ข้ามไปเนื้อหา

โจฮวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าโจฮวน)
โจฮวน (เฉา ฮฺว่าน)
曹奐
เว่ย์-ยฺเหวียนตี้
魏元帝
ภาพวาดโจฮวนจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์27 มิถุนายน ค.ศ. 260[a] – 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266
ก่อนหน้าโจมอ
ผู้สำเร็จราชการสุมาเจียว
สุมาเอี๋ยน
ฉางเต้าเซียงกง อำเภออานชื่อ
(安次縣常道鄉公)
ดำรงตำแหน่ง256 – 27 มิถุยายน ค.ศ. 260
ตันลิวอ๋อง (陳留王 เฉินหลิวหวาง)
ดำรงตำแหน่ง4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 – ค.ศ. 302
ประสูติค.ศ. 245
สวรรคตค.ศ. 302
มเหสีจักรพรรดินีเปี้ยน
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ (曹 เฉา)
ชื่อตัว: ฮวน (奐 ฮฺว่าน)
ชื่อรอง: จิ่งหมิง (景明)
รัชศก
พระสมัญญานาม
ยฺเหวียนตี้ (元帝)
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ (เฉา)
พระราชบิดาโจฮู
พระราชมารดาจางชื่อ

โจฮวน (ค.ศ. 245/246 – ค.ศ. 302/303[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา ฮฺว่าน (จีนตัวย่อ: 曹奂; จีนตัวเต็ม: 曹奐; พินอิน: Cáo Hùan; การออกเสียง) ชื่อรอง จิ่งหมิง (จีน: 景明; พินอิน: Jǐngmíng) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 5 และลำดับสุดท้ายของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 พระองค์สละราชบัลลังก์ให้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเอี๋ยน (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้น) เป็นการสิ้นสุดสมัยปกครองของวุยก๊ก หลังโจฮวนสละราชบัลลังก์ พระองค์ได้รับการตั้งให้มีฐานันดรศักดิ์เป็น "ตันลิวอ๋อง" และดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จวบจนสิ้นพระชนม์ ภายหลังพระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า "จักรพรรดิเว่ย์-ยฺเหวียนตี้" (魏元帝)[2]

ภูมิหลังครอบครัวและการขึ้นครองราชย์

[แก้]

พระนามโดยกำเนิดของโจฮวนคือ "เฉา หฺวาง" (曹璜) พระบิดาของโจฮวนคือโจฮูผู้เป็นเอียนอ๋อง / เอี๋ยนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) และเป็นบุตรชายของโจโฉ (บิดาของโจผีจักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก)[3]

ในปี ค.ศ. 258 ขณะเฉา หฺวางมีพระชนมายุ 12 พรรษา ตามกฎหมายของวุยก๊กที่ระบุว่าพระโอรสของอ๋อง (นอกเหนือจากพระโอรสองค์โตที่เกิดกับพระชายา ซึ่งโดยปกติได้รับการตั้งให้เป็นทายาทของอ๋อง) ต้องได้รับการแต่งตั้งให้มีฐานันดรศักดิ์ก๋ง (公 กง) เฉา หฺวางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น "ฉางเต้าเซียงกง" (常道鄉公)[4]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 260 ภายหลังจักรพรรดิโจมอถูกปลงพระชนม์ระหว่างทรงพยายามจะชิงอำนาจรัฐคืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว เฉา หฺวางได้รับเลือกให้สืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอ[5]

รัชสมัย

[แก้]

ในช่วงเวลาที่เฉา หฺวางขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระนามของพระองค์ถูกเปลี่ยนเป็น "โจฮวน" (เฉา ฮฺว่าน) เนื่องจากข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของพระนาม "หฺวาง" (璜 ซึ่งพ้องเสียงกับคำทั่วไปจำนวนมาก เช่น "หฺวาง" ที่มีความหมายว่า "สีเหลือง" และ "หฺวาง" ที่มีความหมายว่า "จักรพรรดิ") ในรัชสมัยของโจฮวน ตระกูลสุมากุมอำนาจรัฐ ในขณะที่ราชตระกูลโจเป็นเพียงหุ่นเชิดและเป็นผู้นำรัฐแต่เพียงในนาม

