นันโทปนันทสูตรคำหลวง
ต้นฉบับ นันโทปนันทสูตรคำหลวง (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2279) * | |
---|---|
![]() | |
ประเทศ | ![]() |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
อ้างอิง | [1] |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2568 |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนา ในสมัยอยุธยา เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2279 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] โดยมีลักษณะคำประพันธ์เป็นร่ายยาว นำด้วยภาษาบาลี แล้วขยายเป็นร่าย สลับกันเรื่อยไปจนจบ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแผ่คำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา และก่อให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนา โดยทรงนำเนื้อเรื่องมาจากคัมภีร์ทีฆนิกาย ชื่อ นันโทปนันทสูตร
ต้นฉบับ
[แก้]เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2279 ขณะทรงผนวชอยู่ ณ วัดโคกแสง มีพระนามฉายาว่า “สิริปาโล” ทรงแปลมาจากเรื่อง ‘นันโทปนันทปกรณัม’ ในคัมภีร์ฑีฆนิกายสีลขันธ์นอกสังคายนา ซึ่งพระมหาพุทธสิริเถระ ภิกษุชาวลังการจนาไว้เป็นภาษาบาลี
ตัวต้นฉบับเอกสารโบราณเป็นหนังสือสมุดไทยขาวได้มาจากขุนวิทูรดรุณากร กรมศึกษาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวายให้หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2451[2]
ประกอบด้วย หนังสือสมุดไทยขาว จำนวน 92 หน้า ขนาดกว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 39.9 เซนติเมตร หนา 6.5 เซนติเมตร ปกลงรักปิดทอง เขียนลายกนกเครือเถา ชุบ (เขียน) ด้วยอักษรขอมย่อ ภาษาบาลี และอักษรไทยย่อ ภาษาไทย ชุบเส้นอักษรด้วยวัสดุ 3 ชนิด คือ เส้นทอง เส้นชาด และเส้นหมึก เมื่อลงเส้นอักษรเสร็จแล้ว โบกฝุ่นขาวและลงน้ำยากันซึมทั้งก่อนและหลังเขียนอักษร
วันที่ 17 เมษายน 2568 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้รับรองให้ "หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง" ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558[3] เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก[4] ในนาม "ต้นฉบับ นันโทปนันทสูตรคำหลวง (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2279)" (อังกฤษ: The Manuscript of Nanthopananthasut Kamlaung (22 July, 1736)) ประกอบด้วย หนังสือสมุดไทยทำจากกระดาษข่อยจำนวน 190 หน้า ด้วยจุดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงรูปลักษณ์วรรณกรรมที่ซับซ้อน คุณค่าทางศีลธรรมเหนือกาลเวลา และประเพณีการบันทึกต้นฉบับแบบพหุภาษา พร้อมนำเสนอว่าชาวพุทธและนักดนตรีนานาประเทศได้นำเนื้อความในสมุดไทยเล่มนี้มาขับขานในช่วงที่เกิดภัยพิบัติระดับโลก โดยสื่อถึงสารที่เข้าใจได้ทั่วไปเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์ (auspiciousness) ความใจกว้าง (tolerance) และสันติภาพ (peace)
เนื้อหา
[แก้]เนื้อหากล่าวถึงครั้งพระพุทธองค์มีพุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะไปปราบพญานาค นามว่า นันโทปนันทะ ให้คลายทิฐิมานะลง เมื่อนันโทปนันทนาคราชคลายทิฐิมานะลง ได้แปลงกายเป็นมาณพ จึงได้ยอมรับนับถือพระพุทธองค์ไปตลอดชีวิต แสดงให้เห็นสุภาษิตว่า ควรชนะคนไม่ดีด้วยความดี คือ เราควรสอนให้คนพาลกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี มีดวงตาเห็นธรรม คือ อริยสัจ เข้าสู่ความหลุดพ้น สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
เนื้อหานอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งแล้ว ยังแสดงถึงความเป็นวรรณกรรมไทยที่แปลมาจากภาษาบาลี แล้วแต่งเป็นคำประพันธ์ที่ใช้ความเปรียบเทียบได้สละสลวยงดงาม ใช้ศัพท์ภาษาบาลี สันสกฤตและเขมรควบคู่ไปกับภาษาไทยอย่างสลับซับซ้อน ทำให้บังเกิดความไพเราะยากที่จะหาวรรณกรรมใดเสมอเหมือน อีกทั้งยังบันทึกไว้ด้วยรูปอักษรไทยโบราณที่เรียกว่า อักษรไทยย่อ ร่วมกับอักขรวิธีโบราณซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ. "อักษรไทยย่อในสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ไชยเชษฐสุริยวงศ์". วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยา นันโทปนันทสูตรคำหลวง". กรมศิลปากร.
- ↑ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ↑ prachatai.com (2025-04-19). "ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเอกสาร 74 รายการ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก รวมถึง 3 รายการจากไทย". ประชาไท.
- ↑ รายละเอียด 3 มรดกชาติ UNESCO ขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำแห่งโลก 2568