ขุนช้างขุนแผน
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม (มิถุนายน 2022) |
ขุนช้างขุนแผน | |
---|---|
ชื่ออื่น | ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดพระวชิรญาณ |
ประเภท | นิทาน, ตำนาน, มหากาพย์ |
คำประพันธ์ | กลอนสุภาพ, กลอนแปด |
ยุค | รัตนโกสินทร์ตอนต้น |
ปีที่แต่ง | ไม่ทราบ |
ลิขสิทธิ์ | กรมศิลปากร |
![]() |
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานมหากาพย์พื้นบ้านของไทย เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวสยามในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง จนนักภาษาศาสตร์ นามวิลเลี่ยม เก็ดนี่ย์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้ามักคิดบ่อย ๆ ว่า หากความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเกิดสูญหายไปหมด ทุกอย่างอาจจะถูกสร้างขึ้นมาได้ใหม่ จากข้อเขียนที่อัศจรรย์นี้"
เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ สันนิษฐานว่าเป็นการแต่งขึ้นร้องแบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) เพื่อความบันเทิง ในลักษณะเดียวกับมหากาพย์ของยุโรป อย่างเช่นของโฮเมอร์ โดยคงจะเริ่มแต่งตั้งแต่ราวอยุธยาตอนกลาง (ราว พ.ศ. 2143) และมีการเพิ่มเติม หรือตัดทอนเรื่อยมา จนมีรายละเอียดและความยาวอย่างที่สืบทอดกันอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงไว้เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากบุคคลชั้นสูงสมัยนั้นเห็นว่าเป็นกลอนชาวบ้าน ที่มีเนื้อหาบางตอนหยาบโลน และไม่มีการใช้ฉันทลักษณ์อย่างวิจิตร ดังนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ. 2310 จึงไม่มีต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนเหลืออยู่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความนิยมสูงในหมู่ชาวไทย จึงมีผู้ที่จำเนื้อหาได้อยู่มาก และทำให้ถูกฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก
สำหรับเนื้อหาของขุนช้างขุนแผนในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้กวีในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนพระองค์เองร่วมกันแต่งและทรงพระราชนิพนธ์ขี้นเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในด้านความไพเราะและในลีลาการแต่ง ตลอดจนเค้าโครงเรื่อง ได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา และได้รับประทับราชลัญจกรรูปพระคเณศร์ไว้เป็นเครื่องหมายของการยกย่องนั้นด้วย
หนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณคดีสำหรับอ่านกันเล่น เพื่อได้รับรสวรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจเท่านั้น หากแต่บางตอนในวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานที่ให้ความรู้ในเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมกับที่มีคำกล่าวว่า วรรณคดีเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ให้คนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบด้วย[1]
วรรณกรรมไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2553 โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย และนายคริส เบเกอร์[2]
เนื้อเรื่อง
[แก้]ขุนช้าง พลายแก้ว (ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ว่าขุนแผน) และนางพิมพิลาไลย (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง) เป็นเพื่อนสมัยเด็กด้วยกันอาศัยอยู่ในเมืองสุพรรณบุรี พลายแก้วรูปร่างหล่อและฉลาด แต่ยากจน เพราะพระพันวษาประหารชีวิตบิดาไปและได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมด