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 โจฮวนทรงตั้งให้พระชายาเปี้ยนเป็นจักรพรรดินี[c]

ช่วงต้นรัชสมัยของโจฮวน มีการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากทัพของรัฐจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริภายใต้การบัญชาการของเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊ก แม้ว่าโดยมากการโจมตีของเกียงอุยก็ถูกทัพวุยก๊กตีโต้จนล่าถอยไปอย่างง่ายดาย ในที่สุดสุมาเจียวก็มีคำสั่งให้บุกโจมตีจ๊กก๊กด้วยกำลังทหาร 180,000 นายภายใต้การบัญชาการของจงโฮยและเตงงาย

ในช่วงปลาย ค.ศ. 263 เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงาย เป็นการสิ้นสุดของรัฐจ๊กก๊ก หลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก เตงงายถูกจงโฮยกล่าวหาว่าคิดก่อกบฏจึงถูกปลดจากอำนาจบังคับบัญชา

ต้นปี ค.ศ. 264 จงโฮยวางแผนร่วมกับเกียงอุยเพื่อฟื้นฟูรัฐจ๊กก๊กและกำลังขุนพลวุยก๊กทุกคนที่อาจต่อต้านพวกตน แต่เหล่าขุนพลก็เริ่มก่อการต่อต้านจงโฮย สังหารจงโฮยและเกียงอุยลงได้ อาณาเขตที่เคยเป็นของจ๊กก๊ก (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวน, นครฉงชิ่ง, มณฑลยูนนาน, ทางใต้ของมณฑลฉ่านซี และทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ได้ถูกผนวกเข้ากับวุยก๊กโดยสมบูรณ์

การสละราชบัลลังก์และช่วงบั้นปลายพระชนมชีพ

[แก้]

รัฐวุยก๊กเองก็คงอยู่ได้ไม่นานหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก ในปี ค.ศ. 263 สุมาเอียวบังคับให้โจฮวนพระราชทานเครื่องยศเก้าประการอีกครั้ง และที่สุดสุมาเจียวก็ยอมรับเครื่องยศในครั้งนี้ บ่งบอกถึงการชิงราชบัลลังก์ที่กำลังใกล้เข้ามา[7] ในปี ค.ศ. 264 สุมาเจียวขึ้นมามีฐานันดรศักดิ์เป็น "จีนอ๋อง" (晉王 จิ้นหวาง) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายก่อนการชิงราชบัลลังก์[8] หลังสุมาเจียวเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งบิดา และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนบังคับโจฮวนให้สละราชบัลลังก์ จากนั้นในอีก 4 วันต่อมา (8 กุมภาพันธ์) สุมาเอี๋ยนจึงก่อตั้งราชวงศ์จิ้น พระองค์ตั้งให้โจฮวนมีฐานันดรศักดิ์ "ตันลิวอ๋อง" (陳留王 เฉินหลิวหวาง) ซึ่งโจฮวนดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

ไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับพระชนมชีพของโจฮวนในฐานะอ๋องภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้น สุมาเอี๋ยน (ภายหลังเป็นที่รู้จักในพระนามว่าจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ทรงอนุญาตให้โจฮวนยังคงใช้ธงและราชรถอย่างจักรพรรดิได้ และสักการะบรรพชนด้วยพิธีการอย่างจักรพรรดิได้[9] โจฮวนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 302 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้พระโอรสของสุมาเอี๋ยน พระองค์ได้รับการฝังพระศพด้วยเกียรติอย่างจักรพรรดิและได้รับพระสมัญญานาม

ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สืบทอดฐานันดรตันลิวอ๋องในลำดับถัดจากโจฮวน ทราบเพียงว่าในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 326 มีการตั้งฐานันดรศักดิ์ตันลิวอ๋องให้กับเฉา ม่าย (曹勱) ผู้เป็นลื่อชายของโจโฉ[10] ดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 358[d] ฐานันดรศักดิ์สืบทอดต่อมาโดยบุตรชายคือเฉา ฮุย (曹恢) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 363[12] ฐานันดรศักดิ์ตันลิวอ๋องยังคงอยู่ภายในตระกูลโจจนกระทั่งถูกยกเลิกในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 479[e] ในรัชสมัยของเซียว เต้าเฉิง (蕭道成) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฉีใต้ ตันลิวอ๋องคนสุดท้ายคือเฉา ช่าน (曹粲)

ชื่อศักราช

[แก้]

ฐานันดรศักดิ์

[แก้]
  • ตันลิวอ๋อง (陳留王 เฉินหลิวหวาง)
  • จักรพรรดิเว่ย์-ยฺเหวียนตี้ (魏元帝) (สมัญญานาม)

พระราชวงศ์

[แก้]

พระมเหสี:

พงศาวลี

[แก้]
โจโก๋ (เสียชีวิต ค.ศ. 193)
โจโฉ (ค.ศ. 155–220)
ติงชื่อ
โจฮู (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 278)
หฺวานชื่อ
โจฮวน (ค.ศ. 246–302)
จาง เหิง (เสียชีวิต ค.ศ. 177)
เตียวฬ่อ (เสียชีวิต 216)
หลูชื่อ
จางชื่อ

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. วันเจี่ยอิ๋น (甲寅) ในเดือน 6 ของปีที่โจมอสวรรคต ตามที่ระบุในบทพระราชประวัติโจฮวนในสามก๊กจี่
  2. เว่ย์ชื่อผู่ระบุว่าโจฮวนมีพระชนมายุ 58 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอชียตะวันออก) เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในศักราชไท่อาน (太安) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของพระองค์อาจเป็นปี ค.ศ. 245 หรือ ค.ศ. 246[1] ปีที่สิ้นพระชนม์เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 302 ถึง 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 303 ในปฏิทินจูเลียน
  3. บทพระราชประวัติโจฮวนในสามก๊กจี่ระบุว่าพระชายาเปี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดินีในวันกุ๋ยเหม่า (癸卯) ในเดือน 10 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน เทียบได้กับวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริโกเรียน[6]
  4. วันอี๋โฉ่ว (乙丑) ในเดือน 10 ของศักราชเชินผิง (升平) ปีที่ 2[11]
  5. วันกุ่ยซื่อ (癸巳) ในเดือน 8 ของศักราชเจี้ยน-ยฺเหวียน (建元) ปีที่ 1[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. (年五十八,太安元年崩) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อผู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  2. (太安元年崩,谥曰元皇帝。) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อผู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  3. (陳留王諱奐,字景明,武帝孫,燕王宇子也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  4. (甘露三年,封安次縣常道鄉公。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  5. (高貴鄉公卒,公卿議迎立公。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 04.
  6. [(景元四年十月)癸卯, 立皇后卞氏] สามก๊กจี่ เล่มที่ 04.
  7. (甲寅,復命大將軍進爵晉公,加位相國,備禮崇錫,一如前詔;又固辭乃止。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  8. (己卯,進晉公爵為王,封十郡,并前二十。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  9. (己巳,詔陳留王載天子旌旗,備五時副車,行魏正朔,郊祀天地,禮樂制度皆如魏舊,上書不稱臣。) จิ้นชู เล่มที่ 3.
  10. "晋书 : 帝纪第七 显宗成帝 康帝 - Chinese Text Project". ctext.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-29.
  11. จิ้นชู เล่มที่ 8
  12. "晋书 : 帝纪第八 孝宗穆帝 哀帝 废帝海西公 - Chinese Text Project". ctext.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-29.
  13. หนานฉื่อ เล่มที่ 4

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า โจฮวน ถัดไป
โจมอ จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 260–266)
สุมาเอี๋ยน
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก