ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนจิตรลดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนจิตรลดา ในพระบรมราชูปถัมภ์
Chitralada School
ข้อมูล
ชื่ออื่นCD
ประเภทโรงเรียนเอกชน
สถาปนา10 มกราคม พ.ศ. 2498 (70 ปี 13 วัน)
ผู้อำนวยการผศ. ดร. ยุวดี นาคะผดุงรัตน์
สีเหลือง ฟ้า
คำขวัญ"รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวินัย ใฝ่ความรู้ คู่คุณธรรม"
เพลงเพลงมาร์ชจิตรลดา
เว็บไซต์http://www.chitraladaschool.ac.th/

โรงเรียนจิตรลดา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อังกฤษ: Chitralada School) เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต[1]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้โรงเรียนจิตรลดาได้ดำเนินงานมาโดยตลอด ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์บริหาร โรงเรียนจึงได้รับสนองพระราโชบายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระราโชบายมาบริหารและดำเนินการ[2]

โรงเรียนจิตรลดาได้รับการยอมรับว่าเป็น "the most exclusive school in Thailand"[3]

ประวัติโรงเรียนจิตรลดา[4]

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาในระดับอนุบาลขึ้น ณ พระที่นั่งอุดรภาค ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ประทับของพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2498 เนื่องด้วยขณะนั้น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในขณะนั้น เจริญพระชนมายุพร้อมที่จะทรงพระอักษรได้ จึงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียน โดยมีพระอาจารย์คนแรกที่ถวาย ฯ การสอนเพียงคนเดียว คือ ดร.ทัศนีย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระสหายร่วมศึกษาอีก 7 คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจิตรลดา 

จากนั้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ หรือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุพอที่จะทรงพระอักษรได้ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มชั้นอนุบาลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และเพิ่มนักเรียนขึ้นอีก 4 คน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระอาจารย์เพิ่มอีกคนหนึ่งคือ นางสาวอังกาบ ประนิช (ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนอนุบาล 2 ระดับ ระดับละ 8 คน

ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการถาวร จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนถาวรในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนจิตรลดา" และได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาถึงประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2507 ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา 2511 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับนักเรียนทั่วไปตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนในแต่ละปีการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ตามพระบรมราโชวาท “ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นศิษย์ของโรงเรียนจิตรลดา[5]

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เริ่มทรงพระอักษรชั้นอนุบาล 1 ณ พระที่นั่งอุดร ณ วันที่ 10 มกราคม 2498

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เริ่มทรงพระอักษรในชั้นอนุบาล 1 ณ วันที่ 10 มกราคม 2499

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เริ่มทรงพระอักษร ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2501

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เริ่มทรงพระอักษร ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2504

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1 เมื่อ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2504

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จมาทรงพระอักษรในระดับอนุบาล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2528

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เสด็จมาทรงพระอักษรในระดับอนุบาล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2530

ประธานบริหารและผู้บริหารโรงเรียนจิตรลดาในปัจจุบัน[6]

[แก้]
  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานบริหาร
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้จัดการและผู้อำนวยการ
  • นางสมสมร หนูมา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป
  • หม่อมหลวงนลินทิพย์ เทวกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับประถมศึกษา
  • นางสาวจรินทร์ทิพย์ วรกิจสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับมัธยมศึกษา
  • นางชฏามาศ นพสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • นางปานใจ ดวงวิจิตรกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
  • นางคณัสนันท์ ผ่องพันธุ์งาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลงานบุคคล)
  • นางอาภรณ์ ตันสงวน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลงานการเงิน บัญชี และ พัสดุ)
  • นางสาวกนกพร จรินทร์รัตนากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการระดับประถมศึกษา
  • นางนติยา ปัญญาเสวนมิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับประถมศึกษา
  • นางจิราพร ลิ้มตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
  • นายธีรพล สาตราภัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับอนุบาล)
  • นางสาวพรทิพย์ บุญเชิด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับประถมศึกษา)
  • นายพิทยา ตุลาธร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ดูแลการบริหารจัดการทั่วไป ระดับมัธยมศึกษา)

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]