ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาพุทธกับทฤษฎีวิวัฒนาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เนื่องจากไม่มีหลักสำคัญทางพุทธศาสนาที่ค้านกับทฤษฎีวิวัฒนาการ ชาวพุทธเป็นจำนวนมากยอมรับหลักวิทยาศาสตร์ข้อนี้ได้[1][2] แต่คำถามเกี่ยวกับความที่โลก (เอกภพ) มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เที่ยงหรือไม่เที่ยง โดยทั่วไปเป็นปัญหาในปัญหา 10 อย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อข้อปฏิบัติให้ถึงมรรคผลนิพพาน[3] เพราะเหตุนั้น ชาวพุทธบางพวกไม่ใส่ใจในปัญหาเหล่านี้ว่ามีประโยชน์เพื่อการพ้นทุกข์ทั้งของตนและผู้อื่น[4]

ส่วนองค์ทะไลลามะทรงปฏิเสธวิวัฒนาการที่มาจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติว่า [5]

โดยมุมมองของชาวพุทธ แนวคิดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง (ทางวิวัฒนาการ) ที่เป็นเรื่องสุ่มไม่เป็นเรื่องที่ทำให้อิ่มใจ โดยเฉพาะโดยความเป็นทฤษฎีที่หมายจะอธิบายกำเนิดของชีวิต

ซึ่งเป็นคำกล่าวที่มีนักวิชาการอธิบายว่า องค์ทะไลลามะได้ตรัสเช่นนี้ก็เพราะว่า การเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นผลของกรรม ตามหลักของศาสนาพุทธ[6]

มุมมองชาวพุทธ

[แก้]

ท่านอนาคาริก ธรรมปาละได้เคยกล่าวไว้ว่า "ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นคำสอนที่สืบมาตั้งแต่โบราณจากพระพุทธเจ้า"[7] ในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบท่านพระมาลุงกยบุตรในปัญหาเรื่องโลกไว้ว่า

ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือ ศูทร... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้... สูงต่ำหรือปานกลาง... ดำขาว หรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่าเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์... สายที่ยิงเรานั้นเป็นลายทำด้วยปอผิว ไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก... หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกคางหย่อน... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว เอ็นควาย เอ็นค่าง หรือเอ็นลิง... ลูกธนูที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น" ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นจะพึงทำกาละ (ตาย) ไปก่อน[3]

ข้ออุปมาว่าด้วยลูกศรนี้ มักจะใช้แสดงคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ "ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวพันตนเองในเรื่องกำเนิดของโลกและเรื่องอื่น ๆ แล้วพลาดจากเป้าหมายของทางปฏิบัติ"[4]

แนวคิดทางเถรวาทเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ5อย่างหรือนิยาม5 ในหลักพีชนิยามหรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ที่เป็นสิ่งกำหนดให้หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น มะม่วงย่อมให้ผลเป็นลูกมะม่วงเสมอ ลูกเสือย่อมเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นเสือ ซึ่งตามหลักอภิธรรมกฎพีชนิยามจะเกิดขึ้นจากกฎธรรมนิยาม ดังจะกล่าวคือ

*1. อนิจจัง (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ เปลี่ยนเป็นธาตุลม และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ และเปลี่ยนกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด ตามอุตุนิยามหรืออุณหภูมิร้อนเย็น แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัด ทำให้เกิดการกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร กฎแห่งวัฏฏตา กฎแห่งการหมุนเวียนเปลี่ยนผัน เมื่อเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ แม้กระนั้นกฎแห่งอนิจจังก็คือความไม่แน่นอน แม้หมุนวนเวียนแต่ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่บ้าง ทำให้ทายาทไม่จำเป็นต้องเหมือนผู้ให้กำเนิดไปซะทั้งหมด กฎแห่งวัฏฏตาทำให้เกิดกฎแห่งสันตติคือการสืบต่อที่ปิดบังอนิจจังต่อไป

