อำเภอบางใหญ่
อำเภอบางใหญ่ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Bang Yai |
คำขวัญ: อำเภอบางใหญ่ บ้านเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก | |
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอบางใหญ่ | |
พิกัด: 13°52′36″N 100°24′14″E / 13.87667°N 100.40389°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | นนทบุรี |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 96.398 ตร.กม. (37.219 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 170,223 คน |
• ความหนาแน่น | 1,765.84 คน/ตร.กม. (4,573.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 11140 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1203 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอบางใหญ่ เลขที่ 9/317 หมู่ที่ 6 ซอยบางใหญ่ซิตี้ ซอย 7 ถนนกาญจนาภิเษก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 11140 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
บางใหญ่ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี มีประชากรค่อนข้างมาก แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณที่คลองสามสายมาบรรจบกันได้แก่ ปลายคลองอ้อมนนท์ สุดคลองบางกอกน้อย และต้นคลองบางใหญ่ แต่ปัจจุบันตัวอำเภอได้ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ ซึ่งได้รับความเจริญอย่างรวดเร็วจากการก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษกและถนนรัตนาธิเบศร์ มีบริการที่ทันสมัย เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ตลาดกลางของจังหวัด หน่วยงานราชการ หมู่บ้านจัดสรรที่เกิดใหม่ ดังนั้น พื้นที่การเกษตรอาจไม่พบเห็นในเขตเมืองแล้ว โดยส่วนหนึ่งของเขตเมืองบางใหญ่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอบางบัวทอง
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอบางใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้ของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดนนทบุรี 8.11 กิโลเมตร[2] มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอไทรน้อยและอำเภอบางบัวทอง มีคลองบางแพรก, แนวเส้นขนานคลองบางแพรก, แนวด้านหลังโรงเรียนอนุบาลรัตนาธิเบศร์, ลำรางบางน้อย, ซอยอธิเบศร์ 1, ลำรางบางน้อย, แนวรั้วหมู่บ้านกฤษดานคร 10, แนวเขตหมู่บ้านเกล้ารัตนา, แนวเขตหมู่บ้านร่มรื่นวิลล์, แนวด้านหลังหมู่บ้านเกล้ารัตนา, คลองบางเดื่อ (วัดบางเดื่อ) และคลองอ้อมเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองนนทบุรี มีคลองวัดประชารังสรรค์, ทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0010 (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการฯ-วัดสวนแก้ว), ซอยบางกร่าง 25 (หน้าค่าย), ถนนหลังวัดยุคันธราวาส และคลองวัดยุคันธราวาสเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบางกรวย มีคลองบางกอกน้อย, คลองบางค้อ, คลองนาคเกี้ยว, คลองบางนา, คลองหัวคูใน (วัดพระเงิน), ถนนบางม่วง-บางคูลัด, คลองจีนบ่าย และคลองขุดใหม่เป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพุทธมณฑล (จังหวัดนครปฐม) มีคลองนราภิรมย์เป็นเส้นแบ่งเขต
ประวัติศาสตร์
[แก้]ท้องที่ที่เป็นอำเภอบางใหญ่ทุกวันนี้เดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบางใหญ่ (บางกรวย) และอำเภอบางบัวทองซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางมาก ใน พ.ศ. 2460 ทางราชการจึงได้พิจารณาแบ่งตำบลบางใหญ่และบางม่วงจากอำเภอบางใหญ่ (บางกรวย) และแบ่งตำบลบางแม่นาง เสาธงหิน และบ้านใหม่จากอำเภอบางบัวทองมาจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอบางแม่นาง เพื่อความสะดวกในการปกครอง[3] ในช่วงแรกตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภออยู่บริเวณวัดส้มเกลี้ยง หมู่ที่ 2 ตำบลบางแม่นาง[4]
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2464 กิ่งอำเภอบางแม่นางได้รับโอนตำบลบางเลนจากอำเภอนนทบุรีมาอยู่ในการปกครอง และยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอบางแม่นาง ตามประกาศกระทรวงนครบาล[5] ต่อมาใน พ.ศ. 2466 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วง[6] บริเวณปากคลองบางใหญ่แยกคลองอ้อมนนท์และคลองบางกอกน้อย ประชาชนจึงนิยมเรียกอำเภอนี้ว่า "บางใหญ่" ตามไปด้วย จนกระทั่งในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2473 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอบางแม่นางเป็น อำเภอบางใหญ่ ตามความคุ้นเคยของประชาชน ส่วนอำเภอบางใหญ่ (เดิม) นั้นเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอบางกรวย" แทน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน[7]
ครั้นใน พ.ศ. 2486 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดนนทบุรีถูกยุบลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ อำเภอบางใหญ่ถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรีพร้อมกับอำเภอบางบัวทองและอำเภอบางกรวย จนกระทั่งใน พ.ศ. 2489 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้ง[8] อำเภอบางใหญ่จึงกลับมาอยู่ในการปกครองของทางจังหวัดจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาใน พ.ศ. 2532 อำเภอบางใหญ่พร้อมทั้งส่วนราชการอื่น ๆ ได้ย้ายที่ทำการไปตั้งในหมู่บ้านบางใหญ่ซิตี้ ใกล้จุดตัดระหว่างถนนรัตนาธิเบศร์กับถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี เนื่องจากได้รับบริจาคที่ดินให้สร้างศูนย์ราชการขึ้น นับแต่นั้นมา การเป็นที่ตั้งหน่วยงานการบริหารราชการ ประกอบกับการโฆษณาของหมู่บ้านจัดสรรแห่งนั้นทำให้บางใหญ่ซิตี้กลายเป็นชุมชนบางใหญ่และย่านบางใหญ่ในความรับรู้ของคนทั่วไป ส่วนตัวอำเภอบางใหญ่เดิมนั้นปัจจุบันมักถูกเรียกว่า "บางใหญ่เก่า" และอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางม่วง[9]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอบางใหญ่แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งย่อยออกเป็นหมู่บ้าน รวม 69 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[10] |
