สังข์ พัธโนทัย
มีข้อสงสัยว่าบทความนี้อาจละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ระบุไม่ได้ชัดเจนเพราะขาดแหล่งที่มา หรืออ้างถึงสิ่งพิมพ์ที่ยังตรวจสอบไม่ได้ หากแสดงได้ว่าบทความนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แทนป้ายนี้ด้วย {{ละเมิดลิขสิทธิ์}} หากคุณมั่นใจว่าบทความนี้ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แสดงหลักฐานในหน้าอภิปราย โปรดอย่านำป้ายนี้ออกก่อนมีข้อสรุป |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
สังข์ พัธโนทัย | |
---|---|
ที่ปรึกษาคนสนิทจอมพล ป. พิบูลสงคราม | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพล ป. พิบูลสงคราม |
ผู้บุกเบิกสัมพันธไมตรีไทยจีนในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 4 มิถุนายน พ.ศ. 2529 (70 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | วิไล พัธโนทัย |
บุตร | 5 คน |
สังข์ พัธโนทัย (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2529) อดีตที่ปรึกษาคนสนิท ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บุกเบิกสัมพันธไมตรีไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้เขียนสามก๊กฉบับพิชัยสงครามอดีตหัวหน้ากองหนังสือพิมพ์กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) อดีตผู้จัดรายการวิทยุ "นายมั่น นายคง" สมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ประวัติ
[แก้]นายสังข์ พัธโนทัย เป็นบุตรของนายเจริญ พัธโนทัยกับนาง หลวน พัธโนทัย เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 เป็นบุตรคนที่ 4 (คนสุดท้อง) จากพี่น้องทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายวิบูลย์ พัธโนทัย นายอุทัย พัธโนทัย นางสาวอุ่นทิพย์ พัธโนทัย
นายสังข์ พัธโนทัย เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมครู ต่อมาครูของโรงเรียนมัธยมครู ได้แนะนำให้นายสังข์ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมที่กรุงเทพฯ และถูกส่งตัวเข้าโรงเรียนฝึกหัดครู ณ วัดบวรนิเวศ และเรียนจบวิชาครูประถม ในปี 2476 เมื่ออายุได้ 18 ปี ทั้งที่ใจอยากเรียนต่อวิชาครูมัธยม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไม่มีทุน จึงได้ได้ตัดสินใจกลับปากน้ำ จ. สมุทรปราการ เพื่อรอรับการบรรจุให้เป็นครูที่นั้น และได้รับการบรรจุเป็นครูที่วัดทรงธรรม ฝั่งพระประแดง ได้เงินเดือนครั้งแรกในชีวิตจำนวน 45 บาท
สังข์ พัธโนทัย สมรสกับนางวิไล พัธโนทัย (นามสกุลเดิม ไชยกาญจน์) มีบุตรและธิดารวม 5 คน ได้แก่
- นายมั่น พัธโนทัย
- นายวรรณไว พัธโนทัย
- นางสิรินทร์ ฮอร์น
- นางผ่องศรี ฟอร์น วังเด็กก์
- นางวิริยะวรรณ สาทิสสะรัต
เป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุงโดยแท้
[แก้]บรรพบุรุษของนายสังข์ อยู่ในประเทศจีน ที่อำเภอเท่งไฮ้ จ.แต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ ปากน้ำ เจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2396 ระหว่างเกิดสงครามไท่ผิง ต้นตระกูลโดย นายเส็ง แซ่ลิ้ม ซึ่งเป็นบุตรของนายเอี๊ยะ แซ่ลิ้ม ได้อพยพมาอยู่ประเทศไทยและแต่งงานกับหญิงไทยชื่อ แช่ม และได้ให้กำเนิดบุตรชื่อนาย ฮะ (เจริญ) หรือผู้เป็นบิดาของนายสังข์ ในสมัยเด็กนั้น ครอบครัวของนายสังข์กินอยู่ลำบากยากแค้นมาก ในช่วงวัยศึกษาเล่าเรียน ด้วยความจน นายสังข์ถึงกับต้องอาศัยน้ำกินแทนอาหารกลางวันเกือบทุกมื้อ จนเพื่อนๆตั้งฉายาว่า ไอ้อูฐ นายสังข์ขยันเรียนมาก และสามารถสอบข้ามชั้นมัธยม 4 ไปยังชั้นมัธยม 6 ได้ในทันที แต่การขยันเรียนหนังสือมากจนเกินไป ส่งผลให้สายตาเสีย เนื่องจากใช้เทียนไขส่องดู เพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้นายสังข์ต้องสวมแว่นตาสั้นตั้งแต่อายุ 16 ปี นายสังข์เป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุงโดยแท้ ขนาดว่า สวมรองเท้ายังผิดข้าง และเพิ่งรู้จักการใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหาร ครั้งเมื่อมาศึกษาอยู่ที่วัดบวรฯ การที่นายสังข์ได้ศึกษาอยู่ที่วัดบวรฯ ทำให้นายสังข์ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือดีๆในห้องสมุดของวัดมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ นายสังข์ติดนิสัยชอบอ่านหนังสือและย่อเก็บเอาไว้ เพื่อนโดยทั่วไปจึงเรียกนายสังข์ว่า หนอนหนังสือ
เด็กบ้านนอกสร้างประวัติศาสตร์การเดินขบวนนิสิตประชาธิปไตย รุ่นแรกของไทย
[แก้]ในปี 2474 รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า ครูหลายคนชอบสอนการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย ตามแบบที่ ดร. ซุนยัดเซน โค้นล้มราชวงศ์แมนจูเมื่อ 20 ปี ก่อน ความระแวงดังกล่าว ทำให้รัฐบาลตัดสินใจย้ายโรงเรียนครู ไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จ. นครปฐม และใน ปี 2475 และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โรงเรียนก็ถูกทิ้งร้างโดยไม่มีครูใหญ่ดูแล สร้างความไม่พอใจให้แก่ครูและนักเรียนเป็นจำนวนมาก จนนำมาซึ่งการสไตร์ค ซึ่งนับเป็นการไตร์คของนักเรียนนักศึกษาครั้งแรกของประเทศไทย โดยนายสังข์ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้านำการไตร์ค โดยนายสังข์เดินทางออกจากนครปฐม เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะราษฎรและขอเข้าพบพันเอกพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ซึ่งผลจากการเจรจาของนายสังข์ประสบความสำเร็จ กระทรวงศึกษา ยินดีย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูกลับมากรุงเทพฯ ตามเดิม แม้จะเป็นภารกิจแรกอันภาคภูมิใจของนายสังข์ หากแต่ความยากจนของนายสังข์ ทำให้นายสังข์ไม่มีสตางค์ค่ารถเดินทางกลับนครปฐม (ค่ารถไปนครปฐมสมัยนั้น 1.50 บาท) จึงต้องอาศัยนอนวัดไปก่อน รอเพื่อนๆที่นครปฐมช่วยเรี่ยไรเงินคนละ 20 สตางค์ มารับตัวนายสังข์กลับไป
จากครูบ้านนอกสู่นักจัดรายการวิทยุการเมืองคนแรกของไทย
[แก้]ความใฝ่ฝันของวัยรุ่นจบใหม่ในสมัยนั้นคือ การได้มีชื่อเสียง ได้ใกล้ชิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งการหาชื่อเสียงได้โดยทางลัดและรวดเร็ว ไม่มีอะไรดีเท่ากับการได้พูดในรายการวิทยุ เพราะวิทยุสมัยนั้นมีแค่เพียงสถานีเดียว (บริเวณพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎในปัจจุบัน) ขณะนั้นมีประกาศประกวดเรียงความทางวรรณคดี นายสังข์ได้ส่งเรียงความพรรณนาความบางตอนในหนังสือนิราศนรินทร์เข้าแข่งขัน และชนะเลิศ โดยเรียงความของนายสังข์ ได้ถูกนำไปออกอากาศในสถานีวิทยุ และเรียงความอื่นๆ ก็ถูกนำไปออกอากาศเป็นประจำ ทำให้นายสังข์มีรายได้เดือนละ 4-8 บาท และหลังจากนั้นไม่นานได้มีเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุท่านหนึ่งแจ้งว่า เสียงนายสังข์นุ่มนวลดี จึงได้ขอให้นายสังข์ไปออกวิทยุจัดรายการเป็นรายการประจำทุกเดือน โดยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ดังมากในสมัยนั้นก็คือ การเอาเรื่องนิทานอีสปมาเล่าออกรายการ โดยมีการทำเสียงสิงสาราสัตว์ประกอบ ซึ่งถือเป็นปรากฏการใหม่ในวงการวิทยุเลยทีเดียว มีผู้ฟังติดตามกันงอมแงม ความโด่งดังอย่างรวดเร็ว ทำให้ครูใหญ่ของโรงเรียนหมั่นไส้ จึงได้ย้ายนายสังข์ข้ามไปอยู่โรงเรียนประจำที่ จ. สมุทรปราการ หลังจากถูกย้ายกลับมาอยู่ที่ จ. สมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นบ้านเกิดของนายสังข์ นายสังข์จึงถือโอกาสบวชที่วัดกลางปากน้ำ และสอบ ป.