ข้ามไปเนื้อหา

กัป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กัลป์)

กัป หรือ กัลป์ (สันสกฤต: कल्प กลฺป) หมายถึง ช่วงระยะเวลาอันยาวนานของโลก จนไม่สามารถกำหนดเป็นวัน เดือน หรือปีได้[1] พบในหลายศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ลัทธิอนุตตรธรรม

ศาสนาพุทธ

[แก้]

ประเภทของกัปในฎีกามาเลยยสูตร

[แก้]

ฎีกามาเลยยสูตรแบ่งกัปไว้ 4 แบบคือ

  1. อายุกัป คือ กำหนดอายุสัตว์ เกิดมามีอายุเท่าไร เมื่ออายุสิ้นสุดลง เรียก 1 กัป (ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี)
  2. อันตรกัป คือ กำหนดอายุมนุษย์ ระยะเวลาที่อายุขัยของมนุษย์ลดลงจากอสงไขยปีจนถึง 10 ปี แล้วเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีกลับมาที่อสงไขยปี (อสงไขยปี หมายถึง เวลาอันยาวนานจนนับประมาณอายุไม่ได้)
  3. อสงไขยกัป = 64 อันตรกัป
  4. มหากัป (คำว่า "มหากัป" มักถูกเรียกสั้น ๆ ว่า "กัป" = 4 อสงไขยกัป = 256 อันตรกัป) กาลเวลา"มหากัป" หนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า โลกธาตุ (จักรวาล) อุบัติขึ้นมา จนกระทั่งโลกธาตุนั้นดับไป

วิธีนับกัป

[แก้]

วิธีนับกัป กำหนดกาลว่านาน "มหากัป" หนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า โลกธาตุ (จักรวาล) อุบัติขึ้นมา จนกระทั่งโลกธาตุนั้นดับไป

ช่วงเวลาในกัป

[แก้]

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับช่วงเวลาใน 1มหากัป = 4 อสงไขยกัป ไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป 4 ประการนี้ อสงไขยกัป 4 ประการมีอะไรบ้าง คือ

  1. ในเวลาที่สังวัฏฏกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
  2. ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่าจำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
  3. ในเวลาที่วิวัฏฏกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี
  4. ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่าจำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้ 100 ปี จำนวนเท่านี้ 1,000 ปี หรือจำนวนเท่านี้ 100,000 ปี

ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป 4 ประการนี้แล[2]

— กัปปสูตร

(4 อสงไขยกัป - สังวัฏฏกัป, สังวัฏฏฐายีกัป, วิวัฏฏกัป, วิวัฏฏฐายีกัป)

สรุปใจความก็คือ มหากัปนึงแบ่งเป็น 4 ช่วง แต่ละช่วงยาวนานมากยากจะนับได้ (อสงไขยกัปในที่นี้หมายถึง มากมาย หรือ นับไม่ถ้วน (infinity))

การแบ่งกัปตามจำนวนการอุบัติของพระพุทธเจ้า

[แก้]

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. สุญญกัป คือ กัปที่ปราศจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ[1]
  2. อสุญญกัป คือ กัปที่ไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ แบ่งเป็น 5 ประเภทย่อยคือ
    1. สารกัป คือกัปที่เป็นแก่นสาร มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 1 พระองค์
    2. มัณฑกัป คือ กัปที่ผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 2 พระองค์
    3. วรกัป คือ กัปที่ประเสริฐ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 3 พระองค์ (ในที่อื่น ว่า 4 พระองค์)[3]
    4. สารมัณฑกัป คือกัปที่เป็นแก่นสารและผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์ (ฉบับ มมร. ว่า 3 พระองค์)[4]
    5. ภัทรกัป คือกัปที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์. (กัปปัจจุบันเป็นภัทรกัปมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และว่าที่พระเมตไตรยพุทธเจ้า รวมเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์)

การประมาณความยาวนานของกัป

[แก้]

พระพุทธเจ้าได้ตรัสประมาณเกี่ยวกับความยาวนานของกัปไว้ดังนี้

1. ปัพพตสูตร (สังยุตตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 128 หน้า 219-220 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีลูบภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาศิลาลูกใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ภิกษุ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง[5]

— ปัพพตสูตร

2. สาสปสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 129 หน้า 220-221 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนนครที่สร้างด้วยเหล็กมีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดผักกาด รวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเมล็ดผักกาดออกจากนครนั้น 100 ปีต่อ 1 เมล็ด เมล็ดผักกาดกองใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้นจาก สังขารทั้งปวง[6]

— สาสปสูตร

จำนวนกัปที่ผ่านมาแล้ว

[แก้]

