ข้ามไปเนื้อหา

กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน
กองกำลังเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน
ทหารช่างกำลังเทคอนกรีตในงานก่อสร้างลานพื้นแข็งคอนกรีตเสริมเหล็ก บนเขตนิรภัยของทางวิ่งสนามบินบากรัม
ประจำการ15 มีนาคม – 1 ตุลาคม 2546
ประเทศไทย
เหล่า กองทัพไทย
รูปแบบผู้มิใช่พลรบ
บทบาทการทำลายล้างวัตถุระเบิด
การป้องกัน คชรน.
การต่อสู้ระยะประชิด
การสงครามทะเลทราย
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
การป้องกันกำลังรบ
ผู้ตรวจการณ์หน้า
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การแทรกแซงด้านมนุษยธรรม
ผู้ช่วยแพทย์
การส่งกลับสายแพทย์
วิศวกรรมการทหาร
การส่งกำลังบำรุงทางทหาร
การตรวจตราทางทหาร
การรักษาสันติภาพ
การลาดตระเวน
บริการการแพทย์ฉุกเฉินเชิงยุทธวิธี
การสงครามในเมือง
กำลังรบ130 นาย
ขึ้นกับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม 180
กองบัญชาการฐานทัพอากาศบากรัม, บากรัม, อัฟกานิสถาน
สมญาร้อย.ช.ฉก.975 ไทย/อัฟกานิสถาน
(975th Thai/Afghanistan Task Force)
ปฏิบัติการสำคัญสงครามอัฟกานิสถาน
ผู้บังคับบัญชา
ผบ.ร้อย.ช.ฉก.975ไทย พันโท สิรภพ ศุภวานิช

กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน (อังกฤษ: 975th Thai Engineer Task Force) หรือ ร้อย.ช.ฉก.975 เป็นหน่วยทหารช่างของกองทัพไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ในอัฟกานิสถาน

ภารกิจของหน่วยคือการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม[1]ในอัฟกานิสถานหลังจากสภาวะสงครามในภูมิภาคที่กินเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ[2] โดยประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารที่ไม่ใช่พลรบจำนวน 130 นาย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546[3]

ประวัติ

[แก้]

หลังจากวินาศกรรม 11 กันยายน สหรัฐได้แสวงหาพันธมิตรในการร่วมภารกิจในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคอินโดแปซิฟิกจึงได้มีการเชิญชาติพันธมิตรไปร่วมประชุมกันที่รัฐฮาวาย โดยประเทศไทยได้ส่งกำลังเข้าร่วมประชุมด้วยคือ พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นเข้าร่วมในการประชุม และมีการพูดคุยนอกรอบเกี่ยวกับกรอบความช่วยเหลือที่ไทยสามารถให้การสนับสนุนสหรัฐได้ คือการส่งกำลังทหารไปปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม ซึ่งไทยเคยจัดกำลังไปสนับสนุนแล้วในหลายภูมิภาค เช่น กัมพูชา และติมอร์ตะวันออก[3]

ร้องขอกำลัง

[แก้]

จากนั้นฝั่งสหรัฐได้นำเรื่องนี้ไปหารือและได้ส่งหนังสือมายังกองทัพไทยตามระบบราชการ มีเนื้อหาขอรับการสนับสนุนจากกองทัพไทยเพื่อไปปฏิบัติภารกิจด้านการซ่อมแซมสนามบินบากรัม ในอัฟกานิสถาน กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงได้มีการประชุม และเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลในขณะนั้น เพราะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจนี้ และได้มีข้อสั่งการให้ พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก พร้อมคณะ คือ พันเอก นิวัตร มีนะโยธิน พันเอก สุพจน์ ธำมรงค์รัตน์ และพันตรี สิรภพ ศุภวานิช รวม 4 นาย เดินทางไปประสานงานกับหน่วยทหารสหรัฐในประเทศอัพกานิสถาน เดินทางในระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยสหรัฐเป็นผู้จัดการเดินทางให้ และมีนายทหารสหรัฐจำนวน 2 นายจากคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) คือ พันโท ซีโบห์ (LTC. Carl Seabaugh) และพันตรี ร็อคกี คาร์เตอร์ (Maj. Carter) โดยคณะได้บินไปลงที่ประเทศโอมานก่อนเพื่อพักและเปลี่ยนอากาศยาน จากนั้นคณะจากประเทศไทยได้เครื่องแต่งกายเป็นชุดฝึกพร้อมเป้สัมภาระเพื่อขึ้นเครื่องบิน ซี-130 ของสหรัฐสำหรับบินต่อในช่วงเย็น ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเครื่องก็ลงจอดที่สนามบินบากรัม ซึ่งการลงจอดไม่ราบรื่นมากนักเนื่องจากสภาพของทางวิ่งทีทรุดโทรม[3]

สนามบินบากรัมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ทางวิ่งสนามบินมีความยาว 3000 เมตร กว้าง 54 เมตร มีทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง และ 1 แท็กซี่เวย์ ซึ่งสนามบินสร้างขึ้นโดยเงินของสหรัฐ และช่วงปี พ.ศ. 2523 ประเทศรัสเซียได้ส่งทหารมารุกรานอัฟกานิสถานและใช้สนามบินดังกล่าวเป็นฐานทัพก่อนจะถอนตัวออกไป หลังจากสหรัฐส่งกำลังเข้ามาปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน ได้ดำเนินการยึดสนามบินกลับมาใช้งานเป็นฐานปฏิบัติการ[3]

คณะเดินทางจากไทยและจัสแมกทั้ง 6 นาย มีลูกเรือของเครื่องบินที่ใช้แว่นมองกลางคืน นำทางเข้าสู่ฐานทัพ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการพรางแสงไฟเพื่อรักษาความปลอดภัยทั้งตัวสนามบินไปจนถึงทางวิ่ง โดยคณะเดินทางจากไทยทั้ง 4 นาย ได้แยกย้ายเข้าพักในเต็นท์พักอาศัยขนาดใหญ่ท่ามกลางอากาศหนาวของภูมิอากาศขณะนั้น[3]

ค่ายพักทหารไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ของฐานทัพอากาศบากรัม

จากนั้นในเช้าวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 คณะเดินทางของไทยได้เดินทางไปพบกับผู้บัญชาการฐานทัพของสหรัฐเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับภารกิจของกองร้อยทหารช่างไทยที่จะมาปฏิบัติการซ่อมทางวิ่ง โดยที่ พันตรี สิรภพ ศุภวานิช ผู้ที่จะมาเป็นผู้บังคับกองร้อยที่จะมาปฏิบัติงานได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลทางการช่างจากประเทศไทย ซึ่งทางการสหรัฐระบุว่าให้ไทยออกค่าใช้จ่ายเอง จึงได้เดินทางมาเพื่อตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจจะช่วยกันจ่ายได้[3]

ข้อตกลงระหว่างไทยและสหรัฐในส่วนของค่าใช้จ่ายและการสนับสนุนประกอบไปด้วย

  • ไทยจะสนับสนุนกำลังพลจากกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ ในการปฏิบัติการจำนวน 130 นาย ซึ่งเป็นกำลังจากกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจจำนวน 120 นาย และกำลังจากส่วนสนับสนุนจำนวน 10 นาย[4]
  • กองทัพสหรัฐจะสนับสนุนการปฏิบัติการในรูปแบบของการชำระเงินคืนในภายหลัง (Reimbursement) ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการขนส่งยุทโธปกรณ์ของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไปยังสนามบินบากรัม ทั้งขาไปและขากลับ ค่าใช้จ่ายสำหรับ สป.3 ในการขนย้ายกำลังพลทั้งไปและกลับ รวมไปถึงการส่งกำลังบำรุงตามวงรอบรายเดือน โดยใช้งานเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศไทย ค่าใช้จ่าย สป.3 สำหรับปฏิบัติการ (JP-8) ในภารกิจ หากใช้นอกเหนือจากที่จัดไว้ให้ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง การสร้างที่พักของกำลังพล ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสนาม (Medical Unit Level 3) ของสหรัฐ และการให้ยืมชุดปฏิบัติการในสภาพอากาศหนาวเย็น (Cold weather gear) และชุดป้องกันนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี โดยรัฐบาลไทยต้องชดใช้กรณีอุปกรณ์เสียหายหรือชำรุด[4]
  • กองทัพไทยจะต้องรับผิดชอบเอง ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายเงินตอบแทนกำลังพล ค่าใช้จ่ายดำรงชีพ การส่งกำลังและการเตรียมการเตรียมความพร้อมของหน่วย ค่าใช้จ่ายการปฏิบัติภารกิจ (ยกเว้น สป.3 JP-8) การบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ การจัดหายุทโธปกรณ์เพิ่มเติม การเคลื่อนย้ายภายในประเทศ และการตรวจเยี่ยมหน่วย การจัดหาอะไหล่ชิ้นส่วน (PPL) ในการซ่อมบำรุง และการใช้จ่ายในการทดแทนกำลังพลและยุทโธปกรณ์[4]

