อุปปาตะสันติ
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระคาถาอุปปาตะสันติ เป็นร้อยกรองในรูปฉันทลักษณ์ภาษาบาลีขนาดยาวจำนวน 271 คาถา เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยระบุนามของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย พระคาถานี้แพร่หลายในอาณาจักรล้านนาแต่โบราณ และได้แพร่หลายในพม่ามาช้านาน กระทั่งได้รับการเผยแพร่สู่แผ่นดินไทย และเป็นนิยมสวดกันอย่างแพร่หลาย นอกจากชื่อพระคาถาอุปปาตะสันติแล้ว ทางล้านนายังเรียกว่า มหาสันติงหลวง อีกด้วย
ที่มา
[แก้]อุปปาตะสันติ แปลว่า มนต์ระงับเหตุร้าย หรือบทสวดระงับเภทภัย โดย อุปฺปาต แปลว่า เหตุร้าย,อันตราย, ภัยพิบัติ ส่วน สนฺติ แปลว่า ระงับ, ทำให้สงบ ทางเมืองเหนือเรียกว่า มหาสันติงหลวง เป็นบทสวดมนต์โบราณที่มีประโยชน์เพื่อระงับเหตุร้ายและสร้างศานติสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน ประกอบด้วยคาถาล้วนจำนวน 271 บท โดยพระคาถานี้ จัดเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในหมวด ‘‘เชียงใหม่คันถะ’’ คือ คัมภีร์ที่แต่งขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ ในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอย่างมากในอาณาจักรล้านนา[1]
พระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง หนึ่งในผู้แปลพระคาถานี้ ระบุว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้ คือ พระสีลวังสเถระ วัดโชติการาม เมืองเชียงใหม่ ได้แต่งขึ้นตามคำอาราธนาของพระเจ้าสามฝั่งแกนใน พ.ศ. 1949 (จุลศักราช 767) ตามตำนานนั้น ระบุว่าเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงอาราธนาว่า เนื่องด้วยพวกจีนฮ่อยกพลมารุกรานเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าแผ่นดินจึงอาราธนาให้แต่งขึ้นแล้วนิมนต์พระสงฆ์สาธยายร่วมกับชาวเมือง ส่งผลให้ทัพจีนฮ่อระส่ำระสายด้วยภัยพิบัติบางอย่างแล้วถอยทัพไปในที่สุด[2]
พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ.9) แห่งอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ชำระคัมภีร์พระคาถานี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย ระบุไว้ใน‘‘คำชี้แจงเรื่องคัมภีร์อุปปาตสันติ’’ ว่า ผู้รจนาคือ พระสีลวังสมหาเถระ แต่งที่เชียงใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2010 ส่วนในประวัติคัมภีร์อุปปาตสันติ ฉบับวัดโพธารามและฉบับของสุรีย์ มีผลกิจ กล่าวว่า คัมภีร์นี้แต่งโดยพระมหามังคละสีลวังสะพระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง ในสมัยของพระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่าง พ.ศ. 1985-2030[3]
อย่างไรก็ตาม พระคันธสาราภิวงศ์ ระบุว่า ในคำนำภาษาพม่าของโรงพิมพ์ภอนวาจากล่าวว่า พระคาถาแต่งขึ้นตามคำอาราธนาของพระเจ้าสามฝั่งแกนใน พ.ศ. 1949 ซึ่งเมื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์ของล้านนาพบว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนครองราชย์เป็นเวลา 38 ปี ระหว่าง พ.ศ. 1945-1984 ครั้งหนึ่ง พวกจีนฮ่อยกทัพมาล้อมเมืองเชียงแสนไว้ เพราะล้านนาไม่ส่งส่วยให้นับตั้งแต่สมัยของพระเจ้ากือนา พระองค์จึงรบกับจีนฮ่อเป็นเวลา 2 ปี ใน พ.ศ. 1947-48[4]
