ประชาธิปไตย
เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในแอฟริกาใต้ ค.ศ. 1994 ในทศวรรษ 1990 การยกเลิกการถือผิวเพื่อสนับสนุนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ชาวแอฟริกาใต้หลายสิบล้านคนรวมถึงแมนเดลา สามารถลงคะแนนเสียงได้เป็นครั้งแรก |
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
ประชาธิปไตย |
---|
สถานีย่อยการเมือง |
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
ระบอบการปกครอง พื้นฐาน |
---|
รายชื่อระบอบการปกครอง รายชื่อประเทศตามระบอบการปกครอง |
สถานีย่อยการเมือง |
ประชาธิปไตย (อังกฤษ: democracy; มาจาก กรีกโบราณ: δημοκρατία, อักษรโรมัน: dēmokratía, dēmos 'ประชาชน' กับ kratos 'กฎระเบียบ')[1] เป็นระบบการปกครองแบบหนึ่งซึ่งพลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเลือกผู้ปกครองซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมาย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนด้วยตนเองหรือผ่านผู้แทนที่เลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ การตัดสินว่าผู้ใดเป็นพลเมืองบ้างและการแบ่งปันอำนาจในหมู่พลเมืองเป็นอย่างไรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงในอัตราไม่เท่ากัน นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ความคิดที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมและการพูด การไม่แบ่งแยกและความเสมอภาค สิทธิพลเมือง ความยินยอม สิทธิในการมีชีวิตและสิทธิฝ่ายข้างน้อย นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ของตนและแบ่งอำนาจจากกลุ่มคนมาเป็นชุดกฎเกณฑ์แทน[2]
ประชาธิปไตยแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ประเภทแรกเริ่มปรากฏขึ้นในนครรัฐกรีกโบราณบางแห่งช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครรัฐเอเธนส์ เรียก ประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งพลเมืองทุกคนมีสิทธิพิจารณากลั่นกรองและวินิจฉัยกฎหมาย ประเภทที่สองเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยสาธารณะออกเสียงในการเลือกตั้งและเลือกผู้แทนตนไปทำหน้าที่ในรัฐสภา เช่น ระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี[3] สำหรับประชาธิปไตยเสรีนิยมซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่พบกันแพร่หลายนั้น การใช้อำนาจของฝ่ายข้างมากจะอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน แต่รัฐธรรมนูญมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายข้างมาก กับทั้งคุ้มครองสิทธิของฝ่ายข้างน้อย ซึ่งพลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิบางประการ เช่น เสรีภาพในการชุมนุมและการพูด[4] การวินิจฉัยสั่งการส่วนใหญ่ใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่บางอย่างใช้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษหรืออาจถึงขั้นเสียงเอกฉันท์ เพื่อให้ประเด็นที่ละเอียดอ่อนมีความชอบธรรมมากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ประชาธิปไตยทางอ้อม แต่กระบวนการบางอย่างยังเป็นประชาธิปไตยทางตรง เช่น การลงประชามติ การเลือกคณะลูกขุนในศาล การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นต้น
ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรีซโบราณ[5][6] แต่วิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยปรากฏในสังคมอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งเมโสโปเตเมีย ฟินีเซีย และอินเดีย[7] วัฒนธรรมอื่นหลังกรีซได้มีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของประชาธิปไตย เช่น โรมโบราณ[5] ยุโรป[5] และอเมริกาเหนือและใต้[8] ประชาธิปไตยแบบโบราณซึ่งพลเมืองชายมากน้อยต่างกันมีสิทธิทางการเมืองนั้นค่อย ๆ หมดไปในช่วงปลายสมัยโบราณ มโนทัศน์ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเกิดขึ้นส่วนใหญ่จากแนวคิดและสถาบันซึ่งได้มีการพัฒนาระหว่างยุคกลางของทวีปยุโรปและยุคภูมิธรรมในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส[9] จนมาถึงช่วงหลังสงครามเย็น ประชาธิปไตยถูกเรียกว่า "ระบอบการปกครองสุดท้าย" และแพร่หลายอย่างมากไปทั่วโลก[10]
ประชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับบุคคลคนเดียว เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับคณะบุคคลจำนวนน้อย เช่น คณาธิปไตย กระนั้น ระบอบที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยเหล่านี้ยังสืบทอดมาแต่ปรัชญากรีก และปัจจุบันยิ่งดูเคลือบคลุมมากขึ้น เพราะรัฐบาลร่วมสมัยต่างมีส่วนที่เป็นประชาธิปไตย คณาธิปไตยและราชาธิปไตยผสมกัน
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]คำว่า democracy ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า "ดีมอคระเทีย" (กรีก: ) ซึ่งหมายถึง "การปกครองโดยประชาชน" (popular government) , dēmokratía[11] อันเป็นคำประสมระหว่างคำว่า "ดีมอส" (กรีก: δῆμος, demos) หมายถึง ประชาชน และ "คราทอส" (กรีก: κράτος, kratos) หมายถึง การปกครอง หรือ พละกำลัง
ส่วนในภาษาไทย คำว่า ประชาธิปไตย ประกอบด้วยคำว่า "ประชา" ซึ่งหมายถึง "ปวงชน" และ "อธิปไตย" ซึ่งหมายถึง "ความเป็นใหญ่" เมื่อรวมกันจึงหมายถึง "ความเป็นใหญ่ของปวงชน" ส่วนพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่"[12] แต่ในห้วงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกใช้ในความหมายว่า สาธารณรัฐ[13]: 11–2
ลักษณะ
[แก้]ไม่มีคำนิยามประชาธิปไตยที่ทุกคนเห็นตรงกันหมด การศึกษาในภาษาอังกฤษครั้งหนึ่งพบว่ามีคำอธิบายประชาธิปไตยอย่างน้อย 2,234 คำอธิบาย[14] แต่มีระบุว่าจะต้องมีลักษณะสำคัญ คือ ความเสมอภาคทางกฎหมาย เสรีภาพทางการเมืองและนิติธรรม[15][16] ตัวอย่างเช่น ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน คะแนนเสียงทุกเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน จะต้องไม่วางข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผลซึ่งห้ามบุคคลสมัครรับเลือกตั้ง และอิสรภาพของพลเมืองได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ[17][18]
ทฤษฎีหนึ่งมองว่าประชาธิปไตยประกอบด้วยหลักการพื้นฐานสามประการ ได้แก่ การควบคุมจากล่างขึ้นบน (อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของอำนาจระดับล่างสุด) ความเสมอภาคทางการเมือง และบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งสะท้อนหลักการสองข้อแรก[19] แลร์รี ไดมอนด์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน มองว่ามีสี่องค์ประกอบ ได้แก่ ระบบการเมืองที่เลือกและเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งที่มีอิสระและเป็นธรรม, การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของราษฎร, การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม[20]
คำว่า "ประชาธิปไตย" บางทีใช้เป็นคำย่อของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบที่รวมความคิด เช่น พหุนิยมทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย สิทธิในการร้องทุกข์ต่อข้าราชการการเมือง กระบวนการทางกฎหมาย เสรีภาพพลเมือง สิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมนอกเหนือจากภาครัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากโรเจอร์ สครูตันให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยจะมอบเสรีภาพส่วนบุคคลและการเมืองไม่ได้หากปราศจากสถาบันประชาสังคม[21]
ระบอบประชาธิปไตยมีวิธีวินิจฉัยสั่งการหลายวิธี แต่วิธีหลักได้แก่ การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่จะต้องมีการชดเชยหรือคุ้มครองทางกฎหมายต่อปัจเจกหรือกลุ่ม ฝ่ายข้างน้อย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ "ทรราชเสียงข้างมาก" หลายประเทศมีการแยกใช้อำนาจต่างกัน เช่น ในสหราชอาณาจักรใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์ซึ่งมีรัฐสภาเป็นใหญ่ (parliamentary sovereignty) และฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร[22] ในสหรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการมีอำนาจเท่ากัน ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ในบางประเทศถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการพูด เสรีภาพสื่อ และประชาธิปไตยอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เขาออกเสียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง[23][24] นอกจากนี้ยังมีการเสนอว่าลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถมส่วนร่วมอย่างอิสระและเต็มที่ในสังคม[25] โดยเน้นย้ำเรื่องแนวคิดสัญญาประชาคมและเจตจำนงร่วมของพลเมือง จึงอาจกล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นคติรวมหมู่ทางการเมืองแบบหนึ่งเพราะนิยามว่าเป็นระบอบการปกครองที่พลเมืองที่มีสิทธิทุกคนมีเสียงเท่ากันในการออกกฎหมาย[26]
สำหรับคำว่า สาธารณรัฐ (republic) นั้น แม้มักสัมพันธ์กับประชาธิปไตยในเรื่องหลักการปกครองด้วยความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง แต่สาธารณรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะสาธารณรัฐนิยมไม่ได้เจาะจงว่าปกครองประชาชนอย่างไร[27] คำว่า "สาธารณรัฐ" แต่เดิมนั้นครอบคลุมทั้งประชาธิปไตยและอภิชนาธิปไตย[28][29] ในความหมายสมัยใหม่ สาธารณรัฐเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การวัด
[แก้]หลายองค์การพิมพ์เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพตามบทนิยามต่าง ๆ และอาศัยข้อมูลต่างประเภทกัน ประกอบด้วย[34]
- เสรีภาพในโลก (Freedom in the World) ซึ่งจัดพิมพ์ทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 1972 โดยองค์การฟรีดอมเฮาส์ในสหรัฐ โดยให้คะแนนจากสิทธิการเมืองและเสรีภาพพลเมืองที่มาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งเป็นมีเสรีภาพ มีเสรีภาพบางส่วน และไม่มีเสรีภาพ[35]
- ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก (Worldwide Press Freedom Index) จัดพิมพ์ทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 2002 (ยกเว้น ค.ศ. 2011) โดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในประเทศฝรั่งเศส โดยมีการประเมินประเทศต่าง ๆ แบ่งออกเป็นกลุ่มสถานการณ์ดี สถานการณ์น่าพอใจ มีปัญหาเริ่มสังเกตได้ สถานการณ์ลำบาก และสถานการณ์ร้ายแรงมาก[36]
- ดัชนีเสรีภาพในโลก (Index of Freedom in the World) เป็นดัชนีวัดเสรีภาพพลเมืองคลาสสิก ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเฟรเซอร์ในแคนาดา สถาบันไลเบราเลสในเยอรมนี และสถาบันคาโตในสหรัฐ[37]
- โครงการข้อมูลสิทธิมนุษยชน CIRI (CIRI Human Rights Data Project) วัดสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรีและสิทธิแรงงานหลายด้าน จัดทำโดยมหาวิทยาลัยคอนเน็กติกัต ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1994[38]
- ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) จัดพิมพ์เผยแพร่โดยอีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิตในสหราชอาณาจักร ซึ่งจำแนกประเทศออกเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง ระบอบผสมหรือระบอบอำนาจนิยม ดัชนีใช้ตัวชี้วัด 60 ตัวใน 5 กลุ่ม[39]
- ชุดข้อมูลโพลิตี (Polity data series) ในสหรัฐ เป็นชุดข้อมูลที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการวิจัยทางรัฐศาสตร์ ในชุดข้อมูลมีสานิเทศรายปีเข้ารหัสเกี่ยวกับลักษณะอำนาจหน้าที่ของระบอบและการเปลี่ยนผ่านสำหรับรัฐเอกราชทุกรัฐที่มีประชากรรวมมากกว่า 500,000 คน และครอบคลุมเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1800–2006 ข้อสรุปของ โพลิตี เกี่ยวกับระดับประชาธิปไตยของรัฐอาศัยการประเมินการเลือกตั้งของรัฐนั้น ๆ เพื่อการแข่งขัน การเปิดกว้างและระดับการมีส่วนร่วม งานนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานเฉพาะกิจความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (Political Instability Task Force) ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) แต่ทัศนะในรายงานเป็นทัศนะของผู้เขียน ไม่ใช่ของรัฐบาลสหรัฐ
- แม็กซ์เรนจ์ (MaxRange) ชุดข้อมูลนิยามระดับประชาธิปไตยและโครงสร้างเชิงสถาบัน ซึ่งวัดความรับผิดชอบทางการเมือง แม็กซ์เรนจ์นิยามค่าแก่ทุกรัฐและทุกเดือนตั้งแต่ ค.ศ. 1789 และปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยฮาล์มสตา ประเทศสวีเดน[40]
เนื่องจากประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับสถาบันหลากหลายซึ่งวัดได้ไม่ง่ายด้วย จึงมีข้อจำกัดอยู่มากในการวัดค่าและวัดเชิงเศรษฐมิติซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของประชาธิปไตยหรือความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์อื่น เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและการศึกษา เป็นต้น[41] เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในการได้มาซึ่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ข้อมูบในประเทศเดียวกันมีความแตกต่างกันในแง่มุมต่าง ๆ ของประชาธิปไตย นักวิชาการส่วนใหญ่ศึกษาความแตกต่างระหว่างประเทศต่าง ๆ แต่ความแปรปรวนระหว่างสถาบันประชาธิปไตยประเทศต่าง ๆ มีขนาดใหญ่มากซึ่งขัดขวางการเปรียบเทียบอย่างมีความหมายโดยใช้วิธีการทางสถิติ เนื่องจากตรงแบบประชาธิปไตยวัดรวมกันเป็นตัวแปรมหภาคโดยใช้การสังเกตครั้งเดียวสำหรับ 1 ประเทศต่อปี การศึกษาประชาธิปไตยเผชิญกับข้อจำกัดทางเศรษฐมิติ จึงทำให้การเปรียบเทียบระหว่างประเทศอาจไม่เป็นประโยชน์หรือมีความเคร่งครัดทางระเบียบวิธี[41] ด้าน Dieter Fuchs และ Edeltraud Roller เสนอแนะว่า ในการวัดคุณภาพของประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากใช้การวัดวัตถุวิสัยแล้วจะต้องใช้ "การวัดเชิงอัตวิสัยโดยอาศัยทัศนคติของพลเมือง" ด้วย[42] ในทำนองเดียวกัน Quinton Mayne และ Brigitte Geißel ยังให้เหตุผลสนับสนุนว่าคุณภาพของประชาธิปไตยไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของสถาบันการเมืองอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความคิดโน้มเอียงและการผูกมัดของพลเมืองด้วย[43]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ยุคโบราณ
[แก้]ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยาระบุว่าพบระบอบก่อนประชาธิปไตย (proto-democracy) ในหมู่คนเก็บของป่าล่าสัตว์ ซึ่งใช้เสียงเอกฉันท์และบ่อยครั้งไม่มีการกำหนดตัวหัวหน้า[44] ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบชนเผ่าหรือประชาธิปไตยดึกดำบรรพ์ (primitive democracy) ระบบนี้มักมีสภาผู้อาวุโสหรือระบบที่มีผู้นำแต่ได้รับการสนับสนุนจากผู้อาวุโสหรือระบอบอื่นที่มีการร่วมมือกัน[45] ตั้งแต่ครั้งอดีต ประชาธิปไตยและสาธารณรัฐเป็นระบอบที่พบน้อย นักทฤษฎีสาธารณรัฐนิยมเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับขนาดเล็ก คือ ยิ่งรัฐมีขนาดใหญ่โตขึ้นมากเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่รัฐนั้นจะกลายเป็นระบบใช้อำนาจเด็ดขาด[46] แต่รัฐขนาดเล็กก็เสี่ยงต่อการถูกพิชิตโดยรัฐอื่น[47]
คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาในกรีซโบราณ ปราชญ์เพลโตเปรียบเทียบประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง" ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตย และเศรษฐยาธิปไตย[48] ชาวนครเอเธนส์สถาปนาระบอบที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยแห่งแรกของโลกเมื่อ 508–507 ปีก่อน ค.ศ. โดยมีไคลสธีนีสเป็นผู้นำ ต่อมาเขาได้ชื่อว่า "บิดาแห่งประชาธิปไตยแบบเอเธนส์" แม้ถือว่าประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการและศาล[49] และสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยพลเมืองทุกคน[50] พลเมืองทุกคนมีสิทธิอภิปรายและลงมติในสภาซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ ทว่า ความเป็นพลเมืองเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะชาย ไม่รวมผู้หญิง ทาส และคนต่างด้าว (กรีก: μετοίκος, metoikos)[51] มีเพียงเหล่าแม่ทัพและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง[52]
ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จึงเป็นประชาธิปไตยทางตรงอย่างที่สุด ในความหมายที่พลเมืองเป็นผู้วินิจฉัย และมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองทุกระดับ ตั้งแต่สมัชชา สภา 500 และศาล พลเมืองจำนวนมากยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง[53] แม้ว่ารัฐธรรมนูญเอเธนส์ไม่ได้คุ้มครองสิทธิของพลเมืองในความหมายสมัยใหม่ แต่ชาวเอเธนส์มีเสรีภาพอาศัยอยู่ในนครโดยไม่ขึ้นกับอำนาจภายนอกและไม่ขึ้นกับการปกครองของบุคคลอื่น[54]
การออกเสียงนับคะแนน (range voting) ปรากฏในนครรัฐสปาร์ตาตั้งแต่ 700 ปีก่อน ค.ศ. โดยมีสมัชชา Apella ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้ง ที่สมาชิกเป็นพลเมืองชายทุกคนที่มีอายุเกิน 30 ปี โดยมีการออกเสียงนับคะแนนและตะโกน ซึ่งจะตัดสินจากความดัง สปาร์ตาใช้ระบบนี้เพราะมีความเรียบง่าย และป้องกันการออกเสียงแบบมีอคติ การซื้อเสียงหรือการโกงซึ่งพบได้ดาษดื่นในการเลือกตั้งประชาธิปไตยสมัยแรก ๆ[55][56]