ครั้นเติบโตขึ้นเขาได้บวชเป็นสามเณรเพื่อรับการศึกษาตามวัย เรียนวิชาคาถาอาคมและด้านทหาร ขุนช้างรูปร่างขี้เหร่และโง่เขลา แต่ร่ำรวยและมีเส้นสายที่เชื่อมโยงกันอย่างดีในราชสำนักอยุธยาเพราะบิดาฝากฝังไว้ตั้งแต่เด็ก
ส่วนพิมพิลาไลยนั้น เป็นคนสวยของเมืองสุพรรณบุรี และได้พบพลายแก้วในวันสงกรานต์ พวกเขามีความสัมพันธ์กัน โดยเขาหนีสึกและออกจากวัดไปหาที่ไร่ฝ้ายทันที
ส่วนขุนช้างพยายามขอนางพิมกับแม่ของนาง โดยใช้ความมั่งคั่งและสถานะของเขา แต่สุดท้ายพลายแก้วและนางพิมก็แต่งงานกัน ขุนช้างออกอุบายไปทูลให้พระพันวษาส่งพลายแก้วไปตีเมืองเชียงใหม่ช่วยเมืองเชียงทองแล้วก็อ้างว่าพลายแก้วเสียชีวิตแล้ว เมื่อพลายแก้วได้รับชัยชนะ ขุนช้างจึงวางแผนที่จะขับไล่เขาออกจากอยุธยาด้วยข้อหาที่ประมาทเลินเล่อในงานราชการ
พิมพิลาไลย (ปัจจุบันคือวันทอง) ได้ต่อต้านขุนช้างตลอดเวลา แต่เมื่อพลายแก้ว (ปัจจุบันคือขุนแผน) กลับจากการทำสงครามตีเชียงใหม่ก็ได้ภรรยาอีกคน ชื่อ " ลาวทอง " ก็กลับมีเรื่องอิจฉาริษยากับวันทองจนกระทั่งวันทองถูกแม่ฉุดให้ไปอยู่กับขุนช้าง จนเธอตกเป็นเมียของขุนช้างด้วยจำใจ
เมื่อลาวทองภรรยาคนที่สองของขุนแผน ถูกพระพันวษาทรงพาเข้าไปในวังให้มีตำแหน่งเป็น "ปักสะดึงกรึงไหม" ขุนแผนรู้สึกเสียใจที่จะละทิ้งวันทอง เขาบุกเข้าไปในบ้านของขุนช้างอีกในตอนดึกแล้วได้ลักพาวันทองหนี ในตอนแรกเธอไม่เต็มใจที่จะทิ้งชีวิตอันสุขสบายของเธอ แต่ความหลงใหลในตัวตนขุนแผนประกอบกับความรัก พวกเขาก็หนีไปด้วยกันและได้พักแรมในป่าอันงดงามที่เงียบสงัด
ฝ่ายขุนช้างโกรธจัดที่ขุนแผนพาเมียของตนหลบหนี เขาได้พยายามใส่ร้ายขุนแผน โดยทูลกับพระพันวษาว่าขุนแผนกำลังก่อกบฏ พระพันวษาส่งกองทัพไปตามจับขุนแผนฆ่าขุนเพชรขุนรามตาย มีการออกหมายจับไปทั่วเมือง จนเมื่อวันทองตั้งครรภ์ ขุนแผนจึงตัดสินใจออกจากป่าและบอกยอมแพ้ เตรียมพร้อมจะสู้คดีความ สุดท้ายข้อหากบฏนั้นก็ไม่เป็นความจริง ขุนแผนพ้นผิดและขุนช้างถูกปรับอย่างหนัก
ขุนแผนยังทูลขอต่อพระพันวษาโดยขอให้ปล่อยลาวทองให้เป็นอิสระ พระองค์ทรงกริ้ว เขาจึงถูกจำคุกอีกและถูกขังอยู่ในคุกประมาณสิบสองปี ขุนช้างได้ลักพาตัววันทองไปอยู่ด้วยกันที่สุพรรณบุรีอีกครั้ง วันทองให้กำเนิดลูกชายที่ชื่อ "พลายงาม" ลูกชายของเธอที่เกิดกับขุนแผน เมื่อพลายงามอายุแปดขวบ ขุนช้างพยายามจะฆ่า แต่พลายงามหนีมาได้ และมาอาศัยอยู่กับย่าทองประศรีที่กาญจนบุรี จนกระทั่งได้เรียนวิชาแบบที่ขุนแผนพ่อของตน
เมื่อพระพันวษาแห่งกรุงศรีอยุธยาและเจ้าเมืองเชียงใหม่ทะเลาะกันเรื่องลูกสาวของพระเจ้าล้านช้างแห่งเวียงจันทน์ พลายงามอาสานำกองทัพไปตีเชียงใหม่และประสบความสำเร็จในการขอให้ปล่อยขุนแผนพ่อของตนเป็นอิสระ ทั้งสองพ่อลูกจับพระเจ้าเชียงใหม่และกลับมาพร้อมกับเจ้าหญิงสร้อยทองแห่งเวียงจันทน์และเชลยมากมาย ขุนแผนได้รับสถานะเป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุรินทรฦาชัย" ส่วนพลายงามได้รับแต่งตั้งให้เป็น"จมื่นไวยวรนาถ" หรือพระไวย