จากนั้นคณะจากไทยได้เดินเท้าสำรวจหน้างานในบริเวณฐานทัพ โดยประกอบไปด้วยหน่วยทหารจากประเทศต่าง ๆ มาตั้งหน่วยภายในฐานทัพโดยเฉพาะจากเนโท รวมประมาณ 20 ประเทศ ระหว่างเดินสำรวจได้พบกับเครื่องจักรและเครื่องมือช่างขนาดใหญ่ และเครื่องจักรกลอีกหลายเครื่อง ที่ถูกใช้งานโดยกลุ่มประเทศที่มาช่วยเหลือสหรัฐปฏิบัติการและกำลังจะจบภารกิจ กองทัพไทยจึงได้จดบันทึกเอาไว้เพื่อประสานงานรับช่วงต่อเครื่องจักรดังกล่าว จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายอุปกรณ์จากประเทศไทย[3]

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่มีภายในฐานทัพคือระบบสุขาภิบาลพื้นฐาน มีโรงภาพยนตร์ในสนามรบ มีอาคารสโมสร มีโรงครัวตามมาตรฐานกองทัพสหรัฐ มีสนามกีฬา มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในฐานทัพเอง และมีระบบโทรศัพท์ดาวเทียม[3]

สำหรับพื้นที่สำคัญที่ทหารไทยจะมาปฏิบัติงานคือพื้นที่ทางวิ่งของสนามบิน ความยาวประมาณ 3000 เมตร ที่มีสภาพทรุดโทรม ซึ่งคณะได้พูดคุยเพื่อสอบถามความต้องการของสหรัฐ และได้ให้คำตอบสหรัฐไปว่าไทยสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอนในภารกิจนี้ ก่อนที่คณะจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยผ่านเส้นทางเดิมคือโอมานและกลับสู่ประเทศไทย[3]

ส่งกำลังเข้าร่วม

[แก้]
พล.ท. แดน เค. แมคนีล ผบ.กกล.ร่วม/ผสม 180 เยี่ยมชมงานก่อสร้างของทหารช่างไทย

ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2546 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน จำนวน 130 นาย ไปปฏิบัติภารกิจ ณ สนามบินบากรัม โดยมีชุดเดินทางส่วนหน้าเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ด้วยเรือคิโมชิตะ ของกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่สหรัฐประสานงานมาเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางทะเล โดยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์จากประเทศไทยไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ และมีเครื่องบิน ซี-17 ของกองทัพอากาศสหรัฐมารับช่วงในการลำเลียงบรรทุกเครื่องจักร ยุทโธปกรณ์ และกำลังพลชุดส่วนหน้าต่อไปยังสนามบินบากรัม ประเทศอัพกานิสถาน[3]

จากนั้นในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2546 กองร้อยทหารช่างและหน่วยแพทย์ทหาร นำโดย พันตรี สิรภพ ศุภวานิช ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยด้วยเครื่องบิน ซี-130 ของกองทัพอากาศไทยเดินทางไปยังจุดหมายคือสนามบินบากรัม ประเทศอัพกานิสถานเพื่อสมทบกับกำลังส่วนหน้าที่ได้เดินทางไปล่วงหน้าแล้ว โดยมีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม 180 (Combined Joint Task Force 180: CJTF-180) และสิ้นสุดภารกิจลงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546[3]

ภาพรวมของกองกำลัง

[แก้]

กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน[5] มีกำลังพลจำนวน 130 นาย ประกอบไปด้วยกำลังจาก

  • หน่วยทหารช่าง จำนวน 90 นายจากกรมการทหารช่าง โดยมี 1 หมวดก่อสร้างฯ และ 1 หมวดงานดินเป็นส่วนกำลังที่ปฏิบัติการเป็นหลัก[5]
  • ส่วนสนับสนุน ตอนระวังป้องกัน[4]
  • ส่วนสนับสนุน หน่วปฏิบัติการทางการแพทย์ จำนวน 12 นาย แบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด[5]