อ้างว่าเกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือประเทศซีเรีย) ซึ่งชาวฟินิเซียก่อตั้งขึ้นเมื่อสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก[57] ซึ่งที่นั่น ประชาชนถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน[58] ฝ่ายเวสาลี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มักถูกมองว่าเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของระบบสาธารณรัฐในโลก[59][60] รูปแบบประชาธิปไตยยังปรากฏในระบบชนเผ่าต่าง ๆ เช่น สหพันธ์ไอระควอย (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม เฉพาะสมาชิกเผ่าเพศชายสามารถเป็นผู้นำได้ มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจกล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งใช้ความคิดเห็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า[61][62] ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งแต่ละกลุ่มมักประกอบด้วย 20-50 คน ไม่ค่อยมีหัวหน้าเท่าใดนักและการตัดสินใจต่าง ๆ อาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย เดิมชุมชนหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งแรงจำนวนน้อย แม้อาจมีคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของชุมชน ทุกคนถูกคาดหวังให้แบ่งปันหน้าที่ในชุมชน และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของชุมชน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง[63]
แม้สาธารณรัฐโรมันมีส่วนส่งเสริมประชาธิปไตยในหลายด้าน แต่คนโรมันเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเป็นพลเมืองที่มีเสียงในการเลือกตั้งผู้แทน เสียงของผู้ทรงอำนาจมีน้ำหนักมากกว่าผ่านระบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา มาจากตระกูลมั่งมีและชนชั้นสูงเท่านั้น[64] รูปแบบการปกครองของโรมันเป็นแรงบันดาลใจแก่นักคิดการเมืองหลายคนในช่วงหลายศตวรรษ[65] และประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนสมัยใหม่มีความคล้ายคลึงกับแบบของโรมันมากกว่าแบบของกรีก คือ เป็นรัฐที่ประชาชนและผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด และมีผู้นำจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง[66]
ยุคกลาง
[แก้]แม้ว่าในทวีปยุโรปส่วนใหญ่ในยุคกลางอยู่ภายใต้การปกครองของนักบวชหรือเจ้าขุนมูลนาย แต่ยังมีระบบการเลือกตั้งหรือสมัชชาอยู่หลายระบบ แม้ว่าบ่อยครั้งประชาชนที่มีส่วนร่วมได้จะคิดเป็นส่วนน้อยเช่นเดียวกับยุคโบราณ ในสแกนดิเนเวีย มีสภาที่เรียกว่า ธิง (thing) ซึ่งประกอบด้วยเสรีชน และมีเจ้าพนักงานกฎหมาย (lawspeaker) เป็นหัวหน้า ธิงเป็นสภาปรึกษาหารือซึ่งทำหน้าที่ระงับปัญหาการเมือง และปรากฏรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งอัลธิง (Althing) ในไอซ์แลนด์ และเลอธิง (Løgting) ในหมู่เกาะแฟโร[67][68] เวเช (veche) ในยุโรปตะวันออก เป็นสภาคล้ายกับธิงแบบสแกนดิเนเวีย ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระสันตะปาปามาจากการประชุมเลือกของคณะพระคาร์ดินัลตั้งแต่ ค.ศ. 1059
รัฐสภาที่มีบันทึกครั้งแรกในทวีปยุโรป ได้แก่ คอร์เตสเลออน ค.ศ. 1198 ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดเก็บภาษีอากร การต่างประเทศและนิติบัญญัติ แม้ว่าสภาพของบทบาทดังกล่าวยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่[69] สาธารณรัฐรากูซา ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1358 ให้พลเมืองอภิชนชายเท่านั้นมีผู้แทนและสิทธิออกเสียงลงคะแนน นครรัฐและหน่วยการเมืองอิตาลีหลายแห่งมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ซึ่งก่อตั้งใน ค.ศ. 1115 มีซินญอเรีย (Signoria, รัฐบาล) ซึ่งสมาชิกมาจากการจับสลาก ในอาณาจักรเสรีชนฟรีเซีย (Friese Freedom) สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10–15 ซึ่งเป็นสังคมที่มิใช่เจ้าขุนมูลนายที่โดดเด่นสังคมหนึ่ง สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในปัญหาท้องถิ่นและข้าราชการของเคาน์ตีขึ้นอยู่กับขนาดที่ดิน ในจักรวรรดิมาลีแบ่งออกเป็นเผ่าปกครองต่าง ๆ ซึ่งมีผู้แทนในสมัชชาใหญ่ แต่อาจมองว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวคล้ายคลึงกับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าสาธารณรัฐ
ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษมีรากฐานการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จากมหากฎบัตร (ค.ศ. 1215) ซึ่งระบุชัดเจนคุ้มครองสิทธิบางประการของผู้ใต้บังคับพระมหากษัตริย์ และโดยนัยยังสนับสนุนสิทธิที่กลายมาเป็นหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลแบบอังกฤษ ซึ่งพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลต่อการถูกจำคุกอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิยื่นอุทธรณ์[70][71] รัฐสภาซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งครั้งแรก คือ รัฐสภาของเดอ มงฟอร์ต ใน ค.ศ. 1265[72][73] การให้สิทธิการร้องทุกข์นับเป็นหลักฐานแรก ๆ ที่รัฐสภาใช้เป็นเวทีสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนสามัญ แต่ยังเกิดปัญหากับรูปแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า "เขตเลือกตั้งเน่า" (rotten boroughs) โดยอำนาจเรียกประชุมสภานั้นยังขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์[74]
การศึกษาเชื่อมโยงการถือกำเนิดของสถาบันรัฐสภาในทวีปยุโรปในยุคกลางกับการรวมกันเป็นกลุ่มของเมืองและการเกิดชนชั้นใหม่ ๆ เช่น ช่างศิลป์[75] ตลอดจนการมีอภิชนชนชั้นขุนนางและศาสนา[76] นักวิชาการยังเชื่อมโยงการถือกำเนิดของการปกครองแบบมีผู้แทนกับการแตกแยกทางการเมืองโดยสัมพัทธ์ของทวีปยุโรป[77] นักรัฐศาสตร์ เดวิด สตาซาเวจ (David Stasavage) เชื่อมโยงการแตกเป็นส่วนของทวีปยุโรป และการกลายเป็นประชาธิปไตยกับเหตุการณ์การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันที่ถูกกลุ่มชนเผ่าเยอรมันกลุ่มเล็ก ๆ รุกราน จนนำไปสู่การตั้งหน่วยการเมืองขนาดเล็กซึ่งผู้ปกครองมีอำนาจค่อนข้างน้อยและจำต้องอาศัยความยินยอมของผู้ถูกปกครองเพื่อปัดป้องภัยคุกคามจากภายนอก[78]
ในโปแลนด์ ประชาธิปไตยขุนนางมีลักษณะที่กิจกรรมของชนชั้นขุนนางกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการเพิ่มอำนาจของพวกตนเมื่อเทียบกับคนมั่งมี คนมั่งมียังครอบงำตำแหน่งสำคัญสงสุดในรัฐ (ทั้งทางโลกและศาสนา) และอยู่ในสภากษัตริย์ซึ่งกลายเป็นวุฒิสภาในเวลาต่อมา ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นขุนนางกลางมีผลกระทบต่อการสถาปนาสถาบันของแผ่นดิน เซย์มิค (sejmik, สมัชชาท้องถิ่น) ซึ่งต่อมาได้รับสิทธิเพิ่มขึน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 เซย์มิคได้รับอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสถาบันอำนาจท้องถิ่นที่มีความสำคัญสูงสุด ใน ค.ศ. 1454 พระมหากษัตริย์พระราชอำนาจอำนาจเก็บภาษีและสั่งระดมพลแก่เซย์มิค และพระราชทานคำสัตย์ว่าจะไม่ออกกฎหมายใหม่ถ้าปราศจากความยินยอมของสภา[79]
สมัยใหม่
[แก้]สมัยใหม่ตอนต้น
[แก้]ในประเทศอังกฤษคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการรื้อฟื้นความสนใจในมหากฎบัตร[80] รัฐสภาอังกฤษผ่านคำร้องขอสิทธิฟ้องร้องรัฐ (Petition of Right) ใน ค.ศ. 1628 ซึ่งสถาปนาเสรีภาพบางประการแก่คนในบังคับ สงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1642–1651) สู้รบกันระหว่างฝ่ายพระมหากษัตริย์และฝ่ายรัฐสภาที่เป็นคณาธิปไตย ในช่วงนี้เองที่ความคิดพรรคการเมืองก่อตัวขึ้นจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ถกเถียงกันเรื่องสิทธิการมีผู้แทนทางการเมืองใน ค.ศ. 1647[81] ในเวลาต่อมา ยุครัฐในอารักขา (ค.ศ. 1653–59) และการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ (ค.ศ. 1660) ฟื้นฟูการปกครองแบบที่เป็นอัตตาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่ารัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลใน ค.ศ. 1679 ซึ่งเสริมสร้างขนบธรรมเนียมที่ห้ามการกักขังบุคคลโดยไม่มีสาเหตุหรือหลักฐานเพียงพอ หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 มีการตราบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689 ซึ่งประมวลสิทธิและเสรีภาพ และยังมีผลใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน บัญญัติฯ มีข้อกำหนดให้จัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ กฎเสรีภาพในการพูดในรัฐสภา และจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อประกันว่าสมบูรณาญาสิทธิของพระมหากษัตริย์จะไม่ครอบงำดุจชาติส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปเวลานั้น[82][83] นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ดักลาส นอร์ธ (Douglass North) และแบร์รี ไวน์แกสต์ (Barry Weingast) ระบุลักษณะของสถาบันที่ตั้งขึ้นในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ว่าประสบความสำเร็จในการจำกัดอำนาจของรัฐบาลและประกันการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน[84]
เหตุที่กล่าวมาข้างต้นล้วนกระตุ้นการเติบโตของปรัชญาการเมืองในหมู่เกาะบริติช ทอมัส ฮอบส์เป็นักปรัชญาคนแรกที่สาธยายทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่างละเอียด เขาเขียนในหนังสือ เลวีอาธาน (Leviathan, ค.ศ. 1651) โดยวางทฤษฎีว่าปัจเจกบุคคลที่อาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติใช้ชีวิตแบบ "โดดเดี่ยว ข้นแค้น รุงรัง ป่าเถื่อนและสั้น" และก่อสงครามกับผู้อื่นไม่หยุดหย่อน เพื่อป้องกันการเกิดสภาพธรรมชาติแบบอนาธิปไตย ฮอบส์จึงให้เหตุผลว่าบุคคลควรยกสิทธิของพวกตนให้แก่รัฐบาลที่เข้มแข็งและเป็นเผด็จการ ต่อมา นักปรัชญาและแพทย์ จอห์น ล็อก ตีความทฤษฎีสัญญาประชาคมอีกอย่างหนึ่ง โดยเขียนใน สองศาสตรนิพนธ์การปกครอง (Two Treatises of Government, ค.ศ. 1689) โดยมองว่าปัจเจกบุคคลทุกคนมีสิทธิที่ไม่อาจโอนให้กันได้ในชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน[85] ล็อกระบุว่าปัจเจกบุคคลมารวมกันตั้งรัฐโดยสมัครใจเพื่อจุดประสงค์ในการพิทักษ์สิทธิของพวกตน ล็อกมองว่าสิทธิในทรัพย์สินมีความสำคัญเป็นพิเศษ และถือเป็นความมุ่งหมายแรกของรัฐบาลทีเดียว[86] ยิ่งไปกว่านั้น ล็อกยืนยันว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมต่อเมื่อได้รับความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง และพลเมืองย่อมมีสิทธิปฏิวัติต่อรัฐบาลที่ละเมิดผลประโยชน์ของพลเมืองหรือกลายเป็นทรราช[87] งานของล็อกถือว่าเป็นเอกสารก่อตั้งความคิดเสรีนิยมและมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อผู้นำการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส[88] กรอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นรูปแบบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในโลก
ในทวีปอเมริกาเหนือ การปกครองแบบมีผู้แทนเริ่มต้นในเจมส์ทาวน์ อาณานิคมเวอร์จิเนีย ด้วยการเลือกตั้งสภาพลเมืองใน ค.ศ. 1619 พวกพิวริตันชาวอังกฤษที่เข้าเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1620 เป็นต้นไป ตั้งอาณานิคมในนิวอิงแลนด์ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแบบประชาธิปไตย[89] ถึงแม้ว่าสมัชชาท้องถิ่นเหล่านี้มีอำนาจที่ได้รับโอนบ้างก็ตาม แต่อำนาจสูงสุดยังเป็นของพระมหากษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษ พวกพิวริตัน แบปติสต์และเควกเกอร์ซึ่งตั้งอาณานิคมเหล่านี้ใช้องค์การประชาธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินของชุมชนในกิจการทางโลกด้วย[90][91][92]
คริสต์ศตวรรษที่ 18–19
[แก้]รัฐสภาบริเตนใหญ่ชุดแรกตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1707 หลังการรวมราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระมหากษัตริย์บริเตนใหญ่ถูกจำกัดพระราชอำนาจจนเหลือเพียงประมุขในพระนามมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐสภายังคงมาจากการเลือกตั้งของชายที่ถือครองทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรใน ค.ศ. 1780[93] ระหว่างยุคเสรีภาพในสวีเดน (ค.ศ. 1718–1772) มีการขยายสิทธิพลเมืองและอำนาจเปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์มาเป็นรัฐสภา เกษตรกรผู้เสียภาษีมีผู้แทนในรัฐสภาแม้จะยังมีอิทธิพลน้อย แต่สามัญชนที่ไม่มีทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
การสถาปนาสาธารณรัฐคอร์ซิกาช่วงสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1755 เป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่รับรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่ชายหญิงอายุเกิน 25 ปีสามารถออกเสียงเลือกตั้งได้[94] รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นฉบับแรกที่อาศัยหลักการของยุคภูมิธรรม สำหรับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของหญิงนั้นยังไม่มีในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ของโลกจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 20
ในยุคอาณานิคมอเมริกาก่อน ค.ศ. 1776 และบางช่วงหลังจากนั้น บ่อยครั้งให้ชายเฉพาะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่สามารถออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนชาวแอฟริกันที่ถูกจับเป็นทาส คนผิวดำที่เป็นไทและหญิงส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ แตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ เริ่มจากรัฐนิวคอนเน็กติกัต ซึ่งต่อมาเรียก เวอร์มอนต์ หลังประกาศเอกราชจากบริเตนใหญ่ใน ค.ศ. 1777 ก็ใช้รัฐธรรมนูญที่ให้พลเมืองและสิทธิเลือกตั้งแก่ชายทั้งที่มีและไม่มีทรัพย์สิน และเลิกทาสด้วย[95][96] การปฏิวัติอเมริกานำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐใน ค.ศ. 1787 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ยังมีผลใช้บังคับที่มีอายุมากที่สุดในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดการปกครองแบบมีผู้แทนและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพลเมืองแก่ประชากรบางส่วน แต่มิได้เลิกทาสหรือขยายสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐ แต่ปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐแทน[97] ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของประเทศใน ค.ศ. 1789 มีประชากรร้อยละ 6 ที่มีสิทธิเลือกตั้ง[98] รัฐบัญญัติการแปลงสัญชาติ ค.ศ. 1790 จำกัดความเป็นพลเมืองแก่คนผิวขาวเท่านั้น[99] รัฐบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1791 จำกัดอำนาจของรัฐบาลเพื่อคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล แต่มีผลกระทบน้อยต่อคำวินิจฉัยของศาลแม้หลังให้สัตยาบันแล้ว 130 ปี[100]
ใน ค.ศ. 1789 ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติรับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมือง และสภากงว็องซียงแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งของชายทุกคนใน ค.ศ. 1792 แม้จะมีอายุสั้น ๆ[101] รัฐธรรมนูญโปแลนด์-ลิทัวเนีย 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1791 มุ่งใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ริเริ่มความเสมอภาคทางการเมืองระหว่างชาวเมืองและชนชั้นขุนนาง และให้เกษตรกรอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาล ซึ่งลดการละเมิดในระบบข้าติดที่ดิน (serfdom) และถึงแม้จะใช้บังคับได้เพียง 19 เดือนก่อนถูกยกเลิก[102][103] แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เองทำให้ชาวโปแลนด์มีความหวังในการฟื้นฟูเอกราชของชาติในอีกศตวรรษให้หลัง
อย่างไรก็ดี ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีประชาธิปไตยทั้งในทางทฤษฎี ปฏิบัติหรือแม้แต่คำว่า "ประชาธิปไตย" เองอยู่น้อยในโลกแอตแลนติกเหนือ[104] ในช่วงนี้ ทาสยังเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายพื้นที่ของโลก มีการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายคนผิวดำจากสหรัฐไปที่อื่นเพื่อให้มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น ในคริสต์ทศวรรษ 1820 ผู้สนับสนุนการเลิกทาสตั้งนิคมไลบีเรีย[105] ต่อมาสหราชอาณาจักรออกพระราชบัญญัติการค้าทาส ค.ศ. 1807 ซึ่งห้ามการค้าทาสทั้งในจักรวรรดิบริติชและประเทศอื่นที่บริเตนเจรจาด้วย[106] ใน ค.ศ. 1833 สหราชอาณาจักรผ่านพระราชบัญญัติเลิกทาส[107]
สิทธิออกเสียงเลือกตั้งค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในสหรัฐเป็นลำดับ เริ่มจากในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1828 ที่ยกเลิกข้อกำหนดห้ามชายผิวขาวที่ไม่ได้ถือครองทรัพย์สินเลือกตั้งในรัฐส่วนใหญ่ ในยุคบูรณะหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา มีการผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 13 (ค.ศ. 1865) เลิกทาส; ครั้งที่ 14 (ค.ศ. 1869) ให้คนผิวดำเป็นพลเมือง; และครั้งที่ 15 (ค.ศ. 1870) ซึ่งให้ชายผิวดำมีสิทธิเลือกตั้งในนาม[108][109] ส่วนทางด้านสหราชอาณาจักร สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีการขยายขึ้นผ่านการปฏิรูปหลายครั้งเริ่มตั้งแต่พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ. 1832 และดำเนินต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้ สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของชายมีอยู่ในฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1848[110] และในปีเดียวกัน เกิดการปฏิวัติหลายครั้งทั่วยุโรปเมื่อผู้ปกครองเผชิญกับข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญเสรีนิยมและการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นของประชาชน[111]
ใน ค.ศ. 1893 อาณานิคมปกครองตนเองนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สองในโลกที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่ยังมีผลอยู่ในปัจจุบันแก่หญิง[112]
คริสต์ศตวรรษที่ 20–21
[แก้]ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาเป็น "คลื่นประชาธิปไตย" หลายระลอก ซึ่งเป็นผลจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา[113] ขณะเดียวกันใช่ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วจะกลับมาเป็นเผด็จการไม่ได้ เพราะมีคลื่น "การถดถอยของประชาธิปไตย" เกิดขึ้นสลับกันด้วย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในคริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930, คริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 และในสมัยปัจจุบัน คือ คริสต์ทศวรรษ 2010[114][115]
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติใน ค.ศ. 1918 และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมันล่มสลาย ทำให้เกิดรัฐชาติใหม่จำนวนมากในทวีปยุโรปซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในนาม จนสุดท้ายมีประเทศประชาธิปไตย 29 ประเทศในโลก อย่างไรก็ดี จุดพลิกผันเริ่มต้นใน ค.ศ. 1922 เมื่อเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ เถลิงอำนาจในประเทศอิตาลี ต่อมากระแสเผด็จการคอมมิวนิสต์ (เริ่มต้นจากสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1917 ในอดีตจักรวรรดิรัสเซีย) ฟาสซิสต์และแสนยนิยมซึ่งเน้นการขยายอำนาจปฏิเสธประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ แม้ว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยเจริญขึ้นโดยมีการขยายสิทธิเลือกตั้งของสตรี แต่ผลของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ. 1929 ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงัก ความยากลำบากทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนขาดส่วนร่วมทางการเมือง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้หลายประเทศยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชียหันไปหาการปกครองแบบผู้นำที่เด็ดขาดหรือเป็นเผด็จการ เช่น พรรคนาซีเถลิงอำนาจในสาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งขาดเสถียรภาพทางการเมืองจากการปะทะกันบนท้องถนนระหว่างกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงต่าง ๆ และได้รับผลกระทบจากค่าปฏิกรรมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจำนวนมหาศาล, สเปนและโปรตุเกส, รัฐเผด็จการยังเจริญขึ้นในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน ประเทศบราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น[116] นิวฟันแลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ยอมสละประชาธิปไตยโดยสมัครใจ[117] ใน ค.ศ. 1942 มีประเทศประชาธิปไตยเพียง 12 ประเทศในโลก[118][119]
การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้คลื่นประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง ประชาธิปไตยสถาปนาอย่างมั่นคงในยุโรปตะวันตก (แม้ว่าสเปนและโปรตุเกสยังเป็นฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหาร) หลังเกิดคลื่นการปลดปล่อยอาณานิคม อิสราเอลเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศแรกในตะวันออกกลาง และอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน ประเทศที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิบริติชมักใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์[120] ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศยุโรปตะวันออกจะตกเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต และปกครองในรูปแบบรัฐคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ และคิวบา เป็นต้น
แม้ว่าคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สองจะค่อนข้างช้า แต่คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สามเริ่มตั้งแต่การปฏิวัติคาร์เนชันในโปรตุเกสใน ค.ศ. 1974 และการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของสเปนในเวลาไล่เลี่ยกัน และเป็นช่วงเวลาที่เพิ่มจำนวนประเทศประชาธิปไตยมากและเร็วที่สุด[121] ประเทศที่กลายเป็นประชาธิปไตยตามมา ได้แก่ ละตินอเมริกาในคริสต์ทศวรรษ 1980 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไต้หวันระหว่าง ค.ศ. 1986 ถึง 1988 ยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และแอฟริกาใต้สะฮาราเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ในละตินอเมริกา คลื่นลูกที่สามทำให้ 20 ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตย[122] ความพยายามเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยยังเกิดขึ้นต่อมา เช่น การปฏิวัติอินโดนีเซีย ค.ศ. 1998, การปฏิวัติรถดันดินในยูโกสลาเวีย, การปฏิวัติดอกกุหลาบในประเทศจอร์เจีย, การปฏิวัติส้มในประเทศยูเครน, การปฏิวัติซีดาร์ในประเทศเลบานอน, การปฏิวัติทิวลิปในประเทศคีร์กีซสถาน, และการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศตูนิเซีย
ความแพร่หลายของประชาธิปไตยเสรีนิยมทำให้ฟรานซิส ฟุกุยามะเขียนเรียงความใน ค.ศ. 1992 ระบุว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมและเศรษฐกิจแบบตลาดจะเป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์[123] ใน ค.ศ. 2007 สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 15 กันยายนเป็นวันประชาธิปไตยสากล[124] ในปีเดียวกัน ฟรีดอมเฮาส์ให้ข้อมูลว่าทั่วโลกมีประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งจำนวน 123 ประเทศ[125] จากข้อมูลของ เวิลด์ฟอรัมออนดีมอคระซี ระบุว่าใน ค.ศ. 2013 โลกมีประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง 120 จาก 192 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นประชากรร้อยละ 58.2 ของโลก ขณะเดียวกันประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่เคารพสิทธิมนุษยชนและยึดหลักนิติธรรมมีอยู่ 85 ประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรโลก[126] ประเทศประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังกำหนดอายุเลือกตั้งขั้นต่ำที่ 18 ปี[127] แม้ว่ามีความพยายามลดอายุดังกล่าวในหลายประเทศ เช่น หลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ลดอายุขั้นต่ำเหลือ 16 ปี
ข้อมูลจากแม็กซ์เรนจ์ระบุว่าแม้จำนวนรัฐประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นหลัง ค.ศ. 2006 แต่สัดส่วนของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่อ่อนแอก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย นับเป็นปัจจัยสาเหตุสำคัญที่สุดเบื้องหลังประชาธิปไตยที่เปราะบาง[128] ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์ใน ค.ศ. 2016 พบว่า มีประเทศที่สิทธิการเมืองและเสรีภาพพลเมืองลดลงมากกว่าประเทศที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกติดต่อกันทุกปีนับแต่ ค.ศ. 2005[129] เมื่อกลุ่มการเมืองประชานิยมและชาตินิยมเถลิงอำนาจในหลายพื้นที่ของโลก ตั้งแต่ประเทศโปแลนด์ถึงฟิลิปปินส์[129] ปรากฏการณ์อาหรับสปริงในช่วงแรกกลับลงเอยด้วยการกำเนิดอิสลามหัวรุนแรง (Islamic extremism) ลัทธิอำนาจนิยมและสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็น อาหรับวินเทอร์[130] นักวิชาการระบุว่าสาเหตุของการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีเหตุปัจจัยจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ[131][132] โดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์การเงิน ค.ศ. 2007–2008[133] การนิยมตัวบุคคลที่เด็ดขาด[134] การรับมือต่อการระบาดทั่วของโควิด-19[135][136] การแทรกแซงสื่อและภาคประชาสังคมของรัฐบาล การแตกแยกทางการเมืองและการรณรงค์ข่าวปลอมจากต่างประเทศ[137] คตินิยมเชื้อชาติและการต่อต้านคนเข้าเมือง อำนาจของฝ่ายบริหารที่มากเกิน[138][139][140] อำนาจของฝ่ายค้านที่ลดลง[141] และการยอมรับรูปแบบการปกครองและเศรษฐกิจของจีน[142] ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก กลุ่มอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมและทัศนคติทางเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายเป็นตัวชี้วัดที่เข้มที่สุดในการสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการ[143]
รูปแบบ
[แก้]ประเภทพื้นฐาน
[แก้]
|
ประชาธิปไตยมีอยู่หลายรูปแบบทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ประชาธิปไตยรูปแบบต่าง ๆ มีการให้ประชาชนมีผู้แทนทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองในระดับที่ไม่เท่ากัน[144][145] อย่างไรก็ดี ถ้าประชาธิปไตยในประเทศใดไม่มีโครงสร้างเพื่อยับยั้งรัฐบาลมิให้กีดกันประชาชนจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือป้องกันมิให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดในอำนาจทั้งสามของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงการแยกใช้อำนาจเพื่อให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์แล้ว ฝ่ายนั้นก็จะสะสมอำนาจมากเกินไปจนทำลายประชาธิปไตยได้ในที่สุด[146][147][148]
ควรทราบว่าการจำแนกประชาธิปไตยออกเป็นประเภทต่าง ๆ นั้นมิได้หมายความว่าหนึ่งประเทศจะต้องใช้ระบบเดียว ดังที่จะพบว่าในระบบการปกครองของประเทศหนึ่งอาจจับลักษณะของหลาย ๆ แนวคิดมาอยู่ร่วมกันก็ได้
ประชาธิปไตยทางตรง
[แก้]ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบบการเมืองที่พลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการวินิจฉัยสั่งการด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางหรือผู้แทน ระบบจับสลากเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นลักษณะเฉพาะของประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ ประชาธิปไตยทางตรงให้ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ
- เสนอการริเริ่มออกกฎหมาย การลงประชามติ และข้อเสนอแนะกฎหมาย
- มอบคำสั่งที่มีผลผูกพันต่อข้าราชการที่ได้รับเลือกตั้ง เช่น เพิกถอนบุคคลจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือริเริ่มฟ้องคดีฐานฝ่าฝืนคำให้สัญญาระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
แม้ในประเทศที่ใช้ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนสมัยใหม่ ยังมีการคงรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงอยู่บ้าง เช่น การลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายของพลเมืองและการเลือกตั้งถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง (recall election) ซึ่งเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงแบบหนึ่ง[149] แต่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทางตรงบางส่วนสนับสนุนสมัชชาท้องถิ่นที่มีการอภิปรายกันแบบซึ่งหน้า ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบบการปกครองที่มีอยู่ในบางรัฐของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คือ รัฐอัพเพินท์เซลล์อินเนอร์โรเดินและรัฐกลารุส,[150] เทศบาลปกครองตนเองซาปาติสตากบฏในประเทศเม็กซิโก[151] ชุมชนที่ถือฝ่าย CIPO-RFM ในประเทศเม็กซิโก[152] สภานคร FEJUVE ในประเทศโบลิเวีย[153] และรัฐโรยาวาของเคิร์ด[154]
ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน
[แก้]ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนจะจัดให้มีการเลือกตั้งข้าราชการการเมืองเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนที่เลือกเข้าไป ถ้าประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยด้วย ประเทศนั้นจะเรียก สาธารณรัฐประชาธิปไตย[155] กลไกที่ใช้กันมากที่สุดได้แก่การเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงที่เหนือกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ใช้ระบบมีผู้แทน[150] หลังการเลือกตั้ง แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติมีความสำคัญต่อรัฐประชาธิปไตยซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐนั้น ๆ[156][157][158][159]
ผู้แทนอาจได้รับเลือกตั้งหรือเป็นผู้แทนการทูตโดยเขตใดเขตหนึ่ง (หรือเขตการเลือกตั้งหนึ่ง ๆ) หรือเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดผ่านระบบสัดส่วน และบางประเทศใช้ระบบการเลือกตั้ง ลักษณะของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนคือแม้ผู้แทนได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนเพื่อทำหน้าที่ในผลประโยชน์ของประชาชน การวินิจฉัยสั่งการส่วนใหญ่ใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ยกเว้นบางเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะใช้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษหรือมติเอกฉันท์ เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ผู้แทนประชาชนดังกล่าวจะไปประชุมกันในสภานิติบัญญัติ อำนาจของผู้แทนประชาชนถูกจำกัดหรือรักษาสมดุลกับฝ่ายอื่นโดยรัฐธรรมนูญ เช่น บางประเทศใช้ระบบสองสภาโดยมีสภาสูงที่สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย[160] ประชาธิปไตยแบบนี้ยังทำให้พรรคการเมืองเป็นศูนย์กลางของกระบวนการทางการเมือง หากระบบเลือกตั้งกำหนดหรือส่งเสริมให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกเสียงให้กับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง[161]
ในการแยกใช้อำนาจ นิยมถือหลักความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ซึ่งฝ่ายตุลาการค่อนข้างมีอิสระจากอีกสองอำนาจของรัฐบาล แต่ยังคงมีอำนาจตรวจสอบอำนาจอื่นได้อยู่ ผ่านการพิจารณาทบทวนโดยศาล
ระบบรัฐสภา
[แก้]ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนรูปหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง หรือสามารถถูกถอดถอนได้โดยผู้แทนราษฎร ภายใต้ระบบดังกล่าว การปกครองจะเป็นการมอบหมายกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และอยู่ภายใต้การทบทวน ตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างต่อเนื่องของรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน[162][163][164][165]
ระบบรัฐสภามีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีเมื่อใดก็ได้หากสภานิติบัญญัติคาดว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เป็นไปตามคาดหมาย ผ่านมติไม่ไว้วางใจซึ่งสภานิติบัญญัติจะตัดสินว่าจะถอดถอนนายกรัฐมนตรีผู้นั้นหรือไม่หากฝ่ายข้างมากสนับสนุนให้ปลดผู้นั้น[166] ในบางประเทศ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อใดก็ได้ และนายกรัฐมนตรีจะจัดการเลือกตั้งเมื่อผู้นั้นทราบว่าตนได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณะพอที่จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกสมัย ส่วนในบางประเทศ แทบไม่มีการจัดการเลือกตั้งพิเศษ และมักตั้งรัฐบาลฝ่ายข้างน้อยแทนซึ่งดำรงตำแหน่งไปจนกว่าการเลือกตั้งตามปกติครั้งถัดไป ลักษณะของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอย่างหนึ่ง คือ การมีฝ่ายค้าน โดยพรรคการเมือง (หรือกลุ่มการเมือง) ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับสองจะคัดค้านพรรครัฐบาล (หรือรัฐบาลผสม)
ระบบประธานาธิบดี
[แก้]ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีเป็นระบบที่ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหาร ประธานาธิบดีมีวาระที่กำหนดไว้ตายตัว การเลือกตั้งตรงแบบมีวันที่ที่กำหนดไว้และแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้โดยง่าย ประธานาธิบดีมีอำนาจควบคุมคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรี
สภานิติบัญญัติไม่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดีได้โดยง่าย แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถถอดถอนสมาชิกสภานิติบัญญัติได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน ระบบนี้เป็นมาตรการสำหรับการแยกใช้อำนาจ แต่ผลทำให้ประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติอาจมาจากพรรคการเมืองคนละพรรคกัน และทำให้ฝ่ายหนึ่งขัดขวางอีกฝ่ายหนึ่งได้และแทรกแซงการดำเนินการอย่างเป็นระเบียบของรัฐ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ระบบประธานาธิบดีนี้ไม่แพร่หลายนักนอกจากในทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับระบบกึ่งประธานาธิบดีเป็นระบบที่มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองตำแหน่งมีอำนาจต่างกันขึ้นอยู่กับประเทศ นายกรัฐมนตรีบางประเทศรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีอย่างเดียว บางประเทศรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติอย่างเดียว แต่บางประเทศต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติ[166]
แบบผสมหรือกึ่งทางตรง
[แก้]ประชาธิปไตยสมัยใหม่บางประเทศซึ่งใช้ระบบมีผู้แทนโดยสภาพเป็นส่วนใหญ่ยังอาศัยการปฏิบัติทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ประชาธิปไตยแบบดังกล่าวมีคำเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบผสม (hybrid democracy)[167] ประชาธิปไตยกึ่งทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และบางรัฐของสหรัฐ ซึ่งใช้การลงประชามติและการริเริ่มเสนอกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับสมาพันธรัฐสวิสในระดับสหพันธรัฐ พลเมืองสามารถเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือขอจัดการลงประชามติในกฎหมายใด ๆ ที่รัฐสภาผ่าน ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 2005 พลเมืองสวิสลงมติ 31 ครั้ง และตอบปัญหา 103 ปัญหา[150] รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐก็ถือเป็นรัฐที่ใช้วิธีลงประชามติอย่างกว้างขวาง แม้เป็นรัฐที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 20 ล้านคน[168] ในเขตนิวอิงแลนด์ของสหรัฐ การประชุมเมืองมักใช้เพื่อจัดการการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้ระบอบการปกครองแบบผสมซึ่งใช้ประชาธิปไตยทางตรงในระดับท้องถิ่นแต่ใช้ระบบผู้แทนในระดับรัฐ การประชุมเมืองส่วนใหญ่ในรัฐเวอร์มอนต์จัดการประชุมเป็นประจำทุกปีเพื่อเลือกตั้งข้าราชการเมือง งบประมาณ และเปิดโอกาสให้พูดและรับฟังปัญหาการเมือง[169]
