ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

พิกัด: 14°02′22″N 100°36′55″E / 14.0395°N 100.6154°E / 14.0395; 100.6154
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
Bangkok Unversity
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ตราเพชร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิม
  • โรงเรียนไทยเทคนิค (Thai Polytechnic School)[1]
  • วิทยาลัยไทยเทคนิค (Thai Polytechnic Institute)[1]
  • วิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok College)[1]
ชื่อย่อมกท. / BU
คติพจน์ความรู้คู่ความดี (ทางการ)
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ (ไม่เป็นทางการ)
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
สถาปนา25 ธันวาคม ค.ศ. 1962 (1962-12-25)
ผู้สถาปนาสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์
นายกสภาฯศ.(พิเศษ)ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
อธิการบดีภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์
นายกสโมสรฯนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร (รอแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ)
อาจารย์551 คน[2] (ปีการศึกษา 2561)
ผู้ศึกษา27,868 คน[2] (ปีการศึกษา 2561)
ที่ตั้ง
เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ความรู้คู่ความดี
ต้นไม้ชัยพฤกษ์[4]
สี
ฉายามอกรุงเทพ • ม.กรุงเทพ
เครือข่ายASAIHL
เว็บไซต์http://www.bu.ac.th
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (อังกฤษ: Bangkok University; อักษรย่อ: มกท. – BU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 แห่งแรกในประเทศไทยถูกสถาปนาขึ้นพร้อมกับ วิทยาลัยเกริก วิทยาลัยไทยสุริยะ วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และวิทยาลัยพัฒนา เริ่มแรกนั้นได้รับการก่อตั้งในชื่อ “วิทยาลัยไทยเทคนิค” เมื่อปี พ.ศ. 2505 ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยกรุงเทพ” และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2527 โดยจัดการเรียนการสอนใน 11 คณะ รวมทั้ง วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย ครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบัน เปิดดำเนินการสอน ใน 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท กรุงเทพมหานคร และวิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี

ประวัติ

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพถือกำเนิดขึ้น จากการก่อตั้ง "วิทยาลัยไทยเทคนิค" (อังกฤษ: Thai Polytechnic Institute) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยสุรัตน์ และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของกิจการกลุ่มโอสถสภา) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของทั้งสอง ภายในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระรามที่ 4 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตกล้วยน้ำไท) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรังอยู่ แต่เป็นย่านค้าขายของเหล่าบรรดานายห้างต่างชาติ รวมถึงท่าเรือสินค้าที่คลองเตยด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ผู้บริหารได้ทำการเปลี่ยนชื่อสถาบันแห่งนี้เป็น "วิทยาลัยกรุงเทพ" (อังกฤษ: Bangkok College) เนื่องจากชื่อเดิมสร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ที่คิดว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา โดยในสมัยเริ่มแรก กระทรวงศึกษาธิการมิได้รับรองการจัดการศึกษาของโรงเรียน[ต้องการอ้างอิง] แต่เนื่องจากเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญา ผู้บริหารจึงขอความร่วมมือทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสัน (Fairleigh Dickinson University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้รับรองวิทยฐานะของปริญญา โดยในสมัยนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพ จะมีปริญญาสองใบคือ จากวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสัน[5]

ในระยะต่อมา วิทยาลัยกรุงเทพขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน มีการก่อตั้งวิทยาลัยเอกชน เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่ง เช่นวิทยาลัยการค้าหรือวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่งผลให้การแข่งขันของสถาบันการศึกษาเอกชนสูงขึ้น ผู้บริหารวิทยาลัยกรุงเทพ จึงวางโครงการขยายการศึกษา เพื่อยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยกรุงเทพ" (พร้อมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)[6]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ บริเวณย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปตามถนนพหลโยธินเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร ภายในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ซึ่งผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมีความคาดหวัง ที่จะสร้างวิทยาเขตรังสิต ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชานเมือง อาคารเรียนต่างๆ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยสวนหย่อม ซึ่งปลูกต้นไม้ไว้มาก รวมถึงขุดทะเลสาบ แต่เนื่องจากในยุคแรกที่ขยายวิทยาเขตนั้น ย่านรังสิตยังคงห่างไกลจากความเจริญของเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงพากันขนานนามวิทยาเขตรังสิตว่าเป็น กระท่อมปลายนา

