ข้ามไปเนื้อหา

ซุนกวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าซุนกวน)
ซุนกวน (ซุน เฉฺวียน)
孫權
จักรพรรดิอู๋ต้าตี้
吳大帝
ภาพวาดซุนกวนสมัยราชวงศ์ถังโดยเหยียน ลี่เปิ่น
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก
ครองราชย์23 พฤษภาคม ค.ศ. 229 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252
ถัดไปซุนเหลียง
เงาอ๋อง[1] / อ๋องแห่งง่อ (吳王 อู๋หวาง)
(ในฐานะผู้ปกครองอิสระ)
ครองราชย์พฤศจิกายน ค.ศ. 222 – 23 พฤษภาคม ค.ศ. 229
เงาอ๋อง / อ๋องแห่งง่อ (吳王 อู๋หวาง)
(ในฐานะรัฐบริวารของวุยก๊ก)
ดำรงตำแหน่ง23 กันยายน ค.ศ. 221 – พฤศจิกายน ค.ศ. 222
หลำเซียงเหา[2] (南昌侯 หนานชางโหว)
(ภายใต้จักรวรรดิฮั่น)
ดำรงตำแหน่งธันวาคม ค.ศ. 219 – 23 กันยายน ค.ศ. 221
ประสูติค.ศ. 183 [a]
จักรวรรดิฮั่น
สวรรคต21 พฤษภาคม ค.ศ. 252(252-05-21) (68–69 ปี)[a]
เกียนเงียบ ง่อก๊ก
ฝังพระศพเขาจื่อจิน
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
(กับคนอื่น ๆ)
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫 ซุน)
ชื่อตัว: กวน (權 เฉฺวียน)
ชื่อรอง จ้งโหมว (仲謀)
รัชศก
พระสมัญญานาม
ไต้ฮ่องเต้[4] (大皇帝 ต้าหฺวางตี้)
วัดประจำรัชกาล
ไท่จู่ (太祖)
ราชวงศ์ง่อก๊ก
พระราชบิดาซุนเกี๋ยน
พระราชมารดางอฮูหยิน
ซุนกวน
ชื่อของซุนกวนในอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม孫權
อักษรจีนตัวย่อ孙权

ซุนกวน ( ค.ศ. 183 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252)[a][5] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เฉฺวียน (จีนตัวย่อ: 孙权; จีนตัวเต็ม: 孫權; พินอิน: Sūn Quán) ชื่อรอง จ้งโหมว (仲謀) หรือรู้จักกันในสมัญญานามว่า จักรพรรดิอู๋ต้าตี้ (吳大帝) เป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กซึ่งเป็นหนึ่งรัฐในยุคสามก๊กของจีน ซุนกวนสืบทอดระบอบการปกครองที่ถูกก่อตั้งโดยซุนเซ็กพี่ชายในปี ค.ศ. 200 ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการและปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 222 ถึง ค.ศ. 229 ในฐานะเงาอ๋อง (อ๋องแห่งง่อ) และ ค.ศ. 229 ถึง ค.ศ. 252 ในฐานะจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก แตกต่างจากคู่แข่งอย่างโจโฉและเล่าปี่ ซุนกวนมีอายุที่น้อยกว่าพวกเขามากและปกครองรัฐของตนเองโดยแบ่งแยกการเมืองและอุดมการณ์ส่วนใหญ่ บางครั้งซุนกวนถูกมองว่าวางตัวเป็นกลางเมื่อพิจารณาว่าใช้นโยบายระหว่างต่างประเทศที่ยืดหยุ่นระหว่างคู่แข่งสองฝ่ายโดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดสำหรับรัฐ

ซุนกวนเกิดในขณะที่ซุนเกี๋ยนผู้บิดาทำงานเป็นปลัดเมืองแห้ฝือ ภายหลังจากที่ซุนเกี๋ยนเสียชีวิตในช่วงต้นทศวรรษที่ 190 ซุนกวนและครอบครัวอาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซี จนกระทั่งซุนเซ็กผู้เป็นพี่ชายแยกตัวออกจากอ้วนสุด จัดตั้งระบอบขุนศึกขึ้นในภูมิภาคกังตั๋งในปี ค.ศ. 194 โดยการสนับสนุนจากผู้ติดตามและกลุ่มตระกูลในท้องถิ่นผู้จงรักภักดีจำนวนหนึ่ง เมื่อซุนเซ็กถูกลอบสังหารโดยผู้ติดตามของเค้าก๋อง (許貢) ในปี ค.ศ. 200 ซุนกวนขณะอายุ 18 ปีได้รับมรดกที่ดินทางตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำแยงซีจากพี่ชาย การปกครองของซุนกวนค่อนข้างมั่นคงในช่วงปีแรก ๆ โดยขุนนางอาวุโสส่วนใหญ่ของซุนเกี๋ยนและซุนเซ็ก เช่น จิวยี่ เตียวเจียว เตียวเหียน และเทียเภาสนับสนุนการสืบทอดตำแหน่ง ดังนั้นตลอดช่วงทศวรรษที่ 200 ซุนกวนภายใต้การดูแลของที่ปรึกษาที่มีความสามารถของพระองค์ยังคงสร้างความแข็งแกร่งไปตามแม่น้ำแยงซี ในต้นปี ค.ศ. 207 ในที่สุดกองกำลังของพระองค์ก็ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์เหนือหองจอ เจ้าเมืองกังแฮผู้นำทางทหารภายใต้เล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว ซึ่งครองอำนาจทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซี หองจอถูกสังหารในสนามรบ

