แขวงจำปาศักดิ์
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
แขวงจำปาศักดิ์ ແຂວງຈຳປາສັກ | |
---|---|
แผนที่แขวงจำปาศักดิ์ | |
แผนที่ประเทศลาวเน้นแขวงจำปาศักดิ์ | |
พิกัด: 14°52′59″N 105°51′58″E / 14.883°N 105.866°E | |
ประเทศ | ลาว |
เมืองเอก | ปากเซ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 15,415 ตร.กม. (5,952 ตร.ไมล์) |
ประชากร (สำมะโน พ.ศ 2561) | |
• ทั้งหมด | 733,582 คน |
• ความหนาแน่น | 48 คน/ตร.กม. (120 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+7 (เวลาในประเทศลาว) |
รหัส ISO 3166 | LA-CH |
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (2560) | 0.604[1] ปานกลาง · อันดับที่ 6 |
จำปาศักดิ์[2] หรือ จำปาสัก[2] (ลาว: ຈໍາປາສັກ) เป็นแขวงหนึ่งของประเทศลาว ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศ ติดชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา มีนครปากเซเป็นเมืองหลักของแขวง ถือเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการท่องเที่ยวของลาวตอนใต้ เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางและเกิดเกาะแก่งเป็นจำนวนมากจนได้ชื่อว่า "ดินแดนสี่พันเกาะ"
แขวงจำปาศักดิ์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ อาณาจักรจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างในเวลาต่อมา และมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งไทยและลาว โดยมีสงครามหลายครั้งทั้งในและรอบ ๆ จำปาศักดิ์[3] แขวงจำปาศักดิ์จึงมีมรดกทางวัฒนธรรมหลงเหลืออยู่มากมาย ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศลาว โดยเฉพาะมรดกโลกปราสาทหินวัดพู นอกจากนี้ แขวงจำปาศักดิ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผี น้ำตกผาส้วม เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]อาณาจักรจำปาศักดิ์เกิดขึ้นหลังจากอาณาจักรฟูนานเสื่อมสลายลง ชาวลาวได้ย้ายถิ่นเข้ามาสร้างบ้านเรือนในแถบนี้ เกิดเป็นเมืองใหม่นามว่า จำปานครบุรีศรี หรือ จำปานคร ปรากฏชื่อในพงศาวดารเขมรว่า สยัมภูปุระ[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้ทรงรวบรวมเมืองต่าง ๆ ของลาวเข้ามาเป็นอาณาจักรเดียวกันชื่อว่าอาณาจักรล้านช้าง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง แต่เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์ อาณาจักรล้านช้างเริ่มตกต่ำลงเพราะสงครามแย่งชิงอำนาจและการก่อกบฏต่าง ๆ นานนับร้อยปี จนถึง พ.ศ. 2063 พระเจ้าโพธิสารราชขึ้นครองราชย์และได้รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ต่อมาพระโอรสคือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่กรุงศรีสตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของอาณาจักรตองอู อาณาจักรล้านช้างมีความเจริญมา 200 ปีเศษก็เริ่มอ่อนแอลง หัวเมืองต่างๆ แตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาศักดิ์ ตรงกับสมัยกรุงธนบุรีของสยาม ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชระแวงว่าลาวจะร่วมมือกับพม่ายกทัพมาตี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตีลาวทั้ง 3 อาณาจักรตกเป็นเมืองขึ้นของสยามนานถึง 114 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงรวมทั้งแขวงจำปาศักดิ์บางส่วนตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ขณะที่ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับมณฑลอุบลตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2447[ต้องการอ้างอิง]