*2. ทุกขัง (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือ สิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา อย่าง ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน โลกต้องหมุน ทุกอย่างจะอยู่นิ่งมิได้ มีแค่เคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย จึงทำให้เกิดกฎแห่งการปรับสมดุล (สมตา ) คือแม้จะมีการเคลื่อนตลอดเวลา แต่การเคลื่อนนั้นก็ทำให้มีการปรับสมดุล เช่น อากาศระเหยขึ้นไปเพราะความร้อนเกิดเป็นสูญญากาศ อากาศด้านข้างจึงไหลเข้ามาทำให้เกิดลม เมฆบนฟ้าเกิดประจุไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจึงต้องปรับสมดุลด้วยการถ่ายเทมายังพื้นโลกจึงเกิดฟ้าผ่าขึ้น เป็นต้น การปรับสมดุลจึงทำให้บางสิ่งคงอยู่ไม่แตกสลายเร็วนัก และสิ่งคงอยู่ย่อมแตกสลายไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่ถ้ามีการถ่ายทอดข้อมูลจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เช่น ดวงจิตที่ถ่ายทอดข้อมูลจากดวงจิตเดิมสู่ดวงจิตก่อนจิตดวงเดิมดับ เป็นต้น ย่อมทำให้ดำรงอยู่ต่อได้ จึงทำให้เกิดกฎแห่งสันตติการสืบต่อ และทำให้เกิดกฎแห่งพันธุกรรมของพีชนิยาม แม้แต่การซ่อมแซมตัวเองของร่างกายก็เกิดขึ้นจากกฎสมตานี้ ซึ่งให้เกิดชีวิตที่ต้องปรับสมดุลตัวเองตามกฎสมตา เวลาหิวหากิน เวลาง่วงนอน เวลาเหนื่อยพัก เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะก็ถ่าย เวลาเมื่อยก็เคลื่อนไหว ทำให้เกิดอิริยาบถ ที่ปิดบังทุกขังนั่นเอง

*3. อนัตตา (สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง) สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากกฎอิทัปปัจจยตา ดูเหมือนมีตัวตนเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้น และสิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่างๆ มีผลกระทบต่อกันในด้านต่างๆ จนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและอาศัยกันและกันเพื่อดำรงอยู่ จึงเกิดกระบวนการทำงานหรือกฎชีวิตาขึ้นจึงเกิดฆนะสัญญาหรือความเป็นก้อนขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกถึงการมีตัวตนขึ้น แม้กระทั่งกระบวนการทำงานของจิต ก็ทำให้รู้สึกถึงการมีตัวตนทางใจเช่นกัน ดังนั้นกฎชีวิตาจึงทำให้เกิดฆนะ รูปร่าง หรือการเป็นก้อนๆ ตลอดจนรู้สึกมีตัวตน ที่ปิดบังอนัตตาในที่สุด

ตามหลักอภิธรรมกฎแห่งธรรมนิยามทั้งคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เกิดกฎแห่งพีชนิยามทั้ง3คือสมตา(ปรับสมดุล) วัฏฏตา(หมุนวนเวียน)ชีวิตา(มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน) ตามนัยดังกล่าว

ดังนั้นแนวคิดทางเถรวาทมีหลายอย่างคล้ายกับทฤษฎีวิวัฒนาการ จึงไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีวิวัฒนาการ ของชาร์ล ดาวิน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีชาวพุทธที่คัดค้านทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเพราะเป็นลัทธิวัตถุนิยม (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สสารนิยม) [8][9][10] พระพุทธเจ้าโดยมากก็ทรงนิ่งไม่พยากรณ์ปัญหาเกี่ยวกับกำเนิดโลก[2] และยังกล่าวได้อีกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญ หรือว่า สามารถตีความหมายอัคคัญสูตร (ที่จะกล่าวต่อไป) ว่า เป็นเรื่องแสดงกระบวนการวิวัฒนาการอย่างคร่าว ๆ [11]