สี | แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | บางม่วง | Bang Muang | 15
|
19,872
|
||
2. | บางแม่นาง | Bang Mae Nang | 18
|
53,991
|
||
3. | บางเลน | Bang Len | 11
|
20,151
|
||
4. | เสาธงหิน | Sao Thong Hin | 8
|
40,964
|
||
5. | บางใหญ่ | Bang Yai | 6
|
22,003
|
||
6. | บ้านใหม่ | Ban Mai | 11
|
9,615
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอบางใหญ่ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองบางแม่นาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางแม่นาง (ยกเว้นบางส่วนของหมู่ที่ 3, 5–8)
- เทศบาลเมืองบางใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางแม่นาง (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 3, 5–8) ตำบลบางใหญ่ (เฉพาะหมู่ที่ 2 และบางส่วนของหมู่ที่ 1, 3–6) และตำบลบ้านใหม่ (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1, 2, 4)
- เทศบาลเมืองเสาธงหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเสาธงหิน (เฉพาะหมู่ที่ 4–8 และบางส่วนของหมู่ที่ 1–3)
- เทศบาลเมืองบางเลน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเลน (เฉพาะหมู่ที่ 1–3, 6–10 และบางส่วนของหมู่ที่ 4, 11)
- เทศบาลตำบลบางม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางม่วง (เฉพาะหมู่ที่ 2 และบางส่วนของหมู่ที่ 12) ตำบลบางเลน (เฉพาะหมู่ที่ 5 และบางส่วนของหมู่ที่ 4, 11) และตำบลเสาธงหิน (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1–3)
- เทศบาลตำบลบ้านบางม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางม่วง (เฉพาะหมู่ที่ 1, 3–11, 13–15 และบางส่วนของหมู่ที่ 12)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางใหญ่ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางใหญ่)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางใหญ่)
การคมนาคม
[แก้]ถนนสายสำคัญของอำเภอบางใหญ่ ได้แก่
|
|
การคมนาคมทางน้ำ
[แก้]การคมนาคมทางน้ำเคยเป็นเส้นทางการคมนาคมหลักของบางใหญ่เก่ามาแต่ครั้งก่อนกรุงศรีอยุทธยา เนื่องจากคลองอ้อมนนท์และคลองบางกอกน้อยเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน แต่เนื่องจากมีการตัดคลองลัดบริเวณนนทบุรีในปี พ.ศ. 2179 รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไปทางคลองลัดใหม่ ส่วนแม่น้ำเดิมมีความตื้นเขินและขนาดลดลงกลายเป็นคลองอ้อมนนท์ คลองบางกอกน้อย และคลองบางกรวยไป ปัจจุบันถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้การสัญจรทางบกแล้ว แต่การสัญจรทางน้ำก็ยังมีการใช้อยู่สม่ำเสมอ และคลองสายสำคัญที่ผ่านบางใหญ่เก่านี้มี 3 สาย คือ
- คลองอ้อมนนท์ เริ่มจากสามแยกบางใหญ่ ขึ้นไปทางเหนือไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันบริเวณสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ นนทบุรี
- คลองบางใหญ่ เริ่มจากสามแยกบางใหญ่ ไปทางตะวันตก ตรงไปออกแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม
- คลองบางกอกน้อย เริ่มจากสามแยกบางใหญ่ ไปทางใต้ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพ
ในอดีตเมื่อสุนทรภู่เดินทางไกลและแต่งนิราศบรรยายระหว่างการเดินทางทางเรือจากกรุงเทพไปนครปฐมและสุพรรณบุรี ก็พายเรือมาตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่แล้วจึงเลี้ยวซ้ายเข้าคลองบางใหญ่บริเวณอำเภอบางใหญ่เก่านี้เอง โดยหลักฐานการเดินทางมาก็ปรากฎอยู่ในนิราศพระประธมและนิราศสุพรรณ
การขนส่งทางราง
[แก้]โรงพยาบาล
[แก้]- โรงพยาบาลบางใหญ่
- โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลรัตนาธิเบศร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 53.
- ↑ กรมทางหลวง. "สอบถามระยะทางระหว่างจังหวัดหรืออำเภอ. เก็บถาวร 2014-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน"
- ↑ รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 52.
- ↑ องค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง. "ประวัติและตราสัญลักษณ์: ประวัติตำบลบางแม่นาง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.bangmaenang.go.th/default.php?modules=fckeditor&fck_id=4&view_id=55&orderby=1 เก็บถาวร 2012-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2553. สืบค้น 30 กันยายน 2554.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง ตั้งอำเภอบางแม่นาง จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 38 (0 ก): 23–24. 24 เมษายน 2464.
- ↑ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางใหญ่. "ข้อมูลอำเภอบางใหญ่." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://bangyaidho.blogspot.com.es/2011/07/blog-post_3907.html 2554. สืบค้น 11 กันยายน 2555.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยุบกิ่งอำเภอ เปลี่ยนชื่อและย้ายอำเภอกับโอนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 226–228. 19 ตุลาคม 2473. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
- ↑ "สภาวะกึ่งเมืองกึ่งชนบทไทย: "บ้านบางใหญ่" ในอดีต และ "บ้านบางใหญ่เก่า" ในปัจจุบัน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://learners.in.th/blog/rurban/276342 เก็บถาวร 2011-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2552. สืบค้น 30 กันยายน 2554.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์เทศบาลตำบลบางม่วง เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
13°52′36″N 100°24′14″E / 13.876667°N 100.403889°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอบางใหญ่
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย