ข้ามไปเนื้อหา

คัมภีร์ทางศาสนาพุทธในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คัมภีร์ทางพุทธศาสนาในประเทศไทย

[แก้]

คัมภีร์ทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ครอบคลุมถึงพระไตรปิฎก รวมคัมภีร์ที่อธิบายพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็น อรรถกา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์วิเศษต่างๆ ที่รจนาด้วยภาษาบาลีขึ้นในแผ่นดินไทยในสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคแรกที่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาถึงแผ่นดินสุวรรณภูมิ

ประวัติ

[แก้]

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 300 - 1300

[แก้]

ตามที่ปรากฏในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา และคัมภีร์ต่างๆ ระบุว่า พุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาถึงแผ่นดิสุวรรณภูมิเมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 300 ทรงอาราธนาให้พระโสณะและพระอุตตระ เป็นพระธรรมทูตเดินทางมาประกาศพระศาสนายังแผ่นดินแห่งนี้ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานที่ตั้งอันแท้จริงของสุวรรณภูมิ แต่โดยสรุปแล้วภูมิภาคดังกล่าวควรมีอาณาบริเวณครอบคลุมตั้งตั้งแต่ชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะจนถึงอ่าวไทย อันเป็นอาณาเขตของอารยะธรรมทวาราวดี หรือภาคกลางของไทยในปัจจุบัน

สมันตัปปาสาทิกา หรือ สมันตปาสาทิกา คัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายขยายความพระวินัยปิฎก รจนาโดยพระพุทธโฆสะ เมื่อ พ.ศ. 1000 มีเนื้อความระบุไว้ว่า

สุวณฺณภูมึ คนฺตฺวาน โสณุตฺตรา มหิทฺธิกา

ปิสาเจ นิทฺธมิตฺวาน พฺรหฺมชาลํ อเทสิสุนฺติ ฯ

แปลว่า

พระโสณะและพระอุตตระ ผู้มีฤทธิ์มาก ไปสู่สุวรรณภูมิ

ปราบปรามพวกปีศาจแล้ว ได้แสดงพรหมชาลสูตร


ตามคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อธิบายเพิ่มเติมว่า พระโสณะและพระอุตตระได้แสดงอภินิหาริย์ปราบนางผีเสื้อน้ำและทรงแสดงธรรมพรหมชาลสูตร (สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ ประกอบด้วย ศีลน้อย ศีลกลาง และศีลใหญ่) นั่นคือการประพฤติตนอยู่ในสรณะและศีล มีคนทั้งหลายในสุวรรณภูมิประเทศนี้ได้บรรลุธรรมประมาณ 60,000 คน กุลบุตรออกบวชประมาณ 3,500 คน [1]

เนื้อความจากสมันตปาสาทิกาแสดงให้เห็นว่า ในชั้นแรก หรือช่วงพุทธศตวรรษที่ 300 นั้น คัมภีร์ทางพุทธศาสนาเข้าถึงแผ่นดินสุวรรณภูมิ ในรูปของการถ่ายทอดเชิงมุขปาฐะ ซึ่งเป็นลักษณะของการสืบทอดพระธรรมวินัยในยุคแรก ตราบจนกระทั่งการสังคายนาครั้งที่ 5 จึงมีการจารึกพระธรรมวินัยในเอกสาร คือใบลาน นับแต่นั้นมา

แผ่นดินสุวรรณภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่ 300 - 1800 แบ่งแยกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังนับถือพุทธศาสนาต่างนิกายกัน ทั้งสายอาจาริยาวาท และสายเถรวาท ดังนั้นคัมภีร์พุทธศาสนาในแพร่กลายในดินแดนนี้จึงมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่หลงเหลือถึงปัจจุบันเกี่ยวกับพุทธศาสนาในยุคนั้นมีอยู่กระท่อนกระแท่น

กระนั้นก็ตาม สันนิษฐานจากความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของอาณาจักรสุธรรมวดี หรือ สะเทิม (Thaton Kingdom) ของชาวมอญทางตอนล่างของพม่า ซึ่งเป็นชนชาติเดียวกับผู้สถาปนาอาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรหริภุญชัย ในภาคกลางของไทย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทรุ่งเรืองมากในทางตอนกลางและตอนเหนือของไทย [2]

ทั้งนี้ คาดว่า คงมีการศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนาในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากคัมภีร์ทางศาสนาเป็นสมบัติของหลวง และมักไม่มอบให้แต่ละรัฐโดยง่าย ดังจะเห็นได้จากกรณีที่พระเจ้ามนูหะ แห่งอาณาจักรอาณาจักรสะเทิม ทรงไม่ยินยอมมอบพระไตรปิฎกฉบับจำลองให้กับพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งอาณาจักพุกามตามคำร้องขอ จนนำไปสู่สงคราม และการสิ้นสุดของอาณาจักรอาณาจักรสะเทิมด้วยน้ำมืออาณาจักพุกามในปีพ.ศ 514 [3]

ช่วงพุธศตวรรษที่ 1300 - 1800

[แก้]

หลังฐานการเผยแผ่คัมภีร์ทางพุทธศานาในแผ่นดินไทยเริ่มมีความชัดเจนอีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ดังปรากฏว่า พระนางจามเทวีเดินทางมาจากละโว้เมื่อปี พ.ศ. 1205 มาครองเมืองหริภุญไชย พระนางได้นำพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏกจำนวน 500 รูปติดตามมาด้วย จนทำให้พุทธศาสนาแบบเถรวาทเผยแพร่ในอาณาจักรนี้ [4]

นอกจากนี้ ในตำนานจามเทวีวงศ์บันทึกไว้ว่า เมื่อพระนางจามเทวีทรงครองราชสมบัติแล้ว ทรงสร้างพระอาราม 5 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ อาพัทธาราม ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเมืองหริภุญไชย สำหรับถวายแด่พระภิกษุที่เดินทางมาจากสีหลประเทศ หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน จึงคาดว่า ในเวลานั้นน่าจะมีการเผยแพร่พระคัมภีร์จากสิงหลมาถึงตอนเหนือของไทยในปัจจุบันแล้ว [5]

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 – 18 ลงมาแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาหรือรจนาพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ ทราบแต่เพียงข้อมูลจากศิลาจารึกบางหลัก ที่บันทึกข้อความจากคัมภีร์ภาษบาลีที่สำคัญบางฉบับ อาทิเช่น จารึกเนินสระบัว พบที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อหาในจารึกระบุมหาศักราช 683 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1304 ปรากฏคาถาพระบาลีสามบทในจารึกเป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยตรงกับ เตลกฏาหคาถา หรือ คาถากระทะน้ำมัน ซึ่งแต่งขึ้นที่ลังกา สันนิษฐานว่าราวช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 5 โดยไม่ปรากฏผู้แต่งแต่อย่างใด [6]


ช่วงพุธศตวรรษที่ 1900 - 2100

[แก้]

ข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแผ่พระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในไทยเริ่มมีความชัดเจนอีกครั้ง หลังพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยเมื่อราว พ.ศ. 1800 พวกพระภิกษุไทยซึ่งได้ไปบวชปลง ณ เมืองลังกากลับมาตั้งคณะที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมากษัตริย์ในอาณาจักรสุโขทัยทรงเลื่อมใสโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ลังกาวงศ์มาประกาศพระศาสนายังตอนเหนือของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การมาถึงของคณะสงฆ์ลังกาในแผ่นดินไทยมิใช่ครั้งแรก เพราะเคยมีการติดต่อกันสมัยหริภุญไชย และทวราวดี แต่การมาครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดของคณะนิกายอื่นๆ ที่เคยแพร่หลายในดินแดนนี้ ดังจะเห็นได้ว่า พระสงฆ์นิกายในแถบนี้อาจสังวัธยายพระธรรมเป็นภาษาสันสกฤต แต่พวกนิกายลังกาวงศ์สังวัธยายเป็นภาษามคธ จึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้น กว่าจะเป็นเอกภาพได้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการใช้ภาษาสันสกฤต ทำให้คาดว่า คณะสงฆ์เดิมในแถบนี้อาจมีทั้งฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาทที่ใช้ภาษาสันสกฤต คือนิกายมูลสรวาสติวาท ดังที่ปรากฏในหลักฐานบันทึกการเดินทางของพระอี้จิง พระเถระชาวจีนที่เดินทางมาพำนักศึกษาภาษาสันสกฤตและพระธรรมในแว่นแคว้นทางตอนใต้ของไทย (หรือแถบมลายู) ก่อนเดินทางไปศึกษาพระธรรมในประเทศอินเดียเมื่อศตวรรษที่ 6

ขณะเดียวกัน ในภาคเหนือของไทย หลังจากที่พญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ทรงผนวกอาณาจักรหริภุญชัยในปีพ.ศ. 1839 ได้ทรงรับพุทธศาสนาเถรวาทเข้าไว้ในเวลาเดียวกัน ต่อจากนั้นพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเฟื่องฟูอย่างยิ่งในดินแดนล้านนา โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพญากือนา ที่ทรงนิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยมาประกาศพระศาสนาในล้านนาเมื่อพ.ศ. 1912 ต่อมาในสมัยพญาสามฝั่งแกน พระสงฆ์ชาวล้านนาหลายรูปได้เดินทางไปศึกษาที่ลังกาในราวพ.ศ. 1967 และได้นิมนต์พระเถระชาวลังกามาส่งเสริมนิกายเถรวาทสายลังกาวงศ์จนรุ่งเรือง [7]

การเผยแพร่พระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในล้านนา และในไทยถึงจุดเฟื่องฟูที่สุดในรัชสมัยของพญาติโลกราช โดยในพ.ศ. 2020 ได้ทรงจัดสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ณ จัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด ประกอบกับช่วงเวลานั้นมีพระเถระที่เชี่ยวชาญวรรณคดีทางศาสนามากมาย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จนถึงรัชสมัยพญาแก้ว หรือพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2039 - 2069) การเผยแผ่พระศาสนาผ่านการรจนาคัมภีร์ยังรุ่งเรืองยิ่งนัก มีพระเถระมากมายที่รจนาพระคัมภีร์ต่างๆ ที่ไม่เพียงยังใช้กันในระดับเปรียญธรรมทุกวันนี้เท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับในวงการภาษาบาลีทั่วโลกอีกด้วย [8]

ช่วงพุธศตวรรษที่ 2100 -

[แก้]

อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในพ.ศ. 2101 แต่การรจนาพระคัมภีร์ยังคงมีต่อไปตราบจนกระทั่งหลังพุทธศตวรรษที่ 2200 ลงมา เกิดความไม่สงบในล้านนาบ่อยครั้ง จนทำให้ขาดผู้อุปถัมภ์พระศาสนา และขาดพระเถระผู้ทรงภูมิ ทำการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีขาดช่วง แต่ยังคงมีการแต่งวรรณคดีทางพุทธศาสนาเรื่อยมาในภาษาท้องถิ่น อีกทั้งล้านนายังได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากพม่า ที่มีความนิยมรจนาพระคัมภีร์อยู่แล้ว ทำให้ศาสนาพุทธมิได้ซบเซา เพียงแต่ขาดผู้มีความรู้ที่จะรจนา หรือประพันธ์วรรณกรรมภาษาบาลี

ทางภาคกลางของไทยอาณาจักรสุโขทัยมีการรจนาพระคัมภีร์บาลีไม่มากนัก ปัจจุบันพบเพียงคัมภีร์เดียวคือรัตนพิมพวงศ์ แต่งขึ้นในจ.ศ. 791 หรือ พ.ศ. 1972 หลังจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาษาบาลีน้อยมากเช่นกัน ทำให้พบวรรณคดีประเภทนี้เพียงไม่กี่เรื่อง [9]

จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งนับเป็นการรวบรวมวรรณคดีบาลีครั้งสำคัญ และมีการแต่งพระคัมภีร์เพิ่มเติมจำนวนมากโดยพระเถระชาวสยามในครั้งนั้น ตราบจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลี เนื่องจากทรงเคยผนวชเป็นเวลานาน กอปรกับได้มีการติดต่อกับชาติตะวันตกที่เข้ายึดครองอาณานิคมในอินเดีย ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลี ทำให้การศึกษาและการรจนาผลงานทางพุทธศาสนาในภาษาบาลีเฟื่องฟูอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน


รายชื่อคัมภีร์ภาษาบาลีที่แต่งขึ้นในประเทศไทย

[แก้]
  1. รัตนพิมพวงศ์ หรือ รตนพิมฺพวํส รจนาโดยพระพรหมราชปัญญา แห่งวัดภูเขาหลวง เมืองสุโขทัย เมื่อพ.ศ. 1972
  2. จามเทวีวงศ์ รจนาโดยพระโพธิรังสี เมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 1950-2000
  3. สิหิงคนิทาน รจนาโดยพระโพธิรังสี เมื่อพ.ศ. 1954-2000
  4. ปัญญาสชาดก รจนาโดยพระภิกษุชาวเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2000-2200
  5. ปทักกมโยชน-สัททัตถเภทจินดา พระธรรมเสนาบดีเถระ ชาวเชียงแสน พ.ศ. 2020-2045
  6. สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา พระญาณกิตติเถระ แห่งวัดปรสาราม (วัดสวนขนุน) ชาวเมืองเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  7. ภิกขุปาฏิโมกขคัณฐิทีปนี รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  8. สีมาสังกรวินิจฉัย รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  9. อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  10. สัมโมหวิโนทนอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  11. ธาตุกถาอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  12. ปุคคลบัญญัติอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  13. กถาวัตถุอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  14. ยมกอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  15. ปัฏฐานอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  16. อภิธัมมัตถวิภาวิณีอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระ ระหว่าง พ.ศ. 2028- 2043
  17. มูลกัจจายนอัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระระหว่าง พ.ศ. 2028-2043
  18. สังขยาปกาสก รจนาโดยพระญาณกิตติเถระพ.ศ. 2058
  19. สารัตถสังคหะ รจนาโดยพระนันทาจารย์ ไม่ทราบปี
  20. มธุรัตถปกาสีนีฎีกามิลินทปัญหา รจนาโดยพระติปิฎกจุฬาภยเถระ
  21. สัททพินทุอภินวฎีกา รจนาโดยพระสัทธัมมกิตติมหาผุสสเทวเถระ แห่งวัดรัมมะ ชาวเมืองลำพูน
  22. เวสันตรทีปนี รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ แห่งวัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก) ชาวเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 210610
  23. จักวาฬทีปนี รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ พ.ศ. 2063
  24. สังขยาปกาสกฎีกา รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ พ.ศ. 2063
  25. มังคลัตถทีปนี รจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ พ.ศ. 2067
  26. มูลศาสนา รจนาโดยพระพุทธพุกาม – พระพุทธญาณเจ้า
  27. ชินกาลมาลีปกรณ์ รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ ชาวเชียงราย พ.ศ. 2060-2071
  28. มาติกัตถสรูปอภิธรรมสังคณี รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ
  29. วชิรสารัตถสังคหะ รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ พ.ศ. 2078
  30. คันถาภรณฎีกา รจนาโดยพระสุวัณณรังสีเถระ ชาวเชียงใหม่ พ.ศ. 2128
  31. ปฐมสมโพธิกถา รจนาโดยพระสุวัณณรังสีเถระ
  32. วิสุทธิมรรคทีปนี รจนาโดยพระอุตตราราม ชาวเชียงใหม่
  33. สังขยาปกาสก รจนาโดยพระญาณวิลาส ชาวล้านนา
  34. อุปปาตสันติ รจนาโดยพระเถระชาวเชียงใหม่
  35. สัทธัมมสังคหะ รจนาโดยพระธรรมกิตติมหาสามีเถระ แต่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20
  36. มูลกัจจายนคัณฐี รจนาโดยพระมหาเทพกวี คาดว่า แต่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23
  37. จุลยุทธการวงศ์ รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม คาดว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ 1
  38. มหายุทธกาลวงศ์ รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตน ไม่ทราบปี
  39. สังคีติยวงศ์ รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตน เมื่อ พ.ศ. 2332 [10]
  40. โลกเนยยปฺปกรณ์ ไม่ทราบผู้รจนา คาดว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19
  41. มนุสสวิเนยยะ ไม่ทราบผู้รจนา คาดว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นอย่างต่ำ
  42. อมรกฏะพุทธรูปนิทาน รจนาโดยพระอริยวังสะ ราวพุทธศตวรรษที่ 20
  43. อัฎฐภาคพุทธรูปนิทาน รจนาโดยพระอริยวังสะ ราวพุทธศตวรรษที่ 20
  44. ปัญจพุทธพยากรณ์ ไม่ทราบผู้รจนา [11]

คัมภีร์นอกสารบบ

[แก้]
  1. สิวิชัยชาตกะ, สิวิชัยปัญหา หรือมหาสิวิชยช ไม่ทราบผู้รจนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างต่ำ
  2. โสตัตถกี (มหา) นิทาน ไม่ทราบผู้รจนา
  3. ชาตัตถกีนิทาน ไม่ทราบผู้รจนา
  4. มาเลยยเถระวัตถุ ไม่ทราบผู้รจนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 [12]


อ้างอิง

[แก้]
  1. อรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกาแปล มหาวิภังควรรณนา ภาค 1 หน้า 112 - 114
  2. Le May, 1954, หน้า 95
  3. Htin Aung, 1967, หน้า 33
  4. พรรณเพ็ญ เครือไทย, 2540, หน้า 13
  5. ศรี แนวณรงค์, 2533, หน้า 36
  6. Norman, 1983, หน้า 156
  7. พรรณเพ็ญ เครือไทย, 2540, หน้า 13
  8. พรรณเพ็ญ เครือไทย, 2540, หน้า 13
  9. พระมหาอดิศร ถิรสีโล, 2543, หน้า 138
  10. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2550, หน้า 149 - 164
  11. Hinuber, 1996, หน้า 196 - 198
  12. Hinuber, 1996, หน้า 198 - 200

บรรณานุกรม

[แก้]
  • อรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกาแปล มหาวิภังควรรณนา ภาค 1 หน้า 112 - 114
  • Htin Aung, Maung. (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • Le May, Reginald. (1954). The Culture of South-East Asia. London : Government of India.
  • พรรณเพ็ญ เครือไทย (บรรณาธิการ). (2540).วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนา. เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์.
  • ศรี แนวณรงค์. (2533). ศึกษาวิเคราะห์จามเทวีวงศ์ฉบับจังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • Norman, K.R. (1983). Pāli Literature: Including The Canonical Literature In Prakrit And Sanskrit Of All The Hīnayāna Schools Of Buddhism. Wiesbaden : Otto Harrassowitz Verlag.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543) ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • Hinuber, Oskar von. (1996). A Handbook of Pali Literature. Berlin/New York: walter de Gruyter.