การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ | |
---|---|
1660 – 1688 (1714) | |
พระมหากษัตริย์ | สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถเเอนน์ |
ผู้นำ | เซอร์ โทมัส พาร์คเกอร์ |
การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ หรือ ยุคฟื้นฟู (อังกฤษ: English Restoration หรือ The Restoration) เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1660 เมื่อ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ เสด็จกลับจากการลี้ภัยในทวีปยุโรป
สิ้นสมัยรัฐผู้พิทักษ์
[แก้]สมัยรัฐผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นสมัยก่อนหน้าสมัยฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ และน่าจะตามด้วยสมัยเครือจักรภพถ้าริชาร์ดบุตรชายของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้พิทักษ์หลังจากครอมเวลล์ถึงแก่อสัญกรรมเป็นผู้มีสมรรถภาพและสามารถปกครองต่อมาตามนโยบายของผู้เป็นบิดา จุดอ่อนของริชาร์ดอยู่ตรงที่เป็นผู้ขาดความสามารถในทางการทหาร และปกครองได้เพียงเจ็ดเดือนก็ถูกกลุ่มทหารปลดจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1659 และก่อตั้งรัฐสภารัมพ์ขึ้นแทนที่ โดยมีชาร์ลส์ ฟลีทวูด (Charles Fleetwood) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย (English Committee of Safety) และ สภาแห่งรัฐ (English Council of State) และหนึ่งในเจ็ดของสมาชิกสภาของทหาร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1659 ฟลีทวูดก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด (Lord-general) แต่ก็ไม่ได้สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่เพราะขาดการสนับสนุนจากรัฐสภา ที่ไม่ยอมรับอำนาจของทหารเช่นเดียวกับในระหว่างหลังสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1659 สภาสามัญชนภายใต้การนำของนายพลจอห์น แลมเบิร์ตและนายทหารอีกบางคนก็แต่งตั้งฟลีทวูดให้เป็นประมุขของสภาทหารภายใต้การนำอำนาจของประธานสภาสามัญชน วันรุ่งขึ้นแลมเบิร์ตก็สั่งให้ปิดประตูสภาสามัญชนและห้ามสมาชิกเข้า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมก็เกิดการก่อตั้ง “คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย” โดยมีฟลีทวูดและแลมเบิร์ตเป็นสองในคณะกรรมการ แลมเบิร์ตได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลของกองทัพทั้งหมดในอังกฤษและสกอตแลนด์โดยมีฟลีทวูดเป็นนายพล คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยส่งแลมเบิร์ตและกองกำลังเป็นจำนวนมากไปพบกับจอร์จ มองค์ ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลที่ 1 ผู้บังคับบัญชากองทัพในสกอตแลนด์ที่อาจจะไปเจรจาต่อรองหรือไปบังคับให้ยินยอมในข้อตกลง
หลังจากนั้นมองค์ผู้เป็นข้าหลวงแห่งสกอตแลนด์ก็นำทัพลงมาทางใต้ กองทัพของแลมเบิร์ตจึงละทิ้งกองทัพของมองค์ๆ จึงเดินทัพโดยไม่มีผู้ขัดขวางมาถึงลอนดอน สมาชิกเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ยกเว้นสมาชิกที่ถูกกำจัดโดยการยึดรัฐสภาของไพรด์ ในค.ศ. 1648 ก็ถูกเรียกเข้าประชุมและเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมฝ่ายทหารก็รื้อฟื้นรัฐสภายาว ฟลีทวูดหมดอำนาจและถูกเรียกตัวมาสอบสวนต่อหน้ารัฐสภาและส่งตัวไปหอคอยแห่งลอนดอนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1660 แต่ก็หลบหนีได้เดือนหนึ่งต่อมา แลมเบิร์ตพยายามสร้างสงครามกลางเมืองขึ้นอีกโดยพยายามสนับสนุนสมัยเครือจักรภพและออกประกาศเรียกผู้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อ “อุดมคติอันสูงส่ง” และให้ไปรวบรวมตัวกันที่เอ็ดจฮิลล์ แต่แลมเบิร์ตถูกจับเสียก่อนโดยนายพันริชาร์ด อินโกลด์สบี (Richard Ingoldsby) ผู้มีส่วนร่วมในการปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และส่งตัวให้รัฐบาลใหม่โดยหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษ แลมเบิร์ตถูกจำขังและเสียชีวิตบนเกาะเดรคส์ในปี ค.ศ. 1684 อินโกลด์สบีได้รับการอภัยโทษ