กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด | |
---|---|
เครื่องหมายกองบัญชาการ | |
ประจำการ | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 |
ประเทศ | ไทย |
เหล่า | กองทัพเรือไทย |
รูปแบบ | หน่วยเฉพาะกิจ |
บทบาท | นาวิกโยธิน หน่วยยามชายแดน |
ขึ้นกับ | หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน |
กองบัญชาการ | ค่ายตากสิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี |
ปฏิบัติการสำคัญ |
|
เว็บไซต์ | www |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผบ.กปช.จต. | พลเรือโท อภิชาติ ทรัพย์ประเสริฐ |
รอง ผบ.กปช.จต. (นย.) | พลเรือตรี ขวัญชัย ขำสม |
รอง ผบ.กปช.จต. (นว.) | พลเรือตรี ชรัมม์ภากร พรหมภากร |
เสธ.กปช.จต. | นาวาเอก กิตติพันธ์ กุลศิริปัญโญ |
รอง เสธ.กปช.จต.(นย.) | นาวาเอก สุรชัย ตันเจริญ |
รอง เสธ.กปช.จต.(นว.) | นาวาเอก ณรัฐ อ่อนจันทร์ |
เครื่องหมายสังกัด | |
ธงราชนาวี |
กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (อังกฤษ: Chanthaburi and Trat Border Defense Command: CTBDC) ย่อว่า กปช.จต. หรือ กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด ย่อว่า กจต. (อังกฤษ: Chanthaburi–Trat Force: CTF)[1] คือหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือไทยในการป้องกันประเทศทางทิศตะวันออกของประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชาบริเวณจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดทั้งทางบกความยาว 250 กิโลเมตร[2]ต่อเนื่องถึงทางทะเล มีอำนาจการบัญชาการเต็มในพื้นที่แยกจากกองทัพบกไทย[3]
ประวัติ
[แก้]กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กรณีพิพาทอินโดจีนในช่วงปี พ.ศ. 2483-2484 ในรูปแบบของ "กองพลจันทบุรี" ที่เกิดขึ้นจากการสนธิกำลังของกรมนาวิกโยธิน ซึ่งมี นาวาโท ทหาร ขำหิรัญ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลในการรบกับทหารฝรั่งเศสจนสามารถยึดอำเภอไพลินกลับมาเป็นของประเทศไทยได้[2]
ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2504 ทำให้เกิดการปิดพรมแดนกันระหว่างทั้งสองประเทศ กองทัพเรือได้สั่งการให้กรมนาวิกโยธินจัดกำลังในรูปแบบหน่วยเฉพาะกิจมาประจำการในพื้นที่ชายแดนด้านอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และสั่งการให้กองเรือยุทธการจัดหมวดเรือชายแดนมาลาดตระเวนทางทะเล จนกระทั่งศาลโลกตัดสินในปี พ.ศ. 2505 ให้ประเทศไทยแพ้คดี ไทยกับกัมพูชาจึงได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกัน[2]
จากเหตุการณ์นั้นเอง ส่งผลให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียดมากยิ่งขึ้น กัมพูชาได้ส่งกำลังมารุกล้ำอธิปไตยฝ่ายไทยจนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยบ่อยครั้ง ทำให้กองทัพบกได้ประสานงานกับกองทัพเรือและจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ 61 โดยมอบหมายให้กรมนาวิกโยธินรับผิดชอบในการปกป้องอธิปไตยของประเทศในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชาด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด[2]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 กองทัพเรือได้จัดตั้ง กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด (กจต.) ขึ้นมา เพื่อป้องกันประเทศในด้านจันทบุรีและตราด โดยรวมเอากำลังของนาวิกโยธินและกำลังทางเรือเข้าด้วยกัน และมอบหมายให้ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน (ผบ.นย.) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราดในช่วงแรก มีที่ตั้งอยู่ที่ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[2]
ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2518 กลุ่มเขมรแดงภายใต้การบัญชาการของ พล พต ได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาได้อพยพลี้ภัยมายังประเทศไทยในด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดเป็นจำนวนมาก กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด (กจต.) จึงได้ย้ายที่ตั้งมาที่ค่ายตากสิน อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรีในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2518 จนกระทั่งปัจจุบัน[2]
ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันชายแดนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดอย่างสมบูรณ์[4] ทั้งทางบกและทางทะเล กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งผู้บัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด ให้เป็นผู้บังคับบัญชาในการป้องกันชายแดน ซึ่งต่อมา กองบัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งให้กองทัพเรือก่อตั้ง กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เรียกย่อว่า กปช.จต. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2522[3] และมอบหมายให้ ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจน้ำในพื้นที่มาอยู่ในความควบคุมทางยุทธการด้วย รวมถึงให้กองทัพอากาศสนับสนุนการปฏิบัติการ พร้อมทั้งกำหนดเส้นแบ่งเขตระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือโดยใช้เส้นแบ่งเขตจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแนวแบ่งเขต[2]
