สโมสรกีฬาราชประชา
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลราชประชา | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | ตราชฎา | |||
ก่อตั้ง | 1968 (ในชื่อ ราชประชานุเคราะห์ดับเพลิง) | |||
สนาม | นนทบุรี สเตเดียม | |||
ความจุ | 10,000 | |||
เจ้าของ | บริษัท สโมสรกีฬาราชประชา จำกัด | |||
ประธาน | พล.อ.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร | |||
ผู้จัดการ | กิตินันท์ ศรีปราโมช | |||
ผู้ฝึกสอน | พัฒฐณพงศ์ ศรีปราโมช | |||
ลีก | ไทยลีก 3 | |||
2566–67 | ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันตก, อันดับที่ 3 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
|
สโมสรกีฬาราชประชา เป็นสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดย พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร เป็นผู้ก่อตั้งในนาม ทีมราชประชานุเคราะห์ดับเพลิง ปัจจุบันลงแข่งขันในระดับไทยลีก 3 โซนภาคตะวันตก
สโมสรกีฬาราชประชา ถือเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดสโมสรหนึ่งในประเทศไทย โดยเป็นสโมสรที่สามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศ ไทยเอฟเอคัพ ได้ถึง 4 สมัย รวมถึงชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ได้ถึง 4 สมัย, ชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. 1 สมัย, ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ 2 สมัย และชนะเลิศ ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 อีก 1 สมัย
นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องในด้านการสนับสนุนนักฟุตบอลระดับเยาวชน และถือเป็นสโมสรหนึ่งที่ผลิตนักฟุตบอลเข้าสู่สารระบบทีมชาติไทย มากที่สุดตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสโมสรฟุตบอลที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากหน่วยงานราชการหรือห้างร้านเอกชนเป็นสโมสรแรกของประเทศ
ประวัติสโมสร
[แก้]ทีมฟุตบอลราชประชานุเคราะห์ดับเพลิง
[แก้]สโมสรกีฬาราชประชา ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 2509 โดย พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง (ในขณะนั้น) ในนาม ทีมฟุตบอลราชประชานุเคราะห์ดับเพลิง[1] โดยมีแนวคิดที่ว่ากีฬาเท่านั้นที่จะเบี่ยงเบนความสนใจด้านอบายมุขของเยาวชนได้ โดยเดิมนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้จัดให้มีการอบรม ลูกเสือราชประชาฯ จึงได้เสริมกีฬาเข้าไปในหลักสูตรลูกเสือ โดยได้นำนักฟุตบอลในสมัยนั้นมาฝึกสอนฟุตบอลให้กับเด็กๆ โดยที่สโมสรเริ่มด้วยการเป็นทีมเยาวชนให้กับ สโมสรตำรวจ
ในปี 2511 สามารถชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร โดยมีนักฟุตบอล อย่าง ฉัตรชัย โชยะสิทธิ์, ทินกร แพทย์เจริญ, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, สหัส พรสวรรค์ เป็นต้น
ต่อมา สโมสร ลงทำแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511 กับ สโมสรทหารอากาศ ในฟุตบอลการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช สโมสร สามารถเอาชนะ สโมสรทหารอากาศ แชมป์ ถ้วย ก. ในขณะนั้น ไปได้ 1 - 0 โดยในงานนั้นเป็นครั้งแรกที่ เพลงสดุดีมหาราชา ได้ถูกบรรเลงและขับร้อง ต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก[1]
