ราชวงศ์เซี่ย
เซี่ย 夏 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ประมาณ 2070 ปีก่อนคริสตกาล–ประมาณ 1600 ปีก่อนคริสตกาล | |||||||||
ที่ตั้งของราชวงศ์เซี่ย | |||||||||
สถานะ | อาณาจักร | ||||||||
เมืองหลวง | หยางเฉิง | ||||||||
ภาษาทั่วไป | จีน | ||||||||
ศาสนา | ศาสนาพื้นบ้านจีน | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
พระราชา | |||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
• สถาปนาราชวงศ์เซี่ย โดยพระเจ้าอวี่ | ประมาณ 2070 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||
• พระเจ้าฉี่ขึ้นครองราชย์ | ประมาณ 2025 ก่อนคริสตกาล | ||||||||
• พระเจ้าเจี๋ยถูกขับออกจากราชบัลลังก์ | ประมาณ 1600 ก่อนคริสตกาล | ||||||||
• สิ้นสุด | ประมาณ 1600 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||
สกุลเงิน | เบี้ย, เหรียญจีน | ||||||||
|
เซี่ย | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ภาษาจีน | 夏 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | Xià | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
เป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์จีน |
---|
ราชวงศ์เซี่ย (จีน: 夏朝, พินอิน: xià cháo) เป็นราชวงศ์แรกของจีน ปกครองประเทศจีนในช่วง 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล มีอายุอยู่ได้ราว 500 ปี ในอดีตนักวิชาการและบุคคลโดยทั่วไปเชื่อว่าเรื่องราวของราชวงศ์เซี่ยเป็นเพียงเรื่องแต่งหรือปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อถือได้
ในปี ค.ศ. 1959 ได้เริ่มมีการค้นหาแหล่งที่มาของวัฒนธรรมเซี่ย โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการขุดค้นและตรวจสอบทางโบราณคดีรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่แถบตะวันตกของเหอหนานและทิศใต้ของมณฑลซานซี เพื่อลดขอบเขตพื้นที่เป้าหมายในการค้นหาให้แคบเข้า ปัจจุบัน มีนักวิชาการจำนวนมากเห็นว่า วัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว (二里头文化) จากหลุมขุดค้นเหยี่ยนซือเอ้อหลี่โถวและวัฒนธรรมหลงซาน (龙山文化) ในเขตตะวันตกของมณฑลเหอหนานนั้น น่าจะเป็นวัฒนธรรมในสมัยเซี่ย แต่เนื่องจากยังขาดหลักฐานทางตรงและหลักฐานที่เป็นตัวอักษร ดังนั้นปัจจุบันนี้ จึงยังคงไม่อาจระบุชัดว่าสิ่งที่ขุดค้นได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเซี่ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่พบในวัฒนธรรมหลงซานและวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว ก็ทำให้มีข้อมูลมากพอที่จะช่วยเสริมความรู้ที่ขาดหายไปในช่วงเวลานี้เป็นอย่างดี
จากบันทึกของซือหม่าเซียน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนมักเริ่มนับราชวงศ์เซี่ยโดยเริ่มจากเซี่ยหวี่ (夏禹) หรือพระเจ้ายู้ ถึงลวี่กุ่ย (履癸) หรือเซี่ยเจี๋ย (夏桀) ในระยะเวลา 400 กว่าปี มีกษัตริย์ครองบัลลังก์ 17 พระองค์ มีการสืบทอดอำนาจถึง 14 ชั่วคน
การก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีรากฐานของอำนาจจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เป็นสัญญาณว่าสังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ทรัพย์สินเป็นของสาธารณะอันยาวนาน กำลังถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบยึดครองทรัพย์สินส่วนตัว และนี่ก็เป็นวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่ง ทว่า โดยปกติการก่อเกิดของระบบใหม่ มักต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เมื่อเซี่ยฉี่ (夏启) บุตรของเซี่ยหวี่เข้ารับสืบทอดตำแหน่งของบิดา (禹) ก็ได้เชิญบรรดาหัวหน้าชนเผ่าจากดินแดนต่าง ๆ มาร่วมในงานเลี้ยง เพื่อรับรองการขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ของตน
กลุ่มฮู่ซื่อ (扈氏) ไม่พอใจเซี่ยฉี่ ที่ยกเลิกระบบการคัดสรรผู้มีความสามารถเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่เดิม จึงไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้น เซี่ยฉี่จึงยกกองทัพออกไปปราบฮู่ซื่อ โดยทำศึกกันที่กาน (甘) ฮู่ซื่อพ่ายแพ้ถูกลบชื่อออกไป ชัยชนะจากการรบครั้งนี้ ทำให้ก้าวแรกของระบบอำนาจใหม่นี้แข็งแรงขึ้น
