กุสินารา
กุสินารา, กุศีนคร, กุสีนคร, กุสินคร कुशीनगर Kushinagar | |
---|---|
เมือง | |
พิกัด: 26°44′28″N 83°53′17″E / 26.741°N 83.888°E | |
ประเทศ | อินเดีย |
รัฐ | อุตตรประเทศ |
อำเภอ | กุสินารา |
การปกครอง | |
• ผู้นำท้องถิ่น | Dr Ram narayan tiwar Pepara |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2,873.5 ตร.กม. (1,109.5 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2001) | |
• ทั้งหมด | 17,982 คน |
• ความหนาแน่น | 6.3 คน/ตร.กม. (16 คน/ตร.ไมล์) |
ภาษา | |
• ราชการ | ฮินดี |
เขตเวลา | UTC+5:30 (IST) |
เว็บไซต์ | www |
กุสินารา หรือ กุศินคร (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมือง ปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
กุสินาราจัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 4 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinaga; Kasia; Kasaya) ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devria; Devriya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์[1]
ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือสถูปใหญ่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายในและมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย
กุสินาราในสมัยพุทธกาล
[แก้]ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต
— พระอานนท์[2]
สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน
การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม
กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน
[แก้]จุดหมายแสวงบุญใน |
แดนพุทธภูมิ |
---|
หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น
ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ (ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง) สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า
“ | พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี | ” |
หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณาไว้ว่า
“ | เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ | ” |
บันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า
“ | ...เมืองกุสินาราเต็มไปด้วยป้อมปราการ หอสูง และสังฆาราม อยู่ห่างจากเมืองเวสาลี 19 โยชน์ กุสินาราเป็นเมืองหลวงของมัลละกษัตริย์ อยู่ในสภาพปรักหักพัง มองเห็นตัวเมืองและหมู่บ้านเป็นสถานที่รกร้าง หาคนอยู่อาศัยมิได้ กำแพงเมืองเก่าที่ก่อไว้โดยอิฐ มองดูโดยรอบยาวประมาณ 1 ลี้ มีคนอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเก่าเพียงเล็กน้อย ตามถนนสายเล็ก ๆ ของเมืองเป็นที่ร้าง... ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าผู้สร้างคือพระเจ้าอโศกมหาราช สถานที่แห่งนี้เป็นซากบ้านของนายจุนทะบุตรของนายช่างทอง (จุนทะกัมมารบุตร) คนที่ได้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางหมู่บ้าน มีบ่อแห่งหนึ่ง เป็นบ่อที่ขุดฝังอาหารที่เหลือจากเศษเสวยของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์รับสั่งให้ฝังเสีย ไม่ทรงยอมให้ภิกษุอื่นบริโภค น้ำในบ่อนั้นล่วงเลยมานานเพียงใดก็ดี ก็ยังมีน้ำสะอาดใสอยู่เสมอ... ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างไป 3-4 ลี้ เราข้ามแม่น้ำอชิตวดีไปทางตะวันตกของแม่น้ำนั้น ไม่ไกลนักเป็นสาลวโนทยาน มีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้เป็นเปลือกสีขาว ส่วนใบสะอาดเป็นเงาไม่มีขรุขระ ในป่าไม้สาละนั้น มีสาละใหญ่อยู่ 4 ต้น ที่มีลักษณะใหญ่กว่าไม้อื่น ๆ ... ในสาลวโนทยาน มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าอโศก ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำหิรัญญวดี (ในบันทึกบอกว่าอชิตวดี) มีน้ำเปี่มอยู่ มีไม้สาละขึ้นอยู่เต็มทั้งป่า วิหารใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพานหันเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนบรรทมหลับ ข้าง ๆ มีสถูปใหญ่ มีจารึกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง แม้จะทรุดโทรม แต่ก็ยังเหลือความสูงถึง 200 ฟุต ข้างสถูปมีศิลาจารึกว่า ที่นี่ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต... ทางทิศเหนือของเมืองกุสินารา (ในมหาปรินิพพานสูตรว่าทางทิศตะวันออก) เราเดินข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง เดินไปประมาณ 300 ก้าว ได้พบพระสถูปองค์หนึ่ง สถานที่นี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พื้นดินตรงที่ถวายพระเพลิง บางแห่งเป็นสีเหลืองปนดำ บางแห่งร่วนเหมือนกับถ่านไฟ ใครก็ตามเมื่อจาริกแสวงบุญ มาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งนี้ ถ้าตั้งจิตให้เป็นสมาธิ สาธยายมนต์ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้นก็จะเสด็จมาสู่ตน... | ” |
จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"
ในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ
จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนัยสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่า (ที่ได้รับการบูรณะสร้างใหม่) ออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศานิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน
[แก้]ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี
ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่[3]
คลังภาพ
[แก้]-
มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า
-
พระมหาธาตุเฉลิมราชย์ศรัทธา ภายใน วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา
-
สถานที่ประดิษฐานพระพุทธบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ
-
ภาพสีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน บนแผ่นผ้า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๘
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฏกสำหรับประชาชน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๒
- ↑ สุนนท์ ปัทมาคม, รศ. . สมุดภาพแดนพุทธภูมิ ฉลองชนมายุ ๘๐ ปี พระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
- ลักษณา จีระจันทร์, ตามรอยพระพุทธเจ้า, แพรวสำนักพิมพ์ฯ, กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๙