ม. 4 ชุดในคราวเดียวผ่านรวด ในปี 2481 กรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มองเห็นความสามารถของนายสังข์ จึงได้ขอโอนตัวจากกระทรวงศึกษา ไปประจำแผนกวิทยุกระจายเสียง โดยรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกความรู้ ซึ่งในสมัยนั้น ถือว่าเป็นใหญ่มากในทางวิทยุ สามารถชี้ได้ว่าเรื่องนี้ใช้ได้ เรื่องนี้ใช้ไม่ได้ และการที่นายสังข์ออกวิทยุเป็นประจำ ซึ่งขณะนั้นมีวิทยุอยู่สถานีเดียว ทำให้นายสังข์กลายเป็นคนเดียว ที่คุมงานทั้งหมด รวมถึงงานโฆษณาด้วย ซึ่งแม้งานที่นายสังข์ทำ จะมีอิทธิพลทางสื่อวิทยุมากที่สุดในยุคนั้น หากแต่ 1 ปี เต็มที่นายสังข์เข้ากรุงเทพฯ นั้น นายสังข์ยังคงไม่มีบ้านอยู่ ต้องอาศัยหลับนอนพักผ่อนตามศาลาวัด ในสวนลุมฯ บ้านเพื่อนฝูง หรือในบ้างครั้งถึงขั้น พักผ่อนตาม ใต้ต้นไม้ ม้านั่ง และริมทางเดิน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 นายสังข์ได้จัดรายการ นายมั่น นายคง ขึ้น วัตถุประสงค์ในการจัด เพื่อพูดเกี่ยวกับความสำคัญของวันชาติ เนื่องจากเป็นปีแรกที่รัฐบาลจัดให้มีการฉลองวันชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่หลังจากวันชาติไปแล้ว รายการนายมั่น นายคงก็ยังมีต่อไป แต่เปลี่ยนวัตถุประสงค์เป็นเพื่อชี้แจ้งนโยบายของรัฐบาล เพื่ออธิบายนโยบายของรัฐบาลให้ประชาชนฟังง่ายและเข้าใจง่าย ทำให้รายการดังกล่าว มีคนรับฟังทั่วประเทศทุกคืน เพราะมีสถานีเดียวและถ่ายทอดไปทั่วประเทศ ทำให้กลายเป็นรายการยอดฮิตที่สุดในยุคนั้น
สู่นักจัดรายการวิทยุที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ
[แก้]จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งตำแหน่งในขณะนั้น คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับการสนับสนุนจากคณะราษฎรให้ดำรงตำแหน่งมีอำนาจทางการเมืองแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งขณะนั้นจอมพล ป. มีนโยบายเพื่อปลูกฝังความรู้สึกลัทธิชาตินิยมขึ้นในหมู่ประชาชน และมีอำนาจทั้งการทหารและทางการเมืองอย่างล้นฟ้า แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากมวลชน จอมพล ป.ฯ จึงจำเป็นต้องใช้สื่อมวลชนที่มีอิทธิพลสูงสุดในยุคนั้นในการเป็นกระบอกเสียง ซึ่งก็คือ รายการสนทนา นายมั่น นายคง ของนายสังข์ โดยจอมพล ป.ฯ ได้ใช้รายการนี้ เพื่อปลุกระดมความรู้สึกของประชาชนให้ลุกฮือเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจากฝรั่งเศส และปลุกชาวลาวและเขมรผู้รักชาติ ให้ลุกขึ้นต่อสู้ปลดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศส รวมถึงนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมของจอมพล ป. ฯ ที่ใช้มาตลอด 5 ปี อาทิ การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม มาเป็นไทย การประกวดแต่งเพลงชาติ การเลิกนุ่งผ้าม่วง ผ้าจูงกระเบน ผ้าถุง ผ้าซิ่น และให้มานุ่งกางเกง กระโปรง สวมรองเท้า สวมหมวก เลิกกินหมาก ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนมาจากการป่าวประกาศชี้แจงเชิญชวนจากนายสังข์ทั้งสิ้น รวมถึงช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ให้นายสังข์ปลุกใจประชาชนให้เตรียมรับภัยสงครามอย่างเต็มที่และนายสังข์ ยังเป็นผู้อ่านแถลงการณ์รัฐบาลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อสั่งให้ ทหาร ตำรวจ หยุดยิง อีกด้วย ทำให้ในทางต่างประเทศ ถือว่ารายการนายมั่น นายคง เป็นรายการแถลงนโยบายระดับชาติเลยทีเดียว
ถูกจับในข้อหาอาชญากรสงคราม ร่วมทุกข์ร่วมสุขจอมพล ป.
