ข้ามไปเนื้อหา

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
เอลีนอร์ โรสเวลต์ถือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษ
สิทธิมนุษยชนที่สมัชชาสหประชาชาติลงมติรับในสมัยประชุมที่ 183 จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในวันที่ 10 ธันวาคม 1948
สร้าง1948
ให้สัตยาบัน10 ธันวาคม ค.ศ. 1948
ที่ตั้งปาแลเดอชาโย
ผู้เขียนคณะกรรมการร่าง[a]
วัตถุประสงค์สิทธิมนุษยชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (อังกฤษ: Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) เป็นเอกสารระหว่างประเทศที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ทั้งปวง สมัชชาสหประชาชาติยอมรับตามข้อมติที่ 217 ในสมัยประชุมที่สาม วันที่ 10 ธันวาคม 1948 ณ ปาแลเดอชาโย ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส[1]

เอกสารนี้ถือเป็นข้อความรากฐานในประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ปฏิญญาฯ มีเนื้อหา 30 ข้อที่ลงรายละเอียด "สิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพมูลฐาน" ของปัจเจก และยืนยันลักษณะสากลของสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ว่าเป็นสิทธิติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และใช้กับมนุษย์ทุกคน[1] UDHR ผูกมัดประชาชาติให้รับรองมนุษย์ทุกคนว่าเกิดมามีอิสระและมีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ถิ่นพำนัก เพศ ชาติหรือชาติพันธุ์กำเนิด สีผิว ศาสนา ภาษาหรือสถานภาพอื่น[2] นับเป็นแรงบันดาลใจโดยตรงแก่การกำเนิดของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แม้ว่าตัวปฏิญญาฯ เองไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่เนื้อหาของปฏิญญาฯ ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมและรวมเข้าอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตราสารสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค และรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายของชาติต่าง ๆ ในเวลาต่อมา[1] รัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 รัฐได้ให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันอย่างน้อย 1 ใน 9 ฉบับซึ่งได้รับอิทธิพลจากปฏิญญาฯ และส่วนใหญ่ให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาจำนวนนี้อย่างน้อย 4 ฉบับหรือกว่านั้น นักวิชาการกฎหมายบางคนให้เหตุผลว่าการใช้ปฏิญญาฯ ดังกล่าวเป็นเวลา 50 ปีขึ้นไปน่าจะถือได้ว่ามีผลผูกพันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศจารีตประเพณีแล้ว[3][4] แม้ว่าศาลในบางประเทศยังคงจำกัดผลลัพธ์ทางกฎหมายอยู่[5][6] กระนั้น UDHR ได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางกฎหมาย การเมืองและสังคมทั้งในระดับโลกและประเทศ และมีความสำคัญจากการแปล 524 สำนวน ซึ่งมากกว่าเอกสารใด ๆ ในประวัติศาสตร์[7]

โครงสร้าง

[แก้]

โครงสร้างพื้นเดิมของปฏิญญาฯ ได้รับอิทธิพลจากประมวลกฎหมายนโปเลียน ซึ่งมีอารัมภบทและหลักการทั่วไปในบทนำ[8] โครงสร้างสุดท้ายมีรูปมาจากฉบับร่างที่สองที่เตรียมโดยนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส René Cassin ซึ่งทำงานต่อจากฉบับร่างแรกที่เตรียมโดยนักวิชาการกฎหมายชาวแคนาดา จอห์น ปีเตอส์ ฮัมฟรี

ปฏิญญาฯ มีเนื้อหาต่อไปนี้:

  • อารัมภบทระบุสาเหตุทางประวัติศาสตร์และสังคมซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นของการร่างปฏิญญาฯ
  • ข้อ 1–2 กำหนดมโนทัศน์พื้นฐานของศักดิ์ศรี เสรีภาพและความเสมอภาค
  • ข้อ 3–5 กำหนดสิทธิปัจเจกอื่น เช่น สิทธิในการมีชีวิต และการห้ามมีทาสและการทรมาน
  • ข้อ 6–11 เล่าถึงความชอบด้วยกฎหมายมูลฐานของสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาหากมีการละเมิดสิทธิเหล่านั้น
  • ข้อ 12–17 กำหนดสิทธิของปัจเจกต่อชุมชน รวมทั้งเสรีภาพในการเดินทาง (freedom of movement)
  • ข้อ 18–21 อนุมัติ "เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" และเสรีภาพทางจิตวิญญาณ สาธารณะและการเมือง เช่น เสรีภาพทางความคิด ความเห็น ศาสนาและสำนึก คำและการรวมกลุ่มอย่างสันติของปัจเจก
  • ข้อ 22–27 อนุมัติสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของปัจเจก รวมทั้งบริการสาธารณสุข ย้ำถึงสิทธิอย่างกว้างขวางในมาตรฐานการครองชีพ กำหนดการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมในกรณีร่างกายทรุดโทรมหรือทุพพลกายทางกาย และกล่าวถึงเป็นพิเศษแก่การดูแลแก่ผู้เป็นมารดาและบุตร
  • ข้อ 28–30 กำหนดวิธีการทั่วไปสำหรับใช้สิทธิเหล่านี้ ขอบเขตที่สิทธิของปัจเจกใช้ไม่ได้ หน้าที่ของปัจเจกต่อสังคม และการห้ามใช้สิทธิที่เป็นการฝ่าฝืนความมุ่งประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Included John Peters Humphrey (Canada), René Cassin (France), P. C. Chang (Republic of China), Charles Malik (Lebanon), Hansa Mehta (India) and Eleanor Roosevelt (United States); see Creation and drafting section above.

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Human Rights Law". www.un.org (ภาษาอังกฤษ). 2015-09-02. สืบค้นเมื่อ 2020-08-20.
  2. UDHR Booklet, Art. 2.
  3. Henry J Steiner and Philip Alston, International Human Rights in Context: Law, Politics, Morals, (2nd ed), Oxford University Press, Oxford, 2000.
  4. Hurst Hannum, The universal declaration of human rights in National and International Law เก็บถาวร 2020-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, p.145
  5. Posner, Eric (2014-12-04). "The case against human rights | Eric Posner". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2020-01-22.
  6. Sosa v. Alvarez-Machain, 542 U.S. 692, 734 (2004).
  7. "OHCHR | Universal Declaration of Human Rights Main". www.ohchr.org. สืบค้นเมื่อ 2020-08-20.
  8. Glendon 2002, pp. 62–64.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]