ขุนช้างเมาแล้วอาละวาดในงานแต่งงานของพระไวยกับศรีมาลา และคดีความแบบเก่าก็กลับมาอีก พระไวยลักพาตัวแม่วันทองมาจากบ้านขุนช้าง ทำให้ขุนช้างทูลใส่ร้ายพระไวยต่อพระพันวษา จนถึงขั้นพิจารณาคดี พระพันวษาทรงเรียกร้องให้วันทองเลือกระหว่างขุนช้างกับขุนแผน เธอทำไม่ได้และไม่สามารถจะเลือกใครได้ พระพันวษาสั่งให้ประหารชีวิตเธอ พระไวยวิงวอนต่อพระพันวษาให้ทรงอภัยโทษแต่ก็ได้สำเร็จ แต่พระบัญชามาช้าไปเล็กน้อยและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการประหารชีวิตวันทองได้
ต้นกำเนิดและคำว่า เสภา
[แก้]ขุนช้างขุนแผน เป็น นิทานพื้นบ้านของไทยโบราณ มีต้นกำเนิดมาจากความบันเทิงพื้นบ้านประมาณปี ค.ศ. 1600 ซึ่งพัฒนาโดยนักเล่านิทาน สำหรับผู้ชมผู้ฟังในท้องถิ่น และส่งต่อเรื่องราวด้วยการบอกเล่าแบบปากต่อปาก
อนึ่งในศตวรรษที่ 18 การแสดงเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสยาม นักเล่านิทานมักเล่าเรื่องด้วยการบรรยายอย่างมีสไตล์ โดยใช้ไม้เล็ก ๆ สองท่อน เรียกว่า กรับ เคาะให้เป็นจังหวะและเน้นอารมณ์ การขับแสดงนั้นมักใช้เวลาตลอดทั้งคืน
อนึ่ง การขับแสดงเรื่องของขุนช้างขุนแผนสร้างแนวใหม่ที่เรียกว่าเสภา และเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษมาแล้ว คำศัพท์นี้ใช้เฉพาะบางงานนี้เท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ค.ศ. 1851–1868) ข้อความจากพระราชพงศาวดารบางส่วนและงานอื่น ๆ อีกสองสามชิ้นก็ถูกนำมาเสนอในรูปแบบของเสภานี้ด้วยพระราชกรณียกิจ แต่ทั้งหมดก็หายไป เหลือเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ
อนึ่ง ที่มาของคำเสภานี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีรูปแบบของดนตรีในชื่อเดียวกันนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คิดว่า คำว่า เสภา นี้ หมายถึงคุกและเสภานี้พัฒนามาโดยนักโทษในเรือนจำ ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ แย้งว่า เสภามีความเชื่อมโยงกับคำภาษาสันสกฤตว่า "เสวะ" ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวข้องดั้งเดิมกับพิธีกรรม ทางศาสนา
การพัฒนาเป็นงานวรรณกรรม
[แก้]เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ตอนที่ดีเด่นจากเรื่องถูกเขียนลงเป็นแบบฉบับ ภายหลังการก่อตั้งกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2325 ราชสำนักใหม่ได้พยายามรวบรวมตำรับตำราทุกชนิดที่หลงเหลือจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อสิบห้าปีก่อนนั้น
อนึ่ง เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้จะถูกคัดลอกมาจากตำราก่อนหน้านี้ หรือดัดแปลงมาจากคำบอกเล่าโดยนักเล่านิทานคนนั้น แต่ต้นฉบับเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ไม่มีเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยา
อนึ่ง เป็นเรื่องแปลกที่จะนำต้นฉบับตัวเขียนเหล่านี้มาใช้กับเครื่องวัดว่าบทกวีเหล่านั้นที่ได้รับความนิยม เป็นผลงานครั้งกรุงเก่า คำกลอนโดยเฉพาะเหล่านั้น ที่มีบรรทัดแปดพยางค์ที่เรียกว่ากลอนแปดนั้น เป็นวิธีการประพันธ์ที่นิยมในราชสำนักและในหมู่ขุนนาง ช่วงรัชกาลที่ 2 (ค.ศ. 1809–1824) เป็นส่วนใหญ่ และตัวบทเสภานั้นมีการชำระปรับปรุงโดยกวีร่วมสมัย ช่วงรัชกาลที่ 4 (ค.ศ. 1851–1868) เป็นส่วนมาก
อนึ่ง กวีในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับมอบหมายให้เขียนไว้หลายตอน แต่งานเขียนเหล่านั้นกลับไม่มีรายชื่อกวีเลย แต่บางตอนอาจเป็นผลงานของ รัชกาลที่ 3 เมื่อยังทรงกรมเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และกวีอย่างสุนทรภู่
