ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ราชบัณฑิตยสภา)
ราชบัณฑิตยสภา
Royal Society of Thailand
เครื่องหมายราชการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง19 เมษายน พ.ศ. 2469; 98 ปีก่อน (2469-04-19)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • ราชบัณฑิตยสภา (พ.ศ. 2469–2476)
  • ราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2476–2558)
ประเภทส่วนราชการ
สำนักงานใหญ่สนามเสือป่า แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
บุคลากร92 คน (พ.ศ. 2566)
งบประมาณต่อปี97,687,400 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • สุรพล อิสรไกรศีล, นายกราชบัณฑิตยสภา
  • สมบูรณ์ สุขสำราญ, อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 1
  • ประพิณ มโนมัยพิบูลย์, อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 2
  • กฤษฎา คงคะจันทร์, เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา
  • ศานติ ภักดีคำ, รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา
เอกสารหลัก
เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ราชบัณฑิตยสภา เป็นองค์การในรัฐบาลไทย สำหรับค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน[2] มีหน่วยธุรการชื่อว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นส่วนราชการอิสระในฝ่ายบริหารของรัฐบาล มีฐานะเป็นกรม[2]

ในทางประวัติศาสตร์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 เพื่อเป็นสมาคมปราชญ์ประจำประเทศสยามเฉกเช่นเดียวกับในต่างประเทศ[3] ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราชบัณฑิตยสภาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 โดยแยกออกเป็นราชบัณฑิตยสถานกับกรมศิลปากรเพื่อให้ทำงานวิชาการได้อย่างเต็มที่[4] ราชบัณฑิตยสถานมีการทำงาน 2 ส่วน คือสภาราชบัณฑิตทำหน้าที่ด้านวิชาการ และข้าราชการประจำทำหน้าที่ธุรการสนับสนุนงานของสภาราชบัณฑิต[5] ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอีกครั้งโดยเปลี่ยนชื่อราชบัณฑิตยสถานเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเปลี่ยนชื่อสภาราชบัณฑิตเป็นราชบัณฑิตยสภาตามชื่อดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 7[5]

ตามโครงสร้างปัจจุบัน ราชบัณฑิตยสภามีสมาชิก 3 ประเภท คือภาคีสมาชิก ราชบัณฑิต และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ภาคีสมาชิกเป็นบุคคลที่ราชบัณฑิตยสภาคัดเลือกและแต่งตั้งขึ้นจากผู้มีสัญชาติไทยและมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ราชบัณฑิตเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบรรดาภาคีสมาชิกเมื่อมีคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตกิติมศักดิ์เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิเมื่อมีคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา[6]

ราชบัณฑิตยสภาจัดแบ่งงานวิชาการของตนออกเป็นสำนัก ได้แก่สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม[7] แต่งานวิชาการซึ่งเป็นที่รู้จักที่สุดของราชบัณฑิตยสภามักเป็นงานเนื่องในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาษาไทย เช่น การจัดทำพจนานุกรม โดยเฉพาะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน การจัดทำสารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน และการบัญญัติศัพท์วิชาการ[8]

ประวัติ

[แก้]

การก่อตั้งราชบัณฑิตยสภา

[แก้]

รัชกาลที่ 7 ทรงก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2469 โดยทรงรวมหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบหอสมุด พิพิธภัณฑสถาน งานวรรณกรรม งานวิศวกรรม และงานโบราณคดี เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานอันหนึ่งอันเดียว เพื่อให้ประเทศสยามได้มีสมาคมปราชญ์ประจำประเทศเฉกเช่นในต่างประเทศ[3] ทรงตั้งชื่อหน่วยงานนี้ว่าราชบัณฑิตยสภา ตามชื่อกรมราชบัณฑิต ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงธรรมการสมัยโบราณ[3]

การปรับโครงสร้างเป็นราชบัณฑิตยสถาน

[แก้]

ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติดังกล่าวได้ปรับโครงสร้างราชบัณฑิตยสภาเสียใหม่ตามการเสนอแนะของปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะ โดยมีประกาศในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 ให้ยุบราชบัณฑิตยสภาลงเพื่อแยกไปก่อตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ 2 แห่ง คือราชบัณฑิตยสถาน (เมื่อก่อตั้งเขียนว่าราชบัณฑิตสถาน) และกรมศิลปากร[4]

หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) เลขาธิการคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงเหตุผลในการปรับโครงสร้างว่า "ราชบัณฑิตยสภาของเราได้ตั้งมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2469 แต่ไม่ได้วางรูปโครงให้ตรงกับที่ควรวางไว้ คือแทนที่จะให้ราชบัณฑิตสภาเป็นที่ค้นคว้าวิชาการดังรูปร่างราชบัณฑิตสถานในเวลานี้ กลับเอางานธุรการไปบรรทุกเข้าไว้ให้กรรมการราชบัณฑิตสภาต้องเสียเวลาทำงานฝ่ายธุรการเป็นส่วนมาก เหลือเวลาที่จะค้นคว้าทางวิชาการแต่น้อย และก็ไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่บัญญัติให้กรรมการราชบัณฑิตสภาต้องทำการค้นทางวิชาการ…แต่ถ้าได้วางรูปการตราแบบราชบัณฑิตสถานที่แท้จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าครองตำแหน่งในราชบัณฑิตสถานย่อมมีหน้าที่ที่ต้องทำการค้นคว้าในทางวิชา ความรู้ของเราจะงอกงามขึ้นโดยเร็ว…ต่อไปภายหน้าเราจะมีคนที่สามารถในเชิงสรรพวิชาพอที่จะทำการแลกเปลี่ยนความรู้กับราชบัณฑิตหรืออาคาเดมีเซียงของต่างประเทศ จะเป็นที่เชิดชูเกียรติของไทย จะให้ความสะดวกแก่การการค้นคว้าวิชาการ จะช่วยลดความจำเป็นในการจ้างชาวต่างประเทศ"[4]

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ดำเนินตามโครงสร้างของสถาบันฝรั่งเศส (Institut de France) ซึ่งแบ่งกิจการออกเป็นสำนัก (académie) ต่าง ๆ มีปรีดี พนมยงค์ กับหม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ร่างระเบียบการในการปรับโครงสร้าง[4] ครั้นวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2477 จึงมีประกาศเรื่องโครงสร้างของราชบัณฑิตยสถาน โดยให้แบ่งกิจการออกเป็นสำนักต่าง ๆ 3 สำนัก คือสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม พร้อมแต่งตั้งภาคีสมาชิกประจำสำนักแต่ละแห่ง[4]

ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2477 มีการประชุมภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานเป็นครั้งแรก จัดที่ศาลาสหทัยสมาคม มีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน[4] พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวเปิดประชุมว่า "ทุกประเทศที่เจริญแล้วย่อมมีราชบัณฑิตสถาน ผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิตสถานย่อมถือว่าได้รับความยกย่องอันสูงสุดที่จะพึงได้รับในเชิงวิชาการ...ราชบัณฑิตสถานของเราไม่ใช่เครื่องมือหรือเครื่องบำรุงความสูงศักดิ์ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและระบอบรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีนามอันหนึ่งอยู่คู่ไปกับราชบัณฑิตสถาน นามอันนั้นจะไม่ใช่นามของบุคคล แต่เป็นนามของสภาผู้แทนราษฎร นามของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนในชั้นหลังจะต้องระลึกคู่กันไปกับราชบัณฑิตสถาน สิ่งนั้นก็คือรัฐธรรมนูญ"[4] ในการประชุมครั้งนี้ หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ทรงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์) ได้รับเลือกตั้งเป็นอุปนายกคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน และหลวงวิจิตรวาทการได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการคนแรกของราชบัณฑิตยสถาน[4]

งานที่โดดเด่นของราชบัณฑิตยสถานในช่วงนี้ มีการปรับปรุงปทานุกรม (พจนานุกรม) ซึ่งเป็นงานที่รับโอนมาจากกระทรวงธรรมการ และงานจัดทำสารานุกรมและอักขรานุกรม งานบัญญัติศัพท์ทางวิชาการ และงานจัดวางระเบียบการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน[5]

การปรับโครงสร้างเป็นราชบัณฑิตยสภา

[แก้]