นอกจากนั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกนพระองค์มีพระสงฆ์ล้านนากลุ่มหนึ่งจำนวน 25 รูป นำโดยพระมหาธัมมคัมภีร์ พระมหาเมธังกร พระมหาญาณมงคลพระมหาสีลวงศ์ พระมหาสารีบุตร พระมหารัตนากร และพระพุทธสาคร เป็นต้น ได้เดินทางไปสู่สำนักพระมหาสวามีวนรัตน์ที่ลังกาเพื่อเรียนอักขระบาลี การอ่านออกเสียง การสวดตามอักขระบาลีในลังกา และขออุปสมบทใหม่ในเรือขนานที่ท่าเรือยาปาในแม่น้ำกัลยาณี พ.ศ. 1968 ซึ่งจะเห็นได้ว่าชื่อพระมหาสีลวงศ์ก็ปรากฏอยู่ในพระสงฆ์ล้านนาที่เดินทางสืบพระศาสนาในลังกา ดังนั้นจึงน่ามีข้อสรุปว่าคัมภีร์นี้แต่งโดยพระสีลวังสเถระ ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน [5]
อย่างไรก็ตาม ตามทัศนะของผู้ศึกษาวรรณกรรมทางพุทธศาสนามีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับผู้รจนาพระคาถานี้ โดย รศ. สมหมาย เปรมจิตต์ ระบุว่า พระคาถาอุปปาตะสันติ รจนาโดยพระเถรไม่ทราบนามรูปหนึ่ง ระหว่างปีพ.ศ. 2020 - 2070[6]
ก่อนหน้านี้ Bode ยังแสดงความเห็นว่า พระคาถาอุปปาตะสันติ รจนาขึ้นโดยพระเถระไม่ทราบนามเช่นกัน ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนอง ทรงได้เมืองเชียงใหม่มาไว้ในขอบขันฑสีมา และได้ทรงส่งพระโอรสไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ ในการนี้ได้มีการอาราธนาพระสัทธัมมะจักกะสามีมายังล้านนา เพื่อชำระพระศาสนา ใน The Pali literature of Burma ระบุว่า ในช่วงเวลานี้ ล้านนาปรากฏพระเถระผู้รจนาปกรณ์ต่างๆ เพียงไม่กี่ท่าน แสดงให้เห็นว่า ยุครุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในดินแดนนี้เริ่มเสื่อมถอยลงแล้ว กระทั่งพระคาถาอุปปาตะสันติก็ยังไม่ทราบนามผู้แต่ง[7]
ตามการกล่าวอ้างของ Bode นั้น คาดว่าอิงกับหลักฐานทางพม่าเป็นหลัก ซึ่งหากพระคาถาอุปปาตะสันติรจนาขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนองจริง คาดว่าน่าจะมีช่วงเวลารจนาอยู่ที่ระหว่าง พ.ศ. 2094 - พ.ศ. 2124 ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าบุเรงนองทรงครองราชย์ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าวันเวลาที่การกล่าวอ้างในงานของ Bode อาจมิได้หมายถึงการรจนา แต่เป็นช่วงที่พระคาถาแพร่หลายเข้าสู่พม่า
ทั้งนี้ คัมภีร์ศาสนวงศ์ ซึ่งรจนาโดยพระปัญญาสามี พระเถระชาวพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2404 กล่าวถึงพระคาถาอุปปาตะสันติ ไว้ว่า ‘‘อุปฺปาตสนฺตึอญฺญตโร เถโร. ตํ กิร อุปฺปาตสนฺตึ สชฺฌายิตฺวา จีนรญฺโญ เสนํ อชินีติ’’ (พระเถระไม่ปรากฏชื่อองค์หนึ่งทำปกรณ์ชื่ออุปปาตสันติ นัยว่าสวดอุปปาตสันตินั้นแล้ว ชนะพวกทหารจีน)[8] แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในพม่าซึ่งพระคาถานี้เป็นที่นิยมสวดสาธยาย ก็ยังไม่ทราบนามผู้แต่ง แต่อย่างน้อยยังระบุชัดว่า พระคาถานี้รจนาขึ้นในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งล้านนา เพื่อป้องกันภัยรุกรานจากพวกจีนฮ่อ ซึ่งเป็นข้อมูบลที่ปรากฏในในคำนำพระคาถาในภาษาพม่าฉบับของโรงพิมพ์ภอนวาจา