รูปแบบ
[แก้]ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
[แก้]หลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ประเทศสแกนดิเนเวีย ไทย ญี่ปุ่นและภูฏานเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทบาทเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในรัฐก่อนหน้าสหราชอาณาจักร ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญค่อย ๆ กำเนิดและดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องนับแต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1688 และการผ่านบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ค.ศ. 1689[170][82]
ประเทศเหล่านี้มีสภาสูงซึ่งมักมีวาระตลอดชีพหรือสมาชิกภาพสืบทอดทางสายโลหิตพบมากในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งแบบที่มีอำนาจจำกัด (เช่น สภาขุนนางของสหราชอาณาจักร) และแบบที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจมาก (เช่น สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลีย)
สาธารณรัฐ
[แก้]คำว่า "สาธารณรัฐ" มีหลายความหมาย แต่ในปัจจุบันมักหมายความถึงประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่ประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้ง เช่น ประธานาธิบดี ที่มีวาระจำกัด ซึ่งตรงข้ามกับพระมหากษัตริย์ที่มาจากการสืบราชสันตติวงศ์[171] ในหลายประเทศ สาธารณรัฐเกิดจากการล้มล้างพระมหากษัตริย์และชนชั้นอภิชน สาธารณรัฐนิยมเป็นระบบที่เน้นเรื่องเสรีภาพและปฏิเสธการฉ้อราษฎร์บังหลวง[172]
ทั้งนี้ บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐแทบไม่เคยยกย่องซ้ำยังวิจารณ์ประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในสมัยนั้นมักมีความหมายจำเพาะถึงประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งมักปราศจากการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เจมส์ เมดิสันให้เหตุผลว่าสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยทางตรงแตกต่างจากสาธารณรัฐคือประชาธิปไตยทางตรงจะอ่อนแอลงเมื่อรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น และประสบปัญหารุนแรงจากผลของการแบ่งพรรคแบ่งพวก ส่วนสาธารณรัฐจะมีความเข้มแข็งขึ้นเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น และด้วยโครงสร้างของมันสามารถรับมือกับการแบ่งฝักฝ่ายได้ ฝ่ายจอห์น แอดัมส์ยืนยันว่าสิ่งที่สำคัญต่อค่านิยมอเมริกันคือรัฐบาล "ถูกผูกมัดด้วยกฎหมายตายตัว ซึ่งประชาชนมีสิทธิ์เสียงในกระบวนการออก และมีสิทธิให้พิทักษ์"[173] การถกเถียงทำนองเดียวกันยังคงมีอยู่ในประเทศที่กลายเป็นประชาธิปไตยใหม่ในหลายประเทศ[174]
ประชาธิปไตยเสรีนิยม
[แก้]ประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งความสามารถของผู้แทนประชาชนจากการเลือกตั้งในการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งจำกัดขอบเขตของเจตจำนงฝ่ายข้างมากที่สามารถใช้ได้ต่อสิทธิของฝ่ายข้างน้อย ในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นประชาธิปไตยรูปแบบส่วนใหญ่ในโลก[175]
ประชาธิปไตยเสรีนิยมโดยปกติมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป คือให้พลเมืองผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ การถือครองทรัพย์สิน เพศสภาพ รายได้ สถานภาพทางสังคมหรือศาสนา อย่างไรก็ดี บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรยังจำกัดสิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยวินิจฉัยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน[176] สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยเสรีนิยมสรุปได้แปดข้อ ดังนี้[177]
- เสรีภาพในการรวมตัวและเข้าร่วมองค์การ
- เสรีภาพในการแสดงออก
- สิทธิเลือกตั้ง
- สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง
- สิทธิของผู้นำการเมืองในการหาเสียงสนับสนุน
- เสรีภาพในการรับสารสนเทศแหล่งอื่น
- การเลือกตั้งอย่างมีอิสระและเป็นธรรม
- สิทธิการควบคุมนโยบายรัฐบาลผ่านการออกเสียงและการแสดงออกอย่างอื่น
ประชาธิปไตยสังคมนิยม
[แก้]ความคิดสังคมนิยมมีทัศนคติต่อประชาธิปไตยแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยสังคมนิยม, สังคมนิยมประชาธิปไตย และลัทธิเผด็จการของชนกรรมาชีพ (ปกติใช้ผ่านประชาธิปไตยแบบโซเวียต) ทั้งหมดส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนชั้นล่างและกรรมกร รวมทั้งประชาธิปไตยในที่ทำงาน ประชาธิปไตยสังคมนิยมเชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ที่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม[178][179] โดยระบบเศรษฐกิจยังใช้แบบผสมที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยม แต่รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม เป็นสังคมนิยมตะวันตกหรือสังคมนิยมสมัยใหม่ที่พบมากที่สุด[180] ส่วนสังคมนิยมประชาธิปไตยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยโดยมีเศรษฐกิจแบบสังคมเป็นเจ้าของ[181]
ส่วนในทรรศนะดั้งเดิมของลัทธิมากซ์เชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นกรรมกรทั่วโลกมีสิทธิเลือกตั้ง โดยในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ คาร์ล มากซ์และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ระบุว่าเพื่อให้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสำเร็จ จะต้องเข้าไปเป็นชนชั้นปกครองให้ได้เสียก่อน และสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างแรก ๆ[182][183][184] มากซ์เขียนใน การวิจารณ์โครงการโกทา (Critique of the Gotha Program) ว่าจะมีสมัยการเปลี่ยนผ่านระหว่างสังคมทุนนิยมกับสังคมคอมมิวนิสต์ คือ ลัทธิเผด็จการของชนกรรมาชีพ[185] โดยมีจุดหมายคือ สังคมแบบคอมมูนที่ไร้รัฐ[186]
ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี
[แก้]ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (illiberal democracy) เป็นระบบการปกครองที่ถึงแม้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ขาดเสรีภาพพลเมือง จึงทำให้ไม่เป็นสังคมเปิดและขาดอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง ปัจจุบันมีหลายประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือ ก้ำกึ่งระหว่างเป็นประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย[187] ลักษณะอื่นที่พบร่วมกัน เช่น การไม่คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย[188] มีการชักใยหรือล็อกผลการเลือกตั้ง[189] ผู้ปกครองมักรวมศูนย์อำนาจและควบคุมสื่อเพื่อให้สนับสนุนรัฐบาล[190] ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น รัสเซีย[191][192] สิงคโปร์[193] ตุรกี[194] สำหรับสหรัฐสมัยประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรีมากขึ้น[195][196][197]
ส่วนคำว่า "ประชาธิปไตยแบบชี้นำ" (guided democracy) เป็นการใช้อธิบายรัฐที่มีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย แรงจูงใจและเป้าหมายของรัฐ[198] คำนี้ใช้อธิบายประเทศอินโดนีเซียสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน[199] ประเทศรัสเซีย[200] และประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ค.ศ. 2019[201]
ทฤษฎี
[แก้]ทัศนะคลาสสิก: แอริสตอเติลและท็อกเกอร์วิลล์
[แก้]การปกครองโดย | ดี (เพื่อประโยชน์ส่วนรวม) |
เลว (เพื่อประโยชน์ส่วนตน) |
---|---|---|
บุคคลเดียว | ราชาธิปไตย | ทรราช |
คณะบุคคล | อภิชนาธิปไตย | คณาธิปไตย (เพื่อคนรวย) |
บุคคลส่วนใหญ่ | โพลีเทีย | ประชาธิปไตย (เพื่อคนจน) |
แอริสตอเติลเป็นนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ ผู้อธิบายและรวบรวมระบบการเมืองที่ใช้กันในยุคสมัยนั้น เขาจำแนกการปกครองออกเป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียว คณะบุคคลและบุคคลจำนวนมาก และแบ่งต่อไปเป็นการปกครองที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม โดยคำว่า "เหมาะสม" หมายถึง การกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน[202]: 6–7 สำหรับประชาธิปไตย แอริสตอเติลมองว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวเพราะโดยสภาพเป็นการปกครองโดยคนจนที่ทำเพื่อชนชั้นตัวเอง อย่างไรก็ดี แม้แอริสตอเติลเชื่อว่าการปกครองของคนดีคนเดียวเป็นระบอบการปกครองในอุดมคติ แต่ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการกลายเป็นทรราชที่รับใช้ตนเองซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เลวที่สุด เขาจึงคิดมุมกลับและสรุปว่าการปกครองของคนส่วนใหญ่เป็นระบอบที่พอรับได้มากที่สุด (เลวน้อยที่สุด) เพราะอย่างน้อยการรับใช้ตนเองของคนส่วนใหญ่ก็ให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด[202]: 7
อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือ ประชาธิปไตยในอเมริกา (ค.ศ. 1835 และ 1840) เข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน เขาระบุว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกาเกิดขึ้นได้จากความเสมอภาคของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งสาธารณะ ตลอดจนการเข้าถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมีวัฒนธรรมทัศนคติแบบต่อต้านอภิชนาธิปไตย เขามองว่าประชาธิปไตยมาจากพัฒนาการในทวีปยุโรป เริ่มจากการเริ่มเปิดให้สามัญชนดำรงตำแหน่งนักบวชได้นอกเหนือจากชนชั้นสูง และการรุกล้ำพระราชอำนาจโดยนักกฎหมายและวาณิชมั่งมี[202]: 8 อย่างไรก็ดี เขามองว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสมัยเขา ซึ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ว่าเป็นผลลัพธ์อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของประวัติศาสตร์ของการขยายความเสมอภาคในทวีปยุโรป[202]: 8 แม้เขาทำนายว่าสหรัฐอาจกลายเป็นทรราชเสียงข้างมากที่กดขี่ในอนาคต แต่เขายังหวังให้สังคมยุโรปมีความสมภาคมากขึ้นตามตัวอย่างแบบอเมริกา หากเลี่ยงความรุนแรงและปัญหาไม่คาดคิดจากการปฏิวัติสมภาคนิยม[202]: 8–9
มุมมองของท็อกเกอร์วิลล์ยังคลุมเครือเกี่ยวกับประชาธิปไตย ทัศนะของเขาอาจเรียกได้ว่าเป็นทัศนะคลาสสิกต่อประชาธิปไตย โดยมุมมองหลักด้านหนึ่งคือประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับการปกครองตนเอง และอีกเสาหนึ่งคือประชาธิปไตยส่งเสริมหรือแสดงออกซึ่งประโยชน์สาธารณะไม่ว่าสาธารณะกลุ่มใดกำลังใช้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ซึ่งอาจทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อคนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนตามความคิดของแอริสตอเติลก็ได้[202]: 9
ทฤษฎีร่วมสมัย
[แก้]ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม |
---|
ประชาธิปไตยช่วยนำความพึงใจของประชาชนมารวมกันเพื่อใช้ตัดสินวิธีดำเนินการที่ดีที่สุด |
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ |
ประชาธิปไตยช่วยให้มีการสนทนา การปรึกษาหารือและมติเอกฉันท์ |
ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัต |
การถืออำนาจของประชาชนสามารถบีบบังคับให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ |
นักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เสนอมโนทัศน์ประชาธิปไตยสามมโนทัศน์ ประกอบด้วย ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม (aggregative democracy), ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) และประชาธิปไตยมูลวิวัต (radical democracy)[204]
- ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม
ทฤษฎี ประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่ม (aggregative Democracy) อ้างว่า กระบวนการประชาธิปไตยมีเป้าหมายเพื่อร้องขอความพึงใจ (preference) ของพลเมือง และรวมเข้าด้วยกันเพื่อตัดสินนโยบายสังคมที่สังคมควรรับไปปฏิบัติ ดังนั้น ผู้สนับสนุนทัศนะนี้จึงถือว่าการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยควรเน้นการออกเสียงลงคะแนนเป็นหลัก และนำนโยบายที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดไปปฏิบัติ
ในทฤษฎีประชาธิปไตยแบบรวมเป็นกลุ่มยังแบ่งไดอีกเป็นหลายแบบ ในจุลนิยม ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่พลเมืองมอบสิทธิการปกครองแก่คณะผู้นำการเมืองในการเลือกตั้งเป็นคาบ ๆ แต่พลเมืองไม่มีความสามารถและไม่ควรปกครองเอง เพราะในประเด็นส่วนใหญ่และเกือบตลอดเวลา พวกเขาไม่มีทัศนะที่ชัดเจนหรือไม่มีเหตุผล โจเซฟ ชุมปีเตอร์เป็นผู้สาธยายทัศนะนี้ในหนังสือ ทุนนิยม, สังคมนิยม, และประชาธิปไตย[205] ผู้สนับสนุนคนอื่น เช่น วิลเลียม เอช. ไรเกอร์, อดัม ปร์เซวอร์สกี, และริชาร์ด พอสเนอร์
ในทางกลับกัน ตามทฤษฎีประชาธิปไตยทางตรง ถือว่าพลเมืองควรออกเสียงลงคะแนนในข้อเสนอกฎหมายโดยตรงโดยไม่ผ่านผู้แทน ผู้สนับสนุนให้เหตุผลต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการเมืองมีคุณค่าในตัวเองได้ ทำให้พลเมืองเข้าสังคมและมีการศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถตรวจสอบอภิชนที่ทรงอำนาจได้ ข้อสำคัญที่สุด พลเมืองไม่ปกครองด้วยตนเองยกเว้นวินิจฉัยกฎหมายและนโยบายโดยตรง
แอนโทนี ดาวนส์เสนอว่าพรรคการเมืองอุดมการณ์มีความจำเป็นต้องทำหนาที่เป็นนายหน้าไกล่เกลี่ยระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐบาล[206] รัฐบาลควรมีแนวโน้มออกกฎหมายและนโยบายให้ใกล้เคียงกับทัศนะของผู้ออกเสียงที่อยู่ตรงกลางของสเปกตรัมการเมืองเสมอ แม้ว่าบางทีผลลัพธ์จะเป็นการกระทำของคนเห็นแก่ตัวและบางทีอภิชนที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแย่งคะแนนเสียงด้วย
โรเบิร์ต เอ. ดาห์ลให้เหตุผลว่าหลักการหลักมูลของประชาธิปไตยคือ ในการวินิจฉัยร่วมกันที่มีผลผูกพัน แต่ละบุคคลในชุมชนการเมืองมีสิทธิที่ผลประโยชน์ของตนจะได้รับการพิจารณาอย่าเท่า ๆ กัน เขาใช้คำว่า โพลีอาร์คี (polyarchy; poly "มาก" + archy "การปกครอง") เรียกสังคมที่มีชุดสถาบันและวิธีดำเนินการซึ่งรับรู้ว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยเช่นนั้น ข้อแรกที่สำคัญที่สุด สถาบันเหล่านี้จะต้องมีการเลือกตั้งอย่างมีอิสระและเป็นธรรมอยู่เป็นประจำเพื่อเลือกผู้แทนซึ่งจัดการนโยบายสาธารณะของสังคม แต่วิธีดำเนินการแบบโพลีอาร์คีนี้อาจไม่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์หากมีปัญหา เช่น ความยากจน ขัดขวางการมีส่วนร่วมทางการเมือง[207] เช่นเดียวกับโรนัลด์ ดวอร์คิน (Ronald Dworkin) ที่ให้เหตุผลว่า "ประชาธิปไตยเป็นอุดมติในสาระสำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงวิธีดำเนินงาน"[208]
- ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ตั้งอยู่บนความคิดว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยการปรึกษาหารือกัน ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือถือว่าก่อนที่การวินิจฉัยในระบอบประชาธิปไตยจะมีความชอบธรรมได้จะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเสียก่อน ไม่ใช่เพียงการรวมความพึงใจที่เกิดขึ้นในขณะออกเสียงลงคะแนน การปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเป็นการปรึกษาหารือในหมู่ผู้วินิจฉัยสั่งการซึ่งปลอดจากการบิดเบือนจากอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียม เช่น อำนาจของผู้วินิจฉัยสั่งการที่ได้มาจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์[209][210][211] ถ้าผู้วินิจฉัยสั่งการไม่สามารถมีมติเอกฉันท์หลังปรึกษาหารืออย่างแท้จริงแล้ว จะออกเสียงลงคะแนนต่อข้อเสนอนั้นโดยใช้การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ นักวิชาการจำนวนมากถือว่าสมัชชาพลเมืองเป็นตัวอย่างเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ[212][213][214] และการวิจัยของ OECD ล่าสุดระบุว่าสมัชชาพลเมืองเป็นกลไกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเพิ่มประชาชนในการวินิจฉัยสั่งการของรัฐบาล[215]
องค์ประกอบที่เสนอโดยเจมส์ ฟิชคิน[216] | องค์ประกอบที่เสนอโดยโจชัว โคเฮน[217] |
---|---|
|
|
- ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัต
ประชาธิปไตยมูลวิวัต (radical democracy) เป็นประชาธิปไตยที่สนับสนุนการขยายความเสมอภาคและเสรีภาพอย่างถึงราก ประชาธิปไตยมูลวิวัตมีแนวคิดว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่แบ่งแยก ต่อเนื่องและมีผลสะท้อน[219] ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัตสายแรกที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ทัศนะทำการ (agonistic perspective) ซึ่งสัมพันธ์กับงานของ Ernesto Laclau และ Chantal Mouffe ในหนังสือ Hegemony and Socialist Strategy: Towards a Radical Democratic Politics (ค.ศ. 1985) เสนอให้ขยายบทนิยามของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม โดยอาศัยเสรีภาพและความเสมอภาค ให้รวมถึงความแตกต่าง และโดยการสร้างประชาธิปไตยโดยยึดความแตกต่างและความขัดแย้ง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กดขี่ในสังคมจะปรากฏอยู่เบื้องหน้าให้ท้าทายได้[220] ประชาธิปไตยแบบมูลวิวัตสายที่สอง ได้แก่ แบบปรึกษาหารือโดย Jürgen Habermas โดยเขาระบุว่าเป็นประชาธิปไตยที่อาศัยมติเอกฉันท์และการมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างเท่า ๆ กัน คือมีกระบวนการวิจารณ์แบบสะท้อนในการมาถึงทางออกที่ดีที่สุด[221] สำหรับสายที่สามคือสายนักอัตตาณัติ (autonomist) เป็นแบบที่มุ่งสนใจ "ชุมชน" โดยระบุว่าความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลจะพบได้ในภาวะเป็นหนึ่งเดียว (singularity) กับกลุ่มคนจำนวนมาก และความเสมอภาคโดยรวมจะสร้างขึ้นจากกลุ่มคนที่ล้วนไม่แบ่งแยก และเสรีภาพสร้างขึ้นโดยการฟื้นฟูกลุ่มคนในอำนาจประกอบบริสุทธิ์ของชุมชน[219]