ช่วง พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน ประเทศไทยได้รับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสบางส่วนคืนจากฝรั่งเศส โดยนำท้องที่การปกครองเมืองจำปาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมไปถึงดินแดนประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ได้แก่พื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดสตึงแตรงและพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดพระวิหาร ยกขึ้นเป็นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ โดยมีเจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) เป็นผู้ครองนคร แต่เมื่อสงครามสิ้นสุด ไทยในฐานะผู้แพ้สงครามต้องส่งดินแดนดังกล่าวคืนให้แก่ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2497 จึงได้รวมอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 อาณาจักรขึ้นเป็นราชอาณาจักรลาว พื้นที่ดังกล่าวจึงได้ยกขึ้นเป็นแขวงจำปาศักดิ์ของประเทศลาวมาจนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าครองนครองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์[ต้องการอ้างอิง]
ภูมิศาสตร์
[แก้]ที่ตั้ง
[แก้]อาณาเขตติดต่อ
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับ แขวงสาละวันและแขวงเซกอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แขวงอัตตะปือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดสตึงแตรงและ จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอโขงเจียม, อำเภอสิรินธร และ อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
ภูมิประเทศ
[แก้]แขวงจำปาศักดิ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 15,415 ตารางกิโลเมตร[ต้องการอ้างอิง] มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ตำแหน่งที่ชายแดนทั้ง 3 ประเทศบรรจบกันเรียกว่า "สามเหลี่ยมมรกต" สภาพพื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำเซโดนบริเวณตอนกลาง มีแนวเทือกเขาสูงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก และติดต่อกับที่ราบสูงบอละเวนทางทิศตะวันออก ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,500-1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่โดยทั่วไปมีความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร
ภูมิอากาศ
[แก้]แขวงจำปาศักดิ์มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส แต่บริเวณทางทิศเหนือของแขวงที่เมืองปากซ่องมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ปริมาณน้ำฝนระดับ 1,400-2,000 มิลลิเมตรต่อปี ยกเว้นที่ราบสูง
ทรัพยากร
[แก้]ทรัพยากรป่าไม้
[แก้]- เขตป่าสงวนแห่งชาติเซเบียน
- เขตป่าสงวนแห่งชาติดงหัวสาว
- เขตป่าสงวนแห่งชาติภูเซียงทอง
เขตการปกครอง
[แก้]แขวงจำปาศักดิ์ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[3][4]
แผนที่ | รหัส | ชื่อ | อักษรลาว |
---|---|---|---|
16-01 | เมืองปากเซ | ເມືອງປາກເຊ | |
16-02 | เมืองชนะสมบูรณ์ | ເມືອງຊະນະສົມບູນ | |
16-03 | เมืองบาเจียงเจริญสุข | ເມືອງບາຈຽງຈະເລີນສຸກ | |
16-04 | เมืองปากช่อง | ເມືອງປາກຊ່ອງ | |
16-05 | มืองปทุมพร | ເມືອງປະທຸມພອນ | |
16-06 | เมืองโพนทอง | ເມືອງໂພນທອງ | |
16-07 | เมืองจำปาศักดิ์ | ເມືອງຈຳປາສັກ | |
16-08 | เมืองสุขุมา | ເມືອງສຸຂຸມາ | |
16-09 | เมืองมูลปาโมกข์ | ເມືອງມູນລະປະໂມກ | |
16-10 | เมืองโขง | ເມືອງໂຂງ |
ประชากร
[แก้]ประชากรแขวงจากสำมะโน พ.ศ. 2558 มี 694,023 คน[5]
การคมนาคม
[แก้]ทางหลวง
[แก้]- ทางหลวงหมายเลข 13 (ใต้) เชื่อมต่อกับแขวงสาละวัน แขวงสุวรรณเขต แขวงคำม่วน แขวงบอลิคำไซ นครหลวงเวียงจันทน์ และประเทศกัมพูชา
- ทางหลวงหมายเลข 16 เชื่อมต่อกับประเทศไทย
- ทางหลวงหมายเลข 18 เชื่อมต่อกับแขวงอัตตะปือ
- ทางหลวงหมายเลข 20 เชื่อมต่อกับเมืองสาละวัน แขวงสาละวัน
- ทางหลวงหมายเลข 23 เชื่อมต่อกับแขวงเซกอง
เรือโดยสาร
[แก้]- เรือโดยสารตามแม่น้ำโขง จากปากเซไปยังจำปาศักดิ์ และบริเวณสี่พันเกาะ
ท่าอากาศยาน
[แก้]ด่านพรมแดนที่สำคัญ