และกำลังปฏิบัติการร่วมอื่น ๆ ปฏิบัติงานในลักษณะภารกิจร่วมบูรณาการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เกิดความเสียหายหลังจากสภาวะสงครามที่กินเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ โดยปฏิบัติภารกิจในส่วนของทางการช่าง (Engineer Support) การปฏิบัติการทางการแพทย์ (Medical Support) และการปฏิบัติการในภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายภายในพื้นที่เมืองบากรัม ชาริการ์ จังหวัดปาร์วัน ในกรอบของปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน ภายใต้การบังคับบัญชาของกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม 180[5]

ประเทศไทยได้ส่งกำลังส่วนหน้าเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 และส่งกำลังชุดหลักมาปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2546 ปฏิบัติการจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546[3] ระยะเวลารวมประมาณ 6 เดือน[4]

ปฏิบัติการ

[แก้]

การปฏิบัติการของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม[1] โดยแบ่งเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ

การปฏิบัติงานช่าง

[แก้]

กองกำลังของไทยวางกำลังที่สนามบินบากรัม มีภารกิจหลักในการบูรณะและฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศอัฟกานิสถาน ร่วมกับหน่วยทหารช่างจำนวน 4 ชาต ประกอบไปด้วย สหรัฐ โปแลนด์ สโลวาเกีย และเกาหลีใต้ โดยกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถานได้รับมอบหมายงานก่อสร้างและซ่อมแซมจำนวน 8 โครงการ[5] คือ

  • ก่อสร้างลานพื้นแข็งคอนกรีตเสริมเหล็ก (I.V.M.M.D. Concrete Pad) ความกว้าง 66.6 เมตร ความยาว 31.5 เมตร บริเวณเขตนิรภัยของทางวิ่งบนสนามบินบากรัม ระยะเวลา 37 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม - 30 เมษายน พ.ศ. 2546
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้า (Rewiring electrical work) ภายในอาคารกองบังคับการกองพลส่งทางอากาศที่ 82 (82nd Airborne Division) ประกอบไปด้วยงานติดตั้งกล่องควบคุม การเดินสายเมน การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า และการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าระบบไฟ 3 เฟส 110 โวลท์ ระเวลา 35 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม - 29 เมษายน พ.ศ. 2546
  • ซ่อมแซมทางวิ่งสนามบินบากรัม (Runway Repair) ในพื้นที่ลงจอด (Landing Zone) ซึ่งมีการชำรุดและร้าวจากการทรุดตัว ขนาดความกว้าง 45 เมตร ความยาว 684 เมตร (2,736 Slabs) พื้นผิวคอนกรีตหนา 0.30 เมตร ปริมาณงานรวมแล้ว 36,936 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 2 เฟสงาน ด้วยการแบ่งครึ่งทางวิ่งเพื่อใช้งานอีกครึ่งสำหรับการรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินลำเลียง ซี-17 และ ซี-130 โดยแต่เฟสประกอบไปด้วยงานเจาะ งานตัด งานรื้อผิวคอนกรีตทางวิ่งเดิม การขนย้ายวัสดุคอนกรีตเดิมทิ้ง งานปรับระดับ บดอัดชั้นใต้ฐาน (Subgrade) งานก่อสร้างชั้นฐาน (Base) งานเทคอนกรีตก่อสร้างชั้นผิวทางวิ่งใหม่ รวมไปถึงานตัดร่วม งานไหลทาง และการบ่งคอนกรีตก่อนใช้งาน แบ่งเป็น
    1. เฟสที่ 1 ฝั่งทิศตะวันตก ปริมาณงานรวม 18,468 ตารางเมตร ระยะเวลาโครงการ 120 วัน เริ่มงาน 21 เมษายน แล้วเสร็จ 22 กรกฎาคม และเปิดใช้งานหลังบ่มคอนกรีต 4 สิงหาคม พ.ศ. 2546
    2. เฟสที่ 2 ฝั่งทิศตะวันออก ปริมาณงานรวม 18,468 ตารางเมตร ระยะเวลาโครงการ 102 วัน เริ่มงาน 4 สิงหาคม แล้วเสร็จ 15 กันยายน พ.ศ. 2546
  • วางระบบไฟฟ้า 3 เฟส (Rewiring electrical work) ในค่ายพักของหน่วยทหารสหรัฐอาหรับเอมิเรท จำนวน 40 หลัง ระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2546
  • วางและติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Rewiring electrical work) พร้อมกับตู้ควบคุม ในอาคารพักของหน่วยกองพลรบป่าภูเขาที่ 10 ของสหรัฐ (10th Mountain Division) จำนวน 21 หลัง ระยะเวลา 26 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2546
  • วางและติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Rewiring electrical work) พร้อมกับตู้ควบคุม ในอาคารพักของหน่วยกรมส่งทางอากาศที่ 187 ของอิตาลี (187th Parachute Regiment) จำนวน 12 หลัง ระยะเวลา 25 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
  • ขยายทางขับสนามบินบากรัม (Taxiway Expansion) จำนวน 4 จุด ประกอบไปด้วยทางขับอัลฟา บราโว ชาลี และเอคโค ขยายทางขับออกข้างละ 6.6 เมตร ตลอดความยาวจุดละ 180 เมตร ระยะเวลาตั้งแต่ 18 มิถุนายน - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
  • วางและติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Rewiring electrical work) พร้อมกับตู้ควบคุม ในอาคารพักของผู้รับเหมาพลเรือน (Civilian Contractor village) จำนวน 60 หลัง ระยะเวลา 54 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม - 15 กันยายน พ.ศ. 2546