การพัฒนาประชาธิปไตย
[แก้]นักปรัชญาและนักวิจัยหลายคนได้วางเค้าโครงปัจจัยในอดีตและทางสังคมที่มองว่าสนับสนุนวิวัฒนาการของประชาธิปไตย[222] บางส่วนกล่าวถึงอิทธิพลของการพัฒนาเศรษฐกิจ Ronald Inglehart ให้เหตุผลว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วสมัยใหม่ชักจูงประชาชนว่าพวกตนก็สามารถพัฒนาการครองชีพของตนได้เช่นกัน นำไปสู่การเน้นค่านิยมกล้าแสดงออกมากขึ้น[223][224] ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงมีสหสัมพันธ์กับประชาธิปไตย[225] แม้จะยังมีประเด็นถกเถียงกันยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยทำให้เกิดความมั่งคั่ง หรือความมั่งคั่งทำให้เกิดประชาธิปไตย หรือทั้งสองไม่ใช่สาเหตุของกันและกันแน่[226]
หลักฐานที่สอดคล้องกับทฤษฎีดั้งเดิมเรื่องกำเนิดประชาธิปไตยและการธำรงรักษาประชาธิปไตยนั้นหายาก ในอดีตมีการเสนอทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (modernization) ใจความว่า ประเทศที่ทันสมัยจะกลายเป็นประชาธิปไตย เช่น Lipset ตั้งข้อสังเกตใน ค.ศ. 1959 ว่า ประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ[227] โดยเขาคิดว่า การทำให้เป็นอุตสาหกรรม การกลายเป็นเมือง ความมั่งคั่งและการศึกษาล้วนมีสหสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งเทียบสัมพันธ์กับประชาธิปไตย[228] Larry Diamond และ Juan Linz ให้เหตุผลว่าสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญกว่าระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจเดิม, การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งอาจเอื้อต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย, และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น เช่น การเกิดชนชั้นกลาง ซึ่งชักนำไปสู่ประชาธิปไตย[229]: 44–6 แต่การวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าประชาธิปไตยมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นถ้าประเทศร่ำรวยขึ้น มีการศึกษาดีขึ้นหรือมีความเหลื่อมล้ำลดลง[230] โดยพบว่าในอดีตประเทศส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมีระดับการเข้าถึงการศึกษาขั้นประถมสูงอยู่ก่อนแล้ว มิหนำซ้ำระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอาจใช้การศึกษาเพื่อปลูกฝังคนในบังคับเพื่อเสริมสร้างอำนาจของพวกตนเสียด้วยซ้ำ[231]
รัฐบาลอำนาจนิยมอาจมอบประชาธิปไตยให้เองในกรณีที่ค่าใช้จ่ายของการปราบปรามประชานสูงกว่าค่าใช้จ่าย[232][233][234] การศึกษาใน ค.ศ. 2020 กลายเป็นประชาธิปไตยจากรัฐบาลอำนาจนิยมมีแนวโน้มทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ถ้าความเข้มแข็งของพรรคอำนาจนิยมที่อยู่ในอำนาจสูง[235] ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในสังคม Barrington Moore Jr. ให้เหตุผลว่าการกระจายอำนาจระหว่างชนชั้นในสังคมจะเป็นตัวตัดสินว่าจะเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตย อำนาจนิยมหรือคอมมิวนิสต์[236] David Stasavage ระบุว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมีแนวโน้มเกิดขึ้นถ้าสังคมแตกออกเป็นกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม[237]
การศึกษาเรื่องการแทรกแซงของต่างประเทศต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมีผลลัพธ์หลากหลาย Thomas Risse เขียนใน ค.ศ. 2009 ว่า มีความเห็นพ้องต้องกันในวรรณกรรมยุโรปตะวันออกว่าการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมีผลต่อประชาธิปไตยเกิดใหม่[238] Steven Levitsky และ Lucan Way ให้เหตุผลว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาติตะวันตกเพิ่มโอกาสกลายเป็นประชาธิปไตย[239][240] แต่การให้เงินอุดหนุนจากต่างประเทศไม่มีผลต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย[241]
ข้อมูลของฟรีดอมเฮาส์พบว่าตั้งแต่ ค.ศ. 1972 มี 67 ประเทศที่เปลี่ยนจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย พบว่าการขัดขืนของพลเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรงมีอิทธิพลเข้มแข็งร้อยละ 70 เช่น การนัดหยุดงานประท้วง การคว่ำบาตร การดื้อแพ่งและการประท้วงหมู่[242]
ไม่มีหลักฐานชวนให้เชื่อว่าประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันมากขัดขวางการทำให้เป็นประชาธิปไตย แม้มีงานวิจัยทฤษฎีว่ารายได้จากน้ำมันตัดความสัมพันธ์ระหว่างการเก็บภาษีอากรและความรับผิดชอบของรัฐบาลซึ่งมีความสำคัญต่อประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน[243] ทำให้นักวิจัยหันไปค้นหาปัจจัยขัดขวางในสถาบันการเมืองร่วมสมัยต่อไป[244][245] นักวิชาการบางส่วนมองว่าวัฒนธรรมมีผลต่อการกลายเป็นประชาธิปไตย โดยระบุว่าวัฒนธรรมตะวันตกเหมาะสมที่สุดกับประชาธิปไตย[246] ส่วนวัฒนธรรมอิสลามมักไม่เป็นประชาธิปไตย[247][248]
ข้อวิจารณ์
[แก้]ข้อวิจารณ์เรื่องจุดประสงค์
[แก้]นักวิชาการให้เหตุผลว่าสังคมประชาธิปไตยจะทำให้สังคมที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน (specialized) หมดไป นโยบายของรัฐมักได้รับอิทธิพลจากความเห็นของผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ทำให้ประสิทธิภาพเสียไปได้ ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าข้อนี้เป็นข้อดีของประชาธิปไตยเพราะเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการคุ้มครองฝ่ายข้างน้อย[249]
Bernard Manin เสนอว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนแท้จริงแล้วเป็นอภิชนาธิปไตย[250] เช่นเดียวกับนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน-อิตาลี Robert Michels ที่พัฒนากฎเหล็กคณาธิปไตยใน ค.ศ. 1911 ซึ่งเขากล่าวว่า มาตรการที่วางไว้เพื่อป้องกันคณาธิปไตยในประวัติศาสตร์ล้วนไร้ผล และเป้าหมายของประชาธิปไตยในการกำจัดอภิชนนั้นเป็นไปไม่ได้ และประชาธิปไตยกลายมาเป็นฉากหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่อภิชนอีกด้วย[251] นักวิจัยวิชาการบางส่วนเสนอว่าอิทธิพลของบริษัท คนมั่งมี และกลุ่มผลประโยชน์พิเศษอื่น ปล่อยให้พลเมืองมีผลกระทบต่อกระบวนการการเมืองน้อยกว่ากลุ่มอภิชน[252][253][254][255] การศึกษาของ Martin Gilens และ Benjamin Page ใน ค.ศ. 2014 เสนอว่าในสหรัฐ ถ้าความพึงใจของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศขัดกับอภิชน อภิชนมักเป็นฝ่ายชนะ[252]
ปัญหาเรื่องการให้ความสำคัญกับฝ่ายข้างมากในระบอบประชาธิปไตยเป็นข้อวิจารณ์มาช้านานนับแต่สมัยเพลโตและแอริสตอเติล และโดยเฉพาะบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐ Fierlbeck เขียนว่าชนชั้นกลางซึ่งเป็นเสียงข้างมากในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศอาจตัดสินใจเพิ่มความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม และจะยิ่งส่งผลให้ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสูงขึ้น[256][257]
Kenneth Arrow นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เสนอทฤษฎีบทความเป็นไปไม่ได้ของแอร์โรว์ ซึ่งว่าด้วยความไม่สอดคล้องกันทางตรรกะของประชาธิปไตย โดยมีใจความว่าในระบบเลือกตั้งแบบเรียงลำดับใด ๆ ไม่สามารถถูกออกแบบมาให้เข้ากับเกณฑ์ "ความเป็นธรรม" สามข้อต่อไปนี้
- ถ้าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนเลือกทางเลือก X มากกว่าทางเลือก Y ดังนั้น กลุ่มนิยม X มากกว่า Y
- ถ้าความพึงใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนระหว่าง X และ Y แล้ว ความพึงใจของกลุ่มระหว่าง X และ Y จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
- ไม่มี "ผู้เผด็จการ" คือ ไม่มีผู้เลือกตั้งคนเดียวที่ครองอำนาจที่จะตัดสินความพึงใจของกลุ่มได้ตลอดเวลา
มักมีการสรุปถ้อยแถลงข้างต้นไว้ดังนี้ "ไม่มีวิธีลงคะแนนใดเป็นธรรม", "วิธีเลือกตั้งแบบเรียงลำดับทุกวิธีมีที่ติ" หรือ "วิธีลงคะแนนวิธีเดียวที่ไม่มีที่ติคือเผด็จการ"[258]
ข้อวิจารณ์เรื่องกระบวนการ
[แก้]ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นประจำนั้นถูกวิจารณ์ว่าลดทอนเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์สำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจน[259] ซึ่งสหประชาชาติก็ระบุว่าการขาดการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยในประเทศจีนทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง[260]
วิกฤตศรัทธาประชาธิปไตยทั่วโลกเกิดจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง[261] เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยปานกลางมีอัตราฉ้อราษฎร์บังหลวงสูง[a] โดยเฉพาะกระบวนการการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลได้ง่าย[263] การศึกษาพบว่า นักการเมืองในตำแหน่งได้รับประโยชน์มากกว่าจากการโกงเลือกตั้ง เพราะจะอยู่ในตำแหน่งนานกว่านักการเมืองที่ไม่โกงเลือกตั้ง 2.5 เท่า[264] ประเทศประชาธิปไตยรายได้ต่ำยังมีแนวโน้มต่อความรุนแรง[264]
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมักมีการศึกษาไม่เพียงพอต่อการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของตนอย่างรอบคอบ การศึกษาพบว่าปริมาณสารนิเทศมหาศาลที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ทุกวันทำให้คนเบื่อหน่ายต่อการทำความเข้าใจปัญหาการเมืองเชิงลึก อีกทั้งการเข้าถึงสารนิเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทำให้มีการใช้ความพยายามในการรู้คิดลดลง[265] นักการเมืองมักใช้ประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเน้นการแข่งขันในด้านประชาสัมพันธ์และยุทธวิธีหาเสียงมากกว่าอุดมการณ์ การศึกษาในสหรัฐพบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินนักการเมืองจากรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่า[266][267] ในการเลือกตั้งที่ประสบปัญหาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความรู้น้อยนั้น ยังมักประสบปัญหาที่นักการเมืองคนปัจจุบันที่มีข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาด้วย[268] มีนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์พิเศษพยายามชักจูงความเห็นสาธารณะมาช้านาน[269][270] นักปรัชญากรีกโบราณ โสกราตีส เชื่อว่ามวลชนที่ขาดการศึกษามีแต่จะนำไปสู่ประชานิยม ทำให้ได้ผู้นำที่ขาดความสามารถ[271]
งานวิจัยเชิงประจักษ์ให้ผลว่าระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมักมีความลำเอียงทำให้ชนชั้นมั่งมีมีผู้แทนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นโดยรวม[272][273][274][275][276][277][278][279] การให้ผู้แทนยังมีเสรีภาพในการใช้วิจารณญาณของตนในการออกเสียงได้ จึงทำให้ระบบดังกล่าวได้รับคำวิจารณ์[280][281] โดยชี้ถึงการขัดแย้งกับกลไกการมีผู้แทนกับประชาธิปไตย[282][283] รวมทั้งการผิดสัญญาเมื่อคราวหาเสียงเลือกตั้ง จึงมีข้อเสนอให้ใช้อาณัติเด็ดขาด (imperative mandate) ซึ่งกำหนดให้ผู้แทนตรานโยบายตามอาณัติของผู้เลือกตั้ง และสามารถเลือกตั้งถอดถอนได้โดยสมัชชาประชาชน[284]
เชิงอรรถ
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]- กลุ่มผู้ทรงอำนาจ (The Establishment)
- การทำให้เป็นประชาธิปไตย
- ดัชนีประชาธิปไตย
- ทฤษฎีประชาธิปไตยทางคณิตศาสตร์
- ทฤษฎีสันติภาพประชาธิปไตย
- ธรรมาภิบาล
- ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
- ประชาธิปไตยในที่ทำงาน
- รัฐบาลเงา (ทฤษฎีสมคบคิด) (shadow government)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Democracy". Oxford University Press. สืบค้นเมื่อ 24 February 2021.
- ↑ Przeworski, Adam (1991). Democracy and the Market. Cambridge University Press. pp. 10–14.
- ↑ Boyd, James Penny (1884). Building and Ruling the Republic (ภาษาอังกฤษ). Bradley, Garretson & Company. pp. 12–13.
- ↑ Watkins, Frederick (1970). "Democracy". Encyclopædia Britannica (ภาษาอังกฤษ). Vol. 7 (Expo '70 hardcover ed.). William Benton. pp. 215–23. ISBN 978-0-85229-135-1.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 John Dunn, Democracy: the unfinished journey 508 BC – 1993 AD, Oxford University Press, 1994, ISBN 0198279345
- ↑ Kurt A. Raaflaub, Josiah Ober, Robert W. Wallace, Origin of Democracy in Ancient Greece, University of California Press, 2007, ISBN 0520245628, Google Books link
- ↑ Isakhan, B. and Stockwell, S (co-eds) (2011). The Secret History of Democracy. London: Palgrave Macmillan. pp. 19–59. ISBN 978-0-230-24421-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Weatherford, J. McIver (1988). Indian givers: how the Indians of the America transformed the world. New York: Fawcett Columbine. pp. 117–150. ISBN 0-449-90496-2.
- ↑ "Democracy". Encyclopædia Britannica.
- ↑ "The Global Trend" chart on Freedom in the World 2007: Freedom Stagnation Amid Pushback Against Democracy เก็บถาวร 2007-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน published by Freedom House
- ↑ Demokratia, Henry George Liddell, Robert Scott, "A Greek-English Lexicon", at Perseus
- ↑ ปรีดี พนมยงค์. “ประชาธิปไตย” เบื้องต้นสำหรับสามัญชน. สถาบันปรีดี พนมยงค์. สืบค้นเมื่อ 22-12-2552.
- ↑ Patrick Jory. "Republicanism in Thai History". สืบค้นเมื่อ 20 June 2020.
- ↑ Gagnon, Jean-Paul (2018-06-01). "2,234 Descriptions of Democracy". Democratic Theory. 5 (1): 92–113. doi:10.3167/dt.2018.050107. ISSN 2332-8894.
- ↑ Staff writer (22 August 2007). "Liberty and justice for some". The Economist. Economist Group.
- ↑ Diamond, Larry; Morlino, Leonardo (25 November 2005). Assessing the Quality of Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-8287-6 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Dahl, Robert A.; Shapiro, Ian; Cheibub, José Antônio (2003). The democracy sourcebook. Cambridge, Massachusetts: MIT Press. ISBN 978-0-262-54147-3. Details.
- ↑ Hénaff, Marcel; Strong, Tracy B. (2001). Public space and democracy. Minneapolis: University of Minnesota Press. ISBN 978-0-8166-3388-3.
- ↑ Kimber, Richard (September 1989). "On democracy". Scandinavian Political Studies. 12 (3): 201, 199–219. doi:10.1111/j.1467-9477.1989.tb00090.x. ISSN 0080-6757. Full text. เก็บถาวร 2016-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Diamond, L., Lecture at Hilla University for Humanistic Studies 21 January 2004: "What is Democracy"; Diamond, L. and Morlino, L., The quality of democracy (2016). In Diamond, L., In Search of Democracy. London: Routledge. ISBN 978-0-415-78128-2.
- ↑ Scruton, Roger (9 August 2013). "A Point of View: Is democracy overrated?". BBC News. BBC.
- ↑ "Parliamentary sovereignty". UK Parliament. สืบค้นเมื่อ 18 August 2014; "Independence". Courts and Tribunals Judiciary. สืบค้นเมื่อ 9 November 2014.
- ↑ Barak, Aharon (2 November 2006). The Judge in a Democracy. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-12017-1 – โดยทาง Google Books.
- ↑ Kelsen, Hans (October 1955). "Foundations of democracy". Ethics. 66 (1): 1–101. doi:10.1086/291036. JSTOR 2378551. S2CID 144699481.
- ↑ Nussbaum, Martha (2000). Women and human development: the capabilities approach. Cambridge New York: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-00385-8.
- ↑ Snyder, Richard; Samuels, David (2006), "Devaluing the vote in Latin America", ใน Diamond, Larry; Plattner, Marc F. (บ.ก.), Electoral systems and democracy, Baltimore: Johns Hopkins University Press, p. 168, ISBN 978-0-8018-8475-7.
- ↑ R. R. Palmer, The Age of the Democratic Revolution: Political History of Europe and America, 1760–1800 (1959)
- ↑ Montesquieu, Spirit of the Laws, Bk. II, ch. 2–3.
- ↑ Everdell, William R. (2000) [1983]. The end of kings: a history of republics and republicans (2nd ed.). Chicago: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-22482-4.
- ↑ "Freedom in the World Countries | Freedom House". freedomhouse.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-04-02.
- ↑ List of Electoral Democracies FIW21 (.XLSX), by Freedom House
- ↑ "2022 World Press Freedom Index". Reporters Without Borders. 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-07. สืบค้นเมื่อ 2022-05-03.