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 กองทัพเรือได้มอบหมายให้ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ส่วนแยก 3 ตามการพิจารณาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 และตามคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา กองทัพเรือ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา ให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นศูนย์ควบคุมชายแดนไทย-กัมพูชา กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ศค.ชทก.กปช.จต.) สำหรับช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา กองทัพเรือ และควบคุมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด และยังมอบหมายให้กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดจันทบุรีและตราดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542[2]
หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรีและตราด
[แก้]เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบที่มีความยาวกว่า 250 กิโลเมตร ตลอดระยะจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราดและประเทศกัมพูชา เพื่อให้มีช่วงการบังคับบัญชาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จึงได้มีการกำหนดผู้บังคับบัญชาในระดับกรมเพื่อรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ ทั้งในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด รวมไปถึงการประสานงานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เหมะสม กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดจึงได้จัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี (ฉก.นย.จันทบุรี) และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2528 มีภารกิจในการปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ในจังหวัดของตนในการป้องกันชายแดนทางบก รวมถึงการป้องกันการยกพลขึ้นบก การปฏิบัติการตีโต้ตอบ รวมถึงสนับสนุนเจ้าหน้าที่พลเรือนในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ของตน[2]
หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน
[แก้]กองทัพบกได้ก่อตั้งโครงการทหารพรานขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ซึ่งมีกองทหารพรานที่บังคับบัญชาโดยนาวิกโยธินผ่านการฝึกจากกองทัพบกจำนวน 2 กองร้อย เพื่อมาปฏิบัติงานต่อต้านคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ขึ้นทางยุทธการกับกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด กองทัพเรือซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่จนถึงปลายปี พ.ศ. 2523
จากนั้นได้มีการโอนหน่วยทหารพรานในความรับผิดชอบของกองกำลังด้านจันทบุรี–ตราดในเวลานั้น จำนวน 6 กองร้อยมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2523 กองทัพเรือจึงมอบหมายให้กรมนาวิกโยธินรับมอบหน่วยทหารพรานนั้นจากกองทัพบก และมอบการควบคุมทางยุทธการให้กับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานาวิกโยธินจึงถือเอาวันที่ 30 กันยายนเป็นวันสถาปนาหน่วย โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงกับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มีกองบังคับการตั้งอยู่ที่ ค่ายเทวาพิทักษ์ บ้านคลองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี[2]
โครงสร้าง
[แก้]ส่วนบัญชาการ
[แก้]หน่วยขึ้นตรง
[แก้]กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
[แก้]- กองบังคับการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (บก.กปช.จต.)
- กองบัญชาการกองกำลังด้านจันทบุรี - ตราด (บก.กจต.)
- ศูนย์จัดระบบป้องกันเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน (ศปชด.กปช.จต.)
- หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม กองทัพเรือ (นปท.ทร.)
- สำนักงานประสานงานชายแดนไทย - กัมพูชา (สน.ปทก.กปช.จต.)
กองกำลังด้านจันทบุรี–ตราด
[แก้]- กองร้อยบังคับการ (ร้อย บก.กจต.)
- กองสนับสนุนการช่วยรบ (กอง สนช.กจต.)
- หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี (ฉก.นย.จันทบุรี)
- หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด)
- หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 182 บ้านหาดเล็ก[3]
- กองพันทหารปืนใหญ่ (พัน.ป.กจต.)
- กองร้อยยานเกราะ (ร้อย.ยานเกราะ กจต.)
- กองร้อยทหารช่าง (ร้อย.ช.กจต.)
- หมวดลาดตระเวนระยะไกล (มว.ลว.ไกล กจต.)
- หมวดสารวัตรทหาร (มว.สห.กจต.)
- หมวดปฏิบัติการจิตวิทยา (มว.ปจว.กจต.)
- หน่วยเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ
- ชุดเฝ้าตรวจเป็นพื้นที่ระยะไกล (ฝตก.กจต.)
หน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ
[แก้]กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ประกอบด้วยหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการ ดังนี้
- หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน ค่ายเทวาพิทักษ์ (ฉก.ทพ.นย.)
- ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ 61 (ศปศ.61)
- หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ส่วนที่ 1 (มชด./1)[5] หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ทัพเรือภาคที่ 1
- หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.)[6] หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
- ฝูงบินทหารเรือ 3141 หมวดบิน 31[7] กองการบินทหารเรือ
- กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 (กก.ตชด.11) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
- สถานีตำรวจน้ำในจันทบุรีและตราด กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ
- สถานีตำรวจน้ำ 4 (ตำรวจน้ำจันทบุรี)
- สถานีตำรวจน้ำ 5 (ตำรวจน้ำแหลมงอบ)
- สถานีตำรวจน้ำ 6 (ตำรวจน้ำคลองใหญ่)
ภารกิจ
[แก้]กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าตรวจป้องกันชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา โดยจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน สร้างความมั่นคงในพื้นที่ด้วยการพัฒนาและการปกป้องอธิปไตย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน[8]
ผลการปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด สามารถป้องกันและระงับการก่ออาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ เช่น การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทั้งจากทางบก[9]และทางทะเล[10] การรุกล้ำน่านน้ำเพื่อทำประมงผิดกฎหมาย[11] การลักลอบขนน้ำมันเถื่อน[12] รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวชายแดน เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง[13] และการบรรเทาสาธารณะภัยต่าง ๆ ทั้งเหตุการณ์เรือล่มในน่านน้ำที่รับผิดชอบ การดับไฟป่าโดยอากาศยานในสังกัด[14] และการแก้ปัญหาภัยแล้ง[15]
นอกจากนี้ยังได้มีกรอบความรวมมือภายใต้ขอตกลงร่วมระหว่างกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดของไทย และภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชา ในการร่วมมือรักษาความมั่นคงระหว่างชายแดน[16][17] โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 ในการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้า การฝึกร่วมกันทั้งด้านของการบรรเทาสาธารณภัย การดับไฟป่า และการส่งกลับทางสายแพทย์[16]
พื้นที่อ้างสิทธิ์
[แก้]ปัจจุบัน กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้ดูแลพื้นที่อ้างสิทธิ์จากการถือเอกสารคนละฉบับระหว่างประเทศไทยซึ่งยึดตามอาณาเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516 ขณะที่กัมพูชาถือตามหลักเขตที่ 73 คือพื้นที่เกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด โดยกองทัพเรือไทยได้วางกำลัง หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ขึ้นทางยุทธการกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด โดยมีการฝึกซ้อมยิงอาวุธประจำหน่วยในทุก ๆ ปีเพื่อเตรียมความพร้อมในการรบ ทั้งการยิงปืนไปยังเป้าพื้นน้ำ และการยิงปืนไปยังเป้าอากาศยานสมมุติ[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]- สนามบินจันทบุรี – ที่ตั้งของ ฝูงบินทหารเรือ 3141 หมวดบิน 31
- กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บันทึกที่ กห 0504/ว 59 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2558 (PDF). กรมข่าวทหารเรือ กองทัพเรือ.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "Royal Thai Navy - Detail History". www.ctbdc.navy.mi.th.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "ผบ.ทร. เยี่ยมทหาร กกล.จันทบุรี-ตราด และฉก.นย. ย้ำทำหน้าที่ห้ามประมาท". www.thairath.co.th. 2023-04-23.
- ↑ "ทัพเรือ ทำบุญครบรอบ 40 ปี ตั้งกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด". www.khaosod.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ทัพเรือภาคที่1 ส่งหมู่เรือลาดตระเวน ปกป้องอธิปไตยชายแดนทางทะเลตะวันออก". www.naewna.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 6.0 6.1 "ฉีก'MOU 2544' บีบ รัฐบาลเพื่อไทย ยกพื้นที่พิพาททะเลขึ้น'ศาลโลก'". bangkokbiznews. 2024-05-19.
- ↑ "Sky doctor จันทบุรี ออกรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พื้นที่เกาะช้าง". pr.moph.go.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Royal Thai Navy - อำนาจหน้าที". www.ctbdc.navy.mi.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เข้มโควิด-19! ชุดลาดตระเวนทหารเรือตรวจเข้มแนวชายแดนจันทบุรี กันต่างด้าวลอบเข้าเมือง". mgronline.com. 2021-04-29.
- ↑ ข่าวตราดยังมีชาวจีนนั่งเรือลอบเข้าไทย เจอนาวิกโยธินตามจับได้ 5 คน, สืบค้นเมื่อ 2024-06-17
- ↑ "จับกุมเรือประมงกัมพูชา ลุกล้ำทำการประมงน่านน้ำไทย ปลายเกาะกูด - 77 ข่าวเด็ด". 2023-11-24.
- ↑ "ทัพเรือภาค 1 โชว์ผลงานจับเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อนค่านับ 10 ล้าน กลางทะเลเมืองจันท์". mgronline.com. 2021-02-05.
- ↑ "กกล.จันทบุรี-ตราด ส่งหมอช่วยชาวบ้านชายแดน". Thai PBS.
- ↑ "กองทัพเรือสนับสนุนเฮลิคอร์ปเตอร์ เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าบนเขาบรรทัด ชายแดนจังหวัดตราด". www.fm91bkk.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันท์และตราด มอบถังน้ำผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง". mgronline.com. 2015-05-26.
- ↑ 16.0 16.1 "กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ร่วม MOU เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายแดน". สยามรัฐ. 2024-04-30.
- ↑ "NBT CONNEXT". thainews.prd.go.thnull (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]