจอมราชันย์ยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย

สามก๊ก มหาสนุก เป็นงานเขียนการ์ตูนเรื่องสามก๊ก เรื่องและภาพโดยหมู นินจา ตีพิมพ์ในนิตยสารมหาสนุกตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2550 ภายหลังได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มเป็นการ์ตูนสีรวมทั้งหมด 45 เล่ม และบริษัทวิธิตาได้นำเรื่องสามก๊กมาสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นจำนวน 2 ภาค ล่าสุดได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลี จัดจำหน่ายโดย บริษัท พีเอ็มจี โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ซัมซุง บุ๊ค พับลิเชอร์[31]

Dynasty Warriors (ญี่ปุ่น: 真・三國無双โรมาจิShin Sangokumusōทับศัพท์: lit. "True - Unrivaled Three Kingdoms") เป็นเกมต่อสู้จัดทำและพัฒนาโดย Koei วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ในเพลย์สเตชัน Dynasty Warriors เป็นเกมที่จำลองวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง, อาวุธ, ลักษณะท่าทางและตัวละครที่ปรากฏในเกมล้วนแล้วมาจากเรื่องสามก๊กทั้งสิ้น

ในประเทศญี่ปุ่นเกมนี้ใช้ชื่อว่า Sangokumusō ซึ่งภายหลังได้มีการจำหน่าย Dynasty Warriors 2 ที่ดัดแปลงจากภาค 1 ให้มีภาพที่สวยงามและเล่นสนุกขึ้น ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ให้ชื่อ Dynasty Warriors 2 ไว้ว่า Shin Sangokumusō ในปัจจุบัน Dynasty Warriors เป็นเกมที่มีผู้เล่นเยอะมากที่สุดเกมหนึ่งของโลก และมีวางออกจำหน่ายแล้วถึง 12 ภาคด้วยกัน

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ (ภาษาจีน) หรือ
    สามก๊กเอี้ยนหงี (ภาษาฮกเกี้ยน)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. การแปลสามก๊กในปัจจุบัน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 20
  2. "สามก๊ก นิยายจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มแรกในไทย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-07-15. สืบค้นเมื่อ 2004-07-15.
  3. คำนำอินไซด์สามก๊ก (ฉบับอ่านสามก๊กอย่างไรให้แตกฉาน) , ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2500, หน้า 3
  4. ความเป็นมาของสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 9
  5. "แนะนำสามก๊ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  6. บันทึกประวัติศาสตร์ สามก๊กจี่หรือซันกั๋วจวื้อ, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 12
  7. ซันกั๋วจือผิงฮว่า สามก๊กฉบับนิทาน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 14
  8. ไป่ซ่งจี๋ บัณฑิตผู้ชำระซันกั๋วจือ, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 14
  9. สามก๊ก ฉบับเจี่ยซิง, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 15
  10. ซันกั๋วหยั่นอี้ สามก๊กฉบับปรับปรุง, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 16
  11. ราชวงศ์วุย, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58
  12. ราชวงศ์ฮั่น, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 52
  13. ราชวงศ์ซุน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58
  14. บันทึกจดหมายเหตุประเทศจีน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 23
  15. Luo, Guanzhong, attributed to, translated from the Chinese with afterword and notes by Moss Roberts (1991). Three Kingdoms: A Historical Novel. Berkeley; Beijing: University of California Press; Foreign Languages Press.
  16. 16.0 16.1 กลศึกสามก๊ก ตำราพิชัยสงครามรูปธรรมที่มีชีวิต,หลี่ปิ่งเอี้ยน ซุนจิ้ง ผู้ค้นคว้า, บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2543, ISBN 974-7736-93-4
  17. การแปลสามก๊กเป็นภาษาต่าง ๆ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารพิมพ์, พ.ศ. 2544, หน้า 7
  18. 18.0 18.1 ตำนานสามก๊ก พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  19. การแปลสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)[ลิงก์เสีย]
  20. การศึกษากลยุทธ์ในการทำสงครามในสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 20
  21. การตีพิมพ์สามก๊กในสมัยรัชกาลที่ 4[ลิงก์เสีย]
  22. การกล่าวถึงสามก๊กในสมัยรัชกาลที่ 2, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 19
  23. จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 2, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 19
  24. สามก๊ก วรรณกรรมอมตะของจีน[ลิงก์เสีย]
  25. ถาวร สิกขโกศล. มองสามก๊กจากต้นฉบับภาษาจีน. บทความวารสารเอเชียตะวันออกศึกษา ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
  26. ดูสามก๊กฉบับวรรณไว เทียบเนื้อความกับสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และฉบับวิจารณ์ของวิวัฒน์ประชาเรืองวิทย์ ชื่อตัวละครและสถานที่มีจุดผิดพลาด เช่น ในตอนสุดท้ายหน้า 1764 สุมาเอี๋ยนกล่าวเสียดายที่เอียวเก๋าไม่ได้มาร่วมงานฉลองการปราบง่อก๊ก (เพราะเสียชีวิตไปแล้ว) แต่ฉบับวรรณไวกลับแปลว่า กล่าวเสียดายองโยยแทน หรือในหน้า 1554 ฉบับวรรณไวกล่าวถึงการขึ้นเป็นวุยอ๋องของโจโฉว่าบังอาจใช้รถม้าหลวงซึ่งมีระฆังติดไว้เพื่อไล่คนขวางหน้า แต่ฉบับวิวัฒน์ไม่ได้กล่าวว่าเป็นการบังอาจหรือละเมิดธรรมเนียม เพียงบอกว่าใช้เส้นทางเดียวกับฮ่องเต้ซึ่งโดยธรรมเนียมจีนราชวงศ์ฮั่นแล้ว อ๋องนั้นก็มีศักดิ์ที่จะผ่านทางของฮ่องเต้ได้หรือไม่โดยไม่เป็นการบังอาจก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ฉบับวรรณไวตัดสินแล้วว่าเป็นการล่วงละเมิด
  27. เรียบเรียงโดย เรืองวิทยาคม มีทั้งสิ้น 655 ตอน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ในเครือผู้จัดการ
  28. สามก๊กฉบับคนขายชาติ ฐานข้อมูลจาก สามก๊กวิกิ
  29. ศาลเจ้าสามก๊ก หลักฐานตำนานอันโด่งดัง
  30. "อุทยานสามก๊ก สถาปัตยกรรมจีนในไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ 2008-08-19.
  31. สามก๊กฉบับมหาสนุก โดยหมูนินจา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]