ในช่วงฤดูหนาวของปีนั้น โจโฉนำกองทัพประมาณ 220,000 นายมุ่งหน้าลงใต้เพื่อรวมชาติให้สำเร็จ สองกลุ่มที่แตกต่างกันได้ปรากฏตัวขึ้นที่ราชสำนักของพระองค์เพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร ฝ่ายหนึ่งนำโดยเตียวเจียว เรียกร้องให้ยอมจำนน ในขณะที่อีกฝ่ายนำโดยจิวยี่และโลซกคัดค้านการยอมจำนน ในที่สุด ซุนกวนก็ตัดสินใจต่อต้านโจโฉในตอนกลางของแม่น้ำแยงซีด้วยกองกำลังทางแม่น้ำที่เหนือกว่า เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ และใช้กลยุทธ์ร่วมกันของจิวยี่และอุยกายพวกเขาเอาชนะโจโฉอย่างเด็ดขาดในยุทธนาวีที่ผาแดง

ในปี ค.ศ. 220 หลังจากการเสียชีวิตของโจโฉ โจผีบุตรชายและผู้สืบทอดของโจโฉได้ยึดราชบัลลังก์และปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้ ประกาศตนเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ สิ้นสุดการปกครองในนามของราชวงศ์ฮั่น ในตอนแรก ซุนกวนดำรงตำแหน่งขุนนางของวุยก๊กด้วยตำแหน่งเงาอ๋องที่มอบให้โดยวุยก๊ก แต่หลังจากที่โจผีเรียกร้องให้ส่งซุนเต๋งบุตรชายไปเป็นตัวประกันที่เมืองหลวงของวุยก๊กคือลกเอี๋ยง แต่ซุนกวนปฏิเสธ ในปี ค.ศ. 222 ซุนกวนประกาศเอกราชโดยเปลี่ยนชื่อศักราช แต่ยังไม่ประกาศตนเป็นจักรพรรดิ จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 229 จึงสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋ง องค์รัชทายาทองค์แรก สองฝ่ายคู่ขัดแย้งที่สนับสนุนทายาทที่มีศักยภาพต่างกันก็ค่อย ๆ ปรากฏตัวขึ้น เมื่อซุนโฮ ซึ่งสืบทอดตำแหน่งในฐานะองค์รัชทายาทองค์ใหม่ พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากลกซุนและจูกัดเก๊ก ในขณะที่คู่แข่งของพระองค์อย่างซุน ป้า (孫霸) ได้รับการสนับสนุนจากจวนจ๋องและเปาจิด และตระกูลของพวกเขา จากการแย่งชิงอำนาจภายในที่ยืดเยื้อ ข้าราชการจำนวนมากถูกประหารชีวิต และซุนกวนได้ตัดสินพระทัยเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายอย่างรุนแรงด้วยการปลดซุนโฮออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาทและเนรเทศ และบีบบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม ซุนกวนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 795 เมื่อมีพระชนมพรรษา 70 พรรษา(ตามการคำนวณของเอเชียตะวันออก) พระองค์ทรงครองราชย์ได้ยาวนานที่สุดในบรรดาผู้ก่อตั้งสามก๊ก และซุนเหลียง พระราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์

จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ได้กล่าวถึงซุนกวนว่า เป็นบุรษร่างสูงที่มีตาประกายเจิดจ้า และใบหน้ารูปคางเหลี่ยม ป็นที่รู้จักกันในฐานะคนฉลาดและเข้ากับคนง่าย ชื่นชอบเล่นมุกตลกและเล่นกล เนื่องจากทักษะของเขาในการประเมินความแข็งแกร่งของผู้ใต้บังคับบัญชาและหลีกเลี่ยงข้อบกพร่อง เช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อพวกเขาประดุจดังครอบครัว ซุนกวนจึงสามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลที่มีความสามารถได้ จุดแข็งเบื้องต้นนี้ได้ให้ประโยชน์เป็นอย่างดีในการได้รับสนับสนุนจากบุคคลทั่วไปและล้อมรอบตัวพระองค์เต็มไปด้วยขุนพลที่มีความสามารถ

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

จดหมายเหตุสามก๊กกล่าวว่าซุนเกี๋ยนเป็นลูกหลานของซุนวู (เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ซุนจื่อ) นักการทหารในช่วงยุควสันตสารทและผู้เขียนตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (ซุนจื่อปิงฝ่า - 孙子兵法) ซุนกวนเกิดใน พ.ศ. 725 ในขณะที่ซุนเกี๋ยน บิดาของเขายังเป็นข้าราชการระดับล่างของราชวงศ์ฮั่น เขาเป็นบุตรชายคนที่สองของซุนเกี๋ยนกับงอฮูหยิน ซุนกวนมีพี่น้องสามคนคือ ซุนเซ็ก ซุนเซียง และซุนของ และน้องสาวคนสุดท้อง(ตัวตนของนางไม่ได้ถูกบันทึก)

ใน พ.ศ. 727 สองปีหลังจากซุนกวนเกิด เกิดเหตุการณ์กบฎโพกผ้าเหลืองที่นำโดยจางเจวี๋ยซึ่งลุกลามไปทั่วทั้งแผ่นดิน ซุนเกี๋ยนได้เข้าร่วมกับขุนพลนามว่า จูฮี เพื่อปราบกบฎและพาครอบครัวของเขาให้อยู่ในเมืองซิ่วซุน เมื่อซุนเซ็ก พี่ชายของซุนกวนได้พบกับจิวยี่ ใน พ.ศ. 732 ซุนเซ็กได้ตัดสินใจพางอฮูหยิน ผู้เป็นมารดาและเหล่าน้องชายไปยังอำเภอฉู่ บ้านเกิดของจิวยี่ ที่นั่น ครอบครัวตระกูลซุนจึงมีความคุ้นเคยกับจิวยี่

