ข้ามไปเนื้อหา

ขันที

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพกลุ่มขันที ที่พระสุสานขององค์ชายหลี่เสียน ค.ศ. 706

ขันที คือ ชายที่ถูกตอน บางประเทศทางเอเชียสมัยโบราณใช้สำหรับควบคุมฝ่ายใน ในภาษาจีนเรียกว่า ไท้เจี๋ยน หรือไท้ก๋ำ (ฮกเกี้ยน:太監 ,ไท้ก่ำ ) ในภาษาละตินและอาหรับเรียกว่ายูนุก (Eunuch) โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า ยูโนคอส (eunouchos) แปลว่าผู้ดูแลรักษาเตียง[1] ส่วนชนชาติมอญเรียกขันทีว่า กมนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ

ต้นกำเนิด

[แก้]

ในวัฒนธรรมตะวันตก เรียกขันทีว่า ยูนุก (Eunuch) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคำว่า ยูโนคอส (eunouchos) แปลว่าผู้ดูแลรักษาเตียง ซึ่งยูนุกมีหน้าที่ดูแลหรือเป็นผู้รับใช้กษัตริย์และข้าราชสำนักฝ่ายใน สันนิษฐานว่าเกิดครั้งแรกที่เมืองละกาสช์ (Lagash) ของสุเมเรียน ในเมโสโปเตเมีย ราว 2,000 ปีก่อนคริสต์กาล และถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักของเมโสโปเตเมียและอียิปต์แต่โบราณ ในระยะแรกจะคัดเลือกยุนุกจากทาสและเชลยอายุน้อย แต่มีบางส่วนที่ถูกตอนเมื่อเป็นหนุ่มแล้ว

วัฒนธรรมการใช้ยุนุกในเมโสโปเตเมียแตกแขนงออกเป็น 2 ทางคือ สายแรกแพร่หลายไปตามเส้นทางสู่จีนในสมัยราชวงศ์สุย และสายที่ 2 แพร่หลายในเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ สู่เปอร์เซียโบราณและจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์

ในเปอร์เซียและไบแซนไทน์ในช่วงที่มุสลิมเรืองอำนาจ พวกเขาได้รับเอายูนุกเข้ามาด้วย ดังปรากฏในราชสำนักจักรวรรดิมุสลิมในคริสต์ศวรรษที่ 16-18 อย่างออตโตมาน-เติร์ก (Ottoman-Turk) ซาฟาวี (Safavids) ของอิหร่านและโมกุล (Mughal) ของอินเดีย โดยจักรวรรดิทั้ง 3 ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับราชสำนักจีน

ประเภทของขันที

[แก้]

ขันทีนั้น มีอยู่สองประเภท[2]

  • ถูกตอนโดยตัดแค่ปลายองคชาตเท่านั้น ยังเหลือพวงอัณฑะอยู่ ขันทีประเภทนี้ ยังเหลือฮอร์โมนเพศชายอยู่มากมาย เสียงยังห้าวแบบชาย และจะได้อนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่การงานได้เฉพาะเขตพระราชฐานชั้นนอกเท่านั้น
  • ถูกตอนโดยตัดทิ้งทั้งพวง เสียงจะแหลมเล็ก ลูกกระเดือกหายไป ฮอร์โมนเพศชายหมดไป พวกนี้จะได้รับความไว้ใจสูงกว่า และสามารถปฏิบัติงานในเขตพระราชฐานชั้นใน

ขันทีจำแนกตามประเทศ

[แก้]

จีน

[แก้]
ขันทีจีนยุคสุดท้ายแห่งราชสำนักชิง

ขันทีในจีนจะเรียกว่า ฮ่วนกวาน (จีน: 宦官; พินอิน: huànguān) ไท่เจี้ยน (จีน: 太监; พินอิน: Tàijiàn) ทำงานหลายอย่างที่สตรีเพศทำไม่ได้ ในพระราชวังในจีนมีหน้าที่ควบคุมนางในฝ่ายพระราชฐาน และบางครั้งจะขับลำนำถวายฮ่องเต้ก่อนเข้าที่บรรทม นอกจากเรื่องทางโลกแล้ว ขันทียังมีหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับฮ่องเต้ในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งในบางยุคสมัยก็เป็นเพราะขันทีที่เอาแต่ปรนเปรอฮ่องเต้จนบ้านเมืองอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพจนนำมาสู่การล่มสลายของบ้านเมือง เช่น ยุคสามก๊ก หรือ ปลายราชวงศ์หมิง หรือ ปลายราชวงศ์ชิง เป็นต้น[3]

เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยิน (1,324 –1,066 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นชื่อเรียกของราชวงศ์ซาง หลังย้ายเมืองหลวงไปเมืองยิน ซึ่งปัจจุบันคือเมืองอันหยัง ในมณฑลเหอหนาน) จากหลักฐานบนกระดองเต่ามีตัวหนังสือจีนโบราณอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายถึง 'การตัดองคชาต' และ คำว่า ‘羌 ’(อ่านว่าเชียง) บนกระดองเต่ากล่าวไว้ว่า อู่ติงหวัง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยิน (1,254 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้มีรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของหนุ่มชาวเชียง ที่ถูกจับมาเป็นเชลย และให้นำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ต่อมาในรัชสมัยของมู่หวัง (976-920 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) แห่งราชวงศ์โจว จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิอิงจง (ค.ศ. 1457-1464) แห่งราชวงศ์หมิง ปรากฏหลักฐานว่า มีการลงโทษ ด้วยการตัดอวัยวะเพศ หรือที่เรียกกันว่าการลงโทษของราชสำนัก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความทารุณนี้ ได้แก่ เชลยศึก ข้าราชการที่จักรพรรดิไม่ทรงพอพระทัย หรือแม้แต่ลูกชายของชาวบ้านทั่วไป ที่ถูกนำมาเป็นทาสของบรรดาผู้ปกครอง

ต่อมาในสมัยกวงบู๊ ค่านิยมเปลี่ยนไป ผู้ชายที่รับใช้ในวังต้องเป็นขันที ถือว่าเป็นคนที่มีหน้ามีตามาก พอถึงยุคสมัยราชวงศ์สุย ทางการยกเลิกโทษการตอน ดังนั้นคนที่เป็นขันทีต้องตอนตัวเอง

ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง (ค.ศ. 1644-1911) สองราชวงศ์สุดท้ายของจีน กลับมีชายหนุ่มจำนวนไม่น้อย สมัครใจเข้าเป็นขันที ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความยากจน โดยขันทีคนสุดท้ายของจีนคือซุนเหย้าถิง เขาเกิดในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางสู่ (ค.ศ. 1875-1908) แห่งราชวงศ์ชิง[4]

ไทย

[แก้]
นักเทษขันทีช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา โพกศีรษะแต่งกายอย่างแขก

ในประเทศไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีร่องรอยที่ทำให้เห็นว่ามีขันทีมาก่อนโดยในสมัยอยุธยาเรียกขันทีว่า นักเทษขันที (บ้างเขียน นักเทศขันที) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า นักเทษ และ ขันที คงเป็นขุนนางชายที่ถูกตอนเหมือนกัน มีเพียง ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร อธิบายไว้ว่า คือฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) นั้นรับราชการฝ่ายขวา ส่วนอีกฝ่ายที่เรียกว่า ขันที นั้นรับราชการฝ่ายซ้าย มีข้อสันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณให้ขันทีอยู่ในสังกัดของฝ่ายใน และไม่ทรงเปิดโอกาสให้นักเทษขันทีมีส่วนร่วมในราชการฝ่ายหน้า[5] อย่างไรก็ตามนักเทษขันทียังคงดำรงอยู่จนสิ้นกรุงศรีอยุธยา[5] และถูกยกเลิกลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งราชวงศ์จักรี[5]

ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่า "ขันที" ว่าน่าจะมาจากคำว่า "ขณฺฑ" ในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า "ทำลาย" และกินความหมายไปถึง “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น”[5] และคนไทยได้แผลงคำว่า ขณฺฑ เป็น ขณฺฑี ในการเขียน[5]

พม่า

[แก้]

ในพม่าและยะไข่ ขันทีจะมีหน้าที่ในการดูและฝ่ายในและจำทูลพระราชสาสน์[5] นอกจากนี้ชาวมอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า "ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ"[5]

เกาหลี

[แก้]

ในอาณาจักรแถบคาบสมุทรเกาหลีได้มีระบบขันทีเช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า แนชี (เกาหลี: 내시; 內侍) ซึ่งทำหน้าที่สนองพระราชบัญชาพระมหากษัตริย์และเหล่าเชื้อพระวงศ์ ซึ่งปรากฏการมีอยู่ของขันทีครั้งแรกใน "โครยอซา" (เกาหลี: 고려사; 高麗史 "ประวัติศาสตร์โครยอ") ซึ่งบันทึกเรื่องราวช่วงยุคโครยอ และต่อมาในยุคราชวงศ์โชซอน ระบบแนชีได้ถูกแก้ไข และเปลี่ยนแปลงเรียกว่า กรมแนชี (เกาหลี: 내시부; 內侍府)[6]

