ข้ามไปเนื้อหา

จ้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kyaung)
เหล่า จ้อง บนถนนอโนรธาในเมืองย่างกุ้ง

จ้อง (พม่า: ဘုန်းကြီးကျောင်း; เอ็มแอลซีทีเอส: bhun:kyi: kyaung:, [pʰóʊɰ̃dʑí tɕáʊɰ̃]) เป็นวัด อาราม วิหาร ประกอบด้วยที่พักอาศัยและสถานที่ปฏิบัติกิจของพระภิกษุสงฆ์พม่า บางส่วนอาจถูกใช้โดย สามเณร, ผู้ดูแล (กัปปิยการก), ตี่ละฉิ่น, ผู้ทรงศีลชุดขาว (ဖိုးသူတော်)[1]

จ้อง เป็นศูนย์กลางวิถีชีวิตในหมู่บ้านพม่ามาช้านาน โดยทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษาสำหรับเด็กและศูนย์กลางชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมทำบุญ เช่น การก่อสร้างอาคาร การถวายอาหารแก่พระสงฆ์ การเฉลิมฉลองวันสำคัญทางศาสนาพุทธและการประกอบพิธีวันอุโบสถ วัด อารามไม่ได้ก่อตั้งโดยสมาชิกคณะสงฆ์แต่โดยฆราวาสที่บริจาคที่ดินหรือเงินเพื่อสนับสนุนการก่อตั้ง

จ้อง โดยทั่วไปสร้างด้วยไม้ ซึ่งวัดในประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นเหลือเพียงไม่กี่แห่ง[2] จ้อง มีอยู่ทั่วไปในประเทศพม่า เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชุมชนชาวพุทธนิกายเถรวาท รวมถึงในประเทศจีนที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เขตปกครองตนเองชนชาติไทและจิ่งพัว เต๋อหง ตามสถิติปี พ.ศ. 2559 ที่เผยแพร่โดย คณะกรรมการสังฆมหานายก ประเทศพม่า มี จ้อง 62,649 แห่ง และสำนักชี 4,106 แห่ง[3]

การใช้และศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ภาษาพม่าสมัยใหม่คำว่า จ้อง (ကျောင်း) มาจากคำว่า kloṅ (က္လောင်) ในภาษาพม่าโบราณ[4] ความเชื่อมโยงอันแน่นแฟ้นระหว่างศาสนาและการศึกษาสะท้อนให้เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า จ้อง เป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกโรงเรียนของฆราวาสในปัจจุบัน[5] จ้อง ยังใช้เรียกโบสถ์คริสต์ วัดฮินดู และวัดจีน มัสยิดเป็นข้อยกเว้นเนื่องจากใช้คำว่า บะลี (ဗလီ) ซึ่งมาจากคำว่า (பள்ளி) ในภาษาทมิฬ ที่แปลว่า 'โรงเรียน'

จ้อง ยังถูกยืมมาใช้ในกลุ่มภาษาไท เช่น ภาษาไทใหญ่ คือ kyong (สะกด ၵျွင်း หรือ ၵျေႃင်း)[6] และในภาษาไทใต้คง คือ zông2 (ᥓᥩᥒᥰ แปลงเป็นภาษาจีน 奘房)

ประเภท

[แก้]

คำอธิบายภาษาพม่า-บาลีของจูฬวรรค ระบุประเภทของวัดพุทธ 5 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน[7] ในทางปฏิบัติจากมุมมองทางสถาปัตยกรรม แบ่งวัดเป็น 3 ประเภทหลักคือ:[7]

  1. วัดที่มีหลังคาเชื่อมติดกัน
  2. วัดที่มีหลังคาทรงกากบาท
  3. ตามการจัดสังฆาวาสและการจัดอุโบสถ

ในประเทศพม่าปัจจุบัน จ้อง อาจถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภท รวมถึงวิทยาลัยสงฆ์ที่เรียกว่า ซาทินไต (စာသင်တိုက်) และวัดป่าห่างไกลที่เรียกว่า ตอยะจ้อง (တောရကျောင်း) เมืองหลักมหาวิทยาลัยสงฆ์ของพม่าได้แก่ พะโค, ปะโคะกู, ซะไกง์[2]

ประวัติศาสตร์

[แก้]
อารามไม้แบบดั้งเดิม

ในยุคก่อนอาณานิคม จ้อง ทำหน้าที่เป็นแหล่งการศึกษาหลัก โดยให้การศึกษาแก่เด็กชายเกือบทุกคน ถือเป็นปราการแห่งอารยธรรมและความรู้ และเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างทางสังคมพม่าก่อนยุคอาณานิคม[1][8] ความสัมพันธ์ระหว่าง จ้อง และการศึกษา ได้รับการส่งเสริมด้วยการสอบของพระสงฆ์ ซึ่งสถาปนาขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2191 ในรัชสมัยของพระเจ้าตาลูน แห่งราชวงศ์ตองอู[9] การศึกษาแบบโบราณได้รับการถ่ายทอดผ่านวัด ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับนักเรียนพม่าศึกษาต่อในระดับสูง และเพื่อก้าวหน้าทางสังคมต่อไปในการบริหารราชการแผ่นดินหลังจากลาสิกขา[10] อันที่จริงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมด เช่น กินหวุ่นมินจี อูกาวง์ ใช้เวลาช่วงวัยสร้างตัวศึกษาที่วัด

