ข้ามไปเนื้อหา

ถนนสามเสน

พิกัด: 13°47′00″N 100°30′44″E / 13.783449°N 100.512118°E / 13.783449; 100.512118
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่เขตดุสิต ถนนสามเสนอยู่บริเวณซ้ายบน ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา
ถนนสามเสน บริเวณใกล้กับตลาดศรีย่าน

ถนนสามเสน (อักษรโรมัน: Thanon Sam Sen) เป็นถนนสายสำคัญในพื้นที่เขตพระนครและเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทุ่งนาและลำคลองมีชื่อเรียกว่า "ทุ่งสามเสน" ติดริมแม่เจ้าพระยา มีปรากฏตั้งแต่อาณาจักรอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวโปรตุเกสที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดศึกสงคราม ชาวโปรตุเกสได้รับราชการสงครามมีความดีความชอบสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้เข้ามาอยู่อาศัยเมื่อราว พ.ศ. 2217 จึงได้มีการสร้างวัดคอนเซ็ปชัญ หรือวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ศาสนาสถานของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งในตอนแรกเป็นเพียงแค่โบสถ์ไม้ นับเป็นศาสนสถานของคาสนาคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และกลายเป็นชุมชนเรียกว่า "บ้านโปรตุเกส" หากแต่แถบทุ่งสามเสนนี้ ก็เป็นพื้นที่ ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว โดยปรากฏหลักฐาน คือ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร (วัดสมอราย) ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร (วัดสมอแครง) รวมถึงวัดโบสถ์สามเสนที่สร้างในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวเขมรที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ที่หลบลี้ภัยสงครามมา เข้ามาอยู่อาศัยที่บ้านโปรตุเกสนี้ ทำให้หมู่บ้านโปรตุเกสเปลี่ยนชื่อเป็น "หมู่บ้านเขมร" โดยมีชาวเขมรผู้หนึ่งชื่อ นายแก้ว มีตำแหน่งเป็นจางวาง ทำหน้าที่เป็นนายหมู่บ้านด้วย ต่อมาสังฆราชปาเลกัว (ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว) ได้เข้ามาเป็นอธิการวัดคอนเซ็ปชัญ ก็ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดแห่งนี้ตราบจนถึงปัจจุบัน[1] ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนที่อพยพเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์อันเนื่องจากมีการปราบปราบชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ เข้ามาอาศัยอยู่ยังบริเวณวัดส้มเกลี้ยง(วัดราชผาติการามวรวิหาร)ซึ่งเป็นวัดร้าง เหนือหมู่บ้านเขมร เรียกกันว่า "หมู่บ้านญวน" และมีการสร้างวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ และกลายมาเป็นชุมชนชาวญวนมาจนถึงปัจจุบัน[1][2]

โดยชื่อ "สามเสน" นั้น ยังไม่ทราบถึงความหมายและที่มาที่ไปแน่ชัด มีตำนานเล่าว่า หลวงพ่อโต พระพุทธรูปมาจากวัดบางพลีใหญ่ใน (ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ) ได้ลอยน้ำลงมาจากทางเหนือ มาปรากฏอยู่แถบนี้ ผู้คนได้มาช่วยกันฉุดลากขึ้นจากน้ำ แต่ก็ไม่ขึ้น เพราะเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 3 คืบ จนมีคนผู้มาช่วยกันถึงสามแสนคนก็ยังไม่สำเร็จ แต่ผลุบจมหายไป เลยเรียกตำบลนั้นว่า "สามแสน" ต่อมาก็เพี้ยนเป็น "สามเสน" ซึ่งสามเสนก็ยังปรากฏอยู่ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2350 ด้วย[2]

แต่จากหลักฐานแผนที่ในจดหมายเหตุหมอแกมป์เฟอร์ (เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2233 ได้ระบุตำแหน่งที่ชื่อว่า Ban Samsel ซึ่งชื่อดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับคำว่า "บ้านสามเสน" อีกทั้งตำแหน่ง Ban Samsel ก็ตั้งอยู่ระหว่างป้อมที่บางกอก (ฝั่งธนบุรี) กับตลาดแก้ว ตลาดขวัญ (จังหวัดนนทบุรี)

มีการสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา เช่น คำว่า "เสน" เป็นภาษาบาลีหมายถึง โคตรวงศ์, เหล่า แต่เดิมบริเวณพื้นที่แถบนี้น่าจะมีชาวอินเดียที่ชื่อว่า "สาม" อาศัยอยู่ หรืออธิบายว่า โบสถ์ทอมาสเดอะเซนต์ ที่เคยอยู่แถบนี้ ซึ่งสร้างขึ้นโดย นายทอมาส นับถือกันว่าเป็นนักบุญ หรือเซนต์ จึงมีคำว่า เซนต์ ต่อท้ายนาม แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า "ทามเสน" ต่อมาจึงกลายเป็น "สามเสน" หรือมีนักภาษาศาสตร์เสนอไว้ว่า น่ามาจะจากภาษามลายูว่า "สุไหงซัมซัม" (Su–ngai Samsam) หมายถึง "คลองชาวมุสลิม" หรืออาจจะมาจากคำว่า "สุไหงซามซิง" (Su–ngai Samsing) หมายถึง "คลองคนดุร้าย" เป็นต้น[3]

การก่อสร้างถนน

[แก้]