[แก้]- ด่านพรมแดนวังเต่า ติดต่อกับประเทศไทยที่ด่านพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 90 กิโลเมตร
- ด่านพรมแดนเวินคาม ติดต่อกับประเทศกัมพูชาทางเรือโดยสารตามแม่น้ำโขงไปยังเมืองสตึงแตรง
- ด่านพรมแดนดงกระลอ ติดต่อกับประเทศกัมพูชาที่ด่านดงกะลอ จังหวัดสตึงแตรง โดยทางหลวงหมายเลข 13 (ใต้) ของลาวเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 7 ของกัมพูชา
การเดินทางจากพรมแดนไทย
[แก้]จากด่านพรมแดนช่องเม็ก สามารถเดินทางผ่านด่านพรมแดนวังเต่าเข้าสู่ประเทศลาว จากนั้นมาตามทางหลวงหมายเลข 16 (เป็นถนนลาดยาง) ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานลาว-ญี่ปุ่น ความยาว 1,380 เมตร เข้าสู่เมืองปากเซ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสามารถใช้บริการรถโดยสารจากชายแดนไทยที่สถานีขนส่งลาว ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองลาวประมาณ 300 เมตร มีทั้งรถโดยสารประจำทางและรถสองแถววันละหลายเที่ยว (แต่ถ้ามีประมาณ 3-4 คน แนะนำให้ใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จะสะดวกและเร็วกว่า) นอกจากนี้ทั้งประเทศลาวและไทยได้ร่วมมือกันจัดเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ จากตัวเมืองอุบลราชธานี-ปากเซ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา
เมืองสำคัญ
[แก้]เมืองปากเซ
[แก้]เมืองปากเซ เป็นเมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์ และถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของลาวตอนใต้ ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีประชากรประมาณ 70,000 คน เป็นเมืองที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ประเพณีและวัฒนธรรม ทั้งชาวลาว ชาวจีน และชาวเวียดนาม บรรยากาศทั่วไปเงียบสงบเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตเรียบง่าย
เมืองจำปาศักดิ์
[แก้]เมืองจำปาศักดิ์ (บ้านวัดทุ่ง) เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรจำปาศักดิ์ และเคยเป็นเมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์ ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2448 เมืองจำปาศักดิ์ได้ถูกลดความสำคัญลงเป็นเมืองบริวารของแขวง โดยย้ายเมืองเอกไปยังเมืองปากเซทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ห่างจากเมืองจำปาศักดิ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Sub-national HDI - Area Database - Global Data Lab". hdi.globaldatalab.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-09-13.แม่แบบ:Nonspecific
- ↑ 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
- ↑ 3.0 3.1 "Destination: Champasack Province Destination". Laos Tourism Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 October 2012. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
- ↑ "Provinces of Laos". Statoids.com. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
- ↑ "Results of Population and Housing Census 2015" (PDF). Lao Statistics Bureau. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
บรรณานุกรม
[แก้]- Burke, Andrew; Vaisutis, Justine (2007). Laos 6th Edition. Lonely Planet. pp. 255–56. ISBN 9781741045680.
- Bush, Austin; Elliot, Mark; Ray, Nick (1 December 2010). Laos 7. Lonely Planet. p. 12. ISBN 978-1-74179-153-2.
- Mansfield, Stephen; Koh, Magdalene (1 September 2008). Laos. Marshall Cavendish. p. 10. ISBN 978-0-7614-3035-3.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- คู่มือการท่องเที่ยว จำปาศักดิ์ จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
- คู่มือการท่องเที่ยว ปากเซ จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)