ข้ามไปเนื้อหา

พระสูตรมหายาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหากรุณาจิตธารณีสูตร (大悲心陀羅尼經) หรือ สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตวไวปุลยสัมปุรณอกิญจนมหากรุณาจิตธารณีสูตร (千手千眼觀世音菩薩廣大圓滿無礙大悲心陀羅尼經)

พระสูตรมหายาน คือพระสูตรส่วนกลาง ที่ใช้ร่วมกันของฝ่ายมหายานเอง ไม่ว่าจะอุปสมบทจากสายวินัยนิกายใดก็ตาม โดยเนื้อหาพระสูตร จะมีมติหรือความเชื่อเป็นแบบมหายาน ที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์ หรือการบำเพ็ญเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า หรือ อธิบายพุทธภาวะแบบมหายาน และรวมไปถึงพระสูตรแบบตันตรยานในชั้นหลังด้วย

มหายานสูตร มีหลากหลาย แรกเริ่มนั้น ไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่อย่างเคร่งครัดแบบในอาคมสูตร มีพระสูตรเอกเทศอีกจำนวนมาก มหายานสูตร บางครั้งเรียกว่า ไวปุลยสูตร โดย มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ อธิบายว่า พระสูตรนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน เป็นพระสูตรที่ประกาศไว้เพื่อการตรัสรู้อันบริบูรณ์สูงสุด และแม้จะเป็นส่วนที่ใช้ร่วมกันของฝ่ายมหายานก็จริง แต่พระสูตรมหายานบางพระสูตร คณะสงฆ์บางแห่งอาจจะมีใช้หรือไม่มี ก็ได้ หรือ อาจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ

แต่ละพระสูตรในแต่ละคณะสงฆ์ อาจจะให้ความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะมหายานในอินเดีย มีสำนักคิดด้านพุทธปรัชญามหายาน อยู่ ๒ สำนักใหญ่ คือ

  1. มาธยมิกะ หรือ ศูนยวาท
  2. โยคาจาร หรือ วิชญานวาท

ทั้งสองนี้ มีข้อเชื่อ และข้ออภิธรรมที่ถือต่างกันอยู่

และเมื่อสมัยที่พุทธศาสนาเข้าไปในเอเชียตะวันออก ปรากฏมีการแยกนิกาย จากการยึดถือมหายานสูตร โดยยึดถือปฏิบัติเอาพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งเป็นพิเศษ หรือถือเอาพระสูตรบางพระสูตรอย่างเป็นเอกเทศ และละทิ้งพระสูตรส่วนอื่นๆ แล้วตั้งเป็นนิกายก็มี[1]

การจำแนก มหายานสูตร เป็นหมวดหมู่มีการจำแนกหลายแบบ ทั้งจำแนกแบบชุดต้นฉบับสันสกฤตที่ขุดค้นเจอหรือที่เหลืออยู่ หรือแบบทิเบต และแบบจีน ซึ่งแต่ละแบบก็มีการจัดพระสูตรลงหมวดในแต่ละยุคไม่เหมือนกัน แต่ในที่นี้จะผสานแบบต่าง ๆ พอเป็นประเภทใหญ่ให้เห็นภาพกัน มีอยู่ ๙ หมวดดังนี้

๒.๑. หมวด ชาตกะและอวทาน

๒.๒. หมวด ปรัชญาปารมิตา

๒.๓. หมวด สัทธรรมปุณฑรีกะ

๒.๔. หมวด อวตังสกะ

๒.๕. หมวด รัตนกูฎ

๒.๖. หมวด นิรวาณ

๒.๗. หมวด มหาสันนิบาต

๒.๘. หมวด สูตรสันนิบาต

๒.๙. หมวด ตันตระ

[1]

ลลิตวิสตระไวปุลยสูตร พระสูตรประเภทชาตกะและอวทาน ฉบับคัดลอกของกัปตันน็อกซ์ (Captain William Douglas Knox : East India Company) จาก British Library[1]

พระสูตร[แก้]

หมวด ชาตกะและอวทาน[แก้]

ในที่นี้หมายเอาเฉพาะ ชาดก อวทาน ที่ว่าด้วยพุทธประวัติ อดีตชาติของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ และประวัติบุคคลหรือพระโพธิสัตว์ แบบมหายานเท่านั้น คือ ประเภท มหายานชาดกสูตร โพธิสัตวาวทาน