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าที่ผ่านมาในอดีตมีกัปที่ล่วงไปแล้วมากมายนับไม่ถ้วนดังนี้

1. สาวกสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 130 หน้า 221 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุกลุ่มหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงอุปมาจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้ว พะองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสาวก 4 รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ 100 ปี มีชีวิตอยู่ 100 ปี หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ 100,000 กัป กัปที่เธอเหล่านั้นระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่ ต่อมาสาวก 4 รูป มีอายุ 100 ปี มีชีวิตอยู่ 100 ปี พึงมรณภาพไปทุก 100 ปี กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ 100 กัป เท่านี้ 1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น[7]

— สาวกสูตร

2. คังคาสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 131 หน้า 222 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) มีพราหมณ์คนหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงอุปมาจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้ว พระองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ พราหมณ์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคานี้เริ่มต้นจากที่ใด และถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระหว่างนี้ง่ายที่จะนับได้ว่า เท่านี้เม็ด เท่านี้ 100 เม็ด เท่านี้ 1,000 เม็ด หรือว่าเท่านี้ 100,000 เม็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ 100 กัป เท่านี้ 1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย ไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไปสัตว์เหล่านั้นก็เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศเต็มป่าช้าเป็นเวลายาวนาน พราหมณ์ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง[8]

— คังคาสูตร

ศาสนาฮินดู

[แก้]

ตามคติในศาสนาฮินดู เชื่อว่าพระพรหมทรงสร้างโลกเสร็จแล้วจะบรรทมไป 1 คืน ซึ่งยาวนานเท่ากับ 1 กัลป์ แต่ละกัลป์นาน 4,320 ล้านปี และแต่ละกัลป์แบ่งออกเป็น 14 มันวันดร แต่ละมันวันดรนาน 306,720,000 ปี[9] และแบ่งออกเป็น 71 ยุค

เมื่อครบ 1 กัลป์ โลกจะถึงอวสานพอดี พระพรหมจะตื่นบรรทม แล้วทรงใช้เวลา 1 วันของพระองค์ ซึ่งเท่ากับ 1 กัลป์ เพื่อสร้างโลกขึ้นใหม่ ดังนั้น 30 วันคืนพระพรหม หรือนับเป็น 1 เดือนพระพรหม จะเท่ากับประมาณ 259,200 ล้านปี

ลัทธิอนุตตรธรรม

[แก้]

ลัทธิอนุตตรธรรมถือว่าระยะเวลาตั้งแต่ฟ้าดินก่อกำเนิดขึ้นสำเร็จเป็นสรรพสิ่ง แล้วกลับเสื่อมสลายจบสิ้นดินฟ้าเรียกว่า 1 กัป หรือ 1 อุบัติกาล (จีน: เอวี๋ยน) ซึ่งยาวนาน 129,600 ปี[10] แต่ละอุบัติกาลแบ่งเป็น 12 บรรจบกาล (จีน: ฮุ่ย) โดยแต่ละบรรจบกาลนาน 10,800 ปี และมีชื่อตาม 12 ปีนักษัตร[11]

ยุคปัจจุบันอยู่ในช่วงบรรจบกาลมะแม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 และเป็นจุดเริ่มต้นธรรมกาลยุคขาวของพระศรีอริยเมตไตรย ยุคนี้จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น 81 ครั้ง และมีวิถีอนุตตรธรรมลงมาพร้อมกันเพื่อฉุดช่วยสรรพสัตว์กลับสู่แดนนิพพาน[11]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552. 734 หน้า. หน้า 287-90. ISBN 978-616-7073-03-3
  2. กัปปสูตร, พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๔.จตุตถปัณณาสก์] ๑.อินทริยวรรค
  3. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค ๘. โลมสติยเถราปทาน
  4. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ - หน้าที่ 401
  5. ปัพพตสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๕.
  6. สาสปสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
  7. สาวกสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
  8. คังคาสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๔. อนมตัคคสังยุต] ๑. ปฐมวรรค
  9. Manu[ลิงก์เสีย], สารานุกรมบริแทนนิกา
  10. พุทธระเบียบพิธีการอนุตตรธรรม, ปกหลัง
  11. 11.0 11.1 สายทอง, หน้า 33-34
บรรณานุกรม
  • ประภาส สุระเสน. พระคัมภีร์อนาคตวงศ์. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540. ISBN 974-580-742-7
  • พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร), ภูมิวิลาสินี, หน้า 453-456
  • พุทธระเบียบพิธีการอนุตตรธรรม, นครปฐม : เทิดคุณธรรม, ม.ป.ป.
  • ศุภนิมิต (นามแฝง), สายทอง (พงศาธรรม 1), กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.