ภายหลังซุนเกี๋ยนเสียชีวิตใน พ.ศ. 734 ครอบครัวตระกูลซุนได้ย้ายไปยังเจียงตูอีกครั้งเพื่อไว้ทุกข์ให้กับเขา สองปีต่อมา ซุนเซ็กได้ตัดสินใจเข้าร่วมกองทัพของอ้วนสุด ดังนั้นเขาจึงสั่งให้ลิห้อมพาสมาชิกในครอบครัวของเขาไปที่บ้านของงอเก๋ง ผู้เป็นน้าญาติฝ่ายมารดาในตันหยาง อย่างไรก็ตาม เล่าอิ้ว ผู้ว่าราชการมณฑลแห่งหยางโจวรู้สึกโกรธเคือง เมื่อซุนเซ็กและอ้วนสุดสามารถเอาชนะลิกอง ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งลูเจียง ใน พ.ศ. 737 เขารู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะโจมตีตนมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงขับไล่งอเก๋งออกจากเมืองตันหยาง เนื่องจากซุนกวนและมารดาของเขายังอยู่ในดินแดนของเล่าอิ้ว จูตีจึงส่งคนไปช่วยเหลือพวกเขา ซุนกวนและมารดาของเขาได้ย้ายไปยังฟู่หลิงในภายหลัง

เมื่อซุนเซ็กสามารถเอาชนะเล่าอิ้ว ใน พ.ศ. 738 เขาจึงสั่งให้ Chen Bao ไปพาครอบครัวกลับมาที่ตันหยาง เมื่อซุนกวนเติบโต เขาได้รับใช้พี่ชายของเขาในช่วงการพิชิตดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เขาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอหยางเซียนใน พ.ศ. 739 เมื่อมีพระชนม์พรรษาได้ 14 พรรษา และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพี่ชายของเขาได้มอบหมายงานที่สำคัญมากขึ้น ๆ เนื่องจากเขาได้หลงใหลในการรวบรวมผู้ติดตามอย่างพัวเจี้ยงและจิวท่าย ชื่อเสียงของเขาเกือบจะเทียบเท่ากับบิดาและพี่ชายของพระเขาในไม่ช้า จูเหียนและหูซง เป็นบุรุษที่เขาได้พบกันในสมัยเรียนหนังสือด้วยกัน ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีของอู๋ตะวันออก เขาเป็นที่โปรดปรานของซุนเซ็ก พี่ชายของตนผู้ซึ่งกล่าวว่าเขาจะส่งมอบคนของเขาให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของซุนกวนในอนาคต ใน พ.ศ. 742 ซุนกวนได้รับเลื่อนยศเป็นนายทหารระดับพันเอก(校尉) และติดตามพี่ชายในการพิชิตลู่เจียงและหยูจาง ในขณะที่โจโฉพยายามที่จะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับซุนเซ็ก ทั้งซุนกวนและซุนเซียง น้องชายคนเล็กของเขาได้รับเชิญให้มาเป็นข้าราชการในซูชาง แต่พวกเขากลับปฏิเสธ

สืบทอดตำแหน่งต่อจากซุนเซ็ก

[แก้]

ซุนเซ็กถูกลอบสังหารใน พ.ศ. 743 ระหว่างการล่าสัตว์ ในขณะที่ใกล้จะสิ้นใจ เขาตระหนักดีว่าบุตรชายของตนเองยังเด็กเกินไปที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นทายาทที่แท้จริง ดังนั้นเขาจึงมอบความไว้วางใจแก่ซุนกวนในวัย 18 ปีกับลูกน้องที่ซื่อสัตย์ของเขาในช่วงแรก ซุนกวนรู้สึกโศกเศร้าอาลัยถึงการตายของพี่ชายจนไม่สามารถหยุดร้องไห้ไว้ได้ แต่ด้วยคำสั่งของเตียวเจียว เขาจึงสวมชุดเกราะทหารและออกเดินตรวจเยี่ยมเหล่าผู้บัญชาการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพี่ชาย ผู้ใต้บังคับบัญชาของซุนเซ็กหลายคนต่างคิดว่า ซุนกวนดูยังเด็กเกินไปที่จะรักษาดินแดนแคว้นของซุนเซ็กไว้ได้และต้องการจะตีจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Li Shu ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งลู่เจียง ได้แปรพักตร์ให้กับโจโฉ ซุนกวนได้เขียนสารไปถึงโจโฉเพื่อแจ้งการก่ออาชญากรรมของ Li Shu จากนั้นนำกองทัพไปปราบ Li Shu และยึดลู่เจียงคืน