- ↑ "INSCR Data Page". www.systemicpeace.org. สืบค้นเมื่อ 26 April 2021.
- ↑ Skaaning, Svend-Erik (2018). "Different Types of Data and the Validity of Democracy Measures". Politics and Governance. 6 (1): 105. doi:10.17645/pag.v6i1.1183.
- ↑ "Freedom in the World 2021 Methodology". freedomhouse.org. Freedom House. สืบค้นเมื่อ 8 April 2021.
- ↑ "Press Freedom Index 2014" เก็บถาวร 14 กุมภาพันธ์ 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Reporters Without Borders, 11 May 2014
- ↑ " World Freedom Index 2013: Canadian Fraser Institute Ranks Countries ", Ryan Craggs, Huffington Post, 14 January 2013
- ↑ Michael Kirk (10 December 2010). "Annual International Human Rights Ratings Announced". University of Connecticut.
- ↑ "Democracy index 2012: Democracy at a standstill". Economist Intelligence Unit. 14 March 2013. สืบค้นเมื่อ 24 March 2013.
- ↑ "MaxRange". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2018. สืบค้นเมื่อ 28 April 2015.
- ↑ 41.0 41.1 Alexander Krauss, 2016. The scientific limits of understanding the (potential) relationship between complex social phenomena: the case of democracy and inequality. Vol. 23(1). Journal of Economic Methodology.
- ↑ Fuchs, Dieter; Roller, Edeltraud (2018). "Conceptualizing and Measuring the Quality of Democracy: The Citizens' Perspective". Politics and Governance. 6 (1): 22. doi:10.17645/pag.v6i1.1188.
- ↑ Mayne, Quinton; Geißel, Brigitte (2018). "Don't Good Democracies Need "Good" Citizens? Citizen Dispositions and the Study of Democratic Quality". Politics and Governance. 6 (1): 33. doi:10.17645/pag.v6i1.1216.
- ↑ Olson, M. (1993). Dictatorship, Democracy, and Development. American Political Science Review, 87(03), 567-576.
- ↑ Political System Encyclopædia Britannica Online
- ↑ Thorhallsson, Baldur; Steinsson, Sverrir (2017), "Small State Foreign Policy", Oxford Research Encyclopedia of Politics (ภาษาอังกฤษ), Oxford University Press, doi:10.1093/acrefore/9780190228637.013.484, ISBN 978-0-19-022863-7
- ↑ Deudney, Daniel (9 November 2008). Bounding Power (ภาษาอังกฤษ). ISBN 978-0-691-13830-5.
- ↑ Political Analysis in Plato's Republic at the Stanford Encyclopedia of Philosophy
- ↑ Aristotle Book 6
- ↑ Grinin, Leonid E. (2004). The Early State, Its Alternatives and Analogues. Uchitel' Publishing House.
- ↑ Davies, John K. (1977). "Athenian Citizenship: The Descent Group and the Alternatives". The Classical Journal. 73 (2): 105–121. ISSN 0009-8353. JSTOR 3296866.
- ↑ Cartledge, Paul (July 2006). "Ostracism: selection and de-selection in ancient Greece". History & Policy. United Kingdom: History & Policy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 April 2010. สืบค้นเมื่อ 9 December 2010.
- ↑ Raaflaub, Ober & Wallace 2007, p. 5.
- ↑ Clarke & Foweraker 2001, pp. 194–201.
- ↑ "Full historical description of the Spartan government". Rangevoting.org. สืบค้นเมื่อ 28 September 2013.
- ↑ Terrence A. Boring, Literacy in Ancient Sparta, Leiden Netherlands (1979). ISBN 90-04-05971-7
- ↑ Bernal, p. 359
- ↑ Jacobsen, T. (July 1943), "Primitive Democracy in Ancient Mesopotamia", Journal of Near Eastern Studies 2 (3) : 159-72
- ↑ Bindloss, Joe; Sarina Singh (2007). India: Lonely planet Guide. Lonely Planet. p. 556. ISBN 978-1-74104-308-2.
- ↑ Hoiberg, Dale; Indu Ramchandani (2000). Students' Britannica India, Volumes 1-5. Popular Prakashan. p. 208. ISBN 0-85229-760-2.
- ↑ "Activity Four". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2009-05-22.
- ↑ Omdirigeringsmeddelande[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Melanesia Historical and Geographical: the Solomon Islands and the New Hebrides", Southern Cross n°1, London: 1950
- ↑ "Ancient Rome from the earliest times down to 476 A.D". Annourbis.com. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ Livy & De Sélincourt 2002, p. 34
- ↑ Watson 2005, p. 271
- ↑ Dahl, Robert A. (1 October 2008). On Democracy: Second Edition (ภาษาอังกฤษ). Yale University Press. ISBN 978-0-300-23332-2.
- ↑ Fladmark, J. M.; Heyerdahl, Thor (17 November 2015). Heritage and Identity: Shaping the Nations of the North (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-317-74224-1.
- ↑ O'Callaghan, Joseph F. (1989). "The Cortes and Taxation". The Cortes of Castile-Leon, 1188–1350: 130–151. doi:10.9783/9781512819571. ISBN 9781512819571. JSTOR j.ctv513b8x.12.
- ↑ "Magna Carta: an introduction". The British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-23. สืบค้นเมื่อ 28 January 2015.
Magna Carta is sometimes regarded as the foundation of democracy in England. ...Revised versions of Magna Carta were issued by King Henry III (in 1216, 1217 and 1225), and the text of the 1225 version was entered onto the statute roll in 1297. ...The 1225 version of Magna Carta had been granted explicitly in return for a payment of tax by the whole kingdom, and this paved the way for the first summons of Parliament in 1265, to approve the granting of taxation.
- ↑ "Citizen or Subject?". The National Archives. สืบค้นเมื่อ 17 November 2013.
- ↑ Jobson, Adrian (2012). The First English Revolution: Simon de Montfort, Henry III and the Barons' War. Bloomsbury. pp. 173–74. ISBN 978-1-84725-226-5.
- ↑ "Simon de Montfort: The turning point for democracy that gets overlooked". BBC. 19 January 2015. สืบค้นเมื่อ 19 January 2015; "The January Parliament and how it defined Britain". The Telegraph. 20 January 2015. สืบค้นเมื่อ 28 January 2015.
- ↑ "Origins and growth of Parliament". The National Archives. สืบค้นเมื่อ 17 November 2013.
- ↑ Abramson, Scott F.; Boix, Carles (2019). "Endogenous Parliaments: The Domestic and International Roots of Long-Term Economic Growth and Executive Constraints in Europe". International Organization (ภาษาอังกฤษ). 73 (4): 793–837. doi:10.1017/S0020818319000286. ISSN 0020-8183.
- ↑ Møller, Jørgen (2014). "Why Europe Avoided Hegemony: A Historical Perspective on the Balance of Power". International Studies Quarterly (ภาษาอังกฤษ). 58 (4): 660–670. doi:10.1111/isqu.12153.
- ↑ Cox, Gary W. (2017). "Political Institutions, Economic Liberty, and the Great Divergence". The Journal of Economic History (ภาษาอังกฤษ). 77 (3): 724–755. doi:10.1017/S0022050717000729. ISSN 0022-0507.
- ↑ Stasavage, David (11 May 2016). "Representation and Consent: Why They Arose in Europe and Not Elsewhere". Annual Review of Political Science. 19 (1): 145–162. doi:10.1146/annurev-polisci-043014-105648. ISSN 1094-2939. S2CID 14393625.
- ↑ Lukowski, Jerzy; Zawadzki, Hubert (January 2019). A Concise History of Poland (3rd ed.). Cambridge University Press. ISBN 9781108333993.
- ↑ "From legal document to public myth: Magna Carta in the 17th century". The British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-27. สืบค้นเมื่อ 16 October 2017; "Magna Carta: Magna Carta in the 17th Century". The Society of Antiquaries of London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 September 2018. สืบค้นเมื่อ 16 October 2017.
- ↑ "Putney debates". The British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-22. สืบค้นเมื่อ 22 December 2016.
- ↑ 82.0 82.1 "Britain's unwritten constitution". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-12. สืบค้นเมื่อ 27 November 2015.
The key landmark is the Bill of Rights (1689), which established the supremacy of Parliament over the Crown.... The Bill of Rights (1689) then settled the primacy of Parliament over the monarch’s prerogatives, providing for the regular meeting of Parliament, free elections to the Commons, free speech in parliamentary debates, and some basic human rights, most famously freedom from ‘cruel or unusual punishment’.
- ↑ "Constitutionalism: America & Beyond". Bureau of International Information Programs (IIP), U.S. Department of State. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2014. สืบค้นเมื่อ 30 October 2014.
The earliest, and perhaps greatest, victory for liberalism was achieved in England. The rising commercial class that had supported the Tudor monarchy in the 16th century led the revolutionary battle in the 17th and succeeded in establishing the supremacy of Parliament and, eventually, of the House of Commons. What emerged as the distinctive feature of modern constitutionalism was not the insistence on the idea that the king is subject to law (although this concept is an essential attribute of all constitutionalism). This notion was already well established in the Middle Ages. What was distinctive was the establishment of effective means of political control whereby the rule of law might be enforced. Modern constitutionalism was born with the political requirement that representative government depended upon the consent of citizen subjects... However, as can be seen through provisions in the 1689 Bill of Rights, the English Revolution was fought not just to protect the rights of property (in the narrow sense) but to establish those liberties which liberals believed essential to human dignity and moral worth. The "rights of man" enumerated in the English Bill of Rights gradually were proclaimed beyond the boundaries of England, notably in the American Declaration of Independence of 1776 and in the French Declaration of the Rights of Man in 1789.
- ↑ North, Douglass C.; Weingast, Barry R. (1989). "Constitutions and Commitment: The Evolution of Institutions Governing Public Choice in Seventeenth-Century England". The Journal of Economic History (ภาษาอังกฤษ). 49 (4): 803–832. doi:10.1017/S0022050700009451. ISSN 1471-6372.
- ↑ Locke, John (1988) [1689]. Laslett, Peter (บ.ก.). Two Treatises of Government. Cambridge, NY: Cambridge University Press. Sec. 87, 123, 209, 222. ISBN 0-521-35448-X.
- ↑ Locke, John. Two Treatises on Government: a Translation into Modern English. Quote: "Government has no other end, but the preservation of property. Google Books.
- ↑ Powell, Jim (1 August 1996). "John Locke: Natural Rights to Life, Liberty, and Property". In The Freemann. Foundation for Economic Education, Irvington, New York, US.
- ↑ Curte, Merle (1937). "The Great Mr. Locke: America's Philosopher, 1783–1861". The Huntington Library Bulletin (ภาษาอังกฤษ) (11): 107–151. doi:10.2307/3818115. ISSN 1935-0708. JSTOR 3818115.
- ↑ Tocqueville, Alexis de (2003). Democracy in America. Barnes & Noble. pp. 11, 18–19. ISBN 0-7607-5230-3.
- ↑ Allen Weinstein and David Rubel (2002), The Story of America: Freedom and Crisis from Settlement to Superpower, DK Publishing, Inc., New York, ISBN 0-7894-8903-1, p. 61
- ↑ Clifton E. Olmstead (1960), History of Religion in the United States, Prentice-Hall, Englewood Cliffs, NJ, pp. 63–65, 74–75, 102–05, 114–15
- ↑ Christopher Fennell (1998), Plymouth Colony Legal Structure เก็บถาวร 2012-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Getting the vote". The National Archives. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ Gregory, Desmond (1985). The ungovernable rock: a history of the Anglo-Corsican Kingdom and its role in Britain's Mediterranean strategy during the Revolutionary War, 1793–1797. London: Fairleigh Dickinson University Press. p. 31. ISBN 978-0-8386-3225-3.
- ↑ "Voting in Early America". Colonial Williamsburg. Spring 2007. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
- ↑ Dinkin, Robert (1982). Voting in Revolutionary America: A Study of Elections in the Original Thirteen States, 1776–1789. USA: Greenwood Publishing. pp. 37–42. ISBN 978-0-313-23091-2.
- ↑ Ratcliffe, Donald (Summer 2013). "The Right to Vote and the Rise of Democracy, 1787–1828" (PDF). Journal of the Early Republic. 33 (2): 231. doi:10.1353/jer.2013.0033. S2CID 145135025. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-04-26.
- ↑ "Expansion of Rights and Liberties - The Right of Suffrage". Online Exhibit: The Charters of Freedom. National Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2016. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
- ↑ Schultz, Jeffrey D. (2002). Encyclopedia of Minorities in American Politics: African Americans and Asian Americans. p. 284. ISBN 978-1-57356-148-8. สืบค้นเมื่อ October 8, 2015.
- ↑ "The Bill Of Rights: A Brief History". ACLU. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
- ↑ "The French Revolution II". Mars.wnec.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 August 2008. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ Norman Davies (15 May 1991). The Third of May 1791 (PDF). Minda de Gunzburg Center for European Studies, Harvard University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 September 2019. สืบค้นเมื่อ 5 September 2019.
- ↑ Jan Ligeza (2017). Preambuła Prawa [The Preamble of Law] (ภาษาโปแลนด์). Polish Scientific Publishers PWN. p. 12. ISBN 978-83-945455-0-5.
- ↑ Michael Denning (2004). Culture in the Age of Three Worlds. Verso. p. 212. ISBN 978-1-85984-449-6. สืบค้นเมื่อ 10 July 2013.
- ↑ "Background on conflict in Liberia" เก็บถาวร 14 กุมภาพันธ์ 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Friends Committee on National Legislation, 30 July 2003
- ↑ Lovejoy, Paul E. (2000). Transformations in slavery: a history of slavery in Africa (2nd ed.). New York: Cambridge University Press. p. 290. ISBN 978-0-521-78012-4.
- ↑ "1834: The End of Slavery? | Historic England". historicengland.org.uk.
- ↑ Gillette, William (1986). "Fifteenth Amendment: Framing and ratification". Encyclopedia of the American Constitution. – โดยทาง HighBeam Research (ต้องรับบริการ) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2014. สืบค้นเมื่อ 23 June 2013.
- ↑ "Black voting rights, 15th Amendment still challenged after 150 years". USA Today. สืบค้นเมื่อ November 18, 2020.
- ↑ French National Assembly. "1848 " Désormais le bulletin de vote doit remplacer le fusil "". สืบค้นเมื่อ 26 September 2009.
- ↑ "Movement toward greater democracy in Europe เก็บถาวร 4 สิงหาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Indiana University Northwest.
- ↑ Nohlen, Dieter (2001). Elections in Asia and the Pacific: South East Asia, East Asia, and the South Pacific. Oxford University Press. p. 14.
- ↑ Diamond, Larry (15 September 2015). "Timeline: Democracy in Recession". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 25 January 2016.
- ↑ Kurlantzick, Joshua (11 May 2017). "Mini-Trumps Are Running for Election All Over the World". Bloomberg.com. สืบค้นเมื่อ 16 May 2017.
- ↑ Mounk, Yascha (January 2017). "The Signs of Deconsolidation". Journal of Democracy (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 May 2017.
- ↑ "Age of Dictators: Totalitarianism in the inter-war period". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2006. สืบค้นเมื่อ 7 September 2006.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ James Overton, "Economic Crisis and the End of Democracy: Politics in Newfoundland During the Great Depression." Labour 1990 (26): 85–124. ISSN 0700-3862
- ↑ Huntington, Third Wave, pp. 17–18.
- ↑ For a detailed outline history, see Peter Stearns, Encyclopedia of World History (6th ed. 2001), pp. 413–801. For a narrative history, J. A. S. Grenville, A history of the world in the 20th century (1994) pp. 3–254.
- ↑ "How the Westminster Parliamentary System was exported around the World". University of Cambridge. 2 December 2013. สืบค้นเมื่อ 16 December 2013.
- ↑ "What Is Democracy? – Democracy's Third Wave". U.S. State Department. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-01. สืบค้นเมื่อ 2007-08-07.
- ↑ Schenoni, Luis and Scott Mainwaring (2019). "Hegemonic Effects and Regime Change in Latin America". Democratization. 26 (2): 269–287. doi:10.1080/13510347.2018.1516754. S2CID 150297685.
- ↑ Fukuyama, F. (1989) "The End of History?". The National Interest', p 1.
- ↑ "General Assembly declares 15 September International Day of Democracy; Also elects 18 Members to Economic and Social Council". Un.org. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ "freedomhouse.org: Tables and Charts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-05-26.
- ↑ "List of Electoral Democracies". World Forum on Democracy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 October 2013.
- ↑ Wall, John (October 2014). "Democratising democracy: the road from women's to children's suffrage" (PDF). The International Journal of Human Rights. 18:6 (6): 646–59. doi:10.1080/13642987.2014.944807. S2CID 144895426 – โดยทาง Rutgers University.
- ↑ "MaxRange". www.hh.se. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2 May 2015.
- ↑ 129.0 129.1 "Freedom in the Word 2017". freedomhouse.org (ภาษาอังกฤษ). 2016. สืบค้นเมื่อ 16 May 2017.
- ↑ Yun Ru Phua. "After Every Winter Comes Spring: Tunisia's Democratic Flowering – Berkeley Political Review". Bpr.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 11 February 2017.
- ↑ Walder, D.; Lust, E. (2018). "Unwelcome Change: Coming to Terms with Democratic Backsliding". Annual Review of Political Science. 21 (1): 93–113. doi:10.1146/annurev-polisci-050517-114628.
- ↑ Huq, Aziz; Ginsburg, Tom (2018). "How to Lose a Constitutional Democracy". UCLA Law Review. 65: 78–169.
- ↑ Cowen, Tyler (4 April 2017). "Why is authoritarianism on the rise?". marginalrevolution.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2018. สืบค้นเมื่อ 4 October 2018.
