ข้ามไปเนื้อหา

เมโสโปเตเมีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อารยธรรมเมโสโปเตเมีย
แม่น้ำไทกริสแม่น้ำยูเฟรทีส
เมือง / จักรวรรดิ
ซูเมอร์
เอลาม
จักรวรรดิแอกแคด
แอเมอไรต์:
บาบิโลเนีย: บาบิโลนแคลเดีย
ฮิตไทต์
อัสซีเรีย
ข้อมูลอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
ประวัติศาสตร์เมโสโปเตเมีย
ประวัติชาวซูเมอร์ • รายพระนามพระมหากษัตริย์ชาวซูเมอร์
รายพระนามพระมหากษัตริย์อัสซีเรีย
รายพระนามพระมหากษัตริย์บาบิโลเนีย
ภาษา
ซูเมอร์แอกแคดฮิตไทต์
แผนที่บริเวณเมโสโปเตเมีย

เมโสโปเตเมีย (อังกฤษ: Mesopotamia; กรีกโบราณ: Μεσοποταμία, อักษรโรมัน: Mesopotamíā, เมโซโปตามีอา) เป็นคำกรีกโบราณ ตามรูปศัพท์แปลว่า "ที่ระหว่างแม่น้ำ" (meso = กลาง + potamia = แม่น้ำ) โดยมีนัยหมายถึง "ดินแดนระหว่างแม่น้ำแม่น้ำไทกริสกับยูเฟรทีส" ดินแดนดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์" (Fertile Crescent) ซึ่งเป็นดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ทอดโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจรดอ่าวเปอร์เซีย

เมโสโปเตเมียเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง เมโสโปเตเมีย แปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำไทกรีสและยูเฟรทีส (ปัจจุบันคือดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอิรัก) ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำทั้งสองสายเป็นพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้กลุ่มชนชาติต่างๆเข้ามาทำมาหากินและสร้างอารยธรรมขึ้น รวมทั้งถ่ายทอดอารยธรรมจากกลุ่มหนึ่งสู่กลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดอารยธรรมแบบผสม

เมโสโปเตเมียเป็นดินแดนที่อากาศร้อนและกันดารฝน น้ำที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นน้ำจากแม่น้ำที่มาจากการละลายของหิมะบนเทือกเขาในอาร์มีเนีย น้ำจะพัดพาเอาโคลนตมมาทับถมชายฝั่งทั้งสอง ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การเอ่อล้นของน้ำอันเกิดจากหิมะละลายไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนและบางครั้งทำความเสียหายแก่บ้านเมือง ไร่นา ทรัพย์สิน และชีวิตผู้คน การกสิกรรมที่จะได้ผลดีในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต้องอาศัยระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ

ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้ แต่ความร้อนของอากาศก็เป็นเครื่องบั่นทอนกำลังของผู้คนที่อาศัยอยู่ทำให้คนเหล่านั้นขาดความกระตือรือร้น เมื่อมีพวกอื่นเข้ารุกรานจึงต้องหลีกทางให้ผู้ที่เข้ามาใหม่ ซึ่งเมื่ออยู่ไปนาน ๆ เข้าก็ประสบภาวะเดียวกันต้องหลีกให้ผู้อื่นต่อไป[ต้องการอ้างอิง] พวกที่เข้ามารุกรานส่วนใหญ่มักจะมาจากบริเวณหุบเขาที่ราบสูงทางภาคเหนือ และตะวันออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนไม่อุดมสมบูรณ์เท่าเขตลุ่มแม่น้ำ และยังมีพวกที่มาจากทะเลทรายซีเรียและอาระเบีย เรื่องราวของดินแดนแห่งนี้จึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับอารยธรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่ม มิได้เป็นเรื่องราวของอารยธรรมที่สืบต่อกันเป็นเวลายาวนานดังเช่นอารยธรรมอียิปต์

คนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้นคือชาวซูเมอร์ ผู้คิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก อารยธรรมที่ชาวซูเมอร์สร้างขึ้นเป็นพื้นฐานสำคัญของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย สถาปัตยกรรม ตัวอักษร ศิลปกรรมอื่น ๆ ตลอดจนทัศนคติต่อชีวิตและเทพเจ้าของชาวซูเมอร์ ได้ดำรงอยู่และมีอิทธิพลอยู่ในลุ่มแม่น้ำทั้งสองตลอดช่วงสมัยโบราณ

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

[แก้]

เมโสโปเตเมียเป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกสมัยโบราณ โดยตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรทีส (Euphrates) ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศอิรัก แม่น้ำทั้ง 2 สายมีต้นน้ำอยู่ในอาร์มีเนียและเอเชียไมเนอร์มาบรรจบกันเป็นชัฏฏุลอะร็อบแล้วไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวเปอร์เซีย

บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีสตอนล่างเรียกว่าบาบิโลเนีย (Babylonia) เป็นเขตซึ่งอยู่ติดกับอ่าวเปอร์เซีย มีชื่อเรียกในสมัยหนึ่งว่าชีนา (Shina) เกิดจากการทับถมของดินที่แม่น้ำพัดพามา กล่าวคือ ในฤดูร้อนหิมะบนภูเขาในอาร์มีเนียละลายไหลบ่าลงมาทางใต้พัดพาเอาโคลนตมมาทับถมไว้ยังบริเวณปากน้ำ ทำให้พื้นดินตรงปากแม่น้ำงอกออกทุกปี โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 ไมล์ครึ่งทุก ๆ ศตวรรษ (ประมาณปีละ 29 นิ้วครึ่ง)

อาณาบริเวณที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย มีทิศเหนือจรดทะเลดำและทะเลแคสเปียน ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดคาบสมุทรอาหรับซึ่งล้อมรอบด้วยทะเลแดงและมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกจรดที่ราบซีเรียและปาเลสไตน์ ส่วนทิศตะวันออกจรดที่ราบสูงอิหร่าน

เมโสโปเตเมียแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนล่างใกล้กับอ่าวเปอร์เซีย แห้งแล้งเรียกว่าบาบิโลเนีย ส่วนบนซึ่งค่อนอุดมสมบูรณ์เรียกว่าอัสซีเรีย (Assyria)[ต้องการอ้างอิง] บริเวณทั้งหมดมีชนชาติหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ มีการรบพุ่งกันอยู่เสมอ เมื่อชาติใดมีอำนาจก็เข้าไปยึดครองและกลายเป็นชนชาติเดียวกัน นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า ไม่มีแห่งหนตำบลใดจะมีชาติพันธุ์มนุษย์ผสมปนเปกันมากมายเหมือนที่นี่ และยังเป็นยุทธภูมิระหว่างตะวันตกกับตะวันออกตลอดสมัยประวัติศาสตร์ ดังนั้น ประวัติเรื่องราวต่าง ๆ ของชนชาติเหล่านี้จึงค่อนข้างสับสน