เตียวเจียวและจิวยี่ได้มองเห็นคุณสมบัติในตัวชายหนุ่มและเลือกที่จะอยู่รับใช้ซุนกวน เตียวเหียนซึ่งก่อนหน้านี้ ซุนเซ็กได้ส่งไปเป็นผู้คอยประสานงานกับขุนศึกโจโฉ ยังเดินทางกลับมาจากดินแดนแคว้นของโจเพื่อช่วยเหลือแก่ซุนกวน ตามคำร้องของเตียวเหียน โจโฉในนามของพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่งถูกควบคุมโดยโจโฉในเวลานั้น ได้แต่งตั้งให้ซุนกวนเป็นขุนพลโจมตีชนเผ่า(討虜將軍) ซึ่งเป็นชื่อที่เขาคงจะรู้จักมาเนิ่นนาน เขาตั้งใจฟังคำพูดให้กำลังใจของงอฮูหยิน ผู้เป็นมารดา และไว้วางใจแก่เตียวเจียวและเตียวเหียนอย่างมากในด้านกิจการภายใน และจิวยี่ เทียเภา และลิห้อมในด้านการทหาร ซุนกวนยังค้นหาบุรุษที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของเขา และในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ผูกมิตรกับโลซกและจูกัดกิ๋น ซึ่งต่อมาจะมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารของเขา นอกจากนี้ทั้งลกซุน เปาจิด โกะหยง Shi Yi เหยียมจุ้น ชีเซ่ง และจูหวนก็กลายเป็นลูกน้องของเขาเช่นกัน ตลอดช่วงเวลานี้และอีกหลายทศวรรษที่จะมาถึง ความเป็นผู้นำของซุนกวนจะมีลักษณะพิเศษคือความสามารถในการค้นหาบุคคลที่มีลักษณะนิสัยและมอบไว้วางใจในเรื่องที่สำคัญให้กับเขา และความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว

ในอีกหลายปีข้างหน้า ซุนกวนมีความสนใจอย่างมากที่จะขยายอำนาจต่อต้านชนเผ่าซานเยว่ ซึ่วเป็นชาวเขาที่ควบคุมทางตอนใต้สุดของจีน และอยู่นอกขอบเขตของรัฐบาลฮั่น เพื่อรับประกันดินแดนแคว้นของเขา วุนกวนได้เปิดฉากการทัพต่อต้านชนเผ่าซานเยว่ ใน พ.ศ. 749 เขาสามารถพิชิตป้อมปราการของชนเผ่าซานเยว่ใน Matun และ Baodun และจับกุมเชลยศึกได้มากกว่า 10,000 นาย นอกจากนี้เขาได้ค่อย ๆ พยายามคอยรังควานและทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่สำคัญของเล่าเปียวนามว่า หองจอ (ผู้ควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของดินแดนแคว้นของเล่าเปียว) อ่อนแอลง - โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากหองจอได้สังหารบิดาในการรบ เขาทำสงครามกับหองจอถึงสองครั้งใน พ.ศ. 746 และ พ.ศ. 750 ใน พ.ศ. 751 ในที่สุด เขาก็สามารถเอาชนะและสังหารหองจอในการสู้รบได้ และเป็นผลให้เขาได้รับดินแดนส่วนใหญ่ของกังแฮ ภายหลังจากนั้นไม่นาน เล่าเปียวได้ถึงแก่อสัญกรรม ในขณะที่โจโฉกำลังเตรียมการทัพครั้งใหญ่เพื่อปราบปรามทั้งเล่าเปียวและซุนกวนภายใต้การควบคุมของเขา ทำให้เกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

[แก้]
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นถึงรถม้าศึกและทหารม้าจากสุสานต้าหูถิง(打虎亭漢墓) ของช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220), ตั้งอยู่ในเจิ้งโจว, มณฑลเหอหนาน

ในช่วงปลาย พ.ศ. 751 ภายหลังจากเล่าเปียวถึงแก่อสัญกรรม เกิดศึกแย่งชิงตำแหน่งผู้ครองแคว้นเกงจิ๋วระหว่างเล่ากี๋ บุตรชายที่เกิดจากภรรยาคนแรกกับเล่าจ๋อง บุตรชายคนเล็กที่เกิดจากภรรยาคนที่สองนามว่า ซัวฮูหยิน ที่เล่าเปียวโปรดปราน ภายหลังการเสียชีวิตของหองจอ เล่ากี๋จึงได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกังแฮแทนหองจอ เล่ากี๋จึงสืบทอดตำแหน่งผู้ครองแคว้นเกงจิ๋วต่อจากบิดาหลังถึงแก่อสัญกรรมด้วยการสนับสนุนของซัวฮูหยินผู้เป็นมารดาและซัวมอ ผู้เป็นน้องชายของซัวฮูหยินและลุงของเล่าจ๋อง เมื่อเล๋ากี๋ทราบเข้าก็ไม่พอใจและคิดที่จะเข้าโจมตีน้องชายของตนเพื่อแย่งชิงตำแหน่ง แต่ก็ต้องล้มเลิกไป อย่างไรก็ตาม เล่าจ๋องเกรงกลัวที่จะต้องต่อสู้รบกับทั้งโจโฉและพี่ชายของตนในศึกสองด้าน จึงตัดสินใจยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉโดยไม่ฟังคำแนะนำของเล่าปี่ พันธมิตรคนสำคัญของเล่าเปียว เล่าปี่ไม่เต็มใจที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉจึงหนีไปทางใต้ โจโฉไล่ติดตามและบดขยี้กองกำลังของเล่าปี่ แต่เล่าปี่รอดชีวิตมาได้ เขาหนีไปยังตันหยาง โจโฉเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกงจิ๋ว และดูเหมือนใกล้จะรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

ซุนกวนรับรู้ถึงความตั้งใจของโจโฉเป็น เขาจึงจับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่และเล๋ากี๋เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต้านทานโจมตีของโจโฉ โจโฉได้เขียนสารถึงซุนกวนโดยตั้งใจที่จะข่มขู่ และเผชิญหน้ากองกำลังอันมหาศาลของโจโฉ (ประเมินว่ามีกำลังพลโดยประมาณ 220,000 นาย แม้ว่าโจโฉได้กล่าวอ้างว่ามีประมาณ 800,000 นาย ปะทะกับกองทัพของซุนกวน 30,000 นาย และกองทัพเล่าปี่จำนวน 10,000 นายที่ผสมรวมกัน) เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนของซุนกวน รวมทั้งเตียวเจียวได้สนับสนุนให้ยอมสวามิภักดิ์ ซุนกวนได้ปฏิเสธภายใต้คำแนะนำของจิวยี่และโลซกว่าโจโฉจะไม่ยินยอมให้เขายอมสวามิภักดิ์อย่างแน่นอน

