ข้ามไปเนื้อหา

โจมอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าโจมอ)
โจมอ (เฉา เหมา)
曹髦
ภาพวาดโจมอจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์2 พฤศจิกายน ค.ศ. 254 – 2 มิถุนายน ค.ศ. 260[1]
ก่อนหน้าโจฮอง
ถัดไปโจฮวน
ผู้สำเร็จราชการสุมาสู
สุมาเจียว
เกากุ้ยเซียงกง (高貴鄉公)
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 244 – 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 254
ประสูติ241[a]
สวรรคต2 มิถุนายน พ.ศ. 260[a]
ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
คู่อภิเษกจักพรรดินีเปี้ยน
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ (曹 เฉา)
ชื่อตัว: มอ (髦 เหมา)
ชื่อรอง: เยี่ยนชื่อ (彥士)
รัชศก
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ
พระราชบิดาเฉา หลิน

โจมอ (ค.ศ. 241 - 2 มิถุนายน ค.ศ. 260)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา เหมา (จีน: 曹髦; พินอิน: Cáo Máo; การออกเสียง) ชื่อรอง เยี่ยนชื่อ (จีน: 彥士; พินอิน: Yànshì) เป็นจักพรรดิลำดับที่ 4 ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน โจมอเป็นพระนัดดา (หลานชาย) ของโจผีจักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก โจมอเป็นผู้ทรงเฉลียดฉลาดและขยันเล่าเรียน พระองค์พยายามชิงอำนาจรัฐคืนจากสุมาเจียวซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลายครั้งแต่ล้มเหลว พระองค์ถูกปลงพระชนม์ระหว่างทรงพยายามก่อรัฐประหารต่อสุมาเจียว

ภูมิหลังครอบครัวและการขึ้นครองราชย์

[แก้]

โจมอเป็นพระโอรสของเฉา หลิน (曹霖) อ๋องแห่งตองไฮ (東海王 ตงไห่หวาง) พระโอรสของโจผี ในปี ค.ศ. 244 ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ตามกฎหมายของวุยก๊กแล้วพระโอรสของอ๋อง (นอกเหนือจากพระโอรสองค์โตที่เกิดกับพระชายา ซึ่งตามธรรมเนียมกำหนดให้เป็นทายาทของอ๋อง) จะได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ก๋ง (公 กง) โจมอได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เกากุ้ยเซียงกง" (高貴鄉公)[3] เฉา หลินสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 249 ขณะโจมอมีพระชนมายุ 8 พรรษา พระเชษฐาของโจมอคือเฉา ฉี่ (曹啟) ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์อ๋องแห่งตองไฮสืบจากพระบิดา

ในช่วงเวลานั้นอำนาจรัฐอยู่ใต้การควบคุมของตระกูลสุมาหลังจากที่สุมาอี้ได้ยึดอำนาจจากโจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ. 249[3] หลังสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 ตระกูลสุมาได้รับการนำโดยสุมาสูบุตรชายคนโตของสุมาอี้[3] ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูกล่าวหาเตียวอิบซึ่งพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮอง รวมถึงพรรคพวกของเตียวอิบคือลิฮองและแฮเฮาเหียนในข้อหากบฏ สุมาสูสั่งให้ประหารชีวิตทั้งสามรวมถึงครอบครัว ในปีถัดมาโจฮองทรงพระดำริจะก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจตระกูลสุมา สุมาสูทราบความจึงปลดพระองค์ออกจากการเป็นจักพรรดิ[3]