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนอื่น ๆ อีกที่มีความเห็นต่าง ๆ กันเป็นอย่างอื่นเป็นต้นว่า

  • วิทยาศาสตร์สั่งสมความรู้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ[9][12]
  • วิทยาศาสตร์ไม่สามารถรู้เรื่องของจิตวิญญาณได้[9] (ซึ่งสืบเนื่องกับการเกิดของมนุษย์)
  • วิทยาศาสตร์มีข้อที่เข้ากับพุทธศาสนาและมีข้อที่แตกต่าง[9][12][13][10][14]
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สมบูรณ์ อาจล้มล้างได้ด้วยหลักฐานใหม่ ๆ [12][15]
  • วิวัฒนาการเป็นความคิดขัดแย้งกับคำสอนพระพุทธศาสนาเพราะสืบเนื่องด้วยสัตว์บุคคล[15]
  • การศึกษาทั้งทางวิวัฒนาการทั้งทางพุทธศาสนาเป็นการศึกษาทฤษฎีที่ไม่สามารถรู้เองได้ง่าย ให้ทำดีเผื่อไว้ก่อน[15]
  • เป็นความเชื่อคนละทาง[14]

อัคคัญสูตร

[แก้]

ในอัคคัญสูตรในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค[16] พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์อย่างละเอียดพิศดารเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับวาเสฏฐะสามเณรและภารทวาชะสามเณรผู้มีชาติเป็นพราหมณ์ไว้ว่า

วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้ นึกคิดอะไรก็สำเร็จ ได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ

ในชุมชนที่มีศรัทธาว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู คือทรงสามารถรู้โลกได้ทุกอย่างตามปรารถนา และสิ่งที่พระองค์รู้นั้นย่อมเป็นความจริงโดยส่วนเดียว นี้เป็นหลักฐานคัดค้านทฤษฎีวิวัฒนาการโดยตรง เพราะทรงแสดงการกำเนิดของมนุษย์มาจากพรหมโดยตรงพร้อมกับการเกิดของโลกโดยประมาณ ไม่ได้ผ่านวิวัฒนาการของสัตว์โดยประการต่าง ๆ [13][17][15][18] แต่สำหรับหลายคน เพราะว่า พระพุทธองค์ดูเหมือนจะทรงแสดงแบบจำลองของโลก ที่เอกภพมีการหดตัวลง (โลกเสื่อม) การขยายออก (โลกเจริญ) ในชั่วระยะเวลายาวนาน คำพรรณนานี้ดูเหมือนจะเข้ากับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการขยายตัวของเอกภพและบิกแบง[19][20] และหลาย ๆ คนก็รู้สึกว่า อัคคัญสูตรไม่ควรที่จะตีความตรง ๆ [4][20][21]