ต่อมาได้มีการรวบรวมบทอื่น ๆ อีกหลายตอน ซึ่งน่าจะเป็นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยครูแจ้งนักขับเสภาและนักเล่นเพลงปรบไก่ ไม่ค่อยมีใครรู้จักประวัติของเขานัก นอกจากเขาอ้างอิงชื่อตัวเองใว้ในบทกวีเท่านั้น
การพิมพ์
[แก้]เริ่มตั้งแต่ ซามูเอล สมิธ อดีตมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเสภาครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2415 โดยเป็นการใช้ต้นฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และอีกฉบับพิมพ์ในปี พ.ศ. 2432 โดยโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ของนายสิน หน้าวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ในชื่อปัจจุบัน เป็นผู้จัดพิมพ์จำหน่าย ห้าตอนที่แต่งโดยครูแจ้งนั้น จัดพิมพ์เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2433
อนึ่ง ส่วนฉบับมาตรฐานที่จัดพิมพ์แบบสมัยใหม่นั้นปรากฏพิมพ์เป็นสามเล่มในปี พ.ศ. 2460-2461 จัดพิมพ์โดยหอพระสมุดพระวชิรญาณ และชำระใหม่โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงรวบรวมมาจากต้นฉบับสมุดไทย ทั้งสี่ชุด และสมุดไทยเล่มปลีกอื่น ๆ อีกสองสามชุด เป็นต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้มาจากสมัยรัชกาลที่ 4 (ค.ศ.1851–1868) พระองค์ทรงเลือกสิ่งที่เชื่อว่าเป็นสำนวนที่ดีที่สุดของแต่ละตอน และทรงแต่งเพิ่มอีกบางตอน และทรงลบสำนวนที่ถือว่าลามกอนาจาร หยาบคาย ตลกโปกฮาก็ให้ตัดทิ้ง ท่านรู้สึกว่าไม่มีสาระในทางวรรณคดี
อนึ่ง ฉบับมาตรฐานนี้มีประมาณ 20,000 คำกลอน ทรงแบ่งออกเป็น 43 ตอน เรื่องตอนต้นจบลงในตอนที่ 36 แต่ทรงรวมอีกเจ็ดตอนไว้ด้วยเนื่องจากตอนต่าง ๆ เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยม นักกวีและนักเขียนได้แต่งตอนต่าง ๆ ให้มากขึ้นจนกระทั่งถึงชั้นลูกหลาน ที่ขยายเรื่องราวไปถึงสามชั่วอายุคนในสายเลือดของขุนแผน แต่พระองค์ก็ทรงเห็นว่าไม่มีสาระในทางวรรณคดี ที่จะเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นบทกวีที่สมควรจะได้รับการตีพิมพ์ แต่เรื่องภาคปลายนี้ประมาณ 50 บท ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในโอกาศต่าง ๆ
ที่มาของเรื่อง
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนนั้น มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1500 ในแผ่นดินรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลักฐานที่พระองค์ทรงอ้างอิงนั้นเชื่อกันว่าเป็นคำให้การของนักโทษชาวไทยในพม่าที่ถูกจับไปหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ค้นพบและแปลแล้วตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 เป็นบันทึกที่เล่าถึงชื่อขุนแผนในการทำสงครามกับทางเชียงใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานชิ้นนี้เป็นแค่ประวัติศาสตร์บอกเล่าปากต่อปากเท่านั้น และถูกบังคับเค้นถามโดยพม่าเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่พัฒนามาจากนิทานพื้นบ้านจากปากของชาวบ้านทั่วไป
อนึ่งการทำสงครามกับเชียงใหม่นั้นดูเหมือนจะเป็นการอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่ปรากฏในพงศาวดารมากกว่า ที่เป็นเรื่องราวพิพาทระหว่างอยุธยากับล้านช้างในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1560