การศึกษาของสงฆ์แบบดั้งเดิมได้รับการพัฒนาครั้งแรกในสมัยอาณาจักรพุกาม ควบคู่ไปกับการแพร่กระจายการศึกษาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทช่วงคริสต์ศักราช 1100[8] หลักสูตรของ จ้อง ประกอบด้วยภาษาพม่า ไวยากรณ์บาลี และตำราพุทธศาสนา โดยเน้นที่ระเบียบวินัย ศีลธรรม และจรรยาบรรณ (เช่น มงคลสูตร, สิงคาลกสูตร, ธรรมบท และชาดก) บทสวดมนต์และเลขคณิตเบื้องต้น[1] วัดที่มีชื่อเสียงมักมีหอสมุดเก็บต้นฉบับและตำราจำนวนมาก[10] การศึกษาของสงฆ์มีอยู่ทั่วไปทำให้มีอัตราการรู้หนังสือในชายชาวพุทธพม่าสูง[11] สำมะโนประชากรอินเดียของอังกฤษ พ.ศ. 2444 พบว่าชายชาวพุทธพม่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี 60.3% รู้หนังสือ เมื่อเทียบกับ 10% โดยรวมในอินเดียยุคอังกฤษปกครอง[11]

อารามยอมี่นจี้ เป็นอารามอิฐในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งสร้างตามแบบโรงแรมในภาคใต้ของอิตาลี

จ้อง ที่เรียกว่า บแวจ้อง (ပွဲကျောင်း) ยังสอนวิชาทางโลก เช่น ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ยา การนวด การทำนาย การขี่ม้า การฟันดาบ การยิงธนู ศิลปะหัตถกรรม มวย มวยปล้ำ ดนตรี และนาฏศิลป์[12] ในช่วงสมัยราชวงศ์โก้นบอง กษัตริย์หลายพระองค์รวมทั้งพระเจ้าปดุง ได้ปราบปรามการแพร่กระจายของ บแวจ้อง ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่อาจเกิดการกบฏได้[12]

กฎหมายป้องกันความฟุ่มเฟือยกำหนดการก่อสร้างและตกแต่ง จ้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างอาคารไม่กี่แห่งช่วงพม่าก่อนยุคอาณานิคมที่มีหลังคาหลายชั้นอันวิจิตรที่เรียกว่า ปยะตะ[13] ราวบันไดก่ออิฐเป็นลักษณะเฉพาะของวัดราชวงศ์

ภายหลังการล้มล้างระบอบกษัตริย์พม่าเมื่อสิ้นสุดสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สาม โรงเรียนของสงฆ์จึงถูกแทนที่ด้วยโรงเรียนฆราวาส ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่[8]

ลักษณะทั่วไปของ จ้อง

[แก้]
ภาพวาดสีน้ำช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แสดงภาพ จ้อง ที่มีราวบันไดก่ออิฐ

โดยทั่วไป จ้อง ไปประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า จ้องซอง (ကျောင်းဆောင်) :[14]

  • เตน (သိမ်, จากภาษาบาลี สีมา) - อุโบสถ อาคารที่พระวินัยบัญญัติไว้
  • ดะมะโยน (ဓမ္မာရုံ) - หอประชุมที่ใช้เพื่อการเทศนาและสาธารณประโยชน์
  • เซดี (စေတီ, จากภาษาบาลี เจติย) - เจดีย์หรือสถูป มักปิดด้วยแผ่นทองและมีพระธาตุบรรจุอยู่
  • กันดะกุตี (ဂန္ဓကုဋိ, จากภาษาบาลี คันธกุฎี) - อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของวัด
  • ศาลพระอรหันต์ พระสีวลี และพระอุปคุต
  • ดะกูนไดง์[15] - เสาธงชัยประดับตกแต่ง สื่อถึงการเฉลิมฉลองการยอมจำนนของ นะ (วิญญาณท้องถิ่น) ต่อธรรมะ
  • ซะยะ - ศาลาเปิดโล่งที่ใช้เป็นที่พัก
  • พื้นที่พักอาศัยสำหรับภิกษุและซะยาดอ
  • เจะตะเยค่าน (ကျက်သရေခန်း) - ห้องเก็บของ
  • พื้นที่ประกอบอาหาร
ภาพวาดสีน้ำช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แสดงภาพ จ้อง อันโดดเด่นด้วยหลังคาทรงปยะตะ

