ข้ามไปเนื้อหา

ที่ราบสูงบ่อละเวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ที่ราบสูงโบลาเวน)
น้ำตกตาดฟานในที่ราบสูงบ่อละเวน ตัวน้ำตกสูงประมาณ 120 เมตร
น้ำตกตาดเลาะ ที่ราบสูงบ่อละเวน
น้ำตกตาดเลาะ
รถบรรทุกไม้บนที่ราบสูงบ่อละเวน พ.ศ. 2552
การแปรรูปกาแฟบนที่ราบสูงบ่อละเวน

ที่ราบสูงบ่อละเวน หรือ ที่ราบสูงโบลาเวน (ลาว: ພູພຽງບໍລະເວນ อ่านว่า พูเพียงบ่อหละเว้น) คือที่ราบสูงทางตอนใต้ของประเทศลาว ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในแขวงจำปาศักดิ์ ครอบคลุมบางส่วนของแขวงสาละวัน เซกอง และอัตตะปือ และตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นลาวออกจากเวียดนามทางทิศตะวันออก กับแม่น้ำโขงทางทิศตะวันตก ความสูงของที่ราบสูงอยู่ในช่วงประมาณ 1,000–1,350 เมตร (3,280–4,430 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ที่ราบสูงนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสายและมีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ชื่อของที่ราบสูงบ่อละเวน อ้างอิงจากชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ละเวน ซึ่งเคยมีอำนาจเหนือภูมิภาคนี้ในอดีต อย่างไรก็ตามการขยายตัวของประชากรโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ลาวซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ถึง 60 ของประเทศ และการอพยพภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมระหว่างชาติพันธุ์ซึ่งเปลี่ยนองค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของภูมิภาค

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ที่ราบสูงบ่อละเวนมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของลาว ช่วงเวลาสำคัญที่สุดสามช่วงซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อที่ราบสูงบ่อละเวน ทำให้เกิดเอกลักษณะเฉพาะและความสำคัญ ได้แก่ การตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กบฏผู้มีบุญ และสงครามเวียดนาม

อาณานิคมของฝรั่งเศส

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้ผนวกดินแดนแห่งแรกทางตะวันออกของแม่น้ำโขง และต่อมาได้ผนวกดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2450[1] ช่วงยุคอาณานิคมของฝรั่งเศสในลาวนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อที่ราบสูงบ่อละเวนเนื่องจากเกิดการถ่ายทอดเทคนิคทางการเกษตรจากชาวฝรั่งเศสสู่ชาวพื้นเมืองลาว จากพจนานุกรมประวัติศาสตร์ (เขียนโดย Martin Stuart-Fox) ระบุว่า "ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มปลูกกาแฟและทดลองปลูกยางพาราบนที่ราบสูงบ่อละเวน และต่อมายังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของลาว โดยเฉพาะการปลูกผักและผลไม้นานาชนิดรวมทั้งพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สร้างรายได้สูง"[2] ที้งนี้การเพาะปลูกพืชดังกล่าวไม่เคยมีในพื้นที่นี้มาก่อนจนกระทั่งชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาแนะนำในภูมิภาคนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้ที่ราบสูงโบลาเวนกลายเป็นพื้นที่ภาคเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศลาว

กบฏผู้มีบุญ

[แก้]

ช่วงที่สองที่ช่วยกำหนดประวัติศาสตร์ของที่ราบสูงคือการ กบฏผู้มีบุญ การก่อจลาจลปะทุขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2444 ถึง 2450 ซึ่งเป็นการก่อกบฏครั้งใหญ่ของชนเผ่าลาวเทิง (เผ่าอาลัก, เผ่าญะเฮิญ และเผ่าละเวน) เพื่อต่อต้านการครอบงำของฝรั่งเศส[2] แม้ว่าไม่มีการจดบันทึกหรือบทประพันธ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่กล่าวเฉพาะการปฏิวัตินี้ในที่ราบสูงบ่อละเวน แต่การก่อตัวของกบฏผู้มีบุญแจ้งชัดว่าชุมชนพื้นเมืองต้องการต่อต้านอิทธิพลและอำนาจของฝรั่งเศสออกจากพื้นที่