ใน พ.ศ. 2556 สภาราชบัณฑิตเห็นว่า ในโอกาสครบรอบ 120 ปีพระประสูติกาลของรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2558 นั้น สมควรเปลี่ยนชื่อหน่วยงานกลับเป็นราชบัณฑิตยสภาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 จึงมีการเสนอกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งต่อมาได้รับการตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558[6] นอกจากการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวแล้ว พระราชบัญญัตินี้ยังให้ปรับเปลี่ยนราชบัณฑิตยสถานเป็นหน่วยธุรการของสภาราชบัณฑิต เรียกชื่อว่าสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเพิ่มอำนาจหน้าที่หลายประการให้แก่หน่วยงาน เป็นต้นว่าการมอบใบรับรองคุณวุฒิเช่นประกาศนียบัตร การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับสมาชิกของหน่วยงาน และการอนุญาตให้หน่วยงานเก็บรักษารายได้ไว้เพื่อใช้ภายในโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง[6]

สมาชิกหลายคนของราชบัณฑิตยสถานคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชาพิจารณ์[9]

ที่ตั้ง

[แก้]

เดิมราชบัณฑิตยสภาตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ต่อมาย้ายไปยังหอพระสมุดวชิราวุธที่ถนนหน้าพระลาน กระทั่ง พ.ศ. 2531 จึงย้ายไปยังอาคารราชวัลลภในพระบรมมหาราชวัง[5] ครั้น พ.ศ. 2549 จึงย้ายไปยังสถานที่ปัจจุบัน ณ สนามเสือป่าใกล้ลานพระราชวังดุสิตในกรุงเทพมหานคร[5]

เครื่องหมาย

[แก้]

เครื่องหมายของราชบัณฑิตยสภาเป็นรูปพระขรรค์เปล่งรัศมีอยู่บนตำราที่เปิดอ้า มีคำในภาษาบาลีว่า "ปณฺฑิโต" และมีมงกุฏลอยอยู่เบื้องบนพระขรรค์ พร้อมแถบผ้าปรากฏนามหน่วยงานอยู่ภายใต้ตำรา[10]

พระขรรค์และตำราดังกล่าวมีที่มาจากสุภาษิตว่า "ปัญญาประดุจดังอาวุธ" รัศมีของพระขรรค์สื่อถึงแสงแห่งปัญญา มงกุฏสื่อถึงพระมหากษัตริย์[10]

การบริหาร

[แก้]

ราชบัณฑิตยสภามีการดำเนินงาน 2 ส่วน คืองานวิชาการและงานธุรการ[7]

งานวิชาการ

[แก้]

งานวิชาการแบ่งออกเป็นสำนัก แต่ละสำนักมีหัวหน้าเรียกว่าประธานสำนัก และมีเลขานุการเรียกว่าเลขานุการสำนัก[11]

สำนักแรกเริ่ม

[แก้]

สำนักแรกเริ่มใน พ.ศ. 2477 ประกอบด้วยสำนัก 3 สำนัก และสาขาวิชาย่อยต่าง ๆ ดังนี้[4]

สำนักในปัจจุบัน

[แก้]

งานธุรการ

[แก้]

งานธุรการมีผู้รับผิดชอบคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีหัวหน้าสำนักงานเรียกว่าเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และแบ่งการงานออกเป็นกอง 3 กอง คือกองธรรมศาสตร์และการเมือง กองวิทยาศาสตร์ และกองศิลปกรรม[12]

สมาชิก

[แก้]

สมาชิกของราชบัณฑิตยสภา มี 3 ประเภทดังนี้

ราชบัณฑิต

[แก้]

ราชบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยราชบัณฑิตจากทุกสำนักจะเป็นผู้คัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีได้จำกัดจำนวน 118 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีราชบัณฑิตจำนวน 110 คน[13]

ภาคีสมาชิก

[แก้]

ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ที่สมัครเข้าทำการร่วมกับราชบัณฑิตยสภา และราชบัณฑิตยสภาได้รับสมัครเป็นภาคีสมาชิกของสำนักใดสำนักหนึ่งแล้ว จำนวนภาคีสมาชิกมีจำกัดได้ไม่เกิน 84 คน แบ่งเป็น สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 33 คน สำนักวิทยาศาสตร์ 55 คน สำนักศิลปกรรม 30 คน ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 74 คน[13]

ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

[แก้]

ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของราชบัณฑิตยสภา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำกัดจำนวน ปัจจุบันมีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 8 คน เรียงตามลำดับการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดังนี้

คำนำหน้าชื่อ รายชื่อ ปีที่ได้รับแต่งตั้ง สาขาวิชา อ้างอิง
พลตรี เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ 2486 - [14]
พลตรี ประยูร ภมรมนตรี 2486 - [14]
พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ 2486 - [14]
พลตรี วิจิตร วิจิตรวาทการ 2486 - [14]
หม่อมหลวง เดช สนิทวงศ์ 2486 - [14]
ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค 2486 - [14]
พลโท หลวงละออภูมิลักษณ์ (ลออ บุนนาค) 2521 - [15]
พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) 2524 - [16]
หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล 2529 วรรณศิลป์ [17]
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ 2529 วิจิตรศิลป์ [18]
บุญมา วงศ์สวรรค์ 2536 เศรษฐศาสตร์ทั่วไป [19]
ศาสตราจารย์ ประเวศ วะสี 2548 แพทยศาสตร์ [20]
ศาสตราจารย์ สิปปนนท์ เกตุทัต 2548 ฟิสิกส์ [20]
ศาสตราจารย์พิเศษ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) 2550 ศาสนศาสตร์ [21]
มีชัย ฤชุพันธุ์ 2550 นิติศาสตร์ [21]
ศาสตราจารย์ คุณหญิง กุหลาบ มัลลิกะมาส 2550 วรรณคดีเปรียบเทียบ [21]
ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา 2552 ศึกษาศาสตร์ [22]
ศาสตราจารย์ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ 2552 เคมี [22]
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล 2552 ดุริยางคกรรม [22]
ศาสตราจารย์ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) 2552 อัคฆวิทยา [23]
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กุสุมา รักษมณี 2562 วรรณศิลป์ [24]
ศาสตราจารย์ ไพรัช ธัชยพงษ์ 2563 วิศวกรรมศาสตร์ [25]

  ผู้ได้รับแต่งตั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 141 (59 ก): 83. 2024-09-30.
  2. 2.0 2.1 "พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558". ราชบัณฑิตยสภา. 132 (10 ก): 1–11. 2015-02-13.
  3. 3.0 3.1 3.2 "กำเนิดราชบัณฑิตยสภา". สถาบันพระปกเกล้า. 2016.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 ""ราชบัณฑิตยสถาน" มรดกคณะราษฎร ก่อตั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475". Arts and Culture Magazine. 2024-06-24.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "ประวัติความเป็นมา". orst.go.th. 2020.
  6. 6.0 6.1 6.2 บุศรา เข็มทอง (2015). "ราชบัณฑิตยสภา". parliament.go.th.
  7. 7.0 7.1 "แผนผังการบริหารราชบัณฑิตยสภาและสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘". royalsociety.go.th. n.d.
  8. "ราชบัณฑิตยสภา". thairath.co.th. 2015-02-27.
  9. "ยื่น สนช. ค้านเปลี่ยนชื่อ "ราชบัณฑิตยสถาน"". Post Today. 2014-10-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-19. สืบค้นเมื่อ 2015-04-16.
  10. 10.0 10.1 ราชบัณฑิตยสถาน (2007). "เครื่องหมายราชการของราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 2015-02-16.
  11. "แผนภูมิการแบ่งส่วนราชการ พุทธศักราช 2564". orst.go.th. n.d.
  12. "แบ่งส่วนราชการสำนักงานราชบัณฑิตยสภา". orst.go.th. n.d.
  13. 13.0 13.1 รายชื่อราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกปัจจุบัน
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  15. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  16. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  17. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-25. สืบค้นเมื่อ 2018-01-18.
  18. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นายเฟื้อ หริพิทักษ์)
  19. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นายบุญมา วงศ์สวรรค์)
  20. 20.0 20.1 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต)
  21. 21.0 21.1 21.2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส)
  22. 22.0 22.1 22.2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ศาสตราจารย์พูนพิศ อมาตยกุล)
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 62 ง, 23 เมษายน 2552, หน้า 31
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 136, ตอนพิเศษ 115 ง, 10 พฤษภาคม 2562, หน้า 11
  25. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม 137, ตอนพิเศษ 222 ง, 23 กันยายน 2563, หน้า 2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]