และด้วยผลงานที่ประจักษ์ จึงทำให้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญ สโมสรราชประชาฯ ให้เข้าร่วมการแข่งขัน ถ้วยพระราชทานประเภท ก. โดยไม่ต้องเริ่มแข่งขันจาก ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ซึ่งส่งผลให้ สโมสร ต้องแยกตัวมาบริหารจัดการเอง และไม่ขึ้นกับ สโมสรตำรวจ อีกต่อไป
สโมสรกีฬาราชประชานุเคราะห์
[แก้]สโมสรฯ ลงทำการแข่งขัน ถ้วยพระราชทานประเภท ก. ในการแข่งขันประจำปี 2512 แต่ผลงานในปีแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาในปี 2513 สโมสรได้เป็นหนึ่งภาคีร่วมก่อตั้ง และแข่งขัน ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ แต่ผลงานในครั้งแรกไม่ดีนัก โดยตกรอบแรก ทำให้ประธานสโมสร อย่าง พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ แต่งตั้ง กุนเธ่อร์ กลอมบ์ โค้ชชาวเยอรมันตะวันตก เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน และได้เซ็นสัญญา เพ็ญพัฒน์ วงษ์สวรรค์ นักฟุตบอลชาวกัมพูชา ซึ่งเป็นนักฟุตบอลต่างชาติคนแรกของสโมสรฯ[1]
ถ้วยพระราชทานใบแรกของสโมสรและดับเบี้ลแชมป์
[แก้]ในปี 2514 สโมสรฯ เป็นสโมสรแรกในเมืองไทยที่มีการส่งผู้เล่นไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่ต่างประเทศ เก็บตัวฝึกซ้อมที่เยอรมนีตะวันตก เป็นเวลาถึง 2 เดือน คือในช่วงในช่วง พฤศจิกายน-ธันวาคม ของปีนั้น ซึ่งทำให้สโมสรฯ สามารถชนะเลิศ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. สมัยแรกของสโมสร ในการแข่งขันประจำปี 2515 และเป็นสโมสรแรก ที่ทำสถิติคว้าตำแหน่งชนะเลิศการแข่งขันได้ถึงสองใบ หรือ "ดับเบิลแชมป์" คือ คว้าตำแหน่งชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ได้สำเร็จ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันโดยมีผู้ฝึกสอนคู่คือ กุนเธ่อร์ กลอมบ์ และ ยรรยง ณ หนองคาย
ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแข่งขันนัดกระชับมิตรระหว่าง สโมสรซานโต๊ส ที่นำมาโดย เปเล่ กับ ทีมกรุงเทพ 11 ก็มีผู้เล่นของสโมสร ติดทีมชุดนี้ถึง 8 คน โดยมีผู้เล่นอย่าง ณรงค์ สังข์สุวรรณ, โรจนะ สมุนไพร, ไพรฤทธิ์ ผังดี, ประพนธ์ ตันตริยานนท์, วันชัย เหลืองไพฑูรย์, ประยูร เสชนะ, และ อาจินต์ พฤกษธรรมโกวิท[1]
สโมสรกีฬาราชประชา
[แก้]ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการเมืองในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้ พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจดับเพลิงไปด้วย และนักฟุตบอลของสโมสรที่เป็นตำรวจ ต้องถูกสั่งย้ายไปรับราชการในที่ต่างๆกัน ทำให้สโมสรอยู่ในสภาวะวิกฤต ต่อมา เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้น อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น (พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์) เข้าใจในสถานการณ์นี้ดี จึงอนุญาตให้นักฟุตบอลของสโมสร ย้ายกลับเข้าเขตนครบาล สืบเนื่องจากจุดนี้เอง ทำให้สโมสรไม่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน ควีนส์คัพ ครั้งที่ 2 แต่ก็ยังสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน ก. ได้สองสมัยติดต่อกัน
ต่อมา กุนเธอร์ กลอมบ์ มีธุระส่วนตัว สโมสรจึงแต่งตั้ง ประวิทย์ ไชยสาม ขึ้นแทน พร้อมกับแยกตัวออกจาก มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อความสะดวกในการบริหารงาน โดยเปลื่ยนชื่อเป็น สโมสรกีฬาราชประชา[1]