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

ตราประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้รูปเพชร ประกอบในตราประจำมหาวิทยาลัย มาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ซึ่งมีที่มาจากนามของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือ สุรัตน์ ซึ่งแปลว่าแก้วอันประเสริฐ ซึ่งก็หมายถึงเพชรนั่นเอง การนำรูปเพชรมาใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย จึงเป็นการให้เกียรติและรำลึกถึงผู้ก่อตั้ง นอกจากนั้น เพชรยังสื่อความหมายถึงคุณค่า และความแข็งแกร่ง อุปมาดั่งมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนสถานที่ "เจียระไน" ให้นักศึกษากลายเป็นเพชร ซึ่งทรงเกียรติทรงคุณค่า มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยรูปแบบดั้งเดิมเรียกว่า เพชรในชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นตราที่ประกอบไปด้วยรูปเพชรอยู่ตอนบน เล่มหนังสืออยู่ตอนล่าง และล้อมรอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ แต่ปัจจุบัน (ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548) มีการออกแบบเพิ่มสีสัน เพื่อให้สื่อความหมายชัดเจนขึ้น เพิ่มความทันสมัยมากขึ้น โดยที่ยังคงใช้รูปเพชรลอยตัวอยู่ในเส้นวงกลม

สีประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

ที่มาของสีสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนั้น จากหลักฐานและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แต่เดิมมหาวิทยาลัยใช้ สีเขียวอมฟ้า เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จาก ปกเสื้อครุยของบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ที่เป็นสีเขียวอมฟ้า และจากเพลงมาร์ชของมหาวิทยาลัย ที่ยังคงมีเนื้อร้องว่า ธงเขียวเชิดให้เด่นไกลนานเนาว์ มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาใช้ สีม่วง และ สีแสด เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยการเปลี่ยนแปลงสีประจำมหาวิทยาลัยนั้น เพื่อเป็นเกียรติกับสองบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เนื่องจากสีม่วงเป็นสีประจำวันเสาร์ และสีแสดเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

ต้นชัยพฤกษ์

ต้นชัยพฤกษ์

เป็นต้นไม้มงคลที่ใช้ในพิธีการมงคลตามความเชื่อของคนไทย นำมาใช้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยทรงนำมาปลูก ณ บริเวณด้านหน้าอาคารฝั่งทิศใต้ ของอาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์

เพลงประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

เพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่ใช้ในพิธีการและโอกาสต่างๆ นั้น มีทั้งเพลงมาร์ช และเพลงความรู้คู่ความดี เป็นเพลงที่ใช้มาตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ลักษณะคำร้อง ทำนอง และแนวดนตรี จึงเป็นไปในลักษณะย้อนยุค

ทำเนียบอธิการบดี

[แก้]


โรงเรียนไทยเทคนิค
รายชื่อผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่ วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (ผู้อำนวยการ)

เจริญ คันธวงศ์ (อาจารย์ใหญ่)

25 ธันวาคม 2505 - พ.ศ. 2506 [7]

[8]

