ยูโอบีไลฟ์
ยูโอบีไลฟ์ | |
---|---|
UOB LIVE | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | ศูนย์ประชุม |
ที่ตั้ง | ชั้น 4-6 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ |
ที่อยู่ | 628 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2562 |
เปิดใช้งาน | 10 มกราคม พ.ศ. 2567 |
พิธีเปิด | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[1] |
เจ้าของ | บริษัท ดิ เอ็มไลฟ์ จำกัด[2] โดย
|
ข้อมูลทางเทคนิค | |
พื้นที่แต่ละชั้น | 5,962.5 ตารางเมตร |
เว็บไซต์ | |
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ |
ยูโอบีไลฟ์ (อังกฤษ: UOB LIVE) เป็นศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ในโครงการเอ็มสเฟียร์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 4-6 ของอาคาร บริหารงานโดยบริษัท ดิเอ็มไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มเดอะมอลล์ โดยบริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด กับกลุ่มบริษัทเอเอสเอ็ม โกลบอล ในเครือเออีจี กรุ๊ป และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ประกอบด้วยโถงประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการออกแบบสำหรับจัดกิจกรรมประเภทมหรสพการแสดงโดยเฉพาะ
ประวัติ
[แก้]ยูโอบีไลฟ์ (ชื่อในระหว่างการก่อสร้าง: เอ็มไลฟ์) เป็นศูนย์ประชุมหลักภายในศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ โดยก่อสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการยกเลิกพื้นที่จัดกิจกรรมในศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (ควอเทียร์ ฮอลล์) โดยมีกลุ่มเออีจี[3] และธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการ[4] โดยกลุ่มเดอะมอลล์และเออีจีถือหุ้นในสัดส่วน 66:34[5] อีกทั้งยังเป็นศูนย์มหรสพโดยกลุ่มเออีจีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากออสเตรเลียที่กลุ่มได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ อนึ่ง บาคาร์ดีและวอลโว่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งของโครงการดังกล่าวด้วย[6]
โถงหลักของ ยูโอบีไลฟ์ ถูกออกแบบให้รองรับการปรับโหมดการใช้งานได้ถึง 4 โหมด คือโหมดการแสดงแบบยืนทั้งฮอลล์ สามารถจุได้ 6,000 คน โหมดสเตเดียมเธียเตอร์ จุได้สูงสุด 4,090 ที่นั่ง โหมดงานจัดเลี้ยง สามารถจัดเลี้ยงได้สูงสุด 156 โต๊ะ 1,560 ที่นั่ง และโหมดศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้า รองรับการออกบูธได้สูงสุด 218 บูธ พร้อมเดินสายไฟเบอร์ออพติกเต็มพื้นที่
องค์ประกอบ
[แก้]ยูโอบีไลฟ์ มีพื้นที่รวม 5,962.5 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ ได้แก่ โถงหลัก พื้นที่ 4,464 ตารางเมตร โดยมีที่นั่งส่วนหนึ่งเป็นแบบพับเก็บได้ และเพดานติดตั้งหลอดไฟแอลอีดี และ โถงต้อนรับและกิจกรรม พื้นที่ 1,498.5 ตารางเมตร อีกทั้งมีพื้นที่รับรองตั้งแต่ชั้น 4 บริเวณติดกับบันไดเลื่อนจากศูนย์การค้ายาวจนถึงชั้น 6 โดยระหว่างชั้นสามารถใช้พื้นที่ชั้น 4M, 5 และ 5M เป็นพื้นที่ลงทะเบียนระหว่างทาง และยังมีบันไดเชื่อมกับโซนเอ็ม วันเดอร์ แหล่งแฮงก์เอาท์ในอาคารเดียวกันได้อีกด้วย
การใช้งาน
[แก้]ยูโอบีไลฟ์เริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567 ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการด้วยคอนเสิร์ต "แอน อีฟนิ่ง วิธ เอ็ด ชีแรน" ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[1] ตามด้วยคอนเสิร์ต สล็อตแมชชีน เอ็กซิท ทู เอ็นเทอร์ เวิลด์ ทัวร์ โดย เทโร มิวสิค ในอีกห้าวันต่อมา[7] โดยก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มเดอะมอลล์และทีพีเอ็น โกลบอล ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดงานพบปะแฟนคลับของแอนโทเนีย โพซิ้ว[8] รวมถึงธนาคารยูโอบีได้ใช้สถานที่จัดงานแถลงข่าวทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท และงานเลี้ยงพนักงานกลุ่มบริษัทประจำปี และยังมีการใช้พื้นที่ Pre-Function จัดแสดงรถยนต์คลาสสิกในช่วงเปิดตัวศูนย์การค้าด้วย[9] ทั้งนี้ ในช่วงปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีงานแสดงต่าง ๆ ที่วางแผนมาจัดที่ยูโอบีไลฟ์ รวม 120 งาน[10]