- ↑ Rhodes-Purdy, Matthew; Madrid, Raúl L. (27 November 2019). "The perils of personalism". Democratization. 27 (2): 321–339. doi:10.1080/13510347.2019.1696310. ISSN 1351-0347. S2CID 212974380.
- ↑ "Global overview of COVID-19: Impact on elections". www.idea.int. สืบค้นเมื่อ 28 January 2021.
- ↑ Repucci, Sarah; Slipowitz, Amy. "Democracy under Lockdown". Freedom House. สืบค้นเมื่อ 28 January 2021.
- ↑ Democracy Facing Global Challenges: V-Dem Annual Democracy Report 2019 (PDF) (Report). V-Dem Institute at the University of Gothenburg. May 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-26.
- ↑ Mettler, Suzanne (2020). Four Threats: The Recurring Crises of American Democracy. New York: St. Martin's Press. ISBN 978-1-250-24442-0. OCLC 1155487679.
- ↑ Farrell, Henry (14 August 2020). "History tells us there are four key threats to U.S. democracy". The Washington Post.
- ↑ Lieberman, By Suzanne Mettler and Robert C. (10 August 2020). "The Fragile Republic". Foreign Affairs (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 15 August 2020.
- ↑ Haggard, Stephan; Kaufman, Robert (2021). Backsliding: Democratic Regress in the Contemporary World. Cambridge University Press (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1017/9781108957809. ISBN 9781108957809. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.
{{cite book}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Cowen, Tyler (April 3, 2017). "China's Success Explains Authoritarianism's Allure". Bloomberg. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-18. สืบค้นเมื่อ 4 October 2018.
- ↑ Malka, Ariel; Lelkes, Yphtach; Bakker, Bert N.; Spivack, Eliyahu (2020). "Who Is Open to Authoritarian Governance within Western Democracies?". Perspectives on Politics (ภาษาอังกฤษ): 1–20. doi:10.1017/S1537592720002091. ISSN 1537-5927.
- ↑ G.F. Gaus, C. Kukathas, Handbook of Political Theory, SAGE, 2004, pp. 143–45, ISBN 0-7619-6787-7, Google Books link
- ↑ The Judge in a Democracy, Princeton University Press, 2006, p. 26, ISBN 0-691-12017-X, Google Books link
- ↑ A. Barak, The Judge in a Democracy, Princeton University Press, 2006, p. 40, ISBN 0-691-12017-X, Google Books link
- ↑ T.R. Williamson, Problems in American Democracy, Kessinger Publishing, 2004, p. 36, ISBN 1-4191-4316-6, Google Books link
- ↑ U.K. Preuss, "Perspectives of Democracy and the Rule of Law." Journal of Law and Society, 18:3 (1991). pp. 353–64
- ↑ Beramendi, Virginia, and Jennifer Somalie. Angeyo. Direct Democracy: The International Idea Handbook. Stockholm, Sweden: International IDEA, 2008. Print.
- ↑ 150.0 150.1 150.2 Vincent Golay and Mix et Remix, Swiss political institutions, Éditions loisirs et pédagogie, 2008. ISBN 978-2-606-01295-3.
- ↑ Niels Barmeyer, Developing Zapatista Autonomy, Chapter Three: Who is Running the Show? The Workings of Zapatista Government.
- ↑ Denham, Diana (2008). Teaching Rebellion: Stories from the Grassroots Mobilization in Oaxaca.
- ↑ Zibechi, Raul (2013). Dispersing Power: Social Movements as Anti-State Forces in Latin America.
- ↑ "A Very Different Ideology in the Middle East". Rudaw.
- ↑ "Radical Revolution – The Thermidorean Reaction". Wsu.edu. 6 June 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 February 1999. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ Graham, Emmanuel (July 2017). "The Third Peaceful Transfer of Power and Democratic Consolidation in Ghana" (PDF). Africology: The Journal of Pan African Studies. 10 (5): 99–127. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2020. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
- ↑ Tamarkin, M. (1979). "From Kenyatta to Moi: The Anatomy of a Peaceful Transition of Power". Africa Today. 26 (3): 21–37. ISSN 0001-9887. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2020. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
- ↑ Mangu, Andre Mbata B. (1 June 2004). "DR Congo : the long road from war to peace and challenges for peaceful transition and national reconstruction". Africa Insight (ภาษาอังกฤษ). 34 (2_3): 31–38. ISSN 0256-2804. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2020. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
- ↑ Ahmed, Jasem Mohamad (2012). "Democracy and the problem of peaceful transfer of power". Journal of Al-Frahedis Arts (ภาษาอังกฤษ). 04 (10). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2020. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
- ↑ "CONSTITUTIONAL DEMOCRACY". www.civiced.org. สืบค้นเมื่อ 2019-11-18.
- ↑ De Vos et al (2014) South African Constitutional Law – In Context: Oxford University Press.
- ↑ Keen, Benjamin, A History of Latin America. Boston: Houghton Mifflin, 1980.
- ↑ Kuykendall, Ralph, Hawaii: A History. New York: Prentice Hall, 1948.
- ↑ Brown, Charles H., The Correspondents' War. New York: Charles Scribners' Sons, 1967.
- ↑ Taussig, Capt. J.K., "Experiences during the Boxer Rebellion," in Quarterdeck and Fo'c'sle. Chicago: Rand McNally & Company, 1963
- ↑ 166.0 166.1 O'Neil, Patrick H. Essentials of Comparative Politics. 3rd ed. New York: W.W. Norton 2010. Print
- ↑ Garret, Elizabeth (13 October 2005). "The Promise and Perils of Hybrid Democracy" (PDF). The Henry Lecture, University of Oklahoma Law School. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 9 October 2017. สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.
- ↑ "Article on direct democracy by Imraan Buccus". Themercury.co.za. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 January 2010. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ "A Citizen's Guide To Vermont Town Meeting". July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2012. สืบค้นเมื่อ 12 October 2012.
- ↑ Kopstein, Jeffrey; Lichbach, Mark; Hanson, Stephen E., บ.ก. (2014). Comparative Politics: Interests, Identities, and Institutions in a Changing Global Order (4, revised ed.). Cambridge University Press. pp. 37–39. ISBN 978-1-139-99138-4.
- ↑ "Republic – Definition from the Merriam-Webster Online Dictionary". M-W.com. 25 April 2007. สืบค้นเมื่อ 22 August 2010.
- ↑ "Republicanism (Stanford Encyclopedia of Philosophy)". Plato.stanford.edu. สืบค้นเมื่อ 2013-02-03.
- ↑ Novanglus, no. 7. 6 March 1775
- ↑ Robert E. Shalhope, "Republicanism and Early American Historiography," William and Mary Quarterly, 39 (Apr. 1982), pp. 334–56
- ↑ Anna Lührmann, Seraphine F. Maerz, Sandra Grahn, Nazifa Alizada, Lisa Gastaldi, Sebastian Hellmeier, Garry Hindle and Staffan I. Lindberg. 2020. Autocratization Surges – Resistance Grows. Democracy Report 2020. Varieties of Democracy Institute (V-Dem). [1] เก็บถาวร 2021-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Factsheet – Prisoners' right to vote เก็บถาวร 7 สิงหาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน European Court of Human Rights, April 2019.
- ↑ Dahl, Robert A. (1971). Polyarchy: participation and opposition. New Haven: Yale University Press. ISBN 0-585-38576-9. OCLC 49414698.
- ↑ (PDF) https://library.fes.de/pdf-files/bueros/ghana/10519.pdf. สืบค้นเมื่อ April 6, 2021.
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ Wintrop 1983, p. 306; Archer 1995; Jones 2001, p. 737; Ritzer 2004, p. 479.
- ↑ Eatwell & Wright 1999, pp. 81, 100; Pruitt 2019; Berman 2020.
- ↑ Sinclair 1918; Busky 2000, p. 7; Abjorensen 2019, p. 115.
- ↑ How To Read Karl Marx
- ↑ [The Class Struggles In France Introduction by Frederick Engels https://www.marxists.org/archive/marx/works/1850/class-struggles-france/intro.htm]
- ↑ Marx, Engels and the vote (June 1983)
- ↑ "Karl Marx:Critique of the Gotha Programme".
- ↑ Hal Draper (1970). "The Death of the State in Marx and Engels". Socialist Register.
- ↑ O'Neil, Patrick. Essentials of Comparative Politics. 3rd ed. New York, New York, W. W Norton & Company, 2010. pp. 162–63. Print.
- ↑ "Contents", The People vs. Democracy, Harvard University Press, pp. v–vi, 2018-12-31, ISBN 978-0-674-98477-6, สืบค้นเมื่อ 2021-02-08
- ↑ Nyyssönen, Heino; Metsälä, Jussi (24 September 2020). "Liberal Democracy and its Current Illiberal Critique: The Emperor's New Clothes?". Europe-Asia Studies: 1–18. doi:10.1080/09668136.2020.1815654.
Thus, there is a real danger of ‘pseudo-democracy’, especially because elections can be manipulated and often are. In these cases, elections and other democratic institutions are simply adapted patterns of authoritarianism, not democracy in some imperfect form, having the dual purpose of legitimising the incumbent’s rule and guarding it from any danger of democratic change.
- ↑ "In political theory, an illiberal democracy is defined as one that only pays attention to elections, while it violates, in the years between elections, some core democratic principles, especially freedom of expression": Narendra Modi’s illiberal drift threatens Indian democracy, Financial Times, 18 August 2017.
- ↑ Illiberal Democracy and Vladimir Putin's Russia. "Collegeboard". July 2004
- ↑ Sultan or democrat? The many faces of Turkey's Recep Tayyip Erdogan, CBC, 5 June 2013. Retrieved 19 June 2013.
- ↑ Mutalib, H (2000). "Illiberal democracy and the future of opposition in Singapore". Third World Quarterly. 21 (2): 313–42. doi:10.1080/01436590050004373. S2CID 154321304.
- ↑ "What in the World: Turkey's transition into an illiberal democracy - CNN Video". cnn.com. สืบค้นเมื่อ 22 October 2017.
- ↑ Beutler, Brian (2016-12-07). "Sorry, Conservatives, Trump's Illiberalism Is on You". The New Republic. ISSN 0028-6583. สืบค้นเมื่อ 2019-11-23.
- ↑ Chait, Jonathan (2017-09-10). "The Only Problem in American Politics Is the Republican Party". Intelligencer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-11-23.
- ↑ "Commentary: In U.S. and EU, illiberalism in full bloom". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2019-11-23.
- ↑ Wolin, Sheldon S. (2008). Democracy Incorporated: Managed Democracy and the Specter of Inverted Totalitarianism. Princeton: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-13566-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-20. สืบค้นเมื่อ 2021-04-26. p. 47
- ↑ Kroef, Van Der; M, Justus (1 August 1957). "Guided Democracy in Indonesia". Far Eastern Survey. 26 (8): 113–124. doi:10.2307/3024455.
- ↑ Ten Years After the Soviet Breakup: From Democratization to "Guided Democracy" Journal of Democracy. By Archie Brown. Oct. 2001. Downloaded 28 April 2017.
- ↑ Montesano, Michael J. (2019). "The Place of the Provinces in Thailand's Twenty-Year National Strategy: Toward Community Democracy in a Commercial Nation?" (PDF). ISEAS Perspective. 2019 (60): 1–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-13. สืบค้นเมื่อ 2021-04-26.
- ↑ 202.0 202.1 202.2 202.3 202.4 202.5 Cunningham, Frank (2002). Theories of democracy : a critical introduction. London: Routledge. ISBN 9780415228794.
- ↑ Steinmetz, Jay (2019). "Chapter 5: Theories of Democracy". Politics, Power, and Purpose: An Orientation to Political Science (ภาษาอังกฤษ). Fort Hays State University. สืบค้นเมื่อ 26 April 2021.
- ↑ Springer, Simon (2011). "Public Space as Emancipation: Meditations on Anarchism, Radical Democracy, Neoliberalism and Violence". Antipode. 43 (2): 525–62. doi:10.1111/j.1467-8330.2010.00827.x.
- ↑ Joseph Schumpeter, (1950). Capitalism, Socialism, and Democracy. Harper Perennial. ISBN 0-06-133008-6.
- ↑ Anthony Downs, (1957). An Economic Theory of Democracy. Harper Collins College. ISBN 0-06-041750-1.
- ↑ Dahl, Robert, (1989). Democracy and its Critics. New Haven: Yale University Press. ISBN 0-300-04938-2
- ↑ Dworkin, Ronald (2006). Is Democracy Possible Here? Princeton: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-13872-5, p. 134.
- ↑ Gutmann, Amy, and Dennis Thompson (2002). Why Deliberative Democracy? Princeton University Press. ISBN 978-0-691-12019-5
- ↑ Joshua Cohen, "Deliberation and Democratic Legitimacy" in Essays on Reason and Politics: Deliberative Democracy Ed. James Bohman and William Rehg (The MIT Press: Cambridge) 1997, 72–73.
- ↑ Ethan J. "Can Direct Democracy Be Made Deliberative?", Buffalo Law Review, Vol. 54, 2006
- ↑ Warren, Mark E.; Pearse, Hilary (2008). Designing Deliberative Democracy: The British Columbia Citizens' Assembly. Cambridge University Press.
- ↑ Suiter, Jane; Farrell, David M; O’Malley, Eoin (2016-03-01). "When do deliberative citizens change their opinions? Evidence from the Irish Citizens' Assembly". International Political Science Review (ภาษาอังกฤษ). 37 (2): 198–212. doi:10.1177/0192512114544068. ISSN 0192-5121. S2CID 155953192.
- ↑ Smith, Graham (2009). Democratic Innovations: Designing Institutions for Citizen Participation. Theories of Institutional Design. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-51477-4.
- ↑ "Innovative Citizen Participation and New Democratic Institutions: Catching the Deliberative Wave | en | OECD". www.oecd.org. สืบค้นเมื่อ 2020-11-20.
- ↑ Ross, Carne (2011). Chapter 3.
{{cite book}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)CS1 maint: location (ลิงก์) - ↑ Cohen, Joshua (1989). "Deliberation and Democratic Legitimacy". The Good polity : normative analysis of the state. Oxford, UK: B. Blackwell. ISBN 978-0-631-15804-2.
- ↑ Fishkin, James S. (2009). When the People speak. Oxford: Oxford University Press. pp. 160f. ISBN 978-0-19-957210-6.
- ↑ 219.0 219.1 Dahlberg, Lincoln; Siapera, Eugenia, บ.ก. (2007). Radical Democracy and the Internet. London: Palgrave Macmillan UK. doi:10.1057/9780230592469. ISBN 9781349283156.
Radical democracy can then be defined as the type of democracy that signals an ongoing concern with the radical extension of equality and liberty.
- ↑ Dahlberg, L. (2012). Radical Democracy: 2.
- ↑ Olson, Kevin (2011). "Deliberative democracy". ใน Fultner, Barbara (บ.ก.). Jürgen Habermas. Jürgen Habermas: Key Concepts (ภาษาอังกฤษ). pp. 140–155. doi:10.1017/upo9781844654741.008. ISBN 9781844654741.
- ↑ For example: Lipset, Seymour Martin. (1959). "Some Social Requisites of Democracy: Economic Development and Political Legitimacy". American Political Science Review. 53 (1): 69–105. doi:10.2307/1951731. JSTOR 1951731. S2CID 53686238.
- ↑ Inglehart, Ronald. Welzel, Christian Modernisation, Cultural Change and Democracy: The Human Development Sequence, 2005. Cambridge: Cambridge University Press
- ↑ Inglehart, Ronald F. (2018). Cultural Evolution: People's Motivations Are Changing, and Reshaping the World. Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108613880. ISBN 978-1-108-61388-0.
- ↑ Przeworski, Adam; และคณะ (2000). Democracy and Development: Political Institutions and Well-Being in the World, 1950-1990. Cambridge: Cambridge University Press.
- ↑ Traversa, Federico (2014). "Income and the stability of democracy: Pushing beyond the borders of logic to explain a strong correlation?". Constitutional Political Economy. 26 (2): 121–136. doi:10.1007/s10602-014-9175-x. S2CID 154420163.
- ↑ Przeworski, Adam; Limongi, Fernando (1997). "Modernization: Theories and Facts". World Politics. 49 (2): 155–183. ISSN 0043-8871.
- ↑ Lipset, Seymour Martin (1963). Political Man. p. 41.
- ↑ Democracy in developing countries. Latin America (2nd ed.). Boulder: Lynne Rienner Publishers. ISBN 978-1-55587-798-9.
- ↑ Albertus, Michael; Menaldo, Victor (2012). "Coercive Capacity and the Prospects for Democratisation". Comparative Politics. 44 (2): 151–69. doi:10.5129/001041512798838003. S2CID 153949862.
- ↑ Paglayan, Agustina S. (February 2021). "The Non-Democratic Roots of Mass Education: Evidence from 200 Years". American Political Science Review (ภาษาอังกฤษ). 115 (1): 179–198. doi:10.1017/S0003055420000647. ISSN 0003-0554.
- ↑ Acemoglu, Daron; Naidu, Suresh; Restrepo, Pascual; Robinson, James A. (2015), "Democracy, Redistribution, and Inequality" (PDF), Handbook of Income Distribution (ภาษาอังกฤษ), Elsevier, vol. 2, pp. 1885–1966, doi:10.1016/b978-0-444-59429-7.00022-4, ISBN 978-0-444-59430-3
- ↑ Boix, Carles; Stokes, Susan C. (2003). "Endogenous Democratization". World Politics (ภาษาอังกฤษ). 55 (4): 517–549. doi:10.1353/wp.2003.0019. ISSN 0043-8871. S2CID 18745191.
- ↑ Miller, Michael K. (2021). Shock to the System (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. ISBN 978-0-691-21700-0.
- ↑ Riedl, Rachel Beatty; Slater, Dan; Wong, Joseph; Ziblatt, Daniel (2020-03-04). "Authoritarian-Led Democratization". Annual Review of Political Science. 23: 315–332. doi:10.1146/annurev-polisci-052318-025732. ISSN 1094-2939.