ซุนกวนได้มอบหมายให้จิวยี่คุมกองกำลังทหารจำนวน 30,000 นาย ซึ่งส่วนใหญ่ประจำการอยู่บนเรือรบ และจิวยี่ได้เข้าประจำตำแหน่งป้องกันร่วมกับเล่าปี่ซึ่งกองทัพของเขาตั้งมั่นอยู่บนบก ในช่วงเวลานี้ เกิดโดรคระบาดในกองทัพโจโฉซึ่งทำให้อ่อนแอลงอย่างมาก จิวยี่ได้วางแผนกลอุบายโดยเสแสร้งลงโทษอุยกาย ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา และอุยกายแสร้งทำเป็นว่าจะยอมสวามิภักดิ์จนโจโฉหลงเชื่อสนิท จากนั้นจิวยี่ได้ส่งเรือบรรทุกกองฟางซึ่งเป็นเชื้อเพลิงภายใต้คำสั่งของอุยกายให้แล่นเรือไปยังกองเรือของโจโฉโดยแสร้งว่า อุยกายจะส่งมอบเสบียงอาหารให้แก่โจโฉเพื่อเป็นการแสดงถึงการยอมสวามิภักดิ์ เมื่อเรือบรรทุกกองฟางของอุยกายเข้าใกล้กองเรือของโจโฉ พวกเขาจุดไฟเผาและแล่นเรือพุ่งชนกองเรือของโจโฉจนไฟลุกลามไปทั่ว ทำให้กองเรือของโจโฉถูกทำลายอย่างย่อยยับ โจโฉต้องนำกองกำลังส่วนหนึ่งหนีไปทางบก แต่กองกำลังส่วนใหญ่ถูกทำลายโดยกองกำลังทางบกของซุนกวนและเล่าปี่

การเป็นพันธมิตรอันขมขื่นกับเล่าปี่

[แก้]
รูปปั้นซุนกวน

ทันทีที่โจโฉล่าถอยกลับไปแล้ว ซุนกวนก็เข้ายึดพื้นที่ตอนเหนือครึ่งหนึ่งของแคว้นเกงจิ๋ว ส่วนเล่าปี่เดินทางลงใต้และเข้ายึดพื้นที่ทางตอนใต้ครึ่งหนึ่ง พันธมิตรระหว่างซุน-เล่าได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นโดยการวิวาห์สมรสระหว่างเล่าปี่กับซุนฮูหยิน ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของซุนกวน อย่างไรก็ตาม จิวยี่เคลือบแคลงสงสัยในความตั้งใจของเล่าปี่และแนะนำให้ซุนกวนจับเล่าปี่และกักบริเวณภายในตำหนัก (แม้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี) และกองกำลังของเขาจะถูกรวมเข้ากับกองทัพของซุนกวน ซุนกวนเชื่อว่า กองกำลังของเล่าปี่จะก่อการกบฎ หากเขาทำเช่นนั้นจึงปฏิเสธ ซุนกวนเห็นด้วยกับแผนการของจิวยี่ ที่จะเข้าโจมตีเล่าเจี้ยงและเตียวฬ่อ (ที่ควบคุมพื้นที่มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อหมายจะพยายามยึดครองดินแดนของพวกเขา แต่ภายหลังจากจิวยี่ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 753 แผนการดังกล่าวได้ถูกยกเลิก อย่างไรก็ตาม ซุนกวนสามารถเกลี้ยมกล่อมขุนศึกในแคว้นเกียวจิ๋วยอมสวามิภักดิ์ต่อเขาได้ และพวกเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแคว้นของเขา จากนั้นเขาได้มอบพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือของเกงจิ๋วให้กับเล่าปี่เช่นกัน โดยเห็นพ้องกับเล่าปี่ว่า ทางใต้คงจะไม่เพียงพอที่จะจัดหากองกำลังทหารของเขาได้ ในเวลาเดียวกัน ซุนกวนได้แต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชานามว่า เปาจิด เป็นผู้ตรวจการ(刺史)แห่งเกียวจิ๋วแทนล่ายกง ซื่อเซี่ยได้นำผู้ติดตามของตนเข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจปกครองของเปาจิด

ใน พ.ศ. 754 ซุนกวนได้ย้ายกองบัญชาการจาก Dantu ไปยังเมืองโม่หลิง และในปีถัดมา เขาได้สร้างกำแพงขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนชื่อเมืองว่า เกี๋ยนเงียบ(เจี้ยนเยี่ย) พื้นที่แห่งใหม่นี้ทำให้เขาสามารถควบคุมแม่น้ำแยงซีได้ดีและสื่อสารกับผู้บัญชาการทหารคนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น เขายังสร้างป้อมปราการที่ปากน้ำยี่สู(Ruxu) เนื่องจากลิบองคาดการณ์ว่าโจโฉจะเข้ารุกรานจากที่นั่น