ข้อวิจารณ์
[แก้]เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ยูโอบีไลฟ์ได้เปิดทำการแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก แต่ในวันถัดมากลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ผ่านแฮชแท๊ก #UOBไร้มารยาท อย่างหนัก เนื่องจากในวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชมที่เป็นกลุ่มบุคคลสำคัญมาก หรือวีไอพี (VIP) เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตบริเวณห้องรับรองแขกด้านบน แล้วพบว่ามีการพูดคุยกันเสียงดังอันเป็นการรบกวนการแสดง รวมถึงมีการพูดคุยข้ามห้องโดยไม่สนใจผู้เข้าชมคอนเสิร์ตที่กำลังตั้งใจรับชมคอนเสิร์ตอยู่ด้านล่าง ผู้ชมบางส่วนพยายามแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยควบคุมสถานการณ์ไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้ แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉยและบอกว่า "เตือนไม่ได้เพราะเป็น CEO" จึงมีการสืบหาว่ากลุ่มวีไอพีดังกล่าวมีใครเข้าร่วมบ้าง ซึ่งปรากฎภาพของหนึ่งในผู้ชมกลุ่มวีไอพีดังกล่าวคือ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติในขณะนั้น, แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 นางงามจักรวาล 2023 และ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะมอลล์ จึงทำให้พอเข้าใจสถานการณ์ได้ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่กล้าเข้าไปทำอะไร
ต่อมา แพทองธาร ได้เข้าแถลงข่าวนโยบายพรรค ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เสียงที่ปรากฎในคลิปไม่ใช่เสียงของตน อีกทั้งเป็นการเข้าชมคอนเสิร์ต ผู้ชมก็อยากสนุกไปกับคอนเสิร์ตด้วย จึงมีเสียงดังก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่การตอบสนองข้างต้นของแพทองธารกลับทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เพราะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่าเสียงจากกลุ่มวีไอพี ไม่ใช่เสียงร้องเพลงตามอย่างที่แพทองธารกล่าวอ้าง แต่เป็นเสียงพูดคุยไร้สาระที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคอนเสิร์ตแต่อย่างใด
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศุภลักษณ์จึงออกหนังสือแถลงการณ์ในนาม บริษัท ดิเอ็มไลฟ์ จำกัด กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำข้อผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงสถานที่ เพื่อพร้อมรับการแสดงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ziwei, Puah (2024-01-10). "Ed Sheeran announces 'An Evening with Ed Sheeran' show in Bangkok". NME (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ทุ่มหมื่นล้านปั้นฮับบันเทิง เดอะมอลล์จับมือAEGทุนใหญ่มะกันแจ้งเกิด2อารีน่า". thansettakij. 2018-09-29.
- ↑ "เดอะมอลล์ กรุ๊ป จับมือ AEG สร้างปรากฏการณ์ความบันเทิงระดับโลกครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-24. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
- ↑ “ยูโอบี” คว้าสิทธิใช้ซื้อ “UOB LIVE” ศูนย์จัดอีเวนต์ จุ 6 พันคน ใน ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’ ลุ้นเปิดตัว Q 1/67
- ↑ เดอะมอลล์ทุ่ม 3 พันล้าน ดีเดย์ 11 ก.พ. เปิด ‘ยูโอบี ไลฟ์’
- ↑ Barnes, Mike (2024-02-09). "AEG Seals Naming-Rights Deal for New Arena in Japan". The Hollywood Reporter (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Slot Machine: Exit To Enter World Tour 2024". Live Nation Tero (Thailand).
- ↑ แอนโทเนีย Meet & Greet Anntonia Porsild 1st Runner Up Miss Universe 2023 at Emspheres Bangkok, สืบค้นเมื่อ 2024-01-10
- ↑ "คณะผู้บริหาร กรังด์ปรีซ์ กรุ๊ป ร่วมกิจกรรม THAILAND CLASSIC MOTOR SHOW พร้อมเปิดตัว แอนโทเนีย โพซิ้ว สวมสร้อยมรกต มูลค่า 1,000 ล้านบาท วันเปิดอาณาจักร "เอ็มสเฟียร์" – Bangkok International Motor Show".
- ↑ UOB LIVE ดึง ED SHEERAN จัดคอนเสิร์ตฉลองเปิดตัว ปูพรม 120 งานตลอดปี ’67