เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4
เจ้าจอมมารดา ชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2387 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 (79 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
บุตร | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
บิดามารดา | พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) คล้าย โรจนดิศ |
เจ้าจอมมารดาชุ่ม (สกุลเดิม โรจนดิศ, พ.ศ. 2387 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2466) เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าจอมมารดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประวัติ
[แก้]เจ้าจอมมารดาชุ่ม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)[1] และขรัวยายคล้าย เป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเที่ยงและเจ้าจอมช้อย ในรัชกาลที่ 4[2] และเป็นพี่สาวต่างมารดาของเจ้าจอมมารดาทับทิมและเจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเจ้าลูกยาเธอหนึ่งพระองค์ คือ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (พ.ศ. 2405-2486)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จนได้เป็นเหตุให้มีการแก้ไขธรรมเนียมการออกนามเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือ "ความทรงจำ" ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2437 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประชวรด้วยโรคไข้ส่า ซึ่งขณะนั้นเกิดเป็นโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ วันหนึ่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงพลัดตกเตียงขณะจะทรงประทับนอนพักผ่อนในห้องสมุดส่วนพระองค์วังสะพานดำรงสถิตย์ เนื่องจากผู้ถวายการรับใช้กางเตียงถวายไม่เต็มที่ แต่ข่าวลือถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าอาการประชวรของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพหนักจนถึงดิ้นรนพลัดตกเตียง ก็ตกพระราชหฤทัย ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมมารดาชุ่มเพื่อทรงไต่ถามพระอาการของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อผนึกซองพระราชหัตถเลขาแล้วจะทรงสลักหลังซองว่า "ถึงชุ่มเจ้าจอมมารดา" ตามธรรมเนียมการออกนามเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ณ เวลานั้น (การออกชื่อตัวแล้วต่อท้ายด้วยคำว่าเจ้าจอมมารดา หมายความว่าเจ้าจอมมารดาผู้นั้นเป็นหม้าย) ทรงนึกสงสาร จึงทรงเขียนที่หลังซองใหม่ว่า "ถึงเจ้าจอมมารดาชุ่ม" แล้วเลยมีพระราชดำรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ให้เปลี่ยนระเบียบเรียกเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ให้ใช้คำ เจ้าจอมมารดา นำชื่อ แต่ให้เติมลำดับรัชกาลเข้าข้างหลังเช่นว่า เจ้าจอมมารดาชุ่มรัชกาลที่ 4 ดังนี้ และใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงปัจจุบัน[3]
เจ้าจอมมารดาชุ่ม ป่วยเป็นโรคบิดมีไข้เจือด้วยโรคชรา มีอาการอ่อนเพลียลงโดยลำดับจนถึงแก่อสัญกรรม ณ วังวรดิศ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เวลา 14.35 น. สิริอายุได้ 79 ปี วันต่อมา เวลา 11.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าพนักงานเชิญศพลงลองใน ตั้งบนแท่น 2 ชั้นในท้องพระโรง ประกอบโกศไม้สิบสอง แวดล้อมด้วยฉัตรเบญจา 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงทอดผ้าไตรบังสุกุล พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 15 วัน[4] ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันจันทร์ ที่ 10 พฤษภาคม 2469 ที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร พร้อมกับพระศพของหม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ วุฒิชัย พระชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงทหารเรือในขณะนั้น[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง "ตำนานพุทธเจดีย์สยาม" (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "ตำนานพระพุทธเจดีย์" ในการพิมพ์ครั้งต่อ ๆ มา) และจัดพิมพ์เพื่ออุทิศพระกุศลสนองคุณพระมารดาในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้น[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2454 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[7]
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (ม.ป.ร.2)[8]
- พ.ศ. 2444 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2 (จ.ป.ร.2)[9]
- พ.ศ. 2456 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 (ว.ป.ร.3)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - ราชสกุลสายพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
- ↑ "ข้อมูลโดยสังเขปหม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล - ต้นสกุลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-16. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2489). ความทรงจำ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงค้างไว้ห้าตอน. พระนคร: ม.ป.ท. หน้า 162-164.
- ↑ "ข่าวอสัญญกรรม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (0 ง): 1273–1274. 22 กรกฎาคม 2466. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ข่าวในพระราชสำนัก
- ↑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ. "ตำนานพุทธเจดีย์สยาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ ๔ ท จ ว, รัตน ม ป ร, ว ป ร. ๓ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙". vajirayana.org. สืบค้นเมื่อ 2018-12-18.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, วันที่ ๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๘, ๑๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๓๐, หน้า ๑๗๙๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๗๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 18, 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120, หน้า 875