[แก้]หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง จอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รายการสนทนา นายมั่น นายคง ก็ยุติลงด้วย จอมพล ป. ขยับไปดูเชิงทางการเมืองที่เขากระโจน ในกองทหารปืนใหญ่ที่ลพบุรี และได้ชักชวนให้นายสังข์ไปอยู่ด้วย รวมถึงมีบัญชาให้นายสังข์ เข้าทำงานที่สถานีวิทยุลพบุรี หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลงในเดือน สิงหาคม 2488 เมื่อสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้อย่างราบคาบและปราศจากเงื่อนไข ทหารญี่ปุ่นในไทยถูกปลดอาวุธ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินในขณะนั้น ได้ประกาศการประกาศสงครามของไทยต่อสหรัฐและอังกฤษให้เป็นโมฆะ และในฐานะที่จอมพล ป.ฯ เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้จอมพล ป. และบริวาร รวมถึงนายสังข์ จะต้องตกอยู่ในฐานะอาชญากรสงครามโลก เช่นเดียวกับฮิตเลอร์และโตโจ ซึ่งขญะถูกจับกุมคุมขังนั้น นายสังข์มีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น โดยนายสังข์ถูกส่งตัวมาขังที่สันติบาล ส่วนจอมพล ป. ถูกขังอยู่ที่โรงพักศาลาแดง แต่ได้ขอไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ช่วยส่งตัวนายสังข์มาคุมขังที่โรงพักศาลาแดงเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งหลังจากติดคุกอยู่ด้วยกันเพียงไม่กี่วัน ตำรวจก็ส่งตัวผู้ต้องขังทั้งหมดไปผลัดฟ้องศาล แล้วนำเข้าเรือนจำจังหวัดพระนคร – ธนบุรี การที่ประสบชะตาเดียวกันในคุก ทำให้จอมพล ป.ฯ และนายสังข์ รักใคร่สนิทสนมกันมากราวกับบิดาและบุตรเลยทีเดียว และในวันที่ 12 มกราคม 2489 ศาลฎีกาก็ได้ตัดสินให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงครามทั้งหมด โดยหลักกฎหมายที่ว่า รัฐบาลออกกฎมาเพื่อมีจุดประสงค์เพื่อยิงเป้าจอมพล ป. ฯ และพรรคพวก ใช้บังคับย้อนหลังไม่ได้ ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว
จัดตั้งสมาคมกรรมกรไทยกับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
[แก้]ภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 8 เมษายน 2491 จอมพล ป. ก็ได้เรียกนายสังข์มาช่วยงานอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะคนสนิทและไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง โดยได้มอบหมายงานให้นายสังข์รับผิดชอบงานใหญ่จำนวน 2 ชิ้น คือ งานหนังสือพิมพ์ และงานเรื่องแรงงาน ซึ่งงานทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับมวลชนทั้งสิ้น โดยนายสังข์ ได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ ธรรมาธิปัตย์ และ Bangkok Tribune ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษอังกฤษรายวันทั้ง 2 ฉบับ ตั้งอยู่บริเวณ ถนนราชดำเนิน ตรงหัวมุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในส่วนของเรื่องแรงงานนั้น เนื่องจากในสมัยนั้น ความรู้เรื่องแรงงานของคนไทยมีน้อยมาก เพราะยังไม่มีกฎหมายแรงงาน ไม่มีคำว่าสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นกลไกลทางกฎหมายที่แก้ไขปัญหาแรงงาน ฉะนั้นในสมัยนั้นเมื่อมีผู้ใช้แรงงานนัดหยุดงานหรือเรียกรองค่าจ้างและสวัสดิการ ก็มักจะถูกนายจ้างใช้กฎหมายอาญาและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปราบปราม ไม่มีใครรู้จักเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ที่ใช้ปฏิบัติกันในโลกอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว นายสังข์ได้เดินทางไปศึกษาวิชาแรงงานด้วยตัวเอง ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกๆที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในวิชานี้ และหลังจากกลับมา ก็ได้ขอให้จอมพล ป. ฯ ออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยตามแบบสากลในปี 2500 และได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาขบวนการแรงงานของประเทศควบคู่ไปกับการเจริญทางอุตสาหกรรมของประเทศเรื่อยมา