ระบบการปกครองแบบใหม่นี้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองคนใหม่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดประสบการณ์ในการปกครอง รากฐานของอำนาจที่มาจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ในช่วงระยะของการฟูมฟักของการก้าวขึ้นสู่อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ สภาพการขูดรีด แย่งชิง และความกระหายในการเสพสุขของผู้ปกครองก็ยังเป็นไปอย่างรุนแรง และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกันเองได้
ดังนั้น เมื่อเซี่ยฉี่ตายลง บุตรชายของเขาทั้งห้าคนก็แย่งชิงอำนาจกัน ผลคือเมื่อไท่คัง (太康) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากฉี่ (ครองราชย์ 29 ปี) ก็ไม่สนใจดูแลกิจการงานเมือง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี ต่อมาจึงถูกอี้ (羿) ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐฉง (穷氏) สบโอกาสเข้าแย่งชิงอำนาจ ภายหลังเมื่ออี้ถูกขุนนางของเขาที่ชื่อหานจั๋ว (寒浞) สังหารแล้ว เส้าคัง (少康) (ครองราชย์ 21 ปี) บุตรชายของไท่คังซึ่งหลบหนีไปรัฐโหย่วหวี (有虞氏) ได้รับความช่วยเหลือจากโหย่วหวี รวบรวมขุมกำลังเก่าของเซี่ยขึ้นใหม่ แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ภายในของกลุ่มหานจั๋วเกิดความวุ่นวาย เข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อกอบกู้ราชวงศ์เซี่ยกลับคืนมา
นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เซี่ย ที่เรียกขานกันต่อมาว่า "ไท่คังเสียเมือง " (太康失国) "อี้ยึดครองเซี่ย" (后羿代夏) และ "เส้าคังฟื้นฟูเซี่ย" (少康中兴)
เมื่อถึงปลายราชวงศ์ ศูนย์อำนาจภายในเกิดความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกไม่หยุดยั้ง ข้อขัดแย้งทางชนชั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเซี่ยเจี๋ย (夏桀) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ (ช่วงก่อนคริสต์ศักราช 1,763 ปี ครองราชย์ 52 ปี) ก็ไม่คิดจะปฏิรูปแก้ไขสิ่งใด ยังคงเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อในอำนาจ โดยสั่งให้ก่อสร้างตำหนักพระราชวัง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยมากมาย มัวเมาอยู่กับสุรานารี โดยไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของเหล่าประชาราษฎร์พากันก่นด่าประณาม เหล่าขุนนางที่จงรักภักดี กลับถูกสั่งคุมขังหรือประหารชีวิต บรรดาเจ้านายชั้นสูงต่างก็พากันเอาใจออกห่าง เซี่ยเจี๋ยจึงตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยว ซางทัง (商汤) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ต่อมาคือราชวงศ์ซาง เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงใช้ข้ออ้างว่า "ฟ้ากำหนด" กล่าวหาว่าเซี่ยทำผิดต่อฟ้า จึงต้องถูกลงทัณฑ์ โดยขอให้ทุกคนรวมพลังกันเข้าโจมตี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งฟ้า การศึกระหว่างซางทังและเซี่ยเจี๋ยที่หมิงเถียว (鸣条) ซางทังชนะ เจี๋ยหลบหนีไป และเสียชีวิตที่หนานเฉา ราชวงศ์เซี่ยจึงถึงกาลอวสาน
ดูเพิ่ม
[แก้]-
กาใส่เหล้าวัฒนธรรมราชวงศ์เซี่ย
อ้างอิง
[แก้]- Deady, Kathleen W. and Dubois, Muriel L., Ancient China. Mankato, MN: Capstone Press, 2004.
- Lee Yuan-Yuan and Shen, Sinyan. Chinese Musical Instruments (Chinese Music Monograph Series). 1999. Chinese Music Society of North America Press. ISBN 1-880464-03-9
- Allan, Sarah (1991), The Shape of the Turtle: Myth, Art and Cosmos in Early China (S U N Y Series in Chinese Philosophy and Culture). State University of New York Press. ISBN 978-0-7914-0459-1
- Allan, Sarah, "Erlitou and the Formation of Chinese Civilization: Toward a New Paradigm", The Journal of Asian Studies, 66:461–496 Cambridge University Press, 2007
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | ราชวงศ์เซี่ย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สามราชาห้าจักรพรรดิ | ราชวงศ์ในประวัติศาสตร์จีน (2070–1600 ปีก่อนคริสตกาล) |
ราชวงศ์ชาง |