อีกทฤษฎีหนึ่ง คือเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นพัฒนามาเป็นเวลาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษโดยนักเล่านิทานที่ซึมซับและแต่งเติมนิทานของท้องถิ่นและเรื่องจริงบางเรื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าฉบับดั้งเดิมนั้นน่าจะสั้นกว่าและเรียบง่ายกว่ามาก เช่น ตอนพลายแก้วสู่ขอและแต่งงานกับนางพิม แต่แล้วก็ถูกเกณฑ์ไปสงคราม ขุนช้างมาสู่ขอจากแม่และเกลี้ยกล่อมนางพิม ฉุดกระชากนางพิม จนเป็นเมียขุนช้าง พลายแก้วกลับมาจากสงคราม ได้เป็นขุนแผน เกิดการทะเลาะวิวาทที่ตามมา จนวันทองถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นเรื่องราวก็ถูกขยายออกไป เมื่อตอนนั้น ๆ ถูกแต่งขึ้นโดยใช้ตัวละครนำเหล่านี้และเพิ่มตัวละครใหม่ ๆ บางตอนเป็นที่รู้จักว่าเป็นการนำเหตุการณ์จริง ๆ จากพงศาวดารมาแต่งแทรกไว้ เช่นการมาถึงของราชทูตจากล้านช้าง และการรับของจากราชทูตที่มาจากทวายมายังกรุงเทพในปี พ.ศ. 2334 เป็นต้น
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]
อนึ่ง เรื่องขุนช้างขุนแผน ยังเป็นที่มาของคำพูดแบบสมัยใหม่ เช่นชื่อ ขุนแผน ที่มีความหมายแบบแสลงว่า "คาสโนว่า" นอกจากนี้ยังเป็นชื่อของเครื่องรางที่มีชื่อเสียงซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสำเร็จในความรัก และเป็นคำแสลงสำหรับนักซิ่งมอเตอร์ไซค์อย่างคำว่า "ชอปเปอร์" เป็นต้น
ในจังหวัดสุพรรณบุรีและพิจิตรเมืองที่มีความโดดเด่นในเนื้อเรื่อง ยังมีชื่อถนนสายหลักที่ได้รับการตั้งชื่อตามตัวละครในเรื่องด้วย
ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง ปัจจุบันนี้ยังมีศาลเจ้าที่มีภาพของตัวละครปรากฏอยู่ สถานที่ดังกล่าว ได้แก่ เนินเขาชนไก่ในจังหวัดกาญจนบุรีเก่า มีภาพขุนแผนและขุนไกรผู้เป็นบิดา เมืองพิจิตรเก่าของนางศรีมาลาและบ้านถ้ำในจังหวัดกาญจนบุรีของนางบัวคลี่ เป็นต้น
ในพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีการสร้างบ้านทรงไทยแบบเก่าแล้วตั้งอยู่ในบริเวณคุกที่เชื่อกันว่าขุนแผนถูกจองจำ บ้านหลังนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คุ้มขุนแผน" และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัด บ้านที่คล้ายกันนี้ก็เพิ่งสร้างขึ้นที่วัดแคในจังหวัดสุพรรณบุรีเช่นกัน วัดนี้ยังมีต้นมะขามเก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานกันว่าเป็นที่เณรแก้วลองวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อได้
ที่วัดป่าเลไลยก์จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้สร้างแบบจำลองเรือนของขุนช้างขึ้น ให้ตรงกับที่พรรณาในเสภาให้มากที่สุด และมีงานการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องขุนช้างขุนแผนรอบ ๆ วิหารของหลวงพ่อโต โดย อาจารย์เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย
งานวิจัย
[แก้]งานวิจัยที่บอกเล่าเรื่องราวด้วยการเพิ่มคำอธิบายประกอบและคำอธิบายของคำเก่าๆและประเพณีที่ถูกลืม เช่น งานของ สุภร บุนนาค ที่จัดพิมพ์สองเล่มในปีพ.ศ. 2503 และตีพิมพ์ซ้ำอีกในงานฌาปนกิจศพในปีพ.ศ. 2518
งานวิจัยของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และ เปลื้อง ณ นคร (นามปากกาว่า นายตำรา ณ เมืองใต้) เขียนบทความชุดหนึ่งเผยแพร่ในนิตยสารวิทยาสาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 และรวมพิมพ์เป็นเล่มเป็นหนังสือแล้ว ในชื่อ "เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน"
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเขียนบทความชุดหนึ่งลงพิมพ์ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐของตนเองแล้วรวบรวมเป็นหนังสือในปี พ.ศ. 2532