สร้างปรากฏการตื่นตัวเดินทางไปแสวงบุญธรรมยาตรา
[แก้]นายสังข์ได้หันความสนใจช่วงหนึ่งมาศึกษาศาสนา โดยเริ่มจากการเดินทางไปเที่ยวอาหม ที่แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย เมื่อเดินทางกลับก็ได้เขียนเรื่อง “เยี่ยมไทยอาหม สายเลือดของเรา” และหลังจากนั้น ก็ยังได้เดินทางไปธรรมยาตรา เยือนลุมพินี ราชคฤท์ กุสินาราและนาลันทา ในประเทศอินเดียด้วย โดยนายสังข์ ได้ถ่ายหนังระหว่างเดินทางไปยังสถานที่แสวงบุญต่างๆกลับมาฉายให้ชาวพุทธในเมืองไทยได้ชม ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่คนไทยได้มีโอกาสเห็นสถานที่สำคัญๆทางพระพุทธศาสนา จนเกิดปรากฏการการตื่นตัวไปธรรมยาตรากันนับแต่นั้นเป็นต้นมา และนายสังข์ก็ได้เขียนหนังสือยาว 5 เล่ม เรื่อง “ตามรอยบาทพระพุทธองค์” ขึ้น ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเป็นการเสนอพุทธปรัชญาอย่างละเอียดอีกด้วย
เสนอเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับจีน
[แก้]นายสังข์เป็นคนรักการอ่านหนังสือและทำงานด้านกรรมกรด้วยใจ ทำให้นายสังข์มองเห็นสังคมที่เหลื่อมล้ำต่ำสูง และในที่สุดก็ได้ซึมซาบลัทธิสังคมนิยมแบบเฟเบี้ยน (Fabian Socialism) คือการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นธรรม ด้วยวิธีสันติและในรูปของการออกกฎหมายช่วยคนที่ด้อยกว่าทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็คือผู้ใช้แรงงาน โดยไม่ใช้วิธีรุนแรงเพื่อโค่นล้มทุนนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ขณะนั้นสหรัฐ ซึ่งเป็นศัตรูกับจีนเริ่มสังเกตว่า นายสังข์ ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งใกล้ชิดที่สุดของจอมพล ป. มีหัวโน้มเอียงไปนิยมคอมมิวนิสต์ จอมพล ป. ฯ จึงเกรงว่า หากสหรัฐรู้เข้าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ แต่นายสังข์ได้ชี้แจงแก่จอมพล ป. โดยยืนยันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสัมพันธ์กับจีนด้วย เพราะประเทศจีนอยู่ใกล้ชิดกับประเทศไทย และจีนได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำโดยเหมาเจ๋อตงแล้ว ประเทศจีนจะต้องเป็นมหาอำนาจเทียบเท่าสหรัฐ รวมถึงเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยกับคนจีน ก็เชื่อมโยงกันมาแต่ไหนแต่ไร จีนจะเป็นมหามิตรของชาติเราได้ดีกว่าชาติอื่น และยิ่งได้ทราบถึงไมตรีของโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งมีโอกาสได้พบปะกับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรรณ รัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศเอเชียแอฟริกา (AFRO-ASIAN NATION) ที่นครบันดง ประเทศอินโดนีเซียว่า จีนหวังเป็นมิตรกับไทยด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้นายสังข์ยืนยันกับจอมพล ป.ฯ ว่าจะอย่างไรเสีย ไทยก็จำเป็นต้องสัมพันธ์กับจีน สุดท้ายจอมพล ป.ฯ จึงตัดสินใจมอบหมายให้นายสังข์เป็นคนติดต่อสัมพันธ์ลับๆกับจีน
เสนอส่งลูกในไส้เป็นตัวประกันเชื่อมสัมพันธ์ไทยจีน