ถนนสามเสน เริ่มก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นในพื้นที่ตำบลสามเสน และทรงโปรดให้สร้างถนนหลายสายผ่านบริเวณดังกล่าว ถนนสามเสนมีลักษณะที่สำคัญคือเป็นถนนที่ตัดเลียบไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งพระนคร จุดเริ่มต้นของถนนสามเสนเริ่มต้นต่อจากถนนจักรพงษ์ที่แยกจักรพงษ์ ซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนพระสุเมรุ ในเขตพระนคร ตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางลำพูที่สะพานนรรัตน์สถาน ตัดกับถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่แยกบางขุนพรหม จากนั้นตัดกับถนนกรุงเกษมที่แยกเทเวศร์ แล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สะพานเทเวศร์นฤมิตร เข้าสู่พื้นที่เขตดุสิต ตัดกับถนนลูกหลวง ตัดกับถนนศรีอยุธยาที่แยกสี่เสาเทเวศร์ จากนั้นตัดกับถนนราชวิถีที่แยกซังฮี้ ตัดกับถนนสุโขทัยที่แยกวชิระผ่านวังศุโขทัย ข้ามคลองสามเสนที่สะพานโสภณ เข้าสู่พื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี ตัดกับถนนนครไชยศรีที่แยกศรีย่าน ตัดกับถนนอำนวยสงครามและถนนเขียวไข่กาที่แยกบางกระบือ และสิ้นสุดที่แยกเกียกกายตัดกับถนนทหาร รวมระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร โดยมีถนนที่ตรงต่อเนื่องขึ้นไปทางทิศเหนือคือถนนประชาราษฎร์ สาย 1

อนึ่ง ถนนสามเสนเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองในแขวงต่าง ๆ ดังนี้

หมายเหตุ : ใช้ทิศเหนือเป็นทิศหลัก

  • แบ่งแขวงชนะสงคราม (ซ้าย) และแขวงตลาดยอด (ขวา) ในเขตพระนคร ตั้งแต่แยกจักรพงษ์จนถึงสะพานนรรัตน์สถาน
  • แบ่งแขวงวัดสามพระยา (ซ้าย) และแขวงบ้านพานถม (ขวา) ในเขตพระนคร ตั้งแต่สะพานนรรัตน์สถานจนถึงแยกบางขุนพรหม
  • แบ่งแขวงวัดสามพระยา (ซ้าย) และแขวงบางขุนพรหม (ขวา) ในเขตพระนคร ตั้งแต่แยกบางขุนพรหมจนถึงสะพานเทเวศร์นฤมิตร
  • แบ่งแขวงวชิรพยาบาล (ซ้าย) และแขวงดุสิต (ขวา) ในเขตดุสิต ตั้งแต่สะพานเทเวศร์นฤมิตรจนถึงสะพานโสภณ

สถานที่สำคัญ

[แก้]

สถานที่สำคัญที่บริเวณถนนสามเสนผ่าน มีดังนี้

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ถนนสามเสน ทิศทาง: แยกเกียกกาย–บางลําพู ซ้าย: ทิศเหนือ, ขวา: ทิศใต้
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนสามเสน แยกเกียกกาย–บางลําพู
กรุงเทพมหานคร แยกเกียกกาย เชื่อมต่อจาก: ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ไปพิบูลสงคราม, สะพานพระราม 7
ถนนทหาร ไปประดิพัทธ์, พระราม 6 ถนนทหาร ไป ท่าเรือเกียกกาย
แยกบางกระบือ ถนนอํานวยสงคราม ไป พระราม 5 ถนนเขียวไข่กา ไป ท่าเรือเขียวไข่กา
แยกศรีย่าน ถนนนครชัยศรี ไปพระราม 6 ถนนนครไชยศรี ไป ท่าเรือพายัพ
แยกวชิระ ถนนสุโขทัย ไป สวรรคโลก ถนนสุโขทัย จาก สะพานกรุงธน
แยกซังฮี้ ถนนราชวิถี ไป อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี ไป สะพานกรุงธน
แยกสี่เสาเทเวศร์ ถนนศรีอยุธยา ไป ราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ไป วัดเทวราชกุญชร
ถนนพิษณุโลก ไป ยมราช ไม่มี
ถนนลูกหลวง ไป สะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่มี
สะพานเทเวศรนฤมิตร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
แยกเทเวศร์ ถนนกรุงเกษม ไป มัฆวานรังสรรค์,หลานหลวง ถนนกรุงเกษม ไป ท่าเรือเทเวศร์
แยกบางขุนพรมหม ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ไป แยกจ.ป.ร ไม่มี
สะพานนรรัตน์สถาน ข้ามคลองบางลำพู
แยกบางลําพู ถนนพระสุเมรุ ไป สนามหลวง ถนนพระสุเมรุ ไป ป้อมมหากาฬ
ตรงไป: ถนนจักรพงษ์ ไป แยกผ่านพิภพลีลา
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "สามเสน...ประวัติศาสตร์บรรพชนคนนานาชาติ ต้นกำเนิดการประปาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์". พินิจนคร. 2012-05-04. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  2. 2.0 2.1 บุนนาค, โรม (2017-07-26). "เหตุที่มี "บ้านเขมร" และ "บ้านญวน" อยู่ที่ทุ่งสามเสน! ก่อนจะถูกบุกเบิกเป็นย่านสร้างวังจนเต็มทุ่ง!!". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-02. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.
  3. "สามเสนเรียกกันมาแต่สมัยอยุธยา". วารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2014-07-24. สืบค้นเมื่อ 2018-02-17.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°47′00″N 100°30′44″E / 13.783449°N 100.512118°E / 13.783449; 100.512118