สงครามเวียดนาม

[แก้]

ที่ราบสูงบ่อละเวนได้รับความเสียหายอย่างมากในช่วงสงครามเวียดนาม เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่สุดในสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง การทิ้งระเบิดของสหรัฐอย่างหนักหน่วงในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เพื่อควบคุมที่ราบสูงบ่อละเวนซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญยิ่งทั้งต่อกองทัพอเมริกันและเวียดนามเหนือ ปรากฏหลักฐานจากจำนวน UXO (อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิด) ซึ่งยังคงหลงเหลือเป็นจำนวนมากอยู่รอบ ๆ พื้นที่[3] ด้วยเหตุนี้ที่ราบสูงบ่อละเวนยังคงเป็นพื้นที่อันตรายโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจทำเครื่องหมาย ตามรายงานหลายฉบับความเสียหายที่เกิดจากระเบิดที่หลงเหลือเหล่านี้ยังคงพบเห็นได้ในบางพื้นที่

ในด้านตะวันออกของที่ราบสูงบ่อละเวนเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ผ่านของเส้นทางโฮจิมินห์ ในช่วงสงครามที่ราบสูงนี้สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ผ่านปากซองและธาเต็ง และถนนเหล่านั้นเป็นถนนสายเดียวที่นำออกจากที่ราบสูงที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวและให้ความสนใจต่อภูมิประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้มากขึ้น [4]

วัฒนธรรม

[แก้]

กลุ่มชาติพันธุ์หลักในที่ราบสูงบ่อละเวนคือชาวละเวน แม้ว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์มอญเขมร ที่อาศัยอยู่รวมในพื้นที่ทั้ง อาลัก, กะตู, ตะโอย และส่วย[3] จากข้อมูลของ CPA Media กล่าวว่า "กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ทั้งหมดเคยเชื่อในศาสนาผี" และบางกลุ่มเคยมีการบูชายัญสัตว์ด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันชุมชนชนกลุ่มน้อยเหล่านี้บางส่วนได้เริ่มเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเนื่องจากมีการติดต่อกับชาวลาวลุ่ม[5]

เศรษฐกิจ

[แก้]

เศรษฐกิจหลักในภูมิภาคที่ราบสูงบ่อละเวนมุ่งเน้นไปที่การผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากต่อรายได้ของที่ราบสูง

นับจากการริเริ่มทำการเกษตรและเทคนิคการเกษตรอื่น ๆ ของชาวฝรั่งเศสบนที่ราบสูงบ่อละเวน ซึ่งรวมไปถึงการปลูกกาแฟ ยางพารา และกล้วย จากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ราบสูงโบลาเวนยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญในการปลูกผลไม้และผักหลายชนิด พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สร้างรายได้สูงเช่น กระวาน[5] ซึ่งในจำนวนพืชผลทางการเกษตรที่ชาวฝรั่งเศสริเริ่มนั้น กาแฟนับเป็นพืชเศรษฐกิจมีความสำคัญมากที่สุดในภูมิภาคนี้

ในระหว่างยุคอาณานิคม ชาวฝรั่งเศสยังได้แนะนำการผลิตกาแฟสายพันธุ์คุณภาพสูงทั้งอาราบิกาและโรบัสตา ปริมาณการผลิตเคยลดลงในช่วงสงคราม และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศของที่ราบสูงที่มีอุณหภูมิเย็นและฝนที่ตกชุกทำให้ที่ราบสูงบ่อละเวนเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการผลิตกาแฟอย่างยิ่ง ปัจจัยข้างต้นทำให้ครอบครัวเกษตรกรชนกลุ่มน้อยส่วนมากในพื้นที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการปลูกและผลิตกาแฟเป็นแหล่งรายได้หลัก ปัจจุบันผลผลิตกาแฟในประเทศลาวเกือบทั้งหมดจากการปลูกบนที่ราบสูงบ่อละเวน ในแขวงจำปาศักดิ์ทางตอนใต้ของประเทศ และผลผลิคกาแฟของลาวต่อปีประมาณ 15,000–20,000 ตัน โดยร้อยละ 80 เป็นกาแฟโรบัสตา