[แก้]นายสังข์เป็นคนชอบอ่านหนังสือและศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนนั้น นายสังข์ สังเกตเห็นว่า สมัยจีนโบราณยุคที่จีนแตกเป็นรัฐ เป็นก๊ก ตามธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อต้องการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน มักส่งบุตรหรือธิดา ไปเป็นเครื่องประกันความจริงใจเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายสังข์ จึงตัดสินใจแจ้งแก่จอมพล ป.ฯ ว่า เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาลไทยว่ามิได้มีลับลมคมนัย นายสังข์จะขอส่งบุตรชายและบุตรสาวไปให้แก่รัฐบาลจีน เพื่อเป็นหลักประกันความจริงใจในการเชื่อมสัมพันธ์ในครั้งนี้ เมื่อจอมพล ป. ได้ฟังข้อเสนอดังกล่าว ถึงกลับตกใจว่า นายสังข์เล่นการเมืองใจใหญ่มาก ถึงขั้นส่งลูกในไส้ของตนไปเสี่ยง แต่แล้วนายสังข์ก็ยังยืนยัน และได้ส่งบุตรและธิดา คือ นายวรรณไว พัธโนทัย และ นางสาวสิรินทร์ พัธโนทัย ไปยังกรุงปักกิ่ง โดยได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดย นายโจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีจีน ในฐานะบุตรบุญธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ได้ให้การอุปการะแก่ทูตน้อยทั้ง 2 เป็นอย่างดี
ถูกจับรอบ 2 ในข้อหาคอมมิวนิสต์
[แก้]ในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลของจอมพล ป. ทำให้จอมพล ป. ต้องหนีลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไปพักนักอยู่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ส่วนนายสังข์ ก็ได้รับเทียบเชิญจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลทหาร แต่นายสังข์ปฏิเสธ และยืนกรานว่า ตนไม่ใช่คนประเภทข้า 2 เจ้า บ่าว 2 นาย จึงถูกจอมพลสฤษดิ์จับกุมและยัดเยียดในข้อหาอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยถูกคุมขังร่วมกับปัญญาชนอีกจำนวนมาก นายสังข์ถูกขังลืมอยู่เป็นเวลา 7 ปี
ตัวกลางประสานคืนดีจอมพล ป. กับปรีดี กลับประเทศไทยร่วมทำประโยชน์เพื่อชาติ
[แก้]ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ เริ่มมีอาการป่วยและเจ็บหนัก ขณะที่บารมีของจอมพล ป. ในกองทัพยังคงมีอยู่มาก แม้จะลี้ภัยอยู่กรุงโตเกียวก็ตาม ขณะที่นายสังข์ยังอยู่ในคุกลาดยาว นายสังข์มองว่าช่วงเวลาดังกล่าว เป็นจังหวะเหมาะที่จะเชื่อมกับระหว่างจอมพล ป. กับนายปรีดี (ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่กว่างโจว) ให้กลับมาคืนดีกันใหม่ หลังจากที่ร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยกันมา แล้วต้องมาแตกกันในภายหลัง โดยนายสังข์มองว่า การร่วมมือกันอีกครั้งของทั้ง 2 จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง จึงได้เสนอให้คุณเจริญ กนกรัตน์ บรรณาธิการของ น.ส.พ. เสถียรภาพของนายสังข์ ซึ่งเป็นมิตรสนิทสนมกับครอบครัว รวมถึงเป็นคนที่ติดต่อกับทางการจีนมาโดยตลอด ไปพบนายปรีดีอย่างลับๆในปี 2506 โดยนายเจริญได้บินไปมาระหว่างกวางโจวกับโตเกียว 2-3 ครั้ง ในระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยใช้ชื่อรหัสของนายปรีดีว่า “โปรเฟสเซอร์หลิน” ส่วนจอมพล ป. ใช้รหัสชื่อว่า “มิสเตอร์วาตานาเบ้” ในการติดต่อระหว่างกันของทั้ง 2 ท่าน ผ่านทางโทรเลข เพื่อป้องกันมิให้สหรัฐจับได้ โดยทั้ง 2 ได้มีโอกาสติดต่อกันจนถึงขั้นล้อกันว่า คงมีโอกาสได้นัดพบกันอย่างลับๆในเร็วๆนี้ และคงจะได้มีโอกาสดื่มไวน์ดูบอเน่ต์ด้วยกันอีกครั้ง เหมือนสมัยเรียนหนังสือด้วยกันที่กรุงปารีส ซึ่งแน่นอนว่า การติดต่อกันระหว่างจอมพล ป. กับนายปรีดี ส่งผลต่อความวิตกกังวลให้แก่รัฐบาลของคณะทหารเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรัฐบาลไทยให้กรมตำรวจปล่อยข่าวว่า สันติบาลได้ล้างห้องขังรอไว้แล้ว หากจอมพล ป. กลับมากรุงเทพฯ แต่แล้วในวันที่ 11 มิถุนายน 2507 หลังจากก่อนหน้านี้หนึ่งเดือนที่จอมพล. ป ได้ส่งโทรเลขอวยพรวันเกิดของนายปรีดีและหวังว่าจะได้พบกันในกรุงเทพฯ เร็วๆนี้ จอมพล ป. ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ถือเป็นการปิดฉากบรรทัดหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยทิ้งคำถามไว้ว่า ถ้าจอมพล ป. กับนายปรีดีได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง การเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