ทีมพัฒนาเยาวชน
[แก้]ด้วยที่สโมสรฯ ประสบปัญหาขาดผู้เล่นทดแทน สโมสรจึงตัดสินใจสร้างทีมขึ้นใหม่ โดยได้จัดตั้ง ทีมมูลนิธิพัฒนาเยาวชน ขึ้นในปี 2517 โดยมีหลักการสำคัญคือ การฝึกฟุตบอลให้เยาวชนควบคู่ไปกับการศึกษา โดยนำเด็กจากต่างจังหวัดมาร่วมกินอยู่กับ นักฟุตบอลทีมชุดใหญ่ของสโมสรฯ และ ฝึกซ้อมร่วมกัน พร้อมๆ ไปกับการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยมีผู้เล่นสายเลือดใหม่ของสโมสรฯ ในยุคนี้ที่ถูกดันขึ้นมาได้แก่ วศิณ มาศพงษ์, ประพันธ์ เปรมศรี, ประพนธ์ พงษ์พานิช, วิทยา เลาหกุล, วรวรรณ ชิตะวณิช, สุทิน ไชยกิตติ, สุรัก ไชยกิตติ, มาด๊าด ทองท้วม เป็นต้น ซึ่งทีมชุดนี้ ได้ต่อยอดและประสบความสำเร็จด้วยการชนะเลิศ ไทยเอฟเอคัพ สมัยแรก เมื่อปี 2518 โดยมี ยรรยง ณ หนองคาย และ ประวิทย์ ไชยสาม เป็นผู้ฝึกสอนร่วมกันแทน กุนเธ่อร์ กลอมบ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งเป็นการถาวร[1]
พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2529
[แก้]ราชประชาเสีย วิทยา เลาหกุล ที่ไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่น แต่ก็ได้ผู้เล่นรุ่นใหม่มาเข้ามาเพิ่มอีกอาทิเช่น สมปอง นันทประภาศิลป์, ศักดริน ทองมี, สาธิต จึงสำราญ และประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงปี 2523-2525 คือชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานประเภท ก. ประจำปี 2523 ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ในปี 2524 และได้แชมป์ ถ้วยพระราชทานประเภท ก. อีกครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน คือต้นปี 2525 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่สโมสรสามารถนำถ้วยพระราชทานสูงสุดทั้ง 2 ใบ มาประดิษฐานควบคู่กันได้ ต่อมาสโมสรฯ จึงได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขัน ตูกูมูด้า คัพ และ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ จึงทำสถิติเป็น "ทริปเปี้ลแชมป์" ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
ในปี 2527 ร.ท.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร บุตรชาย ม.ร.ว.เจตจันทร์ ได้เข้ามามีบทบาทในสโมสรมากขึ้น และเป็นสโมสรแรกของประเทศที่มีผู้สนับสนุนสโมสรฯ ติดบนเสื้อแข่งขัน ซึ่งก็คือ สุราแม่โขง และได้มีการริเริ่มกิจกรรมเพื่อสังคมในนาม "ราชประชา แกรนด์ทัวร์" โดยได้รับการสนับสนุนจาก พรเทพ เตชะไพบูลย์ โดยเป็นโครงการที่นำทีมไปตระเวนแข่งขันกับทีมท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้สัมผัสกับนักฟุตบอลระดับประเทศ
ในปี 2528 สโมสรฯ ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้จำเป็นต้องยุบ ทีมพัฒนาเยาวชน แต่ได้สร้างทีมน้องขึ้นมาใหม่ คือ สโมสรมูลนิธินวมราชานุสรณ์ แทน
ในปี 2529 สโมสรได้ลงแข่งนัดกระชับมิตร กับ สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่ได้จะหาบ่อยนัก โดยราชประชาพ่ายไปแบบประทับใจคนไทย 2-0
พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2539
[แก้]ราชประชาสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อ ประวิทย์ ไชยสาม ถึงแก่อนิจกรรม จึงได้ดันนักเตะรุ่นใหญ่ของทีมอย่าง สุทิน และ สุรัก ไชยกิตติ ให้มาเป็นโค้ชแทน นักเตะรุ่นใหม่ของราชประชาในยุคนี้ได้แก่ สราวุธ สุขประเสริฐ, ยุทธนา พลศักดิ์, อนุพงษ์ พลศักดิ์, พัฒนพงษ์ ศรีปราโมช, พัทยา เปี่ยมคุ้ม, สมาน ดีสันเที๊ยะ, ทรงกลด หมื่นนุปิง, อิริค ไชยสงคราม นักเตะราชประชาชุดนี้สามารถคว้าแชมป์ ยูคอมเอฟเอ คัพ ได้ในปี 2535 และ 2537