การรุกรานที่ลิบองคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น เมื่อต้นปี พ.ศ. 756 ซุนกวนนำกองทัพไปที่นั่นเป็นการส่วนตัวเพื่อต้านทางโจโฉ และอาศัยป้อมปราการอันแข็งแกร่งที่ลิบองสร้างขึ้นเพื่อให้ทหารของเขามีตำแหน่งในการป้องกันที่แข็งแกร่ง มีอยู่ช่วงหนึ่ง โจโฉพยายามส่งกองทัพเรือข้ามแม่น้ำเพื่อทำลายแนวรบของซุนกวน แต่กองเรือของซุนกวนเองได้ทำการล้อมและทำลายพวกเขา ซุนกวนขึ้นเรือใหญ่แล่นเรือเข้าใกล้ค่ายทหารของโจโฉที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำแยงซีเพื่อสังเกตการณ์ของศัตรู โจโฉรู้สึกประทับใจในระเบียบวินัยของทหารฝ่ายตรงข้ามอย่างมาก จึงกล่าวว่า มีบุตรชาย ต้องให้ได้อย่างซุนกวนและไม่ได้เปิดฉากการโจมตีในครั้งนี้ ซุนกวนได้สั่งให้มีการเล่นดนตรีบนเรือและแล่นเรือกลับไปยังค่ายของตนอย่างปลอดภัย ในที่สุด การปกป้องของลิบองยังคงยืนหยัดและซุนกวนเขียนสารไปถึงโจโฉเพื่อเตือนว่า น้ำหลากในช่วงฝนตกในฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โจโฉจำเป็นต้องรับฟังคำแนะนำและล่าถอยกลับไป

ภายหลังจากโจโฉพ่ายแพ้ที่ปากน้ำยี่สู ราษฏรจำนวนมากตามแม่น้ำแยงซีได้หนีลงใต้เพื่อเข้าร่วมกับซุนกวน ยกเว้นอำเภอฮวนเสียและพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่นี้จึงถูกทิ้งร้าง ใน พ.ศ. 757 โจโฉได้ส่งบุคคลหนึ่งนามว่า จูกวง(จูก๋ง) ด้วยคำสั่งให้ฟื้นฟูภูมิภาคและให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของโจโฉ จูกวงริเริ่มโครงการเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง และเขายังปลุกระดมกลุ่มโจรและประชาชนที่ไม่พอใจให้ก่อการกำเริบในดินแดนซุนกวน ลิบองเกรงกลัวว่าหากโครงการของจูกวงประสบความสำเร็จ จะทำให้ข้าศึกทวีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ยากเกินกว่าจะต้านทาน และเร่งเร้าให้โจมตีผลักดันออกไปโดยเร็ว ซุนกวนจึงทำตามแผนการของลิบองและใช้น้ำท่วมตามฤดูกาลเพื่อเดินทางเข้าเมืองด้วยทางเรือ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว แทนที่จะทำการปิดล้อมเป็นเวลายาวนาน ลิบอง กำเหลง และเล่งทองนำเข้าโจมตีอย่างรวดเร็วและบุกทะลวงแนวป้องกันของจูกวงและยึดเมืองไว้ได้

ภายหลังเล่าปี่พิชิตแคว้นเอ๊กจิ๋ว เขาสามารถจัดหากองกำลังของเขาด้วยตัวเองได้ ดังนั้นซุนกวนจึงส่งโลกซกเป็นทูตเพื่อทวงคืนเกงจิ๋ว แต่เล่าปี่ได้ปฏิเสธ ซุนกวนจึงส่งลิบองและเล่งทองนำกองกำลัง 20,000 นาย เข้าโจมตีเกงจิ๋วทางตอนใต้ และพวกเขาเข้ายึดสามเมือง ได้แก่ เตียงสา(Changsha) กุยเอี๋ยง(Guiyang) และเลงเหลง(Lingling) ได้สำเร็จ ในขณะที่โลซกและกำเหลงได้เข้ารุกสู่อี้หยาง (益陽) ด้วยกองกำลัง 10,000 นาย (เพื่อสกัดกั้นกวนอู) และเข้าควบคุมกองทัพที่ด่านลกเค้า(陸口) เล่าปี่ได้ไปที่อำเภอกังอั๋น และกวนอูนำกองกำลัง 30,000 นาย ไปยังอี้หยาง เมื่อสงครามทั้งหมดใกล้จะปะทุ เล่าปี่ได้รับรู้ข่าวว่าโจโฉวางแผนที่จะเข้าโจมตีฮั่นตงและเรียกร้องทำสนธิสัญญาชายแดนกับซุนกวน ในขณะที่เขามีความกังวลว่าโจโฉจะเข้ายึดฮั่นตงได้ เล่าปี่ขอให้ซุนกวนคืนเมืองเลงเหลงมาให้กับตนและให้นำกองทัพเข้าโจมตีหับป๋า(เหอเฝย์) เพื่อทำให้โจโฉไขว้เขว เล่าปี่ได้ทำการยกเมืองเตียงสาและกุยเอี๋ยงให้กับซุนกวน โดยตั้งเขตชายแดนใหม่ตามแนวแม่น้ำเซียง การโจมตีหับป๋าของซุนกวนกลายเป็นหายนะ เขาเกือบที่จะถูกจับกุมในคราวเดียว ถ้าไม่ได้เล่งทองช่วยชีวิตเอาไว้

ใน พ.ศ. 760 โจโฉนำกองทัพใหญ่เข้าโจมตีที่ปากแม่น้ำยี่สูอีกครั้ง ซุนกวนนำกองกำลัง 70,000 นายเพื่อป้องกันเมืองด้วยตนเอง แม้ว่าเขาจะมอบอำนาจสั่งการบัญชาการรบที่แท้จริงให้กับลิบองก็ตาม เป็นการทัพที่ดุเดือด และภายหลังหลายสัปดาห์ของการสู้รบอันทรหด การป้องกันของลิบองยังคงยืนหยัด และน้ำหลากในฤดูใบไม้ผลิทำให้โจโฉต้องล่าถอยกลับอีกครั้ง