เนื้อหา
[แก้]คัมภีร์นี้เป็นบทสวดสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งสรรเสริญพระคุณของผู้ทรงคุณทรงฤทธิ์และทรงอำนาจต่างๆ ทำให้เกิดอานุภาพที่เชื่อกันว่าสามารถขจัดปัดเป่าเภทภัยด้านร้ายทั้งปวงให้กลายเป็นดีได้ด้วยอานุภาพของมนต์บทนี้ ที่อ้างคุณของพระไตรรัตน์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บ้านเมืองและสังคมจะมีแต่ความสงบสุข ปราศจากโรคภัยเหตุร้ายทั้งปวง ให้คุณทั้งผู้สวดและผู้ฟังโดยถ้วนทั่ว ทั้งนี้ บุคคลและสภาวะที่อ้างถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติมี 13 ประเภทคือ
- พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตถึงปัจจุบัน(เน้นที่ 28 พระองค์)
- พระปัจเจกพุทธเจ้า
- พระพุทธเจ้าในอนาคต 1 พระองค์คือพระเมตไตรย
- โลกุตตรธรรม 9 และพระปริยัติธรรม 1
- พระสังฆรัตนะ
- พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 108 รูป
- พระเถรีชั้นผู้ใหญ่ 13 รูป
- พญานาค
- เปรตบางพวก
- อสูร
- เทวดา
- พรหม
- บุคคลประเภทรวม เช่น เทวดา ยักษ์ ปีศาจ คือผีที่ทำสิ่งใด ๆ อย่างโลดโผน และวิชชาธรหรือพิทยาธร (สันสกฤตเรียกวิทยาธร) ภาษาอังกฤษเรียกว่าพวกเซอเร่อหรือพ่อมด แม่มด หรือผู้วิเศษ พวกวิชชาธร เป็นพวกรอบรู้เรื่องเครื่องรางและทำเสน่ห์ต่างๆ ไปทางอากาศได้[9]
อานิสงส์ของการสวด
[แก้]พระธรรมคุณาภรณ์ ผู้ชำระคัมภีร์พระคาถานี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทยเมื่อปี พ.ศ. 2500 กล่าวถึงอานิสงส์ของการสวดสาธยายพระคาถาอุปปาตะสันติ ไว้ว่าจะช่วยเทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ดังที่กล่าวถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติ ที่สำคัญ 3 ประการคือ
- สันติหรือมหาสันติ ความสงบความราบรื่นความเยือกเย็นความไม่มีคลื่น
- โสตถิ ความสวัสดีความปลอดภัยความเป็นอยู่เรียบร้อยหรือตู้นิรภัย
- อาโรคยะ ความไม่มีสิ่งเป็นเชื้อโรคความไม่มีโรคหรือความมีสุขภาพสมบูรณ์
คัมภีร์อุปปาตะสันติมีข้อความขอความช่วยเหลือ โดยขอให้พระรัตนตรัยและบุคคลพร้อมทั้งสิ่งทรงอิทธิพลในจักรวาลรวม ๑๓ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้ว ช่วยสร้างสันติหรือมหาสันติ ช่วยสร้างโสตถิ และอาโรคยะ ช่วยปรุงแต่งสันติและอาโรคยะ ขอให้ช่วยรวมสันติ รวมโสตถิและรวมอาโรคยะ และขอให้ช่วยเป็นเกราะคุ้มครอง และกำจัดเหตุร้ายอันตรายหรือสิ่งกระทบกระเทือนต่างๆ อย่าให้เกิดมีในตน ในครอบครัว ในหมู่คณะ หรือในวงงานของตน และในวงงานของคนอื่นทั่วไป ซึ่งอานิสงส์การสวดและการฟังอุปปาตะสันติ ดังที่ปรากฏในท้ายคัมภีร์ ยังมีดังต่อไปนี้อีกว่า
- ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมชนะเหตุร้ายทั้งปวงได้ และมีวุฒิภาวะคือ ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
- ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติย่อมได้ประโยชน์ที่ตนต้องการ คือผู้ประสงค์ความปลอดภัยย่อมได้ความปลอดภัย คนอยากสบายย่อมได้ความสุข คนอยากมีอายุยืนย่อมได้อายุยืน คนอยากมีลูกย่อมได้ลูกสมประสงค์ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติ ย่อมไม่มีโรคลมเป็นต้นมาเบียดเบียน ไม่มีอกาละมรณะคือตายก่อนอายุขัย ทุนนิมิตรคือลางร้ายต่างๆมลายหายไป ผู้สวดหรือผู้ฟังอุปปาตะสันติเมื่อเข้าสนามรบย่อมชนะข้าศึกและแคล้วคลาดจากอาวุธทั้งปวง
นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึง เดช ของการสวดสาธยายพระคาถาอุปปาตะสันติเป็นประจำไว้ว่า
- อุปปาตะคือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากแผ่นดินไหวเป็นต้น ย่อมพินาศไป (ปะถะพะยาปาทิสัญชาตา)
- อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากลูกไฟที่ตกจากอากาศหรือสะเก็ดดาว ย่อมพินาศไป (อุปปาตะจันตะลิกขะชา)
- อุปปาตะ คือ คือเหตุร้ายหรือสิ่งกระทบกระเทือน อันเกิดจากการเกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เป็นต้น ย่อมพินาศไป (อินทาทิชะนิตุปปาตา)[10]
ประวัติการสวดสาธยาย
[แก้]จุดประสงค์ของการสวดสาธยายพระคาถาอุปปาตะสันติมีอยู่หลากหลาย ตามข้อมูลของพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ.9) ระบุว่าสมัยที่ท่านพระมหามังคละสีลวังสะแต่งอุปปาตะสันตินั้น ที่เชียงใหม่มีโจรผู้ร้ายและคนอันธพาลชุกชุมผิดปกติ มีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ พระมหาเถระสีละวังสะจึงให้พระสงฆ์สามเณร และประชาชนพากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ เพื่อสงบเหตุร้ายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง[11]
ขณะที่ข้อมูลของพระคันธสาราภิวงศ์ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 1949 เมื่อกองทัพจีนยกพลมารุกรานเมืองเชียงใหม่ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน พระสีลวังสมหาเถระผู้เป็นพระอรหันต์ได้แต่งคัมภีร์อุปปาตสันติ มีจารึกอยู่ในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปเล็กใหญ่ในทิศเฉียงทั้ง 3 ทิศ คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีความหมายเป็นอายุ ทิศตะวันออกเฉียงใต้มีความหมายเป็นเตชะ และทิศตะวันตกเฉียงใต้มีความหมายเป็นสิริ มีการประดิษฐานพระพุทธปฏิมาในท่ามกลางมณฑปใหญ่ และมีรูปหล่อของพระอินทร์อยู่หน้าพระพุทธรูป มีรูปหล่อของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ในมณฑปเล็ก 4 แห่ง พระสงฆ์ได้สาธยายรัตนสูตร เมตตสูตร อาฏานาฏิยสูตร และอุปปาตสันติ โดยเริ่มตั้งแต่สถานที่ซึ่งสมมุติทิศว่าเป็นอายุ เมื่อสาธยายพระปริตรและอุปปาตสันติเช่นนี้ภายในเวลาสองสามวัน ภัยพิบัติอันใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นในกองทัพจีน ทำให้กองทัพระส่ำระสายและถอยทัพไปในที่สุด[12]
พระธัมมานันทมหาเถระอดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ยังกล่าวถึงการใช้พระคาถานี้ในประเทศพม่าว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าตาลวนที่เสด็จเถลิงราชสมบัติในปี พ.