วิทยาลัยไทยเทคนิค
รายชื่ออธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
เจริญ คันธวงศ์ พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2508
วิทยาลัยกรุงเทพ
รายชื่ออธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
เจริญ คันธวงศ์ พ.ศ. 2508 - ตุลาคม พ.ศ. 2527
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
รายชื่ออธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
เจริญ คันธวงศ์ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 - กรกฎาคม พ.ศ. 2531
ธนู กุลชล กรกฎาคม 2531 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 [9]
มัทนา สานติวัตร 1 มิถุนายน 2550 - 31 พฤษภาคม 2558 [10]
อุตตม สาวนายน 1 มิถุนายน 2558 - สิงหาคม 2558
เพชร โอสถานุเคราะห์ 21 สิงหาคม 2558 - 14 สิงหาคม 2566[11]
ภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ 13 กุมภาพันธ์ 2567 - ปัจจุบัน
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
รายชื่อนายกสโมสรฯ วาระการดำรงตำแหน่ง
นฤเบศน์ รักษ์วิจิตร ปีการศึกษา 2567 1 มิถุนายน 2567 - 31 พฤษภาคม 2568
พิมธิชา วาดไธสง ปีการศึกษา 2566 1 มิถุนายน 2566 - 31 พฤษภาคม 2567
ณิชารีย์ สหัสสพาศน์ ปีการศึกษา 2565 1 มิถุนายน 2565 - 31 พฤษภาคม 2566

คณะและวิทยาลัย

[แก้]


ครุยวิทยฐานะ
ครุย เป็นเครื่องแต่งกายแสดงวิทยฐานะของผู้สวมใส่ และแสดงความเป็นบัณฑิตแห่งสถาบัน ใช้สำหรับในพิธีการสำคัญของมหาวิทยาลัย เช่น พิธีไหว้ครู พิธีประสาทปริญญาบัตร เป็นต้น ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้รูปแบบเสื้อคลุมแบบยุโรปสมัยกลาง โดยเป็นเสือคลุมยาวคลุมเข่า สีดำ สำหรับบัณฑิตระดับปริญญาโทขึ้นไปมีแถบกำมะหยี่สีดำที่สาบเสื้อและแขนเสื้อทั้งสอง

ปกเสื้อครุย เป็นผ้าสามเหลี่ยมที่คล้องคอโดยให้ชายปกห้อยไปทางด้านหลัง ปกเสื้อครุยจะเป็นผ้ากำมะหยี่สีต่างๆ ขลิบด้วยสีส้มซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยปกเสื้อครุยจะมีสีสันที่ต่างกันไปตามสีของคณะ ซึ่งมีสีและความหมายดังนี้

[12]

วิทยาเขต

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดดำเนินการสอนใน 2 วิทยาเขต ได้แก่

วิทยาเขตหลัก (Main Campus)

[แก้]

ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 9/1 หมู่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 14 กิโลเมตร มีพื้นที่ 441 ไร่ 1งาน 67 ตารางวา เป็นสถานที่ศึกษาของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทุกคณะ ทุกชั้นปี นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ตั้งของสนามกีฬา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเครื่องถ้วยโบราณที่สำคัญและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิทยาเขตรังสิต ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบ[13]

วิทยาเขตกล้วยน้ำไท (City Campus)

[แก้]
ต้นกล้วยน้ำไท

ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 119 ถนนกล้วยน้ำไท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา เคยเป็นที่ทำการของหลักสูตรพิเศษ ปัจจุบันกำลังรื้ออาคารทั้งหมดเพื่อสร้างเป็น Creative Park ศูนย์การเรียนรูู้, หอศิลป์ Exhibition, Museum อาคารเรียนรู้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2570

ความสัมพันธ์กับสถาบันต่างประเทศ

[แก้]

มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างดี นำมาซึ่งความร่วมมือและการสนับสนุนทางด้านวิชาการรวมทั้งด้านวัฒนธรรมในโครงการต่างๆ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษา โครงการศึกษาดูงาน ตลอดจนการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการบริหารมหาวิทยาลัยระหว่างผู้บริหารระดับสูงมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ (International of University Presidents IAUP) ซึ่งในปี 2527 ดร.เจริญ คันธวงศ์ อธิการบดีกิตติคุณ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ และดร.ธนู กุลชล อธิการบดีได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี

ในปี พ.ศ. 2549 ดร.ธนู กุลชล เป็นอธิการบดีเพียงคนเดียวจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง The Social Benefits of the Research University of in the 21st Century ซึ่งจัดขึ้นโดยเลขาธิการสหประชาชาติ ฯพณฯ โคฟี อันนัน ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2550 ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี ได้รับเชิญจาก ฯพณฯ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เข้าร่วมสัมมนา The Secretary-General's Global Colloquium of University Presidents ในหัวข้อ Global Climate Change ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ในด้านการพัฒนาคุณภาพเกี่ยวกับการเรียนการสอนและบุคลากร หรืออาจารย์ผู้สอน มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนในด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงดีเด่นของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ อาทิ

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย

[แก้]

การจัดอันดับโดย Qs Asia University Rankings [14] สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก ได้ทำการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย QS Asia University Rankings 2019 ซึ่งในการจัดอันดับครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยของไทย ทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน ติดอันดับเอเชียทั้งหมดกว่า 19 สถาบัน และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สามารถติด Top มหาวิทยาลัยเอกชนอันดับ 1 ของไทย และในระดับ 401-405 ในภูมิภาคเอเชีย

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) [15] ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบันซึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ล่าสุดผล ม.กรุงเทพ สร้างชื่อเสียงอีกครั้ง ด้วยการคว้าตำแหน่ง มหาวิทยาลัยเอกชน อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับเว็บไซต์มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ปี 2019

การจัดอันดับโดย uniRank University Ranking [16] ผลการจัดอันดับของเว็บไซต์และองค์กรระหว่างประเทศ 4 International Colleges & Universities หรือ www.4icu.org ประกาศผล " The 2017 University Web Rankings : Top 200 Universities in the world " หรือ เว็บมหาวิทยาลัยยอดนิยมระดับโลก ที่มีการสืบค้นและเข้าชมมากที่สุดจากตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จาก 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีการดำเนินการจัดอันดับความนิยมเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 และ รายงานผลปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม เรียกว่า uniRank University Ranking™

สถานที่สำคัญ

[แก้]
  • หอพระพุทธสุรัตนมุนี (หลวงพ่อเพชร) - เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรัตนมุนี ปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ลักษณะเป็นศาลาทรงไทยตรีมุข ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยลวดลายไทยอย่างวิจิตรงดงาม องค์พระหล่อด้วยสำริด รมดำทั้งองค์ ฐานพญานาคประดับด้วยกระจกสี ด้านหน้าหอพระ มีแผ่นศิลาจารึกพระพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้า
  • หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (Surat Osathanugrah Library) - เป็นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตรังสิต เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ให้ชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย
  • อาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ - เป็นกลุ่มอาคารสำหรับการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ และการสื่อสารมวลชน ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบ ภายในมหาวิทยาลัยที่วิทยาเขตรังสิต
  • พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมีอายุครบรอบ 40 ปี ซึ่งอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ได้กรุณามอบศิลปโบราณวัตถุ จำนวนกว่า 2,000 รายการ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยห้องจัดแสดงอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,872 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการพิเศษ คลังพิพิธภัณฑสถานเพื่อการศึกษา สำนักงาน และร้านจำหน่ายของที่ระลึก
  • โรงละครแบล็กบ็อกซ์ - เป็นโรงละครแบบบรอดเวย์ ที่มีลักษณะเฉพาะคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโรงละครเป็นสีดำ สร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้เป็นสถานที่แสดงละครเวทีของนักศึกษา
  • บียู เรสโตรองต์ - เป็นภัตตาคารจำลอง ของภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่อาคาร ศูนย์ประชาสัมพันธ์ (ประตู 1) วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ให้บริการเฉพาะอาหารกลางวัน ทุกวันอังคาร-วันเสาร์ ระหว่างเวลา 11.00-14.00 น. ยกเว้นช่วงสอบ และปิดภาคการศึกษา วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการเปิดดำเนินการ คือ ให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้มาปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ เหนือสิ่งอื่นใด นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ และเข้าใจว่า จะต้องให้บริการอย่างสุดความสามารถ
  • หอศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ - เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานทางศิลปะต่างๆ ทั้งศิลปินอาชีพ ศิลปินอิสระ นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
  • บียู แลนด์มาร์ก คอมเพล็กซ์ กลุ่มอาคาร 3 หลัง ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยวิทยาเขตรังสิต

ชีวิตในมหาวิทยาลัย

[แก้]

เพชรกิจกรรม

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดให้มีการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยมีการกำหนดเป็นหัวข้อกิจกรรมต่างๆ เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก เป็นกิจกรรมเชิงบังคับ และลักษณะที่สอง เป็นกิจกรรมที่สามารถเลือกทำได้ ซึ่งนักศึกษาจะต้องบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่ทำลงในสมุดบันทึกกิจกรรม หรือ Electronic Diamond Book ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญว่านักศึกษาได้เรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตร และได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าตนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อันมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์เปี่ยมด้วยความรู้คู่ความดี ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

สำหรับกิจกรรมที่นักศึกษาต้องทำเป็น 8 หมวด คือ

  • 1. กิจกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม อาทิ กิจกรรมด้านศาสนา การฝึกอบรมปฏิบัติธรรมการทำบุญตักบาตร
  • 2. กิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสถาบันและสังคม อาทิ การปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทั้งในระดับสถาบัน ท้องถิ่นหรือระดับชาติ การร่วมรณรงค์ในโครงการต่างๆ เช่น การแต่งกายถูกระเบียบ การใช้สะพานลอย การปฏิบัติตามกฏจราจร (กิจกรรมบังคับ: การเลือกตั้งคณะกรรมการสโมสรนักศึกษา หรือคณะกรรมการคณะ)
  • 3. กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ อาทิ การส่งผลงานเข้าประกวดโครงการต่างๆ การเข้าร่วมอบรม สัมมนาหลักสูตรต่างๆที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ (กิจกรรมบังคับ: การเข้าชมนิทรรศการที่จัดโดยหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ)
  • 4. กิจกรรมวิชาการ อาทิ การศึกษาดูงาน เข้าร่วมอบรม สัมมนา หลักสูตรที่ให้ทักษะความรู้ทางด้านวิชาการ
  • 5. กิจกรรมกีฬา ส่งเสริมสุขภาพ และ นันทนาการ อาทิ การเข้าร่วมงานกีฬาต่างๆ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ หรือตาม Fitness Center ภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
  • 6. กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมการออกค่ายอาสา การบริจาคโลหิต การ่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการปลูกป่า เป็นต้น
  • 7. กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ การร่วมกิจกรรมพิธีบายศรีสู่ขวัญ หลือเทียนพรรษา วันลอยกระทง พิธีไหว้ครู (กิจกรรมบังคับ: การเข้าชมพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
  • 8. การเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยรับรอง พร้อมร่วมทำ กิจกรรมกับชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมที่เข้าร่วม


หมายเหตุ :

  • 1. กิจกรรมบังคับของนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ เรื่องการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเยี่ยมชมที่ ว.รังสิต หรือไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ แทนได้ โดยนักศึกษาต้องมีหลักฐาน และได้รับอนุการอนุญาตให้บันทึกกิจกรรมจากคณบดี
  • 2. กิจกรรมบังคับของนักศึกษา ภาคพิเศษ กิจกรรมบังคับของนักศึกษา ภาคพิเศษ มีเพียง 1 กิจกรรม คือชมหอศิลป์ เพราะเรียนที่ ว.กล้วยน้ำไท และไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารงานสโมสร นักศึกษา