- ↑ Moore,Jr., Barrington (1993) [First published 1966]. Social origins of dictatorship and democracy: lord and peasant in the making of the modern world (with a new foreword by Edward Friedman and James C. Scott ed.). Boston: Beacon Press. p. 430. ISBN 978-0-8070-5073-6.
- ↑ Stasavage, David (2003). Public Debt and the Birth of the Democratic State: France and Great Britain 1688–1789 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. doi:10.1017/cbo9780511510557. ISBN 9780521809672. สืบค้นเมื่อ 2019-12-24.
- ↑ Risse, Thomas (2009). "Conclusions: Towards Transatlantic Democracy Promotion?". ใน Magen, Amichai; Risse, Thomas; McFaul, Michael A. (บ.ก.). Promoting Democracy and the Rule of Law. Promoting Democracy and the Rule of Law: American and European Strategies. Governance and Limited Statehood Series (ภาษาอังกฤษ). Palgrave Macmillan UK. pp. 244–271. doi:10.1057/9780230244528_9. ISBN 978-0-230-24452-8.
- ↑ Levitsky, Steven; Way, Lucan (2005-07-27). "International Linkage and Democratization". Journal of Democracy (ภาษาอังกฤษ). 16 (3): 20–34. doi:10.1353/jod.2005.0048. ISSN 1086-3214. S2CID 154397302.
- ↑ Levitsky, Steven; Way, Lucan A. (2010). Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the Cold War. Cambridge University Press.
- ↑ Knack, Stephen (2004-03-01). "Does Foreign Aid Promote Democracy?". International Studies Quarterly (ภาษาอังกฤษ). 48 (1): 251–266. doi:10.1111/j.0020-8833.2004.00299.x. ISSN 0020-8833.
- ↑ "Study: Nonviolent Civic Resistance Key Factor in Building Durable Democracies, May 24, 2005". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-23. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
- ↑ "The Resource Curse: Does the Emperor Have no Clothes?".
- ↑ Acemoglu, Daron; Robinson, James A. (2006). Economic Origins of Dictatorship and Democracy. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-85526-6.
- ↑ "Rainfall and Democracy".
- ↑ Gift, Thomas; Krcmaric, Daniel (2015). "Who Democratizes? Western-educated Leaders and Regime Transitions". Journal of Conflict Resolution. 61 (3): 671–701. doi:10.1177/0022002715590878. S2CID 156073540.
- ↑ Fish, M. Steven (October 2002). "Islam and Authoritarianism". World Politics (ภาษาอังกฤษ). 55 (1): 4–37. doi:10.1353/wp.2003.0004. ISSN 1086-3338. S2CID 44555086.
- ↑ Barro, Robert J. (1999-12-01). "Determinants of Democracy". Journal of Political Economy. 107 (S6): S158–S183. doi:10.1086/250107. ISSN 0022-3808.
- ↑ Arrow, Kenneth J.; Lind, Robert C. (June 1970). "Uncertainty and the Evaluation of Public Investment Decisions". The American Economic Review. 60 (3): 364–378. JSTOR 1817987.
- ↑ Manin, Bernard (1997). The Principles of Representative Government. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 2, 67–93, 132–160. ISBN 978-0521458917.
- ↑ James L. Hyland. Democratic theory: the philosophical foundations. Manchester, England, UK; New York, New York, USA: Manchester University Press ND, 1995. Pp. 247.
- ↑ 252.0 252.1 Martin Gilens & Benjamin I. Page (2014). "Testing Theories of American Politics: Elites, Interest Groups, and Average Citizens" (PDF). Perspectives on Politics. 12 (3): 564–581. doi:10.1017/S1537592714001595. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-04-06. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
- ↑ Piketty, Thomas (2014). Capital in the Twenty-First Century. Belknap Press. ISBN 067443000X p. 514: *"the risk of a drift towards oligarchy is real and gives little reason for optimism about where the United States is headed."
- ↑ (French economist Thomas Piketty), Associated Press, December 23, 2017, Q&A: A French economist's grim view of wealth gap, Accessed April 26, 2014, "...The main problem to me is really the proper working of our democratic institutions. It's just not compatible with an extreme sort of oligarchy where 90 percent of the wealth belongs to a very tiny group ..."
- ↑ Alan Wolfe (book reviewer), October 24, 2010, The Washington Post, Review of "The Mendacity of Hope," by Roger D. Hodge, Accessed April 26, 2014, "...Although Hodge devotes a chapter to foreign policy, the main charge he levels against Obama is that, like all politicians in the United States, he serves at the pleasure of a financial oligarchy. ... "
- ↑ Fierlbeck, K. (1998) Globalizing Democracy: Power, Legitimacy and the Interpretation of democratic ideas. (p. 13) Manchester University Press, New York
- ↑ Shrag, P. (1994), "California's elected anarchy." Harper's, 289 (1734), 50-9.
- ↑ Cockrell, Jeff (2016-03-08). "What economists think about voting". Capital Ideas. Chicago Booth. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-26. สืบค้นเมื่อ 2016-09-05.
Is there such a thing as a perfect voting system? The respondents were unanimous in their insistence that there is not.
- ↑ Richburg, Keith (October 16, 2008). "Head to head: African democracy". BBC News. สืบค้นเมื่อ April 28, 2014.
- ↑ "Is Democracy a Pre-Condition in Economic Growth? A Perspective from the Rise of Modern China". UN Chronicle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 March 2017. สืบค้นเมื่อ 24 January 2017.
- ↑ "How Corruption Weakens Democracy". Transparency International. Transparency International. สืบค้นเมื่อ 1 January 2020.
- ↑ McMann, Kelly M.; Seim, Brigitte; Teorell, Jan; Lindberg, Staffan (July 2019). "Why Low Levels of Democracy Promote Corruption and High Levels Diminish It". Sage. 73 (4): 1. doi:10.1177/1065912919862054. S2CID 203150460.
- ↑ Ward, Norman (February 1949). "Electoral Corruption and Controverted Elections". The Canadian Journal of Economics and Political Science. 15 (1): 74–86. doi:10.2307/137956. JSTOR 137956.
- ↑ 264.0 264.1 Paul Collier (8 November 2009). "5 myths about the beauty of the ballot box". Washington Post. p. B2.
- ↑ Scheufele, Dietram. "3 MESSAGES AND HEURISTICS: HOW AUDIENCES FORM ATTITUDES ABOUT EMERGING TECHNOLOGIES" (PDF). Engaging Science: Thoughts, deeds, analysis and action. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 15 May 2013.
- ↑ Riggle, Ellen D.; Ottati, Victor C.; Wyer, Robert S.; Kuklinski, James; Schwarz, Norbert (1 March 1992). "Bases of political judgments: The role of stereotypic and nonstereotypic information". Political Behavior. 14 (1): 67–87. doi:10.1007/BF00993509.
- ↑ Mcdermott, Monika L (1 December 1998). "Race and Gender Cues in Low-Information Elections". Political Research Quarterly. 51 (4): 895–918. doi:10.1177/106591299805100403.
- ↑ Klasnja, Marko. "Why Do Malfeasant Politicians Maintain Political Support? Testing the "Uninformed Voter" Argument". Social Science Research Network. SSRN 1901683.
{{cite web}}
:|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ Jacobs, Lawrence R. (1 December 2001). "Commentary: Manipulators and Manipulation: Public Opinion in a Representative Democracy". Journal of Health Politics, Policy and Law. 26 (6): 1361–1374. doi:10.1215/03616878-26-6-1361. ISSN 1527-1927. PMID 11831584. S2CID 5716232. สืบค้นเมื่อ 22 January 2017.
- ↑ Gorton, William A. (2 January 2016). "Manipulating Citizens: How Political Campaigns' Use of Behavioral Social Science Harms Democracy". New Political Science. 38: 61–80. doi:10.1080/07393148.2015.1125119. S2CID 147145163.
- ↑ Conversation of Socrates, Plato; H, Translated by Spens. The Republic of Plato – Book ten – A conversation between Socrates and Admimantus.
- ↑ Jacobs, Lawrence R.; Page, Benjamin I. (February 2005). "Who Influences U.S. Foreign Policy?". American Political Science Review. 99 (1): 107–123. doi:10.1017/S000305540505152X. S2CID 154481971.
- ↑ Bernauer, Julian; Giger, Nathalie; Rosset, Jan (January 2015). "Mind the gap: Do proportional electoral systems foster a more equal representation of women and men, poor and rich?". International Political Science Review. 36 (1): 78–98. doi:10.1177/0192512113498830. S2CID 145633250.
- ↑ Gilens, Martin; Page, Benjamin I. (September 2014). "Testing Theories of American Politics: Elites, Interest Groups, and Average Citizens". Perspectives on Politics. 12 (3): 564–581. doi:10.1017/S1537592714001595.
- ↑ Carnes, Nicholas (2013). White-Collar Government: The Hidden Role of Class in Economic Policy Making. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-08728-3.[ต้องการเลขหน้า]
- ↑ Carnes, Nicholas; Lupu, Noam (January 2015). "Rethinking the Comparative Perspective on Class and Representation: Evidence from Latin America". American Journal of Political Science. 59 (1): 1–18. doi:10.1111/ajps.12112.
- ↑ Giger, Nathalie; Rosset, Jan; Bernauer, Julian (April 2012). "The Poor Political Representation of the Poor in a Comparative Perspective". Representation. 48 (1): 47–61. doi:10.1080/00344893.2012.653238. S2CID 154081733.
- ↑ Peters, Yvette; Ensink, Sander J. (4 May 2015). "Differential Responsiveness in Europe: The Effects of Preference Difference and Electoral Participation". West European Politics. 38 (3): 577–600. doi:10.1080/01402382.2014.973260. S2CID 153452076.
- ↑ Schakel, Wouter; Burgoon, Brian; Hakhverdian, Armen (March 2020). "Real but Unequal Representation in Welfare State Reform". Politics & Society. 48 (1): 131–163. doi:10.1177/0032329219897984. S2CID 214235967.
- ↑ Köchler, Hans (1987). The Crisis of Representative Democracy. Frankfurt/M., Bern, New York. ISBN 978-3-8204-8843-2.
- ↑ Urbinati, Nadia (1 October 2008). "2". Representative Democracy: Principles and Genealogy. ISBN 978-0-226-84279-0.
- ↑ Fenichel Pitkin, Hanna (September 2004). "Representation and democracy: uneasy alliance". Scandinavian Political Studies. 27 (3): 335–42. doi:10.1111/j.1467-9477.2004.00109.x. S2CID 154048078.
- ↑ Aristotle. "Ch. 9". Politics. Vol. Book 4.
- ↑ Who’s Afraid of the Imperative Mandate? เก็บถาวร 2018-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Massimiliano Tomba, Critical Times', 1(1), 2018
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Appleby, Joyce. (1992). Liberalism and Republicanism in the Historical Imagination. Harvard University Press.
- Becker, Peter, Heideking, Juergen, & Henretta, James A. (2002). Republicanism and Liberalism in America and the German States, 1750-1850. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80066-2
- Benhabib, Seyla. (1996). Democracy and Difference: Contesting the Boundaries of the Political. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-04478-1
- Charles Blattberg. (2000). From Pluralist to Patriotic Politics: Putting Practice First, Oxford University Press, ISBN 978-0-19-829688-1.
- Birch, Anthony H. (1993). The Concepts and Theories of Modern Democracy. London: Routledge. ISBN 978-0-415-41463-0
- Castiglione, Dario. (2005). "Republicanism and its Legacy." European Journal of Political Theory. pp 453–65.
- Copp, David, Jean Hampton, & John E. Roemer. (1993). The Idea of Democracy. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-43254-2
- Caputo, Nicholas. (2005). America's Bible of Democracy: Returning to the Constitution. SterlingHouse Publisher, Inc. ISBN 978-1-58501-092-9
- Dahl, Robert A. (1991). Democracy and its Critics. Yale University Press. ISBN 978-0-300-04938-1
- Dahl, Robert A. (2000). On Democracy. Yale University Press. ISBN 978-0-300-08455-9
- Dahl, Robert A. Ian Shapiro & Jose Antonio Cheibub. (2003). The Democracy Sourcebook. MIT Press. ISBN 978-0-262-54147-3
- Dahl, Robert A. (1963). A Preface to Democratic Theory. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-13426-0
- Davenport, Christian. (2007). State Repression and the Domestic Democratic Peace. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86490-9
- Diamond, Larry & Marc Plattner. (1996). The Global Resurgence of Democracy. Johns Hopkins University Press. ISBN 978-0-8018-5304-3
- Diamond, Larry & Richard Gunther. (2001). Political Parties and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-6863-4
- Diamond, Larry & Leonardo Morlino. (2005). Assessing the Quality of Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-8287-6
- Diamond, Larry, Marc F. Plattner & Philip J. Costopoulos. (2005). World Religions and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-8080-3
- Diamond, Larry, Marc F. Plattner & Daniel Brumberg. (2003). Islam and Democracy in the Middle East. JHU Press. ISBN 978-0-8018-7847-3
- Elster, Jon. (1998). Deliberative Democracy. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-59696-1
- Takis Fotopoulos. (2006). "Liberal and Socialist “Democracies” versus Inclusive Democracy", The International Journal Of Inclusive Democracy. 2 (2)
- Takis Fotopoulos. (1992). "Direct and Economic Democracy in Ancient Athens and its Significance Today" เก็บถาวร 2009-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Democracy & Nature, 1 (1)
- Gabardi, Wayne. (2001). Contemporary Models of Democracy. Polity.
- Griswold, Daniel. (2007). Trade, Democracy and Peace: The Virtuous Cycle
- Halperin, M. H., Siegle, J. T. & Weinstein, M. M. (2005). The Democracy Advantage: How Democracies Promote Prosperity and Peace. Routledge. ISBN 978-0-415-95052-7
- Mogens Herman Hansen. (1991). The Athenian Democracy in the Age of Demosthenes. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-18017-3
- Held, David. (2006). Models of Democracy. Stanford University Press. ISBN 978-0-8047-5472-9
- Inglehart, Ronald. (1997). Modernization and Postmodernization. Cultural, Economic, and Political Change in 43 Societies. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-01180-6
- Khan, L. Ali. (2003). A Theory of Universal Democracy: Beyond the End of History. Martinus Nijhoff Publishers. ISBN 978-90-411-2003-8
- Hans Köchler. (1987). The Crisis of Representative Democracy. Peter Lang. ISBN 978-3-8204-8843-2
- Lijphart, Arend. (1999). Patterns of Democracy: Government Forms and Performance in Thirty-Six Countries. Yale University Press. ISBN 978-0-300-07893-0
- Lipset, Seymour Martin. (1959). "Some Social Requisites of Democracy: Economic Development and Political Legitimacy." American Political Science Review, 53 (1) : 69-105.
- Macpherson, C. B. (1977). The Life and Times of Liberal Democracy. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-289106-8
- Morgan, Edmund. (1989). Inventing the People: The Rise of Popular Sovereignty in England and America. Norton. ISBN 978-0-393-30623-1
- Plattner, Marc F. & Aleksander Smolar. (2000). Globalization, Power, and Democracy. JHU Press. ISBN 978-0-8018-6568-8
- Plattner, Marc F. & João Carlos Espada. (2000). The Democratic Invention. Johns Hopkins University Press. ISBN 978-0-8018-6419-3
- Putnam, Robert. (2001). Making Democracy Work. Princeton University Press. ISBN 978-5-551-09103-5
- Raaflaub, Kurt A., Ober, Josiah & Wallace, Robert W. (2007). Origins of democracy in ancient Greece. University of California Press. ISBN 978-0-520-24562-4
- William H. Riker. (1962). The Theory of Political Coalitions Yale University Press.
- Sen, Amartya K. (1999). "Democracy as a Universal Value." Journal of Democracy 10 (3) : 3-17.
- Tannsjo, Torbjorn. (2008). Global Democracy: The Case for a World Government. Edinburgh University Press. ISBN 978-0-7486-3499-6. Argues that not only is world government necessary if we want to deal successfully with global problems it is also, pace Kant and Rawls, desirable in its own right.
- Weingast, Barry. (1997). "The Political Foundations of the Rule of Law and Democracy." American Political Science Review, 91 (2) : 245-263.
- Weatherford, Jack. (1990). Indian Givers: How the Indians Transformed the World. New York: Fawcett Columbine. ISBN 978-0-449-90496-1
- Whitehead, Laurence. (2002). Emerging Market Democracies: East Asia and Latin America. JHU Press. ISBN 978-0-8018-7219-8
- Willard, Charles Arthur. (1996). Liberalism and the Problem of Knowledge: A New Rhetoric for Modern Democracy. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-89845-2
- Wood, E. M. (1995). Democracy Against Capitalism: Renewing historical materialism. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-47682-9
- Wood, Gordon S. (1991). The Radicalism of the American Revolution. Vintage Books. ISBN 978-0-679-73688-2 examines democratic dimensions of republicanism
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Democracy at the Stanford Encyclopedia of Philosophy
- Dictionary of the History of Ideas: Democracy เก็บถาวร 2008-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Economist Intelligence Unit's index of democracy
- Alexis de Tocqueville, Democracy in America เก็บถาวร 1997-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Full hypertext with critical essays on America in 1831–32 from American Studies at the University of Virginia
- The Varieties of Democracy project. Indicators of hundreds of attributes of democracy and non-democracy for most countries from 1900 to 2018, and from as early as 1789 for dozens of countries, with many interactive online graphics tools
- Data visualizations of data on democratisation and list of data sources on political regimes on 'Our World in Data', by Max Roser.
- MaxRange: Analyzing political regimes and democratization processes—Classifying political regime type and democracy level to all states and months 1789–2015
- "Democracy", BBC Radio 4 discussion with Melissa Lane, David Wootton and Tim Winter (In Our Time, 18 October 2001)
- Democracy (1945) ที่ยูทูบ Encyclopædia Britannica Films