สะพานกรุงธน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สะพานกรุงธน | |
---|---|
สะพานกรุงธน มุมมองจากท่าเรือด่วนสะพานกรุงธน | |
เส้นทาง | ถนนราชวิถี |
ข้าม | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ที่ตั้ง | เขตดุสิต, เขตบางพลัด |
ชื่อทางการ | สะพานกรุงธน |
ผู้ดูแล | กรมทางหลวงชนบท |
รหัส | ส.002 |
เหนือน้ำ | สะพานเกียกกาย (กำลังก่อสร้าง) |
ท้ายน้ำ | สะพานพระราม 8 |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ประเภท | ชนิดปิดตายช่วงต่อเนื่องกัน |
วัสดุ | เหล็กและคอนกรีต |
ความยาว | 366.20 เมตร |
ความสูง | 7.50 เมตร |
จำนวนช่วง | 6 |
ประวัติ | |
วันเริ่มสร้าง | 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 |
วันสร้างเสร็จ | 7 มีนาคม พ.ศ. 2500 |
วันเปิด | 7 มีนาคม พ.ศ. 2500 |
สะพานกรุงธน (อังกฤษ: Krung Thon Bridge) หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า สะพานซังฮี้ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนราชวิถี เชื่อมระหว่างแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กับแขวงบางพลัดและแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท
ประวัติ
[แก้]สะพานกรุงธนเริ่มก่อสร้างเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 โดยบริษัทฟูจิ คาร์แมนูแฟ็กเจอริง จำกัด ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัท สหวิศวการโยธา จำกัด เป็นผู้แทนในประเทศไทย และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 สะพานกรุงธนประกอบด้วยโครงสะพานเหล็กยาว 6 ช่วง เชิงสะพานทั้งสองฝั่งเป็นคอนกรีต มีทางเท้าทั้งขนาบสองข้าง ช่วงลอดกลางสะพานสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 7.50 เมตร สร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2500 งบประมาณค่าก่อสร้างรวมเป็นเงินทั้งหมด 24,837,500 บาท
สะพานกรุงธนเป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมแก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแบ่งเบาความคับคั่งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานกรุงธนสร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2501 เรียกกันว่า สะพานซังฮี้ เพราะเริ่มต้นที่ถนนราชวิถีหรือถนนซังฮี้ และขณะที่เริ่มก่อสร้างประชาชนเรียกสะพานนี้ว่า "สะพานซังฮี้" จึงเรียกกันมาจนปัจจุบัน
ที่มาของชื่อ "สะพานซังฮี้"
[แก้]ชื่อ ซังฮี้ (อักษรจีน: 雙喜; เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว ขณะที่สำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า "ช้วงสี่" l สำเนียงจีนไหหลำ “เตียนฮี่”) เกี่ยวพันกับเครื่องกิมตึ้ง ซึ่งเป็นชื่อเครื่องถ้วยชามของประเทศจีน มีลวดลายต่าง ๆ ตกแต่งสวยงาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมสั่งถ้วยชามเหล่านี้มาจากประเทศจีนเพื่อใช้และสะสมเป็นของมีค่า และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ได้พระราชทานนามตำหนัก ถนน สะพาน และคลองต่าง ๆ ภายในพระราชวังดุสิต เป็นชื่อเครื่องกิมตึ้งของประเทศจีนทั้งสิ้น เช่น ชื่อถนนด้านหลังพระราชวัง พระราชทานนามว่า ซังฮี้ แปลว่า ความยินดี มาสองอย่างพร้อมกัน ซัง (雙) แปลว่า คู่ ฮี่ (喜) แปลว่า ความยินดี เช่น ได้ลูกชาย พร้อมกับได้เลื่อนตำแหน่ง อย่างนี้เรียก ซังฮี้ (ความยินดีมาสองอย่างพร้อมกัน)
ถนนซังฮี้ในตอนแรกสร้างมีระยะทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสุดบริเวณด้านหลังพระราชวังดุสิตและได้ขยายต่อมาในภายหลัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามสถานที่หลายแห่งนั้น ถนนซังฮี้ก็เป็นถนนหนึ่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "ถนนราชวิถี" เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะทำการสร้าง ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบชื่อสะพานอย่างเป็นทางการจึงเรียกชื่อสะพานว่า สะพานซังฮี้ เพราะสะพานนี้เริ่มต้นปลายถนนซังฮี้ทางด้านฝั่งพระนคร ต่อมาเมื่อสร้างเสร็จแล้วรัฐบาลได้ให้ชื่อว่า "สะพานกรุงธน" อย่างเป็นทางการ
ข้อมูลทั่วไป
[แก้]- วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 แล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2500
- บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : FUJI CAR MANUFACTURING CO., LTD.
- ราคาค่าก่อสร้าง : 24,837,500.00 บาท
- แบบของสะพาน : ชนิดปิดตายช่วงต่อเนื่องกัน
- ความยาวของสะพาน : 366.20 เมตร
- สูงจากน้ำทะเลปานกลาง : 7.50 เมตร
- เชิงลาดสะพานฝั่งพระนคร : 185.50 เมตร
- เชิงลาดสะพานฝั่งธนบุรี : 97.20 เมตร
- รวมความยาวทั้งหมด : 648.90 เมตร
- ช่องจราจร : 4 ช่อง
- ทางเท้ากว้างข้างละ : 2.50 เมตร
- น้ำหนักโครงเหล็ก : รวมทั้งพื้นจราจร สำหรับช่วง 64.00 ม. หนัก 440 ตัน สำหรับช่วง 58.00 ม. หนัก 400 ตัน รับน้ำหนักได้ TRACTOR TRUCK WITH SEMI-TRAILER 29.25 TONS ต่อช่วงสะพานหรือ 16 TONS TRUCK TRAINS วิ่งสวนกัน 4 คัน และ วิ่งตามกันห่าง 4 ม. น้ำหนักแผ่อีก 400 km/m2
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- Krung Thon Bridge เก็บถาวร 2008-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Bureau of Maintenance and Traffic Safety, Thailand. Retrieved on 31 December 2007 (อังกฤษ)
- รู้ไหมทำไม! สะพานกรุงธน ถึงมีอีกชื่อว่า สะพานซังฮี้ แล้ว "ซังฮี้"แปลว่าอะไร, มติชนออนไลน์. Retrieved on 05 July 2015 (ไทย)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สะพานกรุงธน
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°46′51″N 100°30′11″E / 13.780892°N 100.502951°E
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน | |||
---|---|---|---|
เหนือน้ำ สะพานเกียกกาย |
สะพานกรุงธน |
ท้ายน้ำ สะพานพระราม 8 |