นักศึกษาทุกหลักสูตรปริญญาตรี ต้องทำกิจกรรมให้ครบทั้งหมด โดย 4 ปีภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 16 กิจกรรม ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง ครบ 8 หมวด และ 3 กิจกรรมบังคับ ส่วนการได้รับทรานสคริปและเกียรติบัตรแสดงการเข้าร่วมทำกิจกรรม ภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 32 กิจกรรม ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง ครบ 8 หมวด และ 3 กิจกรรมบังคับ และภาคพิเศษต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 8 กิจกรรม ครบ 8 หมวด และ 1 กิจกรรมบังคับ (ชมหอศิลป์) ส่วนการได้รับทรานสคริปและเกียรติบัตรแสดงการเข้าร่วมทำกิจกรรม ภาคปกติจะต้องมีจำนวนกิจกรรมที่กำหนดไม่น้อยกว่า 16 กิจกรรม ครบ 8 หมวด และ 1 กิจกรรมบังคับ (ชมหอศิลป์) จึงจะถือว่าทำกิจกรรมนอกหลักสูตรและได้รับประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเองสมคุณค่าแห่งการเป็นบัณฑิต [17]

กิจกรรมปฐมนิเทศและรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดให้มีพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่เป็นประจำทุกปี โดยเป็นการปฐมนิเทศรวมทั้งมหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี คณะผู้บริหาร คณบดี คณาจารย์ ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ซึ่งในงานจะมีพิธีบายสีสู่ขวัญ และการแสดงจากพี่จากคณะและชมรมต่างๆ คอนเสิร์ตจากศิลปินดารา เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่ ในแต่ละปีจะมีชื่องานที่แตกต่างกันไป เช่น

  • ปี 2548 Enjoy Bu Life 2005 (4 มิถุนายน 2548 ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
  • ปี 2549 พิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ 2549 (ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
  • ปี 2550 พิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ 2550 (2 มิถุนายน 2550 ณ อาคารอเนกประสงค์ (ธันเดอร์โดม) สถานกีฬาเมืองทองธานี)
  • ปี 2551 Bangkok Kok Kok Kok เปิดประตูมหาวิทยาลัย คู่หัวใจคุณธรรม (ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
  • ปี 2552 Miracle Freshy Day 2009 มหัศจรรย์วันรับน้องใหม่ ใส่ใจทำความดี (30 พฤษภาคม 2552 ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
  • ปี 2553 Fantastic Freshy Day 2010 Welcome to Bu Creative World (11 มิถุนายน 2553 ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
  • ปี 2554 BU ร้อยดวงใจ เทิดไท้๘๔พรรษามหาราชา (10 มิถุนายน 2554 ณ อาคารยิมเนเซียม 1 ฮอล์ล 1 ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)[ลิงก์เสีย]

Sport Day

[แก้]

Sport Day เป็นการแข่งขันกีฬาภายในของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจัดโดยสโมสรนักศึกษาภาคปกติ เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างนักศึกษาคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่สนามกีฬาสุรี บูรณธนิต และสนามกีฬาภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต

งานลอยกระทง วิทยาเขตรังสิต

[แก้]

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีการจัดประเพณีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย ในงานจะมีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การออกร้านขายของของคณะ และชมรมต่างๆ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยเขตรังสิต [18]

กิจกรรมชมรมและโครงการต่างๆ [19]

[แก้]

ชมรมวิชาการ

  • ชมรมไอแซค
  • ชมรมถ่ายภาพ
  • ชมรมการตลาด
  • ชมรมปาฐกถาและโต้วาที

ชมรมศิลปวัฒนธรรม

  • ชมรมศาสนาและวัฒนธรรมไทย
  • ชมรมดนตรีและนาฏศิลป์ไทย
  • ชมรมดนตรีสากล
  • ขับร้องและประสานเสียง

ชมรมนักศึกษาสัมพันธ์

  • ชมรมเชียร์
  • ชมรมกระจายเสียง
  • ชมรมวิทยุสมัครเล่น
  • ชมรมทัศนศึกษาและการท่องเที่ยว