เวลานั้นเองกวยทายเฮาผู้เป็นพระมารดาเลี้ยงของโจฮองพยายามอีกครั้งที่จะรักษาพระราขอำนาจของราชตระกูลโจโดยนำพระองค์ไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกจักรพรรดิองค์ถัดไป สุมาสูทูลกวยทายเฮาว่าตนต้องการจะตั้งให้โจกี๋ (曹據 เฉา จฺวี้) ผู้เป็นอ๋องแห่งแพเสีย (彭城王 เผิงเฉิงหวาง) และเป็นพระอนุชาของโจผีให้เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ กวยทายเฮาทรงพยายามโน้มน้าวสุมาสูว่าการสืบราชบัลลังก์ดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะโจกี๋เป็นพระปิตุลา (อา) ของโจยอย (จักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก) ผู้เป็นพระสวามีของพระองค์ การสืบราชบัลลังก์เช่นนี้จะทำให้โจยอยไม่มีทายาท สุมาสูจึงจำต้องยอมเห็นด้วยกับข้อเสนอของกวยทายเฮาที่จะให้โจมอเปนจักรพรรดิ (เวลานั้นโจมอแม้ยังทรงพระเยาว์เพียง 13 พรรษา แต่ก็ทรงมีชื่อเสียงในเรื่องสติปัญญา และกวยทายเฮาก็อาจทรงเชื่อว่าโจมอเป็นเจ้าชายเพียงพระองค์เดียวที่มีโอกาสจะโต้กลับตระกูลสุมาได้) เมื่อสุมาสูทูลถามกวยทายเฮาถึงเรื่องพระราชลัญจกร กวยทายเฮาก็ทรงให้เหตุผลและปฏิเสธอย่างสุภาพ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงเคยพบกับโจมอมาก่อนและมีพระประสงค์จะถวายพระราชลัญจกรแก่โจมอด้วยพระองค์เอง เมื่อโจมอเสด็จมานครหลวง พระองค์ปฏิบัติตนตามธรรมเนียมในฐานะก๋งมากกว่าในฐานะจักรพรรดิจนกว่าพระองค์จะขึ้นเสวยราชย์ พระจริยวัตรนี้ทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนและการสรรเสริญว่าเป็นจักรพรรดิหนุ่มผู้ถ่อมตน

รัชสมัย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 255 ขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏต่อตระกูลสุมาในฉิวฉุน แต่ถูกทัพของสุมาสูปราบลงอยู่รวดเร็ว บู๊ขิวเขียมและครอบครัวถูกสังหาร บุนขิมและบุตรชายคือบุนเอ๋งและบุนเฮา (文虎 เหวิน หู่) หนีไปเข้าด้วยง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก สุมาสูเสียชีวิตด้วยอาการป่วยหลังจากกบฏถูกปราบปรามไม่นาน หลังการเสียชีวิตของสุมาสู โจมอซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 14 พรรษาทรงพยายามอีกครั้งที่จะยึดพระราชอำนาจคืนมา พระองค์ออกพระราชโองการให้สุมาเจียวที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของสุมาสูให้ยังคงอยู่ที่ฮูโต๋ โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ในฉิวฉุนยังไม่สงบโดยสมบูรณ์ พระองค์ยังทรงเรียกตัวเปาต้านที่เป็นผู้ช่วยของสุมาสูกลับมายังราชสำนักพร้อมกับกำลังพล อย่างไรก็ตาม สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของเปาต้านและจงโฮย คือเพิกเฉยต่อพระราชโองการและยกทัพกลับมานครหลวงลกเอี๋ยง และยังคงกุมอำนาจในราชสำนักต่อไป

อีกไม่กี่ปีต่อมา โจมอทรงค่อย ๆ รวมกลุ่มผู้คนรอบพระองค์ ได้แก่ สุมาปองลูกพี่ลูกน้องของสุมาเจียว, อองซิม, โปยสิว และจงโฮย ทุกคนเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความสามารถทางวรรณกรรม คนเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนตระกูลสุมา แต่อาจได้ประโยชน์บางอย่างหากแสดงความภักดีต่อโจมอ พระองค์ทรงทำเช่นนี้ด้วยหวังว่าจะลดความระแวงของสุมาเจียวที่มีต่อพระองค์ ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านี้ด้วย พระองค์มักจะทรงจัดงานพบปะกับคนเหล่านี้เพื่อสนทนาในเรื่องวรรณกรรม นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานรถสองล้อเคลื่อนที่เร็วและราชองครักษ์ 5 นายสำหรับคุ้มกันให้กับสุมาปอง เพราะสุมาปองอาศัยอยู่ห่างไกลจากพระราชวังมากกว่าคนอื่น ๆ

ราวปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนผู้ขึ้นเป็นแม่ทัพในฉิวฉุนแทนที่บู๊ขิวเขียม ได้เริ่มก่อกบฏต่อสุมาเจียว โดยได้รับการสนับสนุนจากง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก สุมาเจียวนำทัพไปปราบกบฏด้วยตนเองและล้อมกบฏไว้ได้ในป้อมในช่วงต้นปี ค.ศ. 28 เกิดความขัดแย้งภายในฉิวฉุนขึ้นระหว่างจูกัดเอี๋ยนและบุนขิม (ซึ่งร่วมอยู่ในกองกำลังของง่อก๊กที่ยกมาเพื่อสนับสนุนการก่อกบฏ) ซึ่งจบลงด้วยการเสียชีวิตของบุนขิมด้วยฝีมือของจูกัดเอี๋ยน และการแปรพักตร์ของบุตรชายทั้งสองของบุนขิมไปเข้าด้วยสุมาเจียว ในที่สุดฉิวฉุนก็ถูกทัพสุมาเจียวตีแตกและกบฏถูกปราบปราม ใน ค.ศ. 259 โจมาทรงได้รับรายงานการพบมังกรเหลือง (เป็นนิมิตมงคล) ในสระน้ำสองแห่ง พระองค์ทรงให้ความเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นนิมิตอัปมงคลต่างหาก และทรงพระราชนิพนธ์กวีนิพนธ์ชื่อ เฉียนหลงชือ (濳龍詩; แปลว่า "กวีนิพนธ์เรื่องมังกรซ่อนกาย") ความว่า:

มังกรที่น่าสงสารติดกับดัก
ไม่อาจโผนข้ามเหวลึก
ไม่อาจทะยานสู่ฟ้า
ไม่อาจร่อนลงผืนนา
ม้วนตัวอยู่ก้นบ่อ
ปลาไหลระบำอยู่ต่อหน้า
ซ่อนฟันแฝงกรงเล็บ
ถอนใจว่าข้าก็ทุกข์เช่นกัน
傷哉龍受困,不能越深淵。
上不飛天漢,下不見於田。
蟠居於井底,鰍鱔舞其前。
藏牙伏爪甲,嗟我亦同然!

กวีนิพนธ์นี้ทำให้สุมาเจียวไม่พอใจอย่างมาก และเพ่งเล็งการกระทำหลังจากนั้นของโจมอมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 258 ภายใต้แรงกดดันจากสุมาเจียว โจมอจึงทรงออกพระราชโองการพระราชทานเครื่องยศเก้าประการแก่สุมาเจียว แต่สุมาเจียวปฏิเสธ

ความพยายามก่อการรัฐประหารและการเสียชีวิต

[แก้]

ราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 260[b] โจมอทรงถูกบังคับอีกครั้งให้ออกพระราชโองการแต่งตั้งสุมาเจียวให้เป็นจินก๋ง (晉公 จิ้นกง) พร้อมพระราชทานเครื่องยศเก้าประการ สุมาเจียวปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึง 9 ครั้ง หลังจากโจมอทรงถูกบังคับให้กระทำเช่นเดิมอีกครั้ง สุมาเจียวก็ปฏิเสธอีก ซึ่งทำให้โจมอไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้น โจมอทรงเรียกอองซิม อองเก๋ง และอองเหงียบมาเข้าเฝ้า แล้วทรงประกาศแผนการของพระองค์ที่พยายามเป็นครั้งสุดท้ายในการชิงพระราชอำนาจคืนจากสุมาเจียว ภายหลังอองซิมและอองเหงียบไปเตือนสุมาเจียวในเรื่องนี้ โจมอทรงพระแสงดาบและนำกำลังทหารราชองครักษ์ด้วยพระองค์เองออกจากพระราชวังเข้าโจมตีสุมาเจียว สุมาเตี้ยมน้องชายของสุมาเจียวนำกำลังป้องกันที่ประตูแต่พ่ายแพ้ กาอุ้นนำกำลังป้องกันอีกกองที่หอสังเกตการณ์ด้านใต้และสั่งให้นายทหารเซงเจปลงพระชนม์โจมอ เซงเจใช้ทวนแทงเข้าพระอุระของโจมอจนพระองค์สวรรคต

สุมาเจียวบังคับให้กวยทายเฮาออกพระราชเสาวนีย์กล่าวโทษโจมอว่าวางแผนโจมตีกวยทายเฮา แล้วให้ถอดพระอิสริยยศของโจมอออก เพื่อเสนอไปว่าการโจมตีของโจมอเป็นการมุ่งเป้าไปที่กวยทายเฮามากกว่าจะเป็นตัวสุมาเจียวเอง สุมาหูอาของสุมาเจียวและเสนาบดีคนอื่น ๆ เสนอให้สุมาเจียวคืนสถานะให้โจมอเป็นก๋งและฝังพระศพอย่างสมพระเกียรติเจ้าชาย แต่สุมาเจียวปฏิเสธ โจมอจึงไม่ได้รับการฝังศพอย่างสมเกียรติเจ้าชาย สุมาเจียวยังคงปฏิเสธการรับตำแหน่งจินก๋งและเครื่องยศเก้าประการ

สุมาเจียวกล่าวโทษเซงเจในข้อหาปลงพระชนม์และสั่งประหารทั้งครอบครัว เฉา หฺวาง (曹璜; ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโจฮวน) ผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่และเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดองค์สุดท้ายของวุยก๊กก่อนที่สุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวจะชิงราชบัลลังก์วุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266

ชื่อศักราช

[แก้]

ครอบครัว

[แก้]

พระมเหสี:

เฉา ป้า (曹霸) ศิลปินในยุคราชวงศ์ถัง เป็นผู้สืบเชื้อสายของโจมอ

พงศาวลี

[แก้]
โจโฉ (ค.ศ. 155–220)
โจผี (ค.ศ. 187–226)
เปียนซี (ค.ศ. 161–230)
เฉา หลิน (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 251)
ฉิวชื่อ
โจมอ (ค.ศ. 241–260)

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 บทพระราชประวัติโจมอในสามก๊กจี่บันทึกว่าพระองค์สวรรคตในวันจี๋โฉฺ่ว (己丑) ของเดือน 5 ศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 5 ในรัชสมัยของพระองค์ ขณะพระชนมายุ 20 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[2] วันสวรรคตเทียบได้กับวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 260 ในปฏิทินเกรโกเรียน เมื่อคำนวณแล้ววันที่ที่พระองค์ประสูติอยู่ในปี ค.ศ. 241 เพราะพระองค์สวรรคตขณะพระชนมายุ 19 พรรษาในปี ค.ศ. 260
  2. เดือน 4 ศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 5 ตามที่ระบุในพระราชประวัติโจมอในสามก๊กจี่ เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 เมษายนถึง 26 พฤษภาคม ค.ศ. 260 ในปฏิทินจูเลียน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Vervoorn 1990, p. 316.
  2. ([甘露五年]五月己丑,高貴鄉公卒,年二十。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Chen, Shou (1999). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States With Pei Songzhi's Commentary. University of Hawaii Press. p. 197. ISBN 0824819454.

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า โจมอ ถัดไป
โจฮอง จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 254-260)
โจฮวน