ตัวกลางยุติสงครามเวียดนามระหว่างจีนกับสหรัฐ
[แก้]หลังจากที่นายสังข์ ติดคุกอยู่เรือนจำลาดยาว เป็นเวลากว่า 7 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาด้วยคำพิพากษาของศาลว่า นายสังข์มิได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ฟ้องร้อง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 ในช่วงนั้น เป็นช่วงที่สหรัฐกำลังจมปลักอยู่ในสงครามเวียดนามและต้องหาทางออกให้ได้ นาย Norman B Hannah อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนอเมริกันเก่าแก่ของนายสังข์สมัยที่เป็นทูตแรงงานอยู่ในสถานทูตสหรัฐ ได้เชิญนายสังข์ไปเลี้ยงแสดงความยินดีที่ได้รับการปล่อยตัวที่สถานทูตสหรัฐฯ และระหว่างงานเลี้ยงดังกล่าว นาย Norman B Hannah ได้ปรารภกับนายสังข์ว่า สหรัฐฯยินดีจะพบปะเจรจา เพื่อขอยุติสงครามเวียดนามกับรัฐบาลจีน โดยสหรัฐฯพร้อมเจรจากับผู้แทนจีนในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีสถานทูตสหรัฐฯตั้งอยู่ก็ได้ เพราะนาย Norman B Hannah ทราบว่านายสังข์ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน โดยมีการส่งลูกไปอยู่กับจีนตั้งแต่เด็ก นายสังข์ ได้รับหนังสือเดินทางไทยให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยใช้เส้นทางฮ่องกง มาเก๊า และดำดินเข้าประเทศจีนไปพร้อมกับนายสุวิทย์ เผดิมชิต อดีตประธานนักศึกษาธรรมศาสตร์ และได้พยายามติดต่อกับนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล ของจีน เพื่อเปิดการเจรจายุติสงครามเวียดนามขึ้นที่กรุงปักกิ่ง แต่เนื่องจากขณะที่นายสังข์เดินทางไปจีนนั้น การเมืองจีนกำลังวุ่นวายอย่างหนัก ประธานเหมาเจ๋อตง ประกาศการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลายคนถูกออกจากตำแหน่ง แม้แต่นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เอง ก็ถูกแก๊งอ๊อฟโฟร์ (Gang of four) พยายามริดรอนอำนาจ ส่งผลให้นายก โจว เอิน ไหล ไม่ทราบการเดินทางมาเยือนเมืองจีนของนายสังข์ พวกเรดการ์ด(Red Guards)ในกระทรวงต่างประเทศ จึงเปิดเจรจากับนายสังข์เสียเอง โดยอ้างว่า นายกฯโจวติดภารกิจยังไม่ว่างที่จะพบ การเจรจาในครั้งนั้นแม้จะล้มเหลว แต่ข่าวของสหรัฐที่นายสังข์นำไปรายงาน ก็ทำให้รัฐบาลจีนทราบ ส่งผลให้จีนแสดงท่าที่แข็งกร้าวกับสหรัฐฯอย่างรุนแรงโดยไม่ยอมประนีประนอมใดๆ ส่งผลให้สหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามอย่างยับเยิน และพวกเรดการ์ดได้พยายามเกลี้ยกล่อมนายสังข์ให้อยู่ร่วมขบวนการปฏิวัติไทยของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในเมืองจีน แต่นายสังข์ปฏิเสธจึงถูกพวกเรดการ์ดส่งตัวออกจากประเทศจีนไป
ชีวิตบั้นปลาย
[แก้]ในปี 2521 มาดามเติ้ง หยิ่ง เชา ภรรยาของนายกรัฐมนตรีโจว เอิน ไหล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารองประธานาธิบดีของจีน ได้เชิญนายสังข์และครอบครัวไปเยือนประเทศจีนฉันมิตรเก่า ซึ่งขณะนั้นนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีน ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว 2 ปี การเดินทางเยือนจีนครั้งนั้น นายสังข์ได้ขอให้ทางจีนพาเยือนเมืองแต้จิ๋วด้วย เพราะอยากศึกษาค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวแต้จิ๋วกับชาวไทยแต่โบราณ และเมื่อกลับมาถึงเมืองไทย นายสังข์ ได้ลงมือเขียนหนังสือเรื่อง “เที่ยวเมืองแต้จิ๋ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตากสินกับพระเจ้ากรุงจีน” ลงนิตยสารประโคนชัย ขณะกำลังใกล้จะเขียนหนังสือจบแล้วนั้น