ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาพุทธในเอเชียกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เอเชียกลาง เป็นสถานที่อันเป็นที่ตั้งของประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศทาจิกิสถาน ประเทศอุซเบกิสถาน ประเทศเติร์กเมนิสถาน และทางตอนใต้ของประเทศคาซัคสถาน[1][2] นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเขตปกครองตนเองทิเบต เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน บางส่วนของประเทศมองโกเลีย และไซบีเรียตอนใต้ด้วย

ในดินแดนเอเชียกลางนี้เองที่เป็นแหล่งชุมนุมศิลปกรรมวัตถุที่เคารพบูชาในพุทธศาสนา โดยในอดีตได้เคยเป็นศูนย์กลาง และเส้นทางเผยแผ่พุทธศาสนามาหลายศตวรรษ โดยประเทศจีนเองก็ได้รับพุทธศาสนาจากอินเดียโดยผ่านมาจากเส้นทางนี้ นอกจากนี้เอเชียกลางยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญระหว่างจีน อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป จนเกิดตำนานเส้นทางสายไหม ฉะนั้นเอเชียกลางจึงเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยมีพุทธสถาน และปูชนียสถานมากมายในอดีต เช่น วัดวาอาราม ถ้ำ สถูป ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม คัมภีร์ และเอกสารจดหมายเหตุต่าง ๆ ที่เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาขโรษฐี และภาษาจีน เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่เอเชียกลางในพุทธศตวรรษที่ 2 โดยพระธรรมทูตสายพระมัชฌันติกเถระ และสายพระธรรมรักขิตเถระ ได้มาเผยแพร่ที่นี่ด้วย แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในเอเชียกลาง คือ เมืองกุชา หรือ กุฉิ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 7 พุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นในเอเชียกลางบนทางสายไหม ทำให้เมือง เช่น โขตาน (ปัจจุบันคือ โฮตาน) กุชา และตูร์ฟาน (บ้างว่า เตอร์ฟาน) เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรือง

จดหมายเหตุหลวงจีนฟาเหียน

[แก้]

หลวงจีนฟาเหียน ได้จาริกผ่านมาในพุทธศตวรรษที่ 9 กล่าวว่า "ยุติน เป็นเมืองที่มีความสงบ และมั่งคั่ง ชาวเมืองสดชื่น แจ่มใสกันถ้วนหน้า เนื่องจากนับถือพระพุทธศาสนา มีการเล่นดนตรีอย่างสนุกสนาน มีพระสงฆ์มหายานหลายหมื่นรูปรับภัตตาหารจากโรงทาน อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านหนาแน่นเหมือนดาวในท้องฟ้า หน้าประตูมีจะมีพระสถูปองค์เล็ก ภายในวัดจะมีที่พักสำหรับพระอาคันตุกะ" นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์นิกายสรวาทสติวาทินเจริญรุ่งเรืองเคียงคู่มหายาน เพราะมีการค้นพบโบราณวัตถุหาค่ามิได้[3] เช่น คัมภีร์หาค่ามิได้จำนวนมาก คัมภีร์วิชาการอินเดีย และเป็นภาษาท้องถิ่นแล้ว พร้อมกันนั้นก็พบพระพุทธรูป ศิลปะกรีก-โรมัน และจีนผสมกัน

พระกุมารชีวะ

[แก้]

ในพุทธศตวรรษที่ 9 นี้ ก็มีพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ พระกุมารชีวะ[4] (หรือ กุมารชีพ) ท่านได้ศึกษาวรรณคดีพุทธศาสนาในกัศมีร์เป็นเวลาหลายปี จากนั้นก็กลับมาเป็นผู้มีชื่อเสียงในเมืองกุชา ในยุคนั้นก็เกิดสงครามระหว่างเมืองกุชา และจีน ทางจีนได้จับพระกุมารชีพเป็นเชลย ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจในจีนจนมรณภาพที่นั่น เป็นเวลา 15 ปี ท่านได้สั่งสอนพุทธปรัชญา และแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาจีนเป็นอันมาก จนเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศจีน

ยุคราชวงศ์ถัง

[แก้]

ในพุทธศตวรรษที่ 11 สมัยราชวงศ์ถัง เอเชียกลางได้กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกันระหว่างจีน กับอินเดียอีกครั้ง เนื่องจากยุคนี้เอเชียกลางเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่บางช่วงทิเบต ก็มีอำนาจไปปกครองบ้าง เนื่องจากมีการค้นพบเอกสารมีค่า ในถ้ำตุนหวง เป็นจำนวนมากมีอายุในช่วงนี้ ในยุคนี้ชาวอุยกูร์ยังนับถือศาสนามาณีกีอยู่ และเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 14 จากนั้นก็มีการแปลคัมภีร์พุทธศาสนา จากภาษาสันสกฤต และจีน ใหเป็นภาษาอุยกูร์

ยุคพุทธศาสนาเสื่อม และในปัจจุบัน

[แก้]

จากนั้นมาในศตวรรษที่ 15 ชาวมุสลิมเติร์กก็ได้มีอิทธิพลเหนือชนกลุ่มเดิม ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเรื่อยมา แต่ในปัจจุบันยังมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาอยู่ในกลุ่มชาวมองโกล ชาวจีน และชาวทิเบต อย่างมั่นคง

พุทธศาสนาในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง
ธงชาติ ประเทศ ประชากร(2007E) เปอร์เซนต์ ชาวพุทธ
อัฟกานิสถาน 31,889,923 0.3% (approx) 95,670
คาซัคสถาน 15,422,000 0.53% [5] 81,843
คีร์กีซสถาน 5,317,000 0.35% [6] 18,610
ประเทศมองโกเลีย 2,874,127 94% [7] [8] 2,701,679
ทาจิกิสถาน 7,076,598 0.1% [9] 7,076
เติร์กเมนิสถาน 5,097,028 0.1% [10] 5,097
ประเทศอุซเบกิสถาน 27,780,059 0.2% [11] [12] 55,560
รวม 95,456,735 3.106% 2,965,535

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Encyclopedia Americana (1986),p 441
  2. Hambly G., Central Asia, (New York :-1969),p 2
  3. Conze Edward, Buddhism : A Short History,pp 64-65
  4. G.H.Sasaki, 2500 Years of Buddhism (P.V.Bapat Edit).,pp 210-212
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-06. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  7. http://www.state.gov/g/drl/rls/irf/2006/71350.htm
  8. http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/2779.htm
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-29. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  10. http://www.state.gov/g/drl/rls/irf/2006/72290.htm
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-10-06.