มีพระสูตรสำคัญ คือ ลลิตวิสตระไวปุลยสูตร หรือ มหานิทานสูตร[1]

อัษฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตาสูตร พระสูตรประเภทปรัชญาปารมิตา สมัยราชวงศ์ปาละ เบงกอลจาก Met Museum[1]

หมวด ปรัชญาปารมิตา[แก้]

ปรัชญาปารมิตา คือ หมวดพระสูตรแห่งปัญญาบารมี เป็นหมวดมหายานสูตรในยุคแรก ๆ ที่มีขนบความคิดแบบมหายานเต็มรูป โดยพระสูตรที่เก่าแก่ที่สุดคือ อัษฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตา

หมวดปรัชญาปารมิตา เป็นพระสูตรมหายานขนาดใหญ่ มีหลายสูตร ที่ว่าด้วย ปัญญาบารมี อันเป็นข้อบารมีที่สำคัญหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ที่จะทำให้เข้าใจความเป็นไปของปรากฎการณ์ของธรรมชาติทั้งปวง คือหลักศูนยตา

มีพระสูตรสำคัญ คือ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร[1]

สัทธรรมปุณฑรีกสูตร ส่วนนิทานปริวรรต พระสูตรประเภทสัทธรรมปุณฑรีกะ จาก British Library[1]

หมวด สัทธรรมปุณฑรีกะ[แก้]

สัทธรรมปุณฑรีกะ คือ หมวดพระสูตรแห่งดอกบัวขาวแห่งธรรมที่แท้จริงอันประเสริฐ เป็นหมวดพระสูตรที่ว่าด้วย ยานทั้งสาม มี สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และโพธิสัตวยาน มีเป้าหมายอย่างเดียวคือ พุทธยาน ภาวะนี้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่มีข้อยกเว้น เป็นหมวดเล็กบางแบบจำแนกไว้ในชุมนุมมหายานสูตร (สูตรสันนิบาต)

มีพระสูตรสำคัญ คือ สัทธรรมปุณฑรีกสูตร[1]

หมวด อวตังสกะ[แก้]

คัณฑวยูหสูตร พระสูตรประเภทอวตังสกะ จาก San Diego Museum of Art[1]

อวตังสกะ คือ หมวดพระสูตรอันประดับตกแต่งด้วยดอกไม้นานาชนิดเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เป็นมหายานสูตร หมวดขนาดใหญ่ เนื้อหาหลักๆประกอบด้วย อวตังสกสูตร คัณฑวยูหสูตร ทศภูมิกสูตร ว่าด้วย ทุกสรรพสัตว์มีพุทธภาวะเสมอกัน สรรพสิ่งรวมอยู่ด้วยกันโดยธรรมธาตุจริงแท้หนึ่งเดียวเสมอกัน และกล่าวถึงคุณลักษณะของพระไวโรจนพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆ ที่มีต่อธรรมธาตุ และเรื่องราวการจาริกธรรมของสุธนกุมาร ในการเรียนรู้ในทางของโพธิสัตว์ ผ่านประสบการณ์กับบุคคลต่างๆ

จุดประสงค์ของหมวดนี้คือ พื่อนำสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงพระภูมิแห่งโพธิสัตว์ ทั้ง ๑๐ ขั้น โดยลำดับ เพื่อพัฒนาโพธิจิตให้บรรลุสู่พุทธภูมิอันสูงสุด

มีพระสูตรสำคัญ คือ พุทธาวตังสกะมหาไวปุลยสูตร[1]

มหารัตนกูฎสูตรกาศยปะปริวรรต เมืองโขตาน จากงาน : On the Trail of Texts Along the Silk Road (Kyoto, 2009)[1]

หมวด รัตนกูฎ[แก้]

รัตนกูฎ คือ พระสูตรกองแห่งอัญมณี เป็นหมวดรวบรวมมหายานสูตร หลายพระสูตร ที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญปฏิบัติในแบบของพระโพธิสัตว์ พระสูตรประกอบในหมวดส่วนมาก เป็นลักษณะประเภทคัมภีร์แบบปริปฤจฉาและนิรเทศ คือ มีการถามตอบ และอธิบายขยายความเป็นเรื่อง ๆ