ในปี พ.ศ. 2545 สุจิตต์ วงษ์เทศได้ตีพิมพ์ผลงานที่เป็นคำกลอนของครูแจ้ง ซึ่งเคยลงพิมพ์เป็นบทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสำเนาต้นฉบับสองฉบับของบทที่ 17 ซึ่งสุจิตต์ได้รับจากหอสมุดแห่งชาติภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ต้นฉบับเหล่านี้เผยให้เห็นสิ่งที่กรมพระยาดำรงทรงชำระและตัดทอนไป รวมพิมพ์เป็นชื่อว่า ขุนช้างขุนแผนแสนสนุก: เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครูแจ้ง พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียว ในปี พ.ศ. 2545
ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2513 โดยใช้แนวคิดจิตวิทยาของฟรอยด์ เพื่อวิเคราะห์ความก้าวร้าวในตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนและตัวละครทั้งหมด วิทยานิพนธ์นี้โด่งดังมาก ทั้งในฐานะเป็นจุดสังเกตในการวิจารณ์วรรณกรรมไทยและเป็นบทความที่มีแนวคิดเกี่ยวกับสตรีนิยมไทยในยุคแรก ๆ
ตัวละคร
[แก้]![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
- ขุนแผน
- ขุนช้าง
- นางพิมพิลาไลย (หรือ นางวันทอง)
- นางศรีประจัน
- สมเด็จพระพันวษา
- ขุนศรีวิชัย
- ขุนไกรพลพ่าย
- นางบัวคลี่
- นางสายทอง
- นางทองประศรี
การดัดแปลงเป็นสื่อ
[แก้]แม้กวีนิพนธ์นั้นจะกลายเป็นฉบับมาตรฐานของเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ตาม ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการนำตอนต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นละคร นาฏศิลป์ ตลกและลิเก ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการนำตอนต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นรูปแบบกวีนิพนธ์และการแสดงพื้นบ้านอย่างเพลง ฉุยฉาย เป็นต้น แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบอื่น ๆ มากมาย
ภาพยนตร์
[แก้]- ขุนช้างขุนแผน - พ.ศ. 2477 นำแสดงโดย ศิริ ผิวสังข์, สุหรัด บุญเสริมทรัพย์ [3][4]
- ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา - พ.ศ. 2478 นำแสดงโดย ศิริ ผิวสังข์, ลิลี่, จร
- ขุนช้างขุนแผน ภาค 3 - พ.ศ. 2480 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- ขุนช้างขุนแผน ภาค 4 ตอน ขุนช้างกินเลี้ยง-สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ - พ.ศ. 2481 นำแสดงโดย ศิริ ผิวสังข์, จอน ใยเจริญ, เพลินพิศ ปิ่นไสว
- ขุนช้างขุนแผน ภาคพิเศษ ตอน เปรตวันทองห้ามทัพ - พ.ศ. 2482 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- ขุนช้างขุนแผน ตอน จับเสน่ห์เถรขวาด - พ.ศ. 2492 นำแสดงโดย ศิริ ผิวสังข์, แฟ้ม รัตน์ตัญญู
- ขุนช้างขุนแผน ตอน ปีศาจนางวันทองอาละวาด - พ.ศ. 2495 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- ขุนช้างขุนแผน ตอน วันทองหึงลาวทอง - พ.ศ. 2496 (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- พิมพิลาไลย - พ.ศ. 2498 นำแสดงโดย สมควร กระจ่างศาสตร์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, เล็ก อ่ำเที่ยงตรง
- สร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ - พ.ศ. 2499 นำแสดงโดย ส. อาสนจินดา, ทักษิณ แจ่มผล
- ยอดชายชาตรี - พ.ศ. 2503 นำแสดงโดย แมน ธีระพล, งามตา ศุภพงษ์, จรัสศรี สายะศิลป์
- ขุนช้างขุนแผน ตอน พิมพิลาไลเข้าหอ - พ.ศ. 2504 นำแสดงโดย ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, เพลินตา อุมาแมน, ปราณีต คุ้มเดช