ชมรมบำเพ็ญประโยชน์

  • ชมรมโรตาแรคท์
  • ชมรมค่ายอาสาพัฒนา
  • ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ชมรมกีฬา

  • ชมรมยูโด
  • ชมรมกรีฑา
  • ชมรมตะกร้อ
  • ชมรมเทนนิส
  • ชมรมฟันดาบ
  • ชมรมฟุตบอล
  • ชมรมรักบี้ฟุตบอล
  • ชมรมบาสเกตบอล
  • ชมรมวอลเลย์บอล
  • ชมรมแบดมินตัน
  • ชมรมเทเบิลเทนนิส

กิจกรรมคณะ

  • คณะบัญชี
  • คณะบริหารธุรกิจ
  • คณะนิเทศศาสตร์
  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะมนุษยศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • วิทยาลัยนานาชาติ

โครงการ

  • โครงการละครเวทีการกุศล เป็นโครงการของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ใช้ชื่อกลุ่มว่า "ครอบครัวละครนิเทศศาสตร์" ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีความสนใจกิจกรรมการแสดง เข้าร่วมเป็นทีมงาน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการละครเวทีนี้จะจัดแสดงเป็นประจำทุกปี รายได้ส่วนหนึ่งจากการแสดงจะมอบแก่องค์กรการกุศล
  • โครงการให้คำแนะนำและปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นโครงการของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในการให้บริการด้านกฎหมายแก่ประชาชนและผู้สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จัดเป็นบริการเพื่อสังคมที่นักศึกษาสามารถใช้เป็นเวทีในการฝึกฝนเชิงปฏิบัติการและได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว โดยมีอาจารย์ผู้มีความรู้และความ เชี่ยวชาญทางกฎหมายควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริการนี้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
  • โครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนบริษัทจำลองรีจอยซ์ เป็น โครงการของนักศึกษาภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ที่จัดตั้งบริษัทจำลองขึ้น เพื่อฝึกฝนประสบการณ์ภาคปฏิบัติ โดยนักศึกษาทำหน้า ที่ในการบริหารงานเองทั้งระบบ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ และมียอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี
  • โครงการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ เป็นโครงการของนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์ TPA Robocon'98 ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีส (ไทย-ญี่ปุ่น) และรางวัลชนะเลิศ (Winner) และรางวัล Best Performance ในฐานะทีมตัวแทนประเทศไทยจากการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์นานาชาติ Robocon'99 ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งแรกของประเทศไทย และเพื่อเป็นการพัฒนศักยภาพผู้นำนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการอบรมสัมมนาผู้นำนักศึกษาประจำปีโดยมีจุดประสงค์ที่จะเสริมสร้างทักษะแก่นักศึกษา ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชมรม คณะและโครงการกิจกรรมต่างสๆ นักศึกษาสามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างมีประสิทธิภาพทั้งกิจกรรมภายในและการเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างสถาบัน
  • โครงการฝึกงานด้านบัญชี เป็นโครงการของนักศึกษาคณะ บัญชีเพื่อฝึกปฏิบัติงานด้านการจัดทำและการนำเสนอข้อมูลทางการบัญชี รวมถึงด้านการตรวจสอบบัญชี โดยนักศึกษาสามารถเลือกฝึกงานในโครงการต่าง ๆ ได้ตามความสนใจและความถนัด ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้มีทักษะ และประสบการณ์ทางวิชาชีพเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนสำเร็จการศึกษาเพื่อก้าวสู่โลกธุรกิจ