ถึงกระนั้น นี่ไม่ใช่ชัยชนะที่สมบูรณ์ กองทัพส่วนใหญ่ของโจโฉยังคงอยู่ และเขามีกองกำลังขนาดใหญ่ภายใต้การนำของแฮหัวตุ้น ตั้งอยู่ทางเหนือของตำแหน่งของซุนกวน สิ่งนี้ส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่เข้าจนมุม ซึ่งตราบใดที่ซุนกวนยังให้กองทัพรักษาการณ์ที่ปากแม่น้ำยี่สู แฮหัวตุ้นก็ไม่สามารถบุกทะลวงเข้ามาได้ แต่เมื่อไหร่ที่ซุนกวนดึงกำลังทหารออกจากปากแม่น้ำยี่สู แฮหัวตุ้นก็จะสามารถบุกทะลวงเข้ามาได้เมื่อนั้น นอกจากนี้กองกำลังของแฮหัวตุ้นมีขนาดใหญ่มากมายและมีฐานที่มั่นที่ดีเกินไปเกินกว่าจะขับไล่ออกไปได้ ซุนกวนจึงไม่มีทางเลือกสำหรับทางทหาร ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจโดยใช้วิธีทางการทูต ใน พ.ศ. 760 ซุนกวนได้จับมือเป็นพันธมิตรกับโจโฉ โดยยอมรับว่าเขาเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของรัฐบาลส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่น แม้ว่านี่จะเป็นการยอมสวามิภักดิ์อย่างเป็นทางการ แต่โจโฉรู้ดีว่า ซุนกวนคงจะไม่พอใจที่จะต้องถูกปฏิบัติเยี่ยงลูกน้อง ดังนั้นเขาได้รับรองตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหมดที่ซุนกวนอ้างสิทธิในตนเองและควบคุมดินแดนที่เขาถือครองอย่างเป็นทางการ ซุนกวนได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเองต่อไป แต่ปัจจุบันยังคงเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของโจโฉอย่างเป็นทางการ

การแตกหักของการเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่

[แก้]

ใน พ.ศ. 762 กวนอูเข้ารุกขึ้นเหนือ โจมตีเมืองอ้วนเสีย(ฝานเฉิง) สามารถเอาชนะต่อโจหยินมาได้ ใขณะที่เมืองอ้วนเสียยังไม่ถูกตีแตกในเวลานี้ กวนอูได้ทำการปิดล้อมและสถานการณ์กลับดูเลวร้ายมากพอที่โจโฉคิดที่จะย้ายเมืองหลวงออกจากนครฮูโต๋ อย่างไรก็ตาม ซุนกวนซึ่งไม่พอใจต่อกวนอูที่คอยตั้งตนเป็นศัตรูกับตนอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้(รวมทั้งยังยึดเสบียงอาหารของซุนกวนเพื่อใช้ในการทัพขึ้นเหนือ) จึงใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีตลบหลังกวนอู และกองกำลังของกวนอูถูกทำลายจนย่อยยับ กวนอูถูกจับกุมโดยลิบองและเจียวขิม กวนอูถูกประหารชีวิต แคว้นเกงจิ๋วอยู่ภายใต้การควบคุมของซุนกวน และการเป็นพันธมิตรระหว่างเล่า-ซุนได้สิ้นสุดลง

ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของโจโฉใน พ.ศ. 763 โจผี ทายาทของโจโฉบีบบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนสละราชบังลังก์และมอบให้แก่เขา เป็นสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นและก่อตั้งรัฐเฉาเว่ย์(วุยก๊ก) ซุนกวนไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเฉาเว่ย์หรือประกาศเป็นเอกราชทันทีภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าโจผี แต่คอยดูท่าที่ไปก่อน ในทางตรงกันข้าม ในช่วงต้นปี พ.ศ. 764 เล่าปี่ได้ประกาศตั้งตนเป็นพระจักรพรรดิโดยก่อต้งรัฐฉู่ฮ่น(จ๊กก๊ก) ไม่นานนัก พระเจ้าเล่าปี่ได้วางแผนการทัพโจมตีซุนกวนเพื่อล้างแค้นให้กับกวนอู ด้วยความพยายามที่จะทำข้อตกลงสงบศึกและไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากพระเจ้าเล่าปี่ ด้วยความกลัวว่าจะถูกโจมตีจากสองฝ่าย ซุนกวนจึงกลายเป็นข้าราชบริพานของรัฐเฉาเว่ย์ เล่าหัว นักวางแผนยุทธศาสตร์ของพระเจ้าโจผีได้เสนอว่า พระเจ้าโจผีควรปฏิเสธ และในความเป็นจริง การโจมตีซุนกวนในแนวรบที่สอง เป็นการแบ่งดินแดนแคว้นของซุนกับรัฐฉู่ฮ่น และต้องการที่จะทำลายรัฐฉู่ฮั่นในที่สุดเช่นกัน พระเจ้าโจผีได้ปฏิเสธในทางเลือกระหว่างความเป็นความตายที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ดินแดนอาณาจักรของเขาถึงวาระที่จะปกครองเฉพาะทางเหนือและภาคกลางของจีน และโอกาศนี้จะไม่มีอีกแล้ว ตามคำแนะนำของเล่าหัวในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 764 พระองค์ได้แต่งตั้งให้ซุนกวนเป็นกษัตริย์แห่งอู๋และมอบสิทธิ์เก้าประการแก่เขา