ต่อมาสโมสรฯ เจรจากับ ยูคอม เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์หลักภายใต้นาม สโมสรยูคอมราชประชา และสโมสรฯ ได้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กองหน้า ทีมชาติไทยชุดดรีมทีม จาก สโมสรธนาคารกรุงไทย ในราคา 300,000 บาท รวมไปถึงผู้เล่นอย่าง รุ่งเพชร เจริญวงศ์, วิฑูรย์ ถาวรหมื่น, ชูเกียรติ หนูสลุง, บทชาย พ้นยาก, สุชิน พันธุ์ประภาส เป็นต้น[1]
ด้านการพัฒนาเยาวชน สโมสรฯ ได้ดาวรุ่งอย่าง อภิเชษฐ์ พุฒตาล, กฤษณ์ ธนามี และ พิพัฒน์ ต้นกันยา มาร่วมทีมแต่ก็ไม่สามารถสอดแทรกตำแน่งตัวจริงของรุ่นพี่ได้ ด้านผลงานในช่วงเวลานี้ ส่วนมากมักจะเป็นรองชนะเลิศเสียเป็นส่วนใหญ่
ตกชั้นเป็นครั้งแรก
[แก้]ใน ไทยลีก 2541 สโมสรทำผลงานได้ไม่ดีนัก และด้วยถูกโปรแกรมการฝึกซ้อมของทีมชาติรบกวนตลอดฤดูกาล ทำให้สโมสรฯ ต้องตกชั้นจากลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ต่อมาสโมสรฯ ลงเล่นในระดับ ดิวิชั่น 1 โดยมี อดีตผู้เล่นของสโมสรฯ อย่าง ทินกร แพทย์เจริญ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน และได้ลงทำการแข่งขันที่ สนามราชประชา สปอร์ต รีสอร์ท เป็นสนามเหย้า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสโมสร[1] แต่ในฤดูกาล 2542 สโมสรทำได้ดีที่สุดแค่อันดับ 3 และได้รองชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลถ้วย ทั้ง ไทยเอฟเอคัพ และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ควีนสคัพ
พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2548
[แก้]ต่อมาในปี 2543 ได้มีการแต่งตั้ง ประพันธ์ เปรมศรี อดีตผู้เล่นของสโมสรฯ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน และในปีนี้เอง สโมสรได้ตำแหน่ง รองชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนควีนส์คัพ และได้มีการร่วมมือกับ โรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน ในการส่งผู้เล่นของโรงเรียนมาเล่นให้กับสโมสรฯ โดยในยุคนี้มีผู้เล่น ได้แก่ พิพัฒน์ ต้นกันยา, อภิเชษฐ์ พุฒตาล, สถิติ แพงมา, ไพรัช ทับเกตุแก้ว, อนุชา กิจพงษ์ศรี, ดัสกร ทองเหลา, ยุทธจักร ก้อนจันทร์ เป็นต้น แต่กระนั้นก็ไม่สามารถพาทีมกลับขึ้นไปเล่นไทยลีกได้
ปี 2544 สโมสรฯ ได้เซ้นสัญญาร่วมกับ บริษัท เสริมสุข จำกัด ในการร่วมกันบริหารสโมสร โดยใช้ชื่อว่า สโมสรเป๊ปซี่-ราชประชา ต่อมาสัญญาระหว่างสโมสรฯ กับทาง โรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน สิ้นสุดลง ทำให้ผู้เล่นหลายราย ย้ายออกไปเล่นให้กับ สโมสรบีอีซี เทโรศาสน แต่ก็ยังได้ผู้เล่นอย่าง ยุทธจักร ก้อนจันทร์, เอกลักษณ์ ทองกริต เป็นต้น จากการเปิดคัดตัวนักเตะจากภาคอีสาน[1]
แต่การเสียผู้เล่นตัวหลัก นี่เอง ทำให้สโมสรฯ ผลงานไม่ จนต้องตกชั้นจากดิวิชั่น 1 ใน ฤดูกาล 2545/46
พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2552
[แก้]ในปี พ.ศ. 2549 สโมสรฯ ได้มีการเปลื่ยนแปลงครั้งสำคัญ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตผู้อำนวยการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับอาสาเข้ามาบริหารสโมสรแทน และได้นำเพื่อนสนิทอย่าง ณรงค์วิทย์ อุ่นแสงจันทร์ และ สุชาติ อินทรลักษณ์ มาร่วมทำทีมด้วย ราชประชาชุดใหม่นี้ประกอบนักเตะเยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี อาทิเช่น ธีรศิลป์ แดงดา, รณชัย รังสิโย, วิสูตร บุญเป็ง, นฤพล อารมณ์สวะ, กวิน ธรรมสัจจานันท์, ธีราทร บุญมาทัน, นิรันดร์ พันทอง
