โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
- ระวังสับสนกับ โรงเรียนมหรรณพาราม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | |
---|---|
Wat Mahannapharam School | |
ที่ตั้ง | |
261/1 ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 | |
ข้อมูล | |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล |
คติพจน์ | ความรู้คู่ความดี |
สถาปนา | พ.ศ. 2427 |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ผู้อำนวยการ | นายอุรุพงศ์ คุณเจริญทรัพย์ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | อนุบาล 1 - ประถม 6 |
สี | สีน้ำเงิน-สีชมพู |
เว็บไซต์ | [1] |
โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นโรงเรียนรัฐบาลในสังกัดสำนักงานเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2427 [1] ตั้งอยู่บริเวณวัดมหรรณพารามวรวิหาร ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นประถมศึกษาแบบสหศึกษา
ประวัติ
[แก้]ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสำหรับราชนิกูลหรือบุตรหลานของข้าราชการ พระองค์จึงได้โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น เพื่อให้บุตรหลานของเหล่าราษฎรได้เล่าเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2427 โรงเรียนหลวง สำหรับให้เหล่าราษฎรได้เล่าเรียนแห่งแรก จัดตั้งขึ้นในวัดมหรรณพาราม ตั้งอยู่ในวัด ก็เพราะอาศัยที่วัดหรือศาลาวัดทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ประเพณีของคนไทยก็ให้บุตรหลานเข้าเรียนหนังสือในวัดมาช้านานแล้ว
เมื่อจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก ปรากฏข่าวลือว่าทางการต้องการเด็กไปเป็นทหารทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ราษฎรจนไม่กล้าส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน ข่าวลือดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องมีพระบรมราชโองการว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งหากทางราชการต้องการทหารก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพราะสามารถคัดเอาคนมาเป็นทหารได้อยู่แล้ว[1]
โรงเรียนวัดมหรรณพ์สถานที่เรียนเดิมนั้นให้หอสวดมนต์ คณะ 1 ของวัดเป็นที่เรียน ต่อมาย้ายไปอาคารข้างหอระฆังด้านข้างของอุโบสถ อาคารนี้ได้ทรุดโทรมลง พระวิสุทธิโสภณ (โพธิ) เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ย้ายไปยังด้านหน้าพระวิหารทางทิศใต้ของศาลาการเปรียญเป็นอาคารแบบชั้นเดียวยกพื้นขึ้น หลังคามุงด้วยสังกะสี
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 จังหวัดพระนครได้โอนให้อยู่ในสังกัดเทศบาลนครบาล นครกรุงเทพ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเทศบาล 22 (วัดมหรรณพ์)
ปี พ.ศ. 2483 ทำการสร้างอาคารเรียนใหม่โดยรื้ออาคารเก่าออกและขยายเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีทั้งหมด 8 ห้องเรียน
ปี พ.ศ. 2507 ทางเทศบาลนครกรุงเทพให้รื้ออาคารเก่าและสร้างใหม่ ใช้มาจนปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2517 ขยายอาคาร 3 ชั้น ไปทางด้านทิศตะวันออก
ปี พ.ศ. 2526 ขยายอาคาร 3 ชั้น ไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน[2]
ปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ในขณะดำรงพระอิศริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ทรงรับโรงเรียนวัดมหรรณพ์ อยู่ในพระราชูปถัมภ์ฯ และทรงมีกระแสรับสั่งให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนวัดมหรรณพ์ เป็น “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” ตามเดิมวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการแบ่งส่วนราชการภายในหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 84) เพื่อประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิม โรงเรียนวัดมหรรณพ์ เป็น “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม”
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "กำเนิดโรงเรียนของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2011-11-23.
- ↑ "ประวัติโรงเรียนวัดมหรรณพ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-24. สืบค้นเมื่อ 2011-11-23.