การปฏิบัติการด้านการแพทย์

[แก้]
นายทหารไทยกำลังสนทนากับนายทหารสหรัฐบริเวณสนามบินบากรัม

นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติการด้านการแพทย์จากชุดแพทย์ กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน ประกอบไปด้วย[5]

  • การบริการทางการแพทย์ให้กับกำลังพลทหารไทย ณ ที่ตั้งของหน่วย และการเฝ้าระวังโรคติดต่อต่าง ๆ รวมไปถึงงานด้านสาธารณสุขในค่ายพักของทหารไทย
  • สนับสนุนชุดแพทย์สนามให้กับหน่วยทหารช่างกวาดล้างทุ่นระเบิดของสหรัฐ และโปแลนด์ (Demolition Engineer Support) พร้อมรับการช่วยชีวิตฉุกเฉินในการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่โดยรอบสนามบินบากรัม ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย ทุ่นระเบิดสังหารแบบ PMN-II, VM-I ทุ่นระเบิดดักรถถัง TM-62 และทุ่นระเบิดแบบโปรยหว่าน Blue-97
  • การให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนชาวอัฟกานิสถาน (Medial for civil Affair) ประกอบไปด้วย
    • งานบริการทางการแพทย์ร่วมกับเกาหลีใต้ ณ โรงพยาบาลสนามเกาหลีใต้ โดยได้ให้บริการผู้ป่วยชาวอัฟกานิสถานจำนวนทั้งสิ้น 16,420 คน
    • งานบริการทางการแพทย์ตามโครงการหน่วยแพทย์คลื่อนที่ (Medical for civil action project) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านพลเรือนในพื้นที่รอบฐานทัพอากาศบากรัม และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกับหน่วยแพทย์ (Task Force 44 Medical Briga3de: TF-44) ของสหรัฐ และหน่วยแพทย์เกาหลีใต้

สิ่งสืบเนื่อง

[แก้]

ระหว่างการปฏิบัติการของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน ได้มีการวางแผนการปฏิบัติการของกองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรักอีกชุด ซึ่งในรายงานระบุว่าเครื่องจักรและยุทโธปกรณ์ทางการช่างหลังจากสิ้นสุดภารกิจในประเทศอัฟกานิสถานจะถูกนำไปใช้งานในประเทศอิรักต่อเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากประเทศไทย[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน". กระทรวงการต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ).
  2. "ละครมหาดไทย : จาก ป. (ปลี) สมุหพระกลาโหม ถึง ป. (ประวิตร ) รมว.กห". mgronline.com. 2011-03-07.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 "ภาพเก่าเล่าตำนาน : ทหารช่างไทย…ไปทำอะไร…ในอัฟกานิสถาน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก". www.matichon.co.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 บทบาทของกองทัพไทยในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (PDF). ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด.[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย/อัฟกานิสถาน (PDF). กรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-11-25. สืบค้นเมื่อ 2023-11-25.