ข้ามไปเนื้อหา

มหาวัสตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวัสตุอวทาน หรือ มหาวัสตุ (สันสกฤต: महावस्तु มหาวสฺตุ หมายถึง เหตุการณ์ครั้งสำคัญ หรือ เรื่องที่ยิ่งใหญ่) เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญสูงสุดคัมภีร์หนึ่งในพุทธศาสนาภาษาสันสกฤต มีข้อความระบุในนิทานคาถาว่า มหาวัสตุเป็นพระวินัยปิฎก[1] ของนิกายโลโกตตรวาท (นิกายย่อยของสำนักมหาสังฆิกะ ซึ่งรุ่งเรืองในมัธยมประเทศของอินเดีย) แต่โดยสัดส่วนแล้ว มีเนื้อหาของคัมภีร์มีความเกี่ยวข้องกับพระวินัยที่เป็นเรื่องสิกขาบทของพระสงฆ์ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นงานประพันธ์ประเภทชาดกและอวทาน และยังสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับคติชนวิทยา ศีลธรรม และการเมืองการปกครอง เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

คัมภีร์มหาวัสตุอวทานนี้แต่งขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คะเนจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานว่า น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 8 และเพิ่มเติมอีกหลายครั้งจนถึงพุทธศตวรรษที่ 9 [2] แต่ต้นฉบับเดิมของคัมภีร์คงจะสูญหายไปนานแล้ว เหลือแต่ฉบับที่พบในประเทศเนปาล เอมิล เซนาร์ต (Émile Senart) ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตชาวฝรั่งเศสได้ตรวจชำระ ทำเชิงอรรถ และจัดพิมพ์เป็น 3 เล่ม ระหว่าง พ.ศ. 2425 – 2440 [3]

ต่อมา เจ. เจ. โจนส์ (John James Jones) ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตชาวเวลส์ ได้นำฉบับที่เซนาร์ตตรวจชำระนั้นมาแปลจากภาษาสันสกฤต เป็นภาษาอังกฤษ แล้วตีพิมพ์ ระหว่าง พ.ศ. 2493 – 2499

ในฉบับภาษาไทยนั้น รศ.ดร.สำเนียง เลื่อมใส ได้แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครีซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในอินเดีย ทั้ง 3 เล่ม และมูลนิธิสันสกฤตศึกษาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดพิมพ์มหาวัสตุอวทาน เล่ม 1 เมื่อ พ.ศ. 2553 มหาวัสตุอวทาน เล่ม 2 เมื่อ พ.ศ. 2557 และมหาวัสตุอวทาน เล่ม 3 เมื่อ พ.ศ. 2561 ตามลำดับ

ภาษา

[แก้]

ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์มหาวัสตุอวทานนี้ เป็นภาษาสันสกฤตผสม (Hybrid Sanskrit) ซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาสันสกฤตสมัยพระเวท และภาษาสันสกฤตแบบแผน โดยเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะในการเขียนหลักธรรมและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ ที่แตกแขนงมาจากสำนักมหาสังฆิกะ เช่น นิกายสรวาสติวาท นิกายโลโกตตรวาท เป็นต้น

การประพันธ์นั้น มีการพรรรณนาด้วยร้อยแก้วเป็นส่วนใหญ่ สลับด้วยคาถา ซึ่งเป็นร้อยกรองบ้าง

เนื้อหา

[แก้]

เนื้อหาโดยรวมของมหาวัสตุอวทานคือ ประวัติของพระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน คือ

ส่วนที่ 1 ว่าด้วยเหตุการณ์ในอดีตกาลอันไกลโพ้นของพระพุทธแจ้า และพระโพธิสัตว์ในสมัยพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า ทีปังกร และพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ อีกหลายพระองค์ มีฉากสวรรค์เล่าถึงพระโพธิสัตว์ขณะประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิต และเสด็จลงสู่ครรภ์ของพระนางมายา

ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการอุบัติของพระโพธิสัตว์ การอภิเษกสมรส การสละชีวิตทางโลก และเสด็จออกจากพระราชวัง เพื่อแสดงหาทางหลุดพ้น รวมทั้งการเผชิญหน้ากับพญามาร และตรัสรู้สัจธรรมอันสูงสุดภายใต้ร่มโพธิ์

ส่วนที่ 3 เนื้อหามีความสัมพันธ์กับคัมภีร์มหาวรรค ในพระวินัยปิฎกฉบับภาษาบาลี โดยเฉพาะเรื่องเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัย และเรื่องการบรรพชาพระอัครสาวก การประกาศศาสนา

รูปแบบ

[แก้]

รูปแบบโดยรวมของคัมภีร์อาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 พุทธประวัติและพุทธกิจ ตั้งแต่พระโพธิสัตว์เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาประสูติ เสด็จออกผนวช ตรัสรู้ และเผยแพร่พระศาสนา

กลุ่มที่ 2 ชาดก เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

กลุ่มที่ 3 อวทาน เป็นเรื่องของพระสาวก และผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน

กลุ่มที่ 4 สูตรและไวยากรณ์ เป็นพระธรรมเทศนาที่แสดงแก่บุคคลต่าง ๆ รวมทั้งการอธิบายขยายความ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Tournier 2012, pp. 89–90.
  2. มหาวัสตุอวทาน เล่ม ๑. แปลโดย สำเนียง เลื่อมใส. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสันสกฤตศึกษา, 2553. หน้า (๕). ISBN 9789744013705.
  3. J.K. Nariman (1992). "Literary History of Sanskrit Buddhism" (Reprinted ed.). Delhi: Motilal Banarsidass. pp. 11–18. ISBN 81-208-0795-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • สำเนียง เลื่อมใส (แปล) (2553, 2557, 2561). มหาวัสตุอวทาน เล่ม ๑, ๒, ๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสันสกฤตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ฯ. (พร้อมภาคภาษาสันสกฤต อักษรไทย). ISBN 9789744013705, 9786169211808, 9786169211815.
  • Jones, J.J. (trans.) (1949–56). The Mahāvastu (Vol. I, II, III). London: Luzac & Co. ค้นเมื่อ 3 เมษายน 2553 จากอินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์
  • รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2548). นิทานชาดก ฉบับเปรียบเทียบในคัมภีร์มหาวัสตุและอรรถกถาชาดก. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์. ISBN 9749307879.