ศ. 2173 และรัชสมัยของพระเจ้าวัมแบอินสัน ได้เกิดกบฏในพระราชวัง มีการสู้รบระหว่างกบฏกับทหาร ฝ่ายกบฏปราชัยถูกฆ่าตาย ต่อมาผีของพวกกบฏได้อาละวาด โดยแสดงรูปร่างให้เห็น ดึงผ้าห่มของคนที่นอนหลับอยู่ ดึงปิ่นผมของนางสนม บางคราวก็หัวเราะ แล้วขว้างปาดอกไม้หรือผลไม้เข้าไปในพระราชวัง บางทีก็หลอกหลอนให้ตกใจ ทำให้คนในพระราชวังเดือดร้อน บางคนจับไข้ไม่สบาย คราวนั้นพระธัมมนันทะ (ชาวพม่าเรียกว่า งะยะแนนัตแสกยองสะยาด่อ) ได้ทำพิธีสาธยายมนต์พระปริตรเพื่อระงับเหตุร้ายเหล่านั้นในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2217 พงศาวดารพม่ากล่าวว่าคัมภีร์อุปปาตสันติก็ได้รับการสาธยายร่วมกับพระปริตรอื่น ๆ ในครั้งนั้น และจากการสาธยายมนต์พระปริตรนี้ ผีร้ายที่หลอกหลอนอยู่ในพระราชวังก็สาบสูญไปหมด ชาววังต่างได้รับความสุขถ้วนหน้าแต่นั้นมา[13]
ครั้นต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าภะจีด่อกับพระเจ้าตายาวดี ใน พ.ศ. 2380 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นภายในประเทศ พระอาจารย์พุธ (ชาวพม่าเรียกว่า ยองกันสะยาด่อ) แปลอุปปาตสันติให้พระสงฆ์กับชาวเมืองร่วมกันสาธยาย ความไม่สงบภายในประเทศก็อันตรธานไป และต่อมาใน พ.ศ. 2452 พระอาจารย์แลดีสะยาด่อ วัดอ่องลังไตยอดเขาไจ้ตันลัน ณ จังหวัดเมาะลำเลิง ท่านได้ปรึกษากับพระอาจารย์ยะตะนาโภงมยิน แล้วแต่งคัมภีร์โรคันตรทีปนี เป็นแนวทางการสาธยายเพื่อระงับอหิวาตกโรคที่ระบาดอยู่ในขณะนั้น ท่านระบุว่าการสาธยายมหาสมัยสูตรและอุปปาตสันติ จะอำนวยผลให้พ้นจากอุปสรรคอันตรายทุกอย่างได้[14]
การแพร่หลาย
[แก้]คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์แต่งขึ้นในอาณาจักรล้านนา แต่ได้เสื่อมความนิยมไปหลังจากอาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าจนแทบไม่มีใครรู้จัก อย่างไรก็ตามมีหลักฐานคัมภีร์พระคาถาอุปปาตะสันติ ฉบับหนึ่งในล้านนาซึ่งเขียนไว้ในสมุดข่อย หมึกจีน อาบน้ำชาด ในบานแผนกระบุว่า
‘‘ในปีจุลศักราช 1279 ปีดับไก๊ เดือน 8 เหนือ เพ็ญ วันศุกร์ ปีกุน สัปตศก พ.ศ. 2478 เจ้าภาพเขียนต้นฉบับนี้ คือ นายน้อยปิง มารวิชัย บ้านประตูท่าแพเป็นประธานพร้อมทั้งภริยาลูกและญาติทุกคน ได้จ้างคนเขียนธรรม 5 ผูก คือ มลชัย 1 ผูก,อินทนิล 1 ผูก, สังยมาปริตตคลสูตร 1 ผูก, นัครฐาน 1 ผูก และอุปปาตสันติ 1 ผูก พร้อมทั้งสร้างบ่อน้ำถวาย พระครูบาศรีวิชัย (ปฏิคาหก) ทานวัดศรีโสดา และถนนขึ้นดอยสุเทพ ขอกุศลบุญเยี่ยงนี้ จงเป็นปัจจัยค้ำชูตัวแห่งผู้ข้า ฯ (นายน้อยปิง) ทั้งหลายทุกคนตราบถึงนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ ฯ’’[15]
กระนั้นก็ตาม แม้จะนิยมน้อยลงไปในล้านนา แต่กลับได้รับความนิยมสาธยายในประเทศพม่า ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ภอนวาจา ย่างกุ้ง พ.ศ. 2488 มีทั้งฉบับบาลีและฉบับนิสสัย (ฉบับแปลคำต่อคำ) ของพระชัมพุทีปธชะซึ่งแปลจบในวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2379 ต่อมากระทรวงมหาดไทยและการศาสนาของพม่าได้จัดพิมพ์บทสวดมนต์ฉบับหลวงที่เรียกว่า สิริมังคลาปริตตอ (พระปริตรเพื่อสิริมงคล) ใน พ.ศ. 2500 นับว่าเป็นเวลานานที่คนไทยไม่รู้จักคัมภีร์นี้ จนกระทั่งพระเทพเมธาจารย์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็น พระธรรมคุณาภรณ์) ได้ชำระและจัดพิมพ์เป็นฉบับบาลีอักษรไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505 โดยได้รับต้นฉบับบาลีอักษรพม่าจากพระธัมมานันทมหาเถระ ธรรมาจริยะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอในปัจจุบัน ที่นำต้นฉบับมาจากประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ. 2503[16]