การท่องเที่ยว

[แก้]

การท่องเที่ยวในที่ราบสูงบ่อละเวนเป็นที่ดึงดูดใจจากลักษณะเฉพาะ เช่น น้ำตกต่าง ๆ ตลอดจนหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ และพื้นที่ทางภูมิประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ที่ราบสูงบ่อละเวนมีน้ำตกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ น้ำตกตาดเลาะที่อยู่ห่างจากปากเซ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 92 กิโลเมตร หรือจากเมืองสาละวันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 28 กิโลเมตร[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งต้นไม้ที่ล้อมรอบน้ำตกที่เขียวชอุ่มและปริมาณน้ำที่ไหลจากน้ำตกตลอดปีทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของการท่องเที่ยวในที่ราบสูงบ่อละเวน น้ำตกที่งดงามอีกแห่งหนึ่งคือ น้ำตกตาดฟาน ซึ่งตัวน้ำตกสูง 120 เมตร เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในลาว

ที่ราบสูงบ่อละเวนเต็มไปด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ที่น่าสนใจ [ต้องการอ้างอิง] ได้แก่ การล่องเรือ การเที่ยวชมไร่กาแฟในพื้นที่ การเดินป่า หรือการเยี่ยมชมหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ หมู่บ้านอาลัก, กะตู, และส่วย ที่เปิดอนุญาตใหัเข้าชม

ความสำคัญทางธรณีวิทยา

[แก้]

นักธรณีวิทยาเชื่อว่าอุกกาบาตขนาดประมาณ 2 กิโลเมตร (1.2 ไมล์) ตกกระทบพื้นผิวโลกเมื่อประมาณ 790,000 ปีก่อน สันนิษฐานว่า หลุมอุกกาบาตนี้อาจถูกฝังอยู่ในเขตภูเขาไฟที่ราบสูงบ่อละเวน เนื่องจากมีการพบอุลกมณี กระจายทั่วภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา นับว่าเป็นหลุมอุกกาบาตที่อายุน้อยที่สุดและพื้นที่การแตกกระจายของอุลกมณีที่กินบริเวณกว้างใหญ่ที่สุด การประมาณการล่าสุดชี้ให้เห็นว่าอาจครอบคลุมถึงร้อยละ 10–30 ของพื้นผิวโลก (เรียกชื่อของพื้นที่การแตกกระจายอุลกมณีที่เกิดจากอุกกาบาตนี้ว่า Australasian Strewnfield)[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Stuart-Fox, Martin (February 1995). "The French in Laos, 1887–1945". Modern Asian Studies (ภาษาอังกฤษ). 29 (1): 111–139. doi:10.1017/S0026749X00012646. ISSN 0026-749X.
  2. 2.0 2.1 Stuart-Fox, Martin (2001). Historical Dictionary of Laos. Second Edition. Asian/Oceanian Historical Dictionaries Series No. 35. Maryland: The Scarecrow Press.
  3. 3.0 3.1 Lonely Planet. 2009. “Introducing Bolaven Plateau.” URL: http://www.lonelyplanet.com/laos/southern-laos/bolaven-plateau
  4. "Legend of the, Ho Chi Minh trail | Laos GPS Map". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 10, 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-08-18.
  5. 5.0 5.1 Fox-Stuart, Martin (2008). Historical Dictionary of Laos. Third Edition. Asian/Oceanian Historical Dictionaries Series No. 68. USA: The Scarecrow Press.
  6. https://www.pnas.org/content/117/3/1346