วัดแบบดั้งเดิมในสมัยโก้นบองประกอบด้วยอาคารดังต่อไปนี้:

  • ปยะตะซอง (ပြာသာဒ်ဆောင်) - อุโบสถหลักที่ประดิษฐานพระพุทธรูป[16]
  • ซองมะจี้ (ဆောင်မကြီး) หรือ ซองมะ (ဆောင်မ) - ห้องประชุมหลักสำหรับการเทศนา พิธีการ และที่พักของสามเณร
  • ซะนุซอง (စနုဆောင်) - ห้องของเจ้าอาวาสวัด
  • บอกะซอง (ဘောဂဆောင်) - ห้องเก็บเสบียงอาหารของภิกษุ

ในสมัยก่อนอาณานิคม พระอารามหลวงถูกจัดเป็นกลุ่มอาคารที่เรียกว่า จ้องไต (ကျောင်းတိုက်) ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัยหลายแห่ง รวมทั้งอาคารหลัก ซองมะจี้ (ကျောင်းကြီး) หรือ ซองมะ (ကျောင်းမ) ซึ่งถูกครอบครองโดยซะยาดอที่อาศัยอยู่ และอาคารเล็ก ๆ ที่เรียกว่า จ้องยาน (ကျောင်းရံ) เป็นที่พักอาศัยของสาวกซะยาดอ[17] อาคารต่าง ๆ ประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบและยังเป็นที่ตั้งของหอสมุด ห้องอุปสมบท ห้องประชุม อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ และอาคารสาธารณูปโภค[17] ตะแยะดอ เป็น จ้องไต สำคัญใจกลางเมืองย่างกุ้ง ประกอบด้วยอารามต่าง ๆ มากกว่า 60 แห่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Houtman, Gustaaf (1990). Traditions of Buddhist Practice in Burma (ภาษาอังกฤษ). ILCAA.
  2. 2.0 2.1 Johnston, William M. (2013). Encyclopedia of Monasticism. Taylor & Francis. ISBN 978-1-136-78715-7.
  3. "The Account of Wazo Monks and Nuns in 1377 (2016 year)". The State Samgha Maha Nayaka Committee (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-05-19.
  4. Watkins, Justin (2005). Studies in Burmese Linguistics (ภาษาอังกฤษ). Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, the Australian National University. p. 227. ISBN 9780858835597.
  5. Chai, Ada. "The Effects of the Colonial Period on Education in Burma". Educ 300: Education Reform, Past and Present. Trinity College. สืบค้นเมื่อ 2016-11-26.
  6. Sao Tern Moeng (1995). Shan-English Dictionary. 1995. ISBN 0-931745-92-6.
  7. 7.0 7.1 Robinne, François (2003). "The monastic unity. A contemporary Burmese Artefact?". Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est. 12: 75–92.
  8. 8.0 8.1 8.2 James, Helen (2005). Governance and Civil Society in Myanmar: Education, Health, and Environment (ภาษาอังกฤษ). Psychology Press. pp. 78–83. ISBN 9780415355582.
  9. "သာသနာရေးဦးစီးဌာနက ကျင်းပသည့် စာမေးပွဲများ". Department of Religious Affairs (ภาษาพม่า). Ministry of Religious Affairs. สืบค้นเมื่อ 2016-11-13.
  10. 10.0 10.1 Huxley, Andrew (2007). "Review of Powerful Learning: Buddhist Literati and the Throne in Burma's Last Dynasty, 1752-1885". South East Asia Research. 15 (3): 429–433. JSTOR 23750265.
  11. 11.0 11.1 Reid, Anthony (1990). Southeast Asia in the Age of Commerce, 1450-1680: The Lands Below the Winds (ภาษาอังกฤษ). Yale University Press. ISBN 0300047509.
  12. 12.0 12.1 Mendelson, E. Michael (1975). Sangha and State in Burma: A Study of Monastic Sectarianism and Leadership (ภาษาอังกฤษ). Cornell University Press. ISBN 9780801408755. sangha and state in burma.
  13. Fraser-Lu, Sylvia (1994). Burmese Crafts: Past and Present (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 9780195886085.
  14. World and Its Peoples: Eastern and Southern Asia. Marshall Cavendish. 2007. p. 630. ISBN 978-0-7614-7631-3.
  15. Nisbet, John (1901). Burma Under British Rule--and Before (ภาษาอังกฤษ). A. Constable & Company, Limited.
  16. India, Archaeological Survey of; Marshall, Sir John Hubert (1904). Annual Report (ภาษาอังกฤษ). Superintendent of Government Printing.
  17. 17.0 17.1 Lammerts, D. Christian (2015). Buddhist Dynamics in Premodern and Early Modern Southeast Asia (ภาษาอังกฤษ). Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 9789814519069.