ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิปฏิวัติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การทลายคุกบาสตีย์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในแง่ที่ว่า ผู้คนต่างลุกขึ้นใช้สิทธิของตนเพื่อปฏิวัติ

สิทธิปฏิวัติ (อังกฤษ: right of revolution) หรือ สิทธิกบฏ (อังกฤษ: right of rebellion) ในปรัชญาการเมืองนั้น คือ สิทธิหรือหน้าที่ที่ชนในชาติสามารถล้มล้างการปกครองซึ่งขัดต่อประโยชน์ส่วนรวมได้ ความเชื่อเรื่องสิทธินี้ย้อนหลังไปถึงจีนโบราณ และสิทธินี้ก็ได้ใช้มาแล้วตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กบฏซึ่งรวมถึงการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส

ในประเทศจีนนั้น เป็นไปได้ว่า ราชวงศ์โจวสร้างความชัดเจนให้แก่สิทธิปฏิวัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาแผ่นดิน[1] พระมหากษัตริย์ราชวงศ์โจวตั้งแนวคิดซึ่งเรียกกันว่า "อาณัติแห่งสวรรค์" (Mandate of Heaven) ขึ้นเพื่อเป็นเหตุผลสำหรับการที่ตนโค่นล้มราชวงศ์ซาง โดยระบุว่า สวรรค์มอบอำนาจให้แก่ผู้นำซึ่งทรงธรรม และย่อมเพิกถอนอาณัติที่เคยให้ไว้แก่ผู้นำซึ่งกดขี่ ฉะนั้น อาณัติแห่งสวรรค์ย่อมถ่ายโอนไปยังบุคคลซึ่งปกครองเป็นเลิศ นักประวัติศาสตร์จีนตีความว่า การปฏิวัติสำเร็จเป็นเครื่องยืนยันว่า อาณัติแห่งสวรรค์ถ่ายโอนมาแล้ว ในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสต์จีน ผู้ต่อต้านราชวงศ์ซึ่งกำลังอยู่ในอำนาจมักอ้างว่า อาณัติแห่งสวรรค์โอนผ่านมาแล้ว พวกเขาจึงชอบจะปฏิวัติ เป็นเหตุให้ราชวงศ์ที่กำลังผ่านบ้านครองเมืองมักคับอกคับใจกับทฤษฎีดังกล่าว และทำให้เมิ่งจื่อ (Mencius) ปรัชญาเมธีลัทธิขงจื่อ ถูกระงับงานเขียนที่แถลงว่า ประชาชนมีสิทธิคว่ำผู้ปกครองที่ไม่แยแสความต้องการของพวกตน

สำหรับศาสนาอิสลามนั้น เบอร์นาร์ด ลิวอิส (Bernard Lewis) นักวิชาการ กล่าวว่า มีหลายจุดในคัมภีร์กุรอ่านที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิปฏิวัติในศาสนาอิสลาม คัมภีร์ระบุไว้ชัดเจนว่า หน้าที่ต้องเชื่อฟังนั้นมีอยู่ กล่าวกันว่า มุฮัมมัดเคยเอ่ยว่า "จงเชื่อฟังพระเจ้า จงเชื่อฟังศาสดา จงเชื่อฟังบรรดาผู้มีอำนาจเหนือเจ้า" ("Obey God, obey the Prophet, obey those who hold authority over you.") แต่ก็มีถ้อยคำที่สร้างข้อจำกัดแก่หน้าที่ต้องเชื่อฟังนั้นอยู่เช่นกัน ในการนี้ มีดำรัสศาสดาอยู่สองข้อซึ่งยอมรับนับถือทั่วกันว่า ถูกต้องแท้จริง ข้อหนึ่งว่า "อย่าหัวอ่อนต่อบาป" ("there is no obedience in sin") กล่าวคือ ถ้าผู้ปกครองสั่งการอันใดอันขัดต่อเทวบัญญัติ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเชื่อฟัง อีกข้อหนึ่งว่า "อย่าศิโรราบต่อสัตว์ซึ่งขัดต่อพระผู้สร้าง" ("do not obey a creature against his Creator") ข้อนี้สร้างกรอบสำหรับการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ไม่ว่าผู้ปกครองนั้นจะเป็นผู้ใดในสายพระเนตรพระเจ้า[2]

ส่วนทางยุโรปนั้น สิทธิปฏิวัติอาจย้อนหลังไปถึงมหากฎบัตร (Magna Carta) ซึ่งเป็นธรรมนูญของอังกฤษที่ตราขึ้นเมื่อปี 1215 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงสละสิทธิบางประการ และรับว่า จะทรงอยู่ในอำนาจกฎหมาย มหากฎบัตรยังมี "บทประกัน" (security clause) ซึ่งให้คณะบารอน (committee of barons) มีสิทธิยับยั้งพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ได้ แม้จะใช้กำลังยับยั้งก็ได้ถ้าจำเป็น มหากฎบัตรจึงมีอิทธิพลโดยตรงต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภารวมถึงเอกสารทางรัฐธรรมนูญอื่น ๆ เช่น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

อนึ่ง สารตราทอง ค.ศ. 1222 (Golden Bull of 1222) ซึ่งแอนดริวที่ 2 (Andrew II) พระเจ้าแผ่นดินฮังการี ทรงตราขึ้นนั้น ยังให้ข้าราชการฮังการีมีสิทธินานัปการ รวมถึงสิทธิที่จะกระด้างกระเดื่องต่อพระมหากษัตริย์เมื่อทรงฝ่าฝืนกฎหมาย เรียกว่า "สิทธิต่อต้าน" (jus resistendi) สารตราทองนี้มักได้รับการเปรียบเทียบกับมหากฎบัตร เพราะสารตราทองเป็นเอกสารทางรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศฮังการี ขณะที่มหากฎบัตรก็นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของชาติอังกฤษ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Perry, Elizabeth. [2002] (2002). Challenging the Mandate of Heaven: Social Protest and State Power in China. Sharpe. ISBN 0-7656-0444-2
  2. Freedom and Justice in the Middle East