ระบบแนชี จะมีสองระดับคือ ซังซ็อน (เกาหลี: 상선; 尙膳 "หัวหน้าขันที") รองลงมาคือ แนกวัน (เกาหลี: 내관; 內官 "ขันทีพนักงานสามัญ") ทั้งสองตำแหน่งถือว่าสูงกว่าขันทีทั่วไป ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่จำนวน 140 นายประจำอยู่ตามพระราชวัง และขันทีทุกคนจะต้องสอบปรัชญาขงจื๊อในทุก ๆ เดือน[6] ภายหลังระบบขันทีได้ถูกยกเลิกลงในปี พ.ศ. 2437 หลังเกิดการปฏิรูปกาโบ (เกาหลี: 갑오 개혁; 甲午改革)

ตามตำนานกล่าวไว้เกี่ยวกับการตอนความว่า เบื้องต้นต้องทาอุจจาระของมนุษย์ลงบริเวณอวัยวะเพศของเด็กน้อยแล้วให้สุนัขกัดอวัยวะเพศจนขาด[7] ต่อมาในยุคราชวงศ์หยวน ขันทีได้กลายเป็นสินค้าชั้นดี และการตอนด้วยสุนัขก็ถูกแทนที่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น[8]

ญี่ปุ่น

[แก้]

ขันทีญี่ปุ่นจะเรียกว่า 官者(かんがん) ในนิฮงโชกิได้ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับระบบขันทีในช่วงยุคนาระซึ่งสันนิษฐานว่าญี่ปุ่นรับระบบขันทีมาจากจีนในช่วงราชวงศ์สุย อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่ได้เอาระบบขันทีมาใช้ในราชสำนักเพราะอยู่ภายใต้อำนาจของขุนนางตระกูลฟูจิวาระ แต่ก็เคยมีอยู่ช่วงระยะเวลานึงในสมัยจักรพรรดิยูเรียกุในช่วงยุคโคฟุงและในช่วงยุคคามากุระมีบันทึกการลงโทษในพระราชสำนักญี่ปุ่นในประมวลกฎหมายของคัมมุว่าด้วยการตอนขันทีเข้าพระราชสำนักญี่ปุ่น และในพงศาวดารไทเฮกิว่าด้วยการตอนอวัยวะเพศชายและกันตัดเย็บช่องคลอด

เวียดนาม

[แก้]

ในยุคราชวงศ์จาง (เวียดนาม: Nhà Trần; 陳朝) ได้ทำการส่งขันทีเด็กชาวเวียดนามเป็นเครื่องบรรณาการแก่จีนในยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 1926, 1927 และ 1928[9] และปรากฏหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของขันทีในอดีต นั่นคือบทกวีวิพากษ์วิจารณ์เหล่าขุนนาง ซึ่งถูกรจนาโดยกวีหญิง โห่ ซวน เฮือง (เวียดนาม: Hồ Xuân Hương; 胡春香) อันปรากฏเนื้อความตอนหนึ่งล้อเลียนเหล่าขันที[10]

อินโดนีเซีย

[แก้]

ในยุคก่อนรับศาสนาอิสลาม อินโดนีเซียเคยมีขันทีคอยรับใช้ในวงศ์กษัตริย์ชวาซึ่งนับถือศาสนาฮินดู-พุทธ กล่าวกันว่ากษัตริย์ชวามีพระมเหสีและนางห้ามเป็นจำนวนมาก จึงมีขันทีซึ่งแต่งกายแบบหญิงนับพันคอยถวายงานรับใช้[11]

ออตโตมัน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. "ขันทีแขกในราชสำนักอยุธยา," ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2543), น.66-73.
  2. "ขันที คอลัมน์ รู้ไปโม้ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-19. สืบค้นเมื่อ 2007-04-15.
  3. "" ขันที " ตราบาปของแผ่นดินจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-07. สืบค้นเมื่อ 2007-04-15.
  4. ""ขันที" ผู้ชายที่โลกลืม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-12-10. สืบค้นเมื่อ 2007-04-15.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 วินัย ศรีพงศ์เพียร. กะเทย/บั๊ณเฑาะก์/ขันที/นักเทษ . สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556
  6. 6.0 6.1 (เกาหลี) 내시 - 네이버 백과사전[ลิงก์เสีย]
  7. Peter McAllister (2010). Manthropology: The Science of Why the Modern Male Is Not the Man He Used to Be. Macmillan. p. 280. ISBN 0-312-55543-1. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.
  8. Gwyn Campbell, Suzanne Miers, Joseph Calder Miller (2009). Children in slavery through the ages. Ohio University Press. p. 137. ISBN 0-8214-1877-7. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Tsai (1996), p. 15 The Eunuchs in the Ming Dynasty (Ming Tai Huan Kuan), p. 15, ที่กูเกิล หนังสือ
  10. Chandler (1987), p. 129 In Search of Southeast Asia: A Modern History, p. 129, ที่กูเกิล หนังสือ
  11. ทวีศักดิ์ เผือกสม. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย:รัฐจารีตบนหมู่เกาะ ความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม และสาธารณรัฐแห่งความหลากหลาย. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2555, หน้า 42

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

หนังสือและบทความ

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]