ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง ในรัชกาลที่ 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แสง ในรัชกาลที่ 4

เกิดหม่อมราชวงศ์แสง
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2389
ประเทศสยาม
ถึงแก่กรรม24 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 (80 ปี)
ประเทศสยาม
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดาหม่อมเจ้านิ่ม ปาลกะวงศ์
มารดาหม่อมฟัก ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา[2]

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2389 — 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2469) เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประสูติการพระราชธิดาสองพระองค์คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพศรีสอาด[3][4]

ประวัติ

[แก้]

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง เกิดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2389 เป็นธิดาของหม่อมเจ้านิ่ม ปาลกะวงศ์ โอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์กับหม่อมน้อย พระธิดาเจ้านครหลวงพระบาง มารดาคือหม่อมฟัก ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ธิดาพระยาสุเรนทร์ราชเสนา (กลีบ)[5]

หม่อมราชวงศ์แสงอายุได้ 9 ปี หม่อมเจ้านิ่มสิ้นชีพิตักษัย หม่อมเจ้าทินกรในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ ได้รับมาโกนจุกพร้อมหม่อมราชวงศ์ถนอม เสนีวงศ์ หม่อมราชวงศ์แสงได้อยู่กับหม่อมเจ้าฟักผู้เป็นอาบ้าง หม่อมเจ้าทินกรบ้าง จนอายุได้ 12 ปี หม่อมเจ้าฟักจึงได้นำตัวไปถวายเป็นละครหลวงอยู่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงเดือน เมื่ออายุได้ 16 ปี ได้เข้ารับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 3 ชั่ง ต่อมาได้ประสูติการพระราชธิดาสองพระองค์จึงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 4 ชั่ง กับได้รับพระราชหีบหมากทองคำ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสงพำนักอยู่ในพระบรมหาราชวังตลอดในรัชกาลที่ 4 จนมาถึงรัชกาลที่ 5[5]

เจ้าจอมมารดาแสงสนองพระเดชพระคุณประสูติการพระราชธิดาสองพระองค์คือ[2][3][4][6]

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส (3 มีนาคม พ.ศ. 2408 — 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2450)
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพศรีสอาด (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2410 — 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2453)

เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง เริ่มป่วยเป็นโรคท้องมารมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่คงยังรักษาตัวอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีอาการทรุดลงจึงย้ายออกมาอยู่บ้านพระยาสากลกิจประมวญ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชทานหมอหลวงมารักษาโดยตลอด[5]

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง มีอาการทรุดหนักขึ้น และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 สิริอายุ 81 ปี[1] ได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรับอุปการะบำเพ็ญพระกุศลโดยตลอด[5] ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2473[7]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ข่าวตาย
  2. 2.0 2.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 71. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.
  3. 3.0 3.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 314
  4. 4.0 4.1 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 133
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 พระยาสากลกิจประมวญ (หม่อมหลวงแปลก ปาลกะวงศ์). ประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันท์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แสง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรณฒธนากร, พ.ศ. 2473. 60 หน้า.
  6. ปัญหาพระยามิลินท์ เล่ม 2 ตอนมณฑลปัญหา. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2475, หน้าปก
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเพลิงพระศพและศพที่เมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ. 2473, เล่มที่ 47 หน้าที่ 845 วันที่ 8 มิถุนายน 2473.