คัมภีร์นี้มีฉบับแปลหลายฉบับ เท่าที่ทราบมี 4 ฉบับ คือ
- ฉบับจิตตภาวัน พระมหาประเทือง สํฆสิริ (ป.ธ.8) แปลไว้ใน พ.ศ. 2522 จัดพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งโดยจิตตภาวันวิทยาลัยและวัดท่ามะโอ
- ฉบับวัดท่ามะโอ ผศ.มยุรี เจริญ นำฉบับของพระมหาประเทืองมาขัดเกลาสำนวนใหม่จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2544 เนื่องในงานทำบุญฉลองมงคลอายุ 81 ปีของพระธัมมานันทมหาเถระ อัครมหา-บัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
- ฉบับอาจารย์สุรีย์ มีผลกิจ จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2539 โดยนำฉบับของพระมหาประเทืองมาขัดเกลาสำนวนใหม่เช่นกัน
- ฉบับ ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2539 ฉบับนี้มีคำแปลไพเราะสละสลวย มีเชิงอรรถอธิบายข้อความบางแห่งไว้ท้ายเล่ม และจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2544โดยวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ แต่มิได้จัดพิมพ์เชิงอรรถไว้
- ฉบับพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง แปลเมื่อปี 2552 ในชื่อ บทสวดอุปปาตสันติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 5
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 5
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 6
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 6
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 6
- ↑ รศ. สมหมาย เปรมจิตต์. (2545). หน้า 5
- ↑ Bode, Mabel Haynes. (1909) หน้า 47
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 7
- ↑ พระธรรมคุณาภรณ์
- ↑ พระธรรมคุณาภรณ์
- ↑ พระธรรมคุณาภรณ์
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 11 - 12
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 13
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 14
- ↑ พระธรรมคุณาภรณ์
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (2552) หน้า 6
บรรณานุกรม
[แก้]- พระคันธสาราภิวงศ์ (2552). "บทสวดอุปปาตสันติ." ลำปาง : วัดท่ามะโอ
- Bode, Mabel Haynes. (1909). "The Pali literature of Burma." London : Royal Asiatic society.
- รศ. สมหมาย เปรมจิตต์. (2545). เอกสาร ประกอบการเสวนาเรื่อง "วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาล้านนา" ในการจัดประชุม สัมมนาทางวิชาการเรื่อง "พระพุทธศาสนาในล้านนา" โดยคณะศาสนาและ ปรัชญา ระหว่างวันที่ 20 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคารไทยพาณิชย์ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
- พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ.9) อ้างโดย ภฏ ภูปรเศรษฐ์ นักวิชาการศาสนาชำนาญการ (ป.ธ.7). เอกสารเรื่อง "การสวดอุปปาตะสันติมหาสันติงหลวง"