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

[แก้]
ด้านวงการบันเทิง (พิธีกร / นักแสดง / นักร้อง)
ด้านกีฬา
  • ร้อยตำรวจเอกหญิง แทมมารีน ธนสุกาญจน์ (แทมมี่) อดีตนักเทนนิสหญิง, ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร รุ่นที่ 40 สังกัดกองการเงิน สำนักงานงบประมาณและการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่นที่ 33
  • ร้อยตำรวจเอก ดนัย อุดมโชค (ปิ๊ก) อดีตนักเทนนิสชาย, ผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทนนิส ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์
ด้านบุคลากรทางการศึกษา
ด้านรัฐวิสาหกิจ
  • ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ (กลาง) ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์
ด้านผู้บริหาร
  • สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่าคณะคณะบัญชี
ด้านวงการผู้ประกาศข่าว
ด้านวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ / ยูทูบเบอร์
  • รักษ์วนีย์ คำสิงห์​ (เบสท์)​ เจ้าของช่อง Youtube:Kamsing Family CHANNEL) ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์​
  • ธรรมนูญ บุญใส (นัททวิต) เจ้าของช่อง Youtube:VAST Studio ศิษย์เก่าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
  • กรองรัตน์ นามสกุลรอระบุ (ดาว) เจ้าของช่อง Youtube:Daw Daw ศิษย์เก่าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์
  • ณัฐธิชา นามวงษ์ (เก๋ไก๋) เจ้าของช่อง​ YouTube:kaykai-Salaider ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณา
  • เนติเจน เนติรัตนไพบูลย์ (สไปร์ท) เจ้าของช่อง YouTube:SPD ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด

การเดินทาง

[แก้]

วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

  • ที่ตั้ง ซอยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
  • การคมนาคม รถประจำทางสาย 22 45 46 72 98 102 115 507 519

วิทยาเขตรังสิต

  • ที่ตั้ง 9/1 หมู่ที่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
  • การคมนาคม รถไฟสายสีแดงเข้ม ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ลงสถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รถประจำทางสาย 39 ปอ.39 ปอ.510 ปอ.520 1-31 รถตู้สาย 338 349 รถสองแถวสาย 1116 6188 รถ บขส. สายภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังจัดบริการรถโดยสารวิ่งระหว่างวิทยาเขตกล้วยน้ำไท และวิทยาเขตรังสิต ผ่านทางด่วนใช้เวลาประมาณ 40 นาที เป็นบริการเฉพาะอีกด้วย

รถบริการภายในมหาวิทยาลัย

  • ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต มีการให้บริการรถในการรับส่งนักศึกษาภายใน โดยรถจะจอดรับบริเวณ ศาลาพักใจ อาคาร A7 อาคาร A3 (BU Land Mark) อาคาร A4 อาคาร A6 อาคาร B4 (คณะวิศวกรรมศาสตร์) หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ศูนย์กีฬาสุรี บูรณธนิต[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ความเป็นมาของสถาบัน
  2. 2.0 2.1 "สถิติอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2561" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
  3. สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต และวิทยาเขตกล้วยน้ำไท
  4. *มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ต้นไม้ประจำสถาบัน เก็บถาวร 2022-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. หนังสือที่ระลึก 40 ปี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2545
  6. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-09.
  8. http://www.charoen.bu.ac.th/home.html
  9. http://www.thanu.bu.ac.th/
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-23. สืบค้นเมื่อ 2010-04-09.
  11. http://www.bu.ac.th/tha/about-executive-officer.html
  12. ที่มา หนังสือที่ระลึก 40 ปี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พ.ศ. 2545
  13. ที่มา http://www.bu.ac.th/th/visitor/aboutbu/aboutbu.php เก็บถาวร 2008-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. ที่มา: QS University Rankings - https://www.topuniversities.com/university-rankings/asian-university-rankings/2019
  15. Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia
  16. ที่มา: uniRank University Ranking - https://www.4icu.org/th/
  17. คู่มือน้องใหม่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 2552
  18. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-14.
  19. ระเบียการระดับปริญาตรี ปีการศึกษา 2552-2553 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  20. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-10. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°02′22″N 100°36′55″E / 14.0395°N 100.6154°E / 14.0395; 100.6154