ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
Thai Maritime Enforcement Command Center | |
ภาพรวมศูนย์อำนวยการ | |
---|---|
ก่อตั้ง | 9 มีนาคม พ.ศ. 2562 |
ประเภท | ส่วนราชการ |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | อาคารโทรคมนาคมแห่งชาติ ชั้น 19 เลขที่ 72 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 |
งบประมาณต่อปี | 1,149,226,900 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
ฝ่ายบริหารศูนย์อำนวยการ |
|
ต้นสังกัดศูนย์อำนวยการ | สำนักนายกรัฐมนตรี |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล |
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อังกฤษ: Thai Maritime Enforcement Command Center ชื่อย่อ: ศรชล.) เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562 ตาม พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562[2] และให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือ วันที่ 13 มีนาคม แต่ทางหน่วยงานได้ถือเอาวันที่ 9 มีนาคม ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นวันก่อตั้งหน่วยงาน[3] ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารเรือ และเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการ ศรชล. รองผู้อำนวยการ ศรชล. และ เลขาธิการ ศรชล. โดยตำแหน่ง
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อันพึงได้รับจากกิจกรรมทางทะเลในรูปแบบต่างๆ อาทิ การพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต การวางสายเคเบิล ท่อใต้ทะเล การอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย การสำรวจวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อ “นายกรัฐมนตรี”[4]
การปฏิบัติงานของ ศรชล. มีลักษณะเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานจาก 7 หน่วยงานหลัก คือ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน[5] และมีงานสำคัญคือ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ กฏหมายใหม่ ตั้ง "ศรชล." คุ้มกันประโยชน์ชาติทางทะเล
- ↑ 9 มี.ค. วันสถาปนา “ศรชล.” ดูแลรักษาผลประโยชน์ทางทะเล
- ↑ ภารกิจศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- ↑ ผบ.ทร. ร่วมวันสถาปนา ศรชล. พิทักษ์ผลประโยชน์ทางทะเล
- ↑ "ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) แถลงผลงานรอบปี 2566". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-16. สืบค้นเมื่อ 2023-11-16.