ข้ามไปเนื้อหา

ดุษฎี พนมยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ดุษฎี บุญทัศนกุล)
ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
ชื่อเกิดดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
รู้จักในชื่อครูดุษ
เกิด18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (85 ปี)
ที่เกิดไทย
แนวเพลงดนตรีคลาสสิก
อาชีพอาจารย์, นักร้องโอเปร่า, นักวิชาการดนตรี, นักเขียน
เครื่องดนตรีเปียโน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง
สมาชิกผู้อำนวยการวงคอรัสสวนพลู
เว็บไซต์http://www.suanpluchorus.com/

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากล นักดนตรีคลาสสิก ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาขับร้องคลาสสิกในประเทศไทย มีผลงานผลิตครู อาจารย์ และนักร้องคลาสสิกที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมส่งเสริมศิลปะการขับร้องประสานเสียงไทย อาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์​ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู และยังเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ[1]

ประวัติ[แก้]

ดุษฎี บุญทัศนกุล เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ที่ "บ้านพูนศุข" ป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีคนที่ 5 ในจำนวน 6 คนของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) หลังจากเกิดได้เจ็ดวัน นายปรีดีได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มราชการแผ่นดิน จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงตั้งชื่อลูกสาวที่เพิ่งเกิดใหม่ว่า ดุษฎี[2] ต่อมาได้สมรสกับนายชาญ บุญทัศนกุล เมื่อ พ.ศ. 2518

การศึกษา[แก้]

เริ่มเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์และชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จากนั้นไปศึกษาต่อยังกรุงปักกิ่ง จนจบการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกขับร้อง วิชาโทเปียโน ณ สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง (Beijing Central Conservatory of Music) เมื่อ พ.ศ. 2508 ต่อมาได้เรียนเพิ่มเติมที่ราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน (Royal College of Music, London) พ.ศ. 2517[3]

การทำงาน[แก้]

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง ดุษฎี บุญทัศนกุล ได้ตามไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2513 เริ่มอาชีพเป็นครูสอนเปียโนประจำสถาบันดนตรีของรัฐที่เมืองก็อง (Caen) และได้ไปเรียนวิชาดนตรีเพิ่มเติมที่ Royal College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2518 โดยเริ่มต้นสอนดนตรีเป็นการส่วนตัวที่สตูดิโอบ้านสวนพลู ในขณะเดียวกัน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ฝากฝังให้ทำงานที่สถานทูตฝรั่งเศส ในตำแหน่งเลขาของผู้แทนถาวรฝรั่งเศส ประจำองค์กร SEAMEO

จากการที่เป็นครูสอนขับร้องคลาสสิก ดุษฎีได้รับเชิญจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ให้มาช่วยแนะนำเทคนิคการขับร้องพื้นฐานแก่นักร้องที่เข้ารอบรองชนะเลิศการประกวดของสยามกลการ ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน และได้รับเชิญไปสอนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งอาทิ

  • พ.ศ. 2527 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2535 - 2550 ภาควิชาศิลปะนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2543 - 2546 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • พ.ศ. 2542 - 2552 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับการทาบทามจากอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ให้มาบุกเบิกการสอนภาควิชาขับร้องคลาสสิกเป็นรุ่นแรก
  • อาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

จากการเป็นครูแล้วดุษฎียังจัดรายการวิทยุ "เพลงเพื่อการผ่อนคลาย" คลื่นความคิด เศรษฐกิจ และสังคม และยังจัดรายการ "Goodnight by Dusdi Banomyong" คืนดีๆที่ 96.5 ทางสถานีวิทยุ อสมท.อีกด้วย

ลำดับสาแหรก[แก้]

ผลงานแสดง[แก้]

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาดุษฎีมีผลงานแสดงเดี่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญมีอาทิ

  • พ.ศ. 2514 ร้องนำในคณะนักร้องประสานเสียงสามชาติ ในงานมหกรรมดนตรี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2527 แสดงนำในอุปรากรเรื่อง Hansel and Gretel จัดโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
  • พ.ศ. 2539 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2540 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2543 นักร้องเดี่ยวในการแสดงรอบปฐมทัศน์ "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[4]
  • พ.ศ. 2545 แสดงขับร้องใน "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ร่วมกับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงแห่งชาติเวียดนาม ณ ฮานอย
  • พ.ศ. 2546 แสดงในอุปรากร "แม่นาก" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2547 แสดงขับร้องเดี่ยว "สัมผัสรัก...จากไทยสู่เวียดนาม" ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ณ โรงละครโอเปร่า ฮานอย
  • พ.ศ. 2549 แสดงขับร้องเดี่ยวงาน "Jazz Concert เฉลิมพระเกียรติ" ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สิริสมบัติครบ 60 ปี จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโล ณ โรงอุปรากร กรุงออสโล ประเทศนอรเวย์
  • พ.ศ. 2550 ขับร้องเดี่ยวในงาน October Zone จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดุษฎี บุญทัศนกุล เป็นผู้รังสรรค์หลักสูตร "ลมหายใจ...คนตรี...ชีวิต" ดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นวิทยากรในโครงการดังกล่าวให้กับภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 14,000 คน ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน และยังเป็นกรรมการตัดสินประกวดร้องเพลงในระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ สยามกลการ, นิสสันอวอร์ด, เคพีเอ็นอวอร์ด, การประกวดขับร้อง 5 ภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์, กรรมการตัดสินการประกวดขับร้องชิงชนะเลิศเอเชีย Asia Music Festival 2000 และ 2001 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ China International Chorus Festival 2002 ณ กรุงเป่ยจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดนักร้องหน้าใหม่ชิงชนะเลิศเอเชีย Asia New Singer Competition 2004 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศ Pan Asia Music Festival 2010

นอกจากนี้ดุษฎียังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง สำหรับสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการประจำปี 2552 ของกระทรวงต่างประเทศ

ผลงานเกียรติยศ[แก้]

  • ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ พ.ศ. 2540
  • รางวัล Bangkok Opera's Silver Rose Award 2007, Lifetime achievement for contribution to opera in Thailand พ.ศ. 2550
  • ได้รับการตีพิมพ์ประวัติว่าเป็นหนึ่งใน "Divas of Asia" ในนิตยสาร Lifestyle Asia พ.ศ. 2532
  • ได้รับการยกย่องเป็น "Who sang the brtiches role of the God Sudeva with profound musicianship" จากหนังสือ Opera Now พ.ศ. 2544
  • รางวัล Trinity Awards 2009 พ.ศ. 2552
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากล ประจำปี พ.ศ. 2557 [5]

ดุษฎีในฐานะเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้

  • รางวัลเหรียญทองแดงและรางวัลขับร้องเพลงบังคับยอดเยี่ยม ในงานมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ 2002 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2545
  • รางวัลเหรียญเงิน จากมหกรรมการประกวด Choir Olympics 2004 ณ เมืองเบรเมน สหพันธรัฐเยอรมนี พ.ศ. 2547
  • รางวัลเหรียญทองแดง จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2006 ณ เมืองเซี๊ยะเมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2549
  • รางวัลเหรียญเงินสองประเภท จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2008 ณ เมืองกราซ สาธารณรัฐออสเตรีย พ.ศ. 2551

ล่าสุดประสบความสำเร็จในการนำคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในฐานะตัวแทนประเทศไทย ไปเปิดแสดงในงานมหกรรมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนานาชาติ "The Third International Festival of Diversity 2010" ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ดุษฎี พนมยงค์, แม่อยากเล่า...ชีวิต 72 ปีที่ผ่านเลย, สำนักพิมพ์บ้านเพลง, 18 ก.พ. 2554, ISBN 978-974-496-533-2
  2. หนังสือ แม่อยากเล่า...ชีวิต ๗๒ ปีที่ผ่านเลย พิมพ์ครั้งที่2 หน้า39
  3. ดารณี สุนทรนนท์, ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล กับปักกิ่งในความทรงจำ, นสพ.ฅนตรัง ฉบับ 62 / 16-31 ส.ค. 51
  4. กฤษณา อโศกสิน, หน้าต่างบานใหม่ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2387 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2543
  5. หน้า 1 ต่อ 13 ต่อข่าวหน้า 1, สะอาด-ภัทราวดี คว้ารางวัล ศิลปินแห่งชาติ. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,840 วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย
  6. นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ,สวนพลู สู่ ยูเนสโก เก็บถาวร 2010-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรุงเทพธุรกิจ, 14 ก.ค. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]