นายสังข์ก็เกิดล้มป่วยเป็นอัมพาต และรัฐบาลจีนได้เชิญตัวนายสังข์ให้ไปรักษาตัวที่ปักกิ่ง และเมื่อกลับจากรักษาตัวที่ปักกิ่งแล้ว นายสังข์ก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ไปรักษาอัมพาตที่ปักกิ่ง” รวมถึงยังพยายามมานะเขียนสารคดีประวัติศาสตร์เรื่อง “เรื่องแปลกๆของท่านจอมพลแปลก” ลงเผยแพร่ในนิตยสารประโคนชัย แม้ขณะนั้นโรคหัวใจได้เริ่มเบียดเบียนอย่างหนักแล้วก็ตาม ในบั้นปลายชีวิตนอกจากการอุทิศกำลังกายและกำลังปัญญาเพื่องานเขียนหนังสืออย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยงานกระชับมิตรภาพไทยจีนอยู่เป็นเนืองๆ รวมถึงยังทำงานเพื่อยุติการสู้รบกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกับรัฐบาล โดยเป็นตัวกลางติดต่อประสานงานให้บุคคลชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่นายสังข์รู้จักมาก่อน เข้ามาพบปะเจรจากับฝ่ายรัฐบาลอย่างลับๆ เพื่อหาทางยุติการฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกัน โดยบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลที่นายสังข์ติดต่อประสานงานด้วยคือ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต. สุดสาย หัสดิน และ พล.ต.ต. เกษม แสงมิตร ซึ่งนายสังข์กับพล.อ. ชวลิต ได้ตัดสินใจที่จะเสี่ยงเข้าไปเจรจากับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทางภาคอีสานด้วย นอกจากนี้ ยังได้ช่วยงานของขบวนการกู้ชาติเขมรเสรีของ ฯพณฯ ซอนซาน นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลประชาธิปไตยกัมพูชา เพื่อหวังให้กัมพูชา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทย กลับคืนสู่ความเป็นปึกแผ่นและพ้นจากการครอบครองของเวียดนาม รวมถึงพยายามช่วยเหลือท่านอูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าผู้เป็นประชาธิปไตย กลับคืนอำนาจ หลังจากถูก นายพลเนวิน นำทหารเข้าปฏิวัติรัฐประหาร โดยนายสังข์ ได้เป็นผู้จัดหาสถานที่ตั้งของพรรคและสถานที่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงให้แก่ท่านอูนุ เพื่อปลุกระดมชาวพม่าให้ลุกขึ้นกำจัดระบอบเผด็จการทหาร เพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นใหม่ในพม่า นายสังข์ เริ่มล้มป่วยอีกครั้งด้วยโรคหัวใจ และในวันที่ 4 มิถุนายน 2529 หลังจากอาบน้ำรับประทานอาหารเช้า นายสังข์ ขอนิตยสารประโคนชัย ซึ่งตนเป็นผู้เขียนเองทั้งหมดจากนายมั่น พัธโนทัย เพื่อนำเข้าไปอ่านในห้องนอน และก็พบนอนเสียชีวิตอยู่กับพื้นห้อง โดยมีนิตยสารประโคนชัย ปิดอยู่ที่หน้าอก
อ้างอิง
[แก้]- Phathanothai, Sirin The Dragon's Pearl. New York: Simon & Schuster, 2001. ISBN 0-7432-1798-5
- Terry Fredrickson (19 January 1998). Post Tips. Bangkok Post.
- Sulak Sivarasa (8 September 2009). Karuna Kusalasaya: May 1920 - August 2009. A virtuous life in the service of humanity. Bangkok Post.
- บทความที่รอการตรวจลิขสิทธิ์ด้วยบอต
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2458
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2529
- บุคคลจากจังหวัดสมุทรปราการ
- ครูชาวไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- นักปรัชญา
- นามปากกา
- การเมืองภาคประชาชน
- นักเขียนชาวไทย
- นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย
- บรรณาธิการหนังสือพิมพ์
- กวีชาวไทย
- นักโทษของประเทศไทย
- ผู้ลี้ภัยชาวไทย
- นักลัทธิคอมมิวนิสต์
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
- ชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- อาชญากรสงครามชาวไทย
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์