ต่อมา ต้นปี พ.ศ. 2550 พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ผู้ก่อตั้งสโมสรและอดีตประธานสโมสร ถึงแก่อนิจกรรม แต่สโมสรก็ต้องเดินหน้าต่อด้วยผู้นำรุ่นต่อไปอย่าง พล.ต.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ราชประชาเริ่มกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ ถ้วยพระราชทานประเภท ข. ในปี พ.ศ. 2551 (แต่เป็นการแข่งขันของฤดูกาล 2550) ทำได้สิทธิ์ขึ้นไปเล่น ดิวิชั่น 2[2]
ในปี 2552 ราชประชาจับมือกับ อบจ.นนทบุรี ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สโมสรกีฬาราชประชานนทบุรี พร้อมใช้ สนามกีฬากลางจังหวัดนนทบุรี เป็นสนามเหย้า โดยสโมสรฯ ประสบความสำเร็จ ชนะเลิศ ดิวิชั่น 2 ลีกภูมิภาค ได้อย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากเป็นผู้ตามหลังเชียงราย ยูไนเต็ด มาตลอดในรอบมินิลีก นักเตะหลักที่เพิ่มมาจากชุดแชมป์ ถ้วย ข. ได้แก่ สุริยา กุพะลัง, กรพรหม จรูญพงศ์, ประกิต ดีพร้อม, โชคดี อินทรลักษณ์, ตามีซี หะยียูโซ๊ะ, เยน เอมิเล่, ดาวุด้า วูลัมป้า, สุภัทร อ้นทอง, ชูศักดิ์ สุวรรณา
พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน
[แก้]สโมสรฯ ลงทำการแข่งขันในระดับ ดิวิชั่น 1 มาจน ฤดูกาล 2555 ก็ต้องมีอันตกชั้นลงไปแข่งขัน ดิวิชั่น 2
ปี 2556 สโมสรฯ ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยใช้ผู้เล่นจากมหาวิทยาลัย เป็นหลักในการแข่งขันดิวิชั่น 2 โซนกรุงเทพตะวันตก
ต่อมา เมื่อ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีนโยบายในการตั้งลีกใหม่ โดยนำอันดับที่ 1-4 ของตารางในแต่ละโซนใน ดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2559 เลื่อนชั้น สโมสรฯ จบฤดูกาลด้วยตำแหน่งชนะเลิศของโซนกรุงเทพฯตะวันออก จึงได้สิทธิ์เลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ และ เข้ารอบแชมป์เปี้ยนลีกอีกด้วย ก่อนที่ในรอบแชมป์เปี้ยนลีก สโมสรฯจะแพ้ให้กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ก็ยังได้เลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก 3 ฤดูกาล 2560 และจบฤดูกาลในอันดับ 14
สำหรับผลงานในฤดูกาลอื่น ๆ นั้น ไทยลีก 3 ฤดูกาล 2561 สโมสรฯ จบฤดูกาลในอันดับ 13 ส่วนใน ไทยลีก 3 ฤดูกาล 2562 สโมสรฯ จบฤดูกาลในอันดับ 12 และในไทยลีก 3 ฤดูกาล 2563 สโมสรฯ จบฤดูกาลด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศของโซนภาคตะวันตก และสามารถได้อันดับที่ 3 ของรอบแชมเปี้ยนส์ลีก ทำให้เลื่อนชั้นกลับไปเล่นในระดับไทยลีก 2 ได้สำเร็จ หลังจากที่สโมสรฯได้หล่นจากไทยลีก 2 ในฤดูกาล 2555 และต้องลงเล่นในระดับไทยลีก 3 เป็นเวลากว่า 8 ฤดูกาล
ต่อมาในปี 2566 สโมสรกีฬาราชประชาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อได้ทำการแต่งตั้ง พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร เป็นประธานสโมสรแทน พลเอก หม่อมหลวง สุปรีดี ประวิตร[3]
ผู้เล่น
[แก้]ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
รายชื่อผู้ฝึกสอน
[แก้]ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน
ชื่อ-สกุล | สัญชาติ | ช่วงเวลา | เกียรติประวัติ |
---|---|---|---|
จักรกริช บุญคำ | 2563 – มีนาคม 2564 | อันดับที่ 3 ไทยลีก 3 ฤดูกาล 2563–64 (เลื่อนชั้น) | |
ดุสิต เฉลิมแสน | เมษายน – กรกฎาคม 2564 | ||
จักรกริช บุญคำ | กรกฎาคม – กันยายน 2564 | ||
ทนงศักดิ์ ประจักกะตา | กันยายน – ธันวาคม 2564 | ||
อัคถภรณ์ ชลิตาภรณ์ | ธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 | ||
ศุภชัย คมศิลป์ อำนาจ แก้วเขียว |
กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2565 | ||
ธนา ชะนะบุตร ปิยะชาติ ถามะพันธ์ |
สิงหาคม – พฤศจิกายน 2565 | ||
อัคถภรณ์ ชลิตาภรณ์ | พฤศจิกายน 2565 – มีนาคม 2566 | ||
พัฒฐณพงศ์ ศรีปราโมช | มีนาคม 2566 – |
ผลงานของสโมสรในแต่ละฤดูกาล
[แก้]ฤดูกาล | ลีก | เอฟเอคัพ | ลีกคัพ | ลีก 3 คัพ | ผู้ยิงประตูสูงสุด | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ระดับ | แข่ง | ชนะ | เสมอ | แพ้ | ได้ | เสีย | คะแนน | อันดับ | ชื่อ | จำนวนประตู | ||||
2562 | ไทยลีก 3 ตอนล่าง |
26 | 7 | 6 | 13 | 19 | 33 | 27 | อันดับที่ 12 | รอบ 64 ทีมสุดท้าย | รอบคัดเลือกรอบแรก | – | เรวัต มีเรียน | 6 |
2563–64 | ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันตก |
17 | 12 | 3 | 2 | 40 | 10 | 39 | อันดับที่ 2 | รอบ 64 ทีมสุดท้าย | รอบคัดเลือกรอบสอง | – | รณชัย รังสิโย | 14 |
2564–65 | ไทยลีก 2 | 34 | 7 | 12 | 15 | 34 | 44 | 33 | อันดับที่ 16 | รอบ 64 ทีมสุดท้าย | รอบ 32 ทีมสุดท้าย | – | จาร์เดล คาปิสทรานู | 14 |
2565–66 | ไทยลีก 2 | 34 | 9 | 10 | 15 | 29 | 41 | 37 | อันดับที่ 16 | รอบ 32 ทีมสุดท้าย | รอบ 32 ทีมสุดท้าย | – | รณชัย รังสิโย | 8 |
2566–67 | ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันตก |
20 | 11 | 7 | 2 | 41 | 15 | 40 | อันดับที่ 3 | รอบ 64 ทีมสุดท้าย | รอบเพลย์ออฟ | รอบ 32 ทีมสุดท้าย | โซซูเกะ คิมูระ | 8 |
2567–68 | ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันตก | รอบคัดเลือกรอบสอง | รอบลีก |
แชมป์ | รองแชมป์ | อันดับที่สาม | เลื่อนชั้น | ตกชั้น |
ผลงานที่ดีสุดในระดับเอเชีย
[แก้]- เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ - รอบ 2 (ฤดูกาล 1995/96)
- ตูกูมูด้าคัพ (อินโดนีเซีย) - ชนะเลิศ 2 ครั้ง - 2525, 2527
- โบโดรอยด์ โทรฟี่ อินเดีย - รองชนะเลิศ 2544
เกียรติประวัติ
[แก้]- ถ้วยพระราชทานประเภท ก. - ชนะเลิศ 4 ครั้ง - 2515, 2516, 2523, 2525
- ถ้วยพระราชทานประเภท ข. - ชนะเลิศ 1 ครั้ง - 2550
- ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ - ชนะเลิศ 2 ครั้ง - 2515, 2524
- ถ้วยพระราชทาน มวก.นนทบุรี - ชนะเลิศ 2 ครั้ง - 2552, 2553
- เอฟเอคัพ - ชนะเลิศ 4 ครั้ง - 2519, 2520, 2527, 2537
- ไทยแลนด์ดิวิชั่น 2 - ชนะเลิศ 1 ครั้ง - 2552
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 http://www.rajprachafc.com:80/aboutrajpracha.php เก็บถาวร 2013-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติสโมสร - สโมสรกีฬาราชประชา
- ↑ http://football.rajpracha.com:80/news/newsarticle.asp?newsID=29 เก็บถาวร 2008-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตราชฎาซัดโทษดับเกษมบัณฑิตแชมป์ถ้วยข. - สโมสรกีฬาราชประชา
- ↑ 'หม่อมป๊อบ'รับหน้าที่ประธานสโมสรราชประชา