เกาะเกร็ด
ตำบลเกาะเกร็ด | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Tambon Ko Kret |
เจดีย์เอียงริมน้ำวัดปรมัยยิกาวาส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
อำเภอ | ปากเกร็ด |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 4.2 ตร.กม. (1.6 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2563) | |
• ทั้งหมด | 5,823 คน |
• ความหนาแน่น | 1,386.43 คน/ตร.กม. (3,590.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 120608 |
เกาะเกร็ด เป็นเกาะแม่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 4.2 ตารางกิโลเมตรหรือ 2,625 ไร่[1] เป็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นส่วนใหญ่
เกาะเกร็ดเกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2265 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[2] คลองลัดดังกล่าวเรียกว่า "คลองลัดเกร็ดน้อย"[3] หรือ "คลองเตร็ดน้อย"[4] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมตอนหนึ่งว่า
"...ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมนัก ขุดลัดตัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามา ให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๓ วา ยาวทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึ่งแล้ว..."[4]
ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศเนื่องจากไหลทางตรงได้สะดวกกว่าและกัดเซาะตลิ่งทำให้คลองสายนี้ขยายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุในโฉนดชื่อว่า เกาะศาลากุล ตามชื่อวัดศาลากุลที่สร้างโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) ตั้งแต่สมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ด จึงเรียกเป็น เกาะเกร็ด[5]
ประวัติ
[แก้]เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นทั้งชุมชนค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง ๆ ที่จะเดินทางผ่านไปยังอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขุดคลองลัดตามลำน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เพื่อลดระยะทางย่นระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ และแก้ปัญหาที่ทำให้การเดินเรือสำเภาชักช้าและเกิดเหตุขัดข้อง รวมถึงเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของอยุธยาในสมัยนั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลวกกลับมาทางทิศตะวันออก ในปี พ.ศ. 2265 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์ไพร่พล คนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คนหมื่นเศษให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้งบางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดให้ตรง พระธนบุรีรับคำสั่งแล้วถวายบังคมลามาเกณฑ์ไพร่พลบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลึก 6 ศอก กว้าง 6 วา ทางไกลได้ 29 เส้นเศษ(1 เส้น 80 เมตรหรือ 40 วา) ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลให้ทราบทุกประการ เมื่อทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ทำให้เกิดการเดินเรือลัดได้เร็วขึ้น เรียกคลองในสมัยนั้นว่า คลองลัดเกร็ดน้อย ต่อมานิยมเรียกว่า คลองลัดเกร็ด ต้นคลองหรือปากคลองเรียกว่า ปากเกร็ด[6]
ต่อมาคลองลัดเกร็ดได้ถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จนกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำไป ที่ดินบริเวณที่เป็นแหลมยื่นออกไปจึงมีลักษณะเป็น เกาะ เรียกกันว่า เกาะเกร็ด ในสมัยโบราณเรียกเกาะเกร็ดที่เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กนี้ว่า เกร็ดน้อย (ที่เชียงราก จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า เกร็ดใหญ่ เพราะมีการขุดคลองลัดแล้วกลายเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะเกร็ด) อาจเป็นไปได้ว่าคนสมัยโบราณนิยมเรียกเกาะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่า เกร็ด
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับ พ.ศ. 2317 ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด (รวมทั้งในเกาะเกร็ด) และสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมอญแพ้สงครามกับพม่า บางส่วนจึงอพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกพื้นที่ช่วงเกาะเกร็ดและปากเกร็ดเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ โดยทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จล่วงหน้าขึ้นไปในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 3 ครั้นถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 จึงเสด็จไปรับที่พระตำหนักบางธรณีด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางครั้งนี้นับเป็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ใช้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่ปากเกร็ดและเกาะเกร็ด มีการจัดกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และกระบวนเรืออัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่ยิ่งใหญ่
ปี พ.ศ. 2358 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวชาวมอญ ซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวชาวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) บ้าง ดังนั้นจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในเกาะเกร็ดและหลายท้องที่หลายตำบลในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากมีชาวมอญอพยพเข้ามา 2 ครั้ง คือ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินปี พ.ศ. 2317 และสมัยรัตน์โกสินทร์ปี พ.ศ. 2358
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มักจะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอินเสมอ กล่าวกันว่าทรงแวะพักเรือพระที่นั่งตามวัดต่าง ๆ บริเวณปากเกร็ดและเกาะเกร็ดนี้ทุกวัด และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกับพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงอภิบาลทำนุบำรุงสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์มาตั้งแต่ครั้นทรงพระเยาว์ ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะปากเกร็ดเป็นชื่อของอำเภอ เกาะเกร็ดจึงได้ยกฐานะเป็นตำบลเกาะเกร็ดด้วยจนถึงปัจจุบัน
สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหลังจากพ.ศ. 2475 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่บ้านในตำบลย่านเกาะเกร็ดและปากเกร็ดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมรับสภาวะวิกฤตในกรุงเทพมหานคร มีนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้มาสร้างบ้านสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาทางราชการได้เข้ายึดบ้านดังกล่าว
ภูมิศาสตร์
[แก้]อาณาเขต
[แก้]- ทิศเหนือ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลคลองพระอุดม
- ทิศใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลท่าอิฐ
- ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลปากเกร็ด
- ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลอ้อมเกร็ด
ภูมิประเทศ
[แก้]ลักษณะภูมิประเทศของเกาะเกร็ด มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบต่ำล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ริมน้ำเป็นที่ลุ่มมากกว่าตอนกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ทำให้พื้นที่ทั่วทั้งเกาะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้ว่ามีการทำสวนไม้ผลไม้ยืนต้นอยู่ทั่วไป ผลไม้ที่นิยมปลูกได้แก่ กล้วย มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ บริเวณส่วนกลางของเกาะเกร็ดแต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้า แต่ไม่มีการทำนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เนื่องจากบริเวณกลางเกาะเป็นที่ดอนสูงกว่าบริเวณริมเกาะ การดึงน้ำเข้าสู่พื้นที่นาต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำอีกทั้งสภาพคูคลองภายในเกาะเกร็ดปัจจุบันตื้นเขินไม่มีการขุดลอกมาเป็นระยะเวลานาน การทำนาจึงไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้พื้นที่นาในอดีตกลายมาเป็นพื้นที่รกร้างเป็นผืนใหญ่ติดต่อกัน ส่วนพื้นที่ริมเกาะเป็นพื้นที่ลุ่มจึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย เกาะเกร็ดจึงประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปี คือ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับพื้นที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี ทำให้การระบายน้ำค่อนข้างล่าช้าจึงเกิดน้ำท่วมขัง
ภูมิอากาศ
[แก้]ลักษณะภูมิอากาศของบริเวณเกาะเกร็ด มีลักษณะคล้ายคลึงกับภูมิอากาศโดยทั่วไปของอำเภอปากเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี คือ เขตอากาศร้อนชื้นหรือมรสุมเมืองร้อน ฝนจะตกชุกในช่วงฤดูฝน และตกมากที่สุดในเดือนกันยายน บางปีเกิดพายุดีเปรสชั่นหรือฝนตกหนาแน่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทั้งบริเวณเกาะเกร็ด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบปีของบริเวณเกาะเกร็ด ประมาณ 1,225 มิลลิเมตร หรือ 50.20 นิ้ว/ปี โดยมีการกระจายตัวของฝนในช่วงแต่ละเดือนมากกว่า 110 มิลลิเมตร อยู่หนึ่งช่วง คือ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม เดือนที่ฝนตกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน สำหรับในฤดูแล้งสภาพของพื้นดินไม่แห้งแล้งมากนัก เพราะพื้นที่เกาะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น และยังล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ตลอดทั้งปี
เขตการปกครอง
[แก้]ตำบลเกาะเกร็ดมีเขตการปกครองทั้งหมด 7 หมู่บ้าน[7] ได้แก่
- หมู่ที่ 1 บ้านบนบ้านล่าง[7] หรือบ้านมอญ[8]
- หมู่ที่ 2 บ้านคลองศาลากุล
- หมู่ที่ 3 บ้านศาลากุล
- หมู่ที่ 4 บ้านคลองสระน้ำอ้อย
- หมู่ที่ 5 บ้านท่าน้ำ
- หมู่ที่ 6 บ้านวัดเสาธงทอง
- หมู่ที่ 7 บ้านโอ่งอ่าง
จำนวนประชากร
[แก้]เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2561 ตำบลเกาะเกร็ดมีจำนวนประชากรทั้งหมด 5,862 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 1,395.71 คนต่อตารางกิโลเมตร
จากจำนวนประชากรทั้งหมดของตำบล แยกตามการตั้งถิ่นฐานและเชื้อชาติได้ดังนี้
- หมู่ที่ 1, 6, 7 มีประชากรเชื้อชาติมอญร้อยละ 35 ของประชากรทั้งตำบล
- หมู่ที่ 2,3 ประชากรซึ่งอาศัยบริเวณริมแม่น้ำ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 15 ของประชากรทั้งตำบล
- หมู่ที่ 2, 3, 4, 5 เป็นประชากรเชื้อชาติไทย, ไทย-จีน บางส่วนร้อยละ 50 ของประชากรทั้งตำบล
โบราณสถานในเกาะเกร็ด
[แก้]ชื่อ | รูปภาพ | จุดน่าสนใจ |
---|---|---|
วัดปรมัยยิกาวาส |
| |
วัดเสาธงทอง |
| |
วัดฉิมพลีสุทธาวาส |
| |
วัดป่าเลไลยก์ |
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "งานอนามัยสิ่งแวดล้อมฯ บนพื้นที่เกาะเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-28. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
- ↑ หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 38.
- ↑ "เกาะเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-02-16.
- ↑ 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม. อ้างถึงใน คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 41.
- ↑ วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง. หลังม่านต้นไม้. ISBN 974-92952-4-2
- ↑ "เดินเล่นชิลๆ @ เกาะเกร็ด ย้อนรอยวิถีชาวมอญ". โพสต์ทูเดย์.
- ↑ 7.0 7.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 213–241. 6 พฤษภาคม 2541. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
- ↑ "รายชื่อตำบล หมู่บ้าน เทศบาล อบต. และขนาดพื้นที่ : อำเภอปากเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
- ↑ วัดเสาธงทอง, Website:https://www.touronthai.com/ .สืบค้นเมื่อ 15/10/2561
- ↑ วัดป่าเลไลยก์ (ร้าง),website: http://www.tourwatthai.com/ .สืบค้นเมื่อ 15/10/2561
ดูเพิ่ม
[แก้]- อำเภอปากเกร็ด
- ท่าเรือปากเกร็ด
- วัดปรมัยยิกาวาส
- วัดเสาธงทอง
- วัดฉิมพลี
- วัดไผ่ล้อม
- หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา
- ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เกาะเกร็ด
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์