ตัวอย่างเช่น มีเว็บไซต์เกี่ยวกับพุทธที่พิมพ์ข้อความว่า

เรื่องนี้บางครั้งเรียกกันว่าเรื่องปรัมปราการสร้าง (จักรวาล) ของชาวพุทธ แต่ว่า (จริงแล้ว ๆ) ถ้าอ่านโดยเป็นนิทานสอนใจ ก็จะไม่ใช่เรื่องการสร้าง (จักรวาล) แต่เป็นเรื่องการปฏิเสธชนชั้นวรรณะ ซึ่งดูหมายจะคัดค้านเรื่องราวต่าง ๆ จากคัมภีร์พระเวทที่ยืนยันความถูกต้องของวรรณะต่าง ๆ [22]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Religious Differences on the Question of Evolution". Pew Research Center. 2009-02-04. สืบค้นเมื่อ 2014-10-14. แสดงศาสนิกชนที่ยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการเริ่มต้นตั้งแต่ชาวพุทธที่ 81% ชาวฮินดูที่ 80% ไปตามลำดับจนถึงชาวมุสลิมที่ 45% ไปสุดที่คนคริสต์ลัทธิพยานพระยะโฮวาที่ 8%
  2. 2.0 2.1 Asma, Stephen. "Evolution doesn't bother Buddhists". Chicago Tribune. สืบค้นเมื่อ 2013-12-23.
  3. 3.0 3.1 "จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร", E-Tipitaka 2.1.2, พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่มที่ 2 ภาคที่ 1 ข้อ 147, pp. 298–307{{citation}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 "Four reasons Buddhists can love evolution". Wildmind. สืบค้นเมื่อ December 23, 2013.
  5. Dalai Lama (2005). The Universe in a Single Atom : The Convergence of Science And Spirituality. Random House. p. 112. สืบค้นเมื่อ April 20, 2014.
  6. Donald S Lopez Jr (2008). Buddhism and Science: a Guide for the Perplexed. University of Chicago Press. p. 146. ISBN 978-0226493121. สืบค้นเมื่อ April 20, 2014.
  7. Verhoeven, Martin J (June 2001). "Buddhism and Science: Probing the Boundaries of Faith and Reason". Religion East and West (1): 77–97. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-14. สืบค้นเมื่อ 2014-10-14.
  8. Low, Albert (2008). The Origin of Human Nature: A Zen Buddhist Looks at Evolution. Sussex Academic Pr. ISBN 1-84519-260-5.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 mydjphong (2007-08-07). "ศาสนากับธรรมชาตินิยม". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  10. 10.0 10.1 (II).html "อภิปรัชญา-วิทยาศาสตร์ VS พุทธศาสนา (II)". สุญตา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-14. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  11. Williams, Paul (2004). Buddhism. Routledge. p. 102. ISBN 0-415-33228-1.
  12. 12.0 12.1 12.2 "สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการหรือเปล่า ถ้ามีแล้วอะไรเป็นตัวทำให้วิวัฒนาการ". ลานธรรม (กระทู้). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-21. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  13. 13.0 13.1 "พระไตรปิฎกวิจารณ์ (A Critical Study of the Tipitฺaka) - หน่วยที่ ๘ อัคคัญญสูตรกับทฤษฎีวิวัฒนาการ". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  14. 14.0 14.1 "ทฤษฎีวิวัฒนาการ สอดคล้อง หรือ ขัดแย้ง กับศาสนาพุทธ อย่างไร". PANTIP.COM - กระดานข่าว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 "022509 มนุษย์ต้นกัล์ปผุดเกิดขึ้นจากอะไรครับ (จุติจาก, , , )". มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา - บ้านธัมมะ. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  16. "อัคคัญสูตร", E-Tipitaka 2.1.2, พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ 111, pp. 83–103{{citation}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  17. รัตนมณี, ประสิทธิ์. "การกำเนิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา". สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  18. "วิวัฒนาการการกำเนิดชีวิตและจักรวาล ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา". เว็บพุทธภูมิ. 2014-04-25. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  19. สุจีรา, สม (ท.พญ.). "บทที่ 2 - จักรวาลกับพระพุทธศาสนา". ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น. สำนักพิมพ์อมรินทร์. ISBN 9789749985854.
  20. 20.0 20.1 Hughes, James J. (1993). "Beginnings and Endings: The Buddhist Mythos of the Arising and Passing Away of the World". ใน Sivaraksa, Sulak (บ.ก.). Buddhist Perceptions of Desirable Societies in the Future: Papers prepared for the United Nations University. United Nations University. Bangkok, Thailand: Thai Inter-Religious Commission for Development [IRCD].{{cite book}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  21. "การกำเนิดโลกและมนุษย์ ตามแนวพระพุทธศาสนา". ชมรมพัฒนาใจให้สว่างใส. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  22. "The Agganna Sutta". About.com. December 23, 2013. สืบค้นเมื่อ 2014-10-14. This story is sometimes called a Buddhist creation myth. But read as a fable, it is less about creation and more about the refutation of castes. It seems intended to counter stories in the Rig Veda that justify castes.