พระวินัยปิฎก
หน้าตา
(เปลี่ยนทางจาก พระวินัย)
พระวินัยปิฎก (บาลี: Vinaya Piṭaka, วินยปิฏก) เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก ซึ่งประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุและภิกษุณี รวมทั้งเหตุการณ์และมูลเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัยในแต่ละข้อ
พระวินัยปิฎกนั้นนอกจากจะแสดงถึงมูลเหตุและข้อพุทธบัญญัติต่าง ๆ ทั้งข้อห้าม และข้ออนุญาตสำหรับภิกษุและภิกษุณีแล้ว ยังมีเนื้อหาสะท้อนประวัติศาสตร์ของอินเดียในสมัยพุทธกาลอีกด้วย
พระวินัยปิฎก 8 เล่ม
[แก้]- พระไตรปิฎกเล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตะสิกขาบท (สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 19 ข้อแรก)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2 ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ (เป็นอันครบสิกขาบท 227 หรือ ศีล 227)
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 3 ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 มี 6 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาท และสามัคคี
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 6 จุลวรรค ภาค 1 มี 4 ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 มี 8 ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงด สวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 1
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 8 ปริวาร คัมภีร์ถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 3 หมวด ตามแบบฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ[2]:-
[แก้]- สุตตวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุ และภิกษุณีรวมเข้าด้วยกัน (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์)
- ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ทั้ง 22 บทตอน (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวรรค และจุลวรรค)
- ปริวาร ว่าด้วยการถามตอบความรู้เกี่ยวกับพระวินัย
การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 5 หมวด แบบที่ 1:-
[แก้]- มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ เนื้อหาว่าด้วย สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ ของภิกษุ
- ภิกขุนีวิภังค์ เนื้อหาว่าด้วยสิกขาบท 311 ข้อ ของภิกษุณี
- มหาวรรค แบ่งได้เป็น 10 หมวดย่อย หรือ 10 ขันธกะ กำเนิดภิกษุสงฆ์ และกิจการเกี่ยวแก่ภิกษุสงฆ์ ได้แก่ มหาขันธกะ, อุโบสถขันธกะ, วัสสูปนายิกาขันธกะ, ปวารณาขันธกะ, จัมมขันธกะ, เภสัชชขันธกะ, กฐินขันธกะ, จีวรขันธกะ, จัมเปยยขันธกะ และโกสัมพิขันธกะ
- จุลวรรค แบ่งเป็น 12 หมวดย่อย หรือ 12 ขันธกะ เกี่ยวกับระเบียบความเป็นอยู่ของภิกษุ ภิกษุณี และเรื่องสังคายนา ได้แก่ กรรมขันธกะ, ปริวาสิกขันธกะ, สมุจจยขันธกะ, สมถขันธกะ, ขุททกวัตถุขันธกะ, เสนาสนขันธกะ, สังฆเภทขันธกะ, วัตตขันธกะ, ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ, ภิกขุนีขันธกะ, ปัญจสติกขันธกะ และสัตตสติกขันธกะ
- ปริวาร เป็นข้อปลีกย่อยต่างๆ และคู่มือถามตอบซักซ้อมเกี่ยวกับพระวินัย
การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎกเป็น 5 หมวด แบบที่ 2 (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา มะ จุ ปะ):-
[แก้]- อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิก 4 ถึงอนิยตะ 2 (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ภาค 1)
- ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด (ประกอบด้วยคัมภีร์มหาวิภังค์ภาค 2 และภิกขุนีวิภังค์)
- มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น 10 ขันธกะ หรือ 10 ตอน
- จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย 12 ขันธกะ
- ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "พระวินัยปิฎก". 84000.org.
- ↑ ปุญญานุภาพ, สุชีพ. “ภาค ๔ ความย่อแห่งพระไตรปิฎก.”, (ล่างสุดของหน้า), พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร, ฉบับรวมเป็นเล่มเดียวจบ พิมพ์ครั้งที่ 17/2550, น. 138