ใน พ.ศ. 765 ในศึกอิเหลง ขุนพลของซุนกวนนามว่า ลกซุน สามารถเอาชนะพระเจ้าเล่าปี่จนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับจนล่าถอยกลับไป ฉู่ฮั่นไม่เป็นภัยคุกคามต่อซุนกวนอีกต่อไปนับจากนั้นเป็นต้นมา ต่อมาในปีนั้น พระเจ้าโจผีได้เรียกร้องให้ส่งซุนเต๋งไปยังลั่วหยาง เมืองหลวงของรัฐเฉาเว่ย์ในฐานะองค์ประกัน ซุนกวนได้ปฏิเสธและประกาศเอกราช(โดยเปลี่ยนนามศักราช) จึงก่อตั้งรัฐอู๋ตะวันออกเป็นรัฐอิสระ โจผีเปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ต่ออู๋ แต่ภายหลังจากเฉาเว่ย์พ่ายแพ้ในช่วง ต้นปี พ.ศ. 776 ได้ปรากฎเห็นชัดว่า รัฐอู๋ยังปลอดภัย ภายหลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเล่าปี่ ในปีต่อมา จูกัดเหลียง น้องชายของจูกัดกิ๋น ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าเล่าเสี้ยน พระราชโอรสของพระเจ้าเล่าปี่ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวนอีกครั้ง และทั้งสองรัฐยังคงเป็นพันธมิตรกันจนกระทั่งรัฐฉู่ฮ่นถูกทำลายในที่สุด ใน พ.ศ. 806

รัชสมัยช่วงต้น

[แก้]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]

เรื่อง สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ(Red Cliff) ทั้งสองภาค ซึ่งเล่าถึงศึกเซ็กเพ็กหรือศึกผาแดง ผู้ที่รับบทแสดงเป็นซุนกวนคือ ฉางเฉิน

ละครโทรทัศน์

[แก้]

ละครเรื่องสามก๊กในปี 1994 นักแสดงผู้รับบทเป็นซุนกวนคือ อู๋ เสี่ยวตง

ละครเรื่องสามก๊กในปี 2010 นักแสดงผู้รับบทเป็นซุนกวนคือ จาง ป๋อ เปิน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 เจี้ยนคางฉือลู่ (建康實錄) บันทึกว่า จักรพรรดิซุนกวนสวรรคตในวันอี่เว่ย์ (乙未) เดือนที่ 4 ศักราชไท่-ยฺเหวียน (太元) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 ตามปฏิทินจูเลียน เจี้ยนคางฉือลู่ยังบันทึกว่าพระศพถูกฝังในเดือนที่ 7 ของปีเดียวกัน พระองค์ขึ้นเป็นเงาอ๋องขณะพระชนมายุ 40 พรรษา และครองราชย์ 7 ปี ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กขณะพระชนมายุ 47 พรรษาและครองราชย์ 24 ปี และสวรรคตขณะพระชนมายุ 70 พรรษา (ตามการนับอายุแบบตะวันออก)[3] ปีสวรรคตของพระองค์ตรงกับ ค.ศ. 252 ในขณะที่เดือน 7 ศักราชไท่-ยฺเหวียนปีที่ 2 เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 22 สิงหาคมถึง 20 กันยายน ค.ศ. 252 ตามปฏิทินกริกอเรียน เนื่องจากพระองค์มีพระชนมายุ 69 พรรษาขณะสวรรคตใน ค.ศ. 252 คำนวณปีพระราชสมภพได้เป็น ค.ศ. 182 ในแต่บทชีวประวัติซุนกวนในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าพระองค์มีพระชนมายุ 71 พรรษา (ตามการนับอายุแบบตะวันออก) ขณะสวรรคตเมื่อเดือน 4 ศักราชไท่-ยฺเหวียนปีที่ 2

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("พระเจ้าโจผีทรงพระสรวลแล้วว่า เตียวจี๋คนนี้มีสติปัญญาดีนัก นายใช้ให้เปนทูตมา ก็เจรจาอาจหาญยกย่องสรรเสริญนายให้มีเกียรติยศดังนี้ สมควรที่จะเปนผู้ถือหนังสือ ว่าแล้วจึงสั่งให้ไทเซียงเขงถือตราไปตั้งซุนกวนให้เปนเงาอ๋องมีเครื่องยศเก้าสิ่ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  2. ("ซุนกวนมีความยินดีนัก จึงแต่งหนังสือไปถึงโจผีว่า ข้าพเจ้าซุนกวนเปนข้าบิดาของพระองค์ บิดาของพระองค์ก็ทรงเมตตาตั้งให้ข้าพเจ้าเปนเพี้ยวกี้จงกุ๋นหลำเซียงเหา ข้าพเจ้าเปนสุขมาช้านาน") "สามก๊ก ตอนที่ ๖๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  3. ([太元二年]夏四月乙未,帝崩於內殿, ... 秋七月,葬蔣陵, ... 案,帝四十即吳王位,七年;四十七即帝位,二十四年,年七十崩。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 2.
  4. ("จูกัดเจ๊กกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็ให้ซุนเหลียงเสวยราชย์แทนพระบิดา พระเจ้าซุนเหลียงก็ให้แต่งการเชิญศพไปฝังที่ตำบลเตียวเหลงตามประเพณี แล้วให้จารึกอักษรว่าที่ฝังศพพระเจ้าไต้ฮ่องเต้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๐". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 20, 2024.
  5. de Crespigny (2007), p. 772.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า ซุนกวน ถัดไป
พระเจ้าเหี้ยนเต้
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
จักรพรรดิจีน
ง่อก๊ก

(พ.ศ. 772-795)
ซุนเหลียง