- พิมพิลาไล - พ.ศ. 2509 นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, พิศมัย วิไลศักดิ์, มีศักดิ์ นาครัตน์
- ขุนช้างขุนแผน ตอน ปราบจระเข้เถนขวาด - พ.ศ. 2525 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ทูน หิรัญทรัพย์, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
- ขุนแผน - พ.ศ. 2545 นำแสดงโดย วัชระ ตังคะประเสริฐ, บงกช คงมาลัย, อภิชัย นิปัทธหัตถพงศ์ กำกับโดย ธนิตย์ จิตนุกูล [5]
- ขุนแผน ฟ้าฟื้น - พ.ศ. 2562 นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ, ฟิลลิปส์ ทินโรจน์, ยงวรี งามเกษม กำกับโดย ก้องเกียรติ โขมศิริ
- วันทอง - พ.ศ. 2569 นำแสดงโดย วรันธร เปานิล, ปริญ สุภารัตน์, คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์, วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ กำกับโดย ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ
ละครโทรทัศน์
[แก้]- ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างเข้าห้องนางแก้วกิริยา - พ.ศ. 2498 ออกอากาศทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ) [6]
- ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนเข้าห้องนางวันทอง - พ.ศ. 2498 ออกอากาศทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม (ไม่มีข้อมูลนักแสดงนำ)
- ขุนแผนผจญภัย - ประมาณปี พ.ศ. 2513-2514 ออกอากาศทาง ช่อง 7 นำแสดงโดย สมชาย ศรีภูมิ, สุดเฉลียว เกตุผล, ถวัลย์ คีรีวัต
- พิมพิลาไลย - พ.ศ. 2522-2523 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย ไพโรจน์ ใจสิงห์, นัยนา ชีวานันท์, ตรัยเทพ เทวะผลิน
- พิมพิลาไลย - พ.ศ. 2528 ออกอากาศทาง ช่อง 5 นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, สุประวัติ ปัทมสูต
- ขุนช้าง ขุนแผน - พ.ศ. 2542 ออกอากาศทาง ช่อง 3 นำแสดงโดย อติเทพ ชดช้อย, เฉลิมพล บุญรอด, ธิญาดา พรรณบัว ผลิตโดย บริษัท ทีวีสแควร์ จำกัด
- ขุนแผนแสนสะท้าน - พ.ศ. 2560 ออกอากาศทาง ช่องจ๊ะทิงจา นำแสดงโดย ณ พบ ประสบลาภ, กัญจน์อมล เคล้าจิตพูลสุข, ด.ช. ธาวิน มงคลจักรวาฬ
- วันทอง - พ.ศ. 2564 ออกอากาศทาง ช่องวัน 31 นำแสดงโดย ดาวิกา โฮร์เน่, ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์, ชาคริต แย้มนาม
ละครเวที
[แก้]- ในปี พ.ศ. 2558 ถูกดัดแปลงเป็นละครเวทีในชื่อ วันทอง เดอะมิวสิคัล แสดงโดย ณัฎฐพัชร์ วิภัทรเดชตระกูล จัดการแสดงที่ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก จังหวัดขอนแก่น [7]
การ์ตูน
[แก้]- ส่วนฉบับการ์ตูนนั้น วาดภาพโดย คุณสวัสดิ์ จักรภพ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2493
- ศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง เหม เวชกรก็ได้วาดภาพฉากจากเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย
- ในปี พ.ศ. 2548 ฉบับการ์ตูนที่เป็นเรื่องยาวที่สุดวาดภาพโดย สุกฤตย์ บุญทอง
- ในปี พ.ศ. 2564 ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นการ์ตูนออนไลน์ โดยสมมติให้สาวจากยุคปัจจุบัน ทะลุมิติไปอยู่ในร่างของนางพิมพิลาไลย หรือนางวันทอง ที่เป็นนางเอกของเรื่อง โดยใช้ชื่อว่า"วันทองไร้ใจ" ในเนื้อเรื่องได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และแนวคิดของผู้คนในสมัยกรุงเก่าได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ต้นฉบับ ผ่านภาพวาดที่สวยงาม และยังมีตัวละครเสริมที่ไม่มีในต้นฉบับอึกมากมายด้วย สามารถอ่านได้แล้วที่แอปพลิเคชั่น"line webtoon" และสามารถติดตามนักเขียนได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก"mululeee" และทวิตเตอร์ในชื่อเดียวกัน
ในสื่ออื่น ๆ
[แก้]- ในปี พ.ศ. 2460 บริษัท BAT ได้ออกการ์ดบุหรี่จำนวน 100 ใบที่มีตัวละครจากเรื่องดังกล่าว
- ในปี พ.ศ. 2475 ยังมีการดัดแปลงเขียนเป็นนิยายหลายเรื่อง เช่นผลงานของ มาลัย ชูพินิจ
- ในปี พ.ศ. 2507 มีการเล่าเรื่องซ้ำอย่างน้อยเจ็ดเรื่องในสำนวนร้อยแก้วแบบสมัยใหม่ ครั้งแรกและสมบูรณ์ที่สุดคือเขียนโดย เปรมเสรี
- ในปี พ.ศ. 2515 นิยายที่เขียนดัดแปลงเป็นร้อยแก้วด้วยภาษาสมัยใหม่ที่โด่งดังที่สุดเขียนโดย ป. อินทรปาลิต นักเขียนแนวระทึกขวัญ ขวัญใจมหาชน ปัจจุบันจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แสงดาว
อ้างอิง
[แก้]- ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว : เล่าเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ในแบบที่คุณไม่เคยฟัง!
- “ขุนช้างขุนแผน” จากนิทานพื้นบ้าน สู่วรรณกรรมราชสำนัก การแต่งเติมเรื่องราวฉบับพิสดาร บทความโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
- ↑ จากคำนำของกรมศิลปากรที่สำนักพิมพ์บรรณาคารจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่ายในการพิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2513
- ↑ "ขุนช้างขุนแผน" ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว
- ↑ ภาพยนตร์ ‘ขุนช้างขุนแผน’ ในอดีต กับตอนฆาตกรรมนางบัวคลี่ที่เสนอความรุนแรงในครอบครัว
- ↑ ประวัติ ผลงาน ศิริ ผิวสังข์ - THMDb
- ↑ ขุนแผน (2545)
- ↑ (กระทู้บันทึกประวัติศาสตร์) สำรวจประวัติการสร้าง "ขุนช้างขุนแผน" สร้างมาแล้วกี่เวอร์ชั่น คุณชอบเวอร์ชั่นไหนบ้าง
- ↑ เปิดกรุส่องดารา : 14 นักรัก! "ขุนแผนแสนสะท้าน" (มีคลิป)
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Chris Baker, and Pasuk Phongpaichit,(eds). 2010. ใน The Tale of Khun Chang Khun Phaen: Siam's Great Folk Epic of Love and War. 2 vols, Chiang Mai: Silkworm Books.
- ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. 2513 ใน การประยุกต์ใช้ และการวิจารณ์วรรณกรรมตะวันตกสมัยใหม่กับวรรณคดีไทย). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ขุนวิจิตรมาตรา [นามปากกา กาญจนาคพันธ์] และ เปลื้อง ณ นคร [นามปากกา นายตำรา ณ เมืองใต้] ใน เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน.พ.ศ. 2545
- สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บรรณาธิการ คำให้การชาวกรุงเก่า.พิมพ์ครั้งแรก.โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร.พ.ศ. 2457
- ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.ใน ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่.พ.ศ. 2532
- เปรมเสรี ในขุนช้างขุนแผนสำนวนร้อยแก้ว.พ.ศ. 2507.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2545.ในขุนช้างขุนแผนแสนสนุก: เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครูแจ้ง.กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.
- สุภร บุนนาค. ใน สมบัติกวี:ขุนช้างขุนแผน.กรุงเทพฯ.พ.ศ. 2518
- ป.อินทรปาลิต, สำนักพิมพ์แสงดาว ใน ขุนช้างขุนแผน ฉบับ ป.อินทรปาลิต พิมพ์ครั้งที่:2, ปี พ.ศ. 2562