โดยภาพรวมกล่าวถึง คำอธิบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ความเชื่อพื้นฐานของมหายานธรรม มีเรื่องที่น่าสนใจเช่น การอธิบายถึงการบำเพ็ญบารมีในข้อต่างๆแบบมหายาน อธิบายถึงพุทธเกษตร พุทธภาวะ อันตรภพ รวมไปถึงข้อวินิฉัยเรื่องศีลโพธิสัตว์ เป็นต้น

มีพระสูตรสำคัญ คือ มหารัตนกูฎสูตร[1]

หมวด นิรวาณ[แก้]

มหาปรินิรวาณสูตร พระสูตรประเภทนิรวาณ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติกู้กง เมืองไทเป[1]

นิรวาณ คือ พระสูตรที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ ในช่วงพระพุทธเจ้าปรินิพพานแบบมหายาน(ไม่เกี่ยวกับมหาปรินิรวาณสูตร ในอาคมสูตร) อธิบายเกี่ยวกับ พุทธธาตุ ธรรมกาย ตถาคตครรภ์ เป็นพระสูตรหมวดเล็ก บางแบบจำแนกไว้ในชุมนุมมหายานสูตร (สูตรสันนิบาต)

มีพระสูตรสำคัญ คือ มหาปรินิรวาณสูตร[1]

หมวด มหาสันนิบาต[แก้]

มหาไวปุลยมหาสันนิปาตสูตร พระสูตรประเภทมหาสันนิบาต จากแม่พิมพ์แกะไม้ ในพระไตรปิฎกเกาหลี วัดแฮอินซา สมบัติชาติเกาหลี[1]

มหาสันนิบาต คือ หมวดพระสูตรการชุมนุมใหญ่ กหมายถึงการชุมนุมของพระโพธิสัตว์ ในหมวดนี้จะเป็นพระสูตรที่เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้ากับพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ หรือเป็นพระสูตรเอกเทศของพระโพธิสัตว์องค์นั้นๆ โดยตรง

มีพระสูตรสำคัญ คือ มหาไวปุลยมหาสันนิปาตสูตร[1]


หมวด สูตรสันนิบาต[แก้]

วิมลเกียรตินิรเทศสูตร พระสูตรประเภทสูตรสันนิบาต ของบรรณาการที่อาณาจักรต้าหลี่ส่งไปยังจักรวรรดิจีน Met Museum[1]

สูตรสันนิบาต คือชุมนุมพระสูตร เป็นส่วนที่รวมพระสูตรเล็กๆ น้อยๆ เรื่องราวเบ็ดเตล็ด หรือมหายานสูตรที่เป็นพระสูตรเอกเทศ ที่ไม่ถูกจัดไว้หมวดอื่น ๆ ก่อนหน้า มีพระสูตรจำนวนมาก มีเนื้อหาพอสังเขปดังนี้

มีพระสูตรที่เป็นที่รู้จักกันหลายพระสูตร เช่น วิมลเกียรตินิรเทศสูตร ลังกาวตารสูตร เป็นต้น[1]

หมวด ตันตระ[แก้]

มหาไวโรจนาภิสัมโพธิไวปุลยสูตร พระสูตรประเภทตันตระ หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Dainichi kyō คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของนิกายชินงอน หรือ มนตรยานในญี่ปุ่น จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว[1]

พระสูตรอันเกี่ยวของกับพุทธตันตระ ในแขนงต่าง ๆ เช่น คุยหยาน มนตรยาน รหัสยาน สหัชยาน

เป็น พระสูตรลึกลับประกอบด้วยงานประเภทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่มี การประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ หรือการภาวนาแบบพิเศษต่าง ๆ เช่น ธารณี มนตร์ สาธนะ มณฑล โยคะ ธารณี มุทรา สิทธิ อภิเษก

มีพระสูตรสำคัญ คือ มหาไวโรจนาภิสัมโพธิ ไวปุลยสูตร เรียกสั้นๆว่า มหาไวโรจนสูตร[1]

แหล่งอ้างอิง[แก้]

https://blog.thai-sanscript.com/mahayanasutra/

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 "มหายานสูตร พระสูตรฝ่ายมหายาน สารบบที